เปลี่ยนเสียงเพลงเป็นภาพกราฟิก วิธีคิดปกอัลบั้มในยุคที่คนไม่ค่อยซื้อซีดีกับ hereodd

Highlights

  • อ๊อด–สุพิชาน โรจน์วณิชย์ คือกราฟิกดีไซเนอร์หนุ่มผู้อยู่เบื้องหลังภาพหน้าปกและแพ็กเกจซีดีอัลบั้มล้ำๆ ของศิลปินชื่อดังหลายวง ไม่ว่าจะเป็นศิลปินเบอร์ใหญ่ในค่าย genie records, BEC-TERO MUSIC และค่ายเพลงกระแสหลักอื่นๆ เรียกได้ว่ามีเวลาดูงานของเขาทั้งวันอาจไม่พอ
  • งานดีไซน์ในมุมของอ๊อด ไม่ใช่ดีไซน์เพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นดีไซน์ที่สื่อสารทั้งเอกลักษณ์และตัวตนของศิลปินออกมาได้ชัดเจนที่สุด และที่สำคัญงานดีไซน์ยังสามารถแก้ปัญหาให้กับศิลปินได้ด้วย

จำได้ว่าหลายปีก่อนคนฟังเพลงหลายคนนั่งบ่นคิดถึงโมเมนต์การแกะตลับเทปคาสเซต พลิกดูข้อความตัวหนังสือขนาดจิ๋วหลังปกอัลบั้ม เวลาผ่านไปไม่นาน ยอดขายแผ่นซีดีอัลบั้มก็ตกต่ำลงจนน่ากังวลว่ามันอาจตกไปอยู่ที่นั่งเดียวกับเทปคาสเซตสุดคลาสสิกเหล่านั้น

สิ่งที่ตายไปอาจเป็นเพียงแค่วัตถุที่จับต้องได้ แต่สำหรับกราฟิกดีไซเนอร์ คนทำงานเบื้องหลังภาพหน้าปกอัลบั้มต่างๆ ความสนุกในการสร้างสรรค์วิชวลที่บอกเล่าตัวตนศิลปินเจ้าของบทเพลงเหล่านั้นยังคงเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยนเลยแม้แต่นิดเดียว

ยืนยันจากเสียงและผลงานการดีไซน์หน้าปกและแพ็กเกจอัลบั้มนับไม่ถ้วนของ Hereodd หรือ อ๊อด–สุพิชาน โรจน์วณิชย์ กราฟิกดีไซเนอร์คนเก่งผู้อยู่เบื้องหลังภาพวิชวลล้ำๆ ของศิลปินชื่อดังหลายวง ไม่ว่าจะเป็นศิลปินเบอร์ใหญ่ในค่าย genie records, BEC-TERO MUSIC, SpicyDisc และค่ายเพลงกระแสหลักอื่นๆ 

ไม่แน่ว่าอัลบั้มเพลงอัลบั้มโปรดของคุณอาจเป็นหนึ่งในงานออกแบบฝีมือชายที่อยู่ตรงหน้าเราคนนี้ก็เป็นได้ ซึ่งนอกจากงานที่ทำให้กับศิลปิน อ๊อดยังเปิดบริษัทออกแบบรับทำ corporate identity ให้กับองค์กรและแบรนด์ต่างๆ อีกด้วย ที่มาที่ไปของชายคนนี้เป็นอย่างไร วิธีคิดปกอัลบั้มของเขาจะเจ๋งแค่ไหนมาฟังจากปากของเขากัน

G19 DVD Concert Box Set

เริ่มต้นจากเพลงที่ชอบฟัง

“เราเป็นเด็กที่ชอบฟังเพลงร็อกมากๆ แต่เล่นดนตรีไม่เป็นเลย ตอนเรียนที่คณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อก่อนไม่มีอินเทอร์เน็ตหรือสื่อออนไลน์ที่หาดูอะไรง่ายเหมือนสมัยนี้ เวลามีเพลงหรือหนังที่น่าสนใจเราก็อาศัยแชร์กับกลุ่มเพื่อนที่มหา’ลัยนี่แหละ เราเลยมีเพื่อนที่สนใจดนตรีและงานออกแบบคล้ายๆ กันค่อนข้างเยอะ

“เพื่อนในรุ่นเป็นนักร้องกันเยอะมากครับ มีเฟิด Slot Machine, แกน The Jukks, เชี้ยง Morning Surfers ยุคนั้นบางคนเริ่มทำอัลบั้มตั้งแต่เรียนมหา’ลัย เรารู้จักกับเฟิด เขาก็เลยเกริ่นๆ ว่าถ้าวงมีอัลบั้มเขาจะชวนเราไปทำ เราว่าการดีไซน์ให้ศิลปินสนุกกว่างานดีไซน์อื่นๆ เพราะเราได้เจอศิลปินหลากหลายแนว และศิลปินแต่ละคน แต่ละวง ก็มีเอกลักษณ์ มีความคิดต่างกัน โจทย์งานที่เราได้ทำไม่มีซ้ำกันแน่นอน

“พอเรียนจบสักพักเฟิดก็ชวนเราไปออกแบบวิชวลให้อัลบั้มที่สามของ Slot Machine (อัลบั้ม Grey) อันนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้จับงานออกแบบให้กับศิลปินค่ายต่างๆ ยาวมาจนถึงทุกวันนี้”

Slot Machine อัลบั้ม Grey

บทเรียนสอนใจบทใหญ่

“ขอย้อนกลับไปนิดนึง จริงๆ ช่วงที่เรียนอยู่เราก็ได้ลองทำงานไปด้วย เราเคยทำงานให้กับแกรมมี่มาก่อนครับ แต่ด้วยความที่เรายังเด็กมาก เรามั่นใจมากว่างานเราดีที่สุด สมมติทางค่ายให้แก้งานเราไม่ยอมแก้เลย สุดท้ายก็จบกันไม่ค่อยดี จังหวะเดียวกัน อัลบั้ม Grey ในความเห็นของเรา อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จด้านเพลง แต่สอบตกแง่ดีไซน์

“คือมันอาจจะใหม่เกินไปสำหรับเวลานั้น ดีไซน์ของเราไม่ตอบโจทย์อะไรหลายๆ อย่าง เพราะตอนนั้นเราคิดแค่ว่าจะออกแบบอัลบั้มยังไงให้ออกมาล้ำ ดูดี และประหลาดที่สุด แต่มันไม่ตอบโจทย์ฟังก์ชั่นการใช้งาน เป็นปกซีดีที่ไม่สามารถตั้งได้ และขนาดก็บางเกินกว่าจะเป็นซีดีอัลบั้ม เพราะจริงๆ แล้วทริกในการออกแบบปกซีดีคือยิ่งหนา คนซื้อจะยิ่งรู้สึกว่าคุ้มที่ได้มันไป

“ความผิดหวังตอนนั้นทำให้เราต้องถอยกลับมาดูตัวเอง ยอมรับว่าตัวเองมีอีโก้สูงมาก ค่ายแกรมมี่เป็นครูที่ดีมากครับ เขาสอนเราว่าจริงๆ แล้วค่ายเพลงไม่ได้ต้องการงานที่ดีที่สุด ล้ำมาก หรือแฟชั่นมากที่สุดในโลก แต่เขาต้องการงานออกแบบที่ตอบว่า personality ศิลปินของพวกเขาเป็นยังไง สื่อสารกับทาร์เก็ตให้ชัดเจนว่าจุดเด่นของศิลปินเขาคืออะไร และทำยังไงให้ศิลปินคนนั้นแตกต่างจากศิลปินที่เขามีอยู่แล้วเท่านั้นเอง”

“หลังจากทบทวนความผิดพลาดที่ผ่านมา เฟิดชวนไปทำอัลบั้มรวมภาพแสดงคอนเสิร์ต Machinema และอัลบั้ม Cell ต่อ ซึ่งโชคดีที่งานมันได้รับฟีดแบ็กที่ดีมากๆ เพราะมันตอบโจทย์ตัวตนของศิลปิน เรายิ่งเข้าใจว่าเราต้องออกแบบไปเพื่อศิลปินจริงๆ ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเอง ถ้าเรามัวทำงานที่อยากใส่อะไรก็ใส่ สุดท้ายงานชิ้นนั้นจะกลายเป็นงานที่เลื่อนลอย

“หลังๆ เราเลยศึกษาเยอะมาก คุยกับศิลปินมากขึ้นว่าเขาอยากได้อะไร เขาชอบและสนใจอะไร คนฟังของพวกเขาเป็นใคร จนกลายเป็นสูตรการทำงานออกแบบของเราเอง ต้องขอบคุณแกรมมี่และเฟิดมากที่พาเราออกจากกะลา”

MILD อัลบั้ม MI4D

ดีไซน์ไม่ใช่แค่เสริมลุค แต่ดีไซน์คือการแก้ปัญหา

“หลังจากนั้นก็ได้โอกาสทำงานให้ศิลปินค่ายโซนี่มาเรื่อยๆ จนได้รู้จักกับโอม Cocktail เขาสนใจงานเราเลยชวนเราไปทำงานด้วย ซึ่งตอนนั้นเพลง เธอทำให้ฉันเสียใจ ที่เขาเพิ่งปล่อยดังมาก แต่ช่วงที่เพลงกำลังโด่งดัง ศิลปินต้องไปศึกษาต่อต่างประเทศ การโปรโมตเลยขาดช่วง

“นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้เข้าไปทำงานกับ genie records และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้ลองคิดสิ่งใหม่ๆ ออกไป ค่ายก็บรีฟโจทย์มาว่าปัญหาของวงคือ identity ของวงไม่ชัดเจน เพราะงั้นช่วงที่ Cocktail ทำอัลบั้ม The Lords of Misery เราเลยอยากรีแบรนด์วงใหม่ และคิดโลโก้ใหม่ของวงออกมาเป็น symbolic เพราะช่วงนั้นยังไม่มีวงดนตรีไทยวงไหนให้ความสำคัญกับ symbolic ขนาดนี้

Cocktail อัลบั้ม The Lords of Misery

“เวลาคิดงาน เราจะพยายามแตกคีย์เวิร์ดจากข้อมูลที่ได้จากการพูดคุยกับศิลปิน โปรดิวเซอร์ มาร์เก็ตติ้ง แต่ละคนเขาจะเห็นภาพที่ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เราก็เปลี่ยนคีย์เวิร์ดที่ได้ออกมาเป็นภาพที่คนทั่วไปน่าจะเข้าใจง่ายที่สุดออกมา อย่างคีย์เวิร์ดหลักของ Cocktail คือความเชื่อ ศาสนา และทหาร ตัวโลโก้เลยมีองค์ประกอบเหล่านี้ ดีไซน์มันออกมาเป็น emblem ที่ดูเป็นเจ้าลัทธิหน่อย แล้วก็ถอดออกมาเป็นคำว่า Cocktail ได้ด้วย

“จริงๆ ชื่อวง Cocktail เป็นชื่ออัลบั้มรวมวงของเพื่อนๆ เตรียมอุดมฯ ของโอม เราเลยตีความใหม่ อยากให้ค็อกเทลว่าเป็นตัวแทนที่รวบรวมเครื่องดื่มชั้นดี และวงนี้เขาแต่งตัวดี น่าสนใจกว่าวงดนตรีช่วงนั้นที่ส่วนใหญ่ที่ชอบใส่เสื้อยืดกางเกงยีนสีดำ เราอยากให้ค็อกเทลต่างออกไปเลยกำหนดคู่สีสำหรับการแต่งกายขึ้นมาคือดาร์กบลูที่แทนความเศร้า สีดำแทนศาสนาและความเชื่อ และสีทองแทนผู้นำ แล้วก็ใช้คู่สีนี้กับดีเทลอื่นๆ ด้วย ส่วนเสื้อผ้าก็ใช้คัตติ้งแบบทหาร ทุกอย่างต้องเกาะไปกับคีย์เวิร์ดที่เราได้มา

Slot Machine อัลบั้ม Cell

“Slot machine อัลบั้ม Cell เป็นอีกอัลบั้มที่โจทย์คือการแก้ไขปัญหา ตอนนั้นวงเปลี่ยนคาแร็กเตอร์ใหม่ ทีมงานเลยอยากให้เอารูปวงขึ้นหน้าปกแต่ศิลปินไม่ค่อยเห็นด้วย เราก็เลยเสนอไปว่าทำสองปกไปเลยไหม พบกันครึ่งทาง (หัวเราะ) อย่างในแพ็คเกจธรรมดาก็เป็นรูปวง อันนี้เราจัดแสงกับคอมโพสล้อเลียนวงควีน ส่วนแพ็กเกจพิเศษที่เป็นกล่องสามเหลี่ยมก็ดีไซน์ให้มันดูพรีเมียมขึ้น”

“ตอนอัลบั้ม Cell เราคุยกับวงเยอะมาก เฟิดกับเพื่อนๆ มีอะไรในหัวเยอะมาก อย่างสัญลักษณ์สามเหลี่ยมที่วงใช้ เป็นสัญลักษณ์ของศาสนา ปรัชญา ความเชื่อ ความเร้นลับต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่วงให้ความสนใจและหยิบมาทำเป็นเพลงของพวกเขาด้วย สัญลักษณ์ในปกอัลบั้มนี้มีที่มาจาก crop circle ของมนุษย์ต่างดาวที่อยู่ในทุ่งหญ้า คล้ายๆ กับปฏิทินดวงดาวอะไรแบบนั้น

“เรามองว่าการดีไซน์วิชวลหรืออาร์ตไดเรกชั่นต่างๆ ให้ศิลปินเป็นการทำงานร่วมกัน ศิลปินทุกคนมีไอเดียอัลบั้มของเขาอยู่ก้อนหนึ่ง เขาเอาก้อนนั้นมาเล่าให้เราฟัง หน้าที่ของเราคือการถ่ายทอดสิ่งที่พวกเขาอยากได้ออกมาเป็นภาพให้ดีที่สุดแค่นั้นเอง ยิ่งถ้าเราได้ฟังเพลงในอัลบั้มของพวกเขาด้วยก็จะยิ่งเห็นว่าพวกเขาเป็นอย่างไร ณ เวลานี้มีมู้ดแบบไหน เขาคิดอะไรอยู่ เพราะธรรมชาติของคนเรายังไงมันต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่มีทางที่เราจะรู้สึกเหมือนเดิม หรือคิดเหมือนเดิมอยู่ตลอดจริงไหม

“ส่วนตัวเราสนุกมากกับการทำงานที่เปลี่ยนเสียงเพลงออกมาเป็นภาพกราฟิก นอกจากจะได้คิดว่าแนวเพลงกับภาพต้องไปด้วยกันให้ได้แล้ว เวลาทำงานกับวงดนตรี การเจอศิลปินหลายคนเรื่อยๆ เราก็ได้เห็นทิศทางดนตรีของพวกเขาที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ด้วย”

Slot Machine อัลบั้ม Cell

กราฟิกดีไซน์ที่ออกแบบกล่องเก็บความทรงจำให้ศิลปิน

“ในมุมมองเรา เราว่าซีดีมันหายไปจากตลาดมานานมากแล้วแหละ เดี๋ยวนี้คนฟังเพลงจากอินเทอร์เน็ตมันง่ายกว่าการไปซื้อแผ่นเพื่อเปิดฟังมากอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ที่เรายังได้ออกแบบอัลบั้มอยู่ เรามองว่ามันเป็นการออกแบบของพรีเมียมที่ทำเพื่อให้คนได้เก็บสะสม ให้แฟนคลับของศิลปินแต่ละคนได้เก็บเป็นที่ระลึก

“ส่วนตัวศิลปินเอง การได้ออกอัลบั้มเป็นแพ็กเกจที่หยิบจับได้มันเป็นเหมือนกับกล่องเก็บเพลง เก็บความทรงจำของพวกเขา ศิลปินบางคนเดินทางมายาวนานมากเลยนะกว่าจะมีอัลบั้มเต็มเป็นของตัวเอง ยิ่งทิศทางตลาดเพลงบ้านเราที่ศิลปินปล่อยเพลงกันทีละซิงเกิลแบบนี้ เราว่าการได้มีอัลบั้มเต็มสักอัลบั้มหนึ่งมันต้องเป็นสิ่งที่พิเศษมากกับคนที่ทำอาชีพศิลปิน”


3 ปกอัลบั้มสนุกๆ ที่ hereodd หยิบมาเล่าเบื้องหลังให้เราฟัง

01
Cocktail อัลบั้ม The Lords of Misery

“ชื่ออัลบั้ม The Lords of Misery ชวนตีความให้นึกถึงเทพแห่งความโศกเศร้า โลกเราไม่ได้มีเทพแห่งความโศกเศร้าที่ออกมาเป็นภาพหรือรูปปั้นที่ชัดเจนเลย เราก็เลยสร้างคาแรกเตอร์เทพผู้ชายขึ้นมาใหม่ เราก็ไปดูว่าเทพของกรีกโรมันเขาหน้าตาประมาณไหน แล้วก็สเก็ตซ์ออกมาเป็นเทพผู้ชายที่ท่าทางเศร้าที่สุด แล้วให้น้องๆ ขึ้นทรีดีให้อีกที แพ็คเกจอัลบั้มก็มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ไปกับคีย์เวิร์ดความเชื่อกับศาสนา อย่างเช่น เย็บเทคนิคเดียวกับไบเบิล ใช้ฟอนต์เดียวกับที่เขาใช้ตีพิมพ์ไบเบิลจริงๆ คือเวลาเราทำงานเราจะค่อนข้างเนิร์ดครับ (หัวเราะ)

