Hurts Like Hell ซีรีส์ตีแผ่วงการมวยไทยบน Netflix ผลผลิตจากมิตรภาพและความฝันของสองเพื่อนซี้

‘Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย’ คือซีรีส์ไทยบน Netflix ที่มีเนื้อหาตีแผ่เบื้องลึกเบื้องหลังของวงการมวยไทย โดยเฉพาะในแง่ของการพนัน เริ่มสตรีมเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 และเป็นคอนเทนต์ global ของไทยที่ฉายในกว่า 190 ประเทศทั่วโลก

นิ้ง-ภัทนะ จันทร์เจริญสุข และ แชมป์-กิตติชัย วรรณ์ประเสริฐ คือโปรดิวเซอร์และผู้กำกับของซีรีส์เรื่องนี้ตามลำดับ ทั้งสองคนเป็นเพื่อนกัน และร่วมกันก่อตั้งบริษัทโปรดักชั่นเฮาส์ขึ้นมา ชื่อว่า วันนี้วันดี สตูดิโอ หลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่นานจากการทำรายการโทรทัศน์และสารคดี เมื่อ 4 ปีที่แล้ว จึงได้เริ่มลงมือทำตามความฝันที่มีเหมือนกัน นั่นคือการทำหนัง และมาลงตัวที่การสร้างซีรีส์เพื่อเสนอ Netflix

วันนี้ แม้ทั้งคู่จะบอกว่า สามารถขีดเครื่องหมายถูกบนเช็กลิสต์ความฝันได้แล้ว แต่ความน่าสนุกชวนฮึกเหิมคือ นี่ไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นบนเส้นทางสายนี้ของคนโนเนมในวงการอย่างพวกเขาเท่านั้น

วัยรุ่นลำปางกับร้านเช่าหนัง 

นิ้งกับแชมป์เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ตอน ม.1 ทั้งคู่เป็นคนลำปาง และชอบดูหนังเหมือนกัน ที่พิเศษคือ บ้านของนิ้งเป็นร้านเช่าวิดีโอ เด็กวัยรุ่นลำปางสองคนนี้จึงเชื่อมต่อกันด้วยโลกของภาพยนตร์มาตั้งแต่นั้น

“สมัยเรียนผมก็จะคอยยืมหนังที่บ้านเขาฟรี” แชมป์ย้อนอดีตให้ฟัง “แล้วด้วยความที่เราเป็นคนลำปาง การหาหนังบางอย่าง หรือหนังที่เป็นภาษาอังกฤษ ซับฯ ภาษาไทย มันค่อนข้างยาก แต่เรามีเพื่อนเหมือนเป็นผู้มีอิทธิพลในวงการหนัง (หัวเราะ) คนลำปางอาจจะไม่ดู แต่เราบอก นิ้ง มึงสั่งมาให้หน่อย เรื่องนี้กูอยากดู”

นิ้งเล่าบ้าง “ตอนนั้นแชมป์เขาบอกอยู่แล้วว่า เขาอยากทำหนังมาก และอย่างที่เห็น เราไม่ได้เรียนจบตรงสาย ทุกสิ่งทุกอย่างเขาเรียนรู้ด้วยตัวเองหมด จากที่ใช้ชีวิตด้วยกันมาตลอด ผมก็จะเห็นว่าแชมป์ทำมาอะไรบ้าง เทสต์เขาเป็นยังไง เราก็ค่อนข้างเชื่อมั่นว่าเขาทำได้แน่ๆ”

(จากซ้าย) นิ้ง-ภัทนะ จันทร์เจริญสุข, แชมป์-กิตติชัย วรรณ์ประเสริฐ โปรดิวเซอร์และผู้กำกับซีรีส์เรื่อง ‘Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย’

หลังเรียนจบมัธยมที่โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จังหวัดลำปาง นิ้งกับแชมป์ก็ยังเข้ามหาวิทยาลัยเดียวกัน และเรียนสาขาเดียวกัน คือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะศึกษาศาสตร์ สาขาบริหารธุรกิจ

“จริงๆ เราเป็นครูนะ จบศึกษาศาสตร์” แชมป์บอก “พอเรียนจบ ตอนแรกผมเป็นครูสอนพิเศษ ระหว่างนั้นก็สมัครงานตัดต่อที่กรุงเทพฯ มีที่หนึ่งรับไปทำงานได้ประมาณ 6 เดือน ผมก็ลาออกมา เพราะว่าช่วงนั้นมีประกวดหนังสั้น ก็เลยอยากลองออกมาทำจริงๆ จังๆ ดู ให้รู้ไปเลยว่าเวิร์กหรือไม่เวิร์ก ถ้าไม่เวิร์กจะได้ไปสอนหนังสือ”

