เวลาไปร้านเสื้อผ้ามือสองแล้วเห็นเน็กไทแขวนสุมกันอยู่บนราว คุณจะทำยังไง
ก. เดินผ่าน
ข. โอบรับน้องกลับบ้าน
ค. ชุบชีวิตใหม่ให้น้องกลายร่างเป็นกระเป๋าสุดแฟฯ!
GROFE คือผลิตผลหลัง กอล์ฟ–ศุภกร บัวเรือน ตัดสินใจเลือกข้อ ค. โอบรับเน็กไทที่คนไม่เคยคิดจะหันไปแยแส ชุบชีวิตใหม่ให้กลายเป็นกระเป๋าแฟชั่น ที่ว่ากันว่าบางคนรอถึงสองปีก็ยังไม่ได้กระเป๋าเน็กไทจาก GROFE ไปครอบครอง
อยากรู้กันแล้วละสิว่าทำไม
ศุภกรย้อนให้ฟังว่า GROFE เริ่มต้นขึ้นมาอย่างไม่ได้ตั้งใจเท่าไหร่นัก ตั้งแต่สมัยที่เขาเรียนอยู่มหาวิทยาลัย
เขาบอกว่าตัวเองเป็นคนไฮเปอร์ที่คิดอะไรได้ก็มักจะลงมือทำเลยโดยไม่ได้มีแบบแผนหรือการเตรียมการอะไรมากนัก GROFE เองจึงเกิดขึ้นเพียงเพราะเขาในตอนนั้นอยากทำอะไรสักอย่างที่ตัวเองชอบขึ้นมา ประกอบกับเริ่มเห็นเพื่อนๆ ที่เรียนแฟชั่นด้วยกันลงมือทำแบรนด์ของตัวเองกันแล้วหลายคน เขาเลยตัดสินใจเปิดแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาบ้าง ก็แค่นั้น
“ช่วงนั้นผมติดเที่ยวด้วย การทำเสื้อผ้าขายก็เท่ากับว่าเราจะมีเงินไปเที่ยว ไปซื้อของต่อ” เขาหัวเราะขำ เมื่อบอกเหตุผลที่ซ่อนไว้อีกข้อ
เพราะเป็นแบรนด์ที่แทบทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นตามใจผู้เป็นเจ้าของ การทำ GROFE ต่อเนื่องมาถึง 4 ปี จึงนับเป็นเรื่องที่แม้แต่ตัวเขาเองก็ยังคาดไม่ถึง
“คอลเลกชั่นแรกของ GROFE คือ เสื้อผ้าที่ได้แรงบันดาลใจมาจากปฏิทินโป๊ของแม่โขง ผมไปเจอปฏิทินพวกนี้แล้วคิดว่า ถ้ามีภาพแนวๆ นี้มาอยู่หลังเสื้อก็คงน่ารักดี ก็เลยทำเลย ออกแบบภาพกราฟิกให้ดูคล้ายปฏิทินโป๊ ทำเสร็จก็เซตถ่ายภาพไปโดยไม่ได้คิดหรือกลั่นกรองอะไรเยอะ ขนาดราคาขายเรายังไม่ได้คำนวณต้นทุน-กำไรเลย รู้แค่ว่าเราอยากลงแล้ว”
คอลเลกชั่นที่ว่าก็ขายได้ ขายหมด แต่ศุภกรบอกว่า สิ่งที่ทำให้คนเริ่มมารู้จักแบรนด์ GROFE มากขึ้นจริงๆ ก็คือคอลเลกชั่นถัดมาอย่าง Tiety หรือกระเป๋าเน็กไทมากกว่า
“มันเกิดจากว่าผมไปร้านมือสองแล้วเจอเน็กไทแขวนอยู่ เราเลือกไม่ได้ว่าจะเอาอันไหนดีเพราะมันสวยหมดเลย ก็เลยซื้อมาทั้งหมด พอมาลองใส่เราก็อยากใส่ไปซะทุกเส้น เลยคิดว่าหรือเอามารวมกันเลยดี พอคิดได้เราเลยเอาเน็กไทมาเย็บต่อๆ กันเป็นกระเป๋าแล้วออกจากบ้าน เพื่อนก็ทักว่ากระเป๋าน่ารักมาก อยากได้ เราเลยเริ่มทำจริงจังตั้งแต่ตอนนั้น”
ศุภกรแชร์ให้ฟังว่า ส่วนใหญ่แรงบันดาลใจในการออกแบบของเขาจะมาจาก raw story เห็นภาพอะไรปิ๊งขึ้นมาในหัวก็หยิบจับนำสิ่งนั้นมาทำ แล้วค่อยๆ เพิ่มฟังก์ชั่น สไตล์ลิ่งให้ของชิ้นนั้นดูสวยงามมากขึ้น
“ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ตลอดเลย เช่น Tiety เราก็จะเริ่มจากกองเน็กไทก่อน เอาหลายๆ อันมาประกอบกันเป็นกระเป๋า หรือ TROUSY ก็มาจากว่าผมเห็นกางเกงพาดอยู่ แล้วตรงเป้ามันขาด ก็เลยคิดว่าเหมือนกระเป๋าเลย ลองเอามาสะพายดู พอลองก็รู้สึกว่าน่ารักนี่นา เราจะเป็นประเภทเอาสิ่งที่เห็นมาต่อยอด หาฟังก์ชั่นให้มัน”
แม้วัตถุดิบส่วนใหญ่จะเป็นของมือสอง แต่ศุภกรบอกว่า เขาไม่ได้ตั้งใจหรือจำกัดความเอาไว้ว่า วัตถุดิบที่สรรหามาแปลงโฉมกลายเป็นสินค้าของ GROFE จะต้องเป็นของมือสองร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่เขาทำอย่างนี้ก็เพราะมองเห็นว่าสิ่งของเหล่านั้นเคยมีคุณค่ามากๆ มาก่อนต่างหาก
“เรารู้ว่าการทำเสื้อผ้ามันไม่ง่าย หลายๆ ตัวมีกระบวนการทำที่คราฟต์มาก และน้องก็เคยเป็นดาวบนเวที คุณภาพน้องยังปัง ยังสวย บางทีเราเจอเหรียญ เจอจดหมายอยู่ข้างใน ทำให้รู้เลยว่าของทุกอย่างผ่านเรื่องราวมาเยอะมาก แต่สุดท้ายน้องดันต้องมานั่งหง่อมๆ อยู่ในร้านมือสอง เราเลยคิดว่างั้นเอาน้องไปชุบชีวิตใหม่ ให้น้องเจอครอบครัวใหม่ดีกว่า”
ฉะนั้นกว่าจะเป็นกระเป๋าสักใบ ศุภกรจึงใช้เวลาค่อนข้างนาน ด้วยวัตถุดิบที่ต้องใช้เวลาเสาะหากว่าจะเจอที่ถูกใจ ไหนจะกระบวนการทำที่ใช้มือทุกขั้นตอน
“พอเป็นงานที่ต้องลงแรง ลงใจ เราเลยรู้สึกว่า การบาลานซ์การทำงานให้มีความสุขจึงสำคัญมาก ด้วยความที่งานนี้ขึ้นอยู่กับความพอใจของเราล้วนๆ เราเลยพยายามจะไม่บังคับตัวเองให้ทำจนไม่มีความสุข มีช่วงเวลาวางมือจากงานก่อน แล้วค่อยกลับมาเช็กอีกที ดูว่าตรงไหนยังขาด ยังดูไม่ดี ก็ค่อยๆ เติมเข้ามา
ความสนุกของแบรนด์จึงอยู่ตรงที่ความไม่ซ้ำ ไอเทมแต่ละอันทำให้เขาตื่นเต้นได้เสมอ
“โปรดักต์มันโตตามเราไปด้วย ยิ่งทำ ยิ่งมีประสบการณ์ เราก็ยิ่งเหยาะความประณีตลงไปในวิธีการทำ วิธีไหนที่ตอนแรกไม่รู้ ตอนนี้ก็รู้มากขึ้น เราพยายามทำโปรดักต์ออกมาไม่ให้เป็นโปรดักต์แฟชั่น แต่เป็นงานศิลปะมากกว่า”
ส่วนข้อเสียของการทำอะไรตามใจก็คือความไม่สม่ำเสมอ เขายกตัวอย่างให้ฟังว่า ลูกค้าบางคนถึงกับทักมาบอกว่า รอมาสองปีแล้ว ยังซื้อกระเป๋าไม่ทันเลย จากนี้เขาจึงตั้งใจว่า จะหันมาดูแล GROFE ให้ดีขึ้น ดูแลลูกค้าและตั้งใจทำตลาดให้มากขึ้นกว่าเก่า
ศุภกรมองว่า GROFE เป็นเหมือนกับแว่นขยายที่คอยขยายตัวตนของคนที่สวมใส่ เสื้อผ้าที่เขาทำไม่ได้กำหนดว่าเหมาะกับเสื้อผ้าเฉพาะแบบเท่านั้น แต่ลูกค้าสามารถเอาไปมิกซ์แอนด์แมตช์ให้เหมาะกับตัวเองได้
“มีคนถามว่า สินค้าแบรนด์ GROFE เรียกว่าสไตล์อะไร ผมก็ยังยืนยันว่ามันเป็นสไตล์ ready to wear ไม่จำเป็นเลยว่าจะต้องเป็นคนแต่งตัวสุด แฟชั่นจ๋า กระเป๋าบางรุ่นเราสามารถใส่เสื้อยืด กางเกงขาสั้น แล้วสะพายออกมาได้เลย มันเป็นไอเทมที่ป๊อปอัพคนใส่ให้ดูแฟชั่นขึ้นได้ด้วยกระเป๋าเพียงใบเดียว”
ทั้งๆ ที่หลายคนมักตัดสินไปแล้วก่อนหน้าว่า สินค้าที่ GROFE มีดูจะเข้าถึงได้ยาก แต่สิ่งที่เซอร์ไพรซ์ศุภกรกลับมาคือ มีหลายคนเช่นกันที่เข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำไม่ได้จับต้องยากอย่างที่คิด
“สมัยก่อนตอนที่เราอยู่มัธยม เวลาเราแต่งตัวอะไร เราจะรู้สึกว่าคนไม่ค่อยเข้าใจเรา เราเป็นคนกลุ่มน้อยที่ทุกคนจะบอกว่าเราแต่งตัวประหลาด แต่พอเริ่มทำของขาย เราเลยได้รู้ว่า เฮ้ย จริงๆ เราไม่ได้ประหลาด ยังมีคนชอบงานเราอยู่
“ย้อนกลับไปตอนเราเรียนแฟชั่น อาจารย์มักจะบอกตลอดว่า เราต้องทำเสื้อผ้าให้สนองกับกลุ่มทาร์เก็ต มันทำให้เราเครียดมากเพราะเราไม่รู้ว่าทาร์เก็ตของเราคือใคร และทำแล้วจะขายได้ไหม แต่พอเรียนจบ เรามานั่งคิดดู เรากลับรู้สึกว่า แล้วทำไมเราต้องไปทำตามใจลูกค้าล่ะ ทำไมเราถึงไม่ทำในสิ่งที่เราอยากทำ GROFE เลยเป็นการเลือกทำในสิ่งที่เรามีความสุขก่อน”
เขาหัวเราะ บอกว่า “ตอนตัดสินใจทำแรกๆ มันก็กังวลแหละว่าจะขายได้ไหม แต่พอขายได้ มีคนเข้าใจในงาน มันมีผลโดยตรงต่อจิตใจเราที่สุดเลย ทั้งช่วยเพิ่มความมั่นใจและส่งผลให้อยากทำงานมากขึ้นไปอีก”
คล้ายกันกับการแต่งตัวที่เขามองว่าแฟชั่นคือความพอใจของแต่ละบุคคล หากเราสนุกกับการแสดงตัวตนของตัวเองผ่านเสื้อผ้าก็ย่อมทำได้ โดยไม่ต้องกังวลถึงสายตาใคร
“บางทีสังคมก็ตีกรอบเรามากเกินไปจนทำให้เราไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิต เราไปแคร์คนอื่นมากไป กลัวว่าเขาจะมองไม่ดี ทั้งๆ ที่การที่เราได้ใส่อะไรที่ทำให้เราสบายใจมันโอเคกว่า การแต่งตัวมันไม่มีถูก-ผิด แต่งอย่างที่เราชอบแค่นั้นก็พอแล้ว
“เสื้อผ้ามันคือบรรยากาศ เราจึงควรทำบรรยากาศนั้นให้เป็นคอมฟอร์ตโซนของเรา ทำให้เรามีความสุขในทุกวันดีกว่า” เขาว่า