“โลกนี้ไม่ใหญ่พอสำหรับฉันและปิกัสโซ” ชมภาพเขียนของ John William Godward ที่ MOCA Bangkok

ผู้มาเยือนพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย หรือ MOCA Bangkok ที่ตั้งอยู่บนถนนกำแพงเพชรตรงข้ามมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะได้พบเห็นกับผลงานของศิลปินไทยร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี, อาจารย์ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ หรืออาจารย์ประทีป คชบัว ฯลฯ

ดังนั้น สิ่งที่สะดุดตาเราเป็นพิเศษด้วยความ ‘ไม่เข้าพวก’ ก็เห็นจะเป็นภาพเขียนสไตล์ตะวันตก รูปหญิงสาวในชุดบางพลิ้วไหวประหนึ่งเทพีกรีกชิ้นนี้

ภาพนี้ชื่อว่า Contemplation (Mirror) เป็นภาพวาดสีน้ำมันโดย John William Godward ศิลปินแนว Neoclassicism ชาวอังกฤษในสมัยวิกตอเรียน หนำซ้ำห้องที่ภาพนี้จัดแสดงอยู่ ยังมีหน้าตาเหมือนกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะในยุโรปไม่ผิดเพี้ยน เพดานเป็นหลังคาโค้งมีช่องกระจกเปิดรับแสงธรรมชาติ ส่วนผนังสีเขียวอ่อนนั้น เรียงรายไปด้วยภาพเขียนสีน้ำมันในสไตล์คล้ายคลึงกันเต็มไปหมด จนเราเผลอนึกไปว่าหลุดเข้ามาเดินในหอศิลป์ยุโรปตั้งแต่เมื่อไหร่!

ทำไมภาพวาดแนว Neoclassicism ของศิลปินชาวตะวันตกถึงมาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย? แล้วทำไมห้องสไตล์ยุโรปแบบดั้งเดิมถึงมาตั้งอยู่ในอาคารสมัยใหม่ ท่ามกลางงานศิลปะของศิลปินยุคปัจจุบันที่มีทั้งงานภาพถ่าย สื่อผสม และอื่นๆ เหล่านี้?

โชคยังดีที่คำถามเหล่านี้ไม่ต้องคาใจเราไปตลอดกาลเพราะเราไปสืบจนได้ความมาว่า ห้องนี้มีชื่อว่า Richard Green มีจุดประสงค์ในการสร้างเพื่อให้เปรียบเทียบหอศิลป์ร่วมสมัยไทยกับการจัดแสดงแบบฝรั่งในบรรยากาศดั้งเดิม ซึ่งชื่อ Richard Green นี้ เป็นชื่อของแกลเลอรีในลอนดอนที่เป็นผู้ขายภาพทั้งหมดที่จัดแสดงอยู่ในห้องนี้ให้กับคุณบุญชัย เบญจรงคกุล ผู้ก่อตั้ง MOCA Bangkok แห่งนี้นั่นเอง โดยงานส่วนมากมาจากช่วงยุคสมัยที่ไล่เลี่ยกันคือช่วงคริสตศตวรรษที่ 19-20 ตอนต้น เป็นช่วงที่คาบเกี่ยวรัชสมัยของควีนวิกตอเรียของอังกฤษ และรัชกาลที่ 4-5 ของสยาม

แต่ความน่าสนใจของผลงานที่อยู่ในห้องนี้ ไม่ได้มีเพียงเพราะว่าเป็นภาพเขียนของศิลปินตะวันในยุคก่อน (ไม่ใช่ยุคปัจจุบัน หรือร่วมสมัยแบบงานชิ้นอื่นๆ) แต่เพราะช่วงนี้ยังเป็นสมัยที่แนวทางศิลปะมีความหลากหลายอย่างสูงอีกด้วย ในขณะที่ภาพที่มีความเหมือนจริงอย่าง Neoclassicism ได้รับความนิยมแพร่หลาย แต่ก็เป็นยุคสมัยเดียวกันกับศิลปินแนว Modern Art อีกจำนวนมาก เช่น Vincent van Gogh, Paul Cézanne, Paul Gauguin, Georges Seurat, Henri de Toulouse-Lautrec, Henri Matisse กระทั่ง Picasso

เมื่อเรากลับไปพินิจภาพเขียนสาวงามในชุดพลิ้วไหวแบบกรีกที่สะดุดตาเราแต่แรกกันอีกครั้ง จะเห็นได้ว่าภาพนี้แตกต่างจากงานแนว Modern Art ที่มีความเป็นนามธรรมอย่างเห็นได้ชัด ภาพ Contemplation (Mirror) มีรายละเอียดที่เหมือนจริงสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นหน้าตา ผิวพรรณที่ผุดผ่องของนางแบบ ชุดคลุมยาวกึ่งโปร่งใสที่ทิ้งตัวลงอย่างเป็นธรรมชาติ จนกระทั่งรายละเอียดฉากที่เป็นอาคารหินอ่อนอันประกอบด้วยลวดลายและสีสันของหินอ่อนหลากชนิด ทั้งหมดสมจริงในทุกรายละเอียด นี่คือภาพวาดในสไตล์ Neoclassicism ที่ศิลปินนิยมกลับไปสร้างผลงานในสไตล์กรีกและโรมันอีกครั้ง

ศิลปินที่วาดภาพแนวนี้ในยุควิกตอเรียนไม่ได้มีเพียงก็อดวาร์ดแต่ยังมี Sir Frederic Leighton ผู้มีบทบาทสำคัญในวงการศิลปะอังกฤษ ทั้งยังได้เป็นประธานของสมาคมศิลปะ Royal Academy of Arts อยู่ถึงเกือบ 20 ปี แต่ว่าสไตล์ของก็อดวาร์ดนั้น ถือว่าใกล้เคียงกับ Sir Lawrence Alma-Tadema มากกว่า (ซึ่งมีภาพอยู่ในห้อง Richard Green นี้เช่นกัน) เพราะนิยมแต่งเติมฉากของภาพวาดด้วยสถาปัตยกรรมแบบกรีก-โรมันที่สร้างด้วยหินอ่อน ส่วนตัวก็อดวาร์ดเองนั้นมีชื่อเสียงมากในการวาดสตรีในชุดแบบกรีก-โรมัน จนได้ฉายาว่าเจ้าแห่งชุดทูนิกแบบคลาสสิก อันเป็นผ้าที่ขับผิวพรรณที่ผุดผ่องเยี่ยงไข่มุกของสตรีในภาพของเขาได้เป็นอย่างดี

ความงามอันอ่อนช้อยของหญิงสาวที่สื่อออกมานั้นได้รับคำกล่าวจากนักวิจารณ์ว่าเป็นเสมือน ‘กุหลาบแห่งอังกฤษที่แท้จริง’ ไม่ก็เทพีของชาวกรีกโบราณเลยทีเดียว ก็อดวาร์ดยังได้ชื่อว่าเก็บรายละเอียดทิวทัศน์ได้สมจริงมาก ไม่ว่าจะเป็นความพลิ้วของชายผ้า พื้นผิวของหินอ่อน หนังสัตว์ หรือแม้แต่นานาพืชพันธุ์ดอกไม้

ด้วยฝีมือที่เป็นที่ประจักษ์ในวงการศิลปะ ก็อดวาร์ดจึงได้จัดแสดงผลงานใน Royal Academy of Arts อยู่เป็นประจำในช่วง ค.ศ. 1887-1905 และที่ Royal Society of British Artists หรือสมาคมศิลปินอังกฤษอีกด้วย ทั้งยังได้ไปจัดแสดงที่ปารีส และยังได้รับเหรียญทองในงานจัดแสดง International Exhibition ที่โรมใน ค.ศ. 1913

แม้จะประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน แต่ชีวิตจริงของศิลปินผู้นี้กลับไม่ได้มีความสุขเท่าใดนัก ด้วยความที่เกิดในครอบครัวที่ทำอาชีพด้านการเงินและการลงทุน ก็อดวาร์ดถูกคัดค้านอย่างหนักจากครอบครัวเพราะเลือกอาชีพศิลปินแทนการเดินตามรอยบิดา ซ้ำร้ายเมื่อตอนเขาย้ายไปอยู่ที่อิตาลีใน ค.ศ. 1912 (หนีตามกันไปกับนางแบบชาวอิตาเลียน) ครอบครัวได้ตัดสัมพันธ์และการติดต่ออย่างสิ้นเชิง ถึงขนาดเผารูปถ่าย จดหมาย และเอกสารทั้งหมดของเขาอีกด้วย

ก็อดวาร์ดกลับมายังลอนดอนอีกครั้งใน ค.ศ. 1921 และตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในปีถัดมา ทิ้งท้ายไว้เพียงจดหมายลาตายที่กล่าวอย่างตัดพ้อว่า “โลกนี้ไม่ใหญ่พอสำหรับฉันและปิกัสโซ” ซึ่งสะท้อนถึงความรู้สึกกดดันของศิลปินต่อความนิยมที่ลดลงของภาพแนว Neoclassicism ของเขา ในขณะที่ศิลปะสมัยใหม่หรือ Modern Art เช่น Impressionism, Cubism และศิลปะที่มีความเป็นนามธรรมเริ่มเข้ามาแทนที่

อย่างไรก็ตาม แม้จะรู้สึกเสียดายต่อชีวิตของศิลปินเปี่ยมพรสวรรค์ทว่าอาภัพผู้นี้ แต่เราก็อดรู้สึกยินดีไม่ได้ที่ได้มีโอกาสมาชื่นชมภาพวาด Contemplation (Mirror) อันมีชื่อเสียงของเขา (หากค้นตามเว็บไซต์ต่าง ๆ จะเจอภาพนี้ในชื่อ The Mirror หรือ Girl with a Mirror) ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย MOCA Bangkok แห่งนี้

อาจจะอยู่ร่วมกับปิกัสโซไม่ได้ แต่อยู่ร่วมกับศิลปะร่วมสมัยไทยได้นะ

 

อ้างอิง

Biography of John William Godward. (n.d.). 

John William Godward. (n.d.).

Smithfield, B. (2017, December 06). “The world is not big enough for me and a Picasso” The life and artwork of John William Godward.


แหล่งขุมทรัพย์

MOCA Bangkok พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย

499 ถนนกำแพงเพชร 6 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

วันทำการ : วันอังคาร–วันอาทิตย์ (หยุดทำการทุกวันจันทร์)

เวลา : 10:00–18:00 น.

AUTHOR