ป๊อบ ภาคภูมิ : ชายหนุ่มผู้ทำงานไม้เพื่อตอบคำถามของชีวิตจากภายใน

Highlights

  • ป๊อบ–ภาคภูมิ วิทยวรการ คืออดีตสัตวแพทย์หนุ่มผู้ตัดสินใจหันหลังให้กรุงเทพฯ และกลับบ้านไปสร้างอาณาจักรงานไม้ของตัวเองในจังหวัดบุรีรัมย์
  • ป๊อบเรียกการทำงานไม้ลักษณะนี้ของเขาว่า งานไม้สายภาวนา จุดประสงค์หลักในการทำงานไม้ของเขาไม่ใช่การซื้อ-ขาย แต่เมื่อทำเสร็จเขาจะโพสต์ผลงานลงบนเฟซบุ๊ก หากมีใครสนใจในงานไม้และให้คุณค่าในแบบเดียวกัน ก็อาจเกิดการแลกเปลี่ยนกันขึ้น
  • แต่กว่าจะกลับบ้านได้ก็ไม่ง่าย เพราะเขาใช้เวลากว่า 3 ปีในกรุงเทพฯ หลังออกจากงาน เพื่อหาคำตอบว่าเขาจะกลับไปทำอะไรที่บ้าน

วัยหนุ่มสาวสำหรับหลายคน คงเป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างเนื้อสร้างตัว และช่วงเวลาแห่งการขบคิดเรื่องชีวิตและตัวตน เช่นกันกับ ป๊อบ–ภาคภูมิ วิทยวรการ อดีตสัตวแพทย์หนุ่มผู้ตัดสินใจหันหลังให้กรุงเทพฯ และกลับบ้านไปสร้างอาณาจักรของตัวเองในจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิตผ่านการทำงานไม้สายภาวนา

ป๊อบใช้เวลาช่วงแรกหลังเรียนไปกับการทำงานด้านสัตวแพทย์ตามสายงานที่เรียนมา ก่อนจะขยับขยายมาเปิดคลินิกของตัวเอง ระหว่างนั้นเขาก็เริ่มสนใจในศาสนา ด้วยความคิดที่ว่าศาสนาน่าจะช่วยตอบคำถามในใจที่ป๊อบพยายามทำความเข้าใจ

“เรานั่งสมาธิเยอะมาก ซึ่งเรารู้สึกว่ามันก็ได้ความสงบ ได้ความปีติ แต่มันก็เอามาใช้ในชีวิตจริงไม่ได้เพราะมันไม่มีรูปธรรม เราจะนั่งสมาธิไปทั้งปีทั้งชาติไม่ได้ เรายังต้องทำงาน”

แต่งานรักษาสัตว์กลับไม่ใช่สิ่งที่ตอบคำถามภายในใจของป๊อบได้ ทำให้เขาเกิดความต่อต้านภายใน สั่งสมเป็นความเครียดและต้องการหลีกหนี

“เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่คำตอบของเรา ยิ่งอยู่ในเมืองยิ่งเห็นชัดว่าจริงๆ แล้วสิ่งข้างนอกที่เราไล่แสวงหากันมันไม่ใช่สิ่งที่ตัวเราให้คุณค่า เราก็เลยอยากหาทางเลือกอื่นให้กับชีวิต

“ตอนนั้นไปรู้จักเพื่อนที่ทำด้านงานไม้เลยไปเรียนกับเขา แล้วก็ค้นพบว่างานไม้มันมีมิติข้างในลึกๆ คือเรื่องจิตวิญญาณ ความสงบ คล้ายกับการภาวนาอยู่เหมือนกัน เราก็เลยเจอว่า อ๋อ นี่ไงที่เราต้องการ”

การกลับบ้านของป๊อบไม่ได้เกิดขึ้นปุบปับ เขาใช้เวลากว่า 3 ปีในกรุงเทพฯ หลังออกจากงาน เพื่อหาคำตอบว่าเขาจะกลับไปทำอะไรที่บ้าน

“ระยะเวลา 3 ปีที่เราหาทางกลับบ้านนั้น เราปะทะกับคนรอบข้างสูงมาก ปะทะกับพ่อแม่ที่เขามีชุดความคิดคนละอย่าง ชีวิตคู่ก็พังไปแล้วเพราะเราไม่ได้มีคุณค่าความเชื่อเหมือนกัน ซึ่งมันพาเราไปสู่เรื่องราวที่หนักมากแทบถึงขั้นจะฆ่าตัวตายก็ว่าได้ เพราะไม่มีใครเข้าใจ มีแต่คำถามที่กรูเข้ามาว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิต ซึ่งฉันก็ไม่รู้หรอก แต่ฉันขอใช้เวลาตรงนี้เพื่อที่จะเข้าใจมันจริงๆ ได้ไหม ฉันรู้แค่ที่ทำมาทั้งหมดมันไม่ใช่ฉัน ฉันทำไม่ได้อีกแล้ว แต่ก็ไม่รู้หรอกว่าจะทำอะไร

“สิ่งที่ทำให้เราผ่านตรงนั้นมาได้ก็คืองานไม้ เราทำงานไม้มาตลอด มันเป็นเพื่อนขณะที่เราอยู่ตัวคนเดียว มันค่อยๆ กล่อมเกลาให้เราเข้าใจเรา ในโมงยามที่เราต้องการเข้าใจตัวเองมากขึ้น เราก็นั่งลงและเริ่มทำงานไม้”

เวลาผ่านไปกระทั่งหลังน้ำท่วมใหญ่เมื่อ พ.ศ.2554 เมื่อน้ำเริ่มลดลง ป๊อบตัดสินใจขับรถออกจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่จังหวัดบุรีรัมย์

“เราตัดสินใจกลับบ้านเพราะเราอยากจะพึ่งตัวเองเป็นหลักสักที เราสร้างบ้านง่ายๆ ทำสวน ปลูกต้นไม้ เพราะเราอยากมีอาณาจักรของเราเอง เป็นที่ที่เราอยากจะอยู่ ก็เริ่มจากทำทุกอย่างเท่าที่เราจะทำเองได้ ไม่ต้องซื้อเขา ไม่ต้องจ้างเขามาก

“พอสิ่งพื้นฐานในการอยู่อาศัยมันอยู่ได้แล้ว เราก็เริ่มทำงานไม้ในเชิงข้างในเพื่อตอบคำถามข้างในของเราต่อ ก็คือการเดินทางกลับบ้านข้างในของเราจริงๆ

“ผมเป็นคนที่สงสัยกับความหมายของชีวิตมาก ผมมักจะหาคำตอบว่าชีวิตคืออะไร เราเกิดมาทำอะไร ซึ่งสิ่งที่เราสงสัยมันก็ค่อยๆ คลี่คลายและถูกผ่อนถ่ายออกไปกับเศษไม้ที่เราแกะออกไปนั่นแหละ เศษไม้ทำให้เรารู้ว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด ไม่มีทางที่เราจะหาคำตอบด้วยการขบคิดได้อย่างแน่นอน ดังนั้นคุณต้องหายสงสัยกับมันแล้วลงมือทำอะไรบางอย่างต่างหาก”

ป๊อบเรียกการทำงานไม้ลักษณะนี้ว่า งานไม้สายภาวนา จุดประสงค์หลักในการทำงานไม้ของเขาไม่ใช่การซื้อ-ขาย แต่เมื่อทำเสร็จเขาจะโพสต์ผลงานลงบนเฟซบุ๊ก หากมีใครสนใจในงานไม้และให้คุณค่าในแบบเดียวกัน ก็อาจเกิดการแลกเปลี่ยนกันขึ้น

“บางครั้งเราหยิบไม้ขึ้นมาหนึ่งชิ้น เราแค่อยากรู้จักกับเขาเฉยๆ ไม่มีการกะเกณฑ์ว่ามันจะไปเป็นประติมากรรมชิ้นไหน เป็นรูปร่างอย่างไร แต่มันจะเสร็จเมื่อเรารู้สึกพอใจกับมัน เราไม่เคยรู้เลยว่ามันเป็นรูปร่างแบบนี้ แต่พอมันเสร็จ เราได้รับความอิ่มเอม เราก็ได้ประจักษ์พยานว่านี่คือชั่วโมงที่เราสนทนากัน และเราได้อะไรบางอย่างมาเป็นที่ระลึก”

นอกจากป๊อบจะได้สนทนากับตัวเองผ่านการทำงานไม้แล้ว เขายังใช้งานไม้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนกับคนทั่วไปด้วยการจัดเวิร์กช็อปขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

“เวิร์กช็อปเริ่มจากจุดที่เรารู้สึกว่า เราอยู่บ้านคนเดียวมากเกินไปแล้ว มันสันโดษเกินไป ตัวเราก็จะแคบ เราก็เลยเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนกัน ให้คนได้มาเห็นคุณค่าบางอย่างร่วมกัน เพราะเราก็ต้องการการเรียนรู้เพื่อเช็กกลับว่า สิ่งที่เราทำอยู่แล้วคิดว่ามันใช่ มันถูก เราหลงตัวเองหรือเปล่า และมันก็ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจได้ด้วย”

ภายใต้ระบบสังคมที่พยายามหล่อหลอมให้ทุกคนเหมือนกันและกีดกันความแตกต่าง ป๊อบยังคงยืนยันว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเพื่อเข้าใจตัวเองและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย

“เราจะเห็นว่าความหลากหลายต่างหากคือความยั่งยืนที่แท้จริง ถึงมันจะไม่ตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจ แต่มันตอบโจทย์เรื่องอื่นอีกตั้งเยอะแยะ คุณก็รู้ว่าเรื่องพวกนั้นมันไม่ใช่ความสุข ไม่ใช่สรณะที่แท้จริงอยู่แล้ว แต่เรื่องข้างในต่างหากที่เราอยากจะเห็นเขาเปล่งประกาย แล้วเราคิดว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้า เราอาจจะเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่เราคาดไม่ถึง”

“ต้นไม้จะมีแก่นได้มันก็หลายสิบปีใช่ไหม ลองดูอย่างไม้พะยูง ปลูกมันไปเถอะสัก 30-40 ปี ถึงจะมีแก่น ก่อนหน้านั้นมันก็ไม่เข้าใจตัวเองหรอก แต่วันแรกที่มันเริ่มสร้างแก่นเส้นแรกขึ้นมานั่นต่างหากที่มันเริ่มจะรู้ว่า อ๋อ กูจะเอาประมาณนี้แหละ นั่นต่างหาก มันไม่ใช่ว่าเกิดมาปุ๊บแล้วมีแก่นเลยที่ไหนล่ะ”

ผู้ใหญ่สมัยนี้ส่วนมากอาจมองว่าคนรุ่นใหม่เห็นแก่ตัวและให้ความสำคัญกับปัจเจกมากกว่าส่วนรวม นั่นคือสิ่งที่ป๊อบได้ยินได้ฟัง และเขาเองก็ยอมรับคำกล่าวนั้นอย่างเปิดเผย

“ผมเห็นแก่ตัวแน่นอน เพราะผมรู้สึกว่าเราไม่มีทางที่จะไปช่วยใครได้เลย เราไม่มีทางที่จะเปล่งประกายแล้วเอาคุณค่าของเราไปสู่ผู้อื่นได้เลยถ้าหากว่าเราไม่รู้ว่าคุณค่าของเราคืออะไร เราต้องเริ่มจากข้างในเราก่อน เมื่อวันหนึ่งผมเห็นคุณค่าแล้ว ผมเปล่งประกายได้แล้ว ผมคิดว่าจุดนั้นต่างหากที่เราจะทำเพื่อผู้อื่นได้ ถึงจะแลกเปลี่ยนอะไรบางอย่างได้”


AUTHOR

Video Creator

อภิวัฒน์ ทองเภ้า

เป็นลูกชายคนเดียวของพ่อแม่, เป็นศิษย์เก่านิเทศศาสตร์ ม.มหาสารคาม แต่เป็นคนอุดรธานี, เป็นวิดีโอครีเอเตอร์ ประสบการณ์ 2 ปี, เป็นคนเบื้องหลังงานวิดีโอของ a day และเป็นคนปลุกปั้นสารคดี a doc, เป็นคนนอนไม่เคยพอ, เป็นหนึ่ง คือ เป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง สรรพสิ่ง คือ ไม่เป็นอะไรเลย, ตอนนี้เป็นหนี้ กยศ. และรับจ้างทั่วไป [email protected]

นวภัทร์ นาวาเจริญ

วีดีโอครีเอเตอร์คนที่ชอบเดินจ่ายตลาด