Pokémon Concierge รีสอร์ตพักใจของเทรนเนอร์ชาวมิลเลนเนียลที่กำลังเหนื่อยล้ากับชีวิต

หลายสิบปีมาแล้วที่โปเกมอนเข้าไปอยู่ในหัวใจของเด็กๆ สอนให้รู้จักคำว่ามิตรภาพ การไม่ยอมแพ้ การต่อสู้เพื่อให้ตัวเองแข็งแกร่งขึ้น วันนี้ที่เด็กเหล่านั้นเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ และเพิ่งได้ลิ้มรสขมจากการเติบโต ทั้งความผิดหวัง ความกดดันเป็นครั้งแรก บางครั้งก็อาจทำให้รู้สึกท้อแท้และหลงลืมความสดใสแบบเด็กๆ ไป

โปเกมอนคอนเซียช (Pokémon Concierge) ในปี 2024 อาจไม่ได้สื่อสารกับเทรนเนอร์ตัวจิ๋วรุ่นใหม่ด้วยฉากต่อสู้อันน่าตื่นเต้น แต่ซีรีส์แอนิเมสต็อปโมชันอบอุ่นหัวใจเรื่องนี้ชวนเหล่าเทรนเนอร์รุ่นพี่มาพักกาย พักใจ ที่รีสอร์ตโปเกมอน เกาะที่มีสายลมอ่อนๆ แสงแดดอุ่นๆ และชายหาดอันเงียบสงบ เพื่อให้เรารู้สึกผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าจากความวุ่นวายในชีวิต

ด้วยวิธีการถ่ายทอดแบบสต็อปโมชันที่ต้องขยับทีละเฟรมทำให้ซีรีส์นี้มีทั้งหมด 4 ตอน ความยาวตอนละประมาณ 15-20 นาที สตรีมมิ่งบน Netflix ผลงานจากสตูดิโอ Dwarf Studios ที่เคยผลิต Rilakkuma and Kaoru ก่อนหน้านี้

เรื่องราวเริ่มต้นจาก ฮารุ สาวออฟฟิศที่กำลังเจอกับมรสุมชีวิต ทั้งจากความเครียดในงาน ถูกแฟนที่คบกันมา 6 ปีบอกเลิกด้วยอีเมลเพียงฉบับเดียว ดวงตกเหยียบหมากฝรั่งถึง 2 ครั้ง ความเหนื่อยล้าในชีวิตทำให้เธอตัดสินใจออกมาจากสภาพแวดล้อมเดิม แล้วมาเริ่มต้นงานใหม่ที่โปเกมอนรีสอร์ต

แม้สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนไป แต่นิสัยคนเราก็ไม่ได้เปลี่ยนกันได้ง่ายๆ ช่วงแรกฮารุยังคงเอาจริงเอาจัง และพยายามทำตัวเป็นผู้ใหญ่ให้มากที่สุด แต่หลังจากที่ได้ลองพักผ่อนในรีสอร์ตนี้หนึ่งวันกับเหล่าโปเกมอนที่วิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนานไม่ต่างจากเด็กๆ ก็ทำให้ฮารุค้นพบว่าเวลาที่เธอได้เห็นโปเกมอนใช้ชีวิตอย่างสบายใจ ปัญหาที่ฮารุกำลังหนักใจก็เบาลงทันที 

“โปเกมอนเนี่ย พวกเขาทั้งสนุกและเป็นอิสระ พอเห็นแบบนั้นแล้วเรื่องที่ต่างๆ ที่กลุ้มอยู่ดูเป็นเรื่องเล็กๆ ไปเลย”

จะว่าไปปัญหาที่ฮารุพบเจอก็เป็นปัญหาใหญ่ที่ชาวมิลเลนเนียลกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเครียดและการดูแลตัวเอง เช่นเดียวกับฮารุเองที่ไม่เคยมีเวลาได้พักผ่อนจริงๆ วันแรกที่ได้มาที่รีสอร์ตเธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องพักผ่อนอย่างไร ขณะเดียวกันการพักยิ่งทำให้เธอรู้สึกผิดและต้องชดเชยด้วยการทำงานให้หนักมากกว่าเดิม 

ขณะเดียวกันฮารุยังต้องต่อสู้กับความสงสัยในตัวเอง (self-doubt) เมื่ออยู่ท่ามกลางคอนเซียช หรือพนักงงานดูแลรีสอร์ตคนอื่น ที่ทั้งมืออาชีพ และรับมือกับโปเกมอนได้อย่างดี นั่นยิ่งทำให้ฮารุรู้สีกไม่แน่ใจว่าตัวเองมีความสามารถอะไรกันแน่

สำหรับใครที่เป็นแฟนโปเกมอน คงคุ้นเคยกับการที่เหล่าเทรนเนอร์จะมีโปเกมอนคู่ใจ ระหว่างที่พักที่รีสอร์ตนี้ วาตานาเบะผู้ดูแลก็ได้แนะนำให้ฮารุลองหาโปเกมอนคู่หูของตัวเองด้วยเหมือนกัน สุดท้ายฮารุก็เลือกโปเกมอนที่ถูกชะตาด้วย นั่นคือ ไซดัก (Psyduck) เป็ดธาตุน้ำตัวสีเหลืองขี้อายที่มีอาการปวดหัวอยู่เสมอ และสามารถใช้พลังจิตย้ายสิ่งของได้ ความไม่สมบูรณ์แบบของไซดักและฮารุทำให้ทั้งคู่ค่อยๆ เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ขณะที่ไซดักต้องเรียนรู้ควบคุมพลังของตัวเอง ฮารุเองก็พยายามค้นหาความพิเศษเฉพาะตัวของเธอเช่นกัน 

ไซดักอาจไม่ใช่โปเกมอนที่ป๊อปปูลาร์เหมือนกับพิคาจูที่ใครๆ ก็ตกหลุมรัก แต่ไซดักก็เป็นโปเกมอนที่เชื่อมโยงกับผู้คนได้ง่ายจากความไม่เพอร์เฟค จะเห็นจากขี้อายจนวิ่งไปหลบหลังพุ่มไม้ หรือความกลัวที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ผู้ชมหลงรักเจ้าเป็ดท่าทางเด๋อด๋าได้ไม่ยาก 

อีกหนึ่งประเด็นที่ในมินิซีรีส์นี้ที่พาเราไปรู้จักโลกอีกด้านหนึ่งของโปเกมอนคือโปเกมอนแต่ละตัวมีลักษณะเฉพาะตัวแตกต่างกัน เหมือนพิคาจู ที่หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นโปเกมอนที่ร่าเริง เสียงดัง และแบ็ตเทิลเก่ง หากมีพิคาจูสักตัวที่ไม่ได้เป็นแบบนั้น เราคงรู้สึกว่าพิคาจูตัวนั้นแปลกและต้องมีอะไรผิดปกติแน่ๆ ทั้งที่จริงอาจเป็นนิสัยธรรมชาติของพิคาจูตัวนั้นเท่านั้นเอง

เหตุการณ์นี้ไม่ต่างจากสิ่งที่ชาวเจน Z และชาวมิลเลนเนียนที่ต้องเผชิญ หลังจากที่เพิ่งก้าวเข้าสู่โลกการทำงาน ทำให้พวกเขาต้องพยายามอย่างหนักเพื่อทำให้ได้ตามความคาดหวังของสังคม ทั้งการเอาจริงเอาจังกับการทำงาน หรือต้องทำทุกอย่างไม่ให้ผิดพลาด ท้ายที่สุดแล้วความกดดันเหล่านั้นยิ่งทำให้พวกเขาไม่กล้าลงมือทำอะไรจนไม่ได้ก้าวไปไหน สุดท้ายฮารุจึงเรียนรู้ที่จะโอบรับตัวตนของตัวเองทั้งด้านที่ดีและไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง

Pokémon Concierge ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สื่อสารกับน้องใหม่ในโลกของการทำงานได้อย่างดี ภายใต้สต็อปโมชันสุดน่ารัก แต่ก็แฝงไปด้วยความรู้สึกที่ติดค้างอยู่ในใจของใครหลายคน นั่นจึงทำให้เรื่องนี้สามารถเข้าไปอยู่ในใจของผู้ชมได้ไม่ยาก แม้จะไม่เคยติดตามโปเกมอนมาก่อนก็ตาม เรื่องนี้จึงเหมาะกับใครก็ตามที่อยากหาคอนเทนต์ฮีลใจในวันที่เหนื่อยล้าได้อย่างดี 

AUTHOR