หอศิลป์สื่อสารออกมาเสมอว่าที่นี่เป็นของทุกคน แต่ในความเป็นจริงเราต่างรู้ว่าการจะทำให้ทุกคนรู้สึกแบบนั้นได้ยังมีระยะทางอีกยาวไกล
ข้อหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือไม่ใช่ทุกคนที่เคยมาหอศิลป์ และไม่ใช่ทุกคนที่จะมาที่แห่งนี้แล้วรู้สึกประทับใจ อย่างไรก็ตาม เวลากว่า 10 ปีที่พวกเขายืนหยัดมาก็พอจะทำให้ใครหลายคนมีความทรงจำเกี่ยวกับหอศิลป์ มากกว่านั้นคือบางคนก็เกิดเป็นความรู้สึกผูกพัน บ้างเพราะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ บ้างเพราะเป็นฉากหลังในความทรงจำ และบ้างก็เพราะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
นี่คือบางเรื่องราวของคนเหล่านั้น
ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที
กรรมการและเลขานุการมูลนิธิหอศิลป์และผู้อำนวยการหอศิลป์คนแรก
“ก่อนหน้าที่จะมาทำงานที่หอศิลป์ ผมเป็นผู้อำนวยการอยู่ที่หอศิลป พีระศรีมาก่อน แต่ผมก็เกาะติดโครงการหอศิลป์มากว่า 20 ปีและเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายตั้งแต่ต้น มันเลยเหมือนกับว่าผมทำงานเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยมาโดยตลอด
“ตอนที่จะตั้งชื่อที่นี่ ผมและกลุ่มศิลปินก็มองไปถึงชื่อ ‘หอศิลปะร่วมสมัย’ นั่นแหละ แต่พอมีคนเข้ามาช่วยเราเยอะขึ้นจากหลายๆ ที่ หลายๆ หน่วยงาน เราก็เริ่มคิดว่าควรเปลี่ยนเป็นคำว่า ‘ศิลปวัฒนธรรม’ ไปเลยดีกว่า เราคิดตั้งแต่แรกแล้วว่าอยากให้ที่นี่กว้าง เราไม่อยากยึดติดกับความเท่หรือต้องแหวกแนว เราตั้งใจแต่แรกว่าอยากสร้างการมีส่วนร่วมกับคนให้ได้มากที่สุด เพียงแต่ให้แกนหลักของงานเป็นศิลปะร่วมสมัยเท่านั้นเอง
“ผมยังจำได้ดีเลยว่าตอนที่หอศิลป์เปิด เรามีสโลแกน ‘come to eat, stay for art.’ ตอนนั้นเราพยายามเอาห้างมาใส่ไว้ในหอศิลป์เพราะรู้สึกว่ามันต้องมีอะไรจูงใจคน คนไทยเวลาไปไหนก็ต้องกิน ต้องช้อป เราเลยคาดหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะดึงคนเข้ามาได้บ้าง ถึงอย่างนั้นตอนแรกๆ หอศิลป์ก็เงียบมากจนเราเริ่มห่วงว่าการทำงานศิลปะร่วมสมัยจะทำให้คนรู้สึกว่าปีนบันไดดูหรือเปล่า แต่พอเวลาผ่านไป 10 ปี ผมก็ได้เห็นภาพที่ไม่นึกไม่ฝันมาก่อน ปัจจุบันการที่เรามีคนเข้าถึงปีละ 1,700,000 คน ผมไม่เคยคิดเลยนะว่าจะเป็นไปได้ หรืออย่างการต่อคิวดูงานศิลปะนี่ยิ่งไม่เคยคิดเข้าไปใหญ่
“ผมคิดมาตลอดเลยนะว่าคำว่า ‘ศิลปะ’ จริงๆ ก็คือ ‘บทสนทนา’ ระหว่างงานศิลปะของศิลปินกับคนดู ยิ่งสังคมในตอนนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว เราก้าวหน้าขึ้น จากที่เมื่อ 150 ปีก่อนวัฒนธรรมและเรื่องราวต่างๆ อาจจะอยู่ในวัด แต่ตอนนี้มันอยู่ที่ประชาชนทั่วไป คุณค่าทั้งหลายก็เกิดขึ้นจากบทสนทนาระหว่างคน และศิลปะก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดบทสนทนาเหล่านั้น และตรงนี้เองที่หอศิลป์ทำหน้าที่คล้ายๆ กับการตอบสนองโจทย์ ตอนแรกเด็กรุ่นใหม่อาจจะแปลกใจกับสิ่งที่เรานำเสนอจนดูไม่รู้เรื่อง แต่มันก็ดึงดูดคนจนวันหนึ่งความแปลกก็หายไป คนเริ่มเข้าใจและมองที่เนื้อหามากขึ้น
“ตอนนี้ผมรู้สึกว่าบทสนทนาของที่นี่เปิดแล้ว ดังนั้นทางข้างหน้าคงเริ่มสดใสขึ้นเยอะแล้วล่ะ ถึงช่วงที่ผ่านมาอาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ผมเห็นประชาชนออกมาเรียกร้องแทนเรา แค่นี้ผมก็ยิ้มแล้ว ต่อจากนี้ถ้ามันจะมีอุปสรรคอะไรก็ตามแต่ ผมคิดว่าหอศิลป์ไปต่อได้ เพราะประชาชนเห็นแล้วว่าที่นี่มีประโยชน์ สุดท้ายผมเชื่อว่าตราบใดที่เขาเห็นว่าที่นี่มีคุณค่า การแก้ไขปัญหาก็จะเกิดขึ้นตามมาเอง”
ชาญยุทธ มนูญวิริยะกุล
เจ้าหน้าที่ฝ่ายอำนวยการและหนึ่งในพนักงานกลุ่มแรกของหอศิลป์
“จริงๆ แล้วผมเรียนจบด้านการเมือง จบมาก็ทำงานอยู่ที่สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ แต่ด้วยความชอบในศิลปะ ผมเข้ามาเกี่ยวกับหอศิลป์เต็มตัวครั้งแรกตอน Art Vote จนถึงวันที่เขาเริ่มมีมติให้ดำเนินการสร้าง หลังจากนั้นผมก็กลับไปทำงาน จนปี 2551 ผมออกจากงานเวลาเดียวกับที่หอศิลป์เปิดทำการพอดี ทีมงานก็เลยชวนให้ผมมาช่วยทำ ด้วยความผูกพันจากตอนรณรงค์ผมเลยตอบตกลงโดยคิดว่าจะมาช่วยให้ตั้งหลักได้สักระยะหนึ่งแล้วก็จะไป แต่สุดท้ายก็อยู่มานานจนถึงตอนนี้
“ตลอดเวลาที่ผ่านมา ถ้าดูดีๆ เราจะพบว่ากราฟของหอศิลป์นั้นขึ้น-ลงตลอด ผมยังจำได้ว่าช่วงแรกที่เราเปิดตัว เรามาแบบไม่ค่อยมีอะไร แต่พอทำมาเรื่อยๆ กราฟก็เริ่มสูงขึ้น จนปี 2553 เรามาเจอเหตุชุมนุมทางการเมือง กราฟก็ตกลงไป พอจบชุมนุม ปีต่อมาก็น้ำท่วมกรุงเทพฯ อีก หรือปี 2557 ก็มีชุมนุมทางการเมืองอีกรอบ หลังจากนั้นพอทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง ปัญหาเรื่องงบประมาณก็มาเกิดขึ้นตอนปีที่แล้ว มันขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเวลา แต่ถึงอย่างนั้นโดยรวมก็ถือว่าดีขึ้น ดังนั้นแม้จะเจอเรื่องเหนือการควบคุมมาตลอด ผมว่ามันก็ท้าทายและสนุกดี
“ถามว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาผมมีความคิดว่าจะออกไหม มีอยู่แล้ว จริงๆ แล้วหน้าที่ตั้งแต่แรกของผมคือเป็นตัวหลักในการประสานงานกับ กทม. ผมเหนื่อยมากกับการคุยไม่รู้เรื่อง ทะเลาะกันหนัก เคยตบโต๊ะและถามพี่เจ้าหน้าที่ด้วยซ้ำว่าจะเอายังไงกันแน่ มันเหนื่อยจนตั้งคำถามว่าทำไมกูต้องมาทำแบบนี้ด้วย แต่ตอนนั้นมันก็เป็นไปด้วยวัยและประสบการณ์ สุดท้ายสิ่งที่สำคัญคือเราต้องอธิบายกับเขาด้วยเหตุผลว่าสิ่งที่เราทำอยู่คืออะไร ทำไมสังคมถึงต้องมีที่แห่งนี้ ซึ่งพอหันกลับไปมอง ผมว่าการตัดสินใจมาอยู่ที่นี่มันคุ้มตั้งแต่การทะเลาะกันครั้งนั้นเลยล่ะ
“ความคุ้มอย่างแรกคือแรงของเราที่ลงไปทำให้รัฐตัดสินใจลงทุนเป็นร้อยล้านเพื่อสาธารณูปโภคทางปัญญาได้ อย่างที่สองคือผมเห็นจริงๆ ว่ามีหลายคนที่เติบโตจากหอศิลป์ และอย่างสุดท้ายคือการที่สังคมมีตึกแบบนี้อยู่ ลองเอาคำว่าหอศิลป์ออกไปก็ได้ และนึกภาพว่ามันมีอยู่ตึกหนึ่งที่มีห้องสมุด ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านกาแฟ ข้างบนมีงานศิลปะให้ดู 3 ชั้น ทั้งหมดที่ว่ามานี่เข้าฟรีแถมติดรถไฟฟ้า การที่เรามีส่วนทำให้เกิดที่นี่ ผมว่ามันก็คุ้มแล้ว
“จะว่าไปพี่เจ้าหน้าที่ กทม.คนที่ผมเคยตบโต๊ะใส่ วันนี้เขาเกษียณแล้วนะ ตอนนี้เขาก็มาเป็นแนวร่วมและเชียร์หอศิลป์อยู่เช่นกัน”
ปณิธิ พจนาพิทักษ์
เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจกรรมเครือข่ายและหนึ่งในพนักงานกลุ่มแรกของหอศิลป์
“ผมกับติ๊ (ชาญยุทธ มนูญวิริยะกุล) เรียนมาด้วยกัน แต่พอจบก็แยกย้ายกันไปคนละทาง ผมทำงานด้านบริหารสังคมอยู่หลายปี จนปี 2550 พี่ๆ น้องๆ รวมถึงติ๊ที่เริ่มทำงานหอศิลป์ก็มาชวน ผมตอบตกลงอย่างไม่ลังเลเลยเพราะชอบศิลปะอยู่แล้วและมีความรู้ด้านบริหารสังคมและวัฒนธรรมอยู่พอสมควรที่พอจะเข้ามาช่วยหอศิลป์ได้
“ตอนแรกที่เข้ามา เรามีกันแค่ไม่กี่คนและต้องแบ่งบทบาทกันทำงาน สุดท้ายผมเข้ามารับผิดชอบเรื่องงานอาคาร ขอบเขตงานคือตั้งแต่การดูแลคนที่จะเข้ามาใช้ไปจนถึงการจัดการพื้นที่ จากวันแรกก็ใช้เวลานานอยู่เหมือนกันกว่าจะเขย่าให้เข้าที่เข้าทางว่าเราจะปล่อยให้คนมาใช้พื้นที่หอศิลป์แค่ไหนและยังไงบ้าง
“จริงๆ ต้องบอกว่างานตรงนี้มีความคาดหวังค่อนข้างเยอะ ในตอนแรกคนก็คาดหวังให้หอศิลป์มีงานหรือกิจกรรมระดับมาสเตอร์พีซเข้ามาเท่านั้น ซึ่งเราก็ต้องต่อสู้และอธิบายพอสมควร จริงอยู่ที่เราจำเป็นต้องมีคุณภาพระดับหนึ่ง เพียงแต่เราก็ไม่อยากให้มาตรฐานสูงเกินไปนัก เพราะเราไม่ได้อยากให้ที่นี่เป็นหอคอยงาช้าง เราอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่ของโอกาสมากกว่า เราจะไปปิดโอกาสได้ยังไงในเมื่อเราบอกว่าหอศิลป์เป็นของประชาชนทุกคน
“อะไรแบบนี้ทำให้หอศิลป์ถูกวิจารณ์อยู่บ้างเรื่อยมา แต่ผมไม่ได้รู้สึกแย่อะไรมากนะ กลับรู้สึกยินดีเสียอีกเพราะมันแปลว่าทุกคนมีความคาดหวังและอยากมีส่วนร่วมกับที่นี่ มันทำให้เกิดเซนส์ว่าหอศิลป์ไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง และการที่กล้าวิจารณ์ก็แสดงว่าเขารู้สึกใกล้ชิด ตรงกันข้ามกับการเลือกที่จะไม่พูดถึง เพราะถ้าเป็นแบบนั้นเมื่อไหร่ก็ถือว่ารอวันตายได้เลยไม่ว่าองค์กรไหนก็ตาม
“เอาจริงๆ อยู่มา 10 ปี มันมีความอิ่มหรือความเบื่อนะ มนุษย์เวลาเจออะไรซ้ำๆ ทุกวัน มันก็เบื่อเป็นธรรมดา เราเลยต้องออกไปหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ซึ่งผมรู้สึกว่าไม่มีคนทำงานที่ไหนโชคดีเท่าที่นี่อีกแล้ว เราอยู่ใกล้แรงบันดาลใจและงานศิลปะตลอดเวลา คนอื่นอาจต้องรอเสาร์-อาทิตย์เพื่อขวนขวายดู แต่ผมเดินออกจากประตูออฟฟิศก็เจอเลย อีกอย่างคือด้วยจริต ผมชอบการทำงานเบื้องหลังและภูมิใจกับการผลักดันคนหรือองค์กรมากกว่าไปยืนอยู่เบื้องหน้า ดังนั้นความสุขในงานผมทุกวันนี้คือการเห็นแววตาขอบคุณจากพวกเขาเหล่านั้น
“ถ้าให้สรุป ผมว่าถ้าเราประเมินคุณค่าในการทำงานแล้วเห็นว่าตัวเองอยู่ตรงไหน เราก็จะพบความพึงพอใจของเราอยู่ตรงนั้น
“ซึ่งสำหรับผม ที่แห่งนั้นก็คือที่นี่”
ถนอม สดรัมย์
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่มีอายุงานนานที่สุดของหอศิลป์
“ก่อนหน้านี้ป้าทำนาอยู่ต่างจังหวัด แต่พอถึงจุดหนึ่งที่ลูกเรียนมหาวิทยาลัย ป้าเลยตัดสินใจเดินทางมากรุงเทพฯ และสมัครงานที่หอศิลป์จนได้เริ่มงานวันแรกเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2554
“หน้าที่ของป้าคือรักษาความปลอดภัยนิทรรศการที่ชั้น 8 เอาจริงงานก็เสี่ยงเหมือนกันนะเพราะงานบางชิ้นก็มีมูลค่าเป็นล้าน พันล้านก็เคยมี แต่ป้าไม่กดดันหรอก ป้าแค่ทำหน้าที่ตัวเอง เพราะถ้าเครียดก็คงทำงานนี้ไม่ได้ ดังนั้นอย่าไปซีเรียสเลย
“ทำงานแบบป้า เราโดนสารพัดแหละ อย่างผู้ชมคนไหนดื้อป้าก็ต้องเข้าไปเตือน เพราะถ้างานเสียหาย เขาจะลำบาก แต่บางคนก็ไม่เข้าใจและพูดจากับเราไม่ดี แต่ป้าก็ไม่ตอบโต้ เราไปพูดไม่ดีตอบกลับเขาไม่ได้ ใครจะยังไงก็ช่างแต่หอศิลป์มอบหน้าที่ให้เราแล้ว ป้าต้องทำหน้าที่ของป้าให้ดีที่สุด ซึ่งจนถึงตอนนี้ป้าก็ภูมิใจนะ เพราะถ้าเทียบกับวันแรกที่ป้ามา ทุกวันนี้หอศิลป์คนเยอะขึ้นมากเลย ปกติวันศุกร์ถึงอาทิตย์คนจะเยอะ แต่ทุกวันนี้วันธรรมดาคนก็ยังเยอะ ใช่แหละที่คนยิ่งเยอะป้าก็ยิ่งเหนื่อย แต่แค่นั่งพักสักพักก็หาย ดีกว่าคนน้อยน่ะนะ เพราะถ้าคนน้อยที่นี่ก็คงอยู่ไม่ได้
“ปีนี้ครบ 8 ปีแล้วที่ป้าทำงานอยู่ที่หอศิลป์ ป้าว่าป้าอยู่ได้นานขนาดนี้เพราะความผูกพัน หอศิลป์เหมือนบ้านของป้า ทุกวันนี้เวลากลับบ้านต่างจังหวัดไปไม่ถึง 3 วันก็อยากกลับมาทำงานแล้ว มันคือบรรยากาศ ศิลปะ และความเป็นครอบครัว ยิ่งทุกวันนี้ลูกป้าเรียนจบปริญญาแล้ว มันยิ่งทำให้ป้ารู้สึกดีใจมากที่อยู่มาจนถึงจุดนี้ที่เราซึ่งจบแค่ ป.4 แต่ก็ทำงานจนส่งลูกเรียนจบได้
“อีก 2 ปีป้าก็จะเกษียณแล้ว แต่ถ้าวันนั้นเขายังอยากจ้างต่อ ป้าก็ยังอยากทำอยู่นะ เพราะสำหรับป้า ที่นี่คือบ้าน
“ดูสิ ลูกกุญแจก็มี ถ้ามีใครมา ป้าก็พร้อมเปิดประตูยินดีต้อนรับให้เขาเข้าชม”
ณพกมล อัครพงศ์ไพศาล
ศิลปินและนักออกแบบประจำละมุนละไม คราฟต์ สตูดิโอ
“เรามาหอศิลป์ครั้งแรกช่วง ม.5 ตอนที่เรียนอยู่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จำได้ว่าตอนนั้นตื่นตาตื่นใจกับสเปซมาก เป็นความรู้สึกที่ว่าหอศิลป์มีอย่างอื่นอยู่ร่วมกันได้ด้วย เช่น ร้านหนังสือ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือร้านไอศครีม มันเป็นที่ที่แปลกใหม่สำหรับเรา
“ตอนนั้นคนน้อยนะ แต่ก็ไม่แปลกใจเพราะขนาดก่อนเรามา เรายังไม่รู้เลยว่าตึกนี้คืออะไร อาศัยว่าตัวเองอยู่ใกล้ก็เลยเดินมาดู และเราค้นพบว่ามีห้องสมุดอยู่ที่ชั้นใต้ดินด้วย แถมเป็นห้องสมุดที่มีหนังสือศิลปะ เราเองก็มาทำความเข้าใจศิลปะจากห้องสมุดนี้นี่แหละ
“เราได้มาศึกษาว่าศิลปะแต่ละยุคเป็นอย่างไร การทำงานศิลปะแต่ละประเภทมีวิธีการ แนวคิด หรือที่มาที่ไปอย่างไร ทั้งหมดมีอยู่ในห้องสมุดหอศิลป์ซึ่งมีความเฉพาะเจาะจงกว่าห้องสมุดทั่วไป ตอนนั้นเราสนใจและอยากเรียนต่อทางด้านศิลปะมากๆ เลยมาศึกษา มาดู มาอ่านหนังสือที่นี่บ่อยมาก เพื่อมาลองดูว่าเราจะเข้าใจศิลปะได้ขนาดไหน สามารถพูดได้ว่าที่นี่มีส่วนทำให้เราชัดเจนในตัวเองมากขึ้น
“หลังจากจบ ม.ปลาย เราเข้าเรียนที่ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในช่วงที่เรียนจุฬาฯ เรามาหอศิลป์น้อยลงเพราะเหมือนเราเริ่มรู้ว่าที่อื่นก็มีงานศิลปะที่เราสนใจ เหมือนเราเริ่มอินกับสิ่งใหม่ที่ที่นี่อาจจะไม่มี แต่เหนืออื่นใดคือเราไม่ได้คิดกับหอศิลป์ในแง่ลบเลยนะ เรารู้สึกว่ายังไงที่นี่ก็ควรมีอยู่ อาจจะด้วยความที่เราเคยได้มานำเสนอผลงานของตัวเองครั้งแรกที่งาน MAB เลยได้รู้จักกับพี่ๆ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานที่นี่ เราเลยรู้ว่าจริงๆ แล้วนโยบายของหอศิลป์มีข้อจำกัด พวกเขาทำดีที่สุดแล้วในสิ่งที่พวกเขาทำได้ ดังนั้นเวลามีใครมาบอกหรือตำหนิให้หอศิลป์ดีขึ้น เราเข้าใจในจุดนั้นนะ แต่เราก็อยากให้เขาเข้าใจในจุดนี้ด้วยเช่นกัน
“ตรงนี้คือศูนย์กลางเมือง ถ้าไม่มีหอศิลป์อยู่ตรงนี้ แล้วเด็กนักเรียน นักท่องเที่ยว เขาจะไปสืบหาหอศิลป์ที่ใหญ่ ให้โอกาส และให้พื้นที่ขนาดนี้ได้ยังไง เราว่าการมีอยู่ของที่นี่ทำให้อะไรหลายอย่างเจริญขึ้น ทั้งการมีอยู่ของศิลปะ หรือแม้กระทั่งในแง่เศรษฐกิจ อีกอย่างคือเราชอบที่หอศิลป์บอกว่าเป็นของทุกคน คือไม่ใช่ว่าเป็นของทุกคนตลอดเวลา แต่มันแปลว่าหอศิลป์พยายามจะมีงานที่ทุกคนสนใจและเดินทางมาดูได้ประจำ
“ถ้าถามว่าหอศิลป์จะดีขึ้นอย่างไร เราคิดว่าคำตอบคือรัฐก็ต้องสนับสนุนเพราะตอนนี้ข้อจำกัดคือพวกเขาขับเคลื่อนด้วยตัวเองและเงินบริจาค พอเขาไม่ได้เงิน เขาจะขยับขยายยังไงล่ะ ใช่แหละ ที่นี่มีข้อควรปรับปรุงในหลายจุดและหอศิลป์เองควรนำมาแก้ไข พัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปภายใต้ข้อจำกัดที่มี แต่สิ่งที่เราทำได้ก็คือให้การสนับสนุนและเชื่อมั่นในการให้ความสำคัญกับวงการศิลปะให้ยังคงอยู่ในสังคมด้วยเช่นกัน
“สุดท้ายในวันนี้คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เห็นคุณค่า แต่เราเชื่อว่าควรปลูกฝัง หรือเริ่มจากจุดเล็กๆ ให้คนเห็นความสำคัญว่าศิลปะมีผลต่อชีวิตเราทุกคนไม่ว่าด้านใดก็ด้านหนึ่งจริงๆ”
Gregory Galligan
ชาวอเมริกันผู้ร่วมก่อตั้ง Thai Art Archives, Bangkok
“ผมไปหอศิลป์ครั้งแรกเมื่อปี 2551 ไม่นานหลังจากที่หอศิลป์เปิด ตอนนั้นผมอาศัยอยู่ที่นิวยอร์กกับแฟนซึ่งเป็นคนไทย ช่วงที่มาเยี่ยมครอบครัวเธอที่เมืองไทย เราได้เห็นอาคารนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ตอนนั้นผมอยากเห็นและทำความรู้จักว่ามันคืออะไร ซึ่งพอได้มาจริงๆ ผมประทับใจสุดๆ ด้วยตัวอาคารดูเป็นสถานที่เชิงวัฒนธรรมที่โมเดิร์นที่สุดที่ผมเคยเห็นในกรุงเทพฯ ตอนแรกผมคิดว่าที่นี่จะเป็นหอศิลปะร่วมสมัย แต่ไม่ช้าผมก็ได้รู้ว่านี่คือ ‘แพลตฟอร์ม’ ที่รองรับงานเชิงวัฒนธรรมหลากหลายประเภทต่างหาก
“หอศิลป์เป็นพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับจัดอีเวนต์ นิทรรศการและกิจกรรมหลากหลายแขนงสำหรับสาธารณชน ซึ่งต่างกับสหรัฐอเมริกาที่เรามักจะจัดอีเวนต์หรือนิทรรศการในพื้นที่ที่อุทิศให้งานนั้นโดยเฉพาะ ตัวอาคารและสิ่งที่เกิดขึ้นในอาคารมักจะยึดโยงกับงานประเภทใดประเภทหนึ่งมากกว่าจะจัดอีเวนต์ นิทรรศการ หรือการแสดงที่หลากหลายแบบหอศิลป์
“Thai Art Archives โชคดีที่ได้พื้นที่อยู่ในหอศิลป์นานถึง 5 ปี (2555-2559) ดังนั้นผมจึงมีอะไรให้ไปทำที่นั่นถึง 6 วันต่อสัปดาห์ แต่ปัจจุบันผมไม่ค่อยได้ไปหอศิลป์แล้ว เพราะในฐานะคนที่มาอยู่ประเทศไทยเป็นเวลานาน ผมมักจะมองหาประสบการณ์ที่เข้มข้นและท้าทายกว่านี้ ซึ่งบางครั้งก็หมายถึงการลงมือทำงานด้วยตัวเองมากกว่าจะไปหางานเหล่านั้นที่พื้นที่สาธารณะอย่างหอศิลป์
“ผมเคยได้ยินข่าวเรื่องที่หน่วยงานรัฐจะยึดหอศิลป์คืนอยู่เหมือนกัน ผมว่ามันน่าทดท้อใจเหลือเกินที่เห็นพวกเขาทำแบบนั้นแทนที่จะทำนุบำรุงความสำเร็จของสินทรัพย์ด้านวัฒนธรรมที่น่าตื่นตาที่สุดแห่งหนึ่งของตน คนไทยควรจะต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ว่าในสังคมนี้ คำว่า ‘กำไร’ ประกอบขึ้นจากอะไรบ้าง วัฒนธรรมที่ประกอบสร้างขึ้นเพียงเพราะห้างสรรพสินค้าและคอนโดหรูหรานั้นไม่อาจเรียกว่า ‘พัฒนาแล้ว’ ได้เลย มันจะต้องมีวิธีอื่นในการ ‘ลงทุน’ กับสิ่งที่ไม่เป็นวัตถุแต่มีคุณค่าอย่างมากแก่สังคมสิ
“อะไรแบบนี้เป็นเรื่องท้าทายเสมอนะ และถ้าผมเป็นหอศิลป์ ผมคงจะลดทอนกิจกรรมบางส่วนลงเพื่อโฟกัสกับกิจกรรมบางประเภทโดยเฉพาะ ผมอยากให้หอศิลป์ก้าวสู่ความเป็นนานาชาติมากขึ้นและเลิกพยายามเอาอกเอาใจทุกคน หอศิลป์ต้องโฟกัสที่ภารกิจหลักและทำภารกิจนั้นให้สำเร็จในระดับภูมิภาคและระดับโลกจนคนที่จ้องวิจารณ์ต้องยอมเงียบเสียงให้ได้ ซึ่งถ้าทำได้ ผมคิดว่าข้าราชการไทยจะต้องยอมรามือและยกย่องอัญมณีแห่งวัฒนธรรมที่ตอนนี้พวกเขาคิดว่าตัวเองบริหารได้ดีกว่าแน่นอน”
อรรถเศรษฐ์ หมายหมั้น
ทันตแพทย์
“เรามาหอศิลป์ครั้งแรกตอนมัธยม ตอนนั้นเรายังเด็กดูอะไรไม่เป็นหรอกแต่เพื่อนชวนมา เราไม่ได้อินอะไรมาก นึกออกไหมว่าเราเป็นแค่เด็ก ม.6 ที่มาจากต่างจังหวัด แล้วสงสัยว่าหอศิลป์คืออะไร ตอนนั้นคิดว่ามันคงคล้ายๆ กับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่เราไปดูป้าลูซีมั้ง ที่นี่ก็คงรวมศิลปะเอาไว้แหละ ซึ่งเท่าที่จำได้คือมันน่าเบื่อประมาณหนึ่ง
“เวลาผ่านไปจนเราเรียนจบและได้มาทำงานแถวนี้ เรามีโอกาสได้กลับเข้ามาดูงานท่ีหอศิลป์หลายงาน แต่ที่จำได้จริงๆ คือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตอนนั้นความรู้สึกเราเปลี่ยนไปมาก เหมือนเราเริ่มรู้จักงานศิลปะและอะไรหลายอย่าง รู้จักร้านหนังสือ ร้านกาแฟ เริ่มเข้าใจและรู้สึกว่าจริงๆ แล้วที่นี่ดีนะในแง่การมาเดินพัก อะไรหลายๆ อย่างราคาถูกกว่าโดยรอบเยอะ ใครอยากเดินชิลล์มาเดินที่นี่ทั้งวันยังได้ อีกอย่างที่นี่ก็ทำเลดีมาก เวลามาเดตแล้วไม่อยากให้รู้ว่าเราเป็นคนติดห้าง เราก็จะพาเขามาหอศิลป์ (หัวเราะ)
“เราว่าลึกๆ แล้วหลายคนอยากมาหอศิลป์นะ แต่สิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นปัญหาตอนนี้คือหลายคนไม่รู้ว่าจะติดตามหอศิลป์ยังไงนอกจากเพจเฟซบุ๊กของหอศิลป์และศิลปินที่มาแสดง เขาไม่รู้จักช่องทางที่จะตามว่าตอนนี้มีงานอะไรแสดงอยู่ ต่างกับต่างประเทศที่การแจ้งข่าวของเขาจะแฝงอยู่ในทุกที่ เขาให้ค่ากับศิลปะ เช่น มีโปสเตอร์นิทรรศการอยู่ตามเสา ต่างกับบ้านเราที่เป็นใบกู้ผ่อนบ้านอะไรแบบนี้ อีกข้อหนึ่งคือเรารู้สึกว่าหอศิลป์ก็ไม่ได้มีงานใหญ่ๆ เพื่อดึงดูดคนขนาดนั้นงานที่เรารู้สึกว่าดีมักจะไปอยู่ที่อื่นซึ่งเราก็ได้แต่คิดว่าทำไมไม่มาอยู่ที่นี่
“ดังนั้นถามว่าที่นี่เป็นของทุกคนไหม เราว่าตอนนี้หอศิลป์อยู่ในภาวะกึ่งๆ ที่ยังไม่ได้เข้าถึงใครหลายคน เราว่าหอศิลป์เป็นพื้นที่ที่ดีแต่เขาก็ควรทำให้คนสบายใจที่จะมาด้วยการแสดงงานที่หลากหลาย เขาควรทำอะไรที่ใกล้ตัวเรามากกว่านี้ เพราะพอคนเข้าไม่ถึง ตอนที่มีข่าวว่าหอศิลป์จะโดนยึดเมื่อปีที่แล้ว เราเลยเข้าใจว่าทำไมผู้ใหญ่เหล่านั้นไม่ได้มองว่างานศิลปะเป็นเรื่องสำคัญ เขาไม่ได้มองว่าการเสพศิลปะทำให้มีความสุข อีกอย่างคือที่ตรงนี้ก็เป็นทำเลที่ดี พวกเขาก็จะมองว่าเปลี่ยนที่นี่
ให้กลายเป็นตึกอย่างอื่นคงมีประโยชน์มากกว่า ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงถามว่าเสียดายไหม เราก็ยังรู้สึกว่าน่าเสียดาย
“ถึงแม้หอศิลป์จะมีเรื่องต้องปรับปรุง แต่ถ้ามาคิดดูจริงๆ เราก็มีแค่ที่ตรงนี้หรือเปล่าที่เป็นพื้นที่สำหรับโอกาสในการจุดประกายเด็กสักคน ที่นี่เป็นพื้นที่ที่บอกเขาว่าศิลปะที่คุณทำอยู่หรือสิ่งที่คุณอยากเรียน จริงๆ แล้วมันเวิร์ก ซึ่งถ้ามันหายไป เราว่าก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากๆ”
พิชัย แก้ววิชิต
วินมอเตอร์ไซค์และช่างภาพ
“ผมขับวินอยู่แถวนี้และมาหอศิลป์เป็นประจำ เวลาขับผ่านก็จะเห็นเขาแปะโปสเตอร์ว่าตอนนี้มีงานอะไร ซึ่งถ้าน่าสนใจผมก็จะแวะเข้ามาดู ส่วนใหญ่ผมมาคนเดียว เพราะเวลาอยากพาคนอื่นมาเขาจะรู้สึกว่าไม่เข้าใจศิลปะ
ซึ่งผมก็รู้สึกว่าไม่เห็นจำเป็นต้องดูรู้เรื่องเลย ชอบสีก็คือชอบสี ชอบเส้นก็คือชอบเส้น ไม่เห็นต้องรีบไปเข้าใจเลยว่าเส้นนี้คืออะไร สีนี้คืออะไร แค่มีความสุขกับสิ่งที่เราเห็นก็พอแล้ว
“ผมไม่ได้เรียนศิลปะ ดังนั้นผมไม่มีความรู้ด้านศิลปะ แต่สิ่งที่ผมเห็นเวลามาดูงานศิลป์คือความรู้สึก เหมือนเวลาถ่ายภาพ ผมไม่ได้เรียนถ่ายภาพแต่ผมแค่ถ่ายจากความรู้สึกที่เห็น ผมใช้ความเป็นมนุษย์ของตัวเองเชื่อมโยงกับศิลปะ
“บางคนอาจบอกว่าถ้าเครียดใครจะอยากดูศิลปะกัน แต่ผมว่าถ้าเครียดนี่ยิ่งควรดู เพราะแก่นแท้ของศิลปะคือการแสดงออกทางอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความทุกข์ แง่มุมต่างๆ ของสังคม สภาพการเมือง สิ่งแวดล้อม หรือการปลดปล่อยอะไรบางอย่างมันสามารถส่งผ่านผลงานออกมาและบางครั้งก็เชื่อมโยงกับบางคน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรียนรู้ ยอมรับ และเคารพซึ่งกันและกัน
“ด้วยความที่นิทรรศการของหอศิลป์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เวลาผมมาที่นี่ความรู้สึกเลยเปลี่ยนไปตลอด ผมไม่รู้สึกเบื่อเพราะมันมีอะไรที่น่าค้นหาอยู่ตลอดเวลา ยิ่งอยู่ใกล้แค่นี้ผมยิ่งรู้สึกดีนะ จริงๆ ศิลปะควรเชื่อมโยงกับชุมชน ยิ่งตรงนี้เป็นศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายมากไม่ว่าจะเป็นคนต่างชาติหรือคนไทยด้วยกัน แต่ในขณะที่ทุกวันนี้ผมมาที่นี่บ่อยจนบางทีก็เกรงใจยาม เพื่อนผมที่เป็นวินมอเตอร์ไซค์มาหอศิลป์น้อยมาก บางคนคิดไปก่อนว่าตัวเองไม่ใช่คนในแวดวงศิลปะก็ไม่จำเป็นต้องรับรู้เรื่องพวกนี้ ซึ่งจริงๆ ผมว่าไม่ใช่ ศิลปะเป็นเรื่องของชีวิต ในเมื่อเรามีชีวิต มีความรู้สึก เราก็ควรที่จะมาดูว่าศิลปะสะท้อนอะไรที่เกิดประโยชน์ต่อตัวเราบ้าง เหมือนเราให้ความสำคัญกับศิลปะเพื่อจะรู้ว่าตัวเราเองก็มีความสำคัญเหมือนกัน”
อัครักษ์ ยิ้มสอาด
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
“ผมมาหอศิลป์ครั้งแรกตอน ม.4 ก่อนหน้านี้ไม่รู้หรอกว่าหอศิลป์มีอะไร แต่เพื่อนบอกว่าที่นี่มีบันไดวนๆ และถ่ายรูปสวย ผมเลยอยากมาลองดูว่าที่นี่หน้าตาเป็นยังไงบ้าง
“ตอนนั้นผมมากับเพื่อนซึ่งสุดท้ายจบที่เราวิ่งเล่นกันและถ่ายรูป จริงๆ ตอนนั้นผมไม่ได้อินกับศิลปะเพราะยังไม่รู้จัก แต่เวลาผ่านไปไม่นานผมก็เริ่มสนใจศิลปะมากขึ้น จนวันหนึ่งเปิดอินสตาแกรมแล้วเห็นว่ามีงานทีสิสเจ๋งๆ แสดงอยู่ที่นี่ ผมเลยกลับมาอีกครั้ง
“งานนั้นชื่อว่า ‘พี่ครับ’ เป็นงานทีสิสของนักศึกษาเอกภาพยนตร์ สาขานิเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ตอนนั้นผมเริ่มสนใจการกำกับหนังพอดี ตอนมาดูเลยรู้สึกประทับใจมากๆ หลังจากนั้นเหมือนผมติด เลิกเรียนก็มาเรื่อยๆ เรียกได้ว่ามาทุกเสาร์-อาทิตย์ เหมือนตอนนั้นเป็นช่วงที่ผมอยากหาตัวเองด้วยว่าตอนมหาวิทยาลัยจะเรียนอะไร
“ผมลองมาดูงานที่หอศิลป์เพราะที่นี่มีงานศิลปะหลายๆ แบบ ผมดูทุกชั้นเลยนะ ทั้งภาพถ่าย ภาพวาด หรือรูปปั้น วันไหนมาติดกันก็ดูซ้ำเพื่อเก็บรายละเอียดของแต่ละงาน พอดูไปเรื่อยๆ ก็เริ่มอิน เหมือนที่นี่ค่อยๆ ทำให้ผมชัดเจนในตัวเองและรู้จักศิลปะมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ผมรู้แค่งูๆ ปลาๆ อย่างผมเริ่มถ่ายรูปตั้งแต่ ม.3 แต่ก็รู้แค่หลักการ ไม่ได้รู้สึกกับรูปเวลาถ่ายจริงๆ พูดง่ายๆ ว่าถ่ายเป็นแต่ไม่มีความรู้สึกผ่านออกมา แต่พอมาเห็นรูปที่นี่ผมได้เข้าใจว่าบางทีรูปหรืองานศิลปะไม่ต้องมีหลักการเป๊ะขนาดนั้นก็ได้ สิ่งสำคัญคือขอแค่เรารู้สึกกับมันมากพอ
“สำหรับผม ศิลปะจรรโลงใจเรา เป็นความรู้สึกที่พูดไม่ถูกเหมือนกัน แต่เวลาดูงานหัวผมจะค่อนข้างโล่งและคิดตามไปกับงาน ดังนั้นสำหรับผมเอง ศิลปะจำเป็นสำหรับทุกวัยนะ อะไรแบบนี้มีประโยชน์และทุกๆ อย่างก็ล้วนเป็นศิลปะหมด แต่เวลาได้ยินใครบอกว่าศิลปะไม่จำเป็น ผมคิดว่ามันมาจากเรื่องที่ว่าศิลปะทำเงินได้น้อยมากกว่า คนเลยไม่เห็นค่าจนบอกว่าไม่จำเป็น ผู้ใหญ่ก็เลยไม่อยากให้ลูกหลานมาเรียน ซึ่งผมก็ตั้งคำถามนะว่าทำไม
“อีกไม่นานผมกำลังจะไปเชียงใหม่เพื่อเรียนต่อในสาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โชคดีที่พ่อแม่ผมเข้าใจ และตลกดีที่อย่างแรกที่ผมรู้สึกคือผมอยากเอางานทีสิสมาโชว์ที่หอศิลป์ เหมือนเราประทับใจกับการมาดูงานทีสิสที่นี่มากจนอยากทำแบบนั้นบ้าง และการมางานในครั้งนั้นก็ช่วยให้เราเจอตัวเองจนพบทางที่จะไปจริงๆ”
ชนกานต์ ขันแกล้ว
ปานวาด วรทอง
นลินทิพย์ ศรีวิรัญ
กชวรรณ ปะญาติ
กรวรา ชอินทรวงศ์
นักศึกษาฝึกงานประจำห้องสมุดหอศิลป์
