“จาก 36 ถึงฮาวทูทิ้ง ถ้าตายวันนี้ เราโอเคแล้วนะ” เต๋อ นวพล ในวันแรกที่อายุ 36 ปี

Highlights

  • ปีนี้เป็นปีแรกในชีวิตที่เต๋อ–นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์รู้สึกว่า ‘ไม่ต้องทำหนังออกมาก็ได้’ สาเหตุเพราะที่ผ่านมาตลอด 8 ปี เขาได้ตั้งใจและลองทำสิ่งที่อยากทำในโลกภาพยนตร์จนเติมเต็มส่วนหนึ่งของตัวเองไปแล้ว
  • นั่นเองคือสาเหตุที่เต๋อบอกว่าถ้าวันนี้เขาตาย เขาถือว่าตัวเองโอเคแล้วเพราะไม่มีอะไรค้างคาในใจ เขาเชื่อว่าการทำทุกวันนี้ให้ดีที่สุดเป็นสิ่งที่ควรทำเพราะเราจะได้ไม่ต้องมาเสียใจอะไรภายหลัง

นวพล ถ้าเป็นคนอื่น การคุยเรื่องความตายในวาระวันเกิดอาจเป็นเรื่องเสียมารยาท แต่พอคนที่นั่งอยู่ตรงหน้าผมคือ เต๋อ–นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผมกลับไม่คิดแบบนั้น

เปล่า ไม่ใช่เพราะเราสนิทกันจนพูดอะไรก็ได้ แต่เพราะผู้กำกับ Die Tomorrow เป็นฝ่ายเอ่ยถึงเรื่องนี้ขึ้นมาก่อน บทสนทนาเรื่องวันตายในวันเกิดระหว่างผมกับเขาจึงเกิดขึ้น

นวพล

4 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 36 ปีของเต๋อ

36, Mary is Happy, Mary is Happy, THE MASTER, ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ, Die Tomorrow, BNK 48 : Girl Don’t Cry และ ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ–ในฐานะผู้กำกับ เต๋อมีผลงานภาพยนตร์ 7 เรื่องตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา

ไม่ต้องเป็นคนในแวดวงหนังก็น่าจะพอรู้ว่านี่เป็นตัวเลขที่เยอะมากๆ เพราะตั้งแต่ปี 2555 ที่ภาพยนตร์เรื่อง 36 ออกฉาย ไม่เคยมีสักปีที่เต๋อจะไม่มีผลงานให้แฟนหนังได้เห็น เขาถือเป็นหนึ่งในผู้กำกับไม่กี่คนที่ยืนระยะได้และมีวินัยในการทำหนังออกมาสม่ำเสมอ 

ดังนั้นเมื่อตอนต้นปีนี้ (หนึ่งเดือนก่อนวันเกิดเขา) หนึ่งประโยคที่เขาพูดโต้ตอบกับแฟนหนังในโซเชียลมีเดียจึงทำให้ผมประหลาดใจ เพราะตั้งแต่รู้จักเต๋อ เขาไม่เคยพูดหรือรู้สึกแบบนี้มาก่อน

“ปีนี้เป็นปีแรกที่เรารู้สึกว่าไม่ต้องมีหนังออกมาก็ได้นะ”

ด้วยความสงสัยและวาระที่ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขาอย่าง ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ เพิ่งลาโรง นั่นเองจึงเป็นเหตุผลที่ผมมาพบเต๋อเพื่อสนทนาอัพเดตกันถึงสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงพูดคุยเกี่ยวกับก้าวต่อไปในขวบปีที่ 36 ของเขา

การพูดคุยกันในวันนั้นเกิดมาเป็นบทสัมภาษณ์นี้ บทสัมภาษณ์ที่ผมอยากชวนทุกคนอ่านในรูปแบบ ‘ไดอะล็อกหนังเต๋อ’ ดูสักครั้ง

“เฮ้ยแก บทสัมภาษณ์เต๋ออาจมีทุกปีเว้ย แต่บทสัมภาษณ์เต๋อตอนอายุ 36 มันจะมีแค่ปีนี้ปีเดียวนะ แถมเต๋อยังมาพูดเรื่องความตายในวันเกิดตัวเองอีก”

“ทำไมเต๋อพูดงั้นวะ”

“แกลองอ่านดูแล้วกัน”

นวพล

ทำหนังมาเจ็ดเรื่องแล้ว เวลาปล่อยหนังแต่ละทีความรู้สึกของคุณเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม

ถ้าในแง่กิจกรรม เราว่าไม่ค่อยต่างเท่าไหร่ แต่ในแง่ความรู้สึก เราว่าตัวเองสบายขึ้นและตื่นเต้นน้อยลง นี่เป็นเรื่องดีนะ ไม่ใช่ไม่ดี เพราะพอไม่ตื่นเต้น ตอนนี้เราเริ่มเห็นอย่างอื่นมากขึ้น

 

ตื่นเต้นน้อยลงไม่ทำให้เบื่อเหรอ ทำไมการตื่นเต้นน้อยลงสำหรับคุณถึงเป็นเรื่องดี

เราว่าเป็นคนละแบบ อย่างเรา ความตื่นเต้นที่น้อยลงคือความตื่นเต้นในการเจอของที่ไม่เคยเจอ ทุกวันนี้เราไม่ค่อยมีอะไรแบบนั้นแล้ว แต่เรากลับรู้สึกดีกับการเจอของเดิมๆ ในระดับที่ลึกขึ้นมากกว่า 

ยกตัวอย่างเช่นการไปเทศกาลหนัง แรกๆ เราอาจตื่นเต้นว่าหนังออกนอกประเทศไปเจอคนดูฝรั่ง แต่หลังๆ สิ่งที่เรารู้สึกกลับเป็นการได้เห็นระบบของงานเหล่านั้น ทำไมเขาจัดแบบนี้ เกณฑ์ในการเลือกหนังของเขาคืออะไร ทำไมปีนี้งบน้อยกว่าปีที่แล้ว เหมือนเราเข้าใจมากขึ้น เห็นมากขึ้นและตื่นเต้นกับรายละเอียดแทน คล้ายๆ กับการเปลี่ยนความสนใจที่เราว่าสนุกดี

นวพล

กับเรื่องล่าสุดอย่าง ฮาวทูทิ้ง หนังพาคุณไปเจออะไรใหม่ๆ บ้างไหม

ต่างประเทศเรายังไม่รู้ แต่ถ้าพิเศษสำหรับเรื่องนี้ เราว่าหนังพาเราไปเจอคนดูในแบบที่แมสมากๆ

ถามว่าตอน ฟรีแลนซ์  แมสไหม มันแมส แต่งานนั้นเป็นงานที่มีตัวเราอยู่ครึ่งหนึ่ง สตูดิโอครึ่งหนึ่ง ตรงกันข้ามกับเรื่องนี้ที่ตัวเราแทบจะอยู่ในหนังร้อยเปอร์เซ็นต์ มีคนอื่นอยู่แค่ประมาณสิบเปอร์เซ็นต์เองมั้ง มันมากจนเกือบเท่า 36 แล้ว ดังนั้นรากต้นของหนังสองเรื่องนี้จึงใกล้กันมาก เพียงแต่ตอนนี้เรามีความรู้และรู้จักวิธีทำมากขึ้น องค์ประกอบต่างๆ ของความเป็นเราจึงได้ถ่ายทอดสู่คนหมู่มาก และนั่นทำให้หนังกระเด็นออกไปนอกกลุ่มคนดูเดิมด้วย

โซนนอกกลุ่มนี่แหละที่เราได้เจอกับพวกเขาเป็นครั้งแรก เราได้รู้ว่าคนทั่วไปรู้สึกกับหนังยังไง 

 

ผลออกมาเป็นไงบ้าง

เราว่าโอเคนะ ช่วง 2-3 วันแรกที่ฉาย ฟีดแบ็กหนังดีมาก ดีจนไถลออกไปสู่ที่ที่เราไม่เคยคาดหวังว่าจะไปถึง ตอนนั้นเราได้เจอว่า ‘เขาคิดอย่างนี้ เขาคิดอย่างนั้น’ เต็มไปหมด คนที่ไม่เข้าใจเลยก็มี bad comment ก็มี แต่เราก็อ่าน และเราได้ค้นพบคำตอบบางอย่างในการทำงานของตัวเองผ่านประสบการณ์ของคนดูเหล่านั้น มันทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น ถ้างานไม่พาเราออกไปเจอคนดูเยอะขนาดนั้น เราคงไม่ได้รู้ขนาดนี้

นวพล

คำตอบบางอย่างที่คุณว่าคืออะไร

เปรียบเป็นเหตุการณ์แบบนี้แล้วกัน เหมือนก่อนหน้านี้ ถ้ามีคนมาบอกเราว่า ‘อย่าทำแบบนี้เลย ไม่ได้หรอก’ เราจะต่อต้านว่า เหรอวะ ไม่ได้จริงๆ เหรอวะ แต่พอ ฮาวทูทิ้ง พาเราไปเจอแมส ไอ้อะไรแบบนั้นที่เราเคยค้างคาว่า ‘ไม่ได้จริงๆ เหรอ’ มันค่อยๆ ได้รับการพิสูจน์ว่า เออ มันไม่ได้จริงๆ แต่ที่พูดนี่ไม่ได้หมายความว่างานหน้าเราจะปรับนะ แต่เรามองเรื่องนี้เป็นเหมือนบทเรียนหนึ่งมากกว่า 

เราเป็นคนที่สร้างงานจากสิ่งที่ตัวเองสนใจ และยอมรับความหลากหลายอยู่พอสมควร เรามีความเชื่อแบบนี้ ดังนั้นพอได้เรียนรู้บทเรียนที่ว่างานเราไปไม่ถึงคนบางกลุ่มจริงๆ ก็ไม่ไปคิดว่า ‘รอบหน้าผมจะทำให้ดีขึ้นครับ ผมขอโทษด้วย’ ตัวเราไม่ใช่อย่างนั้น เพราะพออายุ 36 แล้ว มันมีความ ‘จะอะไรอีกวะ’ อยู่นิดหนึ่ง (หัวเราะ) 

เราอยู่ในวัยที่เหนื่อยแล้ว ดังนั้นเราทำแบบที่ทำอยู่นั่นแหละ แต่แค่ทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ มองในอีกแง่หนึ่งคือถึงหนังจะพาเราออกไปนอกโซนเจอคนไม่เข้าใจและ bad comment แต่หนังก็พาเราไปเจอคนดูอีกกลุ่มหนึ่งที่เราคาดไม่ถึงและเขาชอบหนังเรา เราได้คนเหล่านี้มาพร้อมๆ กัน มันทำให้รู้สึกดีไปอีกแบบว่ามีคนเข้าใจสิ่งที่เราทำมากขึ้นเยอะเลย เพราะถ้าเทียบกับตอน 36 ตอนนี้เยอะขึ้นเป็น 5 เท่า 10 เท่านะ ดังนั้นเราพึงพอใจมากๆ แม้รายรับของ ฮาวทูทิ้ง อาจจบที่ประมาณ 57 ล้านแต่เราพอใจกับหนังแล้ว เพราะเรารู้ว่าถ้าจะไปถึงร้อยล้าน เราต้องทำอีกแบบ และเราจะเล่าแบบนี้ไม่ได้ เขียนตัวละครแบบนี้ไม่ได้ เล่าหนักขนาดนี้ไม่ได้ 

เราทำแบบอื่นไม่ได้ ถ้าเรารู้สึกว่างานต้องทำแบบนี้ เราจะทำแบบนี้ให้เสร็จ ดังนั้นเราไม่คาดหวังที่จะทำงานให้ทุกคนรักได้ขนาดนั้น นั่นไม่ใช่ธรรมชาติของเราด้วย เราแค่ทำสิ่งที่อยากทำไป ถ้างานพาไปเจอคนเยอะขึ้นก็ดี จะได้เพื่อนมาอยู่หมู่บ้านเดียวกันมากขึ้น จำนวนอาจไม่ได้ใหญ่โตมหาศาลแต่เราว่าเพียงพอให้เราทำหนังไปได้เรื่อยๆ

ทำไมหนังเรื่องนี้ถึงมีตัวคุณเองได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์  

หนึ่งคือในแง่เรื่องราว ฮาวทูทิ้ง เป็นเรื่องที่มาจากตัวเราเกือบจะที่สุดแล้วมั้ง และหนังเข้ามาในวันที่เรามีอาวุธครบมือ 7-8 ปีที่เราทำหนังมาทำให้ตอนนี้เรามีความรู้เพียงพอ สตูดิโอก็ไม่ได้แก้ไขหรือขัดขวาง เหมือนเขาวางใจและปล่อยเรามากขึ้น ไฟนัลคัตที่ได้ดูนั่นก็มาจากเรา มันเป็นความสุดในหลายๆ ด้านพอดี

 

ดูเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม

ใช่ๆ เหมือนเราเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกหมดแล้ว อะไรที่เราเคยสงสัยหรือรู้สึกว่าอยากลอง เราลองดูและลองทำมาหมดแล้ว ไม่รู้จะลองอะไรแล้ว ฮาวทูทิ้ง จึงเป็นเหมือนบทสรุปของ 8 ปีที่ผ่านมาว่าถ้าเราจะทำหนัง หนังจะออกมาได้ที่สุดประมาณนี้ ถ้าจะทำอีกที เราคงย้ายสาย คงเปลี่ยนไปและไม่เหมือนเดิม อาจเป็นหัวข้อใหม่หรือวิธีใหม่ คล้ายๆ กับเรากำลังได้เริ่มใหม่อีกรอบ สนุกดีนะ คนที่ติดตามจะได้ไม่เบื่อด้วย

 

นี่เป็นสาเหตุหลักที่คุณบอกว่าปีนี้จะไม่ทำหนังหรือเปล่า หรือมันมีปัจจัยอื่นๆ อีก

สาเหตุหลัก ตามปกติเราจะลุ้นตลอดว่าปีหน้าจะมีหนังไหม อยากมีจังโว้ย มันไฟแรงและเต็มไปด้วยความสงสัย โอเค สุดท้ายเราโชคดีที่มีหนังเข้ามาตลอด แต่ปีนี้พอทุกอย่างเป็นอย่างที่เล่าไป เราจึงรู้สึกว่าปีนี้พักดีกว่า ไม่ทำหนังก็ได้ ไม่เป็นไรถ้าจะไม่มี เราอยากขอเวลาคิดแป๊บหนึ่ง

มันเป็นความรู้สึกแบบไหน คล้ายๆ วิ่งเข้าเส้นชัยหรือเปล่า

ไม่เชิง (เงียบคิด) เราว่าเหมือนฉากหนึ่งในหนังเรื่อง Forrest Gump ที่ฟอร์เรสต์วิ่งทางไกลอยู่ดีๆ แล้วก็หยุด พอแล้วดีกว่า เหนื่อยแล้ว กลับบ้านกัน ถามว่ามันคือตอนจบไหม ก็ไม่ได้จบ หมดไฟไหม ก็ไม่ได้หมด แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือ ‘เฮ้อ เหนื่อยจัง ขอพักแป๊บหนึ่งนะครับ’ เราอยากช้าลงบ้าง พูดให้เห็นภาพชัดคือเราอยากนั่งเฉยๆ แบบสบายๆ บ้าง เพราะหลายปีที่ผ่านมานี้เราบู๊มาก เราต้องดูชะตากรรมทั้งหมดของหนังแทบทุกเรื่องและเราต้องทำงานในโลกที่เร็วมากไปเรื่อยๆ เราต้องคิดตลอดว่าจะทำคอนเทนต์อะไรให้คนดู และยังต้องอ่านคอมเมนต์ต่างๆ ไปพร้อมกันด้วย ไม่อ่านก็ไม่ได้ ดังนั้นมันเหนื่อยเหมือนกัน

 

บางคอนเมนต์น่าจะบั่นทอนเยอะอยู่ ทำไมคุณยังเลือกที่จะอ่าน

เพราะเดี๋ยวเราจะไม่ได้เรียนรู้ หนังหนึ่งเรื่องใช้เวลาทำงานเป็นปี แต่หนังจะอยู่ในโรงภาพยนตร์แค่ 1-2 เดือนเท่านั้น ถ้าไม่เก็บเกี่ยวตอนนี้ก็ไม่รู้จะเอาตอนไหน ดังนั้นเราต้องลงไปโดนตีนและอยู่กับมันให้ได้นานที่สุด เราต้องอ่านให้รู้ว่าที่เขาไม่ชอบ เขาไม่ชอบเพราะอะไร ถ้าชอบ ชอบที่ตรงไหน มันต้องออกไปเจอสิ่งเหล่านี้ เราต้องออกไปเจอคลื่น ไม่งั้นเราจะไม่ได้อะไร

นวพล

ถ้าให้ย้อนคิด คุณนิยามปีที่ผ่านมาของตัวเองว่าอย่างไร ใช้คำว่าปีแห่งการเรียนรู้ได้ไหม

(เงียบคิดนาน) เราอยากเรียกว่าเป็นปีที่จบไตรภาคมากกว่า ถ้าตัวเราเริ่มจากหนังเรื่อง 36 8 ปีที่ผ่านมาถือว่านานสำหรับเรามาก จากวัยรุ่นที่มีความสงสัย ต่อสู้มาเรื่อยๆ จนได้อะไรกลับมาเยอะพอสมควร เราได้ค้นพบว่าตัวเองเหมาะทำหนังเล็กหน่อยแต่ควบคุมได้ เริ่มเข้าใจอะไรแบบนี้มากขึ้นเพราะเห็นกระบวนการของทั้งฝั่งเมนสตรีมและอินดี้มาแล้ว สุดท้ายทุกอย่างมาจบที่ ฮาวทูทิ้ง พอดี นี่เป็นหนังที่เราได้ทำอย่างที่อยากทำในเลเวลที่สุดๆ แล้ว

 

เริ่มที่ 36 จบไตรภาคตอนอายุ 36 ปีพอดี

(หัวเราะ) เซอร์มาก ปีนี้ได้เป็นเต๋อ 36 อย่างสมูบรณ์

 

ในวันที่เริ่มต้น คุณคิดว่าตัวเองจะมาถึงขั้นนี้ไหม

โห 8 ปีที่แล้ว เราไม่ได้คิดหรอกว่าจะมาถึงขนาดนี้ ตอนนั้นแค่คิดว่าทำไปเรื่อยๆ ไม่ได้คาดหวังอะไรล่วงหน้ามาก ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็เรียนรู้จากมัน อาจเพราะไม่ใช่คนคิดอะไรใหญ่โตด้วยมั้ง เราไม่ใช่คนที่จะอยากไปออสการ์ แค่อยากก้าวไปทีละขั้น ดังนั้นเราแปลกใจเหมือนกันที่มาจบไตรภาคแบบวันนี้ได้ 

เรารู้สึกดีนะ มันเป็นตอนจบที่ไม่ใช่ตัดจบ แต่มันเป็นแบบ ‘เฮ้อ จบดีกว่า’ พอแล้ว จะเอาอะไรอีก เรื่องหน้าค่อยว่ากันใหม่ อาจเป็นหนังผีก็ได้ แล้วแต่ไอเดียที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ นี่ถ้าไปบอกตัวเองเมื่อ 8 ปีก่อนว่าวันหนึ่งเราจะอยากทำหนังผี ตัวเราตอนนั้นคงคิดว่า ‘เหรอวะ กูเนี่ยนะ’ (หัวเราะ) มันเกิดขึ้นของมันเอง เมื่อถึงเวลา เราก็รู้สึกเอง และถ้าจะต้องทำมัน เราจะทำโดยไม่ฝืน 

เคยจินตนาการตัวเองตอนอายุ 36 ปีไว้ยังไงบ้าง ตอนนี้เป็นอย่างที่คิดไหม

หนังสือรวมรุ่นสมัยตอนเราอยู่ ม.6 เคยมีคำถามว่าอนาคตอยากเป็นอะไร เราจำได้ว่าตัวเองตอบว่าอยากมีโปรเจกต์สนุกๆ ทำไปเรื่อยๆ เพราะเราคิดแค่นี้ เราไม่เคยคิดว่าต้องเป็นอะไร นั่นทำให้เราเป็นคนที่ฟรีฟอร์มประมาณหนึ่ง ก่อนทำหนัง เราเขียนหนังสือ ก่อนพอดแคสต์จะนิยมแบบตอนนี้ เราทำสิ่งที่คล้ายๆ กันเมื่อสิบปีที่แล้ว สำหรับเรา นี่เป็นข้อดีเหมือนกัน เพราะถ้าเราล็อกตัวเองไว้ เราคงไม่ได้ทำอย่างอื่น แต่นี่เราทำทุกอย่างแบบที่อยากทำไปเรื่อยๆ

เราเป็นคนคิดสั้นๆ ไม่ได้คิดอะไรยาวมาก กระทั่งปีนี้ ยังไม่รู้เลยว่าปลายปีจะทำอะไร ขนาดเดือนหน้ายังแทบไม่รู้ แต่นั่นเป็นเพราะเรารู้ว่าเดี๋ยวอะไรสักอย่างจะมาเอง ผลจากสิ่งที่เราทำตอนนี้คงทำให้เกิดอะไรขึ้นตามมาในอนาคต และเราคิดแบบนี้ตั้งแต่หนังเรื่องแรก เราจึงต้องทำงานให้ดีเพื่อให้เกิดสิ่งที่จะตามมา

 

แสดงว่าคุณไม่ใช่คนที่มี New Year’s Resolution 

ถ้ามีก็อย่างเดียวและสี่เดือนก็ลืมแล้ว (หัวเราะ) จำไม่ได้หรอก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตเรามันเร็ว แค่ 2-3 ปี บางอย่างเปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นเราแค่รอดูก็พอ ชีวิตบังคับให้เราไปหาสิ่งใหม่อยู่แล้ว

การไม่ตั้งเป้าหมายระยะยาวมันดีต่อคุณในแง่ไหนบ้าง

(เงียบคิด) เนี่ย ขนาดกับเรื่องนี้ เรายังไม่เคยคิดเลยว่ามันดีหรือไม่ดี แต่ถ้าให้ดูที่ผ่านมาเราว่าเวิร์กนะ ไม่ได้มีข้อเสียอะไร หนึ่งคือเราไม่เหนื่อย สองคือพอเราไม่ได้คิดอะไรใหญ่โต จังหวะชีวิตเราไม่ได้ก้าวกระโดด โอกาสพังของเราจึงน้อย เราแค่ทำให้ดีที่สุดตามลำดับโดยไม่ทำอะไรใหญ่เกินตัว

ยกตัวอย่างงานโฆษณาของเราก็ได้ ตอนเริ่มทำ เรารู้ตัวว่ายังไม่เก่ง ถ้าตามใจลูกค้าเยอะๆ เราต้องแย่แน่ๆ ดังนั้นเราถึงเลือกงานตั้งแต่แรกเพราะเราทำได้จำกัด เรามีความสามารถเท่านี้ อย่าให้ไปทะเลาะกับใครเลย แต่ตอนแรกก็คิดนะ ว่าได้หรือเปล่าวะ มึงเป็นใครมาจากไหนเนี่ย อยู่ดีๆ เลือกงานตั้งแต่ชิ้นแรก แต่กลายเป็นว่าทำไปทำมาแม่งเวิร์ก พอเข้าปีที่สาม คนเริ่มจำได้ว่าเราเป็นแบบไหน หลายคนเลยส่งงานในแบบเดียวกันมาให้ มันดีทั้งในแง่ว่านี่คืองานแบบที่เราถนัดและเราสามารถช่วยลูกค้าได้จริงๆ โอเค สุดท้ายงานอาจจะไม่เยอะ แต่ระหว่างทำเราแฮปปี้ เราทำไปโดยที่ไม่ได้คาดหวังว่าจะนำไปสู่อะไร (นิ่งคิด) อะไรแบบนี้มั้งที่ออกมาเป็น Die Tomorrow

นวพล

เราไม่อยากฝืนทำงานที่ต้องไปเคลียร์ตัวเองในอนาคต เพราะเราคิดว่าถ้าตัวเองตายก่อน เราจะตายไปพร้อมความปวดกบาลขุ่นหมอง กลับกันถ้าเราได้ทำสิ่งที่ชอบโดยที่ระหว่างทางแฮปปี้มากๆ ถ้าตายวันนี้ เราโอเคนะ อย่างตอนทำ ฮาวทูทิ้ง ถ้าระหว่างถ่ายเราตาย เราก็โอเค เพราะได้เล่าสิ่งที่อยากเล่า ได้ทำงานที่อยากทำ และได้เจอกับนักแสดงที่ชอบ ไม่มีอะไรค้างคา เราไม่ใช่คนที่จะอดทนทำหนัง 5 เรื่องแรกโดยคิดว่าเรื่องที่ 6 จะเป็นตัวกูที่สุด อ้าว ถ้าตายตอนเรื่องที่ 4 ล่ะ มันไม่ได้นะเว้ย แต่กับชีวิตเรา ต่อให้ตายตอนทำ 36 เรายังโอเคเลย นี่อาจเป็นสาเหตุที่ไม่ค่อยคิดอะไรยาวมั้ง เพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะอยู่นานขนาดนั้นหรือเปล่า

 

ถ้าอย่างนั้นในวันเกิดคุณแต่ละปีคุณคิดถึงอะไรบ้าง

ไม่มีอะไรมาก แค่คิดว่าวันนี้อายุเท่าไหร่ อ๋อ 36 แล้ว เย้ โพสต์เฟซบุ๊ก จบ ไม่ได้มีผลอะไรกับชีวิตขนาดนั้น (เงียบคิด) แต่คนน่ะชอบคิดว่าเราคิดแบบนี้ได้เพราะเป็นนวพล มันไม่ใช่เว้ย 8 ปีก่อนเราก็คิดแบบนี้ เราแค่เลือกสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ถามว่าอุดมคติไหม เราก็ว่าไม่ เราคิดแค่ว่าทำหนังหนึ่งเรื่องต้องหมดไปกี่ปี กี่เดือน กี่วัน ดังนั้นวันเหล่านี้เราควรจะมีความสุข เพราะผลของหนังจะเป็นยังไง ไม่มีใครรู้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการรู้ว่าระหว่างทำเราไม่ได้ขี้เกียจและมีความสุข แค่นี้โอเคแล้ว

แล้วคุณให้คะแนนชีวิตตัวเองที่ผ่านมาสิบเต็มสิบหรือเปล่า

สิบเต็มสิบก็ได้ ห้าเต็มห้าก็ได้ หนึ่งเต็มหนึ่งก็ได้ สกอร์เท่าไหร่ก็ได้เพราะสกอร์ไม่มีผลต่อเรา สำคัญคือเรารู้ว่าตัวเองเต็มที่ เราไม่เคยรู้สึกขี้เกียจในการทำหนังเรื่องไหน อย่างน้อยต้องทำสุดความสามารถเท่าที่บริบทและปัจจัยในตอนนั้นจะให้ได้  เราไม่อยากมีคำว่า ‘รู้งี้..’ และมีอะไรติดค้าง

 

บางคนอาจจะแย้งว่าในความเป็นจริงเราไม่ได้มีอิสระในการเลือกขนาดนั้นหรือเปล่า

เราเข้าใจ พอพูดอะไรแบบนี้ในสมัยนี้จะดูแปลก เราชอบโดนบอกว่า ‘นี่มันคำพูดของบิดาฮิปสเตอร์นี่นา’ มาเชียร์ให้รักอิสระขนาดนี้ แต่ในอีกทางหนึ่ง การต้องทนทำอะไรที่ไม่ชอบนั่นไม่แปลกเหรอวะ และการที่เราเลือกทำแบบที่เล่าให้ฟังนี้ เรามีสิ่งที่ต้องแลกเต็มไปหมดนะ แต่ประเด็นคือเราแลกไง ถ้าคนอื่นไม่แลก เขาจะได้อีกสิ่งหนึ่งที่อาจจะดีกว่าเราก็ได้ ดังนั้นเราไม่ได้บอกว่าใครทำผิดวิธี แต่นี่เป็นทางที่เราเลือก

 

