ช่วงสิ้นปีถือเป็นช่วงเวลาแห่งการกลับบ้าน หลังจากทำงานและดิ้นรนใช้ชีวิตอย่างหนักหน่วงมาตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขชีวิต ความจำเป็นด้านการศึกษา โอกาสในการทำงาน หรือแม้แต่ปัญหาในครอบครัว ส่งผลให้คนไทยจำนวนมากตัดสินใจต้องย้ายออกจากบ้านเกิด เพื่อมาอาศัยอยู่ในเมืองกรุง หรือจังหวัดอื่นๆ ซึ่งความห่างไกลของระยะทาง อาจทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวห่างเหินขึ้นอย่างน่าเศร้า
หลายคนมีโอกาสได้กลับบ้านเพียงไม่กี่ครั้งต่อปี ส่งผลให้พวกเขาพยายามใช้เวลากับครอบครัวอย่างคุ้มค่า และสร้างความทรงจำที่ดีให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อทดแทนช่วงเวลาที่ผ่านมา ทว่า บางครั้งคำพูดจากผู้ใหญ่ในครอบครัวอย่างพ่อแม่หรือตายาย อาจจะบั่นทอนจิตใจของลูกหลานโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น “แค่นี้จะบ่นทำไม” “อดทนไปก่อน” “อุตส่าห์กลับมาบ้าน ทำไมไม่ช่วยอะไรเลย” “ลองดูลูกบ้านอื่นสิ เขาเก่งขนาดไหน” เป็นต้น
ทั้งที่จริงแล้ว ลูกหลานตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน เพราะอยากหยุดพักการทำงาน ปล่อยวางความเหนื่อยล้า รวมถึงหวังจะได้รับคำชื่นชม และคำปลอบใจจากครอบครัว ดังนั้น ความแตกต่างระหว่างวัย (Generation Gap) อาจก่อให้เกิดความไม่เข้าใจ หรือทำร้ายความรู้สึกของคนที่รัก จนนำไปสู่รอยร้าวในครอบครัว
a day จึงสำรวจความคิดเห็นของผู้คนที่ต้องย้ายมาเรียนหรือทำงานต่างถิ่น ว่าพวกเขาอยากได้ยินคำพูดแบบไหนเมื่อกลับถึงบ้าน? เพื่อสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งรักและหวังดีต่อกัน แต่ไม่รู้ว่าควรจะแสดงออกหรือสื่อสารอย่างไร

พลอย (นามสมมติ) นักศึกษาหญิง วัย 22 ปี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งตัดสินใจย้ายจากบ้านเกิดอย่างจังหวัดสงขลา เพื่อมาเรียนระดับอุดมศึกษาที่กรุงเทพฯ เพราะเธอมองว่า การเรียนการสอนที่เมืองหลวงมีคุณภาพสูงกว่า และสามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ได้มากกว่าสาขาบริการในต่างจังหวัด ทำให้เธอมีโอกาสเดินทางกลับไปหาครอบครัวนานๆ ครั้ง
เมื่อกลับบ้านแล้วบ่นเรื่องความเหนื่อย เธอมักจะได้รับคำพูดตอบกลับจากครอบครัวว่า “ทำแค่นี้เหนื่อยแล้วเหรอ คนอื่นในบ้านเหนื่อยกว่านี้อีก แค่นี้ยังไม่เรียกว่าเหนื่อยหรอก” ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอไม่อยากได้ยิน เพราะเธอเพียงต้องการบ่นระบายความรู้สึก ไม่ได้ต้องการเปรียบเทียบกับคนอื่น อีกทั้ง ความเหนื่อยของแต่ละคนยังไม่เท่ากัน และไม่อาจวัดได้ว่าใครเหนื่อยกว่ากัน “คนในครอบครัวมักพูดแบบนี้ เพราะเขาอยากให้เราเข้มแข็ง ไม่อยากให้ยอมแพ้ต่ออุปสรรคในชีวิต แต่ในทางกลับกัน คำพูดเหล่านี้ทำให้เราต้องแบกรับความคาดหวังมากขึ้น และไม่มีพื้นที่ให้อ่อนแอได้เลย แม้แต่ในครอบครัวของตัวเอง ซึ่งเป็นคนใกล้ชิด และรับรู้ทุกอย่างที่เราพยายามทำ แต่เขากลับไม่เคยเข้าใจ ทั้งที่เราแค่อยากแบ่งปันเรื่องราวในแต่ละวันกับครอบครัว และเราก็พร้อมรับฟังปัญหาของอีกฝ่ายเช่นกัน การบ่นระบายความรู้สึกอาจไม่ได้ช่วยให้ปัญหาหรือความเหนื่อยล้าหายไป แต่ทำให้เราสบายใจขึ้น”
ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น เธอจะนิ่ง ไม่ตอบกลับ และแอบไปร้องไห้คนเดียวด้วยความเสียใจ แม้จะมีการพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหานี้ภายในครอบครัว แต่คำพูดดังกล่าวก็ยังคงเกิดขึ้น เพราะความเหนื่อยไม่มีวันหมดไป รวมถึงทัศนคติของคนรุ่นเก่าที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก ในอดีตช่วงที่ Baby Boomer ยังเป็นวัยรุ่น พวกเขาต้องขยัน อดทน และสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตนเอง จนไม่มีเวลาหยุดพัก คนรุ่นเก่าจึงมองว่า การพักผ่อนเป็นสิ่งที่ผิด และไม่ต้องการให้ลูกหลานนิ่งดูดายต่อการทำงาน
คำพูดดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อครอบครัวอย่างรุนแรง แต่ทำให้เธอไม่กล้าแบ่งปันทุกเรื่องราวทุกความรู้สึกแก่ครอบครัว เนื่องจากเธอคิดว่า ถ้าไม่พูดออกไปอาจจะดีกว่า การหลีกเลี่ยงที่จะพูดบ่นเรื่องความเหนื่อย เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่ไม่เข้าใจกัน จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมสำหรับเธอ
“อยากได้ยินครอบครัวพูดว่า ทำดีแล้ว เก่งแล้ว ไม่ต้องพยายามมากกว่านี้ก็ได้ ขอบคุณมากนะที่ช่วยเหลือครอบครัว เพราะอยากให้พวกเขามองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ ซึ่งต้องแลกมาด้วยความเหนื่อย”
ดังนั้น คำพูดที่เธออยากได้ยินตอนกลับบ้านคือ ‘คำชื่นชม’ ด้วยความที่เธอเป็นคนขยันและมีความรับผิดชอบมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ความสำเร็จต่างๆ ของเธอกลายเป็นเพียงเรื่องธรรมดาทั่วไปสำหรับครอบครัว ไม่ว่าคนภายนอกจะชื่นชมมากแค่ไหนก็ไม่อาจทดแทนคำพูดของครอบครัวได้ เพราะสิ่งที่เธอต้องการจริงๆ คือกำลังใจจากครอบครัว
“เราไม่รู้เลยว่า สิ่งที่เราทำนั้นมีความหมายต่อครอบครัวจริงๆ หรือเปล่า เพราะเราไม่เคยได้รับคำชื่นชมจากครอบครัว ส่งผลให้เราคิดว่าตัวเองยังดีไม่พออยู่เสมอ”
ผู้ใหญ่ในครอบครัวควรระมัดระวังคำพูดเมื่อสื่อสารกับเด็กรุ่นใหม่ เพราะสิ่งที่พวกเขาพูดเพียงครั้งเดียว อาจกระทบต่อจิตใจลูกหลาน จนกลายเป็นปมติดตัวตั้งแต่เด็กจนโต เช่น หากพ่อแม่สั่งห้ามทำบางอย่างในตอนเด็ก อาจทำให้ลูกไม่กล้าทำสิ่งนั้นไปทั้งชีวิต เป็นต้น สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา การเติบโตในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ทำให้มุมมองความคิดต่างกัน สมาชิกในครอบครัวจึงควรเข้าใจอีกฝ่ายมากขึ้น เพื่อไม่ให้ความแตกต่างระหว่างวัยกลายเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง

ปาล์ม (นามสมมติ) นิสิตชาย วัย 21 ปี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอยุธยา แต่ตัดสินใจย้ายมาเรียนที่กรุงเทพฯ เพราะมองว่า เมืองหลวงมีโอกาสและความมั่นคงในอนาคตมากกว่า จากภาพจำของสื่อและสังคมที่เชิดชูการศึกษาในเมืองหลวง เช่น โรงเรียนติดป้ายแสดงความยินดีแก่นักเรียนที่สอบติดมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ
ปาล์ม เล่าว่า เขาจะกลับบ้านที่จังหวัดอยุธยาเดือนละครั้ง แต่ทุกครั้งที่กลับไป มักได้รับคำพูดเชิงไม่เห็นด้วยหรือตั้งคำถามต่อการตัดสินใจของเขาจากครอบครัว เช่น หากพูดถึงการทำงานด้านละครเวที บรรยากาศในบ้านจะเปลี่ยนไป ทั้งโต๊ะอาหารจะเงียบลง ไร้การตอบกลับ หรือหยิบยกหัวข้อสนทนาอื่นขึ้นมาแทน เพราะพ่อแม่ไม่สนับสนุนให้เขาทำงานสายงานนี้ตั้งแต่ต้น เนื่องจากมองว่าเป็นงานที่ไม่มั่นคง
นอกจากนี้ ครอบครัวยังตั้งคำถามต่อการแต่งตัวของเขา ซึ่งสวมใส่สร้อยไข่มุก กางเกงขาม้า และเข็มกลัดอีกด้วย เพราะคนรุ่นเก่าถูกสังคมหล่อหลอมมาว่า การแต่งกายแบบนี้เหมาะกับเพศหญิงเท่านั้น ส่วนผู้ชายต้องแต่งตัวอีกรูปแบบหนึ่ง
“เราพิจารณามาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า นี่คือการตัดสินใจที่ดีที่สุด แต่พ่อแม่กลับตั้งคำถามต่อการตัดสินใจของเรา ทำให้เราสงสัยว่า การตัดสินใจเหล่านั้นไม่ดีพอสำหรับครอบครัวเหรอ? แล้วเราต้องทำอย่างไรจึงจะถูกต้องในสายตาของพวกเขา”
คำพูดดังกล่าวส่งผลกระทบเชิงลบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ทำให้เขารู้สึกไม่อยากกลับบ้าน รวมถึงไม่กล้าแลกเปลี่ยนเรื่องราวการทำงานกับครอบครัวเหมือนเมื่อก่อน เพราะต่อให้เขาพูดออกไป ครอบครัวก็ไม่ได้สนใจอยู่ดี ส่งผลให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวห่างเหินกว่าเดิม
“โดยปกติพ่อแม่มักจะถามไถ่เรื่องการทำงานในอนาคต เช่น จะฝึกงานที่ไหน หรือแนะนำสายอาชีพอื่น ซึ่งตรงกับความคาดหวังของพวกเขา แต่ไม่เคยถามถึงสิ่งที่เราทำอยู่เลยว่า ดีไหม สนุกไหม? ทำให้อดรู้สึกไม่ได้ว่า ทุกสิ่งที่เราทำ มันสูญเปล่าสำหรับครอบครัว จนบางทีมีความคิดตลกร้ายแวบขึ้นมาว่า เราจะไม่กลับบ้าน จนกว่าครอบครัวจะมั่นใจในตัวเรา และเราจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เราตัดสินใจถูกต้องแล้ว”
“คำพูดที่อยากได้ยินตอนกลับบ้านคือ งานที่ทำอยู่เป็นอย่างไรบ้าง? แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว เพราะเราแค่อยากให้พ่อแม่ถามถึงสิ่งที่เราชอบและสนใจบ้าง อยากได้กำลังใจจากครอบครัว เพื่อให้เรามั่นใจว่า สิ่งที่เราทำ มันถูกต้องนะ หรืออย่างน้อยที่สุด ถ้าหันกลับมาก็ยังมีครอบครัวคอยสนับสนุนอยู่ข้างหลัง ไม่อยากให้พวกเขามองข้ามความพยายามของเรา”
คำพูดนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว หากเราสื่อสารโดยไม่นึกถึงจิตใจและความรู้สึกของอีกฝ่ายมากเท่าใด การสนทนาในครอบครัวจะยิ่งน้อยลงเท่านั้น เพราะความเชื่อมั่นและความไว้ใจได้ถูกสั่นคลอนไปแล้ว ฉะนั้น ‘การมีความเห็นอกเห็นใจต่อกัน’ จะทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแข็งแรงขึ้น

ลูกน้ำ (นามสมมติ) ผู้กำกับศิลป์ (Art Director) วัย 32 ปี ซึ่งตัดสินใจย้ายจากจังหวัดอุทัยธานี เพื่อมาทำงานที่กรุงเทพฯ เพราะในต่างจังหวัดไม่มีตลาดรองรับสายงานนี้ อีกทั้งยังอยากเข้าถึงแหล่งคอนเสิร์ต และนิทรรศการศิลปะได้ง่ายขึ้น ทำให้เขามีโอกาสกลับบ้านและพบเจอครอบครัวเพียงปีละ 1 – 2 ครั้งเท่านั้น
“สิ่งที่ไม่อยากได้ยินจากครอบครัวคือ คำพูดแสดงความเป็นห่วงหรือกังวลในตัวเรา เช่น เก็บเงินได้เท่าไหร่แล้ว สุขภาพเป็นอย่างไรบ้าง ไปวิ่งออกกำลังกายบ้างหรือเปล่า เพราะจะทำให้รู้สึกว่า เรายังดูแลตัวเองได้ไม่ดีเหรอ? ทำไมแม่จึงเป็นห่วงในเรื่องเล็กน้อยเหล่านี้ หรือแม่ไม่เชื่อมั่นว่า เราจะสามารถดูแลตัวเองได้”
ลูกน้ำ กล่าวว่า เขาได้ยินประโยคดังกล่าวเป็นประจำเมื่อกลับบ้าน โดยแม่จะพูดเพียงครั้งเดียว เพื่อถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของลูกเท่านั้น มิได้ถามซ้ำไปซ้ำมาทุกวัน ซึ่งเขาเข้าใจดีว่า การอยู่ห่างไกลคนละจังหวัด ทำให้ต่างฝ่ายต่างไม่ได้รับรู้ชีวิตประจำวันของกันและกัน แม่จึงถามด้วยความเป็นห่วง หรืออยากแนะนำในฐานะแม่ แต่เนื่องด้วยความกดดันต่อตัวเอง รวมถึงตัวเขาเองไม่ได้มีคำตอบที่ดีให้กับแม่ คำพูดเช่นนั้นจึงทำให้ความรู้สึกผิดก่อตัวขึ้นภายในใจของคนเป็นลูก
“คำพูดแสดงความห่วงใยจากแม่ ไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว แต่ทำให้เราตั้งคำถามต่อตัวเองมากกว่า จึงไม่อยากได้ยินคำพูดแบบนี้ตอนกลับบ้าน”
โดยส่วนตัว เขาไม่ได้ต้องการคำพูดที่ซับซ้อนหรือลึกซึ้ง เพียงแค่อยากได้ยินคำพูดธรรมดาที่แฝงความอบอุ่นอย่าง “แม่ทอดหมูไว้ให้แล้วนะ หรือพรุ่งนี้แม่จะทำกะเพราเนื้อให้กินนะ” เพราะอาหารรสมือแม่คือเมนูโปรดสำหรับเขา ซึ่งไม่อาจรับประทานได้จากที่อื่น ยิ่งไปกว่านั้น ยังทำให้เขาได้สัมผัสความรู้สึกของการเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องภาระหน้าที่อื่น เพียงแค่ใช้ชีวิตที่เรียบง่ายกับครอบครัว
“ช่วงเวลากลับบ้านคือ ช่วงเวลาเดียวที่เราสามารถกลับไปเป็นเด็กได้อย่างยาวนาน และมีความสุขที่สุด เพราะในชีวิตประจำวัน เราต้องเป็นผู้ใหญ่ที่แบกรับความรับผิดชอบต่างๆ มากมาย”
รูปแบบหรือน้ำเสียงในการสื่อสารนั้นขึ้นอยู่กับธรรมชาติของแต่ละครอบครัว อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ทุกครอบครัวควรจะมีให้กันคือ ‘การเปิดใจรับฟัง’ เพราะครอบครัวควรเป็น Supporter ที่พร้อมจะสนับสนุนความต้องการของลูกหลาน ซึ่งการเปิดใจรับฟังคือ กระบวนการที่จะทำให้สมาชิกในครอบครัวสามารถสนับสนุนกันได้อย่างเหมาะสม
คำพูดเพียงเล็กน้อยสามารถแปรเปลี่ยนวันธรรมดาของคนคนหนึ่งให้กลายเป็นความทรงจำที่งดงามหรือเลวร้ายในชั่วพริบตา โดยเฉพาะเมื่อเป็นคำพูดที่มาจาก ‘ครอบครัว’ ซึ่งควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยและสบายใจที่สุด ทุกความหมายที่ส่งต่อมาจึงยิ่งทวีคูณความอ่อนไหวมากขึ้นไปอีก

บางครั้งเรารักกัน แต่กลับไม่เคยเข้าใจกัน เพราะมัวแต่ใช้เลนส์หรือมุมมองของตัวเองตัดสินชีวิตของอีกฝ่าย เพียงแค่ถอยหลังหนึ่งก้าว เปลี่ยนบทบาทจากผู้พูดเป็นผู้ฟังให้มากขึ้น กลั่นกรองและไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนก่อนเอ่ยสิ่งใด รวมถึงสื่อสารเจตนาที่ดีอย่างตรงไปตรงมา มากกว่าตั้งคำถามที่กดดันและใจร้าย เพื่อให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวมิใช่ Love-hate Relationship หรือความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียด ซึ่งหลายคนจำใจต้องหลีกเลี่ยงอย่างกล้ำกลืน
เพื่อให้ ‘บ้าน’ กลายเป็นสถานที่ที่ทุกคนอยากกลับไปด้วยใจจริงเสมอ