กรวรา : เรามาหอศิลป์บ่อยมากตั้งแต่ ม.ปลายแล้ว เรามาอ่านหนังสือที่ห้องสมุดบ่อยเพราะเราเรียนศิลปะ ที่นี่ก็มีหนังสือศิลปะ เราเลยสนใจหอศิลป์มาตั้งแต่ตอนนั้น แต่ก่อนหน้านี้เราก็ไม่ได้มองว่าที่นี่เป็นเหมือนตอนนี้ เราคิด
แค่ว่าที่นี่ก็เป็นแค่หอศิลป์แห่งหนึ่งคงเหมือนกับอีกหลายๆ หอศิลป์ทั่วไป แต่พอได้เข้ามาฝึกงาน เราพบว่าที่นี่เป็นทั้งหอศิลปะและวัฒนธรรม เขารวมสองอย่างไว้ด้วยกันและพยายามบูรณาการการเรียนรู้ต่างๆ ไม่ใช่แค่เรื่องศิลปะอย่างเดียว
ชนกานต์ : เรามาที่นี่ครั้งแรกเพราะงานภาพถ่ายของสมเด็จพระเทพฯ ช่วงนั้นเล่นทวิตเตอร์แล้วเห็นภาพที่ท่านถ่ายคนเดิม มุมเดิม ทุกปี แล้วรู้สึกว่าเท่มาก เลยหาว่าสถานที่จัดงานอยู่ที่ไหน ทีนี้พอถึงเวลาฝึกงาน เราเลือกมาฝึกงานที่นี่เพราะมีการเล่านิทาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ถนัดมากที่สุดเลยอยากพาตัวเองไปเจอสิ่งที่ไม่ถนัดบ้าง ทุกวันนี้เราจะประจำอยู่ห้อง Kid’s Corner ใครอยากมาฟังนิทานก็เข้ามาหาเราได้เลย
กรวรา : เรารู้ข่าวหอศิลป์โดนตัดงบครั้งแรกตอนที่ฝึกงาน เอาจริงเราว่ามันแปลกนะ ทำไม กทม.ต้องทำแบบนั้น เราไม่เห็นเลยว่าเขาจะเข้ามาดูแลหอศิลป์ได้ยังไง
ชนกานต์ : เรามองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนปัญหาใหญ่กว่านั้น เรารู้สึกว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้เวลาเสพศิลป์ เขารู้สึกว่าศิลปะเป็นเรื่องรุ่มรวย เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีแม้กระทั่งเวลามาหอศิลป์หรอก ดังนั้นเขาก็คงไม่รู้ว่าหอศิลป์มีไว้ทำไม เอาที่ตรงนี้ไปทำห้างดีกว่าไหม ทำคอนโดดีกว่ามั้ง หรือทำเป็นร้านอาหารยังจะคุ้มกว่า คนที่มองเห็นคุณค่าเป็นแค่กลุ่มเล็กๆ ดังนั้นสำหรับเรา ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ กทม.หรือที่ตัวหอศิลป์ มันเป็นที่ระบบและรากฐาน เราไม่ได้ปลูกฝังให้ทุกคนเสพศิลป์หรือรักศิลปะตั้งแต่ต้น พอเขาไม่รู้จักก็เป็นธรรมดาที่จะไม่เห็นความสำคัญ และมันก็ไม่ใช่ความผิดของเขาด้วยที่จะต้องมาตระหนักว่าหอศิลป์สำคัญตรงไหน
กรวรา : เสริมจากที่เพื่อนพูด เราว่าถ้ามองกันจริงๆ มันก็เริ่มตั้งแต่การศึกษาของเราแล้วนะ คนไทยยังมีอคติกับคำว่าสายวิทย์สายศิลป์อยู่เยอะ ดังนั้นถ้าจะแก้เราคงต้องแก้ตั้งแต่ตรงนั้น
ชนกานต์ : ยกตัวอย่างเช่นวิชาวิทยาศาสตร์ 3 หน่วยกิต แต่วิชาศิลปะ 0.5 หน่วยกิต แค่นี้ก็เห็นความต่างแล้ว
กรวรา : ดังนั้นถ้าเอาเฉพาะตัวเรา เราคิดว่าที่นี่ยังต้องมีอยู่ในฐานะที่เป็นตัวแทนของศิลปะ แต่ถ้าความคิดคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจความสำคัญ เราก็ไม่รู้ว่าหอศิลป์จะมีอยู่ทำไม เพราะถ้าว่ากันตามตรง ที่นี่ก็เป็นแค่สถานที่ที่ กทม.เป็นเจ้าของ เขาจะเอาไปเมื่อไหร่ก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือผู้คนที่ต้อง
ตระหนักรู้ถึงความสำคัญ ถ้าทำได้ เราคงไม่ต้องมานั่งตอบคำถามแล้วว่าทำไมต้องมีหอศิลป์
ชนกานต์ : สำหรับเรา เราว่าหอศิลป์คงไม่หายไปในเจเนอเรชั่นนี้หรอก เจเนอเรชั่นเราเริ่มมีความรับผิดชอบและตระหนักรู้เรื่องความสำคัญของศิลปะแล้ว ดังนั้นพวกเราคงไม่ยอมให้หายไปง่ายๆ เราก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ยอมให้หอศิลป์หายไปง่ายๆ แล้วเราก็คิดว่ามีผู้ใหญ่อีกหลายคนที่ตระหนักว่าเขาควรจะให้อะไรดีๆ กับสังคมบ้าง เพราะฉะนั้นเราไม่ซีเรียส ยังไงพวกเราก็ไม่ยอม และถ้ามีคนที่ไม่ยอม เขาก็ไม่มีทางจะทำอะไรเราได้
กรวรา : เพราะหอศิลป์ไม่ใช่สถานที่หรอก แต่เป็นผู้คนต่างหาก