สุขคุณ สุขผม

ถูก มนุษย์เจออะไรมาไม่เหมือนกัน  ดังนั้นเราเลือกไม่เหมือนกันหมดแน่ๆ แต่ปัญหาอยู่ที่เราอยู่ในประเทศที่มีเบ้าหลอมน้อยไง สังคมเราจำกัดคนให้อยู่แค่ 1 2 3 4 ดังนั้นพอเราเป็น 5 6 7 8 ก็เลยยาก คนชอบคิดว่ามันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ถึงจะเวิร์ก แต่ไม่ใช่ โลกเราไม่ใช่อย่างนั้นตั้งแต่แรกแล้ว ยิ่งยุคนี้ ยิ่งไม่ใช่ใหญ่ บางประเทศเขาไปถึง 57 แล้ว บ้านเราไอ้ 1 2 3 4 ยังมาไล่ตีคนอื่นอยู่เลย (เงียบคิด) แต่โอเคแหละ เส้นทางที่เราเลือกอาจจะเหนื่อยหน่อยเพราะไม่ค่อยมีแบบแผนให้ดูก่อนหน้า เดินไปก็ไม่รู้ว่าหลงหรือเปล่าแต่ระหว่างเดินสนุกดี อาจจะเบี้ยวๆ บ้างแต่สุดท้ายวันนี้เราเดินมา 8 ปีแล้ว เราโชคดีด้วยที่ระหว่างทางไม่ค่อยมีใครมายุ่งกับเรา ถึงเข้ามาก็ทำอะไรเราไม่ค่อยได้

สุดท้าย เนื่องในโอกาสวันเกิด ถ้าขอพรได้หนึ่งข้อ คุณจะขออะไร

(นิ่งคิด) ขอให้นอนหลับเหมือนทุกๆ ปีแล้วกัน ถ้านอนหลับได้ก็แปลว่าไม่มีอะไรต้องกังวล แสดงว่าวันนั้นคงโอเคประมาณหนึ่ง ใน Die Tomorrow เราเลยทำตอนน้าค่อมไง วันหนึ่งวันที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น คงเป็นวันที่สบายใจ อยากไปก็ไป นั่นถือว่าดีมากแล้ว


befor.tart รส เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

malt powder / vanilla milk chantilly / baked meringue / butter cake / peta zeta

 

แม้ลักษณะภายนอกของทาร์ตจะไม่มีสีสันฉูดฉาดและวัตถุดิบไม่ได้ให้รสชาติที่จัดจ้าน แต่ด้วยวิธีการปรุงวัตถุดิบทั้ง 5 ชนิดอย่างผงมอล์ต วานิลลา ไข่ขาว ครีม และน้ำตาลทรายในวิธีการที่หลากหลายทำให้เกิดรสสัมผัสที่ให้ความรู้สึกแตกต่างกันออกไป เมื่อนำมาประกอบกัน รสชาติที่แสนธรรมดาเหล่านั้นจะร่วมกันสร้างประสบการณ์และความทรงจำให้กับคนทานได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกันกับลักษณะภายนอกของทั้งตัวงานและบุคลิกส่วนตัวของเต๋อ 

แม้มองผิวเผินงานของเต๋ออาจดูธรรมดาและเรียบง่าย แต่เมื่อลองสัมผัสงานชิ้นต่างๆ ของเขา เราจะพบว่าแต่ละงานล้วนต่างกันโดยสิ้นเชิง งานทุกงานล้วนผ่านกระบวนการคิดมาอย่างประณีตและละเอียดในทุกรายละเอียด แม้ผู้ชมจะไม่ได้รับรู้ถึงขั้นตอนและความตั้งใจเหล่านั้น แต่พวกเขาสามารถเข้าถึงและเชื่อมต่อกับงานของเต๋อได้อย่างง่ายดายผ่านความทรงจำหรือเรื่องราวในชีวิตบางอย่าง เหมือนกันกับส่วนประกอบในแต่ละส่วนของรสชาติที่ต่างมาจากวัตถุดิบที่พบเห็นได้ทั่วไป ถ้าอยู่ลำพังมันอาจจะหวานและออกจะจืดชืดไปด้วยซ้ำ แต่เมื่อนำมาผ่านกระบวนการในอีกรูปแบบที่ซับซ้อน สุดท้ายหน้าตาและรสชาติที่เคยธรรมดาของมันได้สร้างความพิเศษที่ต่างออกไปในรูปลักษณ์ที่แสนธรรมดานี้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชย์ สุนทโรสถ์

ช่างภาพหน้าหมี ผู้ชอบเพลงแจ๊สเป็นชีวิตจิตใจ