ชวนนักแสดงซีรีส์ Analog Squad ตั้งคำถามกับคำพูดที่ว่า ‘คำโกหกที่รู้สึกดี’ กับ ‘ความจริงที่ปวดใจ’ สรุปแล้วเราโกหกไปทำไมและเพื่อใคร?

ชวนนักแสดงซีรีส์ Analog Squad ตั้งคำถามกับคำพูดที่ว่า ‘คำโกหกที่รู้สึกดี’ กับ ‘ความจริงที่ปวดใจ’ สรุปแล้วเราโกหกไปทำไมและเพื่อใคร?

Analog Squad ทีมรักนักหลอก ซีรีส์ครอบครัวฟีลกู๊ดเปิดประเด็นเรื่องความรักและความสัมพันธ์ ถือเป็นเรื่องส่งท้ายของโปรเจกต์คอนเซ็ปต์ ‘ทีไทย ทีมันส์’ ซึ่งเป็น Original Netflix ที่ได้ผู้กำกับและนักแสดงนำของไทยมาเติมรสชาติที่หลากหลายให้กับอุตสาหกรรมบันเทิง โดยดึงความเป็น Local Content ที่เข้าถึงง่ายและสามารถเชื่อมโยงกับคนในแต่ละประเทศ

ด้วยประโยคที่ซีรีส์โยนให้เราตั้งคำถามต่อว่าระหว่าง ‘คำโกหกที่รู้สึกดี’ กับ ‘ความจริงที่ปวดใจ’ เป็นเราจะเลือกแบบไหน จึงเป็นที่มาของชุดคำถามในครั้งนี้ที่ทีม a day อยากตั้งคำถามกลับไปยังนักแสดงหลักทั้ง 3 คนของเรื่อง

นั่นคือ ปีเตอร์ นพชัย, เจเจ กฤษณภูมิ และ ปริมมี่ วิพาวีร์ ที่ต้องมาร่วมกันเป็นครอบครัวเฉพาะกิจเพื่อทำภารกิจพิเศษ ในบรรยากาศนับถอยหลังเข้าสู่ศตวรรษใหม่ที่ยังอยู่ในยุคอะนาล็อกและใช้เพจเจอร์เป็นเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก รวมไปถึงการได้ย้อนคิดถึงเหตุการณ์ส่วนตัวในชีวิตจริงของนักแสดงแต่ละคนในวัยนั้นวันนั้นที่ได้ตกตะกอนมากขึ้นในวันนี้  

จริงๆ อะไรคือเหตุผลให้เราตัดสินใจโกหกหรือสารภาพไปตามตรง แล้วใครเป็นคนได้รับผลประโยชน์จากคำพูดเหล่านั้น? แม้สุดท้ายอาจไม่มีใครเลยที่ไม่เคยโกหก แต่อะไรคือเหตุผลให้เราตัดสินใจโกหกหรือสารภาพไปตามจริง? นั่นอาจเป็นคำถามที่น่าสนใจมากกว่า ชวนมาหาคำตอบนี้กันในคอลัมน์ Q & a day ที่รับรองไม่มีสปอยล์ แต่จะทำให้ผู้ชมเข้าใจเหตุผลของคาแรกเตอร์ที่ทั้งนักแสดงและผู้กำกับต้องการสื่อสารออกมา 

Analog Squad ทีมรักนักหลอก ผลงานการกำกับและร่วมเขียนบทซีรีส์ของ ต้น-นิธิวัฒน์ ธราธร (คิดถึงวิทยา หนีตามกาลิเลโอ และ Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย) นำทีมนักหลอกโดย ปีเตอร์ นพชัย, น้ําฝน กุลณัฐ, เจเจ กฤษณภูมิ และ ปริมมี่ วิพาวีร์ ฉายพร้อมกันทั่วโลกทาง Netflix

Q: เหตุผลที่ทำให้เลือกรับบทในซีรีส์เรื่องนี้

ปริมมี่: เราชอบบริบทของคาแรกเตอร์ในเรื่อง White Lies และการปลอมตัวไปเป็นครอบครัวปลอมๆ สำหรับคาแรdเตอร์ บุ้ง มีความน่าสนใจเรื่องเจนเดอร์ (ทอมบอย) และเลเยอร์ต่างๆ ที่ต้องเจอในเรื่อง

ปีเตอร์: องค์รวมของบทที่ย้อนไปเล่าในปี 1999 ซึ่งตัวผมเคยผ่านมา รวมถึงการเดินทางของตัวละคร สิ่งที่ต้องพบเจอ หรือการตัดสินใจที่ต้องหาคนมาร่วมเป็นครอบครัวปลอมๆ เพื่อกลับไปบ้าน และการพัฒนาตัวละครที่นำไปสู่ผลลัพธ์แบบที่ผู้กำกับภาพยนตร์เห็นภาพ 

องค์ประกอบรวมของคาแรกเตอร์ที่ทำให้มีความน่าสนใจในด้านการแสดง นอกจากนี้ยังเป็นการทำงานกับผู้กำกับและนักแสดงที่ยังไม่เคยร่วมงานด้วยกันมาก่อน องค์ประกอบใหม่ๆ เหล่านี้รวมถึงเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวแบบเต็มตัวที่ผมยังไม่เคยได้เล่น จึงเป็นสิ่งที่ทำให้สนใจในการมารับบทเป็นพ่อ ที่เป็นคนธรรมดา ไม่มีความรับผิดชอบ หนีปัญหา ซึ่งเป็นวิธีการทำงานใหม่ๆ สำหรับผมกับพี่ต้น (ผู้กำกับ) 

เจเจ: ผมอินกับประเด็นเรื่องครอบครัวด้วยอยู่แล้ว สำหรับในเรื่องที่เป็นการแสดงซ้อนการแสดงอีกที ทำให้ผมสามารถเล่นบทบาทได้ในหลายเลเยอร์ บวกกับปมขัดแย้งในคาแรกเตอร์ของ เก๊ก ด้วยที่เป็นลูกของนางแบบถ่ายนู้ดยุคปี 1999 ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความท้าทายในการเป็นตัวละครนั้นในยุคนั้น ก็เลยทำให้ตัดสินใจรับบทนี้

Q: ทำการบ้านเพิ่มเติมเพื่อมารับบทนี้อย่างไรบ้าง แล้วบทที่ได้รับมีความเหมือนกับตัวเองหรือไม่

เจเจ: สำหรับบท เก๊ก ไม่ได้ทำการบ้านเพิ่มเติมมากเท่าไหร่ เพราะเป็นคาแรคเตอร์ที่ไม่ได้มีอะไรที่โดดเด่นมาก ทั้งยังมีบางมุมที่คล้ายกับตัวผมที่เข้ากับคนได้ง่ายหรือการเป็นคนที่ไหลไปกับสถานการณ์ เรื่องของยุค 1999 ผมจะถามกับพี่ต้น (ผู้กำกับ) เพราะจินตนาการไม่ค่อยออกว่ามีบรรยากาศแบบไหน

ส่วนใหญ่เน้นไปตามสถานการณ์กับบทที่ตัวละครเจอ ณ เวลานั้น แต่ก่อนที่จะมีการถ่ายทำผมก็จะมีการทำการบ้านกับบทเป็นปกติอยู่แล้วครับ 

ปีเตอร์: สิ่งที่เชี่อมโยงระหว่างตัวเองกับตัวละครที่มีความคล้ายกับ ลุงปอนด์ ก็คือหนึ่ง ผมเป็นคนชอบหนีปัญหาในที่นี้หมายความว่าจะไม่คิดถึงหรือถ้าเลี่ยงได้ก็จะเลี่ยงถ้าอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ แล้วก็สอง ชอบโทษคนอื่นก่อนโทษตัวเองเพราะคิดว่าเราไม่น่าจะผิดคนแรกประมาณนี้ครับ

ตอนวัยเด็กหรือวัยรุ่นผมว่าทุกคนน่าจะเป็นคล้ายๆ กันนะที่มักคิดว่าคนที่ผิดหรือคนที่ไม่เข้าใจคือพ่อแม่มากกว่าตัวเรา เราอาจจะไม่ได้สำรวจตัวเองแต่มักไปโทษคนอื่นก่อน ผมว่าส่วนนี้กับผมมีความเชื่อมโยงกันทั้งในเรื่องอายุช่วงวัยเดียวกันนั้นด้วย 