“หลังจากมีอัลบั้มวงก็มีคอนเสิร์ตใหญ่ เราก็เลยใช้คอนเซปต์เทพองค์เดิม ให้น้องคนเดิมขึ้นทรีดีทำท่าเปิดหูเปิดตา เพราะมันเป็นแผ่นดีวีดีคอนเสิร์ตที่เปิดหูฟังและเปิดตาดูได้ ทำรูปทรงของมันเป็นรูปหัวใจคนที่ล้อกับชื่อคอนเสิร์ต The Heartless Live

02
The Kidnappers อัลบั้ม
Signal

“Kidnappers เป็นวงดนตรีที่อยู่มานาน สามอัลบั้มที่ผ่านมาไม่เคยเล่าเรื่องการลักพาตัวที่เป็นความหมายตามชื่อวงเลย แถมเพลงในอัลบั้มนี้มีกลิ่นของยุค 60-70s ทางค่ายก็ให้โจทย์มาว่าอยากให้ทำอัลบั้มที่มีโฟโต้บุ๊กด้วย เราเลยเสนอไอเดียทำโฟโต้บุ๊กที่เล่าแบบหนังลักพาตัวย้อนยุคไปเลยดีไหม แล้วก็เขียนสตอรี่ว่ามีผู้ชายลึกลับสองคนซึ่งก็คือพี่เม กับพี่อู๋ สองนักดนตรีสมาชิกหลักของวงกำลังวางแผนลักพาตัวสาวสวยคนหนึ่งซึ่งก็คือน้องติว นักร้องนำคนใหม่

“ระหว่างที่หนังดำเนินเรื่องไป น้องติวเหมือนจะรู้ตัวว่ากำลังจะถูกลักพาตัว เลยทิ้งสิ่งของไว้ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อส่งสัญญาณบางอย่างว่าเกิดอะไรขึ้น (ล้อกับชื่ออัลบั้ม Signal) ในโฟโต้บุ๊กก็เลยมีทิชชู่ มีรูปถ่าย ดีเทลเล็กๆ น้อยๆ สอดไว้ เหมือนทิ้งหลักฐานให้เราติดตามต่อ ส่วนอื่นๆ ในแพ็กเกจอัลบั้มเราก็พยายามล้อกับแฟ้มคดีลักพาตัว เช่น ทำไบโอศิลปินเป็นเหมือนแฟ้มประวัติอาชญากร”

03
PLAY 2 PROJECT

“PLAY เป็นโปรเจกต์เก่าของค่ายจีนี่ที่ให้ศิลปินในค่ายมาคัฟเวอร์เพลงเก่า ก่อนรู้ว่าจะมีอัลบั้มเราก็ต้องสร้าง identity ของโปรเจกต์ PLAY 2 เราเลยทำโลโก้เป็นรูปปุ่มเพลย์ พอเป็นเพลย์ทูปุ๊บมันพอดีกับท่าชูสองนิ้ว เราเลยให้ศิลปินทุกคนทำท่านี้ในโปสเตอร์ ออกแบบไดเรกชั่นรูปที่สามารถเชื่อมกันได้เหมือนเป็นการส่งต่อความสุข และความสนุก  

“เรารู้สึกว่าชื่อมันสนุก เลยอยากดีไซน์วิชวลและแพ็กเกจซีดีให้สนุกและสดใสมากขึ้น เช่น ปกติศิลปินจีนี่จะเป็นวงร็อกเท่ๆ เราเลยแชร์ไอเดียกับสไตลิสต์ว่าลองแต่งตัวมีสีสันขึ้นดูไหม ส่วนในแพ็กเกจอัลบั้ม ไหนๆ ทำโปรเจกต์ PLAY 2 แล้วเลยอยากต่อยอดออกมาเป็นของเล่นด้วย อย่างเช่น โปสเตอร์ที่ระลึกจะเอามาเล่นอะไรได้อีกบ้าง หรือทำเปเปอร์ทอยแถมให้แฟนๆ เอาไปตัดเล่น แล้วก็มีตู้เกมที่สามารถใส่โทรศัพท์มือถือเขาไป มี QR code ให้คนยิงเข้าไปฟังเพลย์ลิสต์เพลงทั้งหมดในยูทูบได้”


ตามไปดูงานดีไซน์เจ๋งๆ ของอ๊อดได้ที่เพจ Hereodd

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย