การมาญี่ปุ่นของผมครั้งนี้ก็เพื่อเยี่ยมเพื่อนสมัยมัธยมที่มาทำงานที่เกียวโต ถึงจะเป็นทริปที่สั้น แต่ก็มีเวลาเหลือเฟือในการเที่ยวเตร่รอเพื่อนเลิกงานอยู่ไม่น้อย จึงตั้งใจว่าระหว่างเดินทางจากโอซาก้าไปยังเกียวโต จะแวะชมสถานที่หนึ่งซึ่งปักหมุดไว้ในใจทุกครั้งที่บินมาประเทศนี้ แต่ไม่มีโอกาสได้มาสักที
รถไฟเทียบชานชาลาสถานียามาซากิในช่วงบ่าย เดินเท้าตามทางชันขึ้นเขาไปสักพักก็จะเจอกับทัศนียภาพที่สวยงามรอบทิศ และอาคารหลังเล็กที่ผสมผสานทั้งความดั้งเดิมและร่วมสมัยตั้งอยู่ Oyamazaki Villa Museum of Art ถูกปรับปรุงและต่อเติมจากบ้านพักตากอากาศเก่าของนักธุกิจใหญ่คนหนึ่งในต้นสมัยโชวะ (ประมาณ พ.ศ. 2470) เพื่อเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่จัดแสดงศิลปะชุดสะสมของคุณทาเมซาบูโระ ยามาโมโตะ (Tamesaburo Yamamoto) ประธานคนแรกของบริษัทอาซาฮี ซึ่งพิเศษตรงที่สถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์โดยรอบถูกออกแบบไว้อย่างประณีตและสวยงามไม่แพ้ผลงานด้านใน
ที่จริงภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีผลงานจากหลากหลายศิลปินทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างประเทศ แต่ที่ผมสนใจและตื่นเต้นเป็นพิเศษคือผลงานชุด Water Lilies ของ Claude Monet และคอนเซปต์ของตัวอาคาร Underground Jewelry Box
ซึ่งออกแบบโดย Tadao Ando เพราะพวกเขาคือสองมนุษย์ที่ผม (และเชื่อว่าใครอีกหลายคน) โคตรจะชื่นชอบ
แต่ก่อนจะเล่าเรื่องพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่ดูไปก็คล้ายงาน collaboration ระหว่างโมเนต์และทาดาโอะให้ฟัง ผมขอเกริ่นนำด้วยเรื่องราวของคนทั้งคู่เสียหน่อย
West – Claude Monet
ด้วยหลงใหลในศิลปะและมีความติสต์ในจิตใจมากกว่าการค้าขายเป็นไหนๆ คลอด โมเนต์ หนุ่มน้อยชาวฝรั่งเศสจากเมืองท่านามว่า Le Havre จึงออกเดินทางไปเรียนศิลปะที่กรุงปารีสอย่างจริงจังด้วยเงินของพ่อ แต่หลังจากเขาวาดอวัยวะของนางแบบอย่างไม่สมบูรณ์และสมจริงจนถูกครูตำหนิ เขาและศิลปินฝึกหัดบางส่วนจึงลาออกจากสถาบันแล้วมาฝึกฝีแปรงกันเอง เกิดเป็นการแบ่งแยกชนชั้นในวงการศิลปะยุคนั้น เฉพาะชิ้นงานที่ได้รับการยอมรับจากกรรมการเท่านั้นถึงจะได้รับอนุญาตให้จัดแสดงใน ‘ซาลอง’ หรือแกลเลอรีแสดงงานอย่างเป็นทางการ
โมเนต์และเพื่อนๆ ต้องอดทนมีชีวิตที่ไม่ง่ายและต้องต่อสู้เพื่อความเชื่อและสไตล์ในการสร้างสรรค์งาน ความขัดแย้งเติบโตขึ้นกลายเป็นเรื่องใหญ่โต จนจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ต้องลงมาจัดการแก้ปัญหา โดยสั่งให้มีการจัดแสดง Salon des Refusés หรือนิทรรศการศิลปะตกรอบ ส่งผลให้ผลงานของโมเนต์เป็นที่รู้จักของนักสะสมและเจ้าของแกลเลอรี ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เริ่มมีทัศนคติเปิดกว้างมากขึ้น
ชื่อเสียงของโมเนต์ก่อเกิดเป็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มลัทธิ impressionism ความเก๋อยู่ตรงที่ชื่อนี้ถูกริเริ่มมาจากนักวิจารณ์ศิลปะที่ประชดเสียดสีรูป Impression, Sunrise (1872) ของโมเนต์ว่า ‘แหม มั่นมากนะหล่อนที่กล้าบังคับให้ผู้ชมรู้สึกประทับใจ ทั้งที่ลายของวอลเปเปอร์ติดผนังยังดูสมบูรณ์กว่าภาพวิวของเธอซะอีก!’
ยากที่จะปฏิเสธว่าผลงานของโมเนต์บางชิ้นมีกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่นซ่อนอยู่ เพราะเจ้าตัวเองก็คุ้นเคยกับวัฒนธรรมอาทิตย์อุทัยอยู่ไม่มากก็น้อย อันจะสังเกตได้จากภาพพิมพ์ไม้ยูกิโยะที่โมเนต์ชื่นชอบ และการวาดรูปของภรรยาของตนในชุดกิโมโน
หลังจากเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ในชีวิตอีกนับไม่ถ้วน โมเนต์ใช้ชีวิตบั้นปลายของตัวเองในบ้านที่สงบและร่มรื่น มีต้นไม้ ดอกไม้ บ่อน้ำ และสะพาน เขาวาดภาพดอกบัวในสระออกมาร่วม 250 ภาพ และมีอยู่ 3 ภาพด้วยกันที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์โอยามาซากิแห่งนี้
East – Tadao Ando
เด็กชายแฝดพี่ชาวโอซาก้า ถูกยกให้คุณอาม่าผู้อาศัยอยู่ในย่านช่างฝีมือเป็นคนเลี้ยงดู ตั้งแต่เด็ก อันโดะคลุกคลีและเรียนรู้ทักษะจากช่างไม้ใกล้บ้านและมักประดิษฐ์สิ่งต่างๆ อยู่เสมอ อันโดะในวัยหนุ่มตัดสินใจยึดอาชีพนักมวย ซึ่งพาเขาไปเปิดโลกกว้างตามหัวเมือง ทำให้ได้เห็นสิ่งก่อสร้างน่าตื่นตาตื่นใจ ตั้งแต่โรงแรมในโตเกียวไปจนถึงวัดวาอาารมในกรุงเทพฯ อันโดะจึงเริ่มเก็บเงินซื้อหนังสือสถาปัตยกรรมมาศึกษาด้วยตัวเอง พร้อมกับเรียนวาดรูปและตกแต่งภายในภาคค่ำ ก่อนจะตัดสินใจเปิดบริษัทร่วมกับภรรยาที่โอซาก้าบ้านเกิด แทนที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งธุรกิจและศิลปะอย่างโตเกียวแบบโนแคร์โนสน
ไม่กี่ปีต่อมาผลงานของนายอันโดะก็เริ่มเป็นที่รู้จัก ด้วยสไตล์การใช้คอนกรีต (ดิน) น้ำ ลม แสง (ไฟ) และที่สำคัญคือที่ว่าง ธาตุที่ห้าของปรัชญาญี่ปุ่น ซึ่งนอกจากหมายถึงความไม่มี ยังรวมถึงความหมายเชิงรูปธรรม เช่น ท้องฟ้า หรือความหมายเชิงนามธรรมอย่างความคิดความอ่าน จิตวิญญาณ หรือพลังงาน ผลงานของเขาจึงมีความเรียบง่ายอันเป็นเอกลักษณ์
อันโดะออกแบบสถาปัตยกรรมทั้งในและต่างประเทศมาจนถึงปัจจุบันและได้รับรางวัลด้านการออกแบบและสถาปัตยกรรมเรื่อยมา รวมถึงรางวัลพริตซ์เกอร์ (Pritzker Prize-หนึ่งในรางวัลสูงสุดในสายอาชีพสถาปัตยกรรม) ใน พ.ศ. 2538 ปีเดียวกับที่อันโดะออกแบบพิพิธภัณฑ์โอยามาซากิแห่งนี้
East Meets West
ส่วนต่อเดิมปีกใต้อย่าง Underground Jewelry Box อันเป็นที่จัดแสดงผลงานของโมเนต์ ถูกออกแบบโดยอันโดะให้ให้มีลักษณะกึ่งฝังอยู่ใต้ดิน ซ่อนบางส่วนของอาคารไว้ในเนินเขา แอบอิงใต้แมกไม้ เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติและภูมิทัศน์แวดล้อม สอดรับกับแนวคิดทางสถาปัตยกรรมแบบภูมิภาคนิยมเชิงวิพากษ์ (Critical Regionalism) ที่คำนึงถึงการใช้ภูมิศาสตร์หรือวัฒนธรรมที่มีอยู่เฉพาะที่มาผสมผสาน แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และความทันสมัย
เดินต่อจากบ้านเก่าออกมาตามระเบียงทางเดิน เราจะค่อยๆ ก้าวลงบันไดที่ขนาบข้างด้วยกำแพงกระจก ทำให้รู้สึกเชื่อมต่อไปกับวิวด้านนอก ก่อนจะเปลี่ยนเป็นกำแพงคอนกรีต แสงแดดถูกแทนที่ด้วยแสงสลัวจากหลอดไฟ บันไดขั้นสุดท้ายผายมือส่งต่อเราไปยังแกลเลอรีใต้ดินที่มีผังห้องเป็นทรงรีคล้ายใบบัว รับกับภาพวาด Water Lilies ซึ่งโดดเด่นด้วยการใช้สีสร้างการสะท้อนภาพท้องฟ้าลงในน้ำ และการเปลี่ยนแปลงของแสงในแต่ละช่วงเวลา
แม้จะห่างไกลกันคนละซีกโลก คนละยุคสมัย แต่เมื่อผลงานของโมเนต์และอันโดะถูกจัดวางอยู่เคียงกัน ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นประสบการณ์การชื่นชมศิลปะแสนวิจิตรภายใต้กลิ่นอายร่วมของยุคเก่าและยุคใหม่ การเคารพซึ่งกันและกันของธรรมชาติและสิ่งก่อสร้าง
“เมื่อมองสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น คุณต้องมองไปถึงประเพณีและความสัมพันธ์กับธรรมชาติด้วย แล้วจะพบว่า คุณสามารถอาศัยอยู่อย่างกลมกลืนและใกล้ชิดกับธรรมชาติได้จริงๆ”
อันโดะเคยกล่าว
“ความปรารถนาของผมคือการอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบในมุมหนึ่งของธรรมชาติ”
โมเนต์ว่าไว้แบบนั้น
นอกจากจะชื่นชมผลงานสร้างสรรค์ระดับมาสเตอร์พีซของอันโดะและโมเนต์แล้ว ผมยังนับถือชายทั้งสองในแง่การต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตนเองรัก ความเชื่อมั่นที่ไม่สั่นคลอน และความพยายามจนประสบความสำเร็จ (อย่างยิ่งใหญ่เสียด้วย) มันสะท้อนให้ผมเข้าใจมากขึ้น ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิตคนเรา
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อาจไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่นสุด ภาพที่จัดแสดงก็อาจไม่ใช่สุดยอดของสุดยอดจากคลังผลงานของโมเนต์ แต่ผมว่าที่นี่น่าจะเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ผสมกลมกลืนกันได้อย่างลงตัวที่สุด มันสวย สงบ และน่าตื่นตาตื่นใจจริงๆ
หากคุณได้มาเที่ยวเส้นทางแถบคันไซ (โอซาก้า-เกียวโต) แล้วพอจะมีเวลาอยู่สักหน่อย คงจะรู้นะว่า ผมจะชวนคุณไปเจอใคร
Asahi Beer Oyamazaki Villa Museum of Art
ที่อยู่ 5-3 Zenihara, Oyamazaki-cho, Otokuni-gun, Kyoto 618-0071 Japan
เวลาทำการ 10:00-17:00 น. ปิดวันจันทร์และช่วงวันหยุดปีใหม่
เดินประมาณ 10 นาทีจากสถานี Yamazaki Station (JR Kyoto Line) หรือ Oyamazaki Station (Hankyu Kyoto Line)
มี shuttle bus รับส่งจากสถานี ตรวจสอบรอบได้จากเว็บไซต์
อ้างอิง
หนึ่งธิดา เมตตาพร. 2558. คลอด โมเนต์. กรุงเทพฯ: เป็นสาระ.
Jodidio, Phillip. 2012. Ando complete work (1975-2012). Köln: Taschen