‘บางครั้งงานก็ผลิตเงินเพื่อเกื้อกูลชีวิตด้านอื่น’ สาวยาคูลท์ญี่ปุ่นและสมดุลชีวิต

Highlights

  • ยาคูลท์มีระบบการขาผลิตภัณฑ์โดยใช้สาวยาคูลท์เกิดขึ้นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นในปี 1963 พวกเขาเรียกระบบนี้ว่า ‘door-to-door product delivery system’ 
  • ที่มาที่ไปคือในยุคนั้นสังคมญี่ปุ่นมักจะมองเพศหญิงว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นแม่ ซึ่งสามารถสื่อไปถึงความหมายของการดูแล สิ่งเหล่านี้ตรงกับที่ยาคูลท์อยากสื่อสารออกไปพอดี พวกเขาจึงคิดค้นระบบนี้ขึ้นมาเพื่อส่งต่อความสุขถึงหน้าประตูราวกับแม่ที่ชอบเอาของมีประโยชน์มาให้ลูก
  • สาวยาคูลท์คนแรกเกิดขึ้นในวันนั้นและวัฒนธรรมนี้ยังคงสืบต่อมา ภาระในการขนส่งอาจเปลี่ยนไปบ้าง แต่เหนืออื่นใดพวกเขายังคงใช้สาวยาคูลท์เหมือนเดิมเพื่อคงความเป็นแบรนด์ของตัวเองและส่งเสริมตลาดงานของผู้หญิงในปัจจุบัน

1

‘ท่ามกลางอากาศหนาวกำลังดีที่ประเทศญี่ปุ่น การพาตัวเองไปเดินเที่ยวเตร็ดเตร่กลางเมืองโตเกียวคงเป็นความคิดที่ดีไม่น้อย’ 

ในเช้าตรู่วันนั้น ผมตื่นขึ้นมาในโรงแรมที่พักด้วยความรู้สึกอย่างที่ว่า

ถ้าว่ากันตามจริง นี่คงไม่ใช่การเที่ยวเสียทีเดียว แต่สิ่งที่พาตัวผมออกมาลืมตาตื่นห่างบ้านเกิดเมืองนอนคือโอกาสอันดีในชื่อ Yakult Journalist Tour 2019 ทริปสื่อที่ยาคูลท์ประเทศญี่ปุ่นเชิญสื่อมวลชนและนักวิชาการจากหลากหลายประเทศมาทำความรู้จักและเข้าใจต้นกำเนิดดั้งเดิมของจุลินทริย์ในขวดจิ๋วที่เราคุ้นเคยกันดี

นี่เป็นเช้าวันที่ 3 ของทริป แต่พูดก็พูดเถอะ นี่เป็นเช้าที่ผมรอคอยมากที่สุด เพราะตามโปรแกรม สื่อและนักวิชาการจะได้แยกไปตามจุดที่เรียกว่า ‘Yakult Center’ ทั่วโตเกียว และในครึ่งเช้าพวกเราจะได้ติดตามการทำงานของสาวยาคูลท์ญี่ปุ่นตัวเป็นๆ เพื่อไปเสิร์ฟยาคูลท์ให้กับลูกค้าตามจุดต่างๆ

จะเรียกว่าเป็นความชอบส่วนตัวก็ได้ แต่กิจกรรมนี้เป็นสิ่งที่ผมค่อนข้างตั้งหน้าตั้งตารอ เหตุผลแรกคือการเดินในเมืองที่ไม่คุ้นตานั้น สำหรับผมมันน่าตื่นตาตื่นใจอยู่แล้ว ส่วนอีกเหตุผลคือถ้าจะมองให้ใหญ่กว่านั้น นี่เป็นโอกาสที่คงหาไม่ได้ง่ายๆ กับการได้เรียนรู้วัฒนธรรมการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นผ่านแบรนด์ที่อยู่มานานอย่างยาคูลท์

ผมจัดแจงอาบน้ำแต่งตัวอย่างเร็วรี่ และระหว่างรองเท้าหนังทางการกับรองเท้าวิ่งผ้าใบที่พกมา ไม่บอกก็รู้ว่าวันนี้ผมเลือกใส่คู่ไหน

2

ผ่านไปไม่นาน หลังจากฝ่ามวลมหามนุษย์ออฟฟิศในรถไฟ ผมก็มายืนอยู่หน้า Yakult Center ประจำย่านชิบะใจกลางเมืองโตเกียว

