MATERIAN : เบื้องหลังวิธีทำกระเป๋าของคนคลั่งวัสดุที่ได้แรงบันดาลใจจากถุงก๊อบแก๊บ

หลายปีก่อน ดิว-ดุลพล ศรีจันทร์, Sini Henttonen และ เบียร์-ณภัทร พงษ์พนัสนุกุล 3 นักออกแบบผู้คลั่งไคล้ในวัสดุได้ร่วมมือกันกลายพันธ์ุ ‘เสื่อบ้านๆ’ ให้กลายเป็น ‘พรมเท่ๆ’ ที่เข้ากันดีกับวิถีชีวิตของคนเมืองร้อนในชื่อ PDM Brand ทั้งติดหู และ (มีคนซื้อไว้) ติดบ้านมากมายทั้งในประเทศและนอกประเทศ

ปีนี้พวกเขาได้นำ ‘พรมเท่ๆ’ มาเขย่ารวมกับรูปฟอร์มเชยๆ ของ ‘ถุงบ้านๆ’ จนได้ผลลัพธ์เป็นกระเป๋าเท่ ทรงถุง 4 แบบ ในชื่อ ‘MATERIAN’ ซึ่งแปลว่าผู้คลั่งไคล้ในวัสดุ เราตาม เบียร์ ตัวแทนจาก PDM และ เจ-ภูเมศร์ เตชะบรรเจิด นักออกแบบอิสระผู้ดูแลงานนี้มาช่วยกันเลาะตะเข็บกระเป๋าให้ทุกคนรู้วิธีคิดก่อนประกอบร่างในทุกรายละเอียด

ทำไมอยู่ดีๆ PDM กระโดดมาทำกระเป๋า

เบียร์: ด้วยภาพลักษณ์และคาแรกเตอร์ของ PDM จุดใหญ่เลยคือเราอยากทำของดีที่ยั่งยืน ความยั่งยืนในความคิดเราคือ สวย ทน ใช้งานง่าย แล้วทำให้คนบอกต่อ เสื่อเราเด่นเรื่องวัสดุ และแพตเทิร์นค่อนข้างจัด มีลูกเล่นกราฟิกเยอะ พวกเราเลยมานั่งคิดว่า หรือเราจะลองจับแฟชั่นแบรนด์อย่างกระเป๋า โดยหยิบเอาพวกลวดลายหรือว่าพื้นผิวของตัววัสดุมาใช้

สำหรับ Materian เราโยนโจทย์ให้พี่เจว่าอยากได้กระเป๋าเท่ๆ คาแรกเตอร์ชัด ไม่ซ้ำใคร และต้องดูรู้ว่าเป็นแบรนด์ PDM บรีฟน้อยมาก เพราะอยากเปิดโอกาสให้พี่เจสร้างเรื่องราวใหม่ บางทีการไปกำหนดกฎเกณฑ์มากๆ ก็เหมือนเราไกด์ภาพจบของงานไปเรียบร้อยแล้วว่าต้องทรงนี้ หน้าตาแบบนี้ แต่เราไม่ต้องการแบบนั้น อยากให้ได้ผลลัพธ์ใหม่ พี่เจอยากเล่นอะไรเล่นเลย เพราะดีไซเนอร์แต่ละคนจะมีเรื่องเล่าเป็นของตัวเองทำให้ผลิตภัณฑ์มีเรื่องราวที่ต่างไป

ดีไซเนอร์ต่างคนก็หลงใหลในเรื่องราวคนละแบบ ถ้าอย่างนั้นเราจะรักษาความเป็น PDM ไว้ด้วยอะไร

เจ: ต้องมีการคุยกันว่าทิศทางของแบรนด์คืออะไร PDM เองมีความเป็นไลฟ์สไลต์ มีความคูล และเด่นเรื่องวัสดุ เราก็เลยเริ่มคิดกระเป๋า Materian จากตัว material เดิมของเสื่อ PDM เป็นพลาสติก แล้วก็ดึงเอาคุณสมบัติเด่นของวัสดุมาใช้ในการออกแบบ กระเป๋าเลยค่อนข้างกันน้ำ น้ำหนักเบา ทนทาน นอกจากนี้ก็มอง material อื่นๆ ที่มีความเบาและทนน้ำจากเสื้อผ้า เช่น พวกผ้าร่ม ซิปไนลอน ซิปพลาสติก ผ้าแคนวาสกันน้ำ มาใช้ร่วมด้วย

ช่วงเเรกเราใช้เวลาไปกับการคุยกันเยอะเพื่อให้ชัดว่าภาพที่เขาต้องการคืออะไร นี่คือคอลเลกชันแรกด้วย ก็อยากให้เป็นเหมือน fundamental ที่สร้างต่อไปได้ในอนาคต พอได้ภาพที่ใช่ก็ค่อยมาออกแบบ จริงๆ กระเป๋าก็มีอยู่ไม่กี่เเบบในโลกนี้หรอก สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเราจะจับอะไรที่มาตอบคาแรกเตอร์ของแบรนด์ได้

ในฐานะคนคลั่งวัสดุ material มีความสำคัญกับงานนี้ในแง่ไหน

เจ: material ถือว่าสำคัญที่สุดเพราะเป็นชื่อแบรนด์เลย แต่ตอนแรกเราไม่ได้ตั้งใจว่าต้องเอา material หลายๆ อันมาแมตช์ขนาดนี้ แต่ด้วยระหว่างการทดลองเราก็ไปเจอวัสดุนู่นนี่นั่นที่น่าสนใจ พอเอามาใช้ด้วยกันก็ลงตัว ดูสนุก แต่ก็มีเซอร์ไพรส์ซ่อนอยู่ เช่น เวลาดูไกลๆ คนจะเข้าใจว่านี่เป็นกระเป๋าสีดำธรรมดาๆ แต่พอเขาจับขึ้นมาก็จะพบว่ามีรายละเอียดในส่วนของการสัมผัสพื้นผิวที่เราจับคู่ไว้ หรือฟังก์ชันการใช้งานที่ซ่อนไว้

แสดงว่าสัมผัสเป็นสิ่งสำคัญ

เจ: สำคัญ เพราะกระเป๋าเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรา ต้องจับตลอดเวลา ตอนออกแบบเราคิดตลอดว่าเวลาผู้ใช้จับไปจะให้ความรู้สึกแบบไหน วัสดุต่าง ความรู้สึกก็ต่างไป ซึ่งกระเป๋าเราจะเลือกวัสดุที่จับแล้วมีความหนาและแข็งแรง

ทำไมถึงหยิบเอาถุงก๊อบแก๊บมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบ

เจ: ถุงก๊อบเเก๊บและเสื่อมีจุดร่วมเดียวกันในเรื่องของวัสดุที่เป็นพลาสติก เราเลยนำจุดร่วมนี้มาเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงาน เราวางคอนเซปต์งานออกแบบครั้งนี้เป็น Anti-beauty approach (ดีไซน์ซึ่งฉีกกฎความงามแบบเดิมๆ เช่น การหยิบเอาของธรรมดาหรือของที่คนเมินมาทำให้สวยงามน่าสนใจ) กระเป๋าเราไม่จำเป็นต้องดูหรูหราอลังการ เนื่องจากเราไม่ได้ใช้ material ที่แบบโอ้โห! hardware สีทองมาเลย ก็เลยหยิบเอารูปทรงและการใช้งานของถุงพลาสติก ถุงซิปล็อก ถุงขนมปัง ถุงก๊อบแก๊บ มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบกระเป๋า 4 สไตล์ คือ HOP, THROW, FOLD และ HOLD

ชื่อเรียกกระเป๋าแต่ละทรงดูน่าเขวี้ยง ปา พับ ขย้ำ ขยี้ มากๆ

เจ: เราไม่อยากให้คนใช้รู้สึกว่าต้องถนอมมัน เราอยากให้คนกล้าใช้กล้าหยิบ material ทุกอย่างที่เราเลือกมามันมีความทนมากเลยไม่จำเป็นว่าต้องถนอม จะขยำ จะหิ้ว จะไปโยนท้ายรถก็ได้แล้วแต่เลย ยิ่งเป็น Anti-beauty เราเลยมองว่ามันไม่จำเป็นเลยที่ต้องโห…เธอต้องระวังไม่ให้กระเป๋าโดนน้ำโดนฝนนะ

ถึงจะเป็นกระเป๋าแต่หน้าตาของมันก็ยังชวนเราให้นึกถึงถุงพลาสติกอยู่ดี

เจ: เราตั้งใจหยิบรูปร่างหน้าตาของถุงพลาสติกชนิดต่างๆ มาใช้ตรงๆ เลย เนื่องจากรูปทรงพวกนี้เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย เราอยากให้คนมองแล้วยังรู้สึกได้ว่านี่คือถุงพลาสติก ถุงโชคดี ถุงซิปล็อก ถุงขนมปัง เหมือนใช้ฟอร์มเป็น symbolic ในการสื่อสาร

คุณมีวิธีนำความธรรมดามาทำให้น่าสนใจอย่างไร

เจ: อย่างที่บอกว่าอย่างไรก็ตาม กระเป๋าต้องมีความแตกต่าง ถ้าดูรายละเอียดจะเห็นว่ามีความซับซ้อน แต่เป็นความซับซ้อนที่เราคิดจากพฤติกรรมการใช้งานจริงของคนสมัยนี้ ถ้าเราเอาฟอร์มของถุงพลาสติกมาใช้โดยไม่มีการจัดการฟังก์ชันอะไรเลย มันจะเกิดปัญหาเวลาใส่ของไปแล้วบางทีหาของไม่เจอ เราก็เลยต้องมีฟังก์ชันช่องใส่ซ่อนอยู่เยอะแยะไปหมด อย่างตัว THROW ที่ดึงเอาฟอร์มของถุงก๊อบแก๊บมาใช้ เราก็เพิ่มความพิเศษเข้าไปด้วยการเติมที่จับซ่อนเอาไว้ด้านในอันนึง เพื่อให้เวลาถือก็จะยังคงไว้ซึ่งรูปฟอร์มของถุงพลาสติก ข้างในก็มีช่องใส่ของซ่อนไว้เยอะมาก

ส่วน HOP เราก็เอาฟอร์มถุงขนมปังมาใช้ตรงๆ เปิดใช้งานแบบถุงขนมปังแต่แอบเพิ่มหูสะพายเข้าไป ใส่ฟังก์ชันการเปิดใช้งานด้วยซิปด้านข้างให้มัน เพราะถ้าเปิดแบบถุงขนมปังโดยตรงอาจไม่เหมาะกับผู้ใช้ในวันเร่งรีบ แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งฟอร์มของถุงขนมปังอยู่

HOLD เราก็หยิบเอาถุงซิปล็อกมาปรับเป็นกระเป๋าคลัตช์ที่กำลังเป็นที่นิยม ไซส์ที่สามารถใส่เอกสารได้ แต่เดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยใส่เอกสารกันเท่าไหร่ นิยมเป็น iPad หรือ notebook มากกว่า เราก็ออกแบบจากพฤติกรรมของคนสมัยนี้ ด้านในเลยออกแบบให้มีตัวกันกระแทก ข้างนอกก็ดีไซน์ช่องใส่พวกสายชาร์จ อุปกรณ์ทำงานต่างๆ กระเป๋าแต่ละใบก็จะมีรายละเอียดเล็กๆ ที่เหมาะกับการใช้งานที่ต่างไปคนละแบบ

เมื่อเอาวัสดุสารพัดมารวมกันเพื่อสร้างกระเป๋า 1 ใบ มันมีความยากตรงจุดไหนบ้าง

เจ: งานนี้ยากอยู่แล้ว ต้องคุยกับช่างหลายรอบมาก เพราะเป็นเจ้าแรกๆ ที่เอา material เสื่อจับคู่กับผ้า กับพลาสติกอื่นๆ มาทำเป็นกระเป๋า ส่วนใหญ่เขาจะเอาวัสดุที่ชอบมาตัดเย็บทั้งใบ ไม่ได้มีความซับซ้อน ซ้ายขวาหน้าหลังขนาดนี้ เราก็เลยมีการทะเลาะตบตีกับช่างอยู่พอสมควร (หัวเราะ)

เบียร์: ค่อนข้างยาก เพราะว่าวิธีเย็บเสื่อไม่เหมือนการเย็บผ้า เย็บกระเป๋า ทั่วไป กว่าจะตัดแล้วเย็บได้ต้องเป็นจักรที่หนาและใหญ่หน่อย

ในฐานะดีไซเนอร์ที่ทำงานกับกระเป๋ามานาน กระเป๋าหนึ่งใบบอกอะไรเราบ้าง

เจ: กระเป๋ามันเป็น identity คนนะ กระเป๋าเป็นหนึ่งไอเท็มที่สามารถสร้างคาแรกเตอร์และภาพจำให้คนใช้ได้ เวลาเราแต่งตัว กระเป๋ามันเป็น accessory ที่ขาดไม่ได้ เป็น key Item ที่ทำให้ลุคของคนคนหนึ่งครบเครื่อง

 

รู้มาว่าคุณไม่ได้จบงานแค่กระเป๋า แต่ยังเลยเถิดไปถึงการออกแบบดิสเพลย์ต่างๆ ตอนขาย

เบียร์: เรากำลังร่างแบบรถเข็นกระเป๋า Materian อยู่ เพราะอยากให้รถคันนี้ตอบโจทย์ทั้งเรื่อง stock และการดิสเพลย์ในตัวเวลาไปออกแฟร์ หรือเวลาไปตั้งอยู่ในร้าน Selected shop ตามต่างประเทศ เราอยากให้เขามีมุมที่เป็นแบรนด์เราชัดๆ เลย

ไอเดียรถเข็นเริ่มมาตั้งแต่ตอนเราทำเสื่อ PDM แล้วเวลาไปงานแฟร์ต่างๆ เราตั้งเสื่อมั่วไปหมด เสื่อก็ล้มตลอด ต้องวิ่งเข้าออกระหว่างบูทกับห้องเก็บของ เราก็ไม่อยากเหนื่อยเลยทดลองทำรถเข็นเสื่อที่สามารถโชว์เสื่อได้ครบทุกไซส์ ใช้เวลาจัดบูทแค่ 10 นาทีจากที่เคยใช้เวลาเป็นชั่วโมง ซ่อนฟังก์ชันเก็บของไว้ในตัวรถ ทำให้ไม่ต้องวิ่งเข้าออกห้องเก็บของอีก

เราอยากเอาไอเดียนี้มาใช้กับกระเป๋า Materian ด้วย ให้ราวแขวนของรถถอดประกอบต่อเติมได้ เพื่อให้เหมาะกับพื้นที่ที่เราไปออกงาน สมมติเราไม่ได้ไป คนอื่นก็สามารถทำงานแทนเราได้ง่ายขึ้น

การคิดเรื่องดิสเพลย์ดูเหมือนเป็นจุดเล็กๆ แต่จริงๆ มันเกี่ยวข้องกับการทำแบรนด์มาก สมมติถ้าเราทำสินค้ามาดีมากเลย แต่สุดท้ายเราไม่มีการเล่าเรื่อง ไม่รู้จะสื่อสาร ไม่รู้จะขายอย่างไร มันก็จบอยู่แค่นั้น แต่ถ้าเราทำแบรนด์ให้แข็งแรง ไม่ว่าจะทำโปรดักต์อะไรออกมา คนก็เข้าถึงมันได้ง่ายๆ แต่ไม่ว่าอย่างไรเราก็ยังต้องใส่ใจตัวโปรดักต์เหมือนเดิม

อยากเห็นอะไรจากการทุ่มเทครั้งนี้

เจ: เราอยากให้เวลาคนใช้เเล้วแฮปปี้ไปกับมัน บางทีเขาอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมกระเป๋าที่เราดีไซน์ถึงเป็นแบบนี้ เราไม่ได้ไปบอกเขาตรงๆ ว่าต้องการให้เขากล้าโยนทิ้งขว้าง วางกับพื้นไปเลย แต่การออกแบบจะเป็นตัวนำพฤติกรรมเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย