House Of Commons ร้านหนังสือพักใจของชุมชนที่อยากเป็นมิตรกับทุกคนในย่านตลาดน้อย

หากกวาดสายตามองรอบๆ ย่านตลาดน้อย สิ่งที่คนในพื้นที่คุ้นตาคงเป็นสองข้างทางที่เต็มไปด้วยห้องแถวไม้ อาคารเก่า ร้านอาหารเล็กใหญ่ รวมถึงสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและผสมกลมกลืนไปกับสิ่งเก่าในชุมชนไทย-จีนได้อย่างลงตัว เมื่อวันเวลาผ่านไป มีร้านรวงใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทำให้ความคึกคักกลับฟื้นคืนสู่ตลาดน้อยอีกครั้ง 

ย่านตลาดน้อยแห่งนี้ทำให้เราพบกับ HOC หรือ House Of Commons ร้านหนังสืออิสระเล็กๆ ซ่อนตัวอยู่ข้างริมคลองคลองผดุงกรุงเกษม ติดกับสะพานพิทยเสถียร หากใครผ่านไปมาเราอยากให้แวะหยุดพักใจตรงนี้สักนิด เพราะที่นี่ไม่ใช่เพียงแค่ร้านหนังสือ แต่เป็นร้านที่อัดแน่นไปด้วยความทรงจำและเรื่องราวดีๆ ของผู้คนมากหน้าหลายตาที่ได้มาพบปะทักทาย

ถ้าพร้อมแล้วก็เปิดประตูเข้ามาทิ้งตัวทิ้งใจกันได้เลย

‘ร้านหนังสือธรรมดาที่ไม่ธรรมดา’

“ที่นี่เป็นมากกว่าร้านหนังสือ เราตั้งใจให้มันเป็นพื้นที่ของชุมชน” โหน่ง ทวารัตน์ หนึ่งในสมาชิกรุ่นบุกเบิกร้าน เล่าถึงแนวคิดเบื้องหลังก่อนจะมาเป็นร้านหนังสือแสนอบอุ่นแห่งนี้

โหน่งเล่าว่าแรกเริ่มเดิมทีร้านหนังสือแห่งนี้เคยตั้งอยู่ที่ย่านเจริญนคร ก่อนจะขยับขยายย้ายมาอยู่ที่ย่านตลาดน้อย และตั้งใจอยากให้ร้านมีคาแรกเตอร์คล้ายกับร้านกาแฟในชุมชนในสมัยก่อน จึงทำให้ตัวเองเด่นขึ้นมาด้วยการจัดกิจกรรมและขายหนังสือที่สอดคล้องกับความสนใจของร้าน กลายเป็นพื้นที่รวมตัวของคนที่ชอบอะไรคล้ายๆ กัน นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อ House Of Commons ‘สภาสามัญชนที่คนทั่วไปมาพบปะกัน’ 

“ร้าน HOC มีการปรับตัวเองให้เข้ากับชุมชน ไม่ได้หยิ่งยโสที่เข้าไปแล้วต้องทำตัวลีบๆ ที่สำคัญคือถ้าคุณมาร้านนี้คุณจะติดบทสนทนาของคน เพราะมีแต่เสียงทักทายพูดคุยกัน เป็นคอมฟอร์ตโซนซึ่งกันและกัน คล้ายกับสภากาแฟแบบต่างจังหวัด”

พื้นที่ชั้นล่างของร้านเต็มไปด้วยหนังสือครอบคลุมหลายประเภท ทั้งประวัติศาสตร์ การเมือง ปรัชญา จิตวิทยา วรรณกรรม รวมไปถึงผลงานและหนังสือที่นักเขียนอิสระมาฝากขายวางอัดแน่นอยู่เต็มทุกด้านของผนัง โหน่งเล่าว่าการที่กลุ่มของนักเขียนอิสระได้เข้ามาสมทบก็ยิ่งทำให้ที่นี่มีความเป็นคอมมูนิตี้มากขึ้น

เราไม่แปลกใจว่าทำไมสถานที่แห่งนี้ถึงกลายเป็นแหล่งพักใจของคนในชุมชน เพราะนอกจากหนังสือที่คัดสรรมาอย่างดีแล้ว ยังมีกิจกรรมมากมายให้คลายเหงา ไม่ว่าจะเป็น บอร์ดเกม ดนตรีสด จัดวงเสวนา ฉายหนัง หรือร้อยลูกปัดลูกใจตามธีมหนังสือเล่มโปรด หากใครมีกิจกรรมดีๆ ก็สามารถมาเช่าพื้นที่ได้อีกด้วย

‘ซื้อได้ซื้อ ซื้อไม่ได้เราให้แกะอ่าน’

