​HOW TO เพิ่มพลังการเรียนให้สมองด้วยอุปกรณ์ใกล้ตัว

1. สร้างห้วงเวลาแสนสงบเปี่ยมสมาธิด้วยบทเพลงที่เอื้อต่อการจดจำ

ทำอะไรแปบๆ ก็เผลอหยิบมือถือมาสไลด์ไม่ได้ อ่านหนังสืออะไรก็ไม่จบ ถ้าคุณกำลังประสบปัญหานี้ เราอาจแก้ได้ด้วยดนตรี

ทุกวันนี้เรามีหูฟังติดตัวกันทุกคน แต่นอกจากฟังเพลงเพลินๆ ระหว่างเดินทาง เราสามารถใช้ดนตรีให้เป็นประโยชน์ในการสร้างสมาธิ เพราะการทำสิ่งใดอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอจนเป็นนิสัยจะช่วยเพิ่มพลังการโฟกัสให้เราได้ และหนึ่งในอะไรง่ายๆ นั้นก็คือการฟังเพลง

ว่ากันที่เรื่องร่างกาย เสียงที่ไพเราะจะทำให้สมองหลั่งสารโดปามีนซึ่งเป็นสารความสุข โดยธรรมชาติมนุษย์จิตใจจะวอกแว่กได้ง่ายอยู่แล้วเป็นทุนเดิม เราไม่อยู่สุขเมื่อนึกถึงเรื่องที่เป็นกังวล การฟังเพลงจึงช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้น มีผลการศึกษาพบว่าคนทำงานที่ฟังเพลงจะทำงานเสร็จได้ไวกว่าและมีไอเดียดีๆ มากขึ้นเพราะพวกเขาอยู่ในอารมณ์ที่ดี และอารมณ์ที่ดีก็ส่งผลต่อการจดจำที่ดีขึ้นด้วย

การเลือกฟังดนตรีที่เราชอบก็มีผลมาก การมีหูฟังส่วนตัวจึงเป็นตัวช่วยในการสร้างสมาธิให้เราได้ แต่นอกจากเพลงโปรดแล้วยังมีแนวดนตรีอื่นๆ เป็นทางเลือกได้ เช่น เสียงจากธรรมชาติ เพลงคลาสสิกอย่างเพลงของโมสาร์ต หรือเพลงที่ไม่มีเนื้อร้อง ไม่อย่างนั้นบางคนจะรู้สึกเสียสมาธิหรืออดร้องตามไม่ได้ (ฮ่า) จุดที่ควรระวังก็คืออย่าเผลอไปฟังเพลงเศร้าหรือเพลงที่เรียกความทรงจำไม่ดีขึ้นมา เดี๋ยวจะยิ่งแย่ไปกันใหญ่

– Headphone แบรนด์ Sony รุ่น WI-SP500

– คลิปหนีบ แบรนด์ Tex

อ้างอิง

nytimes.com, psychologytoday.com, chopra.com/articles/5-types-of-music-to-enhance-focus-and-productivity


2. แตกยอดความคิดด้วย Mind Mapping เครื่องมือทรงพลังประสิทธิภาพแต่มักถูกมองข้ามไป

ตั้งแต่เด็กมาเราก็ถูกสอนให้ใช้ Mind Mapping โดยเอากระดาษแผ่นหนึ่งมาเขียนหัวข้อหนึ่งลงไป แล้วเขียนรายละเอียดย่อยแตกออกมา แต่ก็ไม่เคยรู้เหตุผลว่าทำไมถึงต้องทำแบบนั้น หรือจริงๆ แล้วเจ้า Mind Map เอาไว้ทำอะไรได้บ้าง

จริงๆ แล้ว Mind Map คือแผนภาพที่เชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ หน้าตาของมันเลียนแบบวิธีจัดเก็บและดึงข้อมูลของสมอง เวลาจะทำ Mind Map เราจึงเริ่มจากการเขียนหัวข้อที่เรากำลังทำงานด้วยลงบนกลางหน้ากระดาษ แล้วค่อยๆ แตกแขนงความคิดออกเป็นเหมือนเส้นรัศมี เกิดลำดับชั้นความคิดย่อยต่อๆ กันไป เมื่อมอง Mind Map เราจะได้เห็นทั้งภาพรวมและรายละเอียดในเวลาเดียวกัน

ข้อแนะนำคือให้เขียนหัวข้อไว้กลางกระดาษเสมอ ที่ว่างรอบๆ จะกระตุ้นความคิดเราได้กว้างไกล พยายามเขียนคำเป็น Keyword สั้นๆ เพราะถ้อยคำเยอะๆ ยาวๆ อาจจะจำกัดกรอบความคิดเกินไป และลองใช้รูปวาดและสีสันเข้ามาประกอบทั่วๆ เพราะคนเราจดจำผ่านรูปภาพได้ดีกว่าถ้อยคำเฉยๆ หลายเท่าตัว

สีสันช่วยกระตุ้นสมองให้ตื่นตัวได้ ยิ่งเลือกใช้สีที่เหมาะกับเรื่องราวก็ทำให้ความคิดเราเชื่อมโยงได้ดีขึ้น แถมพอทำแบบนี้ก็จะรู้สึกสนุกและไม่เบื่อ

เราใช้ Mind Map ได้ในหลายฟังก์ชันมากๆ สมมติถ้าจะคิดไอเดียใหม่ๆ ก็ลองเขียนไอเดียอะไรก็ตามที่แวบเข้ามาในหัวสำหรับโปรเจกต์นั้น อาจจะแตกไอเดียย่อยจนถึงชั้นที่ 3 แล้วหยุดพิจารณาและเลือกไอเดียที่ดีที่สุดมาทำงานต่อ หรือถ้าคิดอะไรไม่ออกจริงๆ หรือกำลังประสบปัญหาแก้ไม่ตก เราก็สามารถเขียนหัวข้อย่อยออกมาเป็นคำพื้นฐานอย่าง who, what, when, where, why, how จากนั้นตอบคำถามเหล่านั้นให้ครบ พอเห็นข้อมูลทั้งหมดแล้วก็เลือกทางที่ต้องการ

มากกว่านั้นเรายังใช้ Mind Map สรุปการสอนของอาจารย์หรือหนังสือตำรา วางแผนเป้าหมายการเรียนในอนาคต หรือแม้กระทั่งวางแผนการเที่ยวได้ด้วย รู้แบบนี้แล้วลองหยิบปากกา ดินสอ หรือดินสอสีที่อยู่ใกล้ตัวมาใช้ด่วนเลย

  • ปากกาเจล แบรนด์ Stabilio
  • ปากกา แบรนด์ Rotring
  • กระเป๋าดินสอ แบรนด์ SP126
  • ดินสอสี แบรนด์ BIC รุ่น Tropicolor 12 สี และ 24 สี

อ้างอิง mindmeister.com, lifehacker.com, daringtolivefully.com


3. วางแผนการใช้เวลาด้วยบอร์ดส่วนตัวที่สร้างสรรค์ได้เอง

การเรียนต้องการเวลาเพื่อทบทวน และนอกเหนือจากนั้นชีวิตก็มีหลายสิ่งที่ควรทำไปพร้อมกัน เช่น การออกกำลังกายหรือทำธุระ แต่หลายครั้งเรามักปล่อยเวลาให้ผ่านไปเฉยๆ ดีไม่ดียังปล่อยให้ความคิดวิ่งวนในหัวแต่ไม่ได้ลงมือทำ

หนึ่งในตัวช่วยก็คือการวางแผนการใช้เวลาผ่านบอร์ดส่วนตัว อย่างเช่นบอร์ดไม้ก๊อกที่ปักหมุดโน้ตสำคัญลงไปได้ แต่ถ้าบอร์ดเรียบๆ ยังจัดระเบียบได้ไม่มากพอ เราสามารถสร้างตารางสัปดาห์ได้ง่ายๆ ด้วยเทปสีและกรรไกร วันไหนมีอะไรสำคัญก็เขียนโน้ตทิ้งไว้ก่อนนอน ถ้าอยากเล่นใหญ่กว่านั้น บางคนอาจเลือกบอร์ดขนาดใหญ่มาวางแผนภาพรวมของทั้งปี พอตั้งบอร์ดในจุดเห็นอยู่เป็นประจำก็ช่วยป้องกันอาการหลงลืมได้

อย่าลืมเติมสีสันให้บอร์ดส่วนตัวนี้ด้วยลูกเล่นอื่นๆ เช่น เราอาจติดคำพูดที่ชอบเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ รูปถ่ายคนสำคัญและเพื่อนๆ ภาพแทนเป้าหมายที่อยากไปให้ถึง หรือถ้ากำลังออกแบบอะไรอยู่ก็สามารถปริ้นท์ภาพไอเดียหรือ reference มาติดไว้เพื่อกระตุ้นการคิดงานได้เช่นกัน

– บอร์ดไม้ก๊อกพิมพ์ลาย แบรนด์ Robin ขนาด 30 x 40 และ 40 x 60 เซนติเมตร

– กรรไกร แบรนด์ Elephant รุ่น โอเอฟที 0185

– เครื่องเย็บกระดาษ แบรนด์ Elephant รุ่นเบส/วาย2


4. ผ่อนคลายความเครียดด้วยตัวช่วยที่คนหลงลืมอย่างศิลปะ

การทุ่มพลังเพื่อการเรียนเป็นเรื่องดี แต่จะดียิ่งกว่านั้นอีกถ้าเราเผื่อช่วงเวลาสำหรับการผ่อนคลายให้ตัวเองไว้ด้วย ท่องไว้ว่ารักษาความสมดุลคือดีที่สุด นอกจากออกกำลังกาย ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ฟังเพลงให้สะใจ การทำงานศิลปะอย่างไม่กดดันตัวเองก็ช่วยผ่อนคลายได้ดี เพราะนี่คือช่วงเวลาที่เราจะได้ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกโดยไม่มีใครมาตัดสิน

อุปกรณ์แรกที่คนคุ้นเคยหนีไม่พ้นสีไม้ ช่วงนึงสมุดระบายสีสำหรับผู้ใหญ่เป็นที่นิยมมาก แม้จะพ้นช่วงความป๊อบของมันไปแล้ว แต่ข้อดีของการระบายสียังเป็นสิ่งแน่นอน การลงมือระบายสีช่วยลดความเครียดและวิตกกังวล เพราะเราไม่ต้องนึกถึงเรื่องอะไรนอกจากค่อยๆ ใช้มือถมช่องว่างด้วยสีสัน

อีกอุปกรณ์นึงที่ห่างหายจากมือเราไปนานคือดินปั้นหรือแป้งโดว์ ที่จริงดินปั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ศาสตร์ศิลปะบำบัดนำมาใช้ด้วย อย่างน้อยที่สุดเมื่อเล่นดินปั้น มือเราได้ขยับ ได้ออกแรง เปลี่ยนอิริยาบถมาใช้พลังงานในรูปแบบอื่นนอกจากนั่งหน้าคอมเฉยๆ ขนาด University of Louisville ยังให้นักศึกษาได้เล่นแป้งโดว์ในช่วงสอบไฟนอลเพื่อคลายเครียด ถ้าเกิดติดแหง็กอยู่ระหว่างทำโปรเจกต์ไม่จบไม่สิ้น ลองหยิบก้อนดินสีๆ ขึ้นมาบีบๆ นวดๆ ดูก็ไม่เสียหาย เพราะความผ่อนคลายที่ได้รับกลับมาอาจช่วยเติมพลังให้เราอย่างคาดไม่ถึงเลย

– ดินสอสี แบรนด์ Master Art มาสเตอร์ซีรี่ย์ ดินสอสี 20 สี รุ่น ท้องทะเล และดินสอสี 10 สี รุ่น โกลด มอแน

– โฟมเคย์ 6 ถ้วย 6 สีสะท้อนแสง แบรนด์ Nara

– แป้งโดว์ชนิดพิเศษไม่แห้ง 12 แท่ง 12 สี แบรนด์ Nara

อ้างอิง edition.cnn.com, college.usatoday.com

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์
Stylist วรากร กิตติวัฒนางนารถ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย