Triple BEEs Wrap : แรปห่ออาหารใช้ซ้ำได้ที่น่ารักพอๆ กับน่าใช้

Highlights

  • แรปขี้ผึ้ง คือทางเลือกในการห่อถนอมอาหารที่มีอายุยาวนานหลายเดือน ช่วยลดการใช้งานแรปพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งในครัวเรือน
  • Triple BEEs Wrap คือแบรนด์แรปขี้ผึ้งสัญชาติไทยที่ผ้าแรปทุกชิ้นเป็นงานแฮนด์เมด เริ่มจากการทำใช้เองในบ้าน ขยายเป็นการทำแจกจ่ายให้มิตรสหาย และเพิ่งจะวางขายแก่ผู้สนใจไม่นานมานี้
  • แม้จะมีข้อจำกัดคือไม่สามารถห่อของร้อนได้ในทันที แต่ก็มีข้อดีคือประยุกต์รูปแบบการใช้งานได้หลากหลายยิ่งไปกว่าแค่ห่อถ้วยชาม

1

หากใครทำกับข้าวบ่อยๆ คงคุ้นเคยกับการจัดเก็บอาหารที่กินไม่หมดไว้ในถ้วยชาม แล้วห่อด้วยแรปพลาสติกแช่ตู้เย็นเพื่อถนอมอาหารสำหรับกินในมื้อถัดไป แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า เรามีทางเลือกอื่นในการห่อปิดถ้วยชามนอกจากแรปพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเช่นกัน

แรปขี้ผึ้ง คือหนึ่งในทางเลือกนั้น

แรปขี้ผึ้ง

ดูเผินๆ แม้จะเหมือนกับผ้าธรรมดา แต่ด้วยขี้ผึ้งที่เคลือบบนผิวผ้า ทำให้เราสามารถจับผ้าวางให้เรียบ แล้วใช้ความร้อนจากอุ้งมือของเรากดให้ผ้าแรปแนบไปกับถ้วยชามและแนบไปตามรอยยับของผืนผ้า ก่อนจะนำไปใส่ตู้เย็นได้ไม่ต่างกัน ซึ่งแผ่นแรปขี้ผึ้งเหล่านี้หากดูแลรักษาดีๆ สามารถใช้ซ้ำได้เป็นเวลาหลายเดือน ช่วยลดการใช้พลาสติกที่สิ้นเปลือง และประหยัดค่าใช้จ่ายในบ้านไปได้โข

แถมเวลาเปิดตู้เย็น ลวดลายบนผ้าก็ยังเป็นเหมือนของประดับตกแต่งที่น่ารักชุบชูใจไปด้วยนะ

แรปขี้ผึ้ง

2

Triple BEEs Wrap เป็นแบรนด์ผ้าแรปขี้ผึ้งสเกลครัวเรือน ผ้าทุกผืนเป็นงานแฮนด์เมดจากฝีมือของสามสาวพี่น้อง โบ–สายวรี,  บัว–วรรณประภา และ บอน –ภาวินี ตุงคะสมิต ที่แบ่งเวลาจากงานประจำของแต่ละคนมาร่วมกันผลิตผ้าแรป โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากความหลงใหลในงานประดิษฐ์ D.I.Y. ของบัวที่ชอบทำข้าวของใช้เอง

แรปขี้ผึ้ง

“เราชอบเสิร์ชหางานคราฟต์ต่างๆ มาลองทำเองอยู่แล้ว แล้วก็เจอแรปขี้ผึ้ง (beeswax wrap) ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของฝรั่ง เลยลองทำขึ้นมาแล้วเอาให้แม่ลองใช้ ช่วงแรกแม่ก็ไม่ชิน มองไม่เห็นว่าข้างในมีอะไรอยู่ เราก็เจาะจงลวดลายว่าถ้าผ้าลายนี้คือน้ำพริก ลายนี้คือกับข้าว เขาก็เริ่มคุ้น ใช้ไปเรื่อยๆ ก็พบว่ามันใช้งานได้ดีและน่ารัก เขาเลยขอให้เราทำให้เขาเยอะๆ เป็นของขวัญให้เพื่อน ก็เริ่มทำเยอะขึ้น” บัวเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นก่อนจะมาทำแบรนด์อย่างจริงจัง

การทำแรปขี้ผึ้งมีอุปกรณ์ตั้งต้นคือผ้าคอตตอนบาง ขี้ผึ้งซึ่งเป็นตัวเคลือบผ้าเพื่อป้องกันความชื้น น้ำมันธรรมชาติตามความต้องการเพื่อให้ผืนผ้าไม่แห้งแข็งเกินไป ซึ่ง Triple BEEs Wrap เลือกใช้น้ำมันมะพร้าว รวมทั้งยังใส่ยางสนเพื่อให้เกิดความหนึบในการยึดเกาะ ส่วนวิธีทำมีหลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการต้มขี้ผึ้งและส่วนผสมลงในหม้อแล้วชุบผ้าลงไปก่อนนำไปตาก วางผ้าลงบนแผ่นอบขนมแล้วใช้แปรงทาส่วนผสมขี้ผึ้งเหลวบนตัวผ้า, วางแผ่นอบขนม ผ้า ขี้ผึ้งแข็ง แล้วหยอดน้ำมันกระจายทั่วผืน ทับด้วยแผ่นอบขนมอีกครั้งแล้วรีดด้วยเตารีดเพื่อกระจายให้ขี้ผึ้งซึมซาบไปทั่วแผ่น เมื่อเสร็จแล้วก็นำมาขูดเศษขี้ผึ้งที่ปูดโปนไม่สวยงามออก

แรปขี้ผึ้ง

แรปขี้ผึ้ง

“เราทำหลายวิธีกันมาก เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ผสมวัตถุดิบเอง กว่าจะได้ออกมาเป็นสูตรปัจจุบันก็ลองทำกันเยอะมาก ใช้เวลา 2-3 เดือน แล้วทุกครั้งที่ผสมใหม่ ใช้ผ้าผืนใหม่ หรือได้ขี้ผึ้งล็อตใหม่มา ก็ต้องปรับสูตรให้เหมาะกับแต่ละล็อต ตอนเราทำใช้เอง จะยังไงก็ใช้ได้หมด แต่พอทำขายก็อยากให้มันออกมาดี เรียบร้อยสวยงามที่สุด”

เราถามว่าในแต่ละล็อตมีผ้าผืนที่เสียหายมากไหม คำตอบคือไม่เยอะ ซึ่งหากผืนไหนที่ทำออกมาแล้วใช้งานได้แต่มีตำหนิ เช่น ผ้ามีรอยยับ พวกเธอก็จะเก็บไว้ใช้เองไม่วางขาย

“ตอนนี้มีผ้าที่เก็บไว้ใช้เองเยอะมาก” ทั้งสามคนหัวเราะ

แรปขี้ผึ้ง

แรปขี้ผึ้ง

3

นอกจากจะห่อถ้วยชามเพื่อถนอมอาหาร สามสาวบอกเราว่าแรปขี้ผึ้งยังสามารถทำอะไรได้อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการห่อวัตถุดิบที่ใช้ไม่หมดและเก็บรักษายากอย่างมะนาว, หัวหอม อะโวคาโดที่อาจจะผ่าซีกไปแล้ว, ห่อผลไม้และขนมใส่กระเป๋าถือพกไปไหนมาไหน, ห่อมีดหรือของมีคมในกรณีที่ต้องเดินทาง, ห่อสบู่ก้อน, ปิดฝาแก้วน้ำป้องกันฝุ่นและสิ่งสกปรก, พับมุมทั้งสี่แล้วใช้เป็นถ้วยขนม หรือแม้แต่ใช้ความหนึบของขี้ผึ้งช่วยในการเปิดฝาขวดโหลที่เปิดด้วยมือเปล่าไม่ออก  

แรปขี้ผึ้ง

แรปขี้ผึ้ง

แรปขี้ผึ้ง

วิธีทำความสะอาดก็ง่ายๆ เพียงล้างด้วยน้ำเปล่า หรือในกรณีที่มีคราบมันก็ใช้สบู่อ่อนๆ แล้วลูบเบาๆ งดการขยี้ เมื่อตากไว้จนแห้งก็พับหรือม้วนเก็บไว้ในที่แห้งได้ตามสะดวก โดยมีข้อควรระวังอยู่นิดหน่อยคือไม่ควรใช้กับอาหารที่มีความร้อนเกิน 60 องศาเพราะอาจทำให้ขี้ผึ้งละลาย โดยอาจจะรอให้อาหารเย็นสักนิดก่อนแรป และด้วยความที่แรปมีความหนา ไม่เป็นฟิล์มบางแบบพลาสติก อาจทำให้ไม่สามารถป้องกันอากาศและน้ำได้ทั้งหมด

“มันอาจจะแทนพลาสติกได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ บางอย่างหากไม่อยากให้ลมเข้าเลยก็อาจจะจำเป็นต้องใช้แรปพลาสติกอยู่ อาจจะเป็นการใช้ควบคู่กันไป แต่ก่อนที่บ้านจะซื้อแรปพลาสติกเดือนละ 4 หลอดเพราะทำกับข้าวตลอด ตอนนี้ก็ลดลงมาก ถ้าต้องห่ออะไรก็จะใช้แรปผ้าก่อน ไม่ได้จริงๆ ถึงจะใช้พลาสติก”

แรปขี้ผึ้ง

แรปขี้ผึ้ง

4

มาถึงวันนี้ Triple BEEs Wrap เพิ่งเริ่มเปิดตัวคอลเลกชั่นผ้าแรปขี้ผึ้งมาเป็นเวลาได้แค่สองอาทิตย์ ในแต่ละเซตถูกจัดผ้าไว้เป็น 3 ขนาดเข้ากับการใช้งานในบ้านคนไทย แรปได้ตั้งแต่ถ้วยน้ำพริกไปจนถึงชามใส่แกง มีการมิกซ์แอนด์แมตช์สีสันลวดลายผ้าที่น่ารักน่าใช้ ทำให้บางคอลเลกชั่นก็ขายหมดไปอย่างรวดเร็วและมีเสียงตอบรับที่ดีเกินกว่าที่ทั้งสามพี่น้องคาดคิด

“ตอนเราทำไม่ได้คิดเลยว่ามันจะไปไกลแค่ไหน คิดแค่ว่าถ้ามันขายไม่ได้ คนไม่นิยมใช้ เราก็แจกเพื่อน แต่มีคนสนใจมากกว่าที่คิด มีคนสั่งให้ทำเฉพาะล่วงหน้าไว้แจกลูกค้าด้วย ซึ่งเรารู้สึกดีนะ เพราะคิดว่ามันเป็นของขวัญที่ดี”

แรปขี้ผึ้ง

เพราะเป็นงานรองที่เกิดขึ้นมาในเวลาว่างจากงานหลักของทั้งสามคน Triple BEEs Wrap จึงไม่ได้มีเป้าหมายไว้ว่าจะผลิตออกมาให้ได้จำนวนมากและสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่เป็นเหมือนงานอดิเรกที่ทำให้พวกเธอมารวมตัวกัน ผลิตผ้าแรปที่ดี น่ารัก ถูกใจทั้งตัวพวกเธอเองและเป็นทางเลือกให้คนที่สนใจต่อไปเรื่อยๆ มากกว่า

“เราเริ่มจากอยากทำให้ตัวเอง ทำให้เพื่อน ก็ไม่อยากเครียดว่าต้องขายให้ได้เยอะ อีกอย่างคือผ้าแรปไม่ใช่ของที่ทุกคนจะแห่แหนกันมาซื้อ เพราะวัตถุประสงค์มันควรจะใช้ได้นาน เราก็อยากให้คนใช้ได้นานๆ รักษามันดีๆ เลยอยากให้มันเป็นงานอดิเรก เป็นกิจกรรมครอบครัวที่ได้มานั่งทำด้วยกันอาทิตย์ละสามวัน ไปช้อปปิ้งผ้าแถวเยาวราช ซื้อไปกินไป สนุก”

“เราทำกันแบบแฮปปี้ แล้วคนใช้แฮปปี้ เท่านี้ก็คอมพลีตแล้ว”

แรปขี้ผึ้ง

Triple BEEs Wrap

ประเภทธุรกิจ: แบรนด์แรปขี้ผึ้งโฮมเมดที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้
คอนเซปต์: ผลิตภัณฑ์แรปขี้ผึ้งสัญชาติไทยยที่ผ้าแรปทุกชิ้นเป็นงานแฮนด์เมดที่ประยุกต์รูปแบบการใช้งานได้หลากหลาย
Facebook: Triple BEEs Wrap

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรม และศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อย รวบรวมผลงานไว้ที่ pathipolr.myportfolio.com