เตียงกอดได้ ชุดกอดทางไกล และโทรศัพท์เลียหู เมื่องานศิลปะกอดเราได้เหมือนมนุษย์?

Highlights

  • ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์แล้วยังไงก็ต้องการสัมผัสอย่าง 'การกอด' แต่ในยุคที่การกอดกันกลายเป็นเรื่องอันตราย คอลัมน์ Art for All จึงชวนไปดูงานศิลปะที่ว่าด้วยการกอดเพื่อรำลึกถึงสัมผัสที่เราต่างโหยหา
  • งานที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งมีชื่อว่า ‘Compression Carpet’ เตียงนอนที่มีผิวสัมผัสและสีคล้ายผิวมนุษย์ซึ่งสามารถโอบรัดเราได้ราวกับมีคนนอนกอด ส่วนอีกชิ้นคือ 'Tactile Orchestra' ผนังขนนุ่มนิ่มที่เมื่อกอดแล้วจะมีเสียงเพลงเล่นเป็นท่วงทำนอง
  • นอกจากงานเหล่านี้จะสนุกแล้วมันยังสะท้อนถึงความสำคัญที่การกอดมีต่อมนุษย์ และมากกว่านั้นคือตั้งคำถามว่าอ้อมกอดของสิ่งประดิษฐ์ งานศิลปะ หรือผลิตภัณฑ์ดีไซน์จะอบอุ่นได้เหมือนสัมผัสมนุษย์จริงๆ หรือ

การกอด

♪ โลกเราวันนี้ สับสนเหลือเกิน ฉันเลยเป็นห่วง
เห็นเธอเหนื่อยล้า เลยคิดว่าดี ถ้าเรากอดกัน… ♪

ปี 2540 ในวันที่วงทีโบนบรรเลงเพลง กอด ผู้คนบนแดนซ์ฟลอร์ที่กอดกันตามคำในเนื้อเพลงและเต้นรำไปพร้อมจังหวะดนตรีเรกเก้คงคิดไม่ถึงว่า อีก 24 ปีให้หลังโลกจะยังสับสนเหมือนเดิมและดูเหมือนจะมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ ผู้คนยังคงเหนื่อยล้าไม่เปลี่ยน อาจเพราะในวันนี้การกอดกันอย่างสนิทใจทำได้ยากกว่าในวันนั้น

ผู้คนในตอนนั้นคงคิดไม่ถึงว่าในปี 2564 สิ่งที่ฟังดูง่ายๆ อย่าง ‘สัมผัสทางกาย’ จะกลายเป็นสิ่งที่ชาวโลกโหยหา พร้อมกันกับที่คำว่า ‘รักษาระยะห่าง’ กลายเป็นวลีติดปาก เกิดคำอย่าง skin hunger ที่ใช้เรียกผู้ที่หิวโหยสัมผัสมนุษย์จากการใช้ชีวิตห่างเหินกันยาวนานร่วมปี หากจะสัมผัสกันได้ก็ด้วยมือที่อาบกลิ่นเจลแอลกอฮอล์หรือหากจะจูบกันก็ต้องผ่านหน้ากากอนามัย

ในช่วงเวลาที่โลกร้างไร้การสัมผัส อ้อมกอดคือสิ่งที่คนโหยหา ศิลปินมากมายสะท้อนสภาวะนี้ออกมาผ่านศิลปะ ส่วนอีกหลายคนเลือกใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือทดแทนสัมผัสที่ขาดหาย วันนี้ Art for All จะพาไปรู้จักงานศิลปะเหล่านั้นกัน

การกอดรับรองว่าทุกชิ้นไม่มีป้าย ‘ห้ามสัมผัส’ แน่นอน!

 

เตียงกอด

Lucy McRae คือศิลปินที่นิยามตัวเองว่าเป็น body architect เธอทำงานศิลปะบนเรือนร่างของคนและมักค้นหาความเป็นไปได้ในอาณานิคมผิวกายด้วยการเชื่อมโยงจินตนาการถึงโลกอนาคตเข้ากับเทคโนโลยีชีวภาพ นอกจากนี้แมคเรยังเคยเสนอคำว่า ‘touch crisis’ หรือ ‘วิกฤตการสัมผัส’ ไว้ตั้งแต่โลกยังไม่รู้จักโควิด-19 และคำว่า social distancing เสียอีก

(ถ้าคอนเซปต์งานของแมคเรฟังดูซับซ้อน เราขออธิบายง่ายๆ ว่างานของเธอใช้จินตนาการคล้ายหนัง Sci-Fi เช่น ชุดของเราจะเป็นยังไงถ้าอยู่บนดาวอังคาร และมักถ่ายทอดจินตนาการผ่านศาสตร์ที่เธอถนัดคือชีววิทยา เช่น การสร้างเส้นใยชีวภาพหรือปลูกถ่ายเส้นใยผ้าลงบนร่างกาย ถึงอย่างนั้นงานส่วนใหญ่ของเธอไม่ใช่ผลิตภัณฑ์จริงแต่เป็นตัวต้นแบบเพื่อเล่าถึงโลกในอนาคตมากกว่า)การกอด

ย้อนกลับไปช่วง 8 สัปดาห์แรกของมนุษย์ในท้องแม่ สัมผัสทางกายคือผัสสะแรกที่เรารับรู้ได้ก่อนจะเริ่มมองเห็น ได้ยินเสียง และรู้รสชาติ กายสัมผัสจึงเป็นภาษาแรกที่มนุษย์ใช้สื่อสาร ทารกที่ร้องไห้สงบลงได้เมื่ออยู่ในอ้อมกอดแม่ การได้สัมผัสผิวหนังและแรงสั่นสะเทือนจากหัวใจของคนที่เราคุ้นเคยจึงเชื่อมโยงกับความรู้สึกปลอดภัย แต่ในวันนี้สิ่งที่เราสัมผัสมากที่สุดในแต่ละวันของชีวิตกลับเป็นหน้าจอทัชสกรีนแทนที่จะเป็นผิวหนังของใครสักคน เราสะกิดเพื่อนด้วยการแตะหน้าจอส่งสติ๊กเกอร์ และมอบกอดผ่านการกด ‘ปุ่มแคร์’ มากกว่ากอดกันจริงๆ นี่คือช่วงเวลาที่เราแตะกันมากที่สุดผ่านเทคโนโลยีแต่แตะตัวกันน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

แน่นอนว่าชีวิตที่ขาดความรู้สึกปลอดภัยและอุ่นใจจากการสัมผัสเป็นเวลานานส่งผลต่อสุขภาวะที่ดีของเรา นี่คือสิ่งที่แมคเรมองว่าเป็นต้นเหตุของ ‘วิกฤต’ 

ใน Festival of the Impossible เทศกาลดิจิทัลอาร์ตในซานฟรานซิสโกที่ชวนศิลปินมาค้นหาความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างคนกับเทคโนโลยีที่จัดขึ้นเมื่อปี 2019 แมคเรเปิดตัวงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่เธอเรียกว่าเป็น ‘Future Survival Kit’ หรือ ‘ชุดยังชีพแห่งอนาคต’

‘Compression Carpet’ คือเตียงขนาดพอดีตัวคน หน้าตาเหมือนหลุดออกมาจากหนังดิสโทเปียผสมการ์ตูนช่องการ์ตูนเน็ตเวิร์ก บนเตียงคือฟูกที่มีผิวสัมผัสและสีใกล้เคียงผิวกายมนุษย์ พื้นที่ตรงกลางเว้นไว้ให้คนลงไปนอนเพื่อให้งานศิลปะชิ้นนี้ ‘กอด’ เรา โดยคนที่ลงไปนอนสามารถปรับเลือกได้ว่าต้องการกอดแน่นๆ แบบอิ่มใจ หรือกอดหลวมๆ แบบกำลังสบาย

การกอด

Compression Carpet, Lucy McRae (2019)

น่าสนใจว่าทางการแพทย์มีการใช้ ‘เตียงกอด’ หรือ ‘hug machine’ อยู่จริงๆ เตียงนี้มีกลไกใกล้เคียงกับงานของแมคเร ใช้สำหรับบำบัดผู้ป่วยออทิสติกหรือผู้ที่มีภาวะ hypersensitivity (ไวต่อสัมผัส) เพราะแรงกดและกอดสามารถทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสงบและปลอดภัยขึ้นได้ เช่นกันกับที่แมคเรเล่าถึงเอฟเฟกต์จากงานของเธอ เพียง 3 นาทีหลังถูกกอดโดย Compression Carpet หลายคนมีแววตาเปี่ยมสุขขึ้นทันที ผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้ลองเตียงกอด เปรียบประสบการณ์การถูกกอดโดยเครื่องนี้กับอ้อมกอดจากเพื่อนของเธอทุกครั้งที่เธอรู้สึกวิตกกังวลและประคองใจไม่ไหว

การกอดในทางฟังก์ชั่น Compression Carpet อาจดูเหมือนเป็นต้นแบบของผลิตภัณฑ์ประจำครัวเรือนในโลกอนาคต แต่ในอีกทางหนึ่ง เตียงกอดช่วยสะกิดให้เราเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวกั้นกลาง เพราะการจะใช้เตียงกอดนี้จำเป็นต้องมีคนอีกคนคอยหมุนด้ามจับเพื่อทำให้เครื่องกอดเราแน่นขึ้น เห็นแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่าแทนที่จะนอนกอดกับเครื่องจักรไร้ชีวิตทำไมคนเราจึงไม่ลุกไปกอดกัน

ไม่แน่ใจว่านี่คือคำถามที่แมคเรตั้งใจทิ้งไว้ในเครื่องกอดนี้หรือเปล่า

การกอด

Compression Carpet, Lucy McRae (2019)

 

ผนังกอด

เมื่อพูดถึงศิลปะ คุณนึกถึงงานประเภทไหนเป็นอย่างแรก? งานจิตรกรรมที่ต้องมองด้วยตา sound art ที่ต้องฟังด้วยหู หรืองาน installation ที่สามารถสัมผัสได้ตามใจชอบ

ในนิทรรศการชื่อ The Senses: Design Beyond Vision ภัณฑารักษ์จาก Cooper Hewitt, Smithsonian Design Museum ตั้งคำถามว่าเหตุใดโลกศิลปะและการออกแบบจึงให้ความสำคัญกับการมองเห็นมากกว่าผัสสะอื่นๆ เธอนำแนวคิดทางมานุษยวิทยาตะวันตกอย่าง ‘ocularcentrism’ ที่บอกว่า ‘ดวงตาคือศูนย์กลางของการรับรู้’ มาเป็นตัวอย่าง เรารับรู้และเชื่อในสิ่งที่ดวงตาเห็นมากกว่าผัสสะอื่นๆ แนวคิดนี้มีผลกับโลกศิลปะและการออกแบบมหาศาล ทำให้เวลาเราพูดถึงงานศิลปะหรืองานออกแบบสักชิ้น ‘ภาพ’ หรือ ‘ฟอร์ม’ จึงถูกให้ความสำคัญเหนือผัสสะที่เหลือ

จากคำถามที่ว่า นิทรรศการ The Senses: Design Beyond Vision จึงรวบรวมเอางานศิลปะที่ลดความสำคัญของการมองเห็นและเพิ่มน้ำหนักให้กับผัสสะอื่นๆ มาแสดงเพื่อเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้โลกศิลปะและการออกแบบ มีตั้งแต่ installation art ที่ต้องใช้จมูกดม ภาพพิมพ์ที่ชิมได้ และงานศิลปะที่ต้องเอาตัวเข้าไปกอด อย่าง ‘Tactile Orchestra’

การกอด

Tactile Orchestra, Studio Roos Meerman & KunstLAB (2017)

หากยืนมองจากภายนอก ผลงานของ Studio Roos Meerman และ KunstLAB ชิ้นนี้ไม่มีอะไรเลยนอกจากผนังบุขนสัตว์สีดำความยาว 6 เมตร แต่ทันทีที่เราเข้าไปจับ ลูบ คลำ ขยำ และแนบกอดลงบนผนังนุ่มๆ เราจะได้ยินเสียงเพลงดังขึ้น แถมการกอดแต่ละจุดก็ให้ทำนองที่ไม่เหมือนกันด้วย เมื่อหลายคนเข้าไปกอดผนังพร้อมกันเสียงที่ออกมาจึงสอดประสานกันไม่ต่างจากเครื่องดนตรีของวงออร์เคสตราที่สอดประสานเป็นท่วงทำนอง

แม้ว่าจุดประสงค์ของ Tactile Orchestra จะเป็นเพียงการทดลองว่าคนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับศิลปะด้วยการใช้ร่างกายและผัสสะอื่นๆ  นอกเหนือจากการมองเห็นได้มากน้อยแค่ไหน แต่ของแถมที่คนดูได้ไปอย่างการสวมกอดขนนุ่มๆ ก็ทำให้งานศิลปะชิ้นนี้เป็นงานที่มีคนมาใช้เวลามากที่สุดชิ้นหนึ่งในนิทรรศการ และคงทำให้ผู้ชมนิทรรศการที่กำลังเหงาอยากซื้องานศิลปะชิ้นนี้กลับไปตั้งไว้บ้านกันบ้างแหละ

 

เสากอด

ไอเดียของ ‘ศิลปะกอดได้’ ไม่ได้มีอยู่แค่ในแกลเลอรีหรือเทศกาลศิลปะ แต่เข้าไปอยู่ในสถานที่ที่คนต้องการมันมากที่สุดอย่างศูนย์ดูแลสุขภาพจิตด้วย

Mental Health Care GGz คือศูนย์ดูแลสุขภาพจิตในเมืองเบรดา เนเธอร์แลนด์ ที่ภายในโถงทางเดินแผนกสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นมีเสาทรงกลมมน สูงราวตัวคนตั้งอยู่ คนที่เดินผ่านไปผ่านมาอาจมองว่าสวยน่าถ่ายรูปลงอินสตาแกรม แต่สำหรับ Daan Roosegaarde ผู้ออกแบบเสา ‘Lunar’ เชื่อว่าการสัมผัสนั้นสำคัญสำหรับเด็กๆ ที่กำลังเผชิญกับความเปราะบางทางจิตใจ และหวังให้ศิลปะชิ้นนี้ช่วยเยียวยาพวกเขา

Lunar, Studio Roosegaarde (2011)

เสาหน้าตาน่ารักนี้ตั้งไว้ให้กอด ทุกครั้งที่เด็กๆ มอบสัมผัสและกอดมัน เสาจะเปล่งแสงและเสียงเหมือนมีชีวิตด้วยเซนเซอร์ที่ติดตั้งไว้ภายใน แม้จะเป็นแค่งานศิลปะ แต่สำหรับเด็กและวัยรุ่นที่รู้สึกโดดเดี่ยวและกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต ‘เสากอด’ คงจะพอทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนมีเพื่อนที่สามารถซัพพอร์ตพวกเขาได้ในช่วงเวลาสั้นๆ 

Lunar, Studio Roosegaarde (2011)

 

ชุดกอดทางไกล

การกอด

Emotional First Aid, Elena Lasaite (2020)

ความโหยหาสัมผัสที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคนโดนเร่งปฏิกิริยาให้รุนแรงขึ้นในช่วงโควิด-19 ทุกคนต่างเก็บตัวอยู่ในบ้าน มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัวผ่านบานหน้าต่างของโปรแกรม Zoom และกรอบเล็กๆ ของโทรศัพท์สมาร์ตโฟน

ในช่วงเวลานี้ ศิลปินอย่าง Elena Lasaite ตั้งคำถามว่า ‘หากเราต้องการที่พึ่งทางใจเป็นอ้อมกอดจริงๆ ของใครสักคนจะทำยังไง?’

การกอด

คำตอบคืองานศิลปะที่ดูเผินๆ เหมือนเสื้อชูชีพอย่าง ‘Emotional First Aid’ หรือที่เราขอเรียกเป็นภาษาไทยว่า ‘ชุดปฐมพยาบาลทางใจ’ ชุดเป่าลมตัวนี้ออกแบบให้เมื่อสวมใส่จะมีรูปทรงคล้ายแขนมนุษย์โอบกอดเราจากด้านหลัง สร้างขึ้นสำหรับใครที่ต้องการกอดแบบฉุกเฉินโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่โดดเดี่ยวอย่างช่วงล็อกดาวน์ เพียงเป่าลมเข้าไปแค่ 20 วินาทีชุดกอดก็สามารถช่วยชีวิตเราได้ทันที!

แน่นอนว่าความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น ชุดเป่าลมธรรมดาไม่อาจเยียวยาความรู้สึกเหงาของเราได้จริงๆ งานศิลปะของเอเลน่าเพียงกำลังบอกเราว่าทุกวันนี้ความเหงาและความหิวโหยสัมผัสกลายเป็นโรคฮิตของมนุษย์จนต้องมีชุดปฐมพยาบาลซะแล้วต่างหาก

และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน Sandeep Hoonjan และ Xianzhi Zhang สองนักศึกษาออกแบบจาก Royal College of Art ก็คงมีวิถีชีวิตไม่ต่างกับเอเลน่ามากนัก แต่คำถามของทั้งสองต่างออกไป พวกเขาสงสัยว่าเทคโนโลยีจะสามารถทำให้เราส่งสารเป็นผัสสะอื่นๆ นอกจากภาพและเสียงอย่างที่เป็นอยู่ได้ไหม

‘Feel the conversation’ คือระบบโทรศัพท์ที่สามารถแปลงเสียงสนทนาที่สองฝั่งคุยกันให้กลายเป็นการสัมผัสทางกาย ว่าง่ายๆ คือเมื่อเรารับสายแล้วเซย์ฮัลโหล แทนที่คนอีกฝั่งจะได้ยินเสียงเพียงอย่างเดียวสิ่งที่เขาจะได้แถมไปด้วยคือการสัมผัสอย่างการถูกเลียหู!

