จาก ‘ขนมปังเนยโสด’ สู่ ‘ขนมปังคาโบนาหล้า’ กับปีที่ 2 ของการแก้ปัญหาการศึกษาด้วยการสะกดคำผิด

Highlights

  • After You คือแบรนด์ที่ร่วมมือกับโครงการเพื่อการศึกษา Limited Education ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2 กับการทำแคมเปญปีที่ 3 ภายใต้ธีม 'ยิ่งช้อป ยิ่งได้ลด (ความเหลื่อมล้ำ)' โดยมีโจทย์คือ CI เป็นตัวอักษรลายมือเด็กๆ ที่สะกดคำผิด
  • หลังจากมีส่วนทำให้โครงการนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างจากโปรดักต์ 'ขนมปังเนยโสด' เมื่อปีที่แล้ว เมย์-กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ หนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์ของหวานอันดับต้นๆ ของไทย เลือกผสมผสานของคาวกับของหวานเข้าด้วยกัน เกิดเป็นเมนูใหม่ที่หลายคนคาดไม่ถึงอย่าง ขนมปังคาโบนาหล้า
  • โปรดักต์ชิ้นนี้จะวางขายทั้งทางออนไลน์และหน้าร้านจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม โดยรายได้ส่วนหนึ่งจะนำไปสมทบทุนให้กับโครงการต่อไป

ในที่สุดโครงการเพื่อการศึกษา Limited Education ปีที่ 3 ก็ได้ดำเนินการมาจนถึงช่วงโค้งสุดท้ายแล้ว ซึ่งโปรดักต์ล่าสุดอย่าง ‘ขนมปังคาโบนาหล้า’ ของ After You ที่เผยโฉมให้ทุกคนเห็นในงาน Good Society Expo เมื่อวันที่ 10-13 ตุลาคมที่ผ่านมาก็สร้างความตื่นเต้นให้แฟนๆ แบรนด์ขนมหวานเจ้านี้ไม่น้อย

หลังจากประสบความสำเร็จกับ ‘ขนมปังเนยโสด’ ไปเมื่อปีที่แล้ว เมย์–กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ มุ่งมั่นตั้งใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับโครงการต่อไปในปีถัดมา โดยเธอต้องการเพิ่มระยะเวลาจำหน่ายโปรดักต์ให้มากกว่าปีที่แล้ว เพื่อจำนวนเงินบริจาคที่มากขึ้น

ปีนี้เมย์เลือกทำอะไรใหม่ๆ อย่างการผสมของคาวที่เป็นของโปรดเธออย่างคาโบนาร่ากับขนมปังที่เป็นของหวานเข้าด้วยกัน เพราะนอกจากต้องการสร้างเซอร์ไพรส์ให้คนที่เฝ้ารอโปรดักต์จากโครงการนี้แล้ว เธอก็อยากลองทำอะไรใหม่ๆ ให้ After You ที่มีอายุครบ 12 ปีเหมือนกัน

เอาจริงๆ ตอนฉันได้ยินเมนูนี้ครั้งแรกก็แปลกใจว่ารสชาติหน้าตาจะออกมาเป็นยังไง ตกลงจะเป็นของคาวหรือของหวานกันแน่ แล้วมันจะเข้ากันได้จริงๆ เหรอ แต่พอได้ลองชิมครั้งแรกเท่านั้นแหละก็ขอบอกเลยว่าชอบมากจนพูดคำว่าอร่อยออกมาซ้ำๆ

ถ้าอยากรู้ว่าเคล็ดลับความอร่อยนี้มีที่มาจากไหน ทำไมต้องคาโบนาหล้าละก็ เตรียมช้อนส้อมให้พร้อมแล้วตามเมย์เข้าครัวกัน

เริ่มต้นเพราะอยากช่วย

ก่อนหน้านี้ เมย์ไม่รู้จักโครงการ Limited Education มาก่อน จนได้มาร่วมมือกันในปีที่ 2 ของการจัดแคมเปญ เพราะผู้ดูแลโครงการนี้อย่าง เป้–พัดชา มหาทุมะรัตน์ ชักชวนผ่านทาง หมิง–แม่ทัพ ต.สุวรรณ ลูกพี่ลูกน้องเธอที่ทำแบรนด์ After You ร่วมกัน

ด้วยความที่ทั้งคู่ชอบงานบุญอยู่แล้ว บวกกับตัวโครงการเองก็น่าสนใจ สองพี่น้องจึงไม่รอช้าตกปากรับคำและช่วยกันคิดโปรดักต์ใหม่ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