ส่วนนิ้ง หลังเรียนจบเขาเรียนต่อปริญญาโททันที ในสาขาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เดิม และได้มาเจอกับแชมป์อีกครั้งในงานประกวดหนังสั้นงานเดียวกัน

“พอมาเจอกันตรงนี้ ได้คุยกันว่าอยากทำหนังต่อ ก็เลยชวนกันว่า ทำบริษัทกันมั้ย จนเกิดเป็นบริษัทโปรดักชั่นเฮาส์ชื่อ วันนี้วันดี สตูดิโอ ขึ้นมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ตอนนั้นด้วยความที่เรายังไม่พร้อม ก็เลยเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำรายการทีวีทำสารคดีไปก่อน” นิ้งเล่า  

มวยไทยที่เล่าผ่านซีรีส์ผสมสารคดี

ในบริษัท พวกเขาแบ่งหน้าที่กันว่า นิ้งรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ ส่วนแชมป์รับหน้าที่เป็นผู้กำกับ รวมถึงลงมือตัดต่อเองด้วย 

วันนี้วันดี สตูดิโอ เริ่มต้นจากการทำมิวสิกวิดีโอ, สื่อวิดีโอ พรีเซนเตชั่น ก่อนที่จะมีโอกาสได้ทำรายการโทรทัศน์และสารคดี ออกอากาศทางสถานีต่างๆ เช่น สารคดีสภาวะสุญญากาศ, สารคดีเดินทวนน้ำ, รายการ The Last Jigsaw, รายการซื้อเก่ง เป็นต้น ซึ่งออกอากาศทางช่อง ThaiPBS

พอเก็บประสบการณ์มาได้ระยะหนึ่ง เมื่อ 4 ปีก่อน ทั้งคู่จึงกลับมาคุยกันอีกครั้งถึงสิ่งที่ตั้งใจอยากทำ นั่นก็คือการทำหนัง ทำซีรีส์

“ที่เลือกเป็นโปรเจกต์มวย เพราะที่บ้านผมเคยทำค่ายมวยมาก่อน” นิ้งให้เหตุผล “ก็พอจะรู้ว่าสิ่งที่คนรู้ข้างนอก กับสิ่งที่เราสัมผัสได้ในวงการ มันมีอะไรหลายๆ อย่างที่คนข้างนอกยังไม่รู้ เลยมาถามกับทางแชมป์ว่า อยากทำเกี่ยวกับมวยไทยกันมั้ย”

แชมป์เสริมว่า “พอได้รับโจทย์จากนิ้งมาก็รู้สึกว่า เรื่องมวยไทยมันมีความไกลตัวเราพอสมควร เพราะเราก็ไม่เคยดูมวยไทยเลย มวยปกติเรายังแทบไม่ได้ดู แต่พอมาฟังคอนเซปต์ของนิ้ง รู้สึกว่ามันก็น่าสนใจลองดู แต่อย่างที่บอกว่ามันไกลตัว เราเลยขอเวลานิ้งรีเสิร์ชข้อมูลพักใหญ่ๆ ขอไปทำข้อมูล ขอไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์เกี่ยวกับวงการมวยไทย ว่ามีมุมไหนหรือมีด้านไหนที่เราควรเอามาเล่นหรือเล่า ก็ใช้เวลารีเสิร์ชไปประมาณเกือบ 1 ปี” 

Hurts Like Hell เป็นงานกำกับซีรีส์เรื่องแรกของแชมป์ ซึ่งเขาเลือกที่จะเอาความเป็นสารคดีมาผสมผสาน กล่าวคือมีการดำเนินเรื่องของตัวละครสลับกับการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ในวงการมวยไทย เช่น กรรมการ เซียนมวย โปรโมเตอร์ แพทย์สนาม นักมวย เป็นต้น โดยเป็นฟุตเทจที่ได้มาจากการสัมภาษณ์คนในวงการจริงๆ ประมาณ 20-30 คน

“ด้วยความที่เราทำสารคดีมาเยอะ มันเป็นสิ่งที่เราชำนาญ พอเป็นเรื่องแรกเราก็อยากจับในสิ่งที่ตัวเองถนัด และได้ลองเทคนิคใหม่ๆ คิดว่ามันน่าจะง่ายต่อการทำงาน ตอนทำเราก็พยายามหาสัดส่วนของพาร์ตสารคดี กับพาร์ตของภาพยนตร์ ว่าควรจะอยู่ตรงไหนดี สารคดีมันเป็นตัวเสริมที่ขับเคลื่อนเรื่องราวไปข้างหน้า หรือทำให้น่าเชื่อถือมากขึ้น หรือบางฉากที่คนดูตามไม่ทันเราก็ใช้พาร์ตสัมภาษณ์เข้ามาช่วยให้ตามเรื่องทันและเข้าใจเรื่องราวมากขึ้น ถามว่ากลัวสะดุดอารมณ์มั้ย ก็กลัว แต่อย่างที่บอก เราถนัดสารคดีอยู่แล้ว และไม่ค่อยเห็นซีรีส์เมืองไทยที่เล่าในรูปแบบนี้ด้วย เลยอยากลองใช้วิธีนี้ดู ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นยังไง” แชมป์อธิบาย

ผู้กำกับหนุ่มยังกล่าวต่อถึงความยากและความท้าทายในการถ่ายทำ อันเนื่องมาจากวิธีการเล่าเรื่องแบบสารคดี

“ด้วยความที่เราใช้วิธีการเล่าแบบสารคดี เพราะฉะนั้น ความสมจริงก็ต้องมีเต็มๆ รายละเอียดต่างๆ บนเวที การแสดงของนักแสดงก็ค่อนข้างซับซ้อน อย่างเซียนมวยก็จะมีท่าทางและลักษณะเฉพาะในการเล่นพนัน หรือกรรมการ ตรงไหนควรเข้าไปห้ามนักมวย ตรงไหนควรนับ ต้องมีการรีเสิร์ชค่อนข้างเยอะ ที่สำคัญ ทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อมกันรอบสนาม ฉะนั้นทุกคนต่างมีหน้าที่ มีบทบาท มันเลยเป็นชุดข้อมูลที่ค่อนข้างมหาศาล หมายถึงว่ามวยต่อยข้างบน แต่ข้างล่างก็ต้องมีการเชียร์เหมือนกัน ต้องซิงก์กันหมด ซึ่งเป็นเรื่องยากพอสมควร ทุกอย่างต้องสมจริงหมด”

เหตุผลข้างต้นจึงนำไปสู่จุดเด่นในการเล่าเรื่องอีกอย่างหนึ่งของซีรีส์เรื่องนี้ นั่นคือการเล่าเหตุการณ์เดียวกันจากหลายมุมมองของตัวละคร 

แชมป์กล่าวต่อ “ตอนที่เรารีเสิร์ช พอเราไปสำรวจโลกของวงการมวยไทย มันจะมีบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนที่เกี่ยวข้องกัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งนักมวย กรรมการ เซียนมวย แพทย์สนาม การกระทำของแต่ละบทบาทหน้าที่ มันส่งผลไปถึงคนอื่นๆ หน้าที่อื่นๆ เหมือนเป็นวงจร ส่งผลกระทบไปเรื่อยๆ เลยรู้สึกว่า บางเหตุการณ์มันอาจจะมีอะไรที่ลึกกว่านั้นในมุมมองของคนอื่น เราก็เลยอยากเล่าให้มีความรู้สึกหลากหลายในเหตุการณ์เดียวกัน” 

โปรเจกต์แห่งความบ้าบิ่น

ความบ้าบิ่นที่ว่านี้ก็คือ พวกเขาอยากทำซีรีส์ฉายเน็ตฟลิกซ์ แต่แทนที่จะไปยื่นโปรเจกต์เพื่อให้เน็ตฟลิกซ์พิจารณาเป็นผู้สร้างเหมือนคนอื่นๆ พวกเขากลับเลือกที่จะลงทุนลงแรงสร้างซีรีส์เรื่องนี้เองให้เสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วค่อยเอางานไปเสนอทางเน็ตฟลิกซ์ทีหลัง

นั่นหมายความว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ทำซีรีส์เรื่องนี้ พวกเขาไม่เคยคุยกับทางเน็ตฟลิกซ์เลยด้วยซ้ำ แต่มีเป้าหมายปลายทางในใจ-หรืออีกนัยหนึ่งมันคือเดิมพัน ว่าสุดท้ายเมื่อผลงานออกมาแล้ว เน็ตฟลิกซ์จะชอบและนำไปฉาย

โปรดิวเซอร์อย่างนิ้งพูดถึงเรื่องนี้ว่า “ตอนแรกเราก็ตั้งธงไว้ที่เน็ตฟลิกซ์เลย มันถึงเป็นเรื่องมวยไทยด้วย คิดว่าต่างประเทศน่าจะเสพง่าย แล้วก็ที่เป็นเน็ตฟลิกซ์เพราะเขาไปกว่า 190 ประเทศทั่วโลก อีกอย่างหนึ่งคือเทคโนโลยี การสตรีมของเขารองรับเทคโนโลยีที่จะได้อรรถรสเต็มที่ ทั้ง dolby vision และ dolby atmos ซึ่งซีรีส์เราก็ใส่เทคนิคเต็มหมด รวมถึงเทคนิคการถ่ายทำที่แชมป์เขาก็กางมาเลยว่า เทคโนโลยีที่ดีที่สุดสำหรับเน็ตฟลิกซ์คืออะไร 

แชมป์พูดต่อ “เราไปแอบดูสเปกกล้องในเว็บไซต์ว่า เขาใช้กล้องอะไรถ่ายกัน แล้วก็ด้วยความที่แพลตฟอร์มของเน็ตฟลิกซ์เขาค่อนข้างมีมาตรฐานพอสมควร ก่อนที่เราจะทำ เราก็ต้องไปกางไบเบิลเขาดูก่อนว่า อุปกรณ์กล้อง ภาพ เสียง เขาต้องการอะไรยังไง เราก็เอาเบอร์สุดของอันนั้นเลยตั้งแต่ต้น”

แน่นอนว่าคำถามใหญ่คือ แล้วถ้าเน็ตฟลิกซ์ไม่เอาล่ะ

แชมป์ตอบว่า “ถ้าพูดกันตรงๆ คือมันมีแค่สองทาง คือหนึ่งประสบความสำเร็จ กับสองคือ ล้มเหลว เพราะฉะนั้นความผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราพยายามทำให้มันเกิดขึ้นน้อยที่สุด แล้วเราต้องเหมือนเชื่อมั่นในทีมงานน้องๆ ทุกคน เชื่อมั่นในนักแสดง พยายามเก็บรายละเอียดทุกอย่างที่เหมือนเป็นการคาดการณ์แล้วว่าเน็ตฟลิกซ์น่าจะชอบ น่าจะสนใจ

“คือเราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เราไม่มีชื่อเสียงในด้านนี้เลย เราเป็นคนนอกวงการด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นการที่เราจะไปยื่นกระดาษเปล่าๆ หรือยื่นเปเปอร์โดยที่ไม่เคยมีผลงานประจักษ์ ผมว่ามันอาจจะไม่แฟร์กับทางลูกค้า แต่ก็ต้องยอมรับว่า นิ้งเขาก็บ้าบิ่นนิดนึงที่เหมือนกับว่า ทำไปก่อนเลย แล้วเรามาลองดูกันว่าจะไปไกลแค่ไหน”

อีกเรื่องคือการติดต่อนักแสดงซึ่งล้วนแต่เป็นเบอร์ใหญ่ๆ สองผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ใช้วิธีแบบมวยวัดเช่นกัน

แชมป์เล่าว่า “พอได้บทคร่าวๆ มาแล้ว เราก็มีดาราในใจอยู่แล้วว่าคนนี้น่าจะเล่นบทนี้นะ แต่เราก็เข้าใจว่าเราไม่ได้มีชื่อเสียงอะไร ก็ใช้เทคนิคง่ายๆ โดยขอเบอร์คนรู้จักแล้วโทรไปตรงๆ นี่แหละครับ ว่าเรามีโปรเจกต์หนึ่งที่อยากลองให้พี่ปู (วิทยา ปานศรีงาม) พี่เอก (ธเนศ วรากูลนุเคราะห์) มาเล่นดู แล้วก็ให้ดูบท นั่งคุยกัน ทุกคนก็ตอบรับมาว่าสนใจ ผมก็เรียนแจ้งเขาตรงๆ ว่า ซีรีส์เรื่องนี้เราขอทำให้เสร็จสิ้นก่อน ปลายทางเป็นยังไงก็อยู่ที่ตัวเนื้องานแล้วว่า ควอลิตี้มันจะไปอยู่ที่ไหน แต่เราก็ตั้งใจว่าไปเน็ตฟลิกซ์นั่นแหละ แต่แค่ไม่สามารถพูดเต็มปากกับนักแสดงได้ ก็ถือว่าเขาเชื่อใจเรามากๆ”

