อยู่เพื่อกิน : ของอร่อยที่โรงหนังสแตนด์อโลน

แม้โรงหนังสแตนด์อโลนจะลดน้อยลงไปตามกาลเวลา แต่บรรดาร้านอาหารที่อยู่เคียงคู่โรงหนังโบราณยังคงยืนหยัดแจกจ่ายความอร่อยมาหลายทศวรรษ
แต่ละร้านฝีมือเจนจัดจนต้องขอให้วางป๊อปคอร์นลงชั่วคราว แล้วออกไปตะลุยชิมความเก๋าติดลิ้นตรึงใจ

1. โจ๊กปริ๊นซ์ โรงหนังปริ๊นซ์รามา

เนื้อโจ๊กหอมกลิ่นไหม้ หมูสับจัมโบ้เนื้อนุ่ม และไข่ลวกร้อนๆ
หรือไข่เยี่ยวม้า คือส่วนผสมเฉพาะตัวของร้านโจ๊กปริ๊นซ์ที่ขายมา 3
รุ่นในระยะเวลากว่า 80 ปีหน้าโรงหนังปริ๊นซ์รามา เสน่ห์ผูกใจชาวบางรักและคนรักโจ๊กทั้งหลายมาจากการต้มข้าวกับหมูให้เป็นเนื้อเดียวกันโดยไม่แยกข้าวกับน้ำซุปแบบเจ้าอื่น
กว่าหมูก้อนใหญ่จะสุก ข้าวไหม้ติดก้นหม้อจะส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ เป็นเอกลักษณ์
แม้โรงหนังจะปิดตัวลงไปแล้ว แต่พื้นที่แห่งความทรงจำเบื้องหลังร้านโจ๊กกำลังถูกปรับพื้นที่ให้กลายเป็นตลาดโบราณ
เพื่อกลับมาเป็นแหล่งรวมความสุขคู่กับความอร่อยของโจ๊กปริ๊นซ์อีกครั้งหนึ่ง

ราคา:50 บาท (ไม่ใส่ไข่ 40 บาท)
ตำแหน่งร้าน: เยื้องโรบินสัน
บางรัก ถนนเจริญกรุง
เวลาเปิด-ปิด: 06.00 – 12.00 น.,
16.30 – 24.00 น.
ติดต่อ: โทร. 081-916-4390 , 089-795-2629 ,
0-2234-9407


2. ข้าวหมูแดงนายฮุย โรงหนังนครสนุกและโรงหนังควีนส์

ข้าวหมูแดง-หมูกรอบของนายฮุยมอบความทรงจำดีๆ มากกว่า 70
ปีเคียงข้างโรงหนังเก่าถึง 2 โรง เริ่มจากโรงหนังนครสนุก (ข้างโรงแรมแกรนด์ไชน่าในปัจจุบัน)
เมื่อโรงหนังแรกปิดตัวลง นายเฮี้ยง ลูกชายนายฮุยจึงนำตำรับสุดยอดข้าวหมูแดงมาเสิร์ฟเสิร์ฟรสชาติล้ำเลิศที่วังบูรพา
ใกล้อดีตโรงหนังควีนส์ที่ฉายหนังฮอลลีวูดสุดเก๋
แม้ความบันเทิงจากแผ่นฟิล์มในย่านนี้จะจากไป และโรงหนังจะกลายเป็นอาคารจอดรถแล้ว แต่หมูแดงนุ่มอร่อย
หมูกรอบหอมกรุบ ไข่พะโล้ยางมะตูม และน้ำหมูแดงผสมน้ำกระดูกหมูต้มเคี่ยวยังคงอยู่ยงคงรสชาติละมุนลิ้นเสมอมา

ราคา: 50 บาท
ตำแหน่งร้าน: ซอยพิชิต
หลังวังบูรพา
เวลาเปิด-ปิด: 08.00 – 15.00 น. หยุดวันอาทิตย์
ติดต่อ: โทร. 0-2222-1630


3. เป็ดปักกิ่งภัตตาคารสกาล่า โรงหนังสกาล่า

ภัตตาคารสกาล่าเปิดทำการมา 48 ปี
พร้อมโรงหนังแสนสวยขวัญใจเด็กสยามทุกรุ่นทุกวัย
เกิดจากความชอบรับประทานอาหารจีนของคุณพิสิฐ ตันสัจจา ผู้ก่อตั้งโรงหนังเครือเอเพ็กซ์
ในยุคที่ภัตตาคารอาหารจีนยังมีไม่มากมายอย่างทุกวันนี้
นอกจากรักษาความสวยวินเทจในร้านไว้ครบถ้วน ที่นี่ยังเก็บสูตรการทำเป็ดปักกิ่งสูตรเฉพาะตัว
โดยหลังทำความสะอาดเป็ดจะเป่าลมให้หนังแห้งตึง
และนำมาย่างสดเสิร์ฟเมื่อลูกค้าสั่งเป็ดย่าง ทางภัตตาคารจะแล่หนังเป็ดกรอบชุ่มให้ดูกันจะๆ
ยิ่งห่อด้วยแผ่นแป้งบางร้อนๆ ราดน้ำจิ้มดำสนิทเคี่ยวเหนียวหมักถึง 3 วัน แนมด้วยแตงกวา
และต้นหอมสด รสชาติอร่อยสุดยอดจะจู่โจมจนเราแทบหลั่งน้ำตา
เนื้อเป็ดที่เหลือสามารถสั่งให้ผัดกระเทียม ผัดถั่วงอก คะน้า
ทำเป็นเมี่ยงหรือซุปได้ตามสั่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
ถ้าจานเป็ดยังไม่ทำให้อิ่มท้อง ที่นี่ยังมีขาหมูหมั่นโถว ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ เคาหยก
และขนมปังกุ้งโรยงา ที่ทำให้ลูกค้าติดอกติดใจมากว่า 3 รุ่นเลยทีเดียว

ราคา: ตัวละ1,200 บาท
ตำแหน่งร้าน: สยามสแควร์
เวลาเปิด-ปิด: 11.00 – 14.00 น., 17.00-21.00 น.
ติดต่อ: โทร. 0-2251-2863


4. ก๋วยจั๊บอ้วนโภชนา โรงหนังไชน่าทาวน์รามา

หนึ่งในร้านเด็ดเยาวราชที่พลาดไม่ได้ ด้วยหมูกรอบใหม่สด
เครื่องในหลากหลาย ปาท่องโก๋กรอบตัวเล็กๆ เส้นก๋วยจั๊บต้มเด้งดึ๋ง
และน้ำซุปพริกไทยเผ็ดร้อนจนท้องอุ่นวาบ
ก๋วยจั๊บที่ยึดครองพื้นที่หน้าโรงหนังไชน่าทาวน์รามาก็ยึดครองตำแหน่งในหัวใจไปด้วย
ตำนานอร่อยเหาะนี้เปิดขายมามากกว่า 30 ปีเพื่อเสิร์ฟความอิ่มท้องให้ผู้คนในยามค่ำคืน
ปัจจุบันโรงหนังไชน่าทาวน์รามา หรือชื่อเดิมคือนิวแหลมทอง
ยังคงเปิดกิจการฉายหนังจีนในราคา 60 บาทตลอดวัน
และยังรักษาโครงสร้างเดิมของโรงหนังโบราณไว้ตลอดมา

ราคา: 50 บาท
ตำแหน่งร้าน: ข้างร้านชายทองเซ่งเฮงหลี
ถนนเยาวราช
เวลาเปิด-ปิด: 18.00 – 03.00 น.
ติดต่อ: โทร. 086-508-9979


5.ลอดช่องสิงคโปร์โภชนา โรงหนังสิงคโปร์

ไม่ต้องถ่อไปไกลถึงแดนเมอร์ไลออน เพราะลอดช่องสิงคโปร์ของแท้อยู่ที่นี่แล้ว และชื่อ ‘สิงคโปร์’ ก็ที่ห้อยท้ายลอดช่องก็มาจากชื่อโรงหนังสิงคโปร์หรือโรงหนังเฉลิมบุรี เพราะร้านนี้เขาขายของหวานที่หน้าโรงหนังพอดิบพอดี ด้วยเส้นสีเขียวยาวหนึบหนับ ขนุนเหลืองสดใส และน้ำกะทิหอมใสรสหวานกำลังเหมาะ เป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากลอดช่องไทยเส้นป้อมสั้นกับน้ำกะทิข้นที่พบเห็นทั่วไป จนลูกค้าติดอกติดใจมากว่า 70 ปี แม้โรงหนังจะแปรสภาพเป็นลานจอดรถไปแล้ว แต่สิงคโปร์โภชนายังคงเสิร์ฟรสชาติดีๆ ต่อเนื่อง ในกรณีที่ชิมแล้วไม่อิ่มท้อง ที่นี่ยังขายก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นหมูรสเด็ด เพิ่มความเอร็ดอร่อยให้จุใจ

ราคา: 22
บาท

ตำแหน่งร้าน:
สามแยกถนนเจริญกรุง ใกล้แยกหมอมี

เวลาเปิด-ปิด:
11.00 – 21.30 น.
หยุดทุกวันพฤหัสบดี

ติดต่อ:
โทร. 0-2221-5794

ภาพ ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข และ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR