ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม คงเป็นช่วงเวลาที่ใครหลายๆ คนได้หยุดพักผ่อนจากการเอาชีวิตรอดในโลกของการทำงานตลอดทั้งปีที่ผ่านมา บางคนแพลนว่าวันหยุดสิ้นปีนี้จะนอนเอกเขนกไม่สนอะไรทั้งสิ้น บางคนก็เตรียมตัวไปเที่ยวรับลมหนาวในต่างแดน และบางคนก็เตรียมตัว ‘กลับบ้าน’ เพื่อไปพบกับครอบครัวที่ห่างเหินกันมานาน
เมื่อเท้าย่างเข้าสู่สถานที่ที่คุ้นเคย ภาพตรงหน้าคงหนีไม่พ้นการได้เจอกับญาติสนิทมิตรสหายที่อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา รวมถึงได้ถูกต้อนรับด้วยแกงหม้อใหญ่จากแดจังกึมประจำบ้าน
การได้กลับมาทานข้าวที่บ้านอาจไม่เพียงแค่เยียวยาความหิวทางกาย แต่สามารถเยียวยาช่องว่างทางใจได้ราวกับยาวิเศษด้วยเช่นกัน
มื้อต้อนรับ สำหรับ ‘คนกลับบ้าน’
“ครึ่งปีที่อยู่ญี่ปุ่นมาไม่ได้กลับบ้านเลย เพราะเพิ่งเริ่มทำงานด้วย ถ้าจะกลับบ้านก็ต้องรอวันหยุดยาว แต่ก็มีแพลนว่าจะกลับกลางปีหน้านะ ครบปีหนึ่งพอดี”
‘อาย’ เด็กจบใหม่วัย 23 ปี ได้โอกาสมาทำงานบัญชีให้กับบริษัทแห่งหนึ่งในเมืองยามากุจิ และจากบ้านมานานกว่า 6 เดือน ได้พูดคุยถึงความรู้สึกที่ต้องมาใช้ชีวิตไกลบ้าน
เมื่อวันหยุดยาวของมนุษย์ผู้ใช้แรงงานได้มาถึง ทุกครั้งที่เริ่มเอ่ยปากว่าจะกลับบ้าน เสียงปลายสายจากผู้เป็นที่รักมักจะถามไถ่กับเราเสมอว่า
“จะกลับมาวันไหน” “มาอยู่กี่วัน” และที่ขาดไม่ได้คือคำถามที่ว่า “อยากกินอะไร”
เพราะหนึ่งในสิ่งที่หลายๆ คนตั้งตารอเมื่อกลับถึงบ้านก็คงหนีไม่พ้นการกลับไปเจอคนที่รัก สัตว์เลี้ยง และการได้ชิมอาหารโปรดที่มาจากฝีมือแม่ครัวประจำบ้าน
“กะเพราหมูสับ ไข่ดาวกรอบ ไข่แดงไม่สุก ย่าเป็นคนที่ทอดไข่ดาวได้ถูกต้องตามสแตนดาร์ดมาก”
มื้ออาหารที่ดูธรรมดาแต่แสนพิเศษ เพราะเต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดถึง ความใส่ใจ และเป็นรสชาติที่เราไม่สามารถหาได้จากข้าวกล่องในร้านสะดวกซื้อ อาหารร้านโปรด หรือทำกินเองครั้งแล้วครั้งเล่ายังไงก็ไม่เหมือนอยู่ดี
ดังนั้นมื้อต้อนรับสำหรับคนกลับบ้านอย่างเราจึงเป็นเหมือนกับสิ่งแรกๆ ที่เราได้สัมผัสขณะได้กลับมาบ้าน และเป็นเหมือนกับรางวัลให้กับคนที่เหน็ดเหนื่อยจากความวุ่นวายในการใช้ชีวิต เราเคยคิดว่าทำไมเวลาที่ไม่ได้อยู่บ้านนานๆ ทุกครั้งที่กลับมาจะมีมื้อใหญ่รอต้อนรับอยู่เสมอ พอโตขึ้นเรื่อยๆ เลยรู้สึกได้ว่า อาจเป็นเพราะคนที่บ้านไม่มีทางรู้เลยว่าเรามีความเป็นอยู่อย่างไรเมื่ออยู่ข้างนอก เพราะฉะนั้นในการกลับบ้านมาครั้งหนึ่ง เขาก็หวังว่าเราจะได้กินอิ่มนอนหลับแบบที่ไม่ต้องกังวลเรื่องอะไรทั้งสิ้น
เรื่องเล่า เรา โต๊ะอาหาร
“งานใหม่เป็นยังไงบ้าง”
“ทำงานเหนื่อยไหม”
“ถ้าเหนื่อยก็อดทน ถ้าทนไม่ไหวก็กลับบ้าน”
นอกเสียจากโต๊ะอาหารจะมีไว้เพื่อนั่งกินข้าว หน้าที่ของมันยังเปรียบเสมือนศูนย์รวมของทุกคนในบ้านด้วยในเวลาเดียวกัน
การล้อมวงกินข้าว และบทสนทนาเป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นพร้อมๆ กันอย่างเป็นธรรมชาติเสมอ แม้ผู้หลักผู้ใหญ่จะคอยพร่ำสอนให้เราไม่อ้าปากพูดขณะกินข้าว แต่เจ้าตัวกลับพรั่งพรูสารพัดคำถามมาได้ไม่หยุดหย่อนเสียเอง
“ตอนที่ยังอยู่บ้าน เวลานั่งกินข้าวย่าจะถามกันไปกันมาเรื่อยๆ อย่างเช่น วันนี้เป็นยังไงบ้าง เหนื่อยไหม ถึงแม้ว่ามันก็เป็นบทสนทนาธรรมดาทั่วไป แต่เรารู้สึกสบายใจที่ได้พูด คงเพราะเขาไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลา เขาเลยอยากรู้ว่าเรายังใช้ชีวิตได้ดีอยู่ใช่ไหม ติดขัดอะไรหรือเปล่า”
มื้ออาหารและการพูดคุยเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันอย่างตัดไม่ขาด เพราะช่วงเวลาที่ครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้าคงมีไม่มากนัก โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้กลับบ้านบ่อยๆ ช่วงเวลานี้ยิ่งกลายเป็นช่วงเวลาที่มีค่า และเหมาะสมในการเปิดใจพูดคุยเรื่องอะไรสักเรื่อง หากเป็นเรื่องดี อาหารมื้อนี้จะเป็นรางวัลอันแสนโอชะ แต่หากเป็นเรื่องไม่ดีอาหารมื้อนี้ก็ยังอร่อยเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือเป็นรางวัลปลอบใจที่บอกกับเราว่า “ทุกอย่างจะผ่านไปได้หากกินข้าวหมดจาน”
‘อิ่มไม่อั้น’ เพราะแกงที่บ้าน ตักเท่าไหร่ก็ไม่หมด (สักที)
“ข้าวหมดหม้อก็ค่อยหุงใหม่”
ช่วงเวลาที่มนุษย์เงินเดือนหลายๆ คนนึกถึงข้าวที่บ้านมากที่สุด คงเป็นช่วงใกล้จะสิ้นเดือนที่เงินเริ่มร่อยหรอ แม้บางครั้งอยากจะกินให้หนำใจแค่ไหน แต่ก็ต้องเบรกตัวเองไว้เพราะเศษเงินในกระเป๋าก็ไม่ปราณีเราเหมือนกัน
“กินข้าวข้างนอกมันอร่อย แต่บางทีร้านให้ปริมาณน้อย เราก็ต้องค่อยๆ กิน หรือไม่ก็ต้องสั่งเพิ่ม แต่กับข้าวที่บ้านเราจะกินเยอะแค่ไหน และนานแค่ไหนก็ได้ ไม่มีใครมานั่งบ่น ทำให้เรารู้สึกสบายใจในการกิน”
นอกจากแม่จะเป็นเจ้ามือทำอาหารเลี้ยงคนทั้งบ้านโดยที่เราไม่ต้องเสียเงินสักบาทแล้ว ปริมาณที่ดูเหมือนไม่จำกัด อยากกินเท่าไหร่ก็กิน อยากเบิ้ลกี่จานก็ไม่มีใครว่า ไม่ว่าจะอิ่มหมีพีมันแค่ไหน แม่ครัวประจำบ้านก็คะยั้นคะยอให้เรากินเข้าไปอยู่อย่างนั้น เผลอๆ ตื่นเช้ามาอีกวันแกงหม้อนั้นก็ยังอยู่ พร้อมอุ่นให้ทานเป็นอาหารเช้าแบบเสร็จสรรพ หรือจริงๆ แล้วประโยคที่ว่า “กินได้มากเท่าที่อยากกิน” อาจเป็นนิยามความพิเศษของอาหารที่บ้านก็ว่าได้
‘กับข้าวบ้าน’ มื้ออาหารที่ดีต่อใจ
การกินข้าวที่บ้าน ถือเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว อีกทั้งการพูดคุยกันระหว่างมื้ออาหารยังเป็นส่วนช่วยคลายความตึงเครียดให้กับทุกคนบนโต๊ะอาหาร เพราะบ้านเต็มไปด้วยคนที่เราสบายใจพร้อมที่จะรับฟังเรื่องราวต่างๆ และคอยให้กำลังใจอยู่เสมอ เมื่อบวกกับเมนูโปรดที่ชอบ และรสชาติที่คุ้นเคย ยิ่งทำให้ทั้งร่างกายและจิตใจของเราถูกปลอบประโลมไปพร้อมๆ กัน
การกลับมากินข้าวที่บ้านจึงกลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มนุษย์วัยทำงาน หรือคนที่อยู่ไกลบ้าน เลือกที่จะใช้วันหยุดในช่วงเทศกาลเพื่อกลับมาซบอกอาหารจานโปรดที่คิดถึง เพื่อสะสมพลังไว้ใช้เมื่อต้องกลับไปต่อสู้กับการทำงาน และภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบตามประสาคนที่ต้องโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว
ชีวิตคนทำงาน และอาหารจานเดียว
การเติบโตเป็นผู้ใหญ่อาจคล้ายกับคำสาปที่ทำให้เราต้องแบกรับความรับผิดชอบที่มากขึ้นเรื่อยๆ แม้จิตใจข้างในจะเป็นเด็กน้อยที่อยากกินข้าวฝีมือแม่ แต่ด้วยโครงสร้างทางสังคม ภาระหน้าที่ และปัจจัยอื่นๆ อีกมหาศาลที่ทำให้ ‘พวกเรา’ มนุษย์วัยเริ่มทำงาน ไม่อาจจะอยู่กินข้าวที่บ้านได้ในทุกวัน
แม้อาหารที่เลือกกินในทุกๆ วันจะเป็นอาหารที่ชอบ รสชาติอร่อยแถมยังคอยประคับประคองชีวิตของเรามาโดยตลอด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ต้องคิดเมนูทุกวันว่าจะกินอะไร บางครั้งก็เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายขึ้นมาดื้อๆ ยิ่งคนโสดที่ไม่ได้มีเพื่อนคู่คิดอย่างคนอื่นเขา คงต้องจบที่ข้าวกล่องในร้านสะดวกซื้อในที่สุด
“ตั้งแต่มาอยู่ญี่ปุ่นเราก็ซื้อข้าวกลับมากินที่ห้องเป็นส่วนใหญ่ เพราะซูเปอร์มาร์เก็ตที่นี่หลังเลิกงานแล้วก็ยังมีข้าวกล่องวางขายอยู่ ช่วงประมาณทุ่มหนึ่งข้าวกล่องจะลดราคาพอดีก็จะแวะซื้อ เรากินข้าวกล่องลดราคาเป็นประจำ (หัวเราะ)”
“หลังๆ เวลากลับมานั่งกินข้าวที่ห้องจะติดดูหนังมาก รู้สึกว่าต้องหาอะไรสักอย่างดู มีครั้งหนึ่งเคยลองทำ Social detox กินข้าวต้องมองกำแพง เหม่อมองกล่องรองเท้า การนั่งกินคนเดียวแล้วไม่เปิดอะไรดูเลยมันเงียบเกิน ยิ่งรู้สึกเหงากว่าเดิมอีก”
การนั่งกินข้าวคนเดียวไปพร้อมๆ กับรับชมสตรีมมิงดูเป็นพฤติกรรมเหงาๆ ที่กลายเป็นความสบายใจของหนุ่มสาวในสมัยนี้
เพื่อขจัดความเงียบที่ดังเกินไป หลายคนต้องปลอบประโลมตัวเองด้วยมื้ออาหารและช่องยูทูบช่องโปรด เพื่อสร้างความสุขเล็กๆ น้อยๆ ให้กับช่วงเวลาที่ได้เว้นว่างจากการทำงาน
ถึง: คนที่ไม่ได้กลับไปกินข้าวบ้าน
“ตลอด 6 เดือน ที่อยู่ที่ญี่ปุ่นรู้สึกอยากกลับบ้าน อยากเจอย่า อยากกินข้าวที่ย่าทำ อยากเจอหมาที่บ้านทุกวันเลย ช่วง 3 เดือนแรกก็ร้องไห้ทุกวัน แต่หลังๆ มาเริ่มดีขึ้นแล้ว”
“ตั้งแต่มาอยู่ญี่ปุ่นก็วิดีโอคอลหาย่าทุกวัน ถ้ามีเวลาก็โทรหากันตลอด คุยนู่นคุยนี่ไปเรื่อย แต่ถ้าติดธุระจริงๆ ก็จะบอกแกก่อนว่าไม่ว่าง เขาจะได้ไม่ต้องรอ”
“ล่าสุดลองทำกะเพรากินเอง ใช้เครื่องกะเพราสำเร็จรูปมาใส่กับซอสญี่ปุ่น ใบกะเพราสดก็ไม่มี
พวกเครื่องปรุงแบบบ้านเราก็ไม่มี สภาพออกมาไม่ได้เรื่องเลย (หัวเราะ)”
แม้จะคิดถึงอาหารรสมือคนที่บ้านมากแค่ไหน แต่ข้อจำกัดในชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะตั๋วเครื่องบินในช่วงเทศกาลที่แพงจนเท่ากับครึ่งหนึ่งของเงินเดือนของใครหลายๆ คน
แน่นอนว่าคนที่ไม่ได้กลับบ้านก็มีสารพัดวิธีที่ใช้ฮีลตัวเอง ทั้งการโทรกลับไปหาคนที่รักที่บ้าน ลองทำอาหารกินเองเผื่อรสชาติจะทดแทนกันได้ วิธีเหล่านี้ก็พอจะทำให้คลายความรู้สึก ‘Homesick’ ไปได้บ้าง
“ทุกครั้งที่คิดถึงบ้านก็ต้องพยายามคิดว่า เราได้ลองออกมาจากคอมฟอร์ตโซนแล้ว ทั้งที่บอกตัวเองว่าให้ลองพยายามให้สุด ลองอดทนให้สุด อย่าเพิ่งท้อ อย่าเพิ่งยอมแพ้ ถึงมันจะยังรู้สึกโฮมซิกอยู่ดี แต่เราก็ทำเพื่อตัวเอง ไม่ใช่ว่าเรามาอยู่แบบไม่มีความหมาย”
เป้าหมายในชีวิตของแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป แต่ละคนก็มีวิธีการรับมือกับสิ่งที่ต้องเจอในชีวิตแตกต่างกัน สำหรับบางคน ‘บ้าน’ และ ‘อาหารที่บ้าน’ คือทุกสิ่งในชีวิต แต่สำหรับบางคนก็อาจไม่ได้สำคัญเท่ากับจุดมุ่งหมายในอนาคตของตัวเอง
หากช่วงวันหยุดนี้ใครได้มีโอกาสกลับบ้านไปเจอกับคนที่รักก็ควรใช้เวลาที่มีอยู่อันแสนสั้นให้คุ้มค่าที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการนั่งล้อมวงกินข้าวด้วยกัน นั่งดูหนังด้วยกัน หรือแม้กระทั่งเปิดบทสนทนาแลกเปลี่ยนเรื่องราวซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการได้ใช้เวลาที่มีอยู่กับครอบครัวได้อย่างมีคุณภาพเลยทีเดียวแต่สำหรับคนที่กลับบ้านไม่ได้ เพราะปัจจัยและข้อจำกัดต่างๆ ก็สามารถหาความสุขให้กับตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็น การออกไปเที่ยว ออกไปใช้ชีวิต หรือกลับมาใช้เวลากับตัวเองให้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็ถือเป็นการพักผ่อนและเป็นการเติมใจให้เราได้ดีไม่แพ้วิธีอื่นๆ เช่นกัน