ภาพถ่ายบันทึกความจริงโดยช่างภาพหนุ่ม มิติ เรืองกฤตยา

อะไรจะทำให้ภาพถ่ายของคุณต่างไปจากคนอื่น ในเมื่อเราอยู่ในยุคที่ใครก็ถ่ายภาพได้ด้วยการเข้าถึงสมาร์ทโฟนและกล้องพกพาที่แสนง่ายและเร็ว แถมยังมีแอพพลิเคชันอีกมากให้เลือกใช้ตกแต่งจนสวยเก๋

เราได้คำตอบนั้นเมื่อชมผลงานของช่างภาพหนุ่ม มิติ เรืองกฤตยา

มิติคือช่างภาพที่ตัดสินใจเลือกเรียนถ่ายภาพที่สถาบันใกล้บ้าน ก่อนบินลัดฟ้าไปเรียนต่อด้านการถ่ายภาพในระดับปริญญาโทที่กรุงลอนดอน ที่นั่นเขาได้รับรางวัลช่างภาพหน้าใหม่จาก Magenta Flash Forward เวทีการประกวดภาพถ่ายของอังกฤษ ผลงานของมิติถูกคัดเลือกให้ลงในวารสารชั้นนำ British Journal of Photography นอกจากนี้เขาเคยมีนิทรรศการทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสิ่งที่เราพูดถึงเป็นเพียงวีรกรรมส่วนหนึ่งเท่านั้น

มิติสนใจประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมร่วมสมัย หลังกลับจากลอนดอนมาสู่กรุงเทพฯ ช่างภาพหนุ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองตัวเองชัดเจนขึ้นกว่าแต่ก่อน และเลือกหยิบเหตุการณ์รอบตัวซึ่งบางคนอาจละเลยมาเป็นวัตถุดิบทำงาน กลายเป็นภาพถ่ายที่สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวในสังคมเมืองหลวงของไทย เขาเล่าว่า “บางคนอาจต้องบินไปสถานที่ไกลๆ เพื่อหาอะไรที่ exotic แต่เรากลับเห็นว่าสภาพแวดล้อมใกล้ตัวน่าสนใจมาก เพราะทำให้เรามองเห็นรายละเอียดในสังคมตัวเองได้มากขึ้น”

นอกจากสะท้อนการเปลี่ยนแปลงในสังคม จุดเด่นอีกอย่างในภาพถ่ายของมิติคือประเด็นเรื่องการเมืองซึ่งเขามองว่าเราไม่อาจหนีพ้น การเมืองที่มิติสนใจไม่ใช่แค่เรื่องในรัฐสภา แต่รวมถึงการเมืองในชีวิตประจำวันหรือการจัดการอำนาจที่ถ่ายเทกันไปมาของคนในสังคมด้วย

สิ่งที่ผลักให้งานของมิติไปไกลกว่าภาพถ่ายธรรมดาคือมุมมอง เขาไม่เน้นให้วัตถุใดในภาพเด่นไปกว่ากัน เพียงต้องการเผยให้เห็นสิ่งที่เห็นจริงตรงหน้า
ลดบทบาทการเป็นผู้กำกับภาพ และเลี่ยงการชี้นำคนดู เขาเลือกใช้เลนส์ 50 mm ถ่ายภาพเพื่อให้ใกล้เคียงสายตามนุษย์ ถ้าอยากเห็นชัด ต้องเดินเข้าไปใกล้ อยากเห็นภาพรวมต้องถอยห่าง มิติทำอย่างนั้นก่อนลั่นชัตเตอร์เช่นกัน

“ภาพของเราไม่ตัดสินว่าอะไรดีหรือไม่ดี ไม่ชี้นิ้วว่าไอ้นี่เหี้ย ไอ้ห่านี่ไม่ดี ไม่ประท้วง ไม่เรียกร้อง งานของเรายืดหยุ่น และถกเถียงแลกเปลี่ยนได้” มิติเล่าว่าภาพถ่ายไม่เคยมีความเป็นกลาง เพราะมีการ crop มีการคัดเลือก อาจขัดกับประโยคข้างบน แต่ถ้าได้ดูผลงานจะเข้าใจว่าเขาเล่าสิ่งที่ปรากฏในกรอบสี่เหลี่ยมอย่างเป็นกลางและเลือกเล่าเพราะเขาสนใจสิ่งนั้นจริงๆ

กระบวนการถ่ายภาพของมิติคือการบันทึกความจริง ไปพร้อมๆ กับการตั้งคำถามต่อตัวเอง ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามกับคนดูว่าคิดกับสิ่งที่เห็นตรงหน้ายังไง ทุกสิ่งที่คิดไม่มีถูกหรือผิด มิติเพียงต้องการลุกขึ้นมาบันทึกสิ่งที่อาจหายไปในอนาคต “ควรบันทึกภาพพวกนี้ไว้เป็นข้อมูลทางสังคมและประวัติศาสตร์” มิติกล่าวสั้นๆ แต่ได้ใจความ

ถัดจากนี้ คือตัวอย่างผลงาน 4 ชุดของมิติที่เราและช่างภาพหนุ่มร่วมคัดเลือกมานำเสนอ

01
FLOOD: Imagining Flood (2012)
ภาพบรรยากาศน้ำท่วม พ.ศ. 2554

02
THAI POLITICS I-THAI POLITICS V (2006
– ongoing)
ซีรีส์บันทึกภาพเหตุการณ์การเมือง 6 ชุด ทั้งจากที่ถ่ายบนท้องถนน และที่ได้จากสื่อสังคมออนไลน์และ Search Engine

03 Along the Way (2012)
ภาพถ่ายโพลารอยด์ของคน สิ่งของ และสถานที่ ประกอบข้อความที่ผู้ถูกถ่ายเป็นคนเล่าเรื่องตัวเองที่ทำในจังหวัดหนองคาย

04 DREAM PROPERTY (2014 – 2016)
ภาพห้องในคอนโดมิเนียมที่พร้อมปล่อยสู่ตลาด อีกส่วนเป็นข้อความโฆษณาภาษาอังกฤษที่ดึงมาจากเว็บไซต์ขายห้องที่สะท้อนความต้องการของคนเมือง

ปัจจุบัน มิติยังคงทำงานออกมาต่อเนื่อง ล่าสุดเขามีนิทรรศการ DREAM PROPERTY จัดแสดงให้ชมจนถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2559 ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY สาทร ซอย 1 เปิดวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 14.00 – 20.00 น.

www.mi-ti.com

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ และ มิติ เรืองกฤตยา

AUTHOR