ส่วนในเรื่องการทำงานคือการทำงานกับผู้กำกับที่ยังไม่เคยร่วมงานกันมาก่อน เพราะแต่ละคนจะมีวิธีการเฉพาะ อย่างเช่น พี่ต้น ก็จะมีวิธีการมองตัวละคร ลุงปอนด์ แบบหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่ามันอาจไม่ได้เหมือนกันตั้งแต่แรกร้อยเปอร์เซนต์จึงเป็นส่วนที่ต้องมาปรับจูนกัน ทำยังไงก็ได้ให้แสดงออกมาได้ตามสิ่งที่ผู้กำกับต้องการมากที่สุด แต่ไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการมากที่สุด ก็เลยต้องหาให้เจอว่าพี่ต้นอยากได้การแสดงอย่างไรกันแน่จากตัวละครนี้เพื่อเดินไปด้วยกัน

Q: แล้วในส่วนที่เชื่อมโยงกันเรื่องการหนีปัญหา การได้เล่นบทนี้ทำให้สามารถเข้าใจตัวเองและมองเห็นทางออกดีขึ้นหรือเปล่า

ปีเตอร์: ผมคิดว่าช่วยครับ โดยเฉพาะบทของ ลุงปอนด์ ในการตัดสินใจของแต่ละคนในช่วงเวลานั้นๆ เช่น พ่อแม่เราในช่วงเวลาของพวกเขาย้อนกลับไป 20-30 ปี ที่ในตอนนั้นเรายังไม่เข้าใจ พ่อแม่ตอนนั้นก็เป็นวัยรุ่นหรือวัยกลางคนๆ นึงซึ่งอาจจะตัดสินใจกับปัญหาในแบบของเขาที่เขาคิดว่าดีที่สุดแล้ว ในตอนนั้นคนเป็นลูกอาจยังไม่เข้าใจ 

แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วเราจะเข้าใจและรับรู้มากขึ้นว่าทุกอย่างพ่อแม่ของเราก็มีเหตุผลในการตัดสินใจแบบนั้นในช่วงเวลาแบบนั้น เพราะในตอนนั้นเราแค่ยังไม่เชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เขาคิด เขาตัดสินใจแบบนั้นเพราะเป็นสิ่งที่คิดได้ว่าเป็นทางที่ดีที่สุดแล้ว แต่เราเองในช่วงเวลาที่เรายังเด็กก็มักจะตั้งคำถามว่าทำไมไม่ทำอย่างแบบนั้นแบบนี้แทนล่ะ 

ถ้าเราดูซีรีส์จนจบหรือสำหรับผมเองพอได้อ่านบทจบก็เข้าใจได้ว่าในแต่ละช่วงเวลาของการตัดสินใจของเขาก็ต่างกันออกไปในเงื่อนไขของชีวิตแต่ละคน เพียงแต่ว่าเรายังไม่เข้าใจมันเท่านั้นเองในตอนนั้นแค่นั้นเอง 

แต่เมื่อผ่านเวลามาจนอายุเท่านี้แล้วก็เห็นและเข้าใจมากขึ้นผ่านซีรีส์ด้วยว่าเขาก็มีวิธีคิดของเขาแบบนั้นเอง ถ้าได้ดูในเรื่องก็จะเข้าใจได้แบบนี้เช่นกันครับ

ปริมมี่: เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ได้รับบทนำหลักก็รู้สึกว่าต้องทำการบ้านเยอะ ส่วนหนึ่งเพราะคาแรคเตอร์ในบท บุ้ง  เป็นคาแรคเตอร์ที่มีปมขัดแย้งเยอะพอสมควร ในแต่ละตอนจะมีการเปลี่ยนมุมมองและความคิดที่ทำให้ค่อยๆ โตขึ้นในแต่ละสถานการณ์ที่เจอ ก็เลยต้องทำการบ้านเยอะเพราะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับตัวละคร 

แล้วความที่ บุ้ง มีคาแรคเตอร์แมนๆ เป็นทอมบอยทำให้เราต้องทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ใหม่ เพราะว่าทอมบอยของพี่ต้นในยุคนั้นกับในสมัยเราไม่เหมือนกัน วิธีที่พี่ต้นมองผู้หญิงเป็นทอมบอยไม่เหมือนกับในสมัยนี้ที่เจนเดอร์มีความลื่นไหลมากกว่าซึ่งเราก็ต้องไปทำการบ้านในส่วนนั้นเพิ่มขึ้นด้วย 

สิ่งที่คิดว่ายากสำหรับคาแรกเตอร์ บุ้ง คือความเป็นคนอ่อนไหว ถึงแม้จะแสดงออกมาว่าเป็นคนกวนๆ จริงๆ มีด้านที่อ่อนไหวของเขาซ่อนอยู่ เรามองว่ามุมนี้เป็นสิ่งสามารถเชื่อมโยงกับตัวเองได้เพราะเราเองก็เป็นคนแมนๆ กล้าคิดกล้าทำ แต่ก็มีบางช่วงที่เป็นคนอ่อนไหวเหมือนกันนะ

Q: อยากชวนย้อนกลับไปในบรรยากาศยุค Y2K แต่ละคนทำอะไรอยู่

ปีเตอร์: ตอนนั้นผมเป็นกราฟิกดีไซเนอร์อยู่ที่บริษัทเล็กๆ แห่งหนึ่ง ทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็นหลักเลยครับ แล้วอยู่ๆ โดนเจ้านายสั่งให้แบ็กอัพทุกอย่างในช่วงปลายปี 1999 ในตอนนั้นไม่มีใครรู้เลยว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เมื่อเข้าสู่ปี 2000 ทุกคนก็มีความตื่นตระหนกกันพอสมควรเลยว่าคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันอยู่นี้พอเปลี่ยนเลขจาก 1999 เป็น 2000 มันจะเกิดอะไรขึ้นกันแน่ มีข่าวลือเยอะแยะมากมายเกี่ยวกับระบบเหล่านี้ 

ทำให้ทุกคนตื่นตระหนกกันไปพอข้ามคืนไปแล้วทุกอย่างเหมือนเดิม (หัวเราะ) สนุกดีครับทุกคนก็ตื่นเต้นกับปี 2000 

เจเจ: เคยมีใครออกมาพูดมั้ยครับว่าใครเป็นคนแรกที่ปล่อยไอเดียนี้ออกมาให้คนกลัว?

ปีเตอร์: ไม่รู้เหมือนกันแต่มันแพร่กระจายไปเร็วมาก

เจเจ: นี่เป็นทั้งโลกใช่มั้ยครับหรือเป็นเฉพาะที่ไทย?

ปีเตอร์: เท่าที่ผมจำได้นะครับ เป็นเงื่อนไขการรันเลขนาฬิกาในคอมพิวเตอร์จะสุดแค่ 1999 จะไม่มีเลขต่อจากนั้น ก็เลยเดากันไม่ออกว่าจะเกิดอะไรขึ้นหรือข้อมูลจะหายรึเปล่า โดยเฉพาะบริษัทที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ก็จะตระหนกกันมาก ซึ่งผมเองก็ได้อยู่ในช่วงเวลานั้น แต่พอข้ามคืนไปแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นเช้ามาทำงานตามปกติมองหน้ากันและกันก็เป็นช่วงเวลาตลกดีครับ นี่มันอะไรกันครับเนี่ย

เจเจ: ตอนนั้นผมอยู่อนุบาลหนึ่งครับจำเหตุการณ์อะไรไม่ได้เลย ยกเว้นลูกชิ้นหน้าโรงเรียนอร่อยมากครับ ก่อนกลับบ้านต้องแวะซื้อกินตลอด 

ปริมมี่: ตอนนั้นอยู่ในวัยโตกว่าอนุบาลนิดนึง จำได้ว่าตอนเด็กๆ เช่าเทปวิดีโอบ่อยอาทิตย์ละสองครั้งเช่ามาแล้วไปคืน บางเรื่องซื้อเก็บไว้ใส่ชั้นที่บ้านจนอยู่ๆ วันนึงหายไปเราเสียใจมาก คุณพ่อบอกว่าเพราะไม่มีใครดูแล้วก็เลยเอาไปทิ้งไป แต่เราก็ยังเสียดายเพราะคิดว่าน่าจะเป็นของตกแต่งบ้านที่น่ารัก

Q: ปีนี้เราได้เห็นผลงานของปีเตอร์เยอะมาก อะไรเป็นเกณฑ์ในการเลือกงานแสดงหรือบทแบบไหนที่ทำให้เราอยากเล่นเหลือเกิน

ปีเตอร์: ปกติไม่มีเกณฑ์ครับ ผมต้องอ่านบทก่อนแล้วดูว่ารู้สึกยังไง เข้าใจหรือไม่ ชอบรึเปล่า หรือถ้าไม่มีบทก็จะฟังเรื่องที่เล่าให้ฟัง ถ้าเรารู้สึกร่วมกับบทนั้นเช่นกันก็จะใช้สัญชาตญาณตัดสินใจ เพราะการไปเล่นในบทที่เราไม่อินด้วยก็จะรู้สึกอึดอัด 

เวลาตัดสินใจก็จะคุยกับตัวเองให้ดีก่อนว่าเราสามารถทำได้แน่ๆ หรือในช่วงหลังเริ่มที่จะลองเล่นบทแปลกจากเดิมเช่นในเรื่อง แสงกระสือ ก็เป็นลดกรอบให้น้อยลงของผมเอง พอโตขึ้นเงื่อนไขในการรับบทก็ลดลง ได้ลองทำมากขึ้น จึงทำให้ได้เห็นบทบาทที่หลากหลายกว่าแต่เดิม เงื่อนไขในการตัดสินใจรับบทยังคงเดิมแต่เงื่อนไขบางเรื่องน้อยลง แต่พื้นฐานต้องมาจากการอ่านแล้วตัวเองชอบก่อน จากที่เคยคิดลังเลแต่ตอนนี้ไม่ค่อยมีแล้วได้ลองทำดูเพื่อเปิดเหลี่ยมประสบการณ์ให้มากขึ้นมากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมต้องการในตอนนี้คือความหลากหลายในการค้นหาด้านการแสดง ทำให้ในปีนี้มีบทแปลกกว่าที่เคยเป็น  

บางคาแรคเตอร์ถ้าเป็น 5-10 ปีที่แล้วผมไม่กล้ารับเล่นเพราะกลัวว่าจะทำไม่ได้ แต่ตอนนี้ที่เงื่อนไขน้อยลง เราก็เปิดใจเชื่อผู้กำกับดูสิ ไปด้วยกันกับเขาก็เลยทำให้ได้ลองทำอะไรหลายๆ อย่าง

Q: คิดอย่างไรกับคำว่า “เพื่อนคือครอบครัวที่เราเลือกเอง”

ปีเตอร์: ผมไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะเราจะเลือกเพื่อนเองก็ไม่ใช่ซะทีเดียวนะ หมายถึงว่าบางครั้งสถานการณ์พาให้เราไปเจอเพื่อน ผมคิดว่ามันครึ่งๆ ส่วนหนึ่งคือเราเลือกที่จะคบเขาหรือไม่คบ แต่ผมว่าเราไม่ได้เลือกเองตั้งแต่ต้น มีเรื่องของเหตุการณ์และสถานการณ์ที่พาไปเจอคนเหล่านั้น แล้วเราจึงตัดสินใจหลังจากนั้น

เหตุการณ์ผมว่ามีส่วนเยอะมากนะครับ ถ้าสังเกตดีๆ บางคนเราไม่เคยคิดว่าจะได้เป็นเพื่อนกับคนๆ นี้ แต่เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างทำให้เราต้องไปข้องแวะกับเขา ทำให้ได้รู้จักกัน คนๆ นี้ก็เป็นคนไม่เลวนี่หว่า ผมเจอบ่อยกับคนที่ไม่คิดว่าจะได้รู้จัก แต่ด้วยเหตุการณ์และสถานการณ์ทำให้ได้เห็นแง่มุมอื่นๆ ของเขาว่าเป็นคนโอเคเหมือนกันนะมันก็เลยครึ่งๆ สำหรับผม บางทีธรรมชาติจัดสรรด้วย

ปริมมี่: ก็ใช่นะคะ บางครั้งบางเรื่องเราแชร์กับครอบครัวไม่ได้ แต่กลับรู้สึกอุ่นใจที่จะแชร์กับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่หรือพี่ชาย เพื่อนที่เราสนิทกันมากๆ มีความรู้สึกเหมือนเป็นครอบครัวของเราอีกครอบครัวนึงที่เราคิดว่าน่าจะคบกันไปจนแก่ 

เจเจ: ผมไม่ค่อยเลือกคบเท่าไหร่ครับเพราะได้หมด ผมเป็นคนค่อนข้างเปิดและสนิทกับคนง่าย แต่พอถึงเวลาก็จะมีบางอย่างที่ทำให้คนๆ นี้ออกไปจากชีวิตเอง

Q: จากงานวิจัยที่พบว่าทุกๆ 10 นาทีคนเราจะโกหก 3 ครั้ง แล้วเรื่องล่าสุดที่คุณเพิ่งโกหกไปคืออะไร

ปีเตอร์: คนที่เป็นห่วงเราถามว่ากินข้าวหรือยัง เราตอบไปว่ากินข้าวแล้ว แต่จริงๆ ยังไม่ได้กินหรอก ผมว่ามันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะหนึ่งเราไม่อยากให้คนที่ถามเป็นห่วง สองไม่อยากอธิบายเยอะว่าทำไมถึงยังไม่กิน ผมเชื่อว่าในชีวิตประจำวันเรานี่แหละตัวดีเลยต้องมีแน่นอน 

ปริม: เพื่อนชวนไปเที่ยวแต่ขี้เกียจ เลยบอกไปว่ากำลังทำงานอยู่นะ ยังไม่เลิกงานแต่จริงๆ อยู่บ้านไม่อยากออกไปเพราะไม่อยากเจอคนเฉยๆ ค่ะ ที่บอกไปแบบนั้นเพราะไม่อยากให้เพื่อนเสียใจ 

เจเจ: บอกผู้จัดการว่าใกล้ถึงแล้วแต่… (นิ่งแอบยิ้ม) ยังไม่ออกจากบ้านครับ

Q: แสดงว่าการโกหกก็มีประโยชน์ใช่มั้ย

ปีเตอร์: หรือมันอยู่ในดีเอ็นเอของมนุษย์ 

ปริมมี่: มองว่าการโกหกมันเป็นเรื่องเคยชิน พอมาเล่นซีรีส์เรื่องนี้ก็ทำให้ได้คิดถึงบริบทนี้ก็เลยพยายามพูดความจริงมากขึ้น อย่างเช่น เมื่อวันก่อนมีเพื่อนมาชวนออกไปเที่ยวอีกครั้ง แล้วเราไม่อยากไปก็บอกไปตรงๆ ว่าไม่อยากไป แทนที่จะบอกว่าอยู่บ้าน เรื่องนี้ทำให้เรารู้ตัวเองมากขึ้นด้วยเลยพยายามโกหกน้อยลง ถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็อาจเป็นความเคยชินจนต้องโกหกไปเรื่อยๆ 

ปีเตอร์: ผมมีข้อสังเกตนะว่า เด็กเล็กๆ หกเจ็ดเดือน ที่แกล้งร้องไห้แบบมีน้ำตาเลยนะเพราะอยากได้ขนม พอได้ขนมที่อยากได้แล้วหยุดเลย ยิ้มออกทันที ผมว่ามันอาจจะอยู่ในตัวเรามาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วล่ะมั้ง 

ปริมมี่: อาจจะเป็นสัญชาตญาณเอาตัวรอด

Q: ถ้าต้องโกหกเพื่อให้ได้สิ่งหนึ่งมาคิดว่าเป็นอะไร

เจเจ: เวลาส่วนตัวครับที่ได้อยู่กับตัวเองหรือเวลาที่เราสามารถทำในสิ่งที่อยากทำ เช่น เพื่อนชวนไปกินข้าว แต่บอกไปว่ายังไม่หิวเลย แต่จริงๆ ขับรถไปกินอย่างอื่น (หัวเราะลั่นวง) เพราะเราอยากได้กินอะไรที่อยากกิน หรือ ถ้าร้านที่ชวนอยู่ไกลจากบ้านก็อยากเลือกร้านแถวนี้ดีกว่า

ปีเตอร์: ผมพร้อมจะโกหกเพื่อคนที่เรารักหรือเป็นห่วงสบายใจ เงื่อนไขนี้ผมทำได้ง่ายที่สุด ซึ่งมันเป็นลูกโซ่กันนะครับ พอคนที่เราห่วงใยสบายใจ เราเองก็สบายใจไปด้วย นั่นก็แปลว่าเราโกหกเพื่อให้ตัวเองสบายใจนั่นเอง มันสอดคล้องอยู่เสมอครับ 

ปริมมี่: ขอเลือกคำตอบของพี่ปีเตอร์กับเจเจรวมกันเป็นคำตอบเดียวได้มั้ยคะ ทั้งเรื่องเวลาและคนที่เราห่วงใย เคยบอกเพื่อนเวลาศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ว่าจะอยู่บ้านแต่จริงๆ ไปเขาใหญ่คนเดียว โดยไม่บอกใครเพราะไม่อยากให้ใครรู้ว่าเราไปเที่ยวคนเดียว ก็มีโมเมนต์แบบนี้บ้างค่ะ

Q: ข้อความที่เคยส่งในเพจเจอร์ที่จำได้จนถึงตอนนี้ 

ปีเตอร์: ผมว่าทุกคนต้องเคยส่ง ถึงจะเขินๆ หน่อยก็เถอะ เช่น ถึงบ้านรึยัง ฝันดีนะ เป็นประโยคคลาสิกประจำที่ใช้ในการส่งหากัน แรกๆ ก็จะเขินๆ หน่อย เพราะต้องบอกคนแปลกหน้าไปบอกคนที่เราชอบว่าฝันดีนะ มีแน่นอนใช้บ่อยเลย 

เจเจ: จำคนแรกที่เคยส่งเพจไปหาได้มั้ยครับ? 

ปีเตอร์: จำได้ (ตอบสวนกลับมาทันทีพร้อมยิ้มกริ่ม)  

เจเจ: ส่งเพจไปหาใครครับ?

ปีเตอร์: (มองหน้าเจเจแล้วหัวเราะพร้อมกันเสียงดัง แต่ยังไม่ตอบ) 

เจเจ: เพื่อน หรือ คนที่บ้านหรือใครครับ? 

ปีเตอร์: ไม่ใช่เพื่อน (เขินเสียงอ่อยๆ)

Q: ถ้าให้ส่งเพจเจอร์หาตัวเองอยากส่งข้อความอะไรถึงปี 2023 ที่ผ่านมา

ปีเตอร์: ทำดีแล้วสู้ต่อไป

เจเจ: อย่าลืมนัดที่บ้านกินข้าวบ่อยๆ 

ปริมมี่: มีหลายข้อความมากเลย อยากส่งบอกตัวเองให้ ออกกำลังกายมากขึ้น ตื่นเช้ามากกว่านี้ มีรูทีนมากกว่านี้

Q: เหตุการณ์หรือบุคคลที่อยากขอบคุณ ขอโทษ หรือ บอกรัก สำหรับปี 2023 นี้

ปริมมี่: ขอบคุณพี่ชายที่คอยสนับสนุนมาโดยตลอด 

ปีเตอร์: ผมขอบคุณทุกคน เพราะปกติเป็นมนุษย์ปากหนัก ไม่ค่อยบอกรักหรือขอบคุณใครบ่อยๆ ทั้งที่คนรอบตัวก็มีความปรารถนาต่อเราหมดเลย แต่ผมเองเป็นคนแข็งๆ 

ถ้าให้เลือกก็อยากบอกกับคนรอบตัวที่เป็นคนที่เรารักพ่อแม่ พี่น้องและแฟนเรา ทั้งขอบคุณและขอโทษในเวลาเดียวกัน เพราะบางทีเราก็อาจจะไม่ได้เป็นอ่อนโยนที่จะพูดออกไปในจังหวะที่ควรจะพูด ถึงแม้จริงๆ แล้วจะรู้สึกอยู่ข้างในแต่ก็อายที่จะพูด อายที่จะแสดงออกมาครับ 

เจเจ: ผมจะขอโทษตัวเองที่ใช้เงินเยอะครับ 

(Q: ใช้เงินไปกับอะไรบ้างคะ)

เติมเกมครับ แล้วก็เรื่องไร้สาระ

ปีเตอร์: ร่างหนึ่ง ขอโทษกับตัวเองอีกร่างหนึ่งเหรอ

เจเจ: ตอนหลังต้องมานั่งเครียดว่า เฮ้ยเราทำแบบนั้นไปทำไมว่ะ

(Q: แสดงว่าปีหน้าจะเติมน้อยลงใช่มั้ย)

ผมจะทำงานให้หนักขึ้นครับ

ปีเตอร์: เฮ้ย นี่ตอบไม่ตรงคำถามหนิ (แซว)

เจเจ: เราก็จะมีเงินเยอะขึ้นไงครับ อยากใช้เงินเหมือนเดิม เลยต้องบอกให้ตัวเองทำงานหนักขึ้น เป็นการทำงานเยอะๆ ขยันๆ แล้วมาเติมเกมเหมือนเดิม

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ธราวิชญ์ วิพุธานุพงษ์

เขตยังไม่ปิด ผมก็มีสิทธิ์ที่จะแจ้งเกิด