อธิบายอย่างง่าย ที่นี่เป็นตึกชั้นเดียว หน้ากว้างประมาณ 2 คูหาที่แทรกตัวอยู่ระหว่างตึกใหญ่จำนวนมาก พื้นที่ภายในทอดยาวโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนง่ายๆ คือส่วนของออฟฟิศและส่วนที่ไว้เก็บผลิตภัณฑ์ ผมเข้าไปนั่งพักรอในส่วนแรกพร้อมกับทีมงานจากหลายประเทศ ไม่นานนักวิทยากรจากยาคูลท์ก็เข้ามาพร้อมเริ่มอธิบายให้ฟังถึงข้อมูลต่างๆ

จริงๆ แล้วในญี่ปุ่นจะมี Yakult Center ประจำอยู่ตามแต่ละเขตของเมือง ที่นี่เปรียบเสมือน ‘สายส่ง’ ที่ทำหน้าที่รับผลิตภัณฑ์ยาคูลท์จากศูนย์ใหญ่มาเก็บไว้พร้อมส่งต่อให้กับคนในพื้นที่ และตัวกลางที่ส่งต่อเครื่องดื่มเหล่านี้ก็คือสาวยาคูลท์

ระบบการเสิร์ฟผลิตภัณฑ์ของสาวยาคูลท์เกิดขึ้นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นในปี 1963 พวกเขาเรียกระบบนี้ว่า ‘door-to-door product delivery system’ ที่มาที่ไปคือในยุคนั้นสังคมญี่ปุ่นมักจะมองเพศหญิงว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นแม่ซึ่งสามารถสื่อไปถึงความหมายของการดูแล สิ่งเหล่านี้ตรงกับที่ยาคูลท์อยากสื่อสารออกไปพอดี พวกเขาจึงคิดค้นระบบนี้ขึ้นมาเพื่อส่งต่อความสุขถึงหน้าประตูราวกับแม่ที่ชอบเอาของมีประโยชน์มาให้ลูก

สาวยาคูลท์คนแรกเกิดขึ้นในวันนั้นและวัฒนธรรมนี้ยังคงสืบต่อมา ระบบการขนส่งอาจเปลี่ยนไปบ้างตามยุคสมัย พวกเขาพัฒนาจากการเดินไปเคาะประตูตามบ้านกลายไปเป็นการใช้รถเข็น จักรยานหรือมอเตอร์ไซค์แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละที่ แต่เหนืออื่นใดพวกเขายังคงใช้สาวยาคูลท์เหมือนเดิมเพื่อคงความเป็นแบรนด์ของตัวเองและส่งเสริมตลาดงานของผู้หญิงในปัจจุบัน

หลังจากแนะนำเรื่องราวทั้งหมด สาวยาคูลท์เกือบสิบคนประจำสถานีชิบะก็ปรากฏตัวออกมาทักทายพวกเรา ทีมงานยาคูลท์อธิบายว่า ต่อจากนี้เราจะแบ่งเป็นทีมเล็กๆ เพื่อติดตามสาวยาคูลท์แต่ละคน ซึ่งสำหรับประเทศไทย เราจะได้เดินตามสาวยาคูลท์คนหนึ่งพร้อมรถเข็นไปขายผลิตภัณฑ์ในย่านสำนักงานใจกลางโตเกียว

เธอชื่อ ‘มิกิ โมริ’

3

ในความหมายของภาษา มิกิ แปลว่า ‘ดอกไม้’ และในความหมายของสิ่งที่ผมเห็น คำแปลคงไม่ต่างกัน

มิกิเป็นหญิงสาวที่ถ้าจะให้นิยามเธอคงอยู่ในประเภทที่ยิ้มทีแล้วโลกสดใส เธอสูงประมาณร้อยหกสิบ ตัวไม่เล็กไม่ใหญ่ เอกลักษณ์ที่ใครเห็นเป็นต้องสังเกตได้คือรอยยิ้มอันน่ารัก 

มิกิแนะนำตัวกับเราอย่างรวดเร็วและไม่รอช้า เธอจัดแจงเตรียมของใส่รถอย่างคล่องแคล่ว เท่าที่สังเกต มิกิแบ่งสัดส่วนของผลิตภัณฑ์เป็นหมวดหมู่อย่างเป็นระเบียบ ในกล่องด้านซ้ายเป็นยาคูลท์ทั้งแบบปกติ ยาคูลท์แคลอรีฮาล์ฟ (ยาคูลท์แบบน้ำตาลน้อย) และยาคูลท์ 400 (ยาคูลท์แบบเพิ่มจุลินทรีย์) ส่วนอีกฟากของกล่องเป็นผลิตภัณฑ์ในเครือยาคูลท์ที่ชื่อแบรนด์ว่า ‘Joie’ (จอย) ประกอบไปด้วยนมเปรี้ยวรสชาติต่างๆ และโยเกิร์ต ส่วนตรงกลางเป็นผลิตภัณฑ์แบรนด์อื่นๆ ในเครือเดียวกัน เช่น นมเปรี้ยว Mil-Mil, ชา Bansoreicha และนมถั่วเหลือง

เมื่อบวกกับที่เก็บสำรองไว้ในกล่องด้านล่าง จากการคาดคะเนของสายตาคนไม่มีประสบการณ์อย่างผมยังรู้เลยว่ารถเข็นคันนี้หนักมาก แต่เมื่อเราเริ่มออกเดินเท้า ไม่ใช่ผมกับรองเท้าผ้าใบหรอกที่เดินนำหน้าสุด

มิกิค่อยๆ เข็นรถเข็นของเธออย่างชำนาญ ทั้งความชำนาญด้านเส้นทางและความชำนาญด้านร่างกายทำให้เธอนำเราไปไกลหลายขุม จากตอนแรกที่คิดว่าจะเดินด้วยความเร็วระดับชมนกชมไม้ กลายเป็นว่านกคงเป็นฝ่ายที่ชมผมเดินเร็วเสียมากกว่า 

จากการสนทนากันผ่านคนแปล ผมจับใจความได้ว่าที่เธอเดินเร็วอย่างนี้นั้นเป็นทั้งความเคยชินและความรับผิดชอบ เธอจะต้องไปปรากฏตัวตามจุดต่างๆ ให้ตรงเวลาเพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับลูกค้า ทั้งหมดนี้จะสะท้อนกลับไปที่ยอดขายที่จะสร้างประโยชน์ให้กับตัวเธอเองเช่นกัน

“ไม่เหนื่อยเลยค่ะ ชินแล้ว” เธอบอกผมพร้อมรอยยิ้ม

‘แต่ผมเหนื่อยและยังไม่ค่อยชินเท่าไหร่’ อันนี้ผมตอบขึ้นมาในใจ

4

เดินมาสักพักเราก็ถึงที่หมายแรก ลูกค้าคนแรกของมิกิในวันนี้อยู่บนคอนโด

ระบบสาวยาคูลท์ของญี่ปุ่นเป็นแบบ door-to-door อย่างแท้จริง เมื่อถึงที่ เธอจัดแจงจอดรถเข็นในจุดที่คุ้นเคย หยิบยาคูลท์หนึ่งถุงเดินเข้าประตูหน้าพร้อมขึ้นลิฟต์ไปยังชั้น 6 เมื่อถึงห้องของลูกค้า เธอจัดการกดออดพร้อมแจ้งเป็นภาษาญี่ปุ่น (ถึงจะไม่มีคนแปล แต่ผมเดาคำพูดนั้นคงประมาณว่า ‘ยาคูลท์มาแล้วค่า’) เจ้าของห้องเปิดประตูมาทักทายพร้อมรับยาคูลท์และกล่าวขอบคุณ กระบวนการทั้งหมดเกิดขึ้นไม่ถึง 3 นาที ก่อนที่เราจะกลับมายังรถเข็นตามเดิม

มิกิบอกว่าย่านที่เธอรับผิดชอบ การขายจะแบ่งเป็น 3 แบบคือ ลูกค้าขาประจำที่จ่ายเงินรายเดือน เธอมีหน้าที่ไปส่งให้ถึงประตูหน้าบ้าน อย่างที่สองคือลูกค้าตามออฟฟิศ เธอจะเข้าไปคุยกับแต่ละออฟฟิศก่อนว่าสามารถเอาผลิตภัณฑ์มาขายได้หรือไม่ ถ้าได้ เธอจะมาปรากฏตัวตามเวลาเดิมทุกๆ วัน อย่างที่สามคือลูกค้าระหว่างทาง รถเข็นของเธอจะเลี้ยวเลาะเข้าไปตามตรอกซอกซอย ถ้ามีลูกค้าคนไหนสนใจก็สามารถซื้อเครื่องดื่มจากเธอได้โดยตรง

เท่าที่ผมสังเกต ไม่ว่ามิกิปรากฏตัวที่ไหน ทุกคนในแต่ละที่จะรู้สึกสนิทชิดเชื้อกับเธอเป็นอย่างดี บ้างถามไถ่ถึงสารทุกข์สุกดิบ เธอเองก็เป็นกันเองกับลูกค้าทุกคนเช่นกัน รอยยิ้มที่สดใสพร้อมถ้อยคำอ่อนหวานออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ 

“อยากลองเข็นรถดูไหมคะ” เธอเอ่ยถามผมให้ตื่นขึ้นมาจากความคิด

แหม่ มาขนาดนี้แล้ว ก็ต้องลองสิ

รถเข็นที่ว่าหนักเหมือนที่ผมคาดไว้จริงๆ แต่การออกแบบของมันทำให้ผมเข็นง่ายมากกว่าที่คิด จริงๆ แล้วพอได้เข็นเองถึงรู้ว่าภายในรถยังมีระบบเบรกที่ใช้เท้าเหยียบเพื่อความปลอดภัย รวมถึงทางลาดชันของพื้นที่ก็ทำให้เข็นได้โดยง่าย แต่ขอบอกเลยว่าเวลาเข็นรถข้ามไฟแดงนั้นช่างลุ้นดีนัก ความไม่คุ้นชินทำให้ผมเกือบเข็นข้ามไม่ทัน จนมิกิต้องอาสารับไปเข็นต่อเองเพราะไม่อย่างนั้นผมจะทำให้ทั้งขบวนช้าและไปหาลูกค้าไม่ตรงเวลา

มือใหม่หัดขับก็แบบนี้ 

5

หลังจากผม ทีมงานและมิกิเดินเสิร์ฟความสดชื่นให้กับคนในย่านชิบะมาประมาณ 2 ชั่วโมง ก็ถึงเวลาที่ผมต้องแยกกลับไป เราเดินไปถ่ายรูปกันโดยมีโตเกียวทาวเวอร์เป็นฉากหลัง ระหว่างนั้นผมชวนเธอคุย

“เป็นสาวยาคูลท์มานานหรือยัง” ผมเอ่ยถาม

“8 ปีแล้วค่ะ” เธอตอบพร้อมรอยยิ้มเหมือนเดิมก่อนจะอธิบายต่อ

“ฉันเริ่มทำงานที่นี่เพราะมีสวัสดิการช่วยเหลือให้ลูกพนักงานด้านการศึกษาพอดี ฉันถึงอยากมาทำ เพราะหลังจากวันนั้น ลูกทั้ง 4 คนของฉันได้เรียนโรงเรียนจากสวัสดิการของยาคูลท์ทั้งหมด ถึงแม้ทุกวันนี้แต่ละคนจะไปเรียนโรงเรียนอื่นแล้ว แต่ฉันก็ผูกพันกับที่นี่และงานนี้จนไม่อยากไปไหน”

“เพราะงานที่นี่ก็มีความสุขดีนะคะ” เธอบอกผมก่อนหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโชว์รูปลูกของเธอทั้ง 4 คนที่เป็นภาพพักหน้าจอให้ผมดู

หลังจากแยกจากกัน ทีมเราเปลี่ยนไปเดินด้วยความเร็วที่ไม่มากเท่าเดิม ทุกอย่างเป็นไปด้วยความสบายมากขึ้น แต่ตลอด 2 ชั่วโมงที่ได้เดินร่วมไปกับมิกิพร้อมกับเรื่องราวของเธอก็ทำให้ผมได้คิด

ภายในวัยใกล้สามสิบ ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ‘งาน’ ในความหมายของผมหมายถึงอะไรกันแน่ ในครั้งหนึ่งมันคือแพสชั่น แต่ในเวลาต่อมามันคือความมั่นคง จนถึงตอนนี้ทุกอย่างดูผสมปนเปจนผมเริ่มคิดว่ามันอาจไม่มีคำตอบที่ตายตัว เพราะหลักๆ มันน่าจะเป็นการหาสมดุลมากกว่า ซึ่งสมดุลที่ว่าในแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน

สำหรับบางคน งานอาจเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจให้มีชีวิต แต่กับบางคน งานอาจหมายถึงเครื่องผลิตเงินเพื่อไปเกื้อกูลชีวิตด้านอื่น ยิ่งโตขึ้นผมยิ่งพบว่าไม่มีอะไรถูก-ผิด มันอยู่ที่ว่าสิ่งที่เราทำนั้นคุ้มค่ากับสิ่งที่เราอยากได้หรือไม่ มันเป็นการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมหรือเปล่า

แม้ในวันที่ผมดีดนิ้วลงบนคีย์บอร์ดพิมพ์บทความนี้ก็ยังคงคิดถึงมิกิและชีวิตของเธอใจกลางโตเกียว เธออาจจะเหมือนหลายๆ คนที่นั่นและที่นี่ที่เริ่มงานบางอย่างด้วยความจำเป็น แต่เมื่องานนั้นตอบโจทย์ชีวิต เราก็พร้อมที่จะรักและเข้าใจความสำคัญของงานไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ราวกับว่าเราไม่จำเป็นต้องเริ่มด้วยสิ่งที่รักก็ได้ แต่ถ้าเรารักในสิ่งที่ทำเมื่อไหร่ ชีวิตก็จะสมดุล

และผมหวังว่าเราจะเจอสมดุลที่ว่านั่นในเร็ววัน

AUTHOR