‘How to หยุดปีใหม่ให้ได้นอน’ ทำยังไงดีเมื่อการกลับบ้านพักผ่อนช่วงปีใหม่มันช่างยากเหลือเกิน

“กลับบ้านปีใหม่นี้จะนอนสัก 2 วันติดกัน”

นี่น่าจะเป็นคำพูดหรือความต้องการของใครหลายคนที่ทำงานต่างจังหวัดหรือในกรุงเทพฯ และกำลังจะมีเวลาได้หยุดยาวกลับบ้านในช่วงปีใหม่ ก็ในเมื่อทำงานหนักมาทั้งปี ตื่นเช้ากลับค่ำเกือบทุกวัน บางคนกว่าจะได้กลับบ้านก็ช่วงนี้แหละ เลยต้องคว้าโอกาสในการนอนพักผ่อนไว้ให้มั่น ใครจะมากวนการนอนของฉันไม่ได้

แต่ขอโทษที บางทีการกลับบ้านต่างจังหวัด โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลแบบนี้อาจให้ผลตรงกันข้าม เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ปีใหม่คือช่วงเวลาแห่งการ ‘เฉลิมฉลอง’ ถ้าเราไม่เฉลิมฉลอง คนอื่นก็ต้องเฉลิมฉลอง คำว่าเฉลิมฉลองก็ย่อมต้องมีการรวมตัวเพื่อประกอบกิจบางอย่างที่อาจหนวกหูสำหรับคนอยากพักผ่อนเงียบๆ แน่ๆ

ทำยังไงได้ ในเมื่อปีใหม่คือโอกาสของคนห่างไกลที่จะได้กลับมาพบหน้ากัน สำหรับบางคนอาจเป็นโอกาสเดียวในรอบปีด้วยซ้ำ ที่จะได้เฉลิมฉลองกับที่บ้านหรือเพื่อนฝูงพร้อมหน้า

แต่ในเมื่อวันหยุดปีใหม่สำหรับบางคนก็ไม่ใช่การเฉลิมฉลอง แต่คือการพักผ่อน คือการนอนหลับ คือการอยู่กับตัวเองเงียบๆ เพื่อชาร์ตแบตร่างกายให้เต็มก่อนกลับไปลุยงานที่ต่างจังหวัดอีกครั้งหลังหมดวันหยุดยาว แล้วจะทำยังไงให้ปีใหม่นี้ ได้หลับเต็มตาเต็มตื่นอย่างหวัง 

เรามาจำลองเหตุการณ์ที่อาจพบได้กันดู

3..2..1 ตูม

หนึ่งในความคลาสสิกของอุปสรรคแห่งการนอนช่วงปีใหม่คือ เสียงพลุ โดยเฉพาะช่วงเคานต์ดาวน์ข้ามไปปีใหม่ หลังสิ้นเสียง “3..2..1..” ก็ต้องตามมาด้วยเสียงพลุตูมตามที่ปลุกให้เราและสัตว์เลี้ยงที่อาจหลับไปแล้วต้องสะดุ้งตื่น เสียงพลุอาจยาวไปนานหลายนาทีได้ แล้วแต่ว่าบ้านเราตั้งอยู่แห่งหนตำบลไหน ถ้าดันไปใกล้แหล่งรวมตัวเคานต์ดาวน์ก็ซวยไป 

การจุดพลุอาจห่างไกลกับเราเกินไปในการหาทางแก้ไข (เว้นแต่ถ้าเพื่อนบ้านเป็นคนจุดพลุหรือประทัดก็อาจพอออกไปคุยได้) วิธีจัดการหลักๆ เลยคือ หาที่อุดหูซะ เพราะมันคือหนึ่งในวิธีป้องกันเสียงรบกวนได้ดีที่สุด แถมราคาก็ไม่แพง มีความเข้าใจผิดสำหรับบางคนที่คิดว่าที่อุดหูจะทำให้รู้สึกไม่ค่อยสบายตัว สบายหู เวลานอน แต่ลองหาที่อุดหูที่มีขนาดเข้ากับรูปทรงหูของเราหรือใช้วัสดุแบบนุ่มๆ ดูก็อาจช่วยได้ โดยไม่ต้องใช้หมอนหนุนมาอุดหู มันเสี่ยงจะหายใจไม่ออกเกินไปนะ

ร้องข้ามกำแพง(บ้าน)

หนึ่งในความบันเทิงที่ง่ายที่สุดสำหรับครัวเรือนในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง คือ การร้องคาราโอเกะ เรียกได้ว่าคิดอะไรไม่ออกก็ร้องคาราโอเกะเสียเลย แต่ปัญหาหลักๆ นอกจากเสียงดังที่ลอยมาเข้าหูเราซึ่งอยู่ข้างบ้านแล้ว คือบางครั้งพี่ๆ ที่จับไมค์ครวญเหล่านั้นคือ ‘นักร้องเสียงเพี้ยน’ ที่แข่งกันตะเบ็งร้องผิดคีย์ และไม่มีใครคอยปราม (บางคนร้องเลียนเสียงศิลปินต้นฉบับเสียอีก) แถมยิ่งดึก ยิ่งใกล้ช่วงเคานต์ดาวน์ ก็ดูเหมือนดีกรีความมันจะทวีขึ้นไปอีก จนรบกวนการนอนเป็นอย่างมาก

แน่นอนว่าคงไม่ใช่ทุกคนที่กล้าเดินดุ่มเข้าบ้านข้างๆ เพื่อไปบอกให้ลดเสียง เหตุการณ์ทะเลาะกันจากความไม่พอใจในเรื่องการตักเตือนจนลงเอยด้วยเรื่องเศร้าก็มีให้เห็นมาแล้วตามหน้าข่าว ฉะนั้น นอกจากการทำใจแล้ว หากเรารู้ว่าบ้านข้างๆ กำลังจะมีปาร์ตี้ยามค่ำคืน (สังเกตจากการที่มักจะมีการเตรียมสถานที่กันในช่วงเย็นๆ) หากในหมู่บ้านเรามีหัวหน้าชุมชน ก็อาจไปปรึกษาเพื่อหาทางให้หัวหน้าชุมชนไปพูดคุยกับลูกบ้านทั้งหลาย เพื่อกำหนดเวลาเฉลิมฉลองกัน

หรือไม่อย่างนั้น ถ้าเรามั่นใจในลูกคอของตัวเอง ก็ไปขอดวลเสียงร้องกับพี่ๆ ข้างบ้านเลยก็ได้ ไหนๆ ก็นอนไม่หลับแล้ว

อุ๊ย ญาติเยอะ

อีกหนึ่งความคลาสสิกที่บางทีเราไม่ได้เลือก แต่ครอบครัวเป็นคนเลือก คือการเชิญญาติโกโหติกามาร่วมเฉลิมฉลองปีใหม่กัน ถ้าการรวมตัวนั้นเกิดขึ้นที่บ้านญาติ ไม่ใช่บ้านเรา ก็อาจหาทางอ้างไม่ไปร่วมงานได้ แต่หากบังเอิญบ้านเราดันเป็นเป้าหมายของการรวมตัว แล้วเราจะหนีไปไหน ในเมื่อเราก็อยากนอนอยู่บ้านสบายๆ ที่สำคัญ หากบ้านไหนดัน ‘ญาติเยอะ’ ความครึกครื้นก็จะยิ่งทวีคูณ เพราะทั้งลุงแดง ป้าต้อย จอมเสียงดังต้องมาด้วยแน่ๆ ครั้นจะไม่ออกมาพบหน้า พูดคุย กับเหล่าญาติ ก็อาจถูกมองว่าไม่มีมารยาทไปอีก

วิธีจัดการที่ง่ายที่สุดเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือการคุยกับครอบครัวแต่เนิ่นๆ ก่อนญาติจะมาเลยว่า เรากลับมาจากทำงานต่างจังหวัดและต้องการพักผ่อน ขออนุญาตทักทายพอเป็นพิธีและกลับเข้าไปพักอยู่ในห้องซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวของตนเองเลย การทำให้ครอบครัวรับรู้แต่แรกถึงความต้องการของเรา ในทางหนึ่งก็จะเป็นการช่วยปกป้องพ่อแม่เวลาถูกถามได้ว่าเราหายไปไหน และเป็นการป้องกันไม่ให้เราถูกพ่อแม่เซ้าซี้เพื่อมาพบปะพูดคุยกับเหล่าญาติทั้งหลาย

ไม่ไปไม่ใช่ไม่คิดถึง

แน่นอนว่า หากเป็นคนที่เพื่อนฝูงเยอะ ก็มีโอกาสที่เราอาจถูกนัดหมายให้มารวมตัวเพื่อปาร์ตี้ฉลองปีใหม่ได้ ครั้นจะไม่ไปก็อาจถูกงอนอีก แถมเราไม่ได้อยากทำลายความสัมพันธ์ด้วย ก็แค่อยากนอนเอง แต่จะทำอย่างไรดีล่ะ

อย่างแรกต้องไม่รู้สึกแย่กับคำเชิญชวนของเพื่อนก่อน เพราะพวกเขาก็คาดหวังอยากเจอเราซึ่งอาจไม่ได้เจอกันนานเท่านั้น ดังนั้น แน่นอนว่าเพื่อนๆ ต้องชวนเราแต่เนิ่นๆ อยู่แล้ว ดังนั้น การปฏิเสธแต่เนิ่นๆ ไปเลยย่อมดีกว่ารอมาปฏิเสธในภายหลัง เพราะมันยิ่งทำให้เพื่อนรู้สึกไม่ดีที่รอและคาดหวัง อธิบายไปแบบชัดเจนเลยว่าเหตุใดเราถึงไปร่วมงานปาร์ตี้ไม่ได้ แล้วลองเสนอเวลาในการพบเจอกันภายหลังแบบที่เราและเพื่อนสะดวกดู อย่างน้อยเพื่อนจะได้รู้ว่า เราก็ยังอยากเจอพวกเขานะ

วันหยุดยาวปีใหม่สำหรับแต่ละคนก็มีความหมายต่างกัน บางคนคือการเฉลิมฉลอง บางคนคือการพักผ่อนเงียบๆ แต่ไม่ว่ามันจะหมายถึงอะไร การนึกถึงใจเขาใจเราคือสิ่งจำเป็นที่สุด เพราะทุกคนควรมีพื้นที่ในการฉลองปีใหม่ของตัวเองที่ไม่รบกวนใคร แต่ไม่ถูกใครรบกวนใช่ไหม

สวัสดีปีใหม่

AUTHOR