หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ โมเดลแก๊งสัตว์เฝ้าโบสถ์วัดไทยที่อยากคืนกำไรให้วัดและชุมชน

Highlights

  • #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ คือฉายาที่ชาวเน็ตตั้งให้บรรดาสัตว์เฝ้าโบสถ์วัดในอีสานและภาคเหนือตอนล่างของไทยซึ่งทำโดยช่างชุมชน จึงมีหน้าตาไม่วิจิตรบรรจง แต่กลับน่ารักเกินบรรยาย
  • หลังจากแฮชแท็กนี้เป็นกระแสก็มีสินค้าจากแก๊งสัตว์ออกมามากมาย เช่น โมเดลจาก MOTMO Studio ของ โม่–คมกฤษ เทพเทียน ศิลปินผู้เคยสร้างปรากฏการณ์กาชาปอง ‘อับเฉาไม่อับเฉา’ ที่วัดอรุณราชวรารามในเทศกาล Bangkok Art Biennale 2018
  • เป้าหมายของโมเดลชุดนี้คือการตั้งคำถามว่าการอนุรักษ์และการสร้างสรรค์ต่อยอดจะไปด้วยกันได้ยังไง รวมถึงการทำให้คนในชุมชนเห็นมูลค่าของศิลปะที่พวกเขามี เพื่อต่อยอด สร้างรายได้เข้าชุมชนต่อไป

หิมพานต์มาร์ชเมลโล่

มาจะกล่าวบทไป               ถึงไวรัลที่ใครก็เคยคุ้น
หิมพานต์มาร์ชเมลโล่นุ่มละมุน        จินตนาการปัดฝุ่นความเป็นไทย

ยินดีต้อนรับเข้าสู่ป่าหิมพานต์แห่งศตวรรษที่ 21

ป่าแห่งนี้ไม่ได้มีต้นไม้เป็นกนกกกก้านลายรดน้ำหรือสิงสาราสัตว์หน้าตาวิจิตรทุกกระเบียดนิ้ว แต่เป็นสิ่ง (ไม่) มีชีวิตอัศจรรย์ที่เห็นแล้วต้องลากเสียงคำว่า “น่ารักกกก” อย่างไม่อาจห้ามใจ ดูอย่าง ‘เจ้ามอม’ สีขาวล้วนตัวอ้วนกลม หรือ ‘เหรา’ หน้าตาบ๊องแบ๊วลำตัวสีทอง ดูนุ่มนิ่มหน้าตาจิ้มลิ้มไร้ซึ่งความน่าเกรงขาม

ภาพ : mgronline.com

ภาพ : mgronline.com

แท้จริงแล้วเจ้าพวกนี้คือสัตว์ในตำนานท้องถิ่นที่เฝ้าอยู่ตามทางขึ้นโบสถ์ของวัดในภาคอีสานและภาคเหนือตอนล่าง สร้างสรรค์ขึ้นจากฝีมือของช่างชุมชนผู้เปี่ยมศรัทธา แต่ว่าไม่ได้จบหลักสูตรศิลปะตามขนบอย่างช่างหลวง ผลงานจึงออกมาหน้าตาน่ารัก เป็นมิตร อย่างกับตัวการ์ตูน จนคนรุ่นใหม่พากันแชร์ภาพเต็มโซเชียลมีเดีย

และแล้วแฮชแท็ก #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ ก็กลายเป็นไวรัลทั้งในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กยาวนานต่อเนื่องหลายวัน 

หลายคนแต่งเติมจินตนาการต่อยอดเป็นภาพแฟนอาร์ต การ์ตูนช่องหลากหลายอิริยาบถ แอนิเมชั่นสั้นๆ ไปจนถึงขั้นวางแผนพัฒนาเป็นเกมออนไลน์ และแน่นอนว่าตามมาด้วยโมเดลสามมิติจากนักสร้างสรรค์จำนวนมากที่ต่างพากันผลิตขึ้นมาเอาใจนักสะสมที่หลงใหลความน่ารักของน้องๆ อย่างถอนตัวไม่ขึ้น

MOTMO Studio ของ โม่–คมกฤษ เทพเทียน ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ และเพิ่งได้ฤกษ์งามยามดี มีโมเดลผลิตเสร็จพร้อมส่งให้ลูกค้าเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

หิมพานต์มาร์ชเมลโล่

หากฟังชื่อศิลปินแล้วคุ้นๆ นั่นเพราะเขาคือผู้อยู่เบื้องหลังผลงานกาชาปอง ‘อับเฉาไม่อับเฉา’ ในงาน Bangkok Art Biennale 2018 นั่นเอง

ครั้งนั้น โม่นำเอาตุ๊กตาอับเฉาจากเมืองจีนในวัดอรุณราชวรารามมาทำเป็นของเล่นชิ้นจิ๋วจนคนต่อแถวบิดกาชาปองกันยาวเหยียด แต่เมื่อคราวนี้เขาหยิบของที่ใกล้ตัวกว่าเดิมอย่างงานของช่างพื้นถิ่นมาต่อยอด เราจึงชวนเขาพักมือจากแม่พิมพ์มานั่งเล่ากระบวนการเนรมิตสัตว์ในจินตนาการให้จับต้องได้ ตั้งแต่ปิ๊งไอเดียไปจนถึงแผนการพาของเล่นแต่ละตัวกลับไปยังบ้านเกิด เพื่อชวนให้วัดและคนในชุมชนมาร่วมพัฒนาหิมพานต์มาร์ชเมลโล่ไปด้วยกัน

หิมพานต์มาร์ชเมลโล่

ขั้นที่ 1 : ข้ามศาสตร์ ข้ามศิลป์

ผลงานของเล่นไทยๆ ของโม่ที่วางเรียงรายล้อมอยู่ในสตูดิโอทำให้เราไม่แปลกใจนักเมื่อเขาเริ่มต้นเล่าว่า “ผมโตมากับพระเครื่องและของเล่น การเติบโตมาในยุค 90s ก็ทำให้มีโอกาสได้คลุกคลีกับของเล่นจากญี่ปุ่นด้วย เมื่อมาทำงานก็เอาของซีเรียสมาอยู่ในของเล่น เอาของเล่นมาอยู่ในเรื่องซีเรียส สลับไปสลับมา”

ช่วงเวลาวัยเด็กหล่อหลอมให้เขาตัดสินใจเดินเข้าสู่เส้นทางสายประติมากรรมที่ภาควิชาวิจิตรศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และลงลึกศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

ทุกวันนี้เขาทำงานเป็นศิลปินอิสระที่ได้ร่วมจัดแสดงผลงานทั้งในไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Ganecha (2016) รูปปั้นพระพิฆเนศที่ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนประติมากรรมหลากหลายเทคนิค ทั้งปูน ไม้ ดินเผา เซรามิก ผ้า Conversation (2017) งานศิลปะจัดวางที่นำเทวรูปหลากหลายรูปแบบมาเติมต่อด้วยชิ้นส่วนเลโก้ และจัดวางในเฟอร์นิเจอร์ที่คุ้นตาตามบ้านเรือน Open the World (2017) ที่ใช้ตัวต่อเลโก้หลากสีเติมส่วนเศียรที่หายไปของพระพุทธรูป หรือ Giant Twin (2018) ประติมากรรมรูปยักษ์ไทยกับยักษ์จีนที่ตัวติดกันเหมือนแฝดอิน-จัน ซึ่งตั้งข้างตู้กาชาปองอับเฉาที่ทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักมากที่สุดคนหนึ่งในเทศกาล Bangkok Art Biennale ครั้งแรกของไทย

นอกจากบทบาทของศิลปินเดี่ยวและอาจารย์พิเศษด้านประติมากรรมในสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่งแล้ว โม่ยังเป็นผู้ก่อตั้ง MOTMO Studio ที่เน้นทำของเล่นเล่าเรื่องราวศิลปวัฒนธรรมไทยให้เข้าถึงคนทั่วไปได้ด้วย

Open the World (2017)

Ganecha (2016)

ขั้นที่ 2 : เป็นรูป เป็นร่าง

ก่อนที่หิมพานต์มาร์ชเมลโล่จะดังระเบิด MOTMO Studio กำลังพัฒนากาชาปองสัตว์หิมพานต์ที่ปรากฏบนจิตรกรรมฝาผนังวัดต่างๆ อยู่พอดี จึงได้เคยพบเห็นหน้าตาของสัตว์หิมพานต์และสัตว์ในตำนานเหล่านี้มาแล้วระหว่างลงพื้นที่เก็บข้อมูล

“สัตว์พวกนี้ เราเห็นมานานแล้วในสิม (โบสถ์) ของอีสานและวัดในภาคเหนือตอนล่าง มันเป็นงาน folk art หรือศิลปะพื้นถิ่น บางคนอาจจะมองว่าฝีมือไม่วิจิตร แต่ผมชอบ มันมีสปิริต มีจิตวิญญาณคนพื้นถิ่น เราไม่ต้องไปลดทอนฟอร์มด้วยซ้ำเพราะชาวบ้านเขาลดทอนมาให้แล้ว ถึงขั้นที่มันกลายเป็นการ์ตูนได้” คมกฤษเล่าความประทับใจตอนที่ได้เห็นสัตว์ในตำนานจากฝีมือช่างพื้นถิ่น

แต่ที่ทำให้เขายิ่งตื่นเต้นคือการได้เห็นแฮชแท็ก #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ และเด็กรุ่นใหม่ที่เริ่มสนใจงานศิลปะแบบนี้–แบบที่เขาสนใจมาตั้งแต่เด็กๆ 

ในฐานะที่เป็นคนสร้างสรรค์เหมือนกัน หลังเห็นภาพถ่าย ภาพวาด ยันแอนิเมชั่น เขาก็ไม่รอช้าลุกขึ้นมาหยิบดินน้ำมันลองปั้นขึ้นรูป

“เราเห็นแล้วก็อยากปั้นทันทีเลยบอกภรรยาให้เข้านอนไปก่อน ไอเดียมันมาแล้ว (หัวเราะ) ผมโตมากับขบวนการ 5 สี ซูเปอร์เซนไต ก็เลยไม่ได้คิดจะทำแค่ตัวเดียวแต่มันต้องมี 5 สี 5 บุคลิก เริ่มต้นจากขยำดินง่ายๆ 5 ก้อนเพื่อกำหนดความหลากหลายของงานทั้งเซตก่อน ตัวไหนจะเป็นตัวเด่น ตัวกลาง ตัวรอง ผมเชื่อในพลังของความเป็นซีรีส์ มันเป็นทริกอย่างหนึ่งที่จะสร้างงานให้คนอยากติดตาม”

หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ ที่ได้รับคัดเลือกมาร่วมแก๊งนั้น ได้แก่

เหราหน้าหวานจากวัดชัยภูมิการาม จังหวัดอุบลราชธานี

มอมจากวัดพระธาตุขามแก่น จังหวัดขอนแก่น

สิงห์จากวัดเกาะวาลุการาม จังหวัดลำปาง

นาคสีฟ้าจากวัดนรวราราม จังหวัดมุกดาหาร

และนาคสีเขียวจากวัดโพธิ์ศรีทุ่ง จังหวัดอุดรธานี

ส่วนเหตุผลที่ต้องเป็นแก๊งนี้ โม่บอกว่าเพราะแต่ละตัวล้วนมีเอกลักษณ์โดดเด่นเห็นแล้วจดจำได้ทันที และเมื่อมาอยู่รวมกัน ทั้งสีสันและรูปทรงต่างก็ยิ่งเติมเต็มให้คาแร็กเตอร์ของแก๊งดูสมบูรณ์

ขั้นที่ 3 : สัมผัสสำคัญ

โม่ใช้เวลาปั้นเพียง 2 คืน จากนั้นก็ชักชวนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยมาช่วยกันทำพิมพ์ ขึ้นรูป ปรึกษากันถึงกระบวนการผลิตที่จะต้องวางขายจริงจัง โดยได้เรียนรู้จากการทำกาชาปองอับเฉาไม่อับเฉาก่อนหน้านี้ที่ได้รับความสนใจอย่างมากจนผลิตไม่ทัน จึงเลือกวิธีการพรีออร์เดอร์ตามความต้องการแทน

เมื่อทำพิมพ์จากดินน้ำมันออกมาเป็นงานต้นแบบ แล้วก็มาถึงขึ้นตอนการเก็บรายละเอียดด้วยการขัดแต่งบางส่วนให้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากดินน้ำมันมีความอ่อนตัวทำให้รูปร่างไม่ชัด ไม่สามารถเติมรายละเอียดได้อย่างที่ใจต้องการ เขาจึงต้องทำเป็นพิมพ์หล่อเรซิ่นอีกครั้ง และผสมผงหินอ่อนเทียมเข้าไปเติมน้ำหนักให้งานไม่เบาโหวงจนล้มกลิ้ง รวมถึงปรับแก้ให้ทุกตัววางเรียงเคียงกันได้อย่างสมดุล แม้จะยืนบนขาผอมๆ อย่างสิงโตจากวัดเกาะวาลุการาม จังหวัดลำปาง ก็ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่เคียงข้างเพื่อนๆ ได้อย่างมั่นใจ 

เช่นเดียวกับงานต้นแบบที่มีชีวิต จิตใจ และคาแร็กเตอร์ของช่างที่เป็นผู้ปั้นอยู่เต็มเปี่ยม โม่เองก็เลือกวิธีแฮนด์เมดที่บรรจุเสน่ห์ของมนุษย์ผู้สร้างไว้เต็มๆ

“เราใช้เวลาทดลองทำสี แก้สีอยู่ประมาณ 1-2 วัน ให้มันพอดี พยายามใช้ความคราฟต์มาจับเพราะรู้สึกว่างานที่จบด้วยมือมนุษย์มันมีเสน่ห์จริงๆ แต่เมื่อทำงานแฮนด์เมดเราต้องแบกค่าแรงสูงกว่าการผลิตในโรงงานมาก ก็เลยคิดว่าต่อไปอาจจะต้องทำให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น ทั้งพัฒนาและอนุรักษ์ ไปด้วยกันทั้งอุตสาหกรรมและงานทำมือ”

ขั้นที่ 4 : จากวัดกลับสู่วัด

เมื่อหยิบต้นแบบจากสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้สร้างสรรค์งาน MOTMO Studio จึงตั้งใจจะส่งต่อสิ่งที่พวกเขาได้รับกลับคืนให้สังคม โดยเฉพาะการทำให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาไทยไปด้วยกันได้กับความร่วมสมัยใกล้ตัว 

ถึงแม้ว่าโมเดลหิมพานต์มาร์ชเมลโล่ในเซตแรกจะยังไม่ได้มอบกำไรให้วัดที่เป็นต้นแบบของสัตว์แก๊งนี้ แต่ทีมงานก็ได้ขออนุญาตกับทางวัดเรียบร้อย และคิดค่าของเล่นในราคาสบายกระเป๋า เพราะมองว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการทำงานเซตนี้ร่วมกับชุมชนต่างๆ ต่อไป

“เรามองว่าการทำของเล่นหิมพานต์มาร์ชเมลโล่ชุดแรกเป็นเหมือนการรีเสิร์ชเพื่อที่จะทำของเล่นเซตใหม่​ ซึ่งวางแผนว่าจะทำต่อไปแน่ๆ รักษากระแสที่จุดติดแล้วเอาไว้ เพราะเมื่อไหร่ที่คนเริ่มคุ้นเคยกับสัตว์เหล่านี้ มันจะสามารถทำการตลาดได้ เพิ่มมูลค่า มีเงินกลับไปให้ชุมชน”

นอกจากเงินรายได้โดยตรง เพราะเป็นอาจารย์ที่สอนด้านศิลปะโดยตรง โม่ยังมองไปถึงว่าถ้าชุมชนต้องการศึกษาเรื่องศิลปะที่พวกเขามีอยู่ใกล้ตัวเพิ่มเติม ก็สามารถใช้รายได้จากการขายของเล่นในเซตต่อๆ ไปสนับสนุนการศึกษาของเด็กๆ ในชุมชนได้ด้วย

ที่สนุกคือในอนาคต พวกเขาหวังว่าของเล่นของ MOTMO จะไม่ใช่แค่ผลงานของพวกเขาเพียงกลุ่มเดียว โดยในปีใหม่นี้ หลังส่งสินค้าที่มีคนพรีออร์เดอร์ไว้เสร็จสิ้น ทีมวางแผนกันว่าจะเดินไปทางพูดคุยกับบรรดาวัดทั้งหลายถึงความเป็นไปได้ในการปั้นสัตว์หิมพานต์ เวอร์ชั่นลิมิเต็ดที่จะวางขายเฉพาะในวัดนั้นๆ ขึ้นมาใหม่ รวมถึงมีโปรเจกต์ค้นหาช่างชาวบ้านที่สนใจสานต่อหิมพานต์มาร์ชเมลโล่เป็นสินค้าวางขาย หารายได้เข้าวัดและชุมชนต่อไป

“เรากำลังมาถึงจุดที่สังคมไทยยอมรับความงามที่แตกต่าง หลากหลาย นอกจากคนรุ่นใหม่เข้าใจแล้ว เราควรจะทำให้คนในพื้นที่เข้าใจด้วยว่าเขาไม่ได้ด้อยไปกว่าที่อื่น เราเคารพสิ่งที่เขามีอยู่ ถ้าคนในชุมชนเริ่มเข้าใจว่าสิ่งที่เขามีมันมีคุณค่า เขาก็จะทำประโยชน์จากมันได้มากขึ้น

“เพราะของเดิมที่ช่างโบราณทำไว้เปรียบเหมือนร่างกาย แต่งานสร้างสรรค์ใหม่ๆ มันคือชีวิต”

หิมพานต์มาร์ชเมลโล่

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน