A BOOK with NO NAME ร้านหนังสืออิสระที่มีศิลปะและแมวสี่ตัวให้จกพุงแห่งเดียวในศรีย่าน

ตึกแถวเก่าสีขาวสะอาดตาตัดกับโทนเขียวเข้มสองคูหาที่ซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบๆ แห่งเดียวในศรีย่าน ใครเดินหรือนั่งรถผ่านไปมาย่านนี้อาจจะคิดสงสัยว่าสถานที่แห่งนี้คืออะไรกันแน่

ร้านหนังสือ คาเฟ่ สตูดิโอ อาร์ตแกลเลอรี หรือร้านขายเฟอร์นิเจอร์?

เราละทิ้งความสงสัยแล้วผลักประตูเข้าไปพูดคุยกับ กา–วิทยา ก๋าคำ และ โดนัท–งามแสนหลวง สิงห์เฉลิม ท่ามกลางบรรยากาศร้านที่รายล้อมไปด้วยแมวทั้งสี่

ร้านนี้ก่อตั้งโดยเพื่อนสนิทจากรั้วศิลปากรวังท่าพระ ผู้ชื่นชอบศิลปะและรักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ พวกเขาทั้งสองเหมือนกับนักอ่านคนอื่นที่อยากเป็นเจ้าของร้านหนังสือเล็กๆ และใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งที่รักในย่านเมืองเก่าที่ผูกพันมาตั้งแต่สมัยเรียน โดยมี ‘ร้านหนังสือเดินทาง’ ที่ทั้งคู่ชอบไปคลุกคลีอยู่เป็นประจำเป็นต้นแบบและที่ปรึกษา

ชื่อร้าน A BOOK with NO NAME มีแนวคิดมาจากเพลง A Horse With No Name ของวง America ซึ่งเป็นเพลงโปรดของทั้งคู่ โดยเนื้อหาเพลงเป็นการเดินทางในทะเลทรายที่ต้องผ่านอุปสรรคมากมาย เปรียบเหมือนการเดินทางของร้านหนังสือแห่งนี้ของพวกเขาทั้งสอง

‘ร้านประหลาดในศรีย่าน’

หากอยากดูร่องรอยกรุงเทพฯ ในยุคหลังสงครามโลก ศรีย่านนับเป็นย่านเก่าแก่แห่งหนึ่งที่ยังมีตึกแถวสมัยนั้นหลงเหลืออยู่ ถึงแม้ว่าย่านนี้จะทอดยาวตลอดเส้นสามเสน และตามเส้นถนนที่ตัดขวางอย่างนครไชยศรีที่ควรจะคึกคัก แต่ด้วยความที่ใกล้ชิดเขตพระราชฐานและที่ทำการสำคัญของรัฐ ทำให้ผังเมืองโซนนี้ไม่สามารถขึ้นอาคารสูงได้ จึงมีคนพลุกพล่านน้อยให้ความรู้สึกคล้ายกับต่างจังหวัด 

จนกระทั่งมีร้านหนังสืออิสระอย่าง A BOOK with NO NAME จึงทำให้ย่านที่หม่นหมองนี้มีชีวิตชีวาขึ้นมา 

โดนัท: “ศรีย่านมันเป็นถนนสามเสนก็จริง แต่มันจะไม่เหมือนข้าวสาร บางลำพู เพราะโซนนี้จะเป็นโซนอยู่อาศัยไม่ใช่โซนท่องเที่ยว แล้วก็เป็นสังคมผู้สูงอายุหมดเลย หาคนหนุ่มสาวไม่ค่อยได้ เวลาคนแถวนี้ทำอะไรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีไม่ได้เขาก็จะเดินมาร้านเรา คนแถวนี้ก็จะเรียกเราสองคนว่าอาจารย์ แต่เราไม่ได้เป็นอาจารย์นะ เราแค่เปิดร้านหนังสือ (หัวเราะ)”

กา: “ร้านเราดูเป็นร้านประหลาดในย่านนี้ คนที่ผ่านไปมาเขาก็จะสงสัยว่าร้านนี้ทำอะไรกันแน่ คนอาจจะยังไม่ค่อยชินกับร้านอิสระในรูปแบบนี้เท่าไหร่ ตอนกลางคืนแถวนี้มันจะเงียบมาก ถ้าไม่มีร้านเราสักทุ่มสองทุ่มก็จะมืดหมดเลย เวลาร้านเรามีคนมาเช่าสถานที่ มีรายการมาถ่าย หรือมีกิจกรรมจัดงานต่างๆ คนแถวนี้เขาก็จะแฮปปี้มากเพราะเขาจะขายของได้ มีช่วงนึงที่เราไม่ค่อยได้จัดงาน ร้านข้างๆ ก็ถามอาจารย์ทำไมไม่จัดงานอีก ผมอยากให้มีงาน อยากให้มีคนผ่านไปผ่านมา” 

ถึงแม้ว่าแถวนี้จะดูเงียบเหงาไปหน่อย แต่เรากลับรู้สึกถึงความอบอุ่นและสบายใจอย่างบอกไม่ถูก เหมือนมาบ้านของคนรักหนังสือที่เปิดพื้นที่ให้คนทั่วไปเข้ามานั่งเล่นพูดคุยได้อย่างอิสระ สิ่งแรกที่น็อกหัวใจทาสให้ตายสนิทตั้งแต่ยังไม่ทันเดินเข้าร้าน คือน้องเหมียวที่นอนกลิ้งไปมาให้จกพุงต้อนรับแขกอยู่หน้าประตู 

เมื่อเข้ามาในร้านจะได้บรรยากาศสว่าง เฟอร์นิเจอร์ งานศิลปะ และต้นไม้น้อยใหญ่ถูกนำมาจัดวางไว้ตามมุมต่างๆ ได้อย่างสบายตา บนชั้นวางเต็มไปด้วยหนังสือที่ดึงดูดเหล่านักอ่านได้เป็นอย่างดี ทั้งวรรณกรรมคลาสสิก ประวัติศาสตร์ ปรัชญาการเมือง จิตวิทยา ศาสนา ปรัชญา รวมไปถึงบทกวีที่นักเขียนรุ่นใหม่อิสระมาฝากขาย ในราคาที่คนกระเป๋าแบนอย่างเราเอื้อมถึงได้ไม่ยาก และที่สำคัญร้านนี้ไม่มีขายออนไลน์เพราะเชื่อว่าการเดินเข้ามาที่ร้านหนังสือจะทำให้เราได้สำรวจความชอบตัวเองและได้สัมผัสตัวตนหนังสือมากขึ้น

 กา: “ร้านหนังสืออิสระมันเปิดทางเลือกให้คุณ เป็นพื้นที่เปิดกว้างให้หนังสือเล่มอื่นได้นำเสนอตัวเองด้วย ซึ่งบางทีคุณก็ไม่รู้หรอกว่ามันมีหนังสือเล่มนี้อยู่ แต่คุณต้องการมันนะ คุณต้องได้อ่านหนังสือเล่มนี้ แต่ถ้าคุณสั่งในออนไลน์คุณจะไม่มีทางเห็นมัน เสน่ห์ของการซื้อในร้านหนังสือคือการที่คุณค่อยๆ เดินค่อย ๆ พลิกหน้ากระดาษสำรวจตัวตนของหนังสือ มันก็ต้องโดนสักเล่มบ้างแหละ”

‘การใช้ชีวิตคนเมืองสมัยนี้มันเหงาไปหน่อย’

สิ่งที่ผลักดันให้ร้านหนังสือคึกคัก นอกจากตัวหนังสือเองแล้ว บ่อยครั้งกิจกรรมในร้านหนังสือก็เป็นเรื่องสำคัญ          

A BOOK with NO NAME นิยามตัวเองว่าเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เพราะนอกจากหนังสือ กาแฟ และแมวแล้ว ที่นี่ยังขับเคลื่อนตัวเองไม่ให้ร้านหยุดนิ่ง ไม่ได้รอให้ลูกค้าเข้าหาอย่างเดียว แต่ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่พวกเขามักจะจัดกิจกรรมสนุกๆ หมุนเวียนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเวิร์กช็อป Booktalk เล่นดนตรี ฉายหนังข้ามปี หรือจัดงานปาร์ตี้เทศกาลต่างๆ 

โดนัท: “เรารู้สึกว่าการใช้ชีวิตคนเมืองสมัยนี้มันเหงาไปหน่อย อย่างเวิร์กช็อปห่อหนังสือ จริงๆ ตอนแรกเราจัดขึ้นทำเล่นๆ แต่ผลตอบรับดีมาก ตอนนี้จัดขึ้นมา 5-6 ครั้งแล้ว เราคิดว่าบางทีคนแค่อยากมาหาเพื่อน ได้ลองทำกิจกรรมใหม่ๆ รู้จักคนใหม่ๆ เราเป็นคนทำงานออฟฟิศ เราเข้าใจอยู่แล้วว่าการใช้ชีวิตมันเหงาขนาดไหน พอมาทำกิจกรรมที่นี่ก็ได้มาเที่ยวย่านเมืองเก่าศรีย่านไปด้วย”

กา: “เราไม่ได้คิดว่าตัวเองทำธุรกิจ เราคิดว่านี่คือคอมมูนิตี้ของคนที่รักการอ่าน การเขียน งานศิลปะ ฟังเพลง งานสร้างสรรค์ มาอยู่ร่วมกัน เราแค่อยากให้คนรู้สึกว่าถ้าไม่รู้จะไปไหนก็นึกถึง A BOOK with NO NAME”

โดนัท: “มีลูกค้าต่างจังหวัดหลายคนที่เพิ่งมาอยู่กรุงเทพ เขาไม่มีเพื่อน ไม่รู้จะไปไหน สุดท้ายเขามาที่นี่ เพราะเขารู้สึกว่าที่นี่มันปลอดภัย มันอบอุ่น ไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก บางคนที่กลายมาเป็นเพื่อนกันแล้ว พอถึงเวลาสำคัญในชีวิต อย่างเช่นแต่งงาน ก็มาถ่ายพรีเวดดิ้งที่ร้าน หรือเรียนจบแล้วก็ขอเอาชุดครุยมาถ่ายรูปกับเรา การมีอยู่ของร้านเรามันทำให้เขาได้มีปฏิสัมพันธ์กับคน” 

‘เราอยากสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้มันดีขึ้น’

ความตั้งใจของร้านคือสร้างแรงบันดาลใจในการอ่านให้กับนักอ่านรุ่นใหม่ๆ อยากจะทำให้คนที่มีไลฟ์สไตล์อื่นๆ ที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกันที่ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือได้เปิดใจอ่านหนังสือมากขึ้น และสำหรับคนที่ชอบอ่านหนังสืออยู่แล้วก็เปิดโลกให้รู้จักหนังสือที่หลากหลายกว่าเดิม

โดนัท: “สิ่งที่เราภูมิใจคือเราสร้างนักอ่านหน้าใหม่ได้ค่อนข้างเยอะ บางคนเขาอาจจะไม่ได้มาร้านเพราะหนังสือ เขาอาจจะมาเพราะแมว กินกาแฟ หรือมาทำกิจกรรมในร้าน แต่การที่มาร้านหนังสือบ่อยๆ เราเชื่อว่าสักวันนึงคุณก็ต้องหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านบ้างแหละ

“อีกอย่างนึงเรารู้สึกว่าวัฒนธรรมการอ่านบ้านเรามันไม่เข้มแข็ง มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ลึกมาก ยกตัวอย่างคณะที่เกี่ยวกับศิลปะหรือวรรณกรรมในมหาวิทยาลัย บางทีเขาก็วางหลักสูตรแบบประหลาด เด็กต้องไปเก็บงานซีไรต์ เคยมีน้องคนหนึ่งที่เรียนเกี่ยวกับวรรณกรรมมาตามเก็บซีไซต์ที่ร้านเรา เราก็ถามว่าทำไมต้องซีไรต์ ซีไรต์แปลว่าดีเหรอ แล้วเราเคยอ่านงานอะไรที่ไม่ใช่ซีไรต์ไหม รู้จักวรรณกรรมคลาสสิกโลกรึเปล่า คือเราพยายามลบล้างความคิด เราอยากสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้มันดีขึ้น เขาจะได้อ่านหนังสือที่ไม่ใช่แค่อ่านตอนเรียน แต่เขาจะอ่านไปทั้งชีวิต”

กา: “เหมือนมันถูกรางวัลการันตีว่าดี แต่ถ้าเราใช้ชีวิตมากขึ้นหรืออ่านมากขึ้น เราก็จะรู้ว่ามันก็อาจจะไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป แม้กระทั่งงานที่มีรางวัลการันตีก็ตาม”

‘ร้านหนังสือมันถูก romanticized’ 

หนึ่งในความฝันสูงสุดของหนอนหนังสือคือ การมีร้านหนังสือเป็นของตัวเองสักร้าน 

แต่น่าเสียดายที่ความฝันนี้ไม่ได้สวยหรูอย่างที่หลายคนคิด 

กา: “เกลียดขี้หน้าใครอยู่ให้มันไปเปิดร้านหนังสือ (หัวเราะ)

“แต่เอาจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องตลกนะ มันคือเรื่องจริงเลยแหละ คือร้านหนังสือมันถูก romanticized มาก มันอาจจะมาจากหนังสือวรรณกรรมหรือหนัง Nothing Hill ที่มัน romanticized ร้านหนังสืออิสระมากๆ คนส่วนใหญ่เขาจะรู้สึกว่าอิฉฉาชีวิตเราจังเลย ชิลจังเลยได้อ่านหนังสือ คือจริงๆ มันคือภาพระดับพื้นผิว แต่ลึกไปกว่านั้นมันคือการบริหารจัดการ เรื่องสต็อก ปวดหัวกับสายส่ง”

โดนัท: “มันมีปัญหาเยอะมาก คนอื่นอาจจะคิดว่า โหดีจังเลยลงมาเจอหนังสือ แต่สายตาคนทำร้านหนังสือมองลงมาเห็นคือ ไอเหี้ยหนังสือแม่งเต็มเลย อันนี้ขายไม่ออก อันนี้สต็อกยังแน่นอยู่ มันมองต่างกันเลยนะ ร้านหนังสือนี่ทำให้เจ้าของร้านหนังสือเป็นโรคซึมเศร้าไปหลายคนแล้ว มันไม่ได้โรแมนติกเลย อย่างที่บอกว่าคนอ่านหนังสือมันจะคิดเยอะกว่าคนปกติอยู่แล้ว ถ้าไม่มีช่วงเวลาที่พาเราออกมาจากปัญหานั้นเลย เราต้องเป็นบ้าแน่ๆ ร้านหนังสือบางวันมันเงียบมาก มันแทบไม่มีคน ถ้าไม่มีแมวร้านมันจะไม่มีชีวิตเลย จะรู้สึกหดหู่มากๆ เวลาเรานอยด์ๆ เซ็งๆ เราก็ไปเล่นกับแมว มันช่วยเราได้เยอะ” 

ในช่วงโควิด 2-3 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่น่าเศร้าสำหรับคนรักหนังสือคือร้านที่เคยไปประจำทยอยปิดตัวทีละร้านสองร้าน เราสงสัยว่าพวกเขาเคยมีความคิดที่จะปิดร้านนี้บ้างไหม

กา: “ไม่เคยเลย เรารู้สึกเสียดาย เรารักมันอย่างกับลูกเลย เรารู้สึกว่าการปิดมันยากมาก การจะเปิดมันง่ายกว่าการจะปิดเยอะ ด้วยความที่เราทั้งสองคนก็มีงานประจำมีรายได้หลักอยู่แล้ว เราไม่ซีเรียสเลย เพราะเราชอบที่จะทำ ให้คิดว่าสักวันเราจะปิดร้านนี้นะ เชี่ย เราจะทำยังไงต่อวะ เรารู้สึกว่ามันเป็นความมืดมนในชีวิตมากกว่า แต่ถ้าในอนาคตอยู่ไม่ไหวจริงๆ มันก็ต้องปิด ในแง่ของรายได้ ขาดทุนทุกเดือนมันไม่มีใครอยู่ได้หรอก

“จริงๆ ช่วงโควิดร้านหนังสืออยู่ไม่ได้เลย เพราะพื้นฐานเราทั้งสองคนต่างมีงานประจำอยู่แล้ว เราไม่ได้ใช้ร้านหนังสือเพื่อยังชีพ สมมติว่าไม่ได้กำไรสักปีสองปี แค่เท่าทุนเราก็พอทำมันได้ เราไม่ได้เครียดจนเกินไป เราไม่อยากเป็นทุกข์กับความฝันของเรา เราไม่อยากอยู่กับมันแล้วรู้สึกไม่มีความสุขเลย สิ่งสำคัญของการเปิดร้านหนังสือคือต้องรักมันมากๆ สำหรับเราถ้าไม่มีลูกค้าเลยก็สามารถนั่งอ่านหนังสือของเราได้ แล้วก็คิดว่าชีวิตมันก็คงไม่แย่มั้ง แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ได้หลอกตัวเองนะ”

โดนัท: “นี่ยังเซอร์ไพรส์ตัวเองเลยว่าอดทนทำมาได้ขนาดนี้ แต่อย่างประเทศที่เจริญแล้วเขาช่วยกัน กำหนดมาเลยว่า 18 เดือนห้ามลดราคา แต่โครงสร้างระบบหนังสือบ้านเรามันก็ไม่ได้เอื้อ การแค่มีร้านหนังสือแล้วก็ไม่เจ๊งภายในห้าปีสิบปีก็ดีใจแล้ว”

‘การมีร้านหนังสือคือการออกมาใช้ชีวิตของคน’

 การมีอยู่ของร้านหนังสืออิสระไม่ใช่แค่ขายหนังสือที่เราหยิบมาแล้วจ่ายเงินเดินออกไป แต่มันทำหน้าที่ที่มีความหมายมากกว่านั้น 

โดนัท: “แถวนี้มันจะใกล้วัง ใกล้ที่พักอาศัย เป็นที่ทรัพย์สินส่วนของพระมหากษัตริย์ มันก็เลยไม่มีที่ให้เช่า แล้วมันก็ทำอะไรไม่ได้มาก เราก็อยากให้มีคาเฟ่ ร้านอาหาร อาร์ตสเปซเก๋ๆ แต่เราควบคุมอะไรไม่ได้ แค่เอาร้านตัวเองให้อยู่รอดก็ยากแล้ว เราแค่รู้สึกว่าที่แบบนี้มันควรจะทำประโยชน์อะไรได้มากกว่านี้ 

“ล่าสุดเราไปฮ่องกงแล้วเดินผ่านซอกตึกที่แคบมากๆ เขาบอกว่าที่นี่เป็น City Library เราอายฉิบหายเลย เพราะบ้านเรามันไม่มีแบบนี้ ซึ่งจริงๆ สังคมฮ่องกงเขารันทดกว่าเราอีก บ้านเมืองเขาเจริญแต่พื้นที่เขามันจำกัดมาก คนจะต้องออกมานั่งเล่นตามใต้สะพานลอย เขาก็จะพกเก้าอี้ปิกนิกไป หรือไม่ก็ไปคลุกตัวอยู่ที่ City Library ก่อนเข้าไปเราก็คิดว่ามันจะต้องเจอหนังสืองอๆ เก่าๆ แน่เลย แต่ไม่เลยมันดีมาก มีมุมให้คนอ่าน มีให้ยืม มีนิทานเด็ก มีที่ให้เลี้ยงเด็กอ่อน มีนักศึกษา มีคอมพิวเตอร์ให้ใช้ เรารู้สึกว่าเราต้องการแบบนี้ในศรีย่าน 

“การที่แต่ละย่านมีร้านหนังสือเป็นของตัวเองมันสำคัญนะ ในต่างประเทศการมีร้านหนังสือในแต่ละพื้นที่มันคือการออกมาใช้ชีวิตของคน อย่างเสาร์อาทิตย์ไลฟ์สไตล์ชีวิตเขาไม่ได้ไปห้างนะ เขามาร้านหนังสือ เขาเอาลูกมา เขาให้ลูกเริ่มอ่านนิทาน แล้วเรารู้สึกว่าอยากให้ประเทศไทยมัน beyond ไปถึงตอนนั้นสักที”

A BOOK with NO NAME 

สถานที่ตั้ง: A BOOK with NO NAME 721-723 ซ.สามเสน 17 ถ.สามเสน

แผนที่: https://goo.gl/maps/TyxpWozhiyAqvSAv6

เวลาทำการ: ทุกวัน เวลา 12:00-19:00 น. (ปิดทุกวันจันทร์)

การเดินทาง: นั่งรถไฟใต้ดิน MRT มาลงสถานีบางโพ แล้วต่อแท็กซี่หรือรถเมล์ที่ผ่านศรีย่านได้หมดเลย หรือนั่งรถไฟ BTS ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แล้วต่อรถเมล์สาย 14 เกาะราชวิถีลงตลาดศรีย่านสุดสาย เดินต่อมาปากซอสามเสน 17 ได้ใน 500 เมตร


ภาพ: A BOOK with NO NAME

PHOTOGRAPHER

ชัชชัญญา หาญอุดมลาภ

ช่างภาพสายกิน ที่ถ่ายรูปได้นิดหน่อย แต่กินได้เยอะมาก

ILLUSTRATOR

กุลธิดา อิสลาม

คอนเทนต์ครีเอเตอร์ผู้อยากเป็นเชฟ