มีร้านหนังสือไม่กี่ร้านที่เราประทับใจตั้งแต่ก้าวเข้าไปครั้งแรกได้ชัดเจน 

HOC เป็นหนึ่งในนั้น

“แกะห่อพลาสติกออกมาอ่านได้เลยนะคะ” หนึ่งในสตาฟของร้านเชื้อเชิญให้คนหยิบหนังสืออ่าน

ใช่–หนังสือที่วางเรียงรายอยู่ในร้านทุกเล่ม จะหยิบมาแกะอ่านดื่มด่ำจนหนำใจแล้ววางไว้ที่เดิมก็ไม่มีใครว่า หรือหากติดใจเล่มไหนอยากเก็บไว้เป็นของตัวเองก็สามารถซื้อกลับบ้านได้เลย สารภาพว่าครั้งแรกที่ได้ยินเราก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมร้านถึงใจกว้างขนาดนี้นะ

“เวลาเราบอกลูกค้าว่าแกะอ่านได้ ทุกคนก็จะตกใจว่าแกะได้จริงเหรอ คือเรามองว่าการแกะอ่านได้ แล้วก็มีมุมดีๆ ให้นั่งอ่าน มันเป็นสิ่งที่ร้านหนังสือทั่วโลกพึงมี เพียงแต่ว่าคนไทยชินกับเชนของร้านหนังสือใหญ่ๆ ที่ห้ามแกะ ห้ามอ่าน หรือร้านคุณป้าบางร้านที่กลัวว่าแกะแล้วหนังสือจะยับ ซึ่งเรารู้สึกว่าการแกะอ่านได้มันควรจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ร้านหนังสือเอื้อให้กับนักอ่านให้เขามาสัมผัสได้

“แล้วในมุมของธุรกิจร้านจะไม่ขาดทุนเหรอ” เราถามต่อ

“คนที่เขาซื้อก็ซื้อไป เราก็ได้กำไรจากตรงนั้น ส่วนคนที่ไม่ซื้อก็ไม่ซื้อสิ เราจะทำการค้าแบบตามราวีให้เขาซื้อของตลอดเวลาทำไม ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ซื้อ แต่เราก็ควรจะมีที่มีทางให้เขาได้อ่าน เขาอาจจะมีความจำเป็นที่ไม่สามารถซื้อหนังสือเล่มนี้ได้ แต่มาขออ่านได้ไหม ในมุมของเราคือมาทุกวันเลยก็ได้ จริงๆ มาทุกวันก็ดี มาสั่งเครื่องดื่มสักแก้วเราก็แฮปปี้แล้ว ร้านหนังสือไม่ได้ต้องการกำไรอะไรเยอะ แค่ต้องการให้คนมาอยู่ใน Ecology ของร้าน ถ้าเราทำให้ร้านมันสนุกได้การซื้อขายก็จะรันของมันไปเอง”

“การปรับตัวอีกอย่างหนึ่งของร้านคือการคิดระบบการสมัครสมาชิก เราก็เอาวิธีแบบร้านเช่านิยายมาปรับใช้กับร้านหนังสืออิสระ บางคนเขาประสบปัญหาทางการเงิน เราก็คิดว่าถ้าบางคนไม่มีก็ให้เขายืมไหม ถ้าคุณอยากยืมหนังสือไปอ่านก็วางเงินมัดจำกับร้าน อ่านแล้วชอบก็ซื้อ อ่านแล้วไม่ชอบก็เอาหนังสือมาคืน เราก็จะคืนเงินมัดจำให้ ถ้าหนังสือที่เอากลับมาคืนมีรอยฟกช้ำ เราก็ไปใส่ไว้ที่ชั้นหนังสือ เดี๋ยวก็มีคนที่มาอ่านมือสองไปเรื่อยๆ เรารู้สึกว่าแบบนี้มันก็แฮปปี้ทุกฝ่าย”

อีกเสน่ห์อย่างหนึ่งของร้านที่เราชอบมากคือมุม Book Swap ที่ตั้งอยู่หน้าร้าน ใครมีหนังสือล้นบ้านจนไม่มีที่เก็บแล้วก็นำมาแลกกัน หรือถ้าใครที่ไม่มีหนังสือติดไม้ติดมือมา แต่อยากหยิบไปอ่านก็ได้เช่นกัน แล้วจะบริจาคกี่บาทก็ได้ตามต้องการ เงินบริจาคทั้งหมดก็จะเอาไปหมุนเวียนซื้อหนังสือมาเติมอยู่เรื่อยๆ

“ช่วงนี้จะมีฝรั่งคนหนึ่งมายืน swap หนังสือตลอดเวลา คือเขาไม่มีปฏิสัมพันธ์อะไรกับร้านเลยนะ แค่มายืนเลือกๆ หนังสือ เอาหนังสือของตัวเอง swap ไว้แล้วก็เลือกหนังสือไป ซึ่งวัฒนธรรมแบบนี้มันเป็นที่นิยมมากในเมืองนอก เดินไปตามทุกหัวถนนจะมีตู้ที่เป็น Book Swap หรือ Book Drop ตั้งอยู่ ในขณะที่บ้านเรามันไม่มี เรารู้สึกว่าประเทศไทยควรจะทำให้ร้านหนังสือในบ้านเราเป็น Destination แบบนี้ แค่อยากมา Book Swap แลกหนังสือจากประเทศไทยกลับไป”

‘ความหลากหลายของร้านหนังสืออิสระ’

แม้ตอนนี้จะมีหนังสือเด็กหรือหนังสือเกี่ยวกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศวางขายมากมายทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ แต่ทำไมร้านหนังสือแบบเฉพาะกลุ่มบ้านเราถึงยังไม่มีเหมือนต่างประเทศสักที

“บ้านเรายังตระหนักเรื่องสิทธิ์กันไม่พอ”​ โหน่งตอบทันที

“การส่งเสริมร้านหนังสือในไทยมันยังไม่ไปถึงไหน ร้านหนังสือทั่วไปว่าแย่แล้ว แต่ร้านหนังสือที่เป็นเฉพาะกลุ่มยิ่งแย่ไปอีก ถ้าไปเมืองนอกเราก็จะเห็นร้านหนังสือที่มันเฉพาะมากๆ เช่น ร้านหนังสือสำหรับเด็กหรือร้านหนังสือสำหรับ LGBT ถ้าเราไปกดดูมันจะขึ้นเป็นลิสต์ทั่วโลกเลยนะ แต่บ้านเราไม่มีเพราะรัฐเองไม่ได้เอื้อ ในขณะที่มุมมองของผู้ประกอบการก็คงมองเรื่องของความคุ้มทุน

“จริงๆ ถ้าบริหารจัดการดีๆ เราว่ามันไปได้ อย่างร้านหนังสือสำหรับ LGBT หลายประเทศมันกลายเป็น Destination ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เวลาไปประเทศนี้แล้วต้องไปที่นี่ให้ได้ หรือการที่มีร้านหนังสือสำหรับเด็กอยู่ตามมุมพิพิธภัณฑ์ ที่ไม่ใช่มีแต่ร้านขายของที่ระลึก เราหวังว่าวันหนึ่งร้านหนังสือบ้านเราจะไปถึงตรงนั้น”

‘สิบปีแห่งความผูกพัน’

ตลอดสิบปีที่ผ่านมา HOC ต้องเผชิญอุปสรรคมาไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องสถานที่ตั้ง การบริหารเงินทุน ขาดแคลนสตาฟ รวมไปถึงสถานการณ์โควิด ที่ทำให้ยอดขายหนังสือหน้าร้านลดฮวบจนกลายเป็นศูนย์ แต่ด้วยการปรับตัวและแรงสนับสนุนของชุมชนทำให้ร้านยังอยู่ต่อไปได้ 

“ร้านเราก็จะคอนเน็กต์กับชุมชนตลอดเวลา เวลามีปัญหาอะไรเราก็จะรู้ จริงๆ การเที่ยวชุมชนมันก็มีเรื่อง Concern ไม่ใช่คุณเดินเข้าไปในชุมชนแล้วไปแหกปากเสียงดัง เอาขยะไปทิ้งหรือไปเซลฟี่ถ่ายหน้าบ้านเขา เรื่องพวกนี้มันเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของคนในชุมชน เราก็เลยทำ Talad Noi Travel Guide แผ่นที่ท่องเที่ยวย่านตลาดน้อยขึ้นมา แล้วก็เขียนข้อปฏิบัติของการเที่ยวชุมชนสอดแทรกเข้าไปด้วย เราคิดว่าเรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังกัน” 

“พอช่วงโควิดลูกค้ามาร้านไม่ได้ เราก็ไปคิดเรื่องเดลิเวอรี กาแฟ เบเกอรี หรือการขายหนังสือออนไลน์ จนกระทั่งช่วงที่สตาฟประจำที่ร้านออก ลูกค้าประจำก็หายไปเลย เรารู้สึกว่าการมาอยู่ในชุมชนที่มันไดนามิกมากๆ มันไม่มีความมั่นคง หลังโควิดก็มีบางร้านที่เจ๊งไป จะเหลือแค่ร้านที่มีการปฏิสัมพันธ์กับชุมชนที่ยังรอด”

“เราพยายามจะบอกสตาฟว่าต้องใส่ใจลูกค้าในชุมชนเป็นพิเศษ อย่างเคยมีอาเจ็กที่มากินกาแฟที่ร้านทุกวัน ตอนที่เขาหายไปหลายวันสตาฟก็เคยไปตามที่บ้าน กลัวว่าจะเป็นอะไรรึเปล่า มันก็จะเป็นความผูกพันแบบนี้ การที่เราได้มาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ระบบนิเวศของชุมชนที่ดี เราก็ตอบแทนให้ชุมชน มันเป็นวิธีคิดแบบดั้งเดิมเลยคือใครทำดีกับเรา เราก็ตอบแทนเขาแค่นั้นเอง

‘เราอยู่ในยุคที่คนโหยหา Public Space’

ในยุคที่มีการไล่รื้อสถานที่เก่าและชุมชนให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ แต่พื้นที่แห่งนี้กลับพยายามทำทุกอย่างให้คงสภาพเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด 

บนชั้นสามของร้านจะมีสเปซโล่งๆ มีลมพัดเบาๆ เข้ากับแสงแดดที่ส่องลอดผ่านหน้าต่างไม้เก่า บนชั้นลอยยังเต็มไปด้วยหนังสือโบราณคดี ประวัติศาสตร์ชุมชน และหนังสือเก่าหายากที่ร้านจัดเก็บไว้ให้เลือกหยิบอ่านได้ตามสบาย ทั้งหมดทั้งมวลรวมกันเป็นบรรยากาศสบายๆ ชวนให้เอนหลังอ่านหนังสือนานๆ 

“เราพยายามทำทุกอย่างให้เป็นเหมือนเดิม หน้าต่างราวบันไดไม่ได้เปลี่ยนใหม่ แม้กระทั่งฝ้าเองก็ไม่ได้ตีปิด เราพยายามเก็บรักษาทุกอย่างให้เหมือนเดิม เพราะเรารู้ว่ามีคนรุ่นใหม่ที่เขาต้องการสถานที่แบบนี้ มันไม่ใช่แค่การอ่านหนังสือ แต่มันคือการเอาตัวเราเข้าไปสัมผัสกับสิ่งเก่าในอดีต เพื่อที่จะให้เกิดแรงบันดาลใจในการค้นคว้าหรือทำงาน

“ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่กำลังโหยหา Public Space การออกจากบ้านในวันหยุดควรจะมีที่ให้ได้พักผ่อน มีดนตรีกีฬาให้เล่น มีนิทรรศการศิลปะให้ดู ซึ่งร้านหนังสืออิสระก็ควรจะเป็นเฟืองหนึ่งที่คนเข้ามาใช้ชีวิตได้ แล้วที่สำคัญคือมันควรจะอยู่ใกล้บ้าน ใกล้ชุมชนของตัวเอง อันนี้คือสิ่งที่รัฐบาลหรือระบบราชการต้องส่งเสริมระบบนิเวศของเมืองให้มันเกิดบรรยากาศแบบนี้ให้ได้

“เราไม่อยากให้มันเป็นเทรนด์ แต่อยากให้เป็นวิถีชีวิตของคนในยุคต่อไป”

สถานที่แห่งนี้ไม่ว่าจะมากี่ครั้งก็ยังทำให้เรารู้สึกอบอุ่นหัวใจเสมอ เรามั่นใจว่า HOC อาจเป็นเพราะเวทมนตร์จากบทสนทนา เสียงหัวเราะ และมิตรภาพที่หาจากร้านอื่นไม่ได้

และถ้าคุณมีโอกาสได้ผ่านมาตรงสะพานพิทยเสถียร เราขอชวนให้ลองเข้ามาร้าน HOC รับรองว่าคุณจะต้องตกหลุมรักเหมือนกับเราแน่นอน 

House of Commons – BookCafe & Space

สถานที่ตั้ง: HOC 1038, 4 ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร

แผนที่: https://goo.gl/maps/41NYUxrWB8PZt9dz8

เวลาทำการ: ทุกวัน เวลา 9.00 – 18.00 น. 

การเดินทาง: นั่งรถไฟใต้ดิน MRT มาลงสถานีหัวลำโพง แล้วต่อแท็กซี่หรือรถเมล์สาย 1, 35 และ 75 ลงที่ป้ายรถเมล์โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม เดินข้ามฝั่งมาตรงสะพานพิทยเสถียร ร้านอยู่เชิงสะพานติดริมคลองผดุงกรุงเกษม

PHOTOGRAPHER

ชัชชัญญา หาญอุดมลาภ

ช่างภาพสายกิน ที่ถ่ายรูปได้นิดหน่อย แต่กินได้เยอะมาก

ILLUSTRATOR

กุลธิดา อิสลาม

คอนเทนต์ครีเอเตอร์ผู้อยากเป็นเชฟ