สุภัทร์ ไพรสานฑ์กุล จากอดีตนักการตลาดองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ สู่งานจิตอาสาที่มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก งานที่นำประสบการณ์ที่มีทั้งชีวิตมาสร้างความหมายให้กับอีกหลายชีวิต

สุภัทร์ ไพรสานฑ์กุล จากอดีตนักการตลาดองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ สู่งานจิตอาสาที่มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก งานที่นำประสบการณ์ที่มีทั้งชีวิตมาสร้างความหมายให้กับอีกหลายชีวิต

สุภัทร์ ไพรสานฑ์กุล คือกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลเด็กที่เป็นนักการตลาดเพียงคนเดียว ท่ามกลางกรรมการที่เป็นคุณหมอในบอร์ดของมูลนิธิ ตลอดเส้นทางการทำงานด้านการตลาดกว่า 30 ปี ทั้งที่ไมเนอร์ ฟู๊ดกรุ๊ป และยูนิลีเวอร์ เรียกได้ว่าเป็นเส้นทางที่ประสบความสำเร็จ และมีสิ่งที่น่าจะจดจำอยู่มากมาย 

ในช่วงท้ายของการทำงานด้าน commercial อยู่มาวันหนึ่ง ความสามารถก็ได้ถูกใช้อย่างมีความหมายมากขึ้น เมื่อสุภัทร์ได้มีโอกาสเข้ามาเป็นกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ซึ่งในช่วงเวลาแรกๆ ของการได้เข้ามามีบทบาทด้านการตลาดของมูลนิธิ เขาก็พบว่า งานที่นี่ไม่เพียงแต่ใช้ความสามารถด้านการตลาดของตนเองเท่านั้น แต่งานที่มูลนิธิยังสร้างความหมายของการมีชีวิตอยู่ของเขาให้มากขึ้นไปอีก เพราะมันคือการได้ใช้ความสามารถ ใช้พลังของตนเอง เพื่อช่วยให้เด็กหลายๆ คนได้มีชีวิตอยู่บนโลกนี้ต่อไป 

จากวันนั้น ถึงวันนี้ ผ่านไป 2 ปี ปัจจุบันงานจิตอาสาของมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก เป็นเพียงงานเดียวที่สุภัทร์ตั้งใจอุทิศเวลาให้ ณ ตอนนี้

“คนชวนผมเข้าบอร์ดก็คือ ท่านประธานกรรมการ นายแพทย์เสรี ตู้จินดา ในตอนโควิดช่วงเดลต้า ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ทางมูลนิธิต้องการความช่วยเหลือมาก ทั้งเรื่องของอุปกรณ์การแพทย์ และเงินบริจาค ท่านก็ถามว่าสนใจที่จะมาช่วยงานมั้ย ตอนนั้นผมทำงานประจำอยู่ที่ยูนิลีเวอร์ และก็คิดว่าสิ่งที่ผมทำอยู่ มันน่าจะมีประโยชน์กับมูลนิธินะ ผมก็บอกท่านเลยว่า อยากช่วย ซึ่งแคมเปญแรกที่ผมได้เข้ามาช่วยเหลือด้านการตลาดคือ แคมเปญการขยายห้องไอซียู และผมเชื่อว่าผลจากการทำแคมเปญนี้แหละ ที่ทำให้ผมเข้าใจความหมายของการทำงานด้านการตลาดที่ปลายทางไม่ใช่การเพิ่มผลกำไร แต่เป็นการช่วยชีวิตคนอีกหลายๆ คนให้ได้มีชีวิตอยู่ต่อ

“ซึ่งตอนนั้นสิ่งที่ผมทำก็คือ ผมก็ไปตามหาเพื่อนๆ คนรู้จัก ที่อยากทำงานจิตอาสา ซึ่งคนเหล่านั้นมีความพร้อม มีพลัง มีเน็ตเวิร์ก มีความตั้งใจอยากจะมาช่วยรณรงค์หาทุนให้โรงพยาบาลได้ขยายห้องไอซียู ถ้าจำกันได้ ช่วงที่เป็นโควิด เดลต้า ช่วงนั้นการแพทย์ของเราวิกฤตมาก โรงพยาบาลมีห้องไม่พอ มีคนป่วยมากมายที่รอเพื่อจะได้รับการรักษา ทุกคนก็พยายามช่วยกันอย่างเต็มความสามารถ อย่างเช่นคนที่มีเครือข่ายด้านมีเดีย ก็จะมาช่วยเหลือเรื่องการโปรโมต มี publisher ที่เป็นเพื่อนกันก็มาช่วยเพื่อให้โรงพยาบาลได้มีเงินทุนไปขยายห้องไอซียู ผมเชื่อว่าความสุขที่เกิดขึ้นมันเป็นความสุขที่เกิดจากการให้ และการได้ทำให้คนอื่นอย่างแท้จริง ผมจึงตัดสินใจว่า จะทำงานจิตอาสาแบบจริงๆ จังๆ และทำอย่างตั้งใจเพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนอื่นๆ จริงๆ” 

หลายๆ คนอาจจะนึกไม่ออกว่า งานเกี่ยวกับมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ทำอะไรกันบ้าง จริงๆ หน้าที่ด้านการตลาดของมูลนิธิมีอยู่ 3 เรื่องหลักๆ ด้วยกัน 

เรื่องที่ 1 การสร้างการรับรู้ให้คนรู้จักมูลนิธิโรงพยาบาลเด็กมากขึ้น เนื่องจากโรงพยาบาลเด็กไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแก่บุคคลทั่วไป ทำให้การทำประชาสัมพันธ์เป็นไปได้ค่อนข้างยาก

เรื่องที่ 2 การสร้างโอกาสให้กับเด็กๆ ได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพเกี่ยวกับโรคที่รุนแรงเช่น โรคหัวใจ โรคสมอง โรคปอด โรคความพิการแต่กำเนิด โรคเกี่ยวกับการผ่าตัดยากๆ และต้องใช้งบประมาณที่สูง

เรื่องที่ 3 การสร้าง network ใน sub-culture ต่างๆ โดยใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่าย เพื่อก่อให้เกิดกิจกรรมร่วมกันใน community เช่น การทํา co-promotion, การวิ่ง, คอนเสิร์ต การสร้างสรรค์สิ่งใหม่อื่นๆ และนํามาสู่การบริจาคให้กับมูลนิธิ

“ถ้าพูดถึงจุดอ่อนก็คือ มูลนิธิโรงพยาบาลเด็กไม่ได้เป็นมูลนิธิที่คนรู้จัก ซึ่งจริงๆ ก็ถือเป็นภารกิจหลักที่เราต้องมาแก้ตรงนี้ แต่ว่ามันไม่ใช่ปัญหา เพราะว่าเราก็มีพันธมิตรหลายๆ ส่วนเขามาช่วยเรา และเรามีแผนงานที่จะทำมูลนิธิให้ดีขึ้น ผมก็จะมาดูเรื่องของแผนงานในอนาคต 3-5 ปี ว่าจะสามารถทำให้มูลนิธิมีชื่อเสียงมากขึ้น ได้เงินบริจาคมากขึ้น ได้ช่วยเหลือน้องๆ มากขึ้นอย่างไร

“แต่ในขณะเดียวกัน มูลนิธิเล็กแต่มันมีความคล่องตัว แล้วภายในมูลนิธิ บอร์ดทุกคนก็ให้การสนับสนุนทุกอย่างดีมาก ก็เลยคิดว่า เราค่อนข้าง agile พอสมควร ถึงแม้ว่าจะเป็นรัฐ แต่เราก็ไม่มีขั้นตอนที่มันวุ่นวาย คือบางมูลนิธิใหญ่ ก็จะมีกรรมการ มีขั้นตอนอะไรเยอะแยะ แต่ของเราเราเล็ก คุยกันแล้วเห็นพ้องต้องกันว่าจะทำแบบนี้ เราก็ทำได้เลย เราขยับได้ค่อนข้างเร็ว”

ปัญหาอย่างหนึ่งของแคมเปญรับบริจาคคือ แม้ตัวแคมเปญจะออกมาดูดี แต่หลายๆ ครั้งผลลัพธ์ไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวัง หมายความว่าคนไม่ได้ควักกระเป๋าบริจาคจริงๆ ตรงนี้เองเป็นจุดสำคัญที่สุภัทร์จะใช้ประสบการณ์ทางด้านการตลาดของเขาเข้ามาช่วยในการสื่อสารเพื่อให้เกิดการบริจาค (conversion to donation)  

“มันคือการตลาดนะ คือหนึ่งเราต้องเข้าใจว่า เราจะโน้มน้าวคนยังไง เพราะฉะนั้นในแง่ของการทำคอนเทนต์ มันต้องทำยังไงให้คนเอนเกจ นอกจากเอนเกจแล้วเข้าใจได้ง่ายด้วยนะ ไม่ใช่แบบทำวิดีโอยาวๆ นานๆ ก็ไม่มีใครดู มันต้อง get to the point ใช้ภาษาง่ายๆ ใช้ภาพที่มันอิมแพ็กต์ มันต้องมี stopping power ภายในสองวินาทีแรก ว่าเราจะทำยังไงให้คนหยุด แต่งานมูลนิธิ เรามีเรื่องราวเกี่ยวกับโรคร้ายและความน่าสงสารมานำเสนอ และเราเลยต้องพยายามหามิติใหม่ๆ หาสตอรี่ หรืออื่นๆ เพื่อให้มันมี depth มากกว่าแค่การขายความน่าสงสาร

“อีกอันก็คือ เราต้องเข้าใจเรื่อง funnel ในการตัดสินใจด้วย ว่าเขาจะอยู่ในสื่อไหน เราจะสื่ออะไรกับเขายังไง ที่ไหน ก็ต้องไปหาเขาด้วย มันไม่ใช่เรามีคอนเทนต์ แต่หาคนไม่เจอก็ไม่มีประโยชน์ segmentation ยังไง จะไปหาใครที่ไหน ยังไง ซึ่งเราทำงานการตลาดมาก็เข้าใจตรงนี้มากขึ้น” 

มาถึงปัญหาโลกแตกของงานบริจาค ปัจจุบันคนมักมองในแง่ลบว่า นี่คือหน้าที่รัฐหรือไม่ ทำไมเราต้องมาจ่ายเงินเพื่อช่วยสิ่งที่รัฐควรจะทำด้วย สุภัทร์บอกว่า นี่คือปัญหาไก่กับไข่มาก

“คือรัฐก็ช่วยนะ แต่ว่าเราจะรอให้เขาช่วย หรือรอใครบางคนคิดนโยบายอะไรออกมา แต่เด็กที่เกิดมา เป็นพันคนต่อปีที่หัวใจพิการแต่กำเนิด และต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เรื่องบางเรื่องมันรอไม่ได้จริงๆ เราต้องเข้าใจว่าบางทีรัฐก็ไม่ได้มูฟบางอย่างได้ด้วยความเร็ว เพราะฉะนั้นเราอยู่หน้างานตรงนี้ เรารู้สถานการณ์ดี แล้วถ้าเกิดว่าเราทำแล้วสามารถช่วยน้องเองได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องดี มากกว่าที่จะมานั่งรอว่าทำไมรัฐไม่ช่วย เรามีความจำเป็นต้องทำทุกวิถีทางที่จะรักษาชีวิตของเด็กเอาไว้ให้มากที่สุด”

สำหรับเป้าหมายในปีนี้ของมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ก็คือการโฟกัสที่แคมเปญเกี่ยวกับโรคหัวใจพิการวิกฤตตั้งแต่กำเนิด ซึ่งการบริจาคคนละเล็กคนละน้อยจากคนหมู่มากจะช่วยให้มูลนิธิมีงบประมาณในการช่วยเหลือเด็กป่วยที่ครอบครัวมีฐานะยากจนมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากพันธมิตรร่วมอุดมการณ์ที่มีเครือข่าย และมีความสามารถที่จะประชาสัมพันธ์หรือทำกิจกรรมให้บุคคลทั่วไปรู้จักกับแคมเปญที่มูลนิธิรณรงค์อยู่ รวมถึงรู้จักมูลนิธิมากขึ้น

“ความยากคือ การทำสิ่งนี้ให้ sustain เรากำลังพูดถึง การสร้างยอดบริจาคให้มูลนิธิแบบยั่งยืน เพราะการรับบริจาคในแต่ละครั้ง เหมือนกับจุดพลุ จุด 1 ที แล้วก็หายไป ทำอย่างไรถึงจะยั่งยืน เพื่อให้เราสามารถช่วยเหลือ เด็กๆ ได้มากที่สุด และอีกเรื่องคือ การสร้าง engagement กับคนทุกกลุ่ม เพราะจากสถิติ เราพบว่า กลุ่มที่สร้าง engagement และการบริจาคคือ ผู้หญิง อายุ 45 ปีขึ้นไป แต่จริงๆ เรื่องแบบนี้ คือ ใครก็ช่วยได้”

ใครในที่นี้ก็คือ พวกเราทุกคนนั่นเอง ซึ่งการบริจาคแม้เพียงคนละเล็กละน้อย ก็มีความหมายมากมายกับเด็กๆ ที่เกิดมาเป็นโรคหัวใจพิการขั้นวิกฤต เพื่อให้เด็กๆ ได้มีโอกาสกลับมามีหัวใจที่แข็งแรง และเต้นได้เป็นปกติอีกครั้ง 

สนใจบริจาคได้ที่

  • ธนาคารไทยพาณิชย์ 

ชื่อบัญชี มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก

เลขบัญชี 051-3-00051-5 

  • ธนาคารกรุงไทย

ชื่อบัญชี มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก

เลขบัญชี 661-0-55841-8

ติดต่อหรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.childrenhospitalfoundation.or.th/

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