ไม่ใช่แค่แอพ K Plus หรอกที่แมส
วันนี้ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับหนุ่มก็กลับมาแมสอีกครั้งด้วยงานโฆษณาชิ้นล่าสุดที่ได้ยอดวิวหลักล้านในช่วงเวลาไม่นาน
ก่อนที่เต๋อจะทำงานแบบนี้ได้ เขาเป็นผู้กำกับที่คลุกคลีในวงการหนังนอกกระแสมาก่อน เก็บแต้มประสบการณ์ผ่านการทำงานหลายรูปแบบ ทั้งภาพยนตร์ หนังสือ นิทรรศการ โฆษณา วิธีทำงานเชิงทดลองของเขามีที่มาที่ไป ตกตะกอนมาจากการสัมผัสงานศิลปะหลายแบบ โดยเฉพาะหนัง 10 เรื่องในดวงใจที่ไม่ใช่แค่ดูแล้วชอบ แต่ยังหล่อหลอมตัวตน ส่งผลต่อวิธีทำงานจนถึงทุกวันนี้
เราจะพาไปดูว่าหนังทั้ง 10 เรื่องที่สั่งสมและสร้างให้เต๋อเป็นอย่างทุกวันนี้คือเรื่องอะไรและมันส่งผลต่อความคิดของผู้กำกับหนุ่มคนนี้ยังไงบ้าง
01 Run Lola Run (1998) / Tom Tykwer
“เราไปดู Jurassic Park ตอนปี 1994 ช่วงนั้นดูหนังฮอลลีวูดทั้งหลายแหล่ สนุกดี แต่เรารู้สึกว่าการทำหนังมันห่างจากเรามาก จนกระทั่ง 4 ปีต่อมาได้ดู Run Lola Run เรารู้สึกว่าแค่คนวิ่ง 3 รอบมันก็เป็นหนังได้ ไม่ต้องมีไดโนเสาร์หรือเรือไททานิคก็ได้ว่ะ ดูหนังเกี่ยวกับคนวิ่ง 3 รอบในสถานการณ์ที่ต่างกัน วิ่งช้าหรือเร็วไปนิดนึงชีวิตเปลี่ยน สนุกดี ตอนดูรู้สึกเหมือนเล่นเกมอยู่เลย”
“การได้รู้จักหนังอย่าง Run Lola Run และชอบมัน ทำให้เราเริ่มมองหนังเป็นเรื่องโครงสร้าง ไม่ใช่เนื้อเรื่องอย่างเดียว โครงสร้างอาจจะแข็งแรงกว่าเนื้อเรื่อง เราสามารถเอนจอยกับการดูหนังเรื่องเดิม 3 รอบ โดยมีสถานการณ์เปลี่ยนไปนิดหน่อยได้ แล้วรู้สึกว่ามันเชื่อมโยงกับชีวิตในเรื่องของเวลาได้ด้วย เช่น เรื่อง Run Lola Run เล่าว่าถ้าเรามาช้ากว่านี้อีกสักนิด ชีวิตเราอาจจะไปอีกทางแล้ว ถ้าเราไปที่นี่เร็วกว่านี้สักนิดนึง อาจจะโดนรถชนก็ได้”
“เราไม่รู้หรอกว่าหนังมันควรจะเป็นยังไง แต่มันดูแล้วก็สนุกเท่ากับ Titanic นี่หว่า อาจจะสนุกกว่าด้วยซ้ำ มันเหมือนปูโครงสร้างไอเดียนี้ไว้ว่าเราสามารถทำงานที่เล่นกับโครงสร้างแล้วมันสนุกได้ เราอยากทำหนังให้เป็นเหมือนเครื่องเล่นของคนดู ไม่ใช่เล่าเรื่องในหนังให้นุ่มนวล แต่เล่าให้สะดุด มันเหมือนประกอบเลโก้แบบใหม่หรือสร้างบ้านแบบประหลาด ชอบคิดว่าทำไมไม่เป็นแบบนั้นแบบนี้ มันทำให้เราคิดอะไรได้หลายๆ อย่าง ไอเดียนี้ปูให้กับการมองทุกๆ อย่างในชีวิต สมมติเข้ามาในร้านอาหารต้องมีประตู ทำไมเคาน์เตอร์ต้องอยู่ตรงนั้น มันจะเริ่มมองแบบนี้”
02 Mysterious Objects at Noon ดอกฟ้าในมือมาร (2000) / อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
“เราดูหนังอภิชาติพงศ์บ่อย มันคือหนังทดลอง ไม่มีเรื่อง หนังจะโชว์ว่าจะเป็นยังไงถ้าภาพพูดอย่างหนึ่ง เสียงมันเป็นอีกอย่าง ไม่ซิงก์กัน เราเกิดความรู้สึกอะไรระหว่างดู เหมือนบิดโครงสร้าง มันก็จะไม่ไปด้วยกัน จะเป็นยังไงถ้าเกิดภาพมันวิ่งทางซ้ายแต่เสียงวิ่งทางขวา เราว่าแบบนี้ก็สนุก เหมือนผสมสารเคมีในห้องทดลอง ถ้าเอา 2 สิ่งนี้มาบวกกันมันจะเป็นยังไง’
“เราดูหนังเขาตั้งแต่ตอนทำหนังสั้น มันสนุกดี ภาพอย่างเสียงอย่าง แล้วเราก็ได้มาดูหนังยาวอย่าง ดอกฟ้าในมือมาร เขาใช้โครงสร้างแบบต่อๆ กันในการเล่าเรื่อง มีความเป็นสารคดี มีตำนานของชาวบ้านที่เอาเรื่องจากวัฒนธรรมมาเล่าต่อกัน คอนเซปต์นี้สนุกและเป็นหนังได้จริง ตอนเด็กดูสนุกๆ ไม่คิดอะไรมาก แต่พอมาดูตอนโตเรารู้สึกว่ามันฮาร์ดคอร์มาก จังหวะหนังมันช้าจริงๆ”
“พอเราได้ดู สุดเสน่หา เรารู้สึกอิมแพกต์สัด หนังเปิดมาแล้วลุยเลย ผ่านไปครึ่งชั่วโมงไตเติลหนังเพิ่งขึ้น มันทำอย่างนี้ได้ด้วยเหรอ หรือหนังมีฉากเป็นป่า แต่ใช้เพลงป๊อปมาประกอบ ซึ่งมันไม่ควรมาอยู่ด้วยกัน ตอนนั้นเจอแล้วงงเลย อธิบายไม่ได้ว่าเซนส์นี้มันคืออะไร”
03 Songs from the Second Floor (2000) / Roy Andersson
“เราชอบหนังของรอย แอนเดอร์สัน หนังเขาเกิดจากการประกอบสร้างแน่นอน ปลอมทุกอัน คนหน้าขาว ฉากก็สร้างเอา ที่ชอบเป็นพิเศษเพราะมันมีความ observe คือพอมันเป็นหนังแนวสังเกตการณ์ คนดูเหมือนจะรู้ตัวว่ามองสิ่งนี้อยู่ จะไม่อิน แต่เราจะคิดเอา เหมือนดูภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจุดหนึ่ง ดูว่าเกิดอะไรบ้างในเหตุการณ์นี้ แล้วให้เราคิดเอาเองว่าจะโฟกัสอะไร เราจะคิดยังไงกับมันก็ได้ เหมือนเราเห็นเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นจริงๆ ถ้าเป็นหนังปกติ เหตุการณ์เกิดขึ้น กล้องต้องไปรับว่าผู้กำกับจะพูดอะไร ดูหน้าไอ้นี่สิ ต่อมาดูเลือดนะ มันรุนแรงมากเลย เหมือนผู้กำกับบังคับให้คนดูเห็นอันนี้และไม่ให้เห็นอันนั้น เห็นอะไรก่อนหรือหลัง”
“หนังของรอย แอนเดอร์สันคือการมองภาพกว้างๆ แบบเกิดเหตุ fuckๆ ขึ้นมาแล้วเรารู้สึกยังไงกับมัน มันมีความเป็นพระเจ้ามองมนุษย์อยู่นิดนึง พวกยูทำอะไรกัน มนุษย์นี้ช่างวุ่นวายจริงๆ เฝ้าสังเกตชีวิตของมนุษย์ทั้งปวง เป็นหนังประเภทที่ดูได้หลายๆ รอบเพราะไม่บังคับว่าให้ดูอะไร เราจะจำไม่ได้ว่าครั้งที่แล้วได้อะไรจากหนังเรื่องนี้ คล้ายการดูภาพถ่ายที่ในวันนี้เราอาจจะไม่ได้คิดอะไร แต่พอชีวิตผ่านไปอีกสองปีมาดูใหม่กลับรู้สึกอีกแบบ เพราะเราถูกจัดอยู่ใน observer”
“อีกอย่างคือมันตลก มันมีสถานการณ์ weird ขึ้นมาให้เราดู เหมือนคนทำถามเราอีกทีว่าคุณคิดยังไงกับเหตุการณ์นี้ โดยที่เขาไม่ได้บอกว่าควรคิดยังไง เป็นอารมณ์ขัน dead pan ที่มาจากแก่นเดียวกัน คือสังเกตการณ์ ไม่แสดงอารมณ์ แต่ขำเพราะไม่แสดงอารมณ์อะไรเลย แล้วพอไม่ได้แสดงอารมณ์อะไรมันทำให้เหตุการณ์ชัดขึ้น เหมือนคนทะเลาะกันอยู่ ถ้าเรามีอารมณ์ไปกับมัน เราอาจจะโกรธ แต่ถ้าไม่มี เราอาจจะคิดว่าทะเลาะกันทำไม บางทีอาจจะเป็นเรื่องนิดเดียว”
04 Rosetta (1999) / Jean-Pierre & Luc Dardenne
“เรื่องนี้พูดถึงคนเล็กๆ คนหนึ่ง แค่น้องคนนึงตกงาน แล้วมีชายคนนึงจากร้านขนมปังมาช่วย ปรากฏว่าไอ้คนนั้นมันโกง น้องคนนั้นเลยไปบอกเจ้าของร้าน เขาเลยถูกไล่ออก น้องคนนั้นเลยได้ขายขนมปังแทน เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็มีดราม่าในตัวเองได้ ไม่ต้องเป็นเรื่องผจญภัยเพื่อพิชิตใจเธอ ไม่ต้องขนาดนั้น ไม่ต้องมีการไปพิชิตใจ แค่การหาทางออกเล็กๆ น้อยๆ มันก็เป็นเรื่องราวสำหรับเราได้แล้ว”
“เป็นเรื่องของรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ มากกว่า อ่านข่าวสั้นๆ บางทีก็รู้สึกแล้ว ทำไมคนนี้มันตัดสินใจทำแบบนี้