บนโลกที่ผู้คนส่วนใหญ่มีภาพจำเพียงว่า เสื้อผ้าของหญิงมุสลิมคือการปกปิดเส้นผมด้วยฮิญาบ หรือการใส่ชุดคลุมสีดำคลุมตั้งแต่หัวจรดเท้า
และบนโลกที่ศาลยุโรปอนุญาตให้นายจ้างออกคำสั่งให้หญิงมุสลิมถอดฮิญาบระหว่างทำงาน ดูเหมือนว่านิยามของแฟชั่นมุสลิมที่คนต่างศาสนาเข้าใจนั้นคับแคบเหลือเกิน
แต่บนโลกใบเดียวกันนี้ก็มีแบรนด์เสื้อผ้าญี่ปุ่นอย่าง Uniqlo ที่จับมือกับดีไซเนอร์ชาวอังกฤษอย่าง HANA TAJIMA เพื่อทำคอลเลกชั่นเสื้อผ้ามุสลิมโดยเฉพาะออกวางจำหน่ายทั่วโลก
หรือถ้ามองใกล้ตัวหน่อย ในประเทศไทยก็มีกลุ่มแฟชั่นมุสลิมที่ตั้งใจออกแบบเสื้อผ้ามุสลิมให้ร่วมสมัยกว่าเดิม ท่ามกลางความแตกต่างของแนวคิดและสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้น เราจึงถือโอกาสนี้คุยกับ ดา–รติยา วงศ์เสงี่ยม และ นุ้ย–ชุลีกร จันทรทวีกุล แฟชั่นดีไซเนอร์และกราฟิกดีไซเนอร์แห่ง HEART CRAFT เพื่อค้นหาตัวตนและความหมายของแฟชั่นแบบฉบับมุสลิม
การรวมตัวกันของความแตกต่าง
HEART CRAFT คือการรวมตัวของชาวมุสลิมที่ชื่นชอบหรือทำงานเกี่ยวกับแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า กราฟิกดีไซเนอร์ ช่างปัก ช่างทำแพตเทิร์น และช่างตัดเย็บ โดยทุกคนจะแชร์ความถนัดและความเชี่ยวชาญของแต่ละคนเพื่อเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการพัฒนาวงการแฟชั่นมุสลิมในประเทศไทยให้เติบโตและก้าวไกลกว่าเดิม
นุ้ยเล่าว่า พวกเขามาเจอกันเมื่อราว 6 ปีก่อนในคลาสอบรมเรื่องการแต่งกายมุสลิมที่จัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม “พอเรียนจบเขาให้พวกเราออกแบบเสื้อผ้าส่งประกวด แล้วเกิดชนะรางวัลที่ 1 ขึ้นมา เราก็เลยสนิทกันแล้วทำงานด้วยกันมาตั้งแต่ตอนนั้น”
เพราะสมาชิกส่วนใหญ่ภายในกลุ่มมีอาชีพหรืองานประจำทำกันอยู่แล้ว การทำงานของ HEART CRAFT จึงเป็นการรวมตัวกันแบบเฉพาะกิจเพื่อทำแฟชั่นโชว์ปีละ 1 ครั้ง โดยทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะมีการกำหนดโจทย์กว้างๆ อย่างหน้าร้อน ความสงบ ทุ่งหญ้า ฯลฯ เพื่อให้ทางกลุ่มนำไปทำงานต่อ ตั้งแต่ในกระบวนการคิดคอนเซปต์ รีเสิร์ช ออกแบบ จนกระทั่งจัดทำออกมาเป็นแฟชั่นโชว์ หลังจากจบงานก็จะนำชุดไปจัดแสดงและขายตามอีเวนต์ต่างๆ ส่วนลิขสิทธิ์ของงานก็จะตกเป็นของสมาชิกในกลุ่ม HEART CRAFT ทุกคน สามารถนำไปดัดแปลงหรือผลิตขายในแบรนด์ของตัวเองต่อไปได้
งานฝีมือที่ทำด้วยหัวใจ
ดาอธิบายว่าชื่อกลุ่ม HEART CRAFT มีที่มาจากทักษะด้านงานฝีมือและงานปักอันโดดเด่นของช่างมุสลิม อย่างการตัดเย็บชุดแต่งงาน ชุดราตรี หรือชุดไทย ที่มักประดับประดาด้วยเลื่อมหรือปักลูกปัดเยอะๆ นั้นก็เป็นฝีมือของช่างมุสลิมแทบทั้งสิ้น “เราก็เลยดึงคำว่า craft ขึ้นมา แล้วผสมกับคำว่า heart เพื่อสื่อความหมายถึงงานฝีมือที่ทำด้วยหัวใจ”
แฟชั่นดีไซเนอร์อธิบายต่อด้วยว่า เหตุที่ชาวมุสลิมในไทยนิยมแฟชั่นที่มีการปักเยอะๆ ก็เพราะได้รับอิทธิพลมาจากแฟชั่นมุสลิมทางมาเลเซียและอินโดนีเซีย ในทางกลับกัน การแต่งกายของชาวมุสลิมในยุโรปหรืออเมริกาก็จะต่างออกไป เพราะส่วนใหญ่จะไม่มีการปัก และเน้นความเรียบง่ายร่วมสมัยตามสไตล์แฟชั่นตะวันตกมากกว่า
การออกแบบโดยเคารพข้อบัญญัติ
เสื้อผ้าของ HEART CRAFT ทำขึ้นเพื่อให้สาวๆ ชาวมุสลิมสามารถสวมใส่ได้อย่างสบายใจ โดยให้ความสำคัญกับทั้งความสวยงามและข้อกำหนดทางศาสนา ในขั้นตอนการออกแบบ ดีไซเนอร์จึงต้องคำนึงถึงบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการแต่งกายซึ่งระบุไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้หญิง เช่น การแต่งกายให้มิดชิด เสื้อแขนยาวที่คลุมถึงข้อมือ การปิดบังเส้นผม และการใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดรูป
ส่วนลายของเสื้อก็มีข้อจำกัดว่า จะต้องไม่เป็นลวดลายของสัตว์ หรือลวดลายที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ความเชื่อ และรูปเคารพ เช่น ไม้กางเขน ดาวห้าแฉก ไฟ ฯลฯ สาเหตุที่ห้ามเป็นลายสัตว์นั้นเป็นเพราะศาสนาอิสลามเคร่งครัดเรื่องการไม่เชื่อสิ่งใดนอกจากพระเจ้า ซึ่งรูปสัตว์ก็สามารถสื่อความหมายให้คนเกิดความเชื่อหรือคล้อยตามได้ เช่น เสือที่ให้ความรู้สึกเข้มแข็ง นอกจากนี้ในบางกลุ่มยังเชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างสิ่งมีชีวิต ดังนั้นมุสลิมจึงไม่อาจเลียนแบบและจำลองฝีมือของพระเจ้าได้อีกด้วย โดยนอกจากเรื่องของความปลอดภัยและสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเชื่ออื่นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นหลักการของเสื้อผ้าแบบมุสลิมก็คือ ‘ความพอดี’
“จริงๆ แล้วเสื้อผ้าของมุสลิมคือความพอดี สวยพอดีๆ งามพอดีๆ หลักพื้นฐานก็คือ ผู้หญิงมุสลิมจะไม่เปิดเผยในส่วนที่ต้องปกปิด เสื้อผ้านั้นต้องไม่บางไป ไม่รัดรูปเกินไป ไม่ลากยาวเกินไป ไม่สมถะจนดูเก่าเกินไป หรือหรูหราจนดูเป็นการโอ้อวด นั่นก็คือใส่เสื้อผ้าอย่างไรให้มีความเหมาะสมกับตัวเองนั่นแหละ”
ในเมื่อ HEART CRAFT เป็นแบรนด์แฟชั่นที่ตั้งอยู่บนข้อกำหนดทางศาสนา เราจึงสงสัยว่าภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย ดีไซเนอร์จะสามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และสร้างเอกลักษณ์ให้กับเสื้อผ้าของตัวเองได้อย่างไร
