ชาติฉกาจ ไวกวี : ช่างภาพผู้เผยแพร่ความจริงผ่านฟิล์มกระจก

ในช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังมองหาอะไรสักอย่างทำเพื่อคลายความโศกเศร้าครั้งใหญ่ของประเทศไทย บางคนเลือกที่จะออกไปช่วยเหลือผู้คนตามท้องถนน บางคนเลือกที่จะแสดงความรู้สึกออกมาเป็นงานศิลปะ เราต่างมีวิถีทางของตัวเองที่จะสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมาจากความสูญเสีย

แอ๊ะ-ชาติฉกาจ ไวกวี ช่างภาพระดับแถวหน้าของเมืองไทย เจ้าของบริการล้างอัดฟิล์มด้วยมือ ชื่อว่า AIRLAB เป็นอีกคนที่ลุกขึ้นมาจริงจังกับการกู้ชีพฟิล์มกระจก เพื่อเผยความจริงบางส่วนเสี้ยวตลอด 70 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ยังไม่เคยถูกล้างอัดออกมาเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน

อยู่ๆ ทำไมจึงมาสนใจวิธีการถ่ายภาพแบบ 2 ศตวรรษที่แล้ว มาจากความกดดันของตำแหน่งหนึ่งในช่างภาพที่น่าสนใจที่สุดในโลกหรือเปล่า

ความกดดันของผมคือผมจะขายของเก่า ใช้มุกเดิมหากินอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ผมจึงมองหาอนาคตของตัวเองในแนวทางใหม่ที่ไร้เทียมทาน ในยุคที่คำว่าช่างภาพเป็นกันง่ายดายเหลือเกิน อนาคตเราไม่รู้หรอก แต่อดีตเรามาลองหยิบพลิกดูแล้วเอามาผสมสมัยใหม่ของเรา ช่วงแรกผมจะมุ่งไปทางแฟชั่นมากๆ แต่เมื่อโตขึ้น ในวัย 30 กลางๆ ก็เริ่มหันมาสนใจงานคลาสสิกทั้งหมดที่เราเคยเกลียด เจอการเดินทางใหม่จากการไปเจอกรรมวิธีภาพถ่ายฟิล์มกระจก ซึ่งเป็นกำเนิดแรกของภาพถ่าย นั่นคือประมาณ ค.ศ. 1820 – 1830 โดยนำกระจกที่โปร่งแสงมาฉาบสารเคมีอันตราย จำพวกสารที่ใช้ทำระเบิด สารหนู โหดที่สุดก็คงเป็นไซยาไนด์ที่ทำยาพิษ ทำให้เป็นกระจกไวแสง ทำไปมือก็จะพัง โดนสารเคมี ต้องไปโรงพยาบาล เสมหะเป็นสีม่วง สีดำ โดนมาหมดแล้ว

โลกมีกล้องฟิล์ม มีกล้องดิจิทัลแล้ว ทำไมเราต้องกลับไปเสี่ยงตายขนาดนี้

มันเริ่มจากความซนของผมเองที่ต้องการจะทลายความคิดที่ว่าสิ่งเหล่านี้คืองานอดิเรก เพราะในต่างประเทศพวกนี้จะเป็นของเล่นของคนร่ำรวย เพราะอุปกรณ์สารเคมีต่างๆ ค่อนข้างแพงมาก ผมมีโจทย์ว่าจะนำงานอดิเรกมาทำเป็นงานคอมเมอร์เชียล ด้วยการทำงานแบบไฟน์อาร์ตได้อย่างไร ผมจะเป็นตัวกบฏที่ทำลายหมดทุกอย่าง ไม่อยากให้ใครมามองว่านี่ทำกันเล่นๆ จังหวะเหมาะที่ผมได้ทำงานโฆษณางานหนึ่งซึ่งได้คุณฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์ มาเป็นแบบถ่ายให้ จึงคิดหาว่าจะถ่ายคุณฮิวโก้อย่างไรด้วยวิธีการที่คนอื่นไม่สามารถทำได้ จึงคิดไปถึงวิธีเดียวกับที่ช่างภาพสมัยก่อนถ่ายภาพรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นต้นตระกูลของฮิวโก้ สุดท้ายก็ทำได้สำเร็จ ฟิล์มกระจกภาพนั้นกลายเป็นบิลด์บอร์ด อาจจะที่แรกในโลกด้วยซ้ำ เพียงแต่ผมไม่ได้บ้าส่งประกวดหรือประกาศอะไรออกไป

อะไรทำให้ตกหลุมรักฟิล์มกระจกจนถอนตัวไม่ขึ้น

มันสนุกมาก ตอนแรกผมตั้งใจจะศึกษาเพื่อเอาไปทำงานโมเดิร์น แต่ตอนนี้ก็เลยศึกษาเพื่อโบราณคดีไปด้วย ภาพนี้ใครถ่าย ถ่ายใคร ถ่ายยังไง ได้อ่านจดหมายเหตุยุคนั้น เราไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ แต่ผมรู้เรื่องนี้ดีพอ ทำให้สามารถถอดบางอย่างออกมาได้ในแบบที่นักประวัติศาสตร์ทำไม่ได้เพราะเขาไม่มีองค์ความรู้แบบเรา พอเข้าไปคลุกคลีกับมันก็ยิ่งมีคนเอาภาพมาให้ผมช่วยดู ช่วยซ่อม ทำให้ได้เจอภาพเก่าๆ จากเว็บประมูลของต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้ตัดสินใจเริ่มต้นเก็บฟิล์มเก่า ภาพเก่า เพิ่งเก็บได้ 6 เดือนเองครับ แต่เก็บโหดมาก หนักมาก บางภาพราคาเกือบล้านบาทก็มี คนรุ่นผมก็คงเก็บอย่างอื่นที่มันดูเฟี้ยวๆ กว่านี้ แต่ผมอยากสร้างอาณาจักรที่เป็นแหล่งความรู้ ภาพเก่าเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องลงทุนกับมัน

การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกพิเศษกว่าการถ่ายภาพแบบอื่นยังไง

ฟิล์มกระจกเก็บความลับและความจริงไว้ได้มากกว่าจดหมายเหตุที่ขึ้นอยู่กับว่าเขียนด้วยปากกาของใคร แม้ว่าในเวลาต่อมาคนนั้นจะเปลี่ยนวิธีคิดหรือถูกครอบอีกแบบไปแล้ว แต่ภาพถ่ายมันบันทึกความจริงของคนนั้นไว้ได้ในเวลานั้น อย่างภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงผนวช ผมได้เจอเจอคนหนึ่งที่เขาไม่ยอมบอกว่าเป็นใคร แต่รถที่ขับมาจอดนี่เหมือนที่เห็นในข่าวในพระราชสำนักเลย มันเป็นภาพที่อยู่ในหน่วยฝ่ายข่าวของโบราณที่ไม่มีการเก็บเป็น archive จริงจัง ผมก็เลยเอาของพวกนั้นมาบูรณะ ศึกษาน้ำยา กลายเป็นนักโบราณคดีภาพถ่ายไปแล้ว พอมาส่องดูก็เห็นว่า มันเป็นกระจกไซส์ 5 คูณ 7 นิ้วซึ่งเป็นภาพต้นฉบับที่พระองค์ทรงมองกล้องจริงๆ เพราะถ้ามองดีๆ จะเห็นพระเนตร 2 ข้าง ผมพยายามอัดให้เห็นแววพระเนตรของพระองค์ด้วย ซึ่งอัดไม่ง่ายเลย เพราะถูกเก็บมานานมาก น้ำยาที่เคลือบไว้สลายไปแล้วบางส่วน ต้องใช้เทคนิคอะไรต่อมิอะไรเยอะมาก

หรือฟิล์มกระจกภาพวันแรกที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับราชการ ทรงชุดทำงานเต็มยศ ฟิล์มที่ได้มามีสภาพเก่ามาก ปรอทลอยขึ้นมาจนเกาะตัวกระจกเเน่น เเทบจะอัดไม่ได้ สารเคมีทำให้เห็นภาพไม่ชัด เป็นภาพที่อัดยากที่สุดเท่าที่เคยทำมา แต่พอสำเร็จออกมาแล้วภูมิใจมาก อย่างฟิล์มเซลลูลอยด์ภาพรัชกาลที่ 5 ผมประมูลมาในสภาพที่แย่มาก กรอบแตกยับ ยากแก่การทำให้เกิดภาพ อีกฝั่งปรอทเงินหรือแร่ซิลเวอร์ลอยขึ้นมาชัด แต่ก็พยายามทำจนอัดออกมาได้ในที่สุด พอรู้ว่าเราทำแบบนี้ได้ ผู้หลักผู้ใหญ่ก็จะเริ่มมาให้ล้างภาพเก่าแก่ของตระกูล ซ่อมภาพให้หน่อย จนเราเริ่มคิดไปเองว่า เฮ้ย! เราแม่งเป็นฟรานซิส จิตร ของยุคนี้ว่ะ ผมอาจจะเป็นช่างภาพในรัชกาลที่ 9 ก็ได้นะ เพราะผมได้รับใช้จริงๆ

งานของในหลวงรัชกาลที่ 9 บอกอะไรกับเราบ้าง

คนเคยบอกว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 มักถ่ายรูปพื้นที่ทุรกันดาร แต่เมื่อรูปเหล่านี้ออกมาเมื่อไหร่ที่นั่นก็จะพัฒนาขึ้น ซึ่งมันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ตรงนี้ ผมอินเรื่องเกี่ยวกับพระองค์ในแง่ของคนทำงานหนัก แม้วันนี้พระองค์ไม่อยู่แล้ว แต่ก็ยังคงทรงงานอยู่ ยังใช้วินาทีสุดท้ายทำงานด้วยกุศโลบายบางอย่าง ว่าถ้าไม่มีฉัน ระบบบางอย่างมันต้องทำงานอยู่ได้ ผมไม่ได้สนใจพระราชกรณียกิจนักเพราะคิดว่าเป็นงานของพระองค์ งานใครงานมัน แต่ว่าในมุมของภาพถ่าย ทรงมีภาพถ่ายเพื่องานกับภาพถ่ายไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะอย่างหลังมันสวยมาก ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่าภาพถ่ายไม่จำเป็นต้องสวยเลย ผมไม่นับถือความสวยในภาพถ่าย แต่นับถือความคิดของคนถ่าย ผมเห็นความขี้เล่นของในหลวงรัชกาลที่ 9 เยอะมาก ภาพที่เอามือจับเงาต้นไม้ ภาพสแนปลูกๆ เวลายิ้ม รู้สึกเลยว่าเห็นตัวจริงของคนชื่อภูมิพลในมุมหนึ่ง ลองคิดดูสิว่ามีช่างภาพคนหนึ่งที่ไม่เคยเรียกตัวเองว่าช่างภาพ แต่ถ่ายภาพเยอะมากๆ ตลอดทั้งชีวิต เมื่อก่อนไอดอลของผมเป็นฝรั่งทั้งนั้นเลย แต่ตอนนี้ไอดอลของผมคือในหลวงรัชกาลที่ 9 กับฟรานซิส จิตร แค่สองคน

ฟรานซิส จิตร เป็นใคร มีอิทธิพลกับคุณมากแค่ไหน

ฟรานซิส จิตร เป็นช่างภาพสมัยรัชกาลที่ 4 นี่เป็นคนแรกที่เป็นช่างภาพอาชีพ สไตล์ของแกจะลูกทุ่งๆ หน่อย ผสมสารเคมีเคลือบฟิล์มกระจกด้วยตัวเอง ลองผิดลองถูกเอง ทางของผมคือทางนี้เลย เขาถ่ายเร็วมาก เอาเยอะไว้ก่อน จนบางมุมผิดๆ เพี้ยนๆ วันไหนกล้องพังก็ได้แค่มาแค่ครึ่งตัวก็เอาๆ ไปเถอะ มันเป็นภาพถ่ายแบบไทยมากๆ งานของผมทุกวันนี้ในมุมแฟชั่นหรือภาพถ่ายทั่วไปมันก็ยังโมเดิร์นอยู่ แต่ผมเอาการโพสต์ แสงที่ผ่านหน้าต่าง การยิ้มหรือไม่ยิ้ม อย่างในยุคเรเนซองส์มาใช้ด้วย ตอนนี้ผมสนุกกับการสร้างงานแบบโบราณในงานโมเดิร์นมาก พอค้นลงไปมันเหมือนเจอตัวเองเมื่อชาติที่แล้ว ตอนนี้ก็เลยสนุกกับฟรานซิส จิตรมากๆ

ฟรานซิส จิตรแห่งรัชกาลที่ 4 เรียนรู้จากบาทหลวงฝรั่งแล้วมาลองผิดลองถูกต่อด้วยตัวเอง แล้วฟรานซิส จิตรแห่งยุคนี้เรียนรู้มาจากที่ไหน

จากอินเทอร์เน็ตหมดเลยครับ เพราะพอผมมาถามผู้รู้ในบ้านเราไม่มีใครตอบเลย เหตุผลหนึ่งที่บ้านเราไม่เจริญเพราะคนรู้อะไรก็หวงวิชา ไม่ยอมบอก ผมถามแค่ว่าตอนอัดรูปอาจารย์ทำคนเดียวหรือหลายคน แค่อยากรู้เรื่องสมาธิ ลูกศิษย์ก็ไม่ยอมบอก ผมก็รู้สึกว่าจะอมไว้ทำไมวะ (หัวเราะ) เราไม่ได้คิดจะแข่งกับใครอยู่แล้ว กลายเป็นว่าคนที่มาบอกก็คือเพื่อนฝรั่งที่ทำเพจฟิล์มกระจก บล็อกต่างๆ กลายเป็นว่าเขาชอบและตื้นตันสิ่งที่เราทำมากกว่า จนในที่สุดเด็กบ๊องๆ ที่ทำกับเพื่อนสองสามคนแล้วทำจริง ทำทุกวันจนสำเร็จ ซึ่งในอนาคตผมจะเปิดสอนแน่นอน แต่งานพวกนี้ค่าสอนก็จะแพงนะ เพราะผมเรียนจากยูทูบไง แปลว่าพวกคุณก็เรียนได้ แต่ถ้าพวกคุณอยากได้ทางลัดก็ต้องจ่ายแพงเว้ย บางคนอาจตั้งคำถามว่าเรียนจากยูทูบทำไมสอนแพง ก็แพงที่คุณไม่ทำอะไรไง ช่วงนี้ผมไม่ได้เล่นเฟซบุ๊กเลยสักวัน เพราะไม่รู้ว่าจะเล่นเพื่ออะไร ถ้าจะทำก็คงคิดเรื่องในหลวงรัชกาลที่ 9 นี่แหละ คนที่สะพายกล้องทุกวัน ถ่ายรูปเยอะที่สุดในประเทศ แต่ไม่เคยเรียกตัวเองว่าเป็นช่างภาพ เพราะฉะนั้นทำอะไรไม่ต้องบอกใครหรอก ให้งานมันบอกดีกว่า

facebook | Chardchakaj Waikawee

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR