“จากที่คิดว่าดีพอตัว เราพบว่าตัวเองไม่ได้เก่งขนาดนั้น” – แชมป์ ทีปกร ในวันแรกที่อายุ 35 ปี

Highlights

  • เป็นเวลากว่าหนึ่งปีพอดีที่ แชมป์–ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ได้พาตัวเองไปทำงานที่แพลตฟอร์มสตรีมมิง Netflix ที่นั่นได้ให้บทเรียนขนานใหญ่จนเขานิยามปีที่ผ่านมาว่าเป็นปีแห่ง wake-up call
  • บทเรียนหลักๆ ที่แชมป์เรียนรู้คือการหาสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว สิ่งนี้เป็นสิ่งใหม่เพราะที่ผ่านมาเขาทำอะไรใกล้หัวใจตัวเองมาตลอด
  • เนื่องในวาระวันเกิดวัย 35 ปี แชมป์ลงความเห็นว่าเขาพอใจกับตัวเองในเวลานี้มาก กับเส้นทางที่เติบโตมาแม้จะมีอุปสรรคบ้าง แต่เขาก็ยังคงเป็นผู้ใหญ่ในแบบที่ตัวเองชอบ

แชมป์ ทีปกร ผมนัดเจอกับ แชมป์–ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ก่อนเขาเดินทางกลับสิงคโปร์ 1 วัน

เดินทางกลับ ไม่ใช่เดินทางไป

เป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้วที่แชมป์พาตัวเองไปเริ่มต้นงานประจำใหม่ที่แพลตฟอร์มสตรีมมิง Netflix ที่ประเทศสิงคโปร์ในตำแหน่ง Thailand Editorial Country Manager สิ่งแวดล้อมใหม่ วัฒนธรรมใหม่ และการทำงานใหม่ ในปีที่ผ่านมานี้จึงเป็นเหมือนอีกหนึ่งบทใหม่ของชีวิตเขา หลังจากบทบาทก่อนหน้าอย่างการร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ The MATTER, การเป็นพิธีกรและการร่วมก่อตั้งบล็อก exteen.com ล้วนประสบความสำเร็จ

เพียงแต่คราวนี้การเริ่มต้นใหม่ของเขาเกิดขึ้นในที่ที่ไกลกว่าเดิม 1,300 ไมล์

และนั่นเองนำมาซึ่งคำถามว่า ปีที่ผ่านมาของแชมป์ต่างจากขวบปีอื่นในชีวิตมาก-น้อยขนาดไหน

วันที่ 27 มกราคม 2563 นี้เป็นวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 35 ปีของแชมป์

สำหรับใครหลายคนวันเกิดเป็นเหมือนวาระที่จะได้ทบทวนชีวิตตลอด 365 วันที่ผ่านมา แชมป์เองเป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น เพียงแต่จากปกติที่เขาจะทบทวนเรื่องราวในหัวอยู่คนเดียว ปีนี้ผมตั้งใจอยากสนทนากับเขาเพื่อให้การถอดบทเรียนเหล่านั้นออกมาสู่ภายนอก

สารภาพว่าในตอนแรกผมเดาไว้ล่วงหน้าว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาคงทำเขาเติบโตไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งทั้งความคิดและทักษะ แต่เมื่อเราสนทนากันไปเพียงเล็กน้อย ประโยคสั้นๆ ของแชมป์กลับทำให้ผมประหลาดใจ

“กับปีนี้ เราได้รู้ว่าตัวเองไม่ได้เก่งมากขนาดนั้น”

แม้บทสนทนาที่เหลือจะไม่ใช่ Netflix Original Series แต่นี่คือ original stories ในหนึ่งปีที่เกิดขึ้นจริงกับใครคนหนึ่ง

และจังหวะของเรื่องราวนี้ขึ้น-ลงไม่แพ้ซีรีส์เรื่องไหนเลย

ก่อนมาสัมภาษณ์ คุณเพิ่งอัพโหลดพ็อดแคสต์ THIS PODCAST SAVED MY LIFE ตอนใหม่ของตัวเอง พ็อดแคสต์นี้เกิดขึ้นมาได้ยังไง

พ็อดแคสต์นี้มาจากตัวเราทั้งหมด เป็นความตั้งใจของเราด้วยที่อยากกลับมาสร้างงานของตัวเองที่ใกล้ใจให้มากขึ้น เพราะปีที่ผ่านมาเราทุ่มเทกับงานออฟฟิศมาก จนบางทีงานกัดกินชีวิตเราเหมือนกัน

ก่อนหน้าที่จะไป Netflix เราทำงานใกล้หัวใจตัวเองมาตลอด เราเชื่อในงานของเรา ชอบในงานของเรา นั่นคือการไปเจอเรื่องสนุกและเราอยากให้คนอื่นได้รู้ แม้กระทั่ง The MATTER ก็มาจากตัวเราเองว่าเราไปเจออะไรมาแล้วแก้ปัญหาสังคมได้ยังไง เราทำงานแบบนี้มาตลอด แต่พอเป็น Netflix ที่เป็น entertainment company วิธีคิดและการทำงานจะเปลี่ยน จากที่ตั้งโจทย์ว่าเราสนใจอะไรแล้วค่อยทำกลายเป็นเราต้องทำโจทย์ที่ได้รับมอบหมายมา บางเรื่องชอบและอิน บางเรื่องเราไม่อินแต่เป็นประโยชน์กับคนอื่น พอเป็นแบบนี้นี่จึงเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เรารู้สึกว่างานแยกกับชีวิตส่วนตัวได้

 

ก่อนหน้านี้ไม่ได้รู้สึกแบบนี้

ไม่รู้สึกเลย ก่อนหน้านี้คืองานเท่ากับชีวิต ชีวิตเท่ากับงาน ดังนั้นเที่ยงคืนเราทำงานได้ ไม่ได้รู้สึกฝืน ยิ่งเวลาทำอะไรงานมักจะมีชื่อเราติดไปตลอด นั่นทำให้เรารู้สึกต่อเนื่อง ไม่จำเป็นต้องแบ่งเวลาชีวิตไปทำงานเพราะมันคืออย่างเดียวกันอยู่แล้ว หรืออย่างเวลาดูข้อมูล ดูหนัง ฟังเพลง เราเปลี่ยนเป็นงานได้หมด ต่างจากปีที่ผ่านมา งานออฟฟิศไม่ใช่สิ่งที่เราจะเอาไปใช้ต่อในชีวิตประจำวันได้ เราเลยเริ่มแบ่งแยกระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวมากขึ้น 

เป็นครั้งแรกนะที่เราไม่แฮปปี้ที่ต้องตอบอีเมลตอน 4 ทุ่ม เป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกว่างานไม่ใช่ทุกอย่างนี่หว่า เราผ่านช่วงที่ชีวิตพังมาก เรามอบชีวิตให้กับบริษัทโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ จนเข้ามากัดกินตัวเอง แน่นอนว่าเราต้องทำงานให้ได้ตามเป้าหมายของบริษัท นั่นคือความรับผิดชอบ แต่ขอบเขตอยู่ตรงไหนกันล่ะ นั่นคือสิ่งที่เราตั้งคำถาม 

 

เลยกลายเป็น THIS PODCAST SAVED MY LIFE 

ใช่ ตามชื่อเลยว่าพ็อดแคสต์นี้ช่วยชีวิตเราเอง และความรู้สึกนี้จะกลายเป็นคอลัมน์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นด้วย เราอยากกลับมาทำงานที่ใกล้หัวใจมากขึ้น เราอยากกลับมาสนุกกับการเรียนรู้ การค้นคว้า และการสื่อสาร เราอยากพูดและแสดงตัวตนออกไปบ้าง

พูดแบบนี้อาจฟังดูมีอีโก้มาก แต่ในความคิดเราตัวตนของคนทำงานสร้างสรรค์คือสิ่งสำคัญ เราอยากมีช่องทางสื่อสารของตัวเองที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวแปรอื่นใดที่ควบคุมไม่ได้ เช่น โจทย์จากออฟฟิศหรือเอเจนซี ต่างกับก่อนหน้านี้ที่สิ่งที่เราทำต้องขึ้นอยู่กับรสนิยมตัวเองถึงจะดีที่สุด แต่พอเป็นโจทย์ที่ทำเพื่อคนอื่น ตอนแรกเราไม่ค่อยเห็นภาพ นั่นเป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกัน

ช่วงยากๆ นี่ใช้คำว่า suffer ได้ไหม

เราคิดว่ามีช่วงที่ suffer เยอะแหละ เป็นครั้งแรกในชีวิตที่รู้สึกถึง imposter syndrome (อาการที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งพอ) ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้สึกเพราะเราทำอะไรที่เป็นตัวเองอยู่แล้ว แต่พอมาทำงานออฟฟิศเราก็กลัวว่าตัวเองจะเหมาะกับที่นี่หรือเปล่า ที่นี่คือที่ของเราหรือเปล่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมา 30 กว่าปีไม่เคยรู้สึกแบบนี้มาก่อน

 

ออกจากภาวะนี้ยังไง

มีหลายแบบนะ เช่น แบบที่ทำตามขอบเขตงานให้ดีที่สุดและตัดตัวตนออกไป มองเป็นเรื่องของความรับผิดชอบ เราคิดว่าวิธีนี้เฮลตี้ในระดับหนึ่ง อย่าไปคิดว่าคุณค่าของชีวิตคืองาน งานไม่ใช่ตัวตัดสินว่าเราดี-เลว เหมือนเป็นวิธีการที่เราบอกตัวเองว่าสองสิ่งนี้ไม่ได้เกี่ยวกัน อย่าเอาคุณค่าตัวเองไปผูกติดกับงานขนาดนั้น เป็นต้น

 

หาจุดสมดุล

ใช้คำนั้นก็ได้ คล้ายๆ กับการกั้นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของตัวตนที่งานเข้ามาไม่ได้ เราอยากรดน้ำดอกไม้ของตัวเองบ้าง

งั้นถ้าให้นิยามจะนิยามปีที่ผ่านมาว่าอะไร

(เงียบคิด) เราว่าเป็นปีแห่ง wake-up call เหมือนเป็นปีที่เข้ามาบอกเราว่า เฮ้ย มึงไม่ได้เก่งมากนะ ในเวทีนานาชาติมีคนเก่งกว่าเยอะแยะ มึงไม่ได้เก่งมากหรอก อีกเรื่องก็อย่างที่บอกไป นี่เป็นปีที่เราได้เรียนรู้ว่างานออฟฟิศกับชีวิตส่วนตัวไม่ใช่อย่างเดียวกัน นั่นทำให้เราเข้าใจน้องๆ ที่เคยทำงานด้วยกันมากขึ้นว่าทำไมเขาถึงต้องหาสมดุลในชีวิต Netflix ทำให้เราเห็นความจริงข้อนี้และเราว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี ถึงจะต้องปรับตัวเยอะ แต่ถ้าให้ย้อนกลับไปคิด เราก็ว่าตัวเองตัดสินใจถูกนะ เราเพิ่งอายุ 35 เอง คงได้ใช้บทเรียนเหล่านี้จากการทำงานต่างประเทศกับชีวิตที่เหลือได้

 

ที่คิดว่าตัวเองไม่ได้เก่งขนาดนั้น แสดงว่าก่อนหน้านี้มีอยู่บ้างเหมือนกันที่คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว

ใช้คำว่าเรารู้สึกว่าตัวเองมีดีประมาณหนึ่งดีกว่า คงน่าหมั่นไส้ถ้าเราบอกว่าที่ผ่านมาเราไม่เก่งอะไร เราก็ทำบางอย่างที่โอเคมาอยู่บ้าง เราคงเก่งอยู่บ้าง แต่ปีที่ผ่านมาเหมือนเราถูกวางเข้าไปในอีกบริบทหนึ่ง อยู่ในการให้คุณค่าอีกแบบหนึ่ง นั่นทำให้เรารู้ว่าไม่ใช่ทุกเกมที่จะชนะ บางสนามแข่งเรามั่นใจ แต่บางสนามเรารู้สึกว่าไม่ใช่ สิ่งนี้ทำให้เราเห็นชีวิตที่เหลือมากขึ้นว่าจะเป็นยังไง จุดเด่น-จุดด้อยอยู่ตรงไหน

 

เหมือนรู้กว้างขึ้น

ใช่ๆ ถือเป็นโอกาสที่ดีนะ ถ้าไม่เอาตัวเองมาจมเราคงไม่มีโอกาสเรียนรู้ว่าตัวเองไม่เก่งเรื่องอะไร เราเชื่อว่า ‘การหาตัวเองว่าไม่เก่งเรื่องอะไร’ ยากกว่า ‘การหาตัวเองว่าเก่งอะไร’ 

บทความนี้จะลงในวันเกิดคุณพอดี ปกติคุณคิดทบทวนชีวิตตัวเองในวันเกิดบ้างไหม

ตลอดเวลา ทุกๆ ปีเรากลับไปคิดทบทวนเสมอ แต่เราคิดว่าปีนี้น่าจะหนักสุด กราฟชีวิตเราไม่เคยอยู่เฉยก็จริง แต่ปีนี้เราพาตัวเองไปเจออะไรที่ใหม่มาก เราเลยมีอะไรที่ต้องทบทวนหลายอย่าง แต่ก็คิดว่าเป็นการทบทวนที่ดี

 

กระบวนการคิดทบทวนตัวเองของคุณเป็นยังไง 

เราจะตั้งคำถามต่อรูปแบบความคิดของตัวเอง เช่น การมองเห็นว่าแต่ก่อนเราดำเนินชีวิตไปแบบออโต้ แต่ปีนี้เราได้รู้ว่าบางอย่างใช้ไม่ได้กับสภาพแวดล้อมใหม่ เช่น การที่คนในออฟฟิศมีหลายเชื้อชาติ วิธีการคุยแบบเดิมที่เราเคยใช้เขาอาจจะไม่เข้าใจ ดังนั้นเราก็ต้องปรับ เหมือนเราค่อยๆ เห็นว่าวิธีแก้ปัญหาในชีวิตมีหลายแบบมากขึ้นโดยที่ยังถูกต้องพอๆ กัน

หลังจากทบทวนแล้วคุณคิดว่าปีที่ผ่านมาถือเป็น midlife crisis ไหม

โห ไม่นะ เราว่าเป็นแค่ความเปลี่ยนแปลงที่เราหยิบยื่นให้ตัวเองมากกว่า กลับกันเสียอีกถ้าให้เราอยู่ที่เดิมต่อ เราว่าตัวเองอาจมี midlife crisis เข้าจริงๆ ก็ได้ ถ้าเราอยู่ที่เดิมต่อกราฟชีวิตเราคงโตด้วยอัตรานิ่งๆ ทุกอย่างจะเหมือนเดิม อะไรแบบนั้นจะกดทับเราจนเกิดเป็นคำถามว่า ‘อะไรคือต่อไป’ แต่พอโจทย์เปลี่ยนไปสิ้นเชิงแบบทุกวันนี้มันทำให้เราเห็นภาพชีวิตชัดขึ้นด้วยซ้ำ ดังนั้นสำหรับเรา นี่เป็นจังหวะชีวิตที่กำลังพอดี 

 

คุณไม่ได้กลัวการเปลี่ยนแปลง

เราชอบ (ตอบทันที) เราเป็นคนที่ไม่ชอบการ maintain แต่เราชอบเริ่มต้นมาก นี่เป็นสิ่งที่เรียนรู้กับตัวเองตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จังหวะชีวิตแบบนี้ทำให้เราเป็นคนที่ไม่ยึดติดมาก อาจจะยึดติดกับตัวเองบ้าง แต่ไม่ยึดติดกับอย่างอื่น เราไม่คิดว่าเราเปลี่ยนไม่ได้หรือล้มไม่ได้ 

สมัยก่อนบางทีเวลาเห็นคนที่ทำอะไรอย่างเดียว 10 ปีจนเป็นผู้เชี่ยวชาญเราอาจจะอิจฉา เพราะเราไม่ได้มองตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญอะไรสักอย่าง เราทำได้ทุกอย่างแต่ทำได้แค่ประมาณหนึ่ง แต่หลังจากนั้นเราพยายาม make peace กับตัวเอง ชาตินี้ถึงไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญก็ไม่เป็นไรหรอก ไม่ได้เก่งด้านใดด้านหนึ่งก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าทุกๆ อย่างที่ไม่เก่งมาผสมกันเป็นเราได้ แค่นี้เราโอเคแล้ว

พอเชื่อในความเปลี่ยนแปลงแล้วมุมมองต่อเรื่องอื่นๆ ในชีวิตคุณเปลี่ยนแปลงไหม

เปลี่ยนไปเรื่อยๆ นะ อย่างปีที่ผ่านมากับสิ่งที่เราเจอก็ทำให้เข้าใจคนอื่นมากขึ้น ต่างกับตอน 27 อย่างเห็นได้ชัด ตอนนั้นเลือดร้อน อะไรที่ไม่ตรงกับเราเราจะเถียง พยายามทำความเข้าใจนะ แต่ทำเพื่อที่จะได้เถียง ตรงไหนที่คุณผิดบ้างเราจะล้มคุณ สิ่งนี้คืออีโก้ล้วนๆ ที่ไม่เหมือนตอนนี้แล้ว พอเราเข้าใจว่าโจทย์หนึ่งมีวิธีการแก้ไขหลายแบบและวิธีที่เหมาะสมที่สุดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ตอนนี้เราไม่ได้ขึ้นมากแล้วเวลาเห็นคนอื่นเลือกทางที่ต่างจากเรา สิ่งนี้เป็นไปในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องงานไปจนถึงการเมือง เราจะพยายามเข้าใจ

 

ตอน 27 เคยคิดไหมว่าตัวเองตอน 35 จะเป็นยังไง ตอนนี้เป็นอย่างที่คิดหรือเปล่า

ดีกว่าที่คิดนะ ตอน 27 เราเคยคิดว่ากูจะเกลียดตัวเองตอนแก่ไหม ถ้าเรากลายเป็นคนแก่ที่ยึดติดกับอดีตและหวงที่เราคงเกลียดตัวเองมาก (เงียบคิด) แต่ตอนนี้ 35 แล้วกลายเป็นว่าเรากลับเกลียดตัวเองตอนเด็กมากกว่า กลับไปอ่านสเตตัสเก่าๆ ในเฟซบุ๊กก็ได้แต่คิดว่า โห ถ้าเราเป็นเฟรนด์กับตัวเองตอนอายุ 27 เราคงอันเฟรนด์ ทำไมถึงชนทุกอย่างขนาดนั้น เราว่าตัวเองตอนนั้นไม่ค่อยน่ารักเท่าไหร่ (หัวเราะ)

เหมือนโตขึ้นอีโก้ก็ค่อยๆ หายไปด้วย

ใช่ อาจเพราะแก่ขึ้นด้วยแหละ พอแก่เราจะเห็นว่ามีเรื่องอีกเยอะแยะนี่หว่าที่เราไม่รู้ ฮอร์โมนไม่ได้พลุ่งพล่านแบบตอนเด็กแล้ว แต่การเป็นแบบนี้ก็มีทั้งข้อดี-ข้อเสียนะ เหมือนเรากลมมากขึ้น แต่ไม่แหลม เราไม่พุ่งเหมือนเมื่อก่อน สมัยก่อนเราเชื่อในตัวเองมาก ทำ ทำ ทำ ทำ ทำไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้ก็ทำอีก แต่ตอนนี้เราคิดหน้าคิดหลังเยอะ มันช้าแต่ระมัดระวัง

 

ช้าแต่ชัวร์

ไม่รู้ชัวร์ไหม แต่คิดมากขึ้นมากกว่า

 

ในวัย 35 กับความคิดความอ่านแบบนี้ คุณนิยามว่าตัวเองแก่ไหม

แก่ (ตอบทันที) แต่ยังไม่มาก (หัวเราะ) ต้นทุนเรามากพอที่จะคิดนู่นคิดนี่ได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น แต่เรายังมีอะไรต้องเรียนรู้จากคนอื่นอีกเยอะ ซึ่งเราโอเคนะที่เป็นแบบนี้ เราโอเคกับการเติบโตของตัวเอง

สุดท้าย เนื่องในโอกาสวันเกิด ถ้าขอพรได้สักหนึ่งข้อคุณอยากจะขออะไร

โห (เงียบคิดนาน) ขอให้คนไทยทุกคนกลับมามีชีวิตปกติ เรารู้สึกว่าปีนี้จะเป็นปีที่หนักหนาสำหรับทุกคนมากๆ ทั้งเรื่องในประเทศ ต่างประเทศ และโลกใบนี้ มันดูแย่มาก เราเพิ่งเข้าใจความรู้สึกของคนไทยที่อยู่ต่างประเทศและเห็นข่าวของประเทศตัวเองก็ปีที่ผ่านมานี่เอง มันจะเป็นห่วงมากกว่าที่เคยเห็น มองกลับเข้ามาเรารู้สึกว่าประเทศไทยตอนนี้ไม่ปกติเลย เหมือนเรากำลังเข้าสู่ new norm ที่ 7-10 ปีที่แล้วเราคงไม่ยอมให้เกิดขึ้นหรอก แต่นี่สถานการณ์ค่อยๆ แย่ลงเรื่อยมาจนเราไม่ทันได้รู้สึก 

ดังนั้นเราขอแค่กลับคืนสู่ปกติพอ ไม่ต้องดีงามอะไรหรอก เพราะเราไม่รู้อยู่ดีว่าความดีงามคืออะไร


befor.tart รส แชมป์ ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

Orange Curd with Orange Blossom and Orange Peel / Marron Cream with Chai Tea

จากบทบาทการเป็น founder แพลตฟอร์มต่างๆ สู่การเป็นส่วนหนึ่งในองค์กรใหญ่ ในช่วงการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาเราเลือกใช้วัตถุดิบอย่างส้มที่ทำให้ได้กลิ่น รส และสัมผัส ที่แตกต่างกันออกไป แต่ในขณะเดียวกันส่วนต่างๆ ของส้มยังสามารถผสมกันได้กลมกล่อม ดังนั้นส้มจึงเป็นตัวคุมรสชาติหลักของทาร์ตทั้งชิ้น แทนถึงความสามารถในการควบคุมและกำหนดทิศทางของงานได้ พร้อมกันนั้นดอกส้มและผิวส้มยังช่วยเพิ่มสัมผัสอื่นๆ ทั้งกลิ่นและรสขมที่แฝงเข้ามา สิ่งนี้แทนถึงการเปลี่ยนแปลงและการปรับให้เข้ากับบทบาทและหน้าที่ใหม่ๆ โดยยังคงความเป็นตัวเองและทำให้ภาพรวมของรสชาตินั้นมีสีสัน 

นอกจากส้ม ทาร์ตชิ้นนี้ยังมีครีมเกาลัด ที่โดยกายภาพของมันมีเปลือกหนาแข็งคลุมเนื้อด้านในที่นุ่มนวลและหอมหวาน สะท้อนอีกด้านของแชมป์ที่เป็นคนประณีต พิถีพิถัน ให้รายละเอียดกับเรื่องต่างๆ แต่ก็ให้ความนุ่มนวลและอ่อนโยนกับคนใกล้ชิดไปพร้อมกัน องค์ประกอบนี้ผสมกับ chai tea เพื่อให้ได้กลิ่นอายของความเป็นจีนและอินเดียผสมอยู่ นำไปสู่ความรู้สึกถึงความเป็นสิงคโปร์ ด้านบนประดับด้วยเจลลี่รูปทรงต่างๆ ที่วางฟิตกันได้พอดีแทนถึงการ well-planned ของหลากหลายสิ่งที่แชมป์ทำ ทั้งทำงาน เป็นนักแปล และยังวาดการ์ตูนไปได้ด้วยการจัดการเวลาอย่างดี

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชย์ สุนทโรสถ์

ช่างภาพหน้าหมี ผู้ชอบเพลงแจ๊สเป็นชีวิตจิตใจ