ขอบสุดท้ายของชายขอบ ‘ผู้ป่วยข้างถนน’ กับลมหายใจในหลืบเมือง

Highlights

  • โครงการผู้ป่วยข้างถนนเกิดขึ้นในปี 2555 โดยมูลนิธิกระจกเงา เนื่องจากพบว่าคนที่หายตัวไปมักเป็นผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อมหรือโรคจิตเภท ด้วยอาการป่วยที่ติดตัวมาเมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ในที่สาธารณะเป็นเวลานาน พวกเขาอาจกลายสภาพเป็นผู้ป่วยข้างถนนที่มีคุณภาพชีวิตย่ำแย่
  • ภารกิจของโครงการฯ คือ รับแจ้ง ตรวจสอบ และลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ป่วยข้างถนนให้เข้าถึงการรักษาพยาบาล ในกรณีที่ติดต่อครอบครัวไม่ได้หรือไม่มีใครพร้อมดูแล
  • หลายคนใช้ถ้อยคำผลักไสว่าคนบ้าแท้จริงแล้วพวกเขาคือคนป่วยที่ควรได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายอย่างถูกต้องและเข้าใจจากจิตแพทย์และพยาบาลจิตเวช

1

‘คนบ้า’ เป็นคำห้วนสั้นและง่ายที่สุดที่คนส่วนใหญ่เรียกพวกเขา

เสื้อผ้าที่ขาดวิ่น เนื้อตัวที่เปรอะเปื้อน เส้นผมที่จับตัวเป็นก้อน และเหงื่อไคลหมักหมมที่ส่งกลิ่นคละคลุ้ง บางคนเหม่อลอยราวกับปฏิเสธความเคลื่อนไหวรอบตัว บางคนมากด้วยเรื่องเล่าและบทสนทนาไร้จุดหมาย หากอยู่ใกล้ในระยะเห็นสีหน้าและได้ยินเสียงพูดแล้วคุณลองเงี่ยหูฟัง อาจได้เจอกับเรื่องราวหลากอารมณ์ บ้างขบขัน บ้างโกรธเกรี้ยว บ้างโศกเศร้า หรือบ้างสลับอารมณ์ไปมา ซึ่งแทบทั้งหมดจับต้นชนปลายได้ยากยิ่ง

ท่ามกลางความวุ่นวายและความเร่งรีบในกรุงเทพฯ เขาหรือเธอแทรกตัวในหลืบของเมืองใหญ่อย่างเงียบเชียบ เป็นชีวิตที่ร้างคนมองเห็น ไร้คนเหลียวแล และบางครั้งยังสร้างความหวาดกลัวให้คนที่ผ่านไปมา

บางคนอาจคิด…ถ้าเลือกได้ขออยู่ห่างไว้ก่อน แต่ถ้าเลือกไม่ได้ก็ต้องระมัดระวังตัวเอง

หากไม่ใช้ถ้อยคำผลักไสว่า ‘คนบ้า’ แท้จริงแล้วพวกเขาคือ ‘คนป่วย’ ที่ควรได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้องจากจิตแพทย์และควรได้รับการดูแลอย่างเข้าใจจากพยาบาลจิตเวชและนักสังคมสงเคราะห์ อีกทั้งตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อได้รับแจ้งแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการพาไปยังสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบำบัดรักษาที่อยู่ใกล้โดยไม่ชักช้า

หลังจากก่อตั้งโครงการศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ เมื่อปี 2546 มูลนิธิกระจกเงาเห็นว่าคนที่หายตัวไปจำนวนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อมและโรคจิตเวช ด้วยอาการป่วยที่ติดตัวมา เมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ในที่สาธารณะเป็นเวลานาน พวกเขาอาจกลายสภาพเป็นผู้ป่วยข้างถนนที่คุณภาพชีวิตย่ำแย่ และนั่นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘โครงการผู้ป่วยข้างถนน’ ที่เกิดขึ้นในปี 2555

ภารกิจของโครงการฯ คือ รับแจ้ง ตรวจสอบ และลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ป่วยข้างถนนให้เข้าถึงการรักษาพยาบาล ในกรณีที่ติดต่อครอบครัวไม่ได้หรือไม่มีใครพร้อมดูแล โครงการฯ ต้องประสานงานกับสถานสงเคราะห์เพื่อส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการดูแล ขณะเดียวกันทีมงานยังเก็บข้อมูลจากพื้นที่จริงมาศึกษา วิเคราะห์ปัญหา และสื่อสารทำความเข้าใจกับคนในสังคม ผ่านภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และข้อความสั้นๆ ที่เป็นดั่งสะพานที่เชื่อมคนทั่วไปและคนป่วยให้มองเห็นและเข้าใจกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการแก้ปัญหานี้

2

ผ้าใบสีฟ้าที่ขึงขึ้นบนโครงไม้ไผ่ลักษณะคล้ายเต็นท์ขนาดย่อม มองผิวเผินคล้ายที่อยู่อาศัยของใครสักคน

สำหรับคนที่ผ่านไปมาคำถามที่คงเกิดขึ้นคือ ใครมาทำสิ่งนี้บนทางเท้าใกล้กับห้าแยกลาดพร้าว และสิ่งประดิษฐ์ที่คล้ายบ้านนั้นกลับบรรจุข้าวของเลอะเทอะกระจัดกระจาย หาใช่ที่โล่งโปร่งสบายที่เหมาะสำหรับการนอนหลับ

ห่างออกไปเพียงไม่กี่เมตร ชายร่างผอมนอนนิ่งอยู่ท่ามกลางรถราที่วิ่งอย่างหนาแน่น หากใช้เวลาสังเกตอยู่สักระยะเราจะเห็นว่าเขาลุกขึ้นนั่งแล้วพูดคนเดียว เดินไปปัสสาวะที่โคนต้นไม้ แล้วกลับมานั่งจุดบุหรี่สูบปล่อยอารมณ์ราวกับว่าตรงนั้นคือพื้นที่ส่วนตัว

“เพิงที่เขาทำผิดวิสัยคนไร้บ้านทั่วไป ปกติแล้วคนไร้บ้านจะไม่แสดงตัวให้ใครเห็นชัดเจน แล้วในเพิงมีแต่ขยะ ส่วนเขาออกมานอนข้างนอก พอทีมงานไปถามคนกวาดขยะแถวนั้น เขาเล่าว่าอยู่ตรงนี้มาสักระยะแล้ว ตอนลงพื้นที่ครั้งแรกเขาหลับอยู่ตลอด เรานั่งเฝ้า พอเขาตื่นก็พูดคนเดียว คนแถวนั้นพูดเหมือนกันว่า ‘ลุงพูดคนเดียวตลอดเวลา’ บางครั้งเหมือนด่าคนอื่นด้วย แล้วยังเก็บขยะมาสะสมไว้อีก พอถามอายุก็บอกว่าร้อยกว่าปี โอเค ตรงตามอาการของโรคจิตเภท (schizophrenia) คือมีอาการประสาทหลอนและหลงผิด” ถิรนันท์ ช่วยมิ่ง เจ้าหน้าที่โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา พูดถึงการประเมินผู้ป่วยข้างถนนที่เธอผ่านมาเจอ

โดยปกติแล้วโครงการฯ จะรับแจ้งจากคนทั่วไป สอบถามข้อมูลเบื้องต้นด้วยคำถาม 10 ข้อ ได้แก่ รูปถ่ายผู้ป่วย, เพศ, ช่วงอายุ, เวลาที่พบ, ระยะเวลาที่พบ, สถานที่พบ, ลักษณะภายนอกทั่วไป เช่น เสื้อผ้า รูปร่าง, พฤติกรรมที่สังเกตได้, ข้อมูลจากคนบริเวณที่ผู้ป่วยอยู่, ชื่อและเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกลับของผู้แจ้ง ก่อนลงพื้นที่เพื่อประเมินอาการและประสานงานเพื่อส่งตัวไปรักษาในสถานพยาบาลเฉพาะทาง เช่น สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา (โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา) โรงพยาบาลศรีธัญญา

เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการรักษา หากผู้ป่วยจิตเภทใช้ชีวิตอยู่กับคนอื่น ญาติหรือคนใกล้ชิดคือคนที่มาบอกเล่าอาการต่างๆ แต่เมื่อผู้ป่วยใช้ชีวิตในที่สาธารณะ การสังเกตและการสอบถามจากคนละแวกนั้นของทีมงานจึงเป็นข้อมูลที่ใช้บอกกับจิตแพทย์เพื่อประกอบการรักษาด้วย ถ้าตรวจเบื้องต้นแล้วมีอาการทางร่างกาย เจ้าหน้าที่ต้องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลทางกายเสียก่อน แล้วค่อยส่งตัวกลับมารักษาอาการทางจิตอีกครั้ง

สำหรับโรคจิตเภทไม่ใช่เรื่องง่ายที่รักษาแล้วผู้ป่วยจะหายสนิท เป้าหมายของการรักษาจึงเป็นการรักษาให้ดีขึ้นในระดับหนึ่ง แล้วส่งตัวกลับให้ครอบครัวช่วยดูแล หรือถ้าไม่มีก็เป็นหน้าที่ของสถานสงเคราะห์ในการรับตัวไปบำบัดฟื้นฟูให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักสังคมสงเคราะห์ประจำโรงพยาบาลจิตเวชและทีมงานของโครงการผู้ป่วยข้างถนน

“เท่าที่เคยลงพื้นที่มา เคสนี้น่าจะยากไหม” ผมชวนให้เขาลองประเมิน

“เขาพูดคนเดียว ทะเลาะกับเสียงที่ตัวเองได้ยิน ยังไม่ได้ไปตบตีใคร คิดว่าไม่อันตรายมากนะ” ถิรนันท์สรุปสิ่งที่เห็นจากการลงพื้นที่ทั้งหมด 3 ครั้ง โดยสัปดาห์หน้าทีมงานจะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้พาตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลเฉพาะทาง ซึ่งเป็นบทบาทตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551

พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ระบุว่า บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาคือ มีภาวะอันตรายและมีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา ผู้ใดพบเห็นสามารถแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ เมื่อได้รับแจ้งแล้วเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการพาไปยังสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบำบัดรักษาที่อยู่ใกล้โดยไม่ชักช้า

3

บริเวณทางเท้าใกล้กับห้าแยกลาดพร้าว วันนั้นเป็นเช้าวันธรรมดาที่อากาศร้อนอบอ้าว ควันจากท่อไอเสียกระจายตัวทั่วบริเวณ อีกทั้งเสียงรถราหนาแน่นก็ดังอยู่ตลอด

เจ้าหน้าที่ของโครงการผู้ป่วยข้างถนนมี 3 คน และนักศึกษาฝึกงานอีก 2 คน บางส่วนไปประสานงานกับตำรวจในพื้นที่ คือสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ผมและคนที่เหลือมารออยู่ในพื้นที่แล้ว ที่หมายวันนั้นคือโรงพยาบาลศรีธัญญา (ในการทำงานแต่ละครั้ง พื้นที่ที่ผู้ป่วยอยู่คือตัวกำหนดความรับผิดชอบของสถานีตำรวจและโรงพยาบาล)

เวลาใกล้เที่ยงของวันศุกร์ ตำรวจสองนายขับรถตู้มาถึงพื้นที่ ส่วนผู้ป่วยนั้นนอนนิ่งอยู่ที่เดิม

เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินเข้าไปนั่งชันเข่าคุยกับผู้ป่วยด้วยคำถามพื้นฐานว่า ชื่ออะไร มาจากไหน มาทำอะไรตรงนี้ แล้วอธิบายว่าจะพาไปรักษาที่โรงพยาบาล เพียงไม่กี่นาทีชายสูงวัยเดินตามไปขึ้นรถตู้อย่างว่าง่าย ไม่มีการต่อรองหรือต่อสู้ ตำรวจคนหนึ่งขับรถ ตำรวจอีกคนนั่งอยู่ไม่ไกลจากผู้ป่วย เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนอีกจำนวนหนึ่งนั่งบนรถไปด้วย

ระยะทางจากห้าแยกลาดพร้าวไปโรงพยาบาลศรีธัญญาใช้เวลาไม่กี่นาที แต่เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่รู้สึกได้ว่าผู้ป่วยคนนั้นอึดอัด กังวล และหวาดกลัว พอไปถึงที่หมาย หลังจากบอกเล่าอาการและตรวจร่างกายเบื้องต้นพบว่าการเต้นของหัวใจผิดปกติ เจ้าหน้าที่เลยต้องส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลทางร่างกาย แล้วคืนนั้นก็พาตัวกลับมาที่โรงพยาบาลศรีธัญญาอีกครั้ง โดยต้องกลับมาตรวจอาการอีกครั้งในวันจันทร์

ไม่กี่บรรทัดข้างบนเริ่มต้นตอนใกล้เที่ยงวัน แล้วลากยาวไปจนถึงห้าทุ่ม เป็นความล่าช้าในทุกๆ ขั้นตอน ตั้งแต่การประสานงานให้ตำรวจมาทำหน้าที่ การอธิบายให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจิตเวชเข้าใจ ตรวจร่างกายที่แรกแล้วส่งตัวไปยังโรงพยาบาลทางร่างกาย ตรวจร่างกายครั้งที่ 2 แล้วหารถมารับไปส่งที่โรงพยาบาลจิตเวชอีกครั้ง (วันนั้นได้ความช่วยเหลือจากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง) ทั้งที่ไม่ใช่ครั้งแรกของการส่งตัวผู้ป่วย แต่ระหว่างทางกลับต้องเจอการโต้แย้งกึ่งปฏิเสธเป็นระยะ

“ตอนประสานงานตำรวจเราต้องให้เขาเอารถมาด้วย แต่ละ สน.ก็มีข้อจำกัดแตกต่างกัน ไม่มีรถบ้าง ไม่มีคนบ้าง บางเคสมีอารมณ์เกรี้ยวกราด เขาบอกว่าควรมีตำรวจมากกว่า 2 คน แต่ส่วนใหญ่ก็มาแค่ 2 คน ทุกครั้งต้องอธิบายให้ตำรวจเข้าใจว่าเขามีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต ซึ่งตำรวจส่วนใหญ่ไม่รู้

“การพาไปบำบัดรักษาเพราะผู้ป่วยไม่สามารถตัดสินใจชีวิตตัวเองได้อย่างมีสติสัมปชัญญะ ถ้าไม่ให้ความร่วมมือ กระทำอันตรายต่อคนอื่น ก็ต้องบังคับ แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยแบบนี้ไม่เป็นอันตรายกับใครหรอก เขาทำอันตรายต่อตัวเองมากกว่า เช่น กินขยะ เดินลงถนนแล้วรถชน

“เรา (เจ้าหน้าที่โครงการผู้ป่วยข้างถนน) ทำหน้าที่เหมือนเป็นญาติเลย อธิบายอาการ ถ้ามีความผิดปกติก็พาไปโรงพยาบาลทางร่างกาย วันนั้นจะหมดหน้าที่เมื่อผู้ป่วยแอดมิต หลังจากนั้นก็มาประสานเรื่องส่งตัวกลับไปหาครอบครัว หรือส่งตัวไปยังสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง (ทั้งประเทศมี 11 แห่ง)” ถิรนันท์เล่าถึงการทำงานที่ผ่านมา

ในขั้นตอนการพาไปบำบัดรักษาที่เจอกับความล่าช้าระหว่างทาง หนึ่งในปัญหาสำคัญคือเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตามหาญาติของผู้ป่วยได้ มิหนำซ้ำอาการของโรคจิตเภทยังทำให้ผู้ป่วยบางคนจำชื่อตัวเองไม่ได้ด้วย ส่งผลต่อการหาสิทธิการรักษาและการส่งตัวเมื่อรักษาจนอาการดีขึ้น จนกระทั่งโครงการฯ ร่วมมือกับโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา และกระทรวงมหาดไทย ในการตามหาอัตลักษณ์บุคคลผ่านลายนิ้วมือ ผู้ป่วยที่หายตัวไปจากบ้านก็ได้เจอครอบครัว แต่เรื่องน่าเศร้าคือบางกรณีออกจากบ้านเพราะความขัดแย้ง ต่อให้พบครอบครัวก็ใช่ว่าจะจบลงอย่างราบรื่น

“เราอยากทำให้โรงพยาบาลสบายใจในการรับเคส ไม่ไปอั้นไปค้างอยู่ในวอร์ด ควักงบประมาณดูแลยาวนาน บางครั้งส่งผลให้ไม่รับเคสด้วย รวมทั้งเรื่องสิทธิการรักษา จนไปเจอเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของกระทรวงมหาดไทยที่ทำเรื่องทะเบียนราษฎร์ เลยคุยกันถึงเครื่องสแกนลายนิ้วมือ เขาบอกว่าทำได้และทำอยู่ แต่จำกัดในกรณีความมั่นคงเป็นหลัก เลยเสนอว่าอยากให้ใช้ในกรณีผู้ป่วยแบบนี้ จนได้เริ่มทำที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เคยเอานิ้วของน้องในทีมแตะ 3 วินาทีขึ้นเลย มันพลิกเยอะมาก เงื่อนไขในการรับเคสน้อยลง ความคาดหวังคือเราอยากให้เรื่องนี้กระจายไปที่โรงพยาบาลอื่นด้วย

“บางครอบครัวมีความขัดแย้งกับผู้ป่วยหรือไม่พร้อมดูแล เรื่องนี้เลยมากกว่าแค่คนในครอบครัวดูแลกันเอง แต่รัฐควรต้องมีระบบบางอย่างมารองรับหรือช่วยสนับสนุนให้ครอบครัวดูแลได้ มันเป็นเรื่องสุขภาพของประชาชน ดังนั้นรัฐควรเข้ามาจัดการ อาจเพราะมีกรอบคิดว่าให้คนในชุมชนดูแลกันเอง ปัจจุบันรัฐตั้งรับสูงมาก ไม่ได้ซีเรียสกับปัญหามากเท่าที่ควร” สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน อธิบายถึงข้อจำกัดในการทำงาน ณ ปัจจุบัน

แน่นอนว่าการช่วยเหลือผู้ป่วยข้างถนนทีละคนเป็นเรื่องสำคัญ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ดังนั้นควบคู่ไปกับงานช่วยเหลือรายบุคคล ทีมงานเลยเก็บข้อมูลในหลากหลายแง่มุม โดยเฉพาะกับบทบาทของภาครัฐในส่วนต่างๆ เพื่อรวบรวมเข้าสู่ขั้นตอนของงานวิจัยอย่างเป็นระบบ

“เราทำงานปลายเหตุเพื่อแก้ปัญหา พร้อมกันนั้นเราก็เก็บข้อมูลจากชั้นภาคพื้นดินที่สุด แล้วส่งไปยังกลุ่มคนที่ทำงานภาคนโยบาย คือกรมสุขภาพจิต เป็นข้อมูลของปัญหาและข้อเสนอแนะว่าด้วยสถานการณ์และกลไกตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 แต่ละฝ่ายต้องการการสนับสนุนอะไรบ้าง

“พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ถือว่าเขียนไว้ดีแล้วนะ แต่พอทำงานจริงเราเห็นบางแง่มุมที่มีปัญหา เช่น ตำรวจมีอำนาจในการบังคับบำบัดรักษา แต่บางครั้งกลับใช้รถห้องขังพาผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาล มันไม่เหมาะสม เขาเป็นผู้ป่วย ไม่ใช่ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขัง อย่างสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในปัจจุบันก็รวมคนไร้ที่พึ่งและคนป่วยไว้ด้วยกัน ดูแลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คำถามคือเหมาะสมไหม สถานสงเคราะห์ของผู้ป่วยจิตเวชควรมาจากกระทรวงสาธารณสุขมากกว่าไหม เพื่อให้มีจิตแพทย์และพยาบาลจิตเวชมาดูแล” ถิรนันท์พูดถึงบางส่วนของงานวิจัยที่อยู่ระหว่างดำเนินการ

4

ตากแดดตากลม เนื้อตัวสกปรกมอมแมม นอนกับกองขับถ่ายของตัวเอง และคุ้ยขยะขึ้นมาประทังชีวิต–ถ้าคุณเชื่อว่ามนุษย์มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งคุณย่อมเชื่อว่าเขาและเธอไม่ควรต้องเผชิญชะตากรรมเช่นนี้

“ถ้าคนไร้บ้านคือคนชายขอบ ผู้ป่วยข้างถนนคือขอบสุดท้ายของชายขอบเลย เราอยากให้คนในสังคมตั้งคำถามว่าทำไมเขาถึงมาอยู่ตรงนี้ และเราจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง แค่เกิดคำถามแล้วพยายามหาคำตอบก็ถือเป็นพลังในการแก้ปัญหาแล้ว” ถิรนันท์พูดถึงกลุ่มคนที่เธอทำงานด้วย

สำหรับการแก้ปัญหา (แม้เป็นเพียงปลายเหตุก็ตาม) หากคุณพบบุคคลในพื้นที่สาธารณะที่มีลักษณะเข้าข่ายผู้ป่วยจิตเวช สามารถโทรสายด่วนแจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม หมายเลขโทรศัพท์ 1300, โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา หมายเลขโทรศัพท์ 096-078-4650 รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่

“เจ้าหน้าที่ของโครงการฯ มีแค่ไม่กี่คน ยังไงก็ทำไม่ไหว มองว่าเรื่องนี้จะดีขึ้นในระยะยาวได้ยังไง” ผมสงสัย

“รัฐควรมีหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาแก้ปัญหา” สิทธิพลพูดถึงรูปธรรมที่อยากเห็น

“ถ้าเกิดหน่วยงานรัฐขึ้นมา ก็ไม่มีโครงการฯ แล้วเหรอ” ผมถามต่อ

“ใช่ครับ เราอยากหายไปนะ (หัวเราะ) ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนมีเราอยู่แปลว่ายังมีปัญหา โครงการฯ เกิดขึ้นปี 2555 เวลาผ่านไปหลายปี ปัจจุบันหลายเรื่องก็ดีขึ้นนะ เช่น เมื่อก่อนแต่ละหน่วยงานบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ พอทำความเข้าใจกันมากขึ้นเขาก็หาแนวทาง อย่างที่บอกว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับสุขภาพของประชาชน ดังนั้นงานที่เราทำอยู่ควรเป็นภาครัฐมาทำนะ ทำมากกว่าแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ทำทั้งกระบวนการ ตั้งหลักเพื่อยุติปัญหานี้ แล้วจัดสรรงบประมาณมาเลย” สิทธิพลย้ำว่าเรื่องนี้ควรเป็นบทบาทของภาครัฐ

5

ตลอดการทำงานหนึ่งวันของโครงการผู้ป่วยข้างถนน พวกเขาต้องปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงาน ผมในฐานะผู้สังเกตการณ์ ทั้งอึดอัดและเข้าใจ (แน่นอนว่าการทำงานมาหลายปีคงต้องทวีคูณสิ่งที่เจอไปไม่รู้อีกกี่เท่า)

อึดอัด เพราะเห็นถึงการปฏิเสธความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ ทั้งที่ตัวอักษรในนามของ ‘กฎหมาย’ ได้ระบุบทบาทไว้อย่างชัดเจน พร้อมกันนั้นคือเข้าใจ เพราะเห็นถึงภาระงานที่หนักหน่วงอยู่แล้ว ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนนิ่งเฉย ดังนั้นปัญหานี้จึงใหญ่และซับซ้อนเกินกว่าจะกล่าวโทษบุคคลใดเพียงลำพัง

“ไปไหนก็มีแต่คนปฏิเสธ ขนาดผมไม่ใช่ลุงคนนั้น (ผู้ป่วยข้างถนน) ยังรู้สึกไม่ดีเลย ลองนึกภาพว่าตัวเองเป็นคนป่วย เท่าที่รับรู้ได้ข้างในของผมคงแย่มาก” หลังจากอยู่กับทีมงานมานับสิบชั่วโมงผมพูดขึ้น ไม่มีคำตอบอะไรกลับมา นอกจากพยักหน้าแล้วตอบรับว่าเห็นด้วย

ไม่ว่าคุณจะมองพวกเขายังไง เบื้องต้นที่สุดคือการเข้าใจว่า ‘เขาคือคนป่วย’

ไม่ว่าคุณจะมองพวกเขายังไง คุณสามารถทำความเข้าใจและแจ้งข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือ

ไม่ว่าคุณจะมองพวกเขายังไง ความจริงที่ต้องตระหนักคือเขาเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าไม่แตกต่างจากคนอื่น

เช่นนั้นแล้วหากปรารถนาสังคมที่น่าอยู่ การมองพวกเขาด้วยความเห็นอกเห็นใจสำคัญอย่างยิ่งในการอยู่ร่วมกัน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!