ชลัท Homeflick : ชายหนุ่มผู้กลับบ้านมาทำห้องฉายหนังเพื่อชวนคนรักหนังในโคราชมารวมกัน

Highlights

  • Homeflick ห้องฉายหนังนอกกระแสที่ก่อตั้งและดำเนินการทุกขั้นตอนตั้งแต่ซื้อหนัง จัดฉาย โปรโมต ขายตั๋ว เปิดและปิดประตูโรงโดย โจ้–ชลัท ศิริวาณิชย์
  • ระยะเวลา 6-7 ปีที่โจ้เริ่มฉายหนังที่โรงภาพยนตร์กระทั่งที่ห้องฉายหนัง Homeflick เขาทำการฉายหนังไปทั้งหมด 13 เรื่อง
  • นอกจากความรักในการดูหนังนอกกระแสที่เป็นตัวจุดประกายให้เกิดห้องฉายหนังแห่งนี้แล้ว เขายังอยากให้ผู้คนโคราชได้สัมผัสอรรถรสและความอิ่มเอมใจที่ได้รับจากหนังเช่นเดียวกันกับเขา

หากเราอยู่ในกรุงเทพฯ การดูหนังนอกกระแสหรือที่เรียกติดปากกันว่าหนังอินดี้ เราคงนึกถึง House RCA, Scala, Bangkok Screening Room (BKKSR) หรือที่ Warehouse30

ถึงแม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่เมื่อเทียบกับยุคแรกเริ่มที่หนังนอกกระแสเข้าสู่เมืองไทยก็นับว่ามีจำนวนมากขึ้น กลับกันถ้าเราต้องการดูหนังอินดี้ที่ต่างจังหวัด เราอาจนึกไม่ออกว่าต้องไปที่ไหน หรือไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าจังหวัดเหล่านั้นมีโรงหนังนอกกระแสไหม

ด้วยเหตุนี้เองที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้ โจ้–ชลัท ศิริวาณิชย์ กลับมาบ้านที่โคราชและทำห้องฉายหนังนอกกระแส Homeflick

โจ้อยู่กรุงเทพฯ มานับสิบปี หลังจากที่เขาเรียนจบก็เริ่มทำงานในค่ายเพลง เขาตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านที่โคราชเป็นฟรีแลนซ์ตัดต่อโฆษณา หนัง และซีรีส์ แล้วสานต่อความฝันทำโปรเจกต์ห้องฉายหนัง Homeflick ซึ่งเริ่มฉายมาตั้งแต่ปี 2556

“โปรเจกต์ฉายหนังเป็นสิ่งที่เราอยากทำตั้งแต่เด็ก ราวๆ ม.ต้น มีภาพฝันไว้ว่าอยากจะมีคอมมิวนิตี้ไว้รวมคนที่น่าจะดูหนังที่ต่างจากหนังโรงใหญ่มารวมตัวกันแล้วดูด้วยกัน เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นปัญหาข้อเดียวของที่โคราชคือมันไม่เคยมีชมรมที่จะรวมทุกคนไว้ แล้วเราก็ไปหาเขาไม่เจอด้วยว่าคนเหล่านั้นอยู่ไหนในเมือง เป็นความอัดอั้นของเรามาตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้”

โจ้เริ่มบทสนทนาขึ้นด้วยท่าทีที่สบายอกสบายใจราวกับว่าห้องฉายหนังแห่งนี้เป็นทั้งสถานที่บรรจุความฝันในการฉายหนังนอกกระแส หล่อหลอมผู้คนซึ่งชื่นชอบสิ่งเหมือนกัน และเป็นเสมือนคอมฟอร์ตโซน

“การฉายหนังนอกกระแสที่กรุงเทพฯ กับโคราชยังต่างกันมาก อย่างกรุงเทพฯ ที่ไหนก็มีฉายหนังนอกกระแส แต่โคราช ตอนที่เรากลับมาทำ มันตั้งไข่มากๆ ด้วยซ้ำ

“คอนเซปต์แรกของ Homeflick คือแรกเริ่มเราตั้งใจฉายหนังนอกกระแสไทยเท่านั้น ไม่ได้พยายามจะฉายหนังฝั่งอเมริกาหรือญี่ปุ่น เพราะเราหวังว่าวันหนึ่งจะมีคนกลุ่มใหม่มาฉายหนังด้วยกันกับเรา กลายเป็นว่า 4-5 ปีหลังจากนั้นก็ยังไม่มีที่อื่นเกิดขึ้นมาใหม่มาจัดฉายหนังกับเรา สุดท้ายแล้วเราจะมาจำกัดแค่หนังไทยนอกกระแสไม่ได้ นานๆ ทีมันต้องฉายเรื่องอื่นที่เขาเรียกร้องอยากดูจริงๆ ด้วย”

โจ้เริ่มต้นฉายหนังครั้งแรกเรื่อง ตั้งวง (กำกับโดยคงเดช จาตุรันต์รัศมี) ปี 2556 ที่โรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่จำนวน 160 ที่นั่ง เขามีหน้าที่ตั้งแต่การเจรจาซื้อหนังมาฉาย การโปรโมต ออกแบบโปสเตอร์ ประสานกับโรงภาพยนตร์ ขายตั๋วไปจนถึงการเปิดประตูโรงต้อนรับผู้ชม แต่ปรากฏว่าการฉายครั้งแรกกลับโล่ง มีคนตีตั๋วไม่ถึงครึ่งเท่านั้น

หลังจากนั้น เขาฉายเรื่อง MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY จัดฉ​ายทั้งหมดสองรอบ วันเสาร์-วันอาทิตย์ ด้วยความที่เขามั่นใจว่าหนังอยู่ในกระแสฟีเวอร์ ซึ่งก็เป็นไปตามที่เขาคาดไว้ คนเต็มโรงเกือบทั้งหมด การฉายหนังครั้งที่สามจึงดำเนินต่อ

“พอเราฉายเรื่องที่สามปุ๊บ ก็เป็น 36 ต่อเนื่องจาก MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY เราฉายที่ร้านเฟื่องนครแทน ซึ่งคนก็เต็มเหมือนกันเพราะตอนนั้นฉายฟรีด้วย ด้วยความที่เราอยากให้ทุกคนได้ดูหนัง แฮปปี้มาก ใจมันก็มโนไปแล้วว่าต่อไปนี้เราฉายหนังในคาเฟ่มันจะต้องประสบความสำเร็จมากแน่ๆ พอมาเรื่องที่สี่ ฉายเรื่อง สยิว หนังเรื่องแรกสุดของพี่คงเดช มีคนมาไม่ถึง 10 คน รวมพนักงานในร้านด้วยนะ เลยได้เห็นตั้งแต่การฉายรอบที่คนเต็มโรง รอบคนบางตา จนมารอบที่แทบจะไม่มีคนดูเลย มันก็ได้เห็นสัจธรรมว่าถึงจุดหนึ่งเราต้องทำใจนะ เราจะบังคับให้คนมาอินกับหนังที่เราฉายทุกครั้งไม่ได้ มันมีปัจจัยนอกเหนือจากนั้น อย่างเศรษฐกิจไม่ดีหรืออากาศร้อนก็ไม่มีใครอยากออกจากบ้านแล้ว”

หลังจากที่โจ้ฉายหนังที่เฟื่องนครอย่างต่อเนื่อง ในปี 2561 ร้านปิดตัวลง ด้วยความที่ผูกพันกับร้าน ระยะที่ตั้งไม่ใกล้จากบ้าน สามารถฝากขายตั๋วได้ เขาตัดสินใจลุยการฉายหนังที่บ้านตัวเอง โดยรีโนเวตห้องด้านล่างของบ้านขนาด 20-25 คน ให้กลายเป็นห้องฉายหนังมีผนังขาว พื้นหินอ่อน เสื่อ เบาะรองนั่ง และแอร์ 1 ตัว

“พอเราได้ลองฉายหนังจริงคนที่มาดูก็ค่อนข้างแฮปปี้ คือเราก็บอกล่วงหน้าว่าเอาขนมมากินเล็กน้อยได้นะ เอาผ้าห่มเอาอะไรมาเองได้ แล้วก็สมมติว่ามีรอบหนึ่ง คุณมาสองคน พอถึงเวลาฉายทั้งโรงมีสองคน คุณก็นอนแผ่ไปเลยไม่ว่ากัน นอนดูให้เป็นเหมือนบ้านตัวเองไปเลย เราอยากให้ Homeflick เป็นสถานที่ต่างจากโรงหนังทั่วไปมากๆ คือโรงหนังค่อนข้างจะมีพิธีการต่างๆ แต่มาที่นี่อยากให้รู้สึกว่ามาบ้านเพื่อนมากกว่า”


Video Creator

อภิวัฒน์ ทองเภ้า

เป็นลูกชายคนเดียวของพ่อแม่, เป็นศิษย์เก่านิเทศศาสตร์ ม.มหาสารคาม แต่เป็นคนอุดรธานี, เป็นวิดีโอครีเอเตอร์ ประสบการณ์ 2 ปี, เป็นคนเบื้องหลังงานวิดีโอของ a day และเป็นคนปลุกปั้นสารคดี a doc, เป็นคนนอนไม่เคยพอ, เป็นหนึ่ง คือ เป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง สรรพสิ่ง คือ ไม่เป็นอะไรเลย, ตอนนี้เป็นหนี้ กยศ. และรับจ้างทั่วไป [email protected]

นวภัทร์ นาวาเจริญ

วีดีโอครีเอเตอร์คนที่ชอบเดินจ่ายตลาด