‘เรากินเขียด เราดูแลผา เรากินปลา รักษาลำห้วย’ Hear & Found ธุรกิจที่ใช้ดนตรีลบเส้นแบ่งทางสังคม

Highlights

  • Hear & Found คือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบประสบการณ์ดนตรี ก่อตั้งโดยเม–ศิรษา บุญมา’ และ 'รักษ์–ปานสิตา ศศิรวุฒิ' เพื่อหวังให้คนได้เข้ามารู้จักวัฒนธรรมที่หลากหลายผ่านเสียงดนตรี
  • หน้าที่ของพวกเขาคือการทำให้คน 2 วัฒนธรรมเชื่อมโยงเข้าหากันผ่านบทเพลงและกิจกรรมต่างๆ โดยทำงานร่วมกับนักดนตรีชนเผ่าเพื่อสร้างสรรค์รูปแบบการนำเสนอดนตรีออกมาให้คนต่างวัฒนธรรมเข้าใจได้
  • Hear & Found เพิ่งเริ่มก่อตั้งมาเพียงปีกว่าเท่านั้นเพื่อทดสอบความคิดและความเชื่อของพวกเขา และต่อจากนี้ก็ถึงเวลาที่พวกเขาต้องขยายผลให้ยั่งยืนมากขึ้น

‘ดนตรีจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ยังไง’

นี่เป็นคำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวฉันในฐานะหนอนหนังสือที่ไม่ได้อินกับเพลงสักเท่าไหร่ ไม่ได้ตามกระแสเพลงสมัยใหม่ แต่ก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าเพลงก็อยู่กับเราในทุกยุคทุกสมัย แต่เพลงหรือนักดนตรีคนไหนกันที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้บ้าง ฉันเองก็ยังนึกไม่ออก

เม–ศิรษา บุญมา หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Hear & Found ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบประสบการณ์ดนตรี ใช้เวลาคิดคำตอบอยู่ครู่ใหญ่ก่อนที่จะเอ่ยออกมาอีกหลายชื่อซึ่งทำให้ฉันได้แต่สั่นหัว แต่นั้นยิ่งทำให้บทสนาของเราน่าสนใจขึ้นไปอีก และในที่สุดเมก็พูดชื่อที่ฉันหรือคุณพอจะคุ้นเคยขึ้นมาบ้าง

Imagine there’s no countries
It isn’t hard to do
Nothing to kill or die for
And no religion, too

Imagine all the people
Living life in peace

“คนนี้ไง จอห์น เลนนอน วง The Beatles ตอนนั้นเป็นยุคบุปผาชนแล้วเขาก็แต่งเพลง Imagine ขึ้นมาในช่วงสงครามเวียดนาม มันเป็นการชูประเด็นว่าเราจะทำสงครามนี้กันไปทำไมในเมื่อมันมีแต่การสูญเสีย เรามาสร้างสันติภาพกันเถอะ” เมยกตัวอย่าง พร้อมเล่าต่อถึงประวัติศาสตร์เพลงที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมอย่างแยกไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นเพลงบลูส์ที่เล่าเรื่องความเศร้าสร้อยของคนผิวดำในยุคโบราณ เพลงแรปที่เกิดจากการบ่นและตัดพ้อชีวิต หรือเพลงคลาสสิกที่พัฒนามาจากบทสวดในโบสถ์

ส่วน รักษ์–ปานสิตา ศศิรวุฒิ ที่จบการศึกษาด้านสื่อสารมวลชนแต่ค้นพบว่าตัวเองรักการทำงานกับชุมชนมากกว่างานโฆษณา จึงตัดสินใจมาทำงานกับ Local Alike ซึ่งทำให้เธอได้เรียนรู้และเข้าใจปัญหาของคนชนเผ่าและคนเมืองมากขึ้น “คนส่วนใหญ่ในชุมชนก็คือผู้ใหญ่ ส่วนเด็กๆ ไปทำงานในเมืองกันหมดเพราะได้เงินเยอะกว่า อย่างงานทอผ้าที่น่านก็มีแต่ผู้ใหญ่อายุ 60 กว่าขึ้นหมดไปหมดเลย ไม่มีเด็กรุ่นใหม่กลับมาอยู่บ้าน”

ส่วนเมเสริมว่า “สิ่งหนึ่งที่เราเจอคือคนไม่ได้รู้จักพวกเขาแต่เหมารวมไปหมดว่าเป็นชาวเขา ซึ่งจริงๆ แล้วเขามีทั้งกะเหรี่ยง ม้ง และเผ่าอื่นๆ อีกเยอะมากเลยนะ แต่ถูกเข้าใจผิดและถูกเหมารวมว่าเป็นคนเผาป่า คนค้ายาเสพติด หรือคนสร้างหมอกควัน ด้วยข่าวต่างๆ นานา เราเลยอยากให้เขาได้สื่อสารในสิ่งที่เขาเป็น สิ่งที่เขามี นี่จึงเป็นจุดให้เราทำ Hear & Found ขึ้นมาเพื่อให้คนได้เข้ามารู้จักวัฒนธรรมกับความเชื่อในสิ่งที่เขามีอยู่”

ชาวเขา-ชาวเรา เส้นแบ่งที่ใครขีด

ชนกลุ่มน้อยในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกันมากกว่า 20 ชนเผ่าหรือมากกว่า 7 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยทั้งหมด นับเป็นตัวเลขได้ไม่น้อยทีเดียว แต่ทุกวันนี้วัฒนธรรมท้องถิ่นเริ่มหายไป คนชนเผ่าเองก็ปรับตัวเข้ามาในเมือง ใช้ชีวิตแบบคนเมือง แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเกิดจากพัฒนาการทางสังคม แต่อีกส่วนหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้เลยคือการแบ่งแยกที่ยังคงอยู่ในทุกยุคทุกสมัย

เนอ แต เตอบา เนอ แมคอ เตอชา

เจ้าพูดสำเนียงไม่ชัด แต่เจ้าไม่อาย

เนอหลื่อ เนอลา คอ เนเนอ แมชา

แต่อายในวัฒนธรรมเผ่าพันธุ์ของตนเอง

เชกอ เชวา เน่อ เตอ ซอ ดอเลอบา

เสื้อเชกอ เสื้อเชวา เจ้าไม่สวมใส่แล้ว

บละ ชา ทะต่า เนอเตอ มาดอ นอมี

จักสานทอผ้า เจ้าไม่หันมาเหลียวแล

“มีเพลงหนึ่งที่คนปกาเกอะญอแต่ง ชื่อ กะเหรี่ยงหลงทาง พวกเขาไม่ได้มีความภาคภูมิใจแล้วนะ เขาถูกแบ่งแยก เขาอยากมีตัวตนและได้รับการยอมรับ แต่ว่าเขามีตัวตนไม่ได้เพราะว่าถูกกีดกัน ไม่ได้รับการยอมรับ เขาก็เลยไปทำงานในเมือง ไม่พูดภาษาตัวเอง เลือกที่จะไม่บอกว่าตัวเองเป็นกะเหรี่ยง” รักษ์เล่าถึงสิ่งที่เธอพบเจอจากการลงพื้นที่

วัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นภาษา เครื่องแต่งกาย หรืออาหารการกิน กลับถูกตีตราว่าเป็น ‘ความต่าง’ ในเมื่อไม่อยากแตกต่างในสังคมส่วนใหญ่ ผู้คนและวัฒนธรรมก็ค่อยๆ ถูกกลืนเข้าไปด้วยกัน ทำให้ความหลากหลายค่อยๆ ลดลงและจางหายไป

ฉันเองก็เคยเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อดูหมู่บ้านทอผ้าซึ่งเป็นบ้านทรงโบราณ แต่พอไปถึงก็พบว่าทั้งหมู่บ้านกลายเป็นบ้านคอนกรีตหมด และเหลือกลุ่มทอผ้าอยู่เพียงกลุ่มเล็กๆ อย่างเผ่าคะฉิ่น ผู้คนก็กลายเป็นคนเมืองกันหมด จะกลับมาแต่งตัว ร้องรำทำเพลงกันในช่วงเทศกาลเท่านั้น

“ความหลากหลายของวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีมูลค่าสูงมากในการที่จะทำให้ประเทศมีรายได้และกระจายรายได้คนชนเผ่าในประเทศไทย” เมอธิบายเสริมในมุมมองของเศรษฐศาสตร์ พร้อมยกตัวอย่างคอนเสิร์ตของกลุ่มชนเผ่าในประเทศมาเลเซียที่เรียกว่า Rainforest World Music Festival เรียกได้ว่าเป็นเทศกาลระดับโลกที่นักดนตรีเวิลด์มิวสิกรวมถึงนักดนตรีชนเผ่าจากทั่วทุกมุมโลกได้แสดงร่วมกัน เพราะรัฐบาลมาเลเซียต้องการอนุรักษ์ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆ ในเกาะบอร์เนียวเอาไว้ จึงส่งเสริมให้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นในทุกปี

“เราก็รู้สึกว่าพื้นที่นี้มันเซฟมากในการที่เราจะเป็นใครก็ได้ เราจะมาจากชาติไหนก็ได้”

เครื่องบันทึกเรื่องราว

“ทำไมต้องเป็นเพลง” ฉันถาม ในเมื่อการสื่อสารอาจจะทำได้ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย สารคดี กิจกรรมทอล์กขึ้นเวที

รักษ์ตอบได้อย่างน่าสนใจว่า “ดนตรีชนเผ่ามีเอกลักษณ์ของเขาเองและมันเหมือนหนังสือ เพลงเป็นเครื่องบันทึกเรื่องราวที่เป็นภาษาของเขา แต่มันทำให้น่าฟังขึ้น สุนทรีย์ขึ้น มีจังหวะ มีอารมณ์ ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรู้สึกว่าเข้าถึงได้ง่ายโดยที่คุณไม่จำเป็นต้องเข้าใจความหมายแต่สนุกไปกับมันได้”

“อย่างไปคอนเสิร์ต Rainforest คุณก็ไม่เข้าใจภาษาเลยแต่ว่าสนุกมาก เพราะคุณสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกที่ส่งออกมาได้ เป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมทางดนตรีไปได้เลย เราว่าดนตรีมีเอกลักษณ์ตรงนี้”

นอกจากเพลงจะเป็นเครื่องมือบันทึกเรื่องราวแล้ว เพลงยังเป็นแผนที่ได้ด้วย เมยกตัวอย่างให้ฉันฟัง “ดนตรีของไทยทรงดำมีบทเพลงหนึ่งเป็นเหมือนแผนที่ เป็นบทเพลงในงานศพ ที่จะนำทางพาให้เขาได้กลับบ้านเดิม รกรากเดิมที่เขาอพยพมาจากเวียดนาม เพลงก็จะบอกว่าต้องเลี้ยวซ้ายตรงไหน ต้องข้ามเขาตรงไหน เพื่อไปให้ถึงเวียดนาม ซึ่งเพลงยาวมากประมาณ 3 ชั่วโมง แต่พอมาอยู่ในดนตรีแล้วมันง่ายขึ้น”

Hear & Found ฟังแล้วจึงเข้าใจ

หน้าที่ของ Hear & Found ก็คือการทำให้คน 2 วัฒนธรรมเชื่อมโยงเข้าหากันผ่านบทเพลงและกิจกรรมต่างๆ ที่ทั้ง 2 คนเรียกตัวเองว่า music and cultural experience curator ด้วยการไปลงพื้นที่ ไปเข้าใจปัญหาและวัฒนธรรมอย่างแท้จริง ทำงานร่วมกับนักดนตรีชนเผ่าเพื่อสร้างสรรค์รูปแบบการนำเสนอดนตรีออกมาให้คนต่างวัฒนธรรมเข้าใจได้

อย่างกิจกรรมที่จัดไปแล้วเช่น ‘ดนตรีจากเขา Music from the Mountain’ ก็เป็นการพานักดนตรีชาวปกาเกอะญอที่จังหวัดลำพูนมาบรรเลงบทเพลงชนเผ่าให้คนเมืองผ่านเครื่องดนตรีโบราณ ‘เตหน่ากู’ ในรูปแบบเพลงร่วมสมัยสะท้อนวิถีชีวิตที่พึ่งพิงและรักษาธรรมชาติ ไม่ใช่การทำลายป่าอย่างที่หลายคนเข้าใจ

เราอยู่กับป่า เรารักษาป่า

เราดื่มน้ำ เรารักษาน้ำ

เรากินเขียด เราดูแลผา

เรากินปลา รักษาลำห้วย

อีกกิจกรรมคือการพาชาวไทยทรงดำในชุดท้องถิ่นมาร่ายรำกันในบาร์ “จุดเด่นของไทยทรงดำคือเขาเต้นพร้อมกัน เวลาเปลี่ยนเพลงเข้าก็จะเปลี่ยนท่าพร้อมกันไปด้วย ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเขารู้ได้ยังไงว่าต้องเต้นท่าไหน เหมือนเกาหลีที่เต้นพร้อมกันแต่ว่าเป็นแม่ๆ แล้วก็ชวนคนอื่นมาสนุกพร้อมกันไปด้วย” รักษ์เล่าถึงบรรยากาศในงานพร้อมอวดชุดไทยทรงดำที่เธอสวมมาด้วย เสื้อสีดำทั้งตัวประดับด้วยกระดุมเงินแท้ทรงดอกบัวตูมและจำนวนเม็ดกระดุมนี้ยังบ่งบอกถึงฐานะของคนในเผ่าด้วย

“โมเมนต์ที่คนมางานแล้วสนุกไปด้วยกัน พอจบงานคนดูก็เข้าไปจับมือนักดนตรีแล้วบอกว่าพี่สุดยอดมากเลยและให้กำลังใจกัน เรารู้สึกว่าโมเมนต์นั้นมันไม่มีเส้นแบ่งแยกระหว่างชนเผ่ากับคนเมืองอีกแล้ว” รักษ์เล่าถึงความประทับใจทุกครั้งที่จัดกิจกรรมและสิ่งนี้ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนให้ทั้งสองทำ Hear & Found ต่อไป

ประสบการณ์ทางดนตรีในพื้นที่แห่งนี้จึงต่างจากคอนเสิร์ตอื่นๆ ที่ไม่เพียงให้เราพกพาความสนุกกลับบ้าน แต่ยังพาเราเข้าไปรู้จักโลกใหม่ ไปเข้าอกเข้าใจเพื่อนอีกหลายคนที่เราอาจจะลืมเขาไว้ข้างหลัง ความเข้าใจเหล่านี้เองที่จะทำให้เกิดการยอมรับกันและกันมากขึ้น เห็นคุณค่าของความต่าง และเห็นความงดงามของความหลายหลายที่อยู่ร่วมกันได้ ซึ่งทำให้เส้นแบ่งระหว่าง ‘เขา-เรา’ บางลง

Hear & Found เพิ่งเริ่มก่อตั้งมาเพียงปีกว่าเท่านั้นเพื่อทดสอบความคิดและความเชื่อของพวกเขา ต่อไปก็ถึงเวลาที่จะต้องขยายผลให้ยั่งยืนมากขึ้น “การอยู่รอดด้วยตัวเงินอาจจะไม่ง่ายเท่าไหร่” เมบอกพร้อมอธิบายว่าตอนนี้กลุ่มลูกค้าหลักคือชาวต่างชาติและคนเมือง พวกเขามีรายได้จากการขายบัตรและรับออกแบบประสบการณ์ทางดนตรีให้กับอีเวนต์ต่างๆ ที่มีเป้าหมายร่วมกัน

เร็วๆ นี้พวกเขากำลังจะพาวงดนตรีชนเผ่ามาแสดงที่โฮสเทลเพื่อเชื่อมคนหลายรากเหง้าหลากที่มาเข้าด้วยกัน

ไปฟังและค้นพบกันและกันมากขึ้น

 

ใครที่สนใจสามารถติดตามพวกเขาได้ที่ Hear & Found

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!