วิกฤตครั้งนี้ฉันต้องรอด! HOW TO ปรับตัวเพื่ออยู่รอดทางธุรกิจโดยผู้ที่มาก่อนกาล

วิกฤตครั้งนี้ฉันต้องรอด! HOW TO ปรับตัวเพื่ออยู่รอดทางธุรกิจโดยผู้ที่มาก่อนกาล

Highlights

  • ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 SCG เชิญชวนทุกคนไปถอดบทเรียนการเอาตัวรอดทางธุรกิจผ่านวิดีโอเพลย์ลิสต์ ‘HOW TO อยู่รอด’ ที่พวกเขาจัดทำขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
  • ในซีรีส์วิดีโอ 10 ตอนนี้ SCG เชิญทั้งคนนอกและคนในมาถ่ายทอดเคล็ดลับที่ทำให้แต่ละธุรกิจผ่านวิกฤตที่เคยเกิดขึ้นมาได้ และในบทเรียนเหล่านั้นพวกเขาเชื่อว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ได้เช่นกัน

สำหรับผู้ประกอบการ ปฏิเสธไม่ได้ว่าโมงยามนี้เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

ไม่ว่าจะดูจากตัวเลขเชิงเศรษฐกิจ หรือแค่เดินออกไปดูร้านค้าหน้าปากซอยบ้าน เราพูดได้เลยว่าวิกฤตไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาคธุรกิจประสบปัญหา จากที่ยากอยู่แล้วเหล่าผู้ประกอบการล้วนกำลังเจอกับความท้าทายใหม่ในการปรับธุรกิจของตนเข้าสู่ new normal

มองไปทางไหนแทบทุกเส้นทางล้วนปราศจากความราบรื่นทั้งนั้น

แต่ใช่ว่าทุกวิกฤตจะเต็มไปด้วยความลำบากเสมอไป ในบางครั้งการตัดสินใจที่ถูกต้องในจังหวะเวลาที่ถูกต้องก็ช่วยพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้เหมือนกัน

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา SCG ได้หยิบยกประเด็นที่ว่ามาบอกเล่าผ่านซีรีส์วิดีโอ HOW TO อยู่รอด โดยเชิญทั้งผู้ประกอบการชื่อดังและธุรกิจใน SCG มาร่วมกันถ่ายทอดหลักคิดและเทคนิคในการเอาตัวรอดจากวิกฤต ผ่านคลิปวิดีโอสั้นๆ ที่ทั้งดูง่ายและได้แรงบันดาลใจ

ตอนต้นปีสถานการณ์ในประเทศยังไม่ท้าทายถึงขั้นนี้ ‘HOW TO อยู่รอด’ จึงเป็นเหมือนตำราเรียนฉบับกระชับและย่อยง่ายสำหรับนักธุรกิจและผู้ประกอบการ แต่เมื่อมาถึงวันนี้กลายเป็นว่าเนื้อหาในวิดีโอทั้ง 10 ตอนกลับนำมาประยุกต์ใช้กับวิกฤตโควิด-19 ที่พวกเรากำลังเผชิญได้เป็นอย่างดี ความผิดพลาด การเรียนรู้ และมุมมองของผู้ประกอบการทั้ง 10 คนที่เคย ‘อยู่รอด’ ผ่านวิกฤตต่างๆ ล้วนเป็นประสบการณ์ล้ำค่าให้เข้าไปศึกษา

และเราสรุปสั้นๆ เป็นน้ำจิ้มให้ทุกคนได้อ่านกันผ่านบทความนี้

 

“เพราะเจ๊เน้นคุณภาพ เราถึงอยู่มาได้”

ประเดิมด้วยข้อคิดแรกจากร้านหมูทอดในตำนานอย่างหมูทอดเจ๊จง ของ เจ๊จง–จงใจ กิจแสวง ที่ดำรงอยู่มากว่า 17 ปี 

ในเวลาที่ผ่านมาเจ๊จงต้องรับมือกับวิกฤตหลากหลายครั้ง ตั้งแต่การขึ้นราคาวัตถุดิบครั้งแล้วครั้งเล่าไปจนถึงการขยายธุรกิจ เปิดสาขาถึง 14 สาขา แต่ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรก็ตาม เจ๊จงบอกว่าสิ่งที่เธอยึดถือมาเสมอคือการทำสินค้าให้เป็น ‘ของดี’ แม้ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นสักแค่ไหน แต่เจ๊จงมองว่าการใช้ของดีทำให้ลูกค้ามากขึ้นตามมาเช่นกัน ที่สำคัญคือเธอไม่อยากเอาเปรียบลูกค้า แม้ในเวลาที่ต้นทุนถูกหรือแพง ร้านหมูทอดเจ๊จงจะรักษามาตรฐานเดิมไว้เสมอ 

ความตั้งมั่นของเจ๊จงสะท้อนให้เห็นแม้กระทั่งในวิกฤตโควิด-19 เพราะร้านหมูทอดเจ๊จงไม่ได้ฉวยโอกาสขึ้นราคาแต่อย่างใด แถมยังเสนอตัวช่วยเหลือนักรบด่านหน้าอย่างบุคลากรทางการแพทย์ด้วยการทำข้าวกล่องส่งไปให้ฟรีๆ

 

“เราต้องมีสติเพื่อคิด วิเคราะห์ และปรับตัว เพื่อธุรกิจของตัวเอง”

ในยุคสมัยที่วิกฤตและสังคมภายนอกกระตุ้นให้ธุรกิจเปลี่ยนแปลง หลักคิดจาก ตรีทศพล วิจิตรกุล หนึ่งในหุ้นส่วนของร้านไอศกรีมทิพย์รสถือเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่ดี

ถ้าว่ากันด้วยอายุตามจริงของแบรนด์ไอศกรีมทิพย์รส ต้องบอกว่านี่เป็นร้านขายไอศครีมที่มีอายุกว่า 50 ปีแล้ว ดังนั้นเมื่อวันที่ตรีทศพลเข้ามามีส่วนร่วมในการรีแบรนด์ร้าน สิ่งที่เขามองเห็นไม่ใช่ความเปลี่ยนแปลงอย่างเดียว แต่เขาเลือกวิเคราะห์แบรนด์และผลิตภัณฑ์ของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก สุดท้ายเขาเจอว่าภายใต้ความกดดันให้เปลี่ยนแปลงของยุคสมัย อะไรที่ ‘ดี’ อยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเสมอไป หน้าที่ของเขาควรเป็นการต่อยอดจากแก่นแท้อันดีงามของสิ่งที่มีมากกว่า นั่นเองจึงเป็นที่มาของร้านไอศกรีมทิพย์รสยุคใหม่ที่ยังมีตัวเอกเป็นไอศครีมเหมือนเดิม เพียงแต่พัฒนาวิธีการนำเสนอและเมนูให้ร่วมสมัยมากขึ้น เช่น การทำหน้าร้านให้โมเดิร์น และการนำไอศครีมเดิมไปตกแต่งให้เป็นอาหารสไตล์ฟิวชั่นฟู้ด 

 

“change ทำให้มี chance”

เพียงแค่การจั่วหัวในวิดีโอนี้ก็กระตุกความคิดเราได้แล้วกับสถานการณ์ตรงหน้า

“change ทำให้มี chance” ไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด บอกเราแบบนั้น

ในวิดีโอนี้ ไพฑูรย์เล่าให้เราฟังคร่าวๆ ว่าธุรกิจโลจิสติกส์เป็นหนึ่งธุรกิจที่ถูก disrupt ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสูงมาก บางงานที่เคยต้องใช้คนก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป ในมุมหนึ่งนี่เป็นเหมือนฝันร้ายของพนักงาน แต่ SCG Logistics กลับมองว่านี่เป็นโอกาสให้พวกเขาเหล่านั้นได้พัฒนาตัวเองเพื่อก้าวข้ามมาคุมเทคโนโลยีอีกทีหนึ่ง ด้วยหลักคิดนี้คนในองค์กรจึงยังคงดำรงอยู่ได้ แถมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าพวกเขาไม่มองความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเป็นโอกาส

 

“ถ้าทำไม่เก่ง ให้หาเพื่อนที่ทำเก่ง”

คำว่า circular economy หรือธุรกิจหมุนเวียน เริ่มเป็นที่พูดถึงกันหนาหูในปัจจุบัน และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสที่ชื่อว่า ‘กระเป๋าถุงปูน’

ในวิดีโอนี้ สยามรัฐ สุทธานุกูล หนึ่งในผู้บริหารธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างของ SCG มาเล่าให้เราฟังว่า ก่อนหน้าการเกิดกระเป๋าถุงปูน ถุงปูนถือเป็นหนึ่งในต้นทุนที่พวกเขาจัดอยู่ในหมวด ‘รอการทำลาย’ มาเสมอ แต่เพราะความคิดสร้างสรรค์และความสนใจเรื่องธุรกิจหมุนเวียน พวกเขาจึงหยิบของที่เคยไร้ค่านี้ส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญอย่างแบรนด์แฟชั่นต่างๆ เพื่อพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ สุดท้ายของที่หลายคนเคยมองข้ามก็กลายเป็นกระเป๋าที่สร้างยอดขายได้มากกว่าบางผลิตภัณฑ์ของบริษัทเสียอีก


นี่เป็นเพียงตัวอย่าง 4 จาก 10 บทเรียนธุรกิจจากผู้อยู่รอดในซีรีส์ ‘HOW TO อยู่รอด’ แต่นอกจากผู้ประกอบการเหล่านี้ยังมีอีกหลายเจ้าของกิจการที่มาแชร์เทคนิคที่น่าสนใจในการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เช่น การต่อยอดธุรกิจดั้งเดิมสู่ธุรกิจยุคใหม่จาก Moreloop, การพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของ KUBOTA หรือการสร้างถุงกระดาษรีไซเคิลของ SCG ทั้งหมดที่ว่ามารอให้เราไปค้นหาแค่เพียงปลายนิ้วคลิกเท่านั้นเอง

สุดท้ายในวิกฤตเช่นนี้ เราขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ทุกคนผ่านพ้นคืนวันอันยากลำบากนี้ไปได้ และต่อให้ล้มลงแรงแค่ไหน เราเชื่อและเอาใจช่วยให้ทุกคนสามารถลุกขึ้นมาได้ ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นยังไงก็ตาม

อดรนทนรอไปพร้อมกัน และเราจะผ่านมันไปด้วยกันนะ

AUTHOR

ILLUSTRATOR

erdy

นักวาดภาพประกอบคนหนึ่งที่มีความใฝ่ฝันว่าจะรวย จะรวย จะรวย