Reuse not old but gold ไปกับกระเป๋ากระสอบ Hukmum

ด้วยเทรนด์ของโลกในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกแล้วที่เราจะเห็นหลายแบรนด์มีผลิตภัณฑ์ที่เน้นคอนเซปต์การรียูสวัสดุเหลือใช้ การนำเอาของเก่าหรือสิ่งที่คนไม่เห็นค่ามาดัดแปลงเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับมันกลายเป็นเรื่องที่เราไม่แปลกใจเท่าไหร่ในยุคนี้

ถุงกระสอบเป็นอีกหนึ่งวัสดุที่เราเคยเห็นหลายคนหยิบจับมันมาพัฒนาเป็นสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะกระเป๋า ด้วยคุณสมบัติที่ดีในการห่อหุ้มและป้องกันสภาพแวดล้อมของกระสอบทำให้มันถูกนำมาดัดแปลงเป็นกระเป๋าหลายๆ แบบ หลายเจ้าหลายแบรนด์ชูจุดเด่นด้านการรียูสเพื่อเป็นจุดขายมาเนิ่นนาน แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้กระเป๋ากระสอบกลายเป็นสินค้าติดตลาดยอดฮิตที่ทุกคนนิยมใช้

เรื่องราว ‘หักมุม’ เกิดขึ้นตรงจุดนี้เอง

‘Hukmum’ คือแบรนด์กระเป๋ากระสอบที่มีสโลแกนสุดเท่ที่ว่า ‘Reuse not old but gold’ มองด้วยตาปราดเดียวเราก็รับรู้ได้ว่ากระเป๋ากระสอบแบรนด์นี้แตกต่างจากแบรนด์อื่น ด้วยลายบนหน้ากระเป๋าแต่ละด้านบวกกับการออกแบบรูปทรงทำให้เราอยากหยิบจับกระเป๋า Hukmum มาเป็นเจ้าของ ราคาที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับคุณภาพทำเอาเราประทับใจจนพาตัวเองมาคุยกับสองผู้ริเริ่มไอเดียที่เต็มไปด้วยแฟชั่นและการดีไซน์

‘เคลียร์-เฌนิศา เทียมประเสริฐ’ และ ‘มอช-ขจรยศ นันตา’ คือเจ้าของแบรนด์กระเป๋ากระสอบสุดเก๋นี้ เราไปเยี่ยมพวกเขากันถึงสตูดิโอเล็กๆ ที่เป็นห้องในคอนโดฯ ย่านพระราม 2 ภายในมีกระสอบกองสุมกันอยู่เต็มห้องพร้อมโต๊ะตัดเย็บขนาดกะทัดรัด กระเป๋าลายเท่และดีไซน์เก๋กว่าร้อยใบเริ่มต้นจากในห้องเล็กๆ ห้องนี้นี่เอง

ส่วนเรื่องราวของพวกเขาจะหักมุมหรือไม่ ไปฟังเคลียร์และมอชเล่าด้วยตัวเองกันเลยดีกว่า

เริ่มต้นเพราะอยากขิง แต่จริงๆ น่ะมีของ

“หักมุมเริ่มต้นจากตัวเราเองที่กำลังเรียนด้านแฟชั่นและติดตามวงการแฟชั่นประมาณหนึ่งอยู่แล้ว มันมีช่วงหนึ่งที่แบรนด์ดังแบรนด์หนึ่งเขาทำของคล้ายๆ ถุงกระสอบของไทย ตอนนั้นเราอยากทำอะไรใหม่ๆ เราเลยคิดว่าน่าจะลองทำดูบ้างเพราะใกล้ตัวเรามันก็มีของที่หน้าตาเหมือนกัน อย่างน้อยเราเอามาถือใช้เองเพื่ออวดเพื่อนและขิงกันว่ากระเป๋าฉันลายแปลกอะไรแบบนี้

“พอเราเอาไปใช้ เพื่อนๆ ก็ชอบกัน หลายคนเริ่มอยากซื้อ เราเลยเริ่มทำตามสั่งและทำให้เพื่อนไปเรื่อยๆ ลองเทสต์หลายๆ แบบ คนซื้อก็เริ่มขยายวงกว้าง เริ่มมีคนติดต่อเข้ามาว่าทำให้บ้าง เราเริ่มจริงจังขึ้นเพราะพอมันเริ่มแผ่กระจายไปในวงกว้าง เรารู้สึกว่าเราต้องมีคุณภาพแล้ว เพราะถ้ามีปัญหามันจะไม่ดีกับตัวเรา เราเริ่มศึกษาวัสดุ ลองเย็บแบบต่างๆ ว่ามันขาดไหม มันลุ่ยไหม เย็บยังไง พัฒนาไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายผลตอบรับมันโอเค เราจึงเริ่มเปิดขายผ่านเพจเฟซบุ๊กและในอินสตาแกรมเมื่อต้นปีที่ผ่านมาโดยลงของขายอาทิตย์ละครั้ง”

from กระสอบ to กระเป๋า

“ขั้นตอนแรกสุดในการทำกระเป๋าแต่ละชิ้นของเราคือการหากระสอบก่อน ตอนแรกเราก็ไม่รู้หรอก เจอร้านไหนที่มีกระสอบเราก็เข้าไปขอซื้อตั้งแต่ร้านขายข้าว ร้านขายอาหารสัตว์ ไปจนถึงโรงงานปูน ส่วนใหญ่เราซื้อมาเป็นกิโลกรัมเพราะกระสอบพวกนี้เป็นของที่แทบไม่มีประโยชน์สำหรับพวกเขา ราคาก็จะแตกต่างกันไป

“พอได้กระสอบมา ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการทำความสะอาด แทบทุกกระสอบจะมีผงอยู่ข้างใน เราต้องเอามาล้างและขัด หลังจากนั้นจึงตัดขอบกระสอบเพื่อให้ได้เป็นแผ่นกว้างพร้อมนำมาตัด ตอนนี้เรามีกระเป๋าอยู่ 16 แบบ แต่ละแบบจะมีแพตเทิร์นการตัดและจำนวนชิ้นไม่เหมือนกัน เวลาเราเห็นกระสอบแต่ละแบบ เราจะจินตนาการว่าถ้าเอาแพตเทิร์นนี้วางตรงไหนแล้วมันถึงจะสวย และถ้ามันต่อกันแล้วจะสวยขึ้นได้ยังไง ต้องคิดหมดว่าจะวางตรงรูปหรือฟอนต์ วางตรงหรือวางเอียง พอได้ก็ทาบแพตเทิร์นแล้วตัดตาม พร้อมตัดตัวซับข้างในที่ขนาดเท่ากันนำมาเย็บประกบ

“เฉลี่ยแล้วกระเป๋าหนึ่งใบจะใช้แผ่นที่ตัดแล้วประมาณ 4-5 แผ่น ชิ้นไหนที่มีซิปก็ต้องเย็บซิปและหัวซิป พอทุกแผ่นสมบูรณ์ก็นำมาเย็บต่อกันทีละชิ้นจนประกอบเป็นกระเป๋า หลังจากนั้นถ้าแบบไหนต้องมีอะไหล่เพิ่มก็ค่อยเพิ่มเข้าไป เช่น ถ้าเป็นกระเป๋าสะพายก็ต้องมีรู มีสายสะพายและตะขอ ทั้งหมดนี้ก็จะได้กระเป๋าหนึ่งใบ แต่โดยปกติเราจะทำแต่ละขั้นตอนให้เสร็จไปทุกใบแล้วค่อยขึ้นขั้นตอนใหม่”

 

ไม่ใช่แค่การ reuse ที่ old แต่ต้อง gold

“เราคิดว่าจุดขายของหักมุมคือลาย กระเป๋าทุกใบของเราลายจะไม่ซ้ำกัน ถึงจะเป็นกระสอบประเภทเดียวกันแต่เราก็จะเปลี่ยนมุมตัดไปเรื่อยๆ เรามีโมเดลมาจากกระเป๋า freitag แต่ก็จะไม่ให้ไปในทิศทางเขาซะทีเดียว เราจะสังเกตุด้วยว่าลูกค้าชอบแบบไหน ที่สำคัญคือลูกค้าสามารถรีเควสต์ให้เราตัดได้โดยคิดราคาเดิม บางคนบอกว่าอยากได้แบบ font ของกระสอบนี้ หรืออยากได้อะไรที่มันคลีนๆ เราก็ทำตามที่เขาต้องการได้

“สำหรับเรา กระสอบมันเป็นวัสดุที่สวย คนที่ออกแบบเขาออกแบบมาสวยเหลือเกิน มันเป็นหน้าที่เราที่ต้องคิดว่าแต่ละอันเราจะตัดเป็นลายหรือสัดส่วนอะไร กระสอบบางอันถ้าตัดมาเป็นอันเล็กคนอาจจะไม่สนใจ แต่ถ้าตัดมาเป็นใบใหญ่เห็นพญานาคเต็มตัวคนจะชอบ เราต้องดูเป็นลายไป เราคิดง่ายๆ ว่าถ้าเป็นตัวเอง เราเห็นกระเป๋าแบบไหนเราถึงจะซื้อ มันต้องเก๋ ใส่ไปอวดเพื่อนเหมือนเราได้ เอาจริงๆ พอเป็นกระเป๋าที่เราจะใช้ เราไม่ได้คิดถึงเรื่องรักโลกขนาดนั้นหรอก เพราะสุดท้ายกระเป๋ามันมีไว้สะพาย ดังนั้นมันเลยเป็นเรื่องของดีไซน์ด้วย มันจึงเป็นที่มาของ Reuse not old but gold”

ผลตอบรับที่ทำให้ grow แต่ not old

“เราลงของใหม่ขายในอินสตาแกรมทุกอาทิตย์ อาทิตย์ละครั้งและเป็นของใหม่ทุกครั้ง จากตอนแรกที่ลงไม่ถึงสิบใบ แต่ด้วยผลตอบรับที่ดีมันก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนตอนนี้เป็น 30-40 ใบต่ออาทิตย์ บางทีอาทิตย์ละ 50 ใบก็มีและทั้งหมดเป็นเฮดเมด

“ภายในไม่ถึงปีถือว่าเราโตเร็วมากนะ จากตอนแรกทำกันทำกันแค่สองคนกับจักรเล็กๆ ตอนนี้เราเริ่มมีการส่งช่างให้ช่วยเย็บบ้าง แต่ลายในการตัดเรายังเลือกเองเหมือนเดิม เพราะเหนืออื่นใด สิ่งที่เราเน้นคือคุณภาพ เอาจริงๆ พอขยายแล้วคุณภาพดีกว่าเดิมด้วยเพราะพอทำไปเยอะๆ เราจะรู้ว่าอันไหนมันควรดีกว่านี้ อันไหนควรแก้ เรารับฟังความเห็นลูกค้าและอัพเดตตัวเองเรื่อยๆ ลูกค้าสามารถติชมเราได้ตลอด”

หักมุมสุดท้ายด้วยมุมมองและความคิด

“ทุกวันนี้เรารู้สึกมีแรงในการหาลายใหม่ๆ เหมือนเรารู้สึกว่ามีคนรอดูแบบใหม่ๆ จากเราอยู่ เราแฮปปี้ที่จะทำเพราะเป็นงานที่เราชอบและไม่ได้ฝืน เพราะขนาดไม่ได้รายได้เราก็ทำมาใช้เอง เราชอบเห็นคนอุทานว่าหามาได้ไง พอได้ยินแล้วมันก็ยิ่งอยากทำ ไม่เหนื่อย ได้หาลายจนได้ลายแปลกๆ แล้วมันสนุกนะ

“เรารู้ว่าเราไม่ใช่แบรนด์ที่ขายกระเป๋ากระสอบแบรนด์เดียวหรอก แต่เราไม่ซีเรียสนะ มันเหมือนร้านเสื้อผ้า ทุกคนก็ใช้ผ้าเหมือนกันหมด แต่มันอยู่ที่คุณมีอะไรจะมาขายให้ลูกค้า กลุ่มลูกค้าก็ไม่เหมือนกัน แบบก็จะไม่เหมือนกัน เราต้องตีให้แตกว่ากลุ่มลูกค้าเราคือใคร ใช้ชีวิตแบบไหน เหมาะกับกระเป๋าแบบไหน เราคิดและตั้งใจเพราะเราไม่ได้อยากจะขายมันอย่างเดียว เราอยากให้คนชื่นชมผลงานและไอเดียของเราด้วย”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

นิติพงษ์ การดี

ช่างภาพเจ้าของเพจ Rename. ที่ลงงานปีละครั้ง และมีความคิดว่า ถ้าได้กินกาแฟในตอนเช้าหนึ่งแก้ว ถือว่าวันนั้นเป็นวันที่ดี