“เราจำได้ว่าตอนนั้นนั่งประชุมกันที่นี่ พี่เป้ถามว่าทำไหม ทำให้เมนูมีคำสะกดผิด สะท้อนปัญหาเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษาอย่างเพียงพอ คิดโปรดักต์ใหม่ให้หน่อย เราก็เอาอันนี้แล้วกัน ขนมปังเนยโสด คิดได้แล้วก็ทำเลย ภายในไม่ถึง 3 วัน เหมือนเขามาคุยช่วงปลายๆ งานแล้ว ก็ทำกันเองที่แลปเล็กข้างบน ไม่ได้เข้าโรงงาน”

ด้วยความที่ไม่ได้คาดการณ์ว่าผลตอบรับจะเกินคาดขนาดนี้ เมย์กับทีมจึงทำขนมออกมาในจำนวนแค่ 200 ชิ้นต่อวัน เพื่อขายในงาน Good Society Expo ที่จัดในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งอย่างที่เรารู้กันว่าวางขายแป๊บเดียวก็หมดเกลี้ยงแล้ว

“พอมันมีความต้องการเข้ามา เราก็ไม่รู้จะหยุดยังไง ช่วงแรกๆ ที่เขาบอกว่าขาดตลาด เราไม่ได้ตั้งใจนะ มีคนเขียนมาบอกว่าทำมาร์เก็ตติ้งเก่ง คืออ่านแล้วจุกนิดหนึ่ง อย่างพี่เป้ที่เป็นคนมาคุยกับเรา เขารู้ว่ามันกระชั้นชิดขนาดไหน เขาก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอก เพราะเราคิดและทำภายในสัปดาห์นั้นแล้วขายเลย และมันได้เลย เขาก็ขอบคุณเรามากที่ตอนนั้นทำให้กระแสบูมขึ้นมา”

ส่วนในแง่การร่วมมือกันระหว่างแบรนด์กับองค์กรเพื่อการศึกษา เมย์มองว่าทุกคนล้วนได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน จุดสำคัญที่สุดคือ ความตั้งใจของโครงการกับแบรนด์ที่อยากช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากกว่า

“เรามองว่าคนที่ตั้ง organization แบบนี้ขึ้นมา ถ้ามานั่งกลัวว่าคนมองว่าทำเพื่ออะไร คงไม่มีใครได้ช่วยกันพอดี อันนี้คือมีคนทำ เราไม่ได้เป็นคนทำ แต่อย่างน้อยเราช่วยให้คนเห็นมากขึ้น รู้สึกเป็นเหมือนกระบอกเสียงอันหนึ่ง แค่นั้นเราก็ว่าเจ๋งแล้ว และเราก็ไม่ได้มองว่าต้องทำเพื่ออะไร ต้องทำอะไรเป็นกิมมิก แต่สิ่งที่เรามองคือทำยังไงก็ได้ให้ได้เงินเยอะที่สุด เพื่อแบ่งเงินนี้ไปบริจาค และยิ่งเขาได้เงินเยอะขนาดไหน เด็กๆ ก็ได้เยอะมากเท่านั้น”

แบรนด์ของหวานก็ทำของคาวได้

สำหรับแคมเปญปีนี้ที่มีธีม ‘ยิ่งช้อป ยิ่งได้ลด (ความเหลื่อมล้ำ)’ โครงการ Limited Education ยังได้ร่วมมือกับแบรนด์ที่หลากหลายขึ้น และทยอยปล่อยโปรดักต์มาตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม ซึ่ง After You เองได้พูดคุยกับทีมผู้ก่อตั้งโครงการมาตลอด เพียงแต่ขออุบโปรดักต์ไว้ก่อนเพื่อความตื่นเต้น

“แสดงว่าคิดไว้ตั้งแต่ช่วงเริ่มแคมเปญปีนี้แล้วว่าจะทำอะไรใช่ไหม” ฉันตั้งคำถาม

“เราก็คิดมาเรื่อยๆ อย่างครั้งแรกที่ทำขนมปังเนยโสดถือว่าฟลุกนะ คือเร็วมาก ปกติเราไม่สามารถโดนให้คิดเมนูสิแล้วคิดออก เราทำไม่ได้ เราเป็นประเภทที่คิดสต็อกไว้เรื่อยๆ แล้วค่อยๆ หยิบมาใช้ ตัวนี้ก็เหมือนกัน เรารู้ตั้งแต่ปีที่แล้วว่าปีนี้ทำอีกแน่นอน ก็เลยคิดมาเรื่อยๆ ลองทำอะไรแปลกๆ หลายแบบ บางทีเราทำไว้แล้วด้วยนะ แต่พอเห็นคนอื่นทำก็เก็บ ไม่เอาแล้ว เดี๋ยวค่อยวนออก เราไม่อยากไปตีกับใคร ตลาดมันใหญ่มาก คนแบ่งกันกินได้”

ปกติแล้วการทำงานของเมย์คือคิดและทดลองหาสูตรไปเรื่อยๆ เพื่อเก็บไว้ แล้วค่อยๆ ปล่อยออกมาตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม แต่โปรเจกต์ Limited Education มีกำหนดเวลาแคมเปญประจำปี นั่นจึงกลายเป็นโจทย์สนุกๆ ที่ทำให้เธอต้องคิดค้นหาอะไรใหม่ๆ มาออก ซึ่งเธอก็อยากทำให้โปรดักต์ปีนี้มีความเป็นซีรีส์เดียวกับปีที่แล้ว

“ด้วยความที่คนรู้จักจากอันนี้ ก็เลยตั้งใจว่าจะทำขนมปังต่อ พอมีคนรอของหวานๆ เราเลยอยากลองทำอะไรที่คนไม่คาดคิด ก็ทำคาวดีกว่า”

“ที่อยากทำคาโบนาร่าเพราะเราทำเมนูนี้กินเองบ่อยมาก และเราชอบใส่เบคอน และครีมๆ แบบไข่แดงเยอะๆ คือไม่ใส่ครีม ใส่แต่ไข่แดงกับชีส วันหนึ่งก็ลงรูปนี้ในอินสตาแกรม แล้วมีคน inbox มาเยอะมากว่าทำอาหารบ้างสิ คือร้านเราทำขนม เราอยากให้คนจำร้านเป็นภาพขนม แต่พอมันทำนานมาถึง 12 ปีแล้ว มันสามารถออกเมนูแปลกๆ มาหน่อยได้ ก็เลยลองดูว่าทำขนมปังที่เป็นคาโบนาร่าได้ไหม” เธออธิบายด้วยรอยยิ้ม

การผสมกันของขนมปังกับคาโบนาร่า

แม้ว่าในไทยจะมีการนำของคาวกับของหวานมาผสมกันให้เห็นบ้างอยู่แล้วอย่างขนมปังไส้ไก่ ขนมปังหมูหย็อง ฯลฯ แต่ที่เมย์เลือกคาโบนาร่ามาทำเพราะเหตุผลง่ายๆ ว่า ‘กวนดี’ เพราะน้อยคนคงจะจินตนาการออกว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร

ส่วนการพัฒนาสูตร เมย์กับทีมงานใช้เวลาไม่นานมาก เพราะมีสูตรที่ชอบในใจตั้งธงไว้อยู่แล้ว แม้ว่าตอนโยนโจทย์ไป ทีมงานจะไม่ค่อยมั่นใจนักว่าจะทำออกมาได้ไหม ทว่าสุดท้ายแล้วเธอกับทีมก็ทำออกมาได้และมั่นใจว่าอร่อยแน่นอน

“จริงๆ สูตรเร็วมาก เพราะเรารู้ว่าชอบกินอะไรก็เสร็จเลย แต่ที่ยากคือตอนเข้าโรงงาน พอทำเสร็จแล้วเอาเข้าไม่ได้ เพราะข้อจำกัดเยอะ โรงงานเราเป็นโรงงานขนม เป็นของหวาน มีฮาลาลอีก เลยไม่สามารถทำของคาวแบบฟูลสเกลที่มีหมูได้ ก็เลยจะไปให้อีกโรงงานทำ พยายามกันอยู่หลายรอบ จนสุดท้ายก็แยกเลย เราทำขนมปังเอง ให้ outsource ทำเบค่อนแล้วค่อยเอามารวมกัน เลยมีเบคอนแยก ซึ่งตัวนี้กว่าจะออกนานมาก เพราะมันทำยากและมีหลายเรื่อง”

ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจหากคุณซื้อขนมปังคาโบนาหล้าและมีถุงเบค่อนติดมาด้วย แต่ถึงกระนั้นรูปลักษณ์การดีไซน์แพ็กเกจจิ้งต่างๆ ก็ยังมีความคล้ายคลึงกับขนมปังเนยโสดอย่างพวกกล่อง ฝาปิด และสายคาด โดยชื่อขนมก็ปรับให้สะกดผิดเป็นคำน่ารักๆ ชวนยิ้มอย่าง ‘คาโบนาหล้า’ ที่ชวนให้นึกถึงชื่อไทยๆ อย่างคำหล้า

ส่วนกระแสตอบรับก็มีทั้งคนที่ชอบมาก และงงๆ ว่านี่คือของหวานหรือของคาว ซึ่งในแง่ที่ไม่เคยทำโปรดักต์แบบนี้มาก่อนถือว่าน่าพอใจทีเดียว

“ทีแรกเรานึกว่าจะแย่แล้วเพราะมันเป็นของคาว กลายเป็นว่าคนตื่นเต้นเพราะเขารอให้เราออกของประหลาด แต่ราคา 200 บาทอาจค่อนข้างสูง เพราะขั้นตอนเยอะต้นทุนเลยสูงด้วย อย่างเบค่อนเวลาทอดจากเยอะมากหดเหลือนิดเดียว แล้วเราอยากได้ความกรอบและสีนี้ มันก็ยิ่งหดหนัก เหลือนิดเดียว เลยไม่สามารถขายได้ในราคา 100 บาทแบบครั้งที่แล้ว”

ถึงคนทำจะบอกว่าราคาสูงก็เถอะ แต่ขนมจำนวน 6 ชิ้น รวมเบคอนหนึ่งถุง สำหรับฉันถือว่าเป็นราคาที่รับได้ เพราะนอกจากราคาที่พอๆ กับคาโบนาร่าตามร้านอาหารทั่วๆ ไปแล้ว และจากที่ลองกิน ปริมาณ 1-2 ชิ้นก็อิ่มกำลังดี ถ้าซื้อมาแบ่งกินกับเพื่อนๆ น่าจะคุ้มกว่า ซึ่งก็ขอเตือนด้วยความหวังดีว่าต้องรีบกันหน่อย เพราะถ้าหมดล็อตนี้แล้วอาจหมดเลย ไม่มีทำต่อด้วย

เพราะการศึกษาสำคัญที่สุด

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าเมย์ชอบทำบุญ เธอมักเดินทางไปบริจาคเงินให้เด็กเล็กและคนชราอยู่บ่อยๆ ที่ร้าน After You เองก็มีกล่องรับบริจาคตั้งไว้ เผื่อลูกค้าคนไหนอยากทำบุญก็หยอดเงินลงกล่องได้ทันที ซึ่งเมื่อได้มาร่วมมือกับโครงการ Limited Education เธอพบว่าการช่วยเหลือผ่านการจำหน่ายโปรดักต์แบบนี้ดีไม่แพ้กัน ทั้งยังสร้างสรรค์อีกด้วย

“อย่างเรามีกล่องบริจาคตรงแคชเชียร์อยู่แล้ว แต่บางทีเขาไม่ได้รู้สึกเงินเหลือมากจนหยอดบริจาคได้ เวลาซื้อโปรดักต์เราแล้วได้ร่วมบริจาค มันก็เหมือนกับเขาไม่ต้องมานั่งจ่ายเพิ่ม เราว่ามันเป็นการช่วยให้ช่องทางการบริจาคใหญ่ขึ้น อันนี้คือสิ่งที่เจ๋งมาก เพราะถ้าอยู่ดีๆ มาเรี่ยไรเงินเลย มันไม่ใช่ทุกคนที่อยากบริจาค แต่บางคนในนี้ต่อให้เขาไม่ได้รู้สึกอยากบริจาค อย่างน้อยเขาอยากกินขนม ก็ได้ร่วมช่วยแล้ว เราถือว่าได้บุญร่วมกัน”

อย่างที่ทุกคนทราบว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่มุ่งหวังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ดำเนินกิจกรรมมาเป็นปีที่ 3 แล้ว และ After You เองก็ร่วมแคมเปญนี้มาเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ทั้งยังมีแนวโน้มร่วมต่อไปอีกเรื่อยๆ ตัวเจ้าของแบรนด์อย่างเมย์เองมองว่านี่เป็นโครงการที่ดีและควรส่งเสริม เพราะการศึกษาคือรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ

“มันคือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ การทำอย่างอื่นเรารู้สึกว่ามันคือการแก้ที่ปลายๆ แต่การช่วยคนให้ได้รับการศึกษาคือการแก้ปัญหาประเทศที่ต้นเหตุ พอเด็กทุกคนมีการศึกษามากขึ้น ที่เหลือมันต่อยอดได้เองหมด เราว่ามันคือการเริ่มตั้งแต่กระบวนการเพาะต้นกล้า พอเขาโตขึ้นมาก็จะคิดอะไรดีๆ กลายเป็นวัฏจักรที่ดี เราเชื่อว่าโลกนี้ขับเคลื่อนด้วยคน ถ้าคนมีการศึกษาดีขึ้นเท่าไหร่ ทุกอย่างไม่ว่าจะเศรษฐกิจหรือวัฒนธรรมจะดีขึ้นไปด้วย”


บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือกันระหว่าง a day และโครงการ Limited Education ที่ต้องการนำเสนอปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา
ติดตามซีรีส์ Limited Education ได้ใน adaymagazine.com ตลอดเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่