ดอกไม้ที่บานในยามค่ำ ต่อให้สวยงามแค่ไหน จะมีสักกี่คนที่ได้เห็น
“มีแต่คนญี่ปุ่น ไม่มีคนไทยเที่ยวนะ แถวนี้เขาไม่รับต่างชาติ”
นิด อดีตมาม่าซังชาวไทย เล่าให้ ประพัทธ์ จิวะรังสรรค์ ศิลปินวิชวลอาร์ตฟังระหว่างพาเดินสำรวจย่าน Koganecho Bazaar ในโยโกฮาม่า ย่านที่เคยเป็นแหล่งให้บริการทางเพศแสนคึกคักเมื่อหลายสิบปีก่อน ในวิดีโอสั้นๆ ที่บันทึกบทสนทนาระหว่างเขากับเธอ ประพัทธ์ย้อมมันเป็นสีชมพูแจ๋นเพื่ออำพรางใบหน้าที่แท้จริงของพี่นิด ซึ่งก็ไม่ใช่ชื่อจริงๆ ของเธอเช่นกัน
วิดีโอสีสดนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ Nocturnal Flowers ดอกไม้ยามค่ำ ของประพัทธ์ที่ทำเมื่อเป็นศิลปินในพำนักของโคกาเนโจ บาซาร์ซึ่งทำให้เขาได้รู้ว่าสิบกว่าปีก่อน พื้นที่ที่เขาพำนักเคยบรรจุชีวิตของสาวขายบริการจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอาไว้ ช่างภาพหนุ่มได้เจอนิด อดีตมาม่าซังผู้บรรยายภาพในอดีตเมื่อครั้งก่อนที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะใช้ศิลปะเปลี่ยนแปลงพื้นที่
นอกจากคลิปวิดีโอแล้ว ประพัทธ์ยังเก็บภาพภายในห้องให้บริการที่หลงเหลือถึงทุกวันนี้ และสร้างเซตภาพดอกไม้ในความมืด แล้วจัดเป็นนิทรรศการในปลายปี 2018
“ไม่มีที่ไหนหรอกที่สามารถลบประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นจริงได้ มันต้องเหลือร่องรอยไว้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ของที่ไหนในโลกนี้” ประพัทธ์ย้ำกับเราอย่างหนักแน่น
“ที่โคกาเนโจ บาซาร์ ยังมีห้องจริงๆ ของโสเภณีเหลือประมาณ 5-6 ห้อง ข้างในยังมีสภาพเดิมเลย มีรองเท้าอยู่เหมือนเดิม มีนิตยสาร คู่สร้างคู่สม ตกอยู่ เราก็รู้เลยว่าเคยมีคนไทยอยู่ที่นี่ ตรงประตูก็เขียนเป็นภาษาไทยว่าเปิดแล้วปิดด้วย มันเป็นแรงบันดาลใจให้เรา
“ระหว่างพี่นิดพาทัวร์รอบๆ โคกาเนโจ บาซาร์ เขาก็เจอต้นไม้ที่เคยปลูกไว้ เราถ่ายมันด้วยกล้องวิดีโอแล้วเราก็เอามาแคปหน้าจอ เอาภาพพวกนี้มาปรินต์แล้วเราก็ขูดรูปอีกทีให้มีความเบลอเพิ่มไปอีก การขูดมันมีความหมายสองอย่าง หนึ่งคือการลบประวัติศาสตร์ ความทรงจำ แต่ในขณะเดียวกัน การขูดก็คือการเพิ่มเข้าไป เหมือนเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ด้วย”
ในแง่หนึ่ง การขูดก็เหมือนรัฐบาลญี่ปุ่นที่ย้ายแหล่งโลกีย์ออกไปเหมือนมันไม่เคยมีอยู่จริง แต่ในอีกแง่ การขูดก็คล้ายจะสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลพยายามสร้างพื้นที่ศิลปะที่โคกาเนโจ บาซาร์
หลังจากพื้นที่ให้บริการโดนปิดจนเกลี้ยง พี่นิดและหญิงสาวที่เคยทำอาชีพอยู่ในซอยก็กระจัดกระจายกันไปตามทาง บางคนเช่นพี่นิดลงเอยด้วยการทำงานในโรงงานและอาจไม่มีใครรู้เลยด้วยซ้ำว่าเธอเคยทำงานอะไรมาก่อน
“เราสนใจกระบวนการที่เมืองโยโกฮาม่าเอาศิลปะมาแทนแหล่งเสื่อมโทรมพวกนี้ เราไม่เข้าใจว่าการใช้ศิลปะมาแทนสิ่งที่เรียกว่าดาร์กไซด์นั้นได้ผลจริงๆ เหรอ เพราะเราถามพี่นิดว่ารู้ไหมว่าที่ตรงนี้กลายเป็นอะไร เขาก็บอกว่าไม่รู้ แปลว่ารัฐบาลก็ล้มเหลวที่จะทำให้ศิลปะเชื่อมโยงกับผู้คนในละแวกนี้”
ไฟใน red light district ดับลงไปนานแล้ว เราถามประพัทธ์ว่าอะไรคือสิ่งที่เขาอยากให้คนที่ได้ดู Nocturnal Flowers รู้สึก
“เราพยายามตั้งคำถามมากกว่า ทุกวันนี้ปัญหาเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติและผู้อพยพเป็นประเด็นใหญ่มากๆ เราเพียงแค่ตั้งคำถามว่าเราเคยคิดไหมว่ามันใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด เป็นการตั้งคำถามกับคนทั่วไปว่าเราฉุกคิดอะไรไหมเมื่อเห็นแม่บ้านชาวพม่า แม่บ้านชาติอื่นๆ หรือแรงงานก่อสร้างจากกัมพูชา เราเคยตั้งคำถามไหมว่าเขามีชีวิตยังไง หรือเขามีเหตุผลอะไรที่ต้องมาทำงานในประเทศอื่น”
Photo Courtesy of Prapat Jiwarangsan
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ a day 220 ฉบับ a night สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ godaypoets.com/aday220