เมื่อการลบไม่ได้ช่วยให้ลืม : รวมงานศิลปะที่ว่าด้วย ‘การลบ’

Highlights

  • เมื่อพูดถึงงานศิลปะ เรามักจะพูดถึง 'ผู้สร้าง' ผลงาน แต่สำหรับศิลปินหลายคน 'การลบ' ก็สร้างงานได้เช่นกัน แถมหลายครั้งยังสร้างความหมายหรือตั้งคำถามได้อย่างทรงพลัง
  • ที่ผ่านมา ศิลปินหลายคนเคยสร้างงานจากการลบมาแล้ว เช่น งานศิลปะซีรีส์ Erased Lynchings ที่วิพากษ์วิจารณ์การเหยียดเชื้อชาติในอดีตของอเมริกา หรือผลงาน erase ที่ชวนคนดูมาลบภาพปืนกลไปด้วยกันเพื่อระลึกถึงการสูญเสียจากเหตุการณ์กราดยิง
  • นอกจากนี้ หลายครั้งการลบก็ไม่ได้ทำให้สิ่งนั้นหรือความหมายของสิ่งนั้นหายไป กลับกัน การลบอาจกลายเป็นบวก สร้างปรากฏการณ์ให้คนพูดถึงสิ่งนั้นมากขึ้นแบบเท่าทวีคูณ

ลบรูปแฟนเก่าจากมือถือ ลบรอยสักบางประโยคที่เลิกอินไปแล้ว ลบกราฟฟิตี้บนกำแพง ลบบางคนออกจากเฟรนด์ลิสต์ ลบบางเรื่องออกจากประวัติศาสตร์ 

เราลบเพื่อให้บางอย่างหายไป ลบเพื่อทำลายหลักฐาน ลบเพื่อล้างอดีตและเริ่มใหม่ ลบเพื่อทำให้บางอย่างถูกลืมจากใครบางคน หรือไม่ก็คนลบเองนั่นแหละที่อยากจะลืม

ชัยชนะของการลบคือสิ่งที่ถูกลบสูญหาย ทว่าบางครั้งการลบก็สร้างสิ่งใหม่คล้ายร่องรอยและพื้นที่ว่างกำลังส่งเสียงให้ได้ยินว่า ‘ตรงนี้มีบางอย่างถูกลบออก’ หลายครั้งการลบจึง ‘พูด’ ดังกว่าสิ่งที่ถูกลบไปเสียอีก 

ด้วยความย้อนแย้งเช่นนี้ การลบจึงกลายเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างงานศิลปะที่ศิลปินใช้เพื่อสร้างความหมาย เช่นย้อนกลับไปในปี 1953 ที่ศิลปินคนหนึ่งทำงานศิลปะด้วยการเอางานศิลปะของคนอื่นมาลบ

 

ลบเพื่อสร้าง

ตามปกติ เมื่อพูดถึงงานศิลปะเรามักจะพูดว่าภาพนี้ถูก ‘สร้างโดย’ ใคร แต่กับภาพ Erased de Kooning Drawing เราอาจจะต้องบอกว่ามัน ‘ถูกลบ’ โดย Robert Rauschenberg เสียมากกว่า เพราะงานที่ว่าเป็นเพียงกระดาษเปล่าที่ปรากฏร่องรอยจางๆ ของดินสอเท่านั้น

เดิมทีภาพนี้เป็นผลงานศิลปะแนว Abstract Expressionism ของ Willem de Kooning ศิลปินรุ่นพี่ที่เราเชนเบิร์กไปรบเร้าอ้อนวอนขอผลงานเพื่อนำมาลบ กระบวนการลบของเขาใช้เพียงยางลบดินสอธรรมดา และต้องใช้เวลากว่าสองเดือนกระดาษถึงจะหมดจดอย่างที่เห็น มหกรรมการลบครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเราเชนเบิร์กทดลองลบผลงานตัวเองไปแล้วหลายรอบ แต่เขาคิดว่า ถ้าจะทำงานด้วยการลบให้ครบจบกระบวนความจริงๆ เขาจะต้องลบผลงานของคนอื่น

ศิลปะของการลบ

Erased de Kooning Drawing, 1953 by Robert Rauschenberg | San Francisco Museum of Modern Art (SFMOMA)

ว่าแต่เราเชนเบิร์กลบงานศิลปะไปทำไม

มองเผินๆ การลบเหมือนทำลายและด้อยค่าผลงานศิลปะของเดอคูนนิ่ง แต่ในมุมของเราเชนเบิร์ก เขากลับบอกว่ามันเป็น ‘การเฉลิมฉลอง’ ให้กับความคิดที่ว่างานศิลปะไม่ควรถูกจำกัดอยู่ที่การทำบางอย่างขึ้นใหม่ แต่การไม่ทำหรือการลบก็เป็นกระบวนการสร้างสรรค์และเป็นศิลปะได้เช่นกัน (Erased de Kooning Drawing เกิดขึ้นหนึ่งปีให้หลังเพลง 4’33” ของ John Cage–บทเพลงยาว 4 นาที 33 วินาทีที่มีเพียงเสียงเงียบจนทำให้โลกศิลปะถกเถียงกันว่าความเงียบและการไม่เล่นดนตรีนั้นถือเป็นดนตรีหรือเปล่า)

คำว่าเฉลิมฉลองที่เราเชนเบิร์กหมายถึงยังอาจหมายรวมถึงการเฉลิมฉลองให้กับกระแสความคิดใหม่ๆ ของศิลปะที่กำลังจะมาถึง เพราะหลังจากนั้นไม่นานศิลปะแนว Abstract Expressionism (แบบผลงานของเดอคูนนิ่ง) ที่ให้ความสำคัญกับการแสดงออกความรู้สึกก็ถูกรุกไล่ด้วยศิลปะแนวป๊อปอาร์ตและคอนเซปต์ชวลอาร์ตที่ให้น้ำหนักกับเรื่องไอเดีย

 

ลบเพื่อตั้งคำถาม

ศิลปะของการลบ

Erased Lynching Series: der Wild West Show, (Set 1) by Ken Gonzalez-Day, 2006.

รูปถ่ายจากปี 1915 รูปหนึ่งแสดงให้เห็นกลุ่มคนบนหลังม้ารวมตัวกันใต้ต้นไม้ สามในสี่ชี้ปืนลูกโม่ไปที่กลางภาพ แม้ไม่มีร่องรอยใดๆ ผิดสังเกต แต่พื้นที่ว่างบริเวณใต้ต้นไม้ที่กลุ่มคนเอาปืนจ่อก็ส่งสัญญาณไม่ชอบมาพากล ชวนให้คิดว่าต้องมีบางสิ่งถูกลบไปจากภาพนี้แน่ๆ 

นี่คือหนึ่งในภาพจากซีรีส์ Erased Lynchings โดยศิลปิน Ken Gonzales-Day ที่รวบรวมภาพถ่ายการแขวนคอ รุมประชาทัณฑ์ในแคลิฟอร์เนียช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 เอาไว้ สิ่งที่ปรากฏในภาพถ่ายต้นฉบับคือร่างไร้ชีวิตของคนเม็กซิกัน-อเมริกัน, คนละติน, คนแอฟริกัน-อเมริกัน, คนเอเชีย-อเมริกัน, คนพื้นเมือง และคนยิว ด้วยย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้น เป็นเรื่องปกติที่คนเชื้อชาติเหล่านี้จะถูกรุมประชาทัณฑ์และแขวนคอประจานไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะทำผิดหรือไม่ก็ตาม และเป็นเรื่องปกติเช่นกันที่ผู้สังหารจะรวมตัวโพสต์ท่ากับเหยื่อเพื่อถ่ายภาพเป็นที่ระลึกก่อนจะส่งมันให้เพื่อนและครอบครัว

ศิลปะของการลบ

Erased Lynching Series: Leo Frank (Atlanta, Ga. 1915) (Set II) by Ken Gonzales-Day, 2013.

นอกจากการลบจะสร้างความหมาย การลบยังสร้างคำถามได้ ในงานศิลปะ Erased Lynchings เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายถูกลบออกจากภาพทุกใบเพื่อสร้างพื้นที่ว่างให้ปรากฏ ความว่างเปล่ากลางภาพนั่นเองทำให้ผู้มองภาพฉงนสงสัยว่าอะไรคือสิ่งที่สูญหาย พร้อมกับที่เกิดคำถามว่าบุคคลในภาพเหล่านี้คือใครและเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในช่วงเวลานั้น 

ในสายตาของศิลปิน ความกำกวมคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้ชมอยากค้นหาคำตอบ นำไปสู่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในที่สุด และนอกจากนี้ศิลปินยังมองว่ากระบวนการลบในผลงานชุดนี้คือการเล่าเรื่องความโหดร้ายทารุณของการเหยียดสีผิวแบบที่ไม่ผลิตซ้ำสถานะของเหยื่อให้กับผู้คนในภาพด้วย

 

เพื่อนร่วมลบ

“The only way to walk forward is to erase your own history” 

“ทางเดียวที่จะก้าวไปข้างหน้าคือการลบประวัติศาสตร์ของตัวคุณเอง”

ศิลปะของการลบ

The Only Way to Walk Forward is to Erase Your Own History by Juan Arata, 2016.

จะเป็นยังไงถ้าสิ่งที่เราต้องตัดสินใจว่าจะลบหรือไม่คืองานศิลปะ

ครั้งหนึ่ง ศิลปิน Juan Arata สร้างผลงานด้วยการก่อกองทรายเป็นบล็อกสี่เหลี่ยมผืนผ้า จัดวางบนพื้นที่ตรงกลางระหว่างช่องประตูที่เชื่อมห้องนิทรรศการ 2 ห้องเข้าด้วยกัน ว่าง่ายๆ คือมันเกะกะขวางทางเดินและใครก็ตามที่ต้องการเดินไปสู่ห้องนิทรรศการอีกห้องก็จำเป็นต้องเดินย่ำลงบนผลงาน

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า What Makes Us Humans? ประกอบด้วยผลงานของหลากหลายศิลปินภายใต้คำถามเดียวกันว่า ‘อะไรทำให้เราเป็นมนุษย์?’ กองทรายนี้จัดแสดงในส่วนนิทรรศการที่ว่าด้วยประเด็นการอพยพย้ายถิ่นเพื่อแสวงหาสิ่งใหม่และความก้าวหน้าอันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ ฮวนจึงท้าทายผู้ชมด้วยการหลอมรวมประสบการณ์การก้าวไปข้างหน้า (เพื่อไปสู่ห้องนิทรรศการถัดไป) กับการลบทำลายประวัติศาสตร์ (ของชิ้นงาน) นานวันเข้า จำนวนคนที่ย่ำลงบนกองทรายยิ่งมากขึ้นเท่าไหร่ ถ้อยคำบนผืนทรายก็ยิ่งถูกลบไปมากเท่านั้น ดังนั้นนอกจากจะเป็นผู้ชมนิทรรศการ ทุกคนในนี้ยังเป็นผู้ร่วมกัน ‘ลบ’ งานศิลปะในนิทรรศการไปพร้อมกัน

The Only Way to Walk Forward is to Erase Your Own History by Juan Arata, 2016.

‘ความสูญเสีย’ เป็นอีกเรื่องที่หลายคนอยากลบแต่คำถามที่น่าสนใจกว่าคือ เราจะลบมันแบบไหน

ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาเกิดความสูญเสียจากคดีกราดยิงหลายครั้ง ศิลปิน Greg Bokor จึงพูดถึงประเด็นความสูญเสียผ่าน ‘erase’ ภาพเหมือนจริงของปืนกล AR-15 ความยาว 6 เมตรจัดแสดงในงานประกวด ArtPrize ปี 2013 ข้างกันมียางลบพิมพ์ชื่อเหยื่อ 83 คนผู้ถูกสังหารจากเหตุกราดยิงที่เคยเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาในเมืองโคลัมไบน์, ออโรร่า, โคโลราโด และนิวทาวน์ เหยื่อเกือบทั้งหมดเป็นเยาวชน

ยางลบสลักชื่อถูกแจกให้ผู้ชมร่วมกัน ‘ลบ’ (หรือไม่ลบ) ภาพปืนกลคนละไม้คนละมือเพื่อใช้เวลาสั้นๆ ตรงนั้นตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดจากอาวุธปืนและระลึกถึงชีวิตที่สูญเสียไปจากเหตุการณ์รูปแบบนี้ที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในอเมริกา

แทนที่จะมุ่งลบภาพปืนกลให้หมดจด หลายคนใช้โอกาสนี้ส่งข้อความด้วยการทิ้งร่องรอยเป็นถ้อยคำหรือสัญลักษณ์ ถึงอย่างนั้น ภาพวาดปืนกลชิ้นนี้ก็จัดแสดงอยู่ได้เพียง 6 ชั่วโมงก่อนถูกลบออกไปจนเกลี้ยงเหลือเพียงกระดาษเปล่า

 

วันหนึ่งเราจะถูกลบ

“เราต่างไม่อยากให้ตัวตนในโลกดิจิทัลหายไปกันทั้งนั้น ถ้าเราอยากจะรักษามันไว้ตลอดไป เราแค่ต้องมั่นใจว่าสิ่งต่างๆ ที่เก็บไว้จะยังสามารถเปิดได้เมื่ออนาคตมาถึง” 

– Vint Cerf อดีตรองประธานกรรมการบริษัท Google

 

ในโลกกายภาพ คนๆ หนึ่งจะถูกลบออกจากโลกก็ต่อเมื่อความตายมาถึง แต่สำหรับโลกดิจิทัล ดูเหมือนว่าข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เราอัพโหลดเข้าไปไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ วิดีโอ หรือไฟล์เสียง จะคงอยู่อย่างนั้นไปตลอดกาล 

ว่าแต่มันเป็นแบบนั้นจริงไหม

นิทรรศการ TEEN AGE ที่จัดขึ้นโดย National Ethnographic Museum ที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ชวนคิดเรื่องความมั่นคงถาวรและความเบาบางของข้อมูลในโลกดิจิทัลผ่านงานศิลปะปฏิสัมพันธ์ ‘hash2ash’ โดยศิลปิน panGenerator 

งานนี้ ศิลปินเชื้อเชิญให้ผู้ชมอัพโหลดภาพเซลฟี่ของตัวเองเข้าไปในระบบและรอดูภาพของตัวเองบนจอที่จะแสดงผลให้เราดู (หรือถ่ายรูปคู่) เพียงเดี๋ยวเดียว หลังจากนั้นไม่นานภาพของเราจะค่อยๆ ถูกลบออกจากจอ กลายเป็นก้อนกรวดจริงๆ ร่วงกราวลงสู่พื้นเบื้องล่าง

hash2ash by panGenerator, 2017.

ภาพดิจิทัลที่สูญสลายกลายเป็นก้อนกรวดไม่เพียงตั้งคำถามเรื่องการเก็บรักษาข้อมูลดิจิทัลที่ดูมั่นคงถาวรแต่เอาเข้าจริงก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าข้อมูลเหล่านั้นจะถูกลบหายไปเมื่อไหร่ แต่คุณสมบัติของก้อนกรวดที่เราสามารถหยิบถือและรับรู้ถึงน้ำหนักได้ยังทำให้เราฉุกคิดถึงคุณสมบัติของข้อมูลดิจิทัลที่ตรงกันข้ามกับก้อนกรวดโดยสิ้นเชิง นั่นคือเบาหวิวและจับต้องไม่ได้

 

ลบ = บวก

อย่างที่อิ้งค์ วรันธร บอกไว้ในเพลง ลบไม่ได้ช่วยให้ลืม บ่อยครั้งการลบได้สร้างความหมายและการจดจำให้กับสิ่งที่ถูกลบมากกว่าตอนที่สิ่งนั้นยังปรากฏชัดเจนเสียอีก

น่าสนใจว่าในยุคที่เราติดต่อและมองเห็นกันได้ตลอดเวลาผ่านโซเชียลมีเดีย เรามีสมาร์ตโฟนที่สามารถบันทึกทุกอย่างได้ง่ายดาย ‘การลบ’ จะยังสามารถเกิดขึ้นได้จริงไหม, เราจะแน่ใจได้ยังไงว่าโพสต์ที่เราลบไปจะไม่ถูกแคปไว้แล้วโดยใครสักคน, รูปที่เราลบจากมือถือจะไม่หลงเหลืออยู่ในสักซอกมุมของหน่วยความจำ หรือจะรับประกันได้ยังไงว่าบางอย่างที่เราลบจากโซเชียลมีเดียจะหายไปหรือล่องลอยอยู่ ณ ส่วนไหนของระบบ 

เช่นเดียวกับงานศิลปะซีรีส์ Erased Lynchings หลายครั้งการพยายามลบกับกลายเป็นการสร้างคำถาม การไล่ลบกลับถูกตอบโต้ด้วยการทำซ้ำ ส่งต่อ กระทั่งเป็นที่รับรู้มากขึ้น มากกว่านั้น แทนที่การลบจะทำให้บางสิ่งหายไปอย่างสมบูรณ์ มันอาจยิ่ง ‘เพิ่ม’ สิ่งนั้นขึ้นในจำนวนนับไม่ถ้วน เหมือนการถอนหมุดคณะราษฎรออกจากสนามหลวงแล้วโบกปูนทับเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ที่ได้สร้างหมุดอันใหม่ขึ้นอีกนับไม่ถ้วนไม่ว่าจะในรูปแบบที่จับต้องได้อย่างพวงกุญแจ, หมุดจำลอง หรือกระทั่งคุกกี้และขนมโตเกียว หรือในรูปแบบดิจิทัลทั้งภาพโปรไฟล์ในเฟซบุ๊ก ไฟล์สามมิติ ไปจนถึงฟิลเตอร์อินสตาแกรม กลายเป็นว่าแทนที่การลบจะลดความสำคัญ กลับยิ่งทำให้คนสนใจมากขึ้นเป็นเท่าตัว

ไม่ว่าจะรูปแฟนเก่า รอยสัก หรือประวัติศาสตร์ ดูเหมือนถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนความคิดจากความพยายามที่จะลบความผิดพลาดและความเจ็บปวดให้เหี้ยนเป็นการยอมรับว่าสิ่งเหล่านั้นเคยเกิดขึ้นจริงและถามตัวเองว่าเราจะเรียนรู้จากมันได้ยังไง

 

อ้างอิง

designboom.com

pangenerator.com

si.edu

 

AUTHOR