Feel the conversation, Sandeep Hoonjan & Xianzhi Zhang (2020)

ระบบที่ทั้งสองสร้างขึ้นคือหูโทรศัพท์ติดตั้งซิลิโคนรูปร่างหน้าตาเหมือนลิ้นซึ่งสามารถขยับขึ้นลงได้คล้ายการเลีย เมื่อฝั่งหนึ่งเริ่มพูด สัญญาณเสียงจะถูกแปลงเป็นการเคลื่อนไหวตามจังหวะการพูดและความดัง เช่น ถ้าเรากระซิบเนิบๆ ว่า “สวัสดีจ้ะ” หูโทรศัพท์ก็จะเลียอย่างนุ่มนวลหรือถ้าเราตะโกนแบบกระแทกกระทั้นว่า “เป็นไงบ้างวะเพื่อน!” ลิ้นที่หูโทรศัพท์ก็จะเลียหูเพื่อนเราแบบเอาเป็นเอาตาย

แม้งานศิลปะชิ้นนี้จะไม่ได้กอดเราเหมือนชิ้นอื่นแต่ก็จุดประกายแนวคิดที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าการส่ง haptic message หรือ ‘ข้อความที่สัมผัสได้ด้วยร่างกาย’ ในช่วงเวลาที่คนต้องอยู่ไกลกันจะสามารถทดแทนการสัมผัสและเยียวยาผู้คนที่กำลังโหยหาการแตะเนื้อต้องตัวได้หรือเปล่า

เมื่อไม่นานมานี้ Disney และแลปพัฒนานวัตกรรมแห่งอนาคตอย่าง MIT Media Lab ร่วมกันพัฒนาชุด ‘Force Jacket’ ที่ทำให้สัมผัสทางกายเกิดขึ้นได้ขณะที่เราเล่นเกมหรือชมภาพยนตร์แบบ virtual reality ภายในแจ็กเก็ตประกอบด้วยถุงลมที่สามารถยุบ-พองได้ตามการควบคุม, เซนเซอร์ที่สามารถปล่อยแรงดันเฉพาะจุด รวมถึงเครื่องสร้างแรงสั่นทะเทือนความถี่สูง เมื่อสวมเข้าไปพร้อมกับแว่น VR เราจึงสามารถรับรู้ ‘สัมผัสเสมือน’ ในส่วนบนของร่างกายได้เหมือนไปยืนอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ

วิดีโอทดลองของพวกเขาทำให้เห็นว่าเมื่อสวมชุดนี้เล่นเกมสโนว์บอล เราจะรู้สึกเหมือนโดนลูกบอลหิมะปาใส่ตัว หรือรู้สึกเหมือนโดนตุ๊ยท้องได้เมื่อใส่ตอนเล่นเกมชกมวย และที่เด็ดที่สุดคือมันสามารถจำลองความรู้สึกเหมือนเรากำลังถูกสวมกอดโดยใครบางคนได้ด้วย

เมื่อบวกไอเดียสัมผัสทางไกลของ ‘Feel the conversation’ เข้ากับไอเดียของชุดกอดเสมือน ภาพอนาคตก็ฉายให้เห็นว่าวันหนึ่งการ ‘กอด’ อาจสามารถส่งถึงกันได้จากทางไกลจากคนหนึ่งถึงอีกคน เราอาจสัมผัสร่างกายกันแบบข้ามทวีป ไปจนถึงว่าเราอาจสามารถสวมกอดกับคนที่จากไปแล้วได้

ยังไงก็ตาม ไม่ว่าอ้อมกอดจากงานศิลปะ งานดีไซน์ และเทคโนโลยีในอนาคตเหล่านี้จะใกล้เคียงกอดจริงแค่ไหน กอดที่มาจากแรงบีบของกลไกคงไม่สามารถทดแทนกอดจริงๆ จากมนุษย์ได้ เพราะในอ้อมกอดของคนนั้นเราสามารถสัมผัสทั้งกลิ่น เสียง อุณหภูมิ และความอบอุ่นที่คุ้นเคย

ในทางกลับกัน การเห็นงานศิลปะอย่างเตียงกอด เสากอด ไปจนถึงชุดกอด กลับยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าโลกเราในวันนี้เต็มไปด้วยคนที่กำลังโดดเดี่ยวมากมายเพียงใดจนแค่เห็นภาพก็อยากจะลุกไปกอดใครสักคน


อ้างอิง

designboom.com

dezeen.com

lucymcrae.net

roosmeerman.com

variety.com

AUTHOR