เรายังเหลือ ‘ความหวัง’ อะไรในเศรษฐกิจการเมืองไทยแบบ ‘มือใครยาว สาวได้สาวเอา’

Highlights

  • ในช่วงวิกฤตเราจะเห็นภาพสะท้อนของสังคมได้ชัดเจนที่สุด ผลกระทบทั้งหมดล้วนตกสู่ผู้คนอย่างไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะช่วงที่โรคระบาดส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่โดยตรงของประชากรส่วนใหญ่
  • หากเทียบสัดส่วนของผู้มีรายได้ทั้งหมดของประเทศจะพบว่า กลุ่มคนรวยที่สุดถือครองสัดส่วนรายได้เกินครึ่ง โดยส่วนใหญ่มาจากรายได้จากทรัพย์สิน ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เหลื่อมล้ำลำดับต้นๆ ของโลกในด้านของรายได้
  • นอกจากนี้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมอื่นๆ การเมือง รวมถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐ ยังหนุนเนื่องให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทำให้ช่องว่างของคนจนและคนรวยในไทยถ่างออกเรื่อยๆ จนความหวังของคนไทยแต่ละชนชั้นขัดแย้งกันมาตลอด

เสียงอันเร่าร้อนนั้นดีกว่าเสียงแห่งเหตุผลความเยือกเย็นไร้อารมณ์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ได้

Czesław Miłosz

 

ในช่วงวิกฤตเช่นนี้แหละที่ทุกสังคมจะเห็นภาพโครงสร้างทางสังคมว่าสุขภาพดีเพียงใด ป่วยในแง่มุมไหนบ้าง เพราะวิกฤตเป็นกระจกสะท้อนที่ชัดเจนที่สุด รัฐบาล ทุน และประชากรไทย จะรับผลของวิกฤตและจุดจบที่ยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่อย่างไร สิ่งที่เห็นได้ชัดคือผลกระทบนั้นตกสู่ผู้คนอย่างไม่เท่าเทียมกัน อัตราความยากจนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มสูงขึ้น แรงงานนอกระบบขาดรายได้และไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลครบทุกคน ในช่วงวิกฤตโรคระบาดที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่โดยตรงของประชากรส่วนใหญ่เช่นนี้ ‘ความหวัง’ ของเราจะตั้งอยู่บนรากฐานอะไรได้

ประเด็นที่อยากจะยกมาคือ นอกจากวิกฤตจะเป็นกระจกของสังคมแล้ว มันยังเป็น defining moment ของสังคมและการเมืองไทยต่อไป เมื่อวิกฤตโควิด-19 เป็นเหมือนอาการป่วยที่นำไปสู่การตรวจสุขภาพครั้งใหญ่ เราจะทำอะไรกับผลการตรวจสุขภาพเมื่อเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นแล้ว แต่ละภาคส่วนในสังคมจะปรับเปลี่ยนหน้าตารูปแบบของเศรษฐกิจการเมืองไทยอย่างไร แต่ปัญหาคือความหวังของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และความสามารถในการผลักดันให้ความหวังด้านสังคมเป็นจริงยิ่งเหลื่อมกันอย่างยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะในสภาพการเมืองที่ปิดปากประชาชน

 

พาเหรดอัปลักษณ์

หากเรานำประชากรไทยวัยทำงาน 52 ล้านคน ให้ความสูงเฉลี่ย (165 เซนติเมตร) แทนรายได้เฉลี่ยของทั้งประเทศ และให้คิดเสียว่าความสูงของคนไทยแต่ละคนเท่ากับรายได้ของตน แล้วนำคนไทยมาเรียงต่อกันจากเตี้ยไปสูง (จนไปรวย) โดยพาเหรดใช้เวลาเดินหนึ่งชั่วโมง มันจะเป็นปรากฏการณ์ที่วิปลาสพิสดารที่สุด 

ใน 15 นาทีแรก (คนไทย 25 เปอร์เซ็นต์แรก) ของพาเหรดนั้น ความสูงเฉลี่ยจะไม่ถึง 1 ไม้บรรทัด 15 นาทีถัดไป (คนไทย 25 เปอร์เซ็นต์ถัดไป) จะมีความสูงประมาณ 2 ไม้บรรทัด กล่าวคือในครึ่งชั่วโมงแรก หรือหมายถึงคนไทยครึ่งประเทศ ความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 44 เซนติเมตร ต่ำกว่าความสูงเฉลี่ยของทั้งประเทศประมาณ 4 เท่า อีก 15 นาทีถัดมาความสูงเฉลี่ยของพาเหรดจะอยู่ที่ 1 เมตร คนไทยผ่านไปค่อนประเทศความสูงยังไม่เท่ากับค่าเฉลี่ยของประเทศ แล้ว ‘คนตัวสูง’ ในประเทศหายไปไหนหมด

เสี้ยวชั่วโมงสุดท้ายของพาเหรดนี้แหละที่ทำให้มันเป็นสิ่งประหลาดน่าพิศวง ที่เวลาประมาณ 50 นาทีเราจึงจะหาคนที่มีความสูงเท่าความสูงเฉลี่ยเจอ ที่เวลา 55 นาทีคนไทยกลุ่มนี้จะมีความสูงเฉลี่ย 4 เมตร, ที่ 58 นาที สูงเฉลี่ย 10 เมตร, ที่ 59 นาที สูงเฉลี่ย 12 เมตร และในนาทีสุดท้ายของพาเหรดอัปลักษณ์นี้ความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 16 เมตร คงไม่ต้องนึกถึงเสี้ยววินาทีสุดท้ายว่าตัวสูงขนาดไหน (และคือใครบ้าง)

ถ้าเปลี่ยนพาเหรดเป็นตัวเลขที่เข้าใจได้ง่ายขึ้นอีกหน่อยก็คือ คนไทยที่รวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ของประเทศมีส่วนแบ่งถึง 20 เปอร์เซ็นต์จากรายได้ทั้งหมดของประเทศไทย คนที่รวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์มีส่วนแบ่งเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ในขณะเดียวกันคนที่มีรายได้น้อยที่สุดครึ่งประเทศได้ส่วนแบ่งจากรายได้ทั้งหมดในไทยเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ หากคำนวณเป็น Gini coefficient (ตัวเลขชี้วัดความเหลื่อมล้ำพอสังเขป ที่มีค่าอยู่ระหว่าง 0–ไม่มีความเหลื่อมล้ำเลย และ 1–คนเดียวในประเทศถือครองทรัพยากรทั้งหมด) ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยในปี 2559 อยู่ที่ 0.62 ความเป็นจริงนี้ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เหลื่อมล้ำลำดับต้นๆ ของโลกใน ‘ด้านของรายได้’

เนื่องจากส่วนประกอบรายได้เกินครึ่งของอภิชนไทยส่วนใหญ่คือรายได้จากทรัพย์สิน (ค่าเช่า ดอกเบี้ย กำไร) ดังนั้นถึงแม้ว่าจะมีดีเบตเรื่องระดับความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน สิ่งที่แน่นอนคือทรัพย์สินเหลื่อมล้ำกว่ารายได้เสมอ และเนื่องจากรายได้จากทรัพย์สินที่ว่าของคนรวยไทยมีแนวโน้มว่ามีสัดส่วนสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินจึงมีแนวโน้มว่าจะแย่ลงเช่นกัน

ผศ. ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้คำนวณโดยการใช้ข้อมูลการถือครองที่ดินปี 2555 โดยสรุปไว้ว่า ในมุมมองด้านทรัพย์สินแล้ว คนที่มีทรัพย์สินมากที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยถือครองถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สินทั้งหมด และคน 10 เปอร์เซ็นต์ถือครอง 62 เปอร์เซ็นต์ (Gini coefficient อยู่ที่ประมาณ 0.89)

ถ้าหากรวมทรัพย์สินที่อยู่ในรูปแบบของมูลค่าที่ดิน ทรัพย์สินทางการเงิน และอื่นๆ แล้ว ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินไม่น่าจะต่างจากรายงานของ Credit Suisse–ธนาคารที่ทำรายงานเรื่องความเหลื่อมล้ำ ทุกปีมากนัก Global Wealth Report ของ Credit Suisse ชี้ว่าคนที่มีทรัพย์สินมากที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ถือครอง 62 เปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สินในไทยทั้งหมด คน 10 เปอร์เซ็นต์ถือครอง 86 เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือคนจนที่สุด 90 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยถือครองทรัพย์สินเพียง 14 เปอร์เซ็นต์

 

เกมบันไดงู

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ว่ามาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นและหนุนเนื่องกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมอื่นๆ เช่น สุขภาพ การศึกษา เพศสภาพ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ประชากรไทยที่มีรายได้ต่ำที่สุด 50 เปอร์เซ็นต์มีรายได้เฉลี่ยเพียงประมาณเดือนละ 5,000 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่รายได้สูงที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 99,000 บาท เมื่อประชากรสองกลุ่มนี้มีลูก 1 คน ความสามารถในการให้โภชนาการที่ครบถ้วนสมบูรณ์แก่ลูกในวัย 0-2 ขวบนั้นจึงต่างกัน ความสามารถในการส่งเรียนระดับอนุบาลก่อนการศึกษาภาคบังคับยิ่งไม่ต้องพูดถึง ทั้งหมดนี้ทำให้การพัฒนาในวัยเด็กเล็กนั้นเหลื่อมล้ำกันตั้งแต่ต้น

เมื่อถึงเวลาเข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับ คุณภาพของการศึกษาที่ได้ก็ต่างกัน ลูกคนจนได้เข้าเรียนโรงเรียนรัฐที่ทรัพยากรไม่เพียงพอจากการจัดการแบบรวมศูนย์ของรัฐไทย ระหว่างเรียนนั้นก็อาจจะต้องช่วยครอบครัวทำงาน ในขณะที่ลูกของชนชั้นกลางและคนรวยก็ได้เรียนโรงเรียนที่มีชื่อเสียงด้วยการเรียนพิเศษและระบบเงินแป๊ะเจี๊ยะ และเมื่อถึงเวลาเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา ความเหลื่อมล้ำเลยมีทั้งในรูปแบบของการเข้าถึงและคุณภาพของสถานศึกษา

จึงไม่น่าแปลกที่เมื่อจบการศึกษา ลูกคนรวยในวัยเริ่มทำงานจะมีรายได้ต่างจากลูกของคนจนอย่างมาก และเมื่อถึงเวลาเสียภาษี นโยบายลดหย่อนภาษีเอื้อให้กับความเป็นอยู่อันสุขสบายของคนรวย ทำให้รายได้ของรัฐที่ได้จากอัตราภาษีก้าวหน้าเช่นภาษีเงินได้นั้นน้อยนิด (11 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รัฐทั้งหมด) รัฐไทยจึงต้องพึ่งพาภาษีทางตรงเช่น VAT เสียส่วนใหญ่ ซึ่งผู้เสียก็คือผู้บริโภคทุกคนและภาระในสัดส่วนต่อรายได้จึงอยู่ที่คนจนมากกว่าคนรวย เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐไทยที่มีรายได้ต่ำไม่ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของ GDP จะทำนโยบายกระจายรายได้และโอกาสได้ขนาดไหน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สวีเดน (55 เปอร์เซ็นต์) ฝรั่งเศส (50 เปอร์เซ็นต์) หรือแม้แต่ประเทศที่ความเหลื่อมล้ำยังอยู่ในระดับสูง เช่น สหรัฐอเมริกา (30 เปอร์เซ็นต์) และอังกฤษ (40 เปอร์เซ็นต์)

กล่าวคือลูกคนจนและลูกคนรวยเล่นเกมบันไดงูตั้งแต่เกิด แต่โครงสร้างบอร์ดของคนจนนั้นมีงูมากกว่าบันได ส่วนบอร์ดของคนรวยนั้นมีบันไดมากกว่างู แถมได้รับบันไดเพิ่มจากรัฐ เมื่อเล่นเกมนี้เสร็จในวัยสูงอายุก็ส่งต่อบอร์ดเกมบันไดงูนี้ให้ลูกหลานของตนเล่นต่อไป ความสูงส่งอันยืนยาวและแปลกประหลาดของอภิชนไทยจึงเกิดขึ้นด้วยปัจจัยหลายอย่าง และปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำนั้นจึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองไทย ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้อย่าเพิ่งเบื่อกับคำว่า ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’

 

ต้นไม้แห่งประวัติศาสตร์และความหวังในเอื้อมมือที่สั้น-ยาวไม่เท่ากัน

สังคมเศรษฐกิจการเมืองไทยสร้างอยู่บนต้นไม้ที่มีชื่อว่า ‘ประวัติศาสตร์’ โลกที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นได้ก็เพราะเราเลือกโตขึ้นมาจากกิ่งใดกิ่งหนึ่ง กิ่งก้านข้างๆ ของต้นไม้ประวัติศาสตร์ไทยที่เราไม่ได้เดินผ่านก็เปรียบเสมือนโลกคู่ขนานที่เราอาจทำได้แต่เพียงเฝ้าฝันถึง

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยระหว่างปี 2516 จนถึงวิกฤตปี 2540 สูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ทุนนิยมไทยที่เติบโตเร็วมากเช่นนี้ตกลงมาถึงคนจน เพียงพอที่จะทำให้อัตราความยากจนไทยลดลงรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์โลก แต่เป็นส่วนเล็กน้อยเท่านั้น หากเปรียบเทียบกับผลที่ไปตกอยู่กับกลุ่มชนชั้นกลางเก่าหรือชนชั้นกลางระดับบนในปัจจุบันที่อยู่ในภาคธุรกิจด้านอุตสาหกรรมและการเงินหรือรัฐราชการ หรือ elite ไทยที่เจริญก้าวหน้ามาพร้อมกับทุนนิยมไทยสมัยใหม่ที่กระจุกตัวรวมศูนย์ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยจึงทรุดแย่ลงอย่างรวดเร็ว

อีกหนึ่งภาพที่สะท้อนประเด็นนี้ได้ดีคือความเหลื่อมล้ำระหว่างจังหวัด ซึ่งสูงมากมาตั้งแต่ปี 2500 โดยรายได้เฉลี่ยของจังหวัดที่รวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์เป็นถึงเกือบ 7 เท่าของจังหวัดที่จนที่สุด 50 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขนี้ไต่สูงขึ้นเรื่อยๆ ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เอนเอียง จากทุนนิยมไทยที่ให้ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มทุนในหัวเมืองการผลิตโดยเฉพาะในธุรกิจส่งออก จนความเหลื่อมล้ำระหว่างจังหวัดที่กล่าวถึงถึงจุดสูงสุดในปี 2536 เท่ากับ 14 เท่า

สภาพเศรษฐกิจการเมืองเช่นนี้เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นจนถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นของทัศนคติด้านการเมือง องค์ประกอบของ ‘ความหวัง’ ในประเด็นของสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จึงขึ้นอยู่กับปัจเจกชน ความหวังและทัศนคติของคนจนไทย ชนชั้นกลาง และอภิชนไทย ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ชนชั้นกลางระดับบนของไทยที่เติบโตได้อย่างรวดเร็วในช่วงรัฐบาลทหารก่อนวิกฤตปี 2540 ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์จากทุนนิยมไทยในยุคที่ว่ามากกว่าชนชั้นล่าง (เช่นแรงงานไทย) ถึงแม้ว่าน้อยกว่าส่วนแบ่งของอภิชนอย่างมีนัยสำคัญ 

ความหวังของคนชนชั้นกลางระดับบนกลุ่มนี้จึงคือความต้องการที่อย่างน้อยก็รักษาส่วนแบ่งจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดังในอดีต หรือเติบโตจนได้กลายเป็นอภิชนในปลายสุด ด้วยโอกาสที่ประวัติศาสตร์ทุนนิยมไทยมอบไว้ให้ คนไทยกลุ่มนี้จึงเชื่อในความพยายามขวนขวายทางเศรษฐกิจ (effort) มากกว่าเรื่องโชคชะตา (luck) โฆษณา ‘จน เครียด กินเหล้า’ ของ สสส.เป็นตัวอย่างคลาสสิกที่สะท้อนทัศนคติที่ว่า

ในส่วนของอภิชนไทยที่มีมากมายหลากหลาย ทั้งในรูปแบบมหาเศรษฐี เจ้าของธุรกิจขนาดมหึมา จนถึงข้าราชการเช่นทหาร หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางอำนาจการเมืองอื่นๆ ความหวังของคนกลุ่มนี้คือการคงไว้ซึ่งอำนาจทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่มีอยู่แล้ว 

ความหวังของคนสองกลุ่มนี้สั่นคลอนเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตั้งแต่ก่อนปี 2540 และชัดเจนอย่างมากตั้งแต่เกิดวิกฤต ระบบการเมืองแบบใหม่ที่ผลักดันประชาธิปไตยเสียงข้างมากผ่านพรรคขนาดใหญ่ทำให้เกิดพื้นที่ให้ความหวังของชนชั้นล่างได้มีบทบาทในการเมืองระดับประเทศ บันไดถูกเพิ่มเข้าไปในบอร์ดชีวิตของคนจน ไม่ว่าจะผ่านนโยบายบัตรทองหรือค่าแรงขั้นต่ำ