การเดินทางถึงก้าวแรก 

นับเป็นการเดินทางของความฝันที่ยาวนานมากของทั้งสองคน จากร้านเช่าวิดีโอในจังหวัดลำปาง สู่เวทีประกวดหนังสั้น บริษัทโปรดักชั่นเฮาส์ผลิตรายการโทรทัศน์และสารคดี มาจนถึงการทำซีรีส์ฉายบนเน็ตฟลิกซ์เผยแพร่ไปทั่วโลก

อาจจะฟังดูแปลกๆ แต่มันก็เป็นความจริงที่ว่า พวกเขาเพิ่งเดินทางมาถึง ‘ก้าวแรก’ เท่านั้น

“ที่จริงระยะทางกว่าจะมาถึงตรงนี้มันจะล้มไปหลายครั้งมาก ล้มได้ทุกเมื่อ อย่างตอนถ่ายก็มีปัญหาอุปสรรคเข้ามาเยอะ แต่สุดท้าย เหมือนโม้นะ แต่มันคือความเชื่อมั่นในตัวเอง ถ้าเราไม่ทำให้สำเร็จ แล้วมันจะสำเร็จเมื่อไหร่ เราก็เลยชวนทีมงานทุกคนให้เชื่อมั่นในตัวเอง แล้วตอนทำเราก็ไม่คาดหวังหรอกว่า สุดท้ายแล้วจริงๆ มันจะไปโผล่ที่ไหน แต่อย่างน้อยทำให้มันเสร็จ ทำให้มันดี แล้วเราก็เชื่อว่า ถ้าเราทำมันดีเต็มที่แล้ว ตัวงานมันน่าจะพาเราไปในสิ่งที่ดีๆ เหมือนกัน” แชมป์ว่า

เป้าหมายต่อไป นิ้งกับแชมป์บอกว่าคงลุยทำหนังและซีรีส์ต่อ และเพิ่มความท้าทายให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งที่จริงพวกเขามีแพลนไว้แล้ว แต่ยังขอเก็บเป็นความลับก่อน

“เราอยากทำให้คนดู ดูแล้วอิ่ม อิ่มในที่นี้คือ อาจจะไม่ใช่แบบหนังที่ฟีลกู๊ด แต่ว่าอิ่มในสิ่งที่เราต้องการนำเสนอ อาจจะโทนหม่น ความรัก หรือครอบครัว แต่ว่าไม่ว่าจะเป็นทางไหน เราอยากให้คนดูอิ่มในแบบนั้นๆ อยากให้ดูแล้วรู้สึกว่า นี่คือการเสพหนังจริงๆ” นิ้งบอก

“สำหรับเรื่อง Hurts Like Hell จริงๆ นี่ก็มาไกลมากแล้วนะ จากจุดเริ่มต้นของเรา ถ้าให้ไกลกว่านี้ก็คือ อยากให้คนดูรู้สึกชอบนี่แหละครับ แต่ถ้าไม่ชอบก็ไม่เป็นไร เข้าใจได้ เพราะว่าเราทำงานออกมา มันเป็นพื้นที่ในการวิพากษ์วิจารณ์ได้อยู่แล้ว และด้วยความที่เราอยากอยู่ในวงการนี้ ผมเชื่อว่าการวิพากษ์วิจารณ์งานหรือการติชม มันทำให้เรานำงานของเราไปแก้ไขปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น ก็เลยอยากให้คนดูรู้สึกว่า วิพากษ์วิจารณ์กับซีรีส์เราได้ ว่าชอบไม่ชอบยังไง อยากเปิดให้พูดคุยกันได้ เพราะพวกผมชอบตามอ่านคอมเมนต์ทุกอย่างในรีวิวหนัง ซึ่งเราก็น้อมรับจริงๆ คำชมเราก็ให้ทีมงานไป แต่คำด่าเราก็ต้องเก็บไว้เพื่อมาพัฒนางานเราให้ดีขึ้น” แชมป์กล่าวทิ้งท้าย 

ภาพ > พีระพัฒน์ พรมพาน

AUTHOR