นุ้ยให้คำตอบว่า “ในการออกแบบส่วนมากเราจะนำเสนอนวัตกรรมหรือการสร้างสรรค์เทคนิคใหม่ๆ เช่น การทำลวดลายผ้า การผลิตผ้าด้วยเทคโนโลยีนาโนเพื่อให้ได้ผ้าที่มีสารพิเศษป้องกันการเกิดเชื้อราหรือแบคทีเรีย เราจะเน้นการเพิ่มคุณค่าที่ตัวสินค้ามากขึ้น เพราะในส่วนที่ทำไม่ได้ เราก็ต้องมีจุดยืนของตัวเอง เช่น รูปสิ่งมีชีวิตต่างๆ บนเสื้อผ้า ถึงแม้ว่าตอนนั้นจะเป็นที่ต้องการของตลาดเราก็จะไม่ผลิตขาย เพราะเราไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมหรือสนับสนุนเรื่องที่ขัดกับจุดยืนของเราเอง”
สีสันและดีไซน์ที่ก้าวผ่านเส้นแบ่งทางศาสนา
ถึงแม้เสื้อผ้าของ HEART CRAFT จะคำนึงถึงข้อกำหนดทางศาสนาในการออกแบบ แต่เมื่อลองมองจริงๆ แล้ว จะพบว่าเสื้อผ้าของที่นี่มีความร่วมสมัยและหลากหลาย ตั้งแต่ชุดทำงานที่เรียบง่ายสีเอิร์ทโทน ไปจนถึงชุดราตรีสีสันสดใส ลูกค้าของ HEART CRAFT จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ชาวมุสลิมเท่านั้น ไม่ว่าใครก็ซื้อไปใส่ได้ จนในบางคอลเลกชั่นลูกค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อกลับเป็นชาวไทยพุทธและชาวต่างชาติมากกว่าชาวมุสลิมเสียอีก
นุ้ยยกตัวอย่างว่า “มีคอลเลกชั่นหนึ่งที่ได้แรงบันดาลใจมาจากผ้าแอฟริกา สีสันก็เลยฉูดฉาดแล้วก็แฟชั่นมากๆ คนส่วนใหญ่ที่ซื้อจึงไม่ใช่ชาวมุสลิมเลย เพราะต้องพูดตรงๆ ว่าชาวมุสลิมยังไม่ได้เปิดขนาดนั้นกับการแต่งตัวด้วยสีสันจัดๆ คือจริงๆ สามารถใส่ได้นะ เพราะเราออกแบบมาเพื่อให้ชาวมุสลิมใส่ได้อย่างถูกต้องตามข้อกำหนดอยู่แล้ว แต่ระดับการแต่งตัวมันเป็นเรื่องที่เฉพาะตัวมาก เพราะบางคนหรือบางประเทศที่เคร่งๆ เขาอาจจะปิดทั้งตัวเหลือแค่ตา และใส่สีดำล้วนเท่านั้น”
ในปัจจุบันนอกจาก HEART CRAFT แล้ว ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศต่างก็มีแบรนด์แฟชั่นมุสลิมเกิดขึ้นมากมาย และแม้กระทั่งแบรนด์แฟชั่นระดับโลกอย่าง Dolce & Gabbana, Uniqlo และ H&M ก็หันมาทำเสื้อผ้าสำหรับมุสลิมมากขึ้น เราจึงสงสัยว่าคนที่ทำงานอยู่ในวงการแฟชั่นมุสลิมอย่างชาว HEART CRAFT มองโลกแฟชั่นมุสลิมในปัจจุบันเป็นยังไงบ้าง
“ในโลกแฟชั่น เส้นแบ่งระหว่างเสื้อผ้าทั่วไปกับเสื้อผ้ามุสลิมเริ่มจะบางลงจนแทบมองไม่เห็นแล้วนะ” นุ้ยตอบ “เราคิดว่าคนสมัยนี้เปิดกว้างทางความคิดกว่าเดิมมาก จากที่เราไม่เคยเห็นคนใส่ฮิญาบตามสื่อต่างๆ ตอนนี้ก็เริ่มมีบิวตี้บล็อกเกอร์ชาวมุสลิมใส่ฮิญาบแล้ว (Saira Mirror) ในวงการนางแบบก็มีนางแบบที่ใส่ฮิญาบขึ้นปก Vogue แล้ว (Halima Aden) นักฟันดาบโอลิมปิกใส่ฮิญาบ (Ibtihaj Muhammad) นักวิ่งมาราธอนใส่ฮิญาบ (Rahaf Khatib) เรามีแม้กระทั่งนักการเมืองหญิงมุสลิมอเมริกันเชื้อสายโซมาเลียคนแรกที่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ อย่าง Ilhan Omar ก็ใส่ฮิญาบ
“การที่ศาสนาอิสลามถูกรับรู้มากขึ้นในอุตสาหกรรมแฟชั่นถือเป็น social movement อย่างหนึ่งที่เราในฐานะผู้หญิงมุสลิมได้แสดงสิทธิ และสำหรับ HEART CRAFT เราตั้งใจตั้งแต่แรกว่าจะผลิตสินค้าเพื่อให้ทุกคนสวมใส่ได้ เป็น universal design ที่ทุกคนเข้าใจและเข้าถึงได้ แต่เราก็ชัดเจนในตัวตนของเรา อย่างเช่น เกือบทุกคอลเลกชั่นก็จะมีการออกแบบผ้าฮิญาบขายด้วย แต่คนทั่วๆ ไปก็สามารถซื้อไปคลุมไหล่หรือพันคอได้”
เสรีภาพในการเลือกและการแสดงออก
ก่อนจากกัน เราหยิบยกข่าวซึ่งพูดถึงเหตุการณ์ที่ศาลยุโรประบุว่าการห้ามไม่ให้ผู้หญิงมุสลิมสวมใส่ฮิญาบในที่ทำงานนั้นไม่ผิดกฎหมาย มาสอบถามถึงมุมมองของ HEART CRAFT ทั้งในฐานะที่เป็นชาวมุสลิมและเป็นบุคคลที่ทำงานอยู่ในวงการเครื่องแต่งกาย นุ้ยเป็นตัวแทนให้ความเห็นว่า
“เอาจริงๆ ฮิญาบมันไม่ได้เป็นปัญหาในการทำงานหรอก หรืออย่างคนไว้หนวดเครา เราเคยรู้จักกับคุณหมอในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เขาดังมากๆ มีคนไข้ทั่วโลกบินมารอรับการรักษาจากเขา ท่านไว้เครายาวเลย คุณหมอก็บอกว่าช่วงแรกๆ ก็มีคนที่รู้สึกว่าเขาสกปรก แต่ด้วยผลงานและระยะเวลา ผลลัพธ์มันจะแสดงออกมาเอง
“อย่างตัวเราเองก็เคยไม่คลุมผ้ามาก่อน เพราะเราไม่ได้เป็นมุสลิมมาตั้งแต่เกิด ช่วงแรกญาติๆ ก็รู้สึกแปลกไป แต่เราก็คือเรา แค่คลุมผ้ามันไม่ได้ทำให้เราเสียตัวตนไป สถานะในครอบครัวเราก็เป็นญาติพี่น้องแม่ลูกเหมือนเดิม ถ้ามองว่ามันแปลกแยกด้วยผ้าผืนเดียว มันก็จะแบ่งแยกจากกันไปทุกอย่าง
“ในยุคที่เราทุกคนพูดกันถึงเสรีภาพการแสดงออก ทุกคนน่าจะมีสิทธิในการพูดหรือแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี โดยชอบธรรมและเสมอภาคด้วย นี่คือกติกาสากลของหลักสิทธิมนุษยชน
“ฮิญาบของเราก็อาจถือได้ว่าเป็น freedom of choice เราไม่ได้ถูกบังคับให้ใส่ แต่เราเลือกที่จะใส่เอง ก็เป็นความโชคดีที่ในประเทศไทย เสรีภาพการแสดงออกได้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
“แต่สำหรับกฎหมายของประเทศอื่นๆ เราไม่สามารถไปก้าวก่ายอะไรได้นอกจากแสดงความห่วงใยต่อพี่น้องมุสลิมที่ประสบเหตุ เพราะในทางปฏิบัติแล้ว กฎหมายหรือกติการะหว่างประเทศก็เป็นเพียงหลักปฏิบัติเท่านั้น สุดท้ายหากรัฐบาลเลือกที่จะจำกัดเสรีในการแสดงออกของประชาชน ต่อให้นานาชาติร่วมกันประณามสักเท่าไหร่มันก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ อยู่ที่ว่าประชาชนจะแสดงจุดยืนด้วยความเข้มแข็งและเรียกร้องสิทธิโดยชอบธรรมของเขาอย่างไรเพื่อให้รัฐบาลคุ้มครองสิทธิของการเป็นพลเมืองของพวกเขา”
ขอบคุณภาพจาก HEART CRAFT
ประเภทธุรกิจ : กลุ่มธุรกิจแฟชั่น
คอนเซปต์ : การรวมกลุ่มชาวมุสลิมที่ทำงานอยู่ในวงการแฟชั่นเพื่อพัฒนาวงการแฟชั่นมุสลิมในไทย
เจ้าของ : สมาชิก HEART CRAFT ทุกคน
facebook : HEART CRAFT