ผลลัพธ์ของการผลักดันประชาธิปไตยหลังวิกฤตปี 2540 จึงทำให้ชนชั้นกลางระดับบนและอภิชนบางกลุ่มสูญเสียผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเติบโตของทุนนิยมไทยตั้งแต่กลางศตวรรษที่ผ่านมา โดยชนชั้นกลางได้รับส่วนแบ่งจากการเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับคนจนที่สุด 50 เปอร์เซ็นต์และอภิชน ไม่ว่าจะดูระหว่างปี 2544-2549 หรือ 2544-ปัจจุบัน เมื่อความหวังของชนชั้นกลางระดับบนถูกทำลาย จึงเกิดการขัดขวางประชาธิปไตยร่วมกับอภิชนไทย โดยกดดันและสนับสนุนการรัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา

เศรษฐกิจการเมืองไทยจึงเป็นแบบ ‘มือใครยาว สาวได้สาวเอา’ แต่สุดปลายแขนของคนสูงเพียงครึ่งเมตรจะสู้อะไรกับเอื้อมแขนของคนสูง 16 เมตร ความหวังของคนตัวเล็กในสังคมที่ไม่เท่าเทียมเช่นนี้ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ‘ความหวัง’ ที่ได้รับชัยชนะในปัจจุบันจึงเป็นของคนที่มีอำนาจและหวงแหนมันไม่ให้หายไป ชนชั้นล่างจึงต้องดิ้นรนเองในการต่อสู้กับงูบนกระดาน หนึ่งในงูนั้นก็คือวิกฤตเช่นโควิด-19

 

ความเยือกเย็นไร้อารมณ์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ได้

“เสียงอันเร่าร้อนนั้นดีกว่าเสียงแห่งเหตุผล ความเยือกเย็นไร้อารมณ์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ได้”

ประโยคนี้ของ Czesław น่าสนใจเนื่องจากไม่น่าจะมีคนดีที่ไหนในยุคการเมืองคนดีเห็นด้วยกับความหมายของมัน แต่เสียงอันเร่าร้อนนี้แหละที่ทำให้ชนชั้นกลางไทยกดดันรัฐบาล เรียกร้องประชาธิปไตยจนสำเร็จในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และพฤษภาทมิฬ และเสียงอันเร่าร้อนของชนชั้นกลางระดับบนนี่แหละที่นำไปสู่รัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา จนกำหนดประวัติศาสตร์ไทยในยุคปัจจุบันและอนาคต

ความเข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบันของตนต้องมาก่อนจึงจะเกิด ‘ความหวัง’ ในสิ่งที่ดีขึ้นได้ ความเข้าใจที่ว่านี้ในบริบทของเศรษฐกิจการเมืองหมายความว่าต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ สำหรับผู้โชคดีที่เกิดมาในสังคมรอบตัวที่ไม่ได้ทำให้ต้องลำบากอะไรมากมาย เมื่อเราเห็นภาพเมื่อไหร่ว่า ‘มันอาจจะเป็นเราก็ได้’ เสียงอันเร่าร้อนที่สะท้อนความหวังของคนส่วนใหญ่ในประเทศเช่นชนชั้นล่างอาจไม่ได้ฟังดูไร้เหตุผลอีกต่อไป 

ดังนั้น ‘ความหวัง’ อาจจะเริ่มต้นด้วย solidarity หรือ ‘ความเป็นหนึ่งเดียวกัน’ หรือ ‘ความสมาน-ฉันท์’ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากเรามองไม่เห็นว่ากระดานเกมบันไดงูนั้นอาจจะเป็นของเรา แต่ในเมื่อความหวังของแต่ละชนชั้นไทยขัดแย้งกันมาตลอด และแต่ละชนชั้นมองว่าคนอื่นเป็นตัวร้าย วิกฤตการเมืองในอนาคตอาจจะอยู่ไม่ไกล 

เรายังเหลือ ‘ความหวัง’ อะไรในเศรษฐกิจการเมืองไทย ในยุคที่เศรษฐกิจการเมืองเหลื่อมล้ำอัปลักษณ์และความแตกหักหยั่งรากลึกจนเหมือนกู่ไม่กลับ ได้แต่นับวันรอชนวนระเบิดของสงครามชนชั้นอีกครั้ง ความหวังของผู้เขียนอยู่ในคนรุ่นใหม่ที่เราจะอ่านศึกษาประวัติศาสตร์ ค้นหาความจริงและความหวังของคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และหาต้นตอของปัญหาให้เจอ 

สุดท้ายแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเสียงของความหวังใดจะเป็นเสียงที่ก้องกังวานที่สุด และเสียงนั้นจะเป็นผู้เลือกกิ่งก้านที่เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทย จะไปต่อบนต้นไม้แห่งประวัติศาสตร์ไทย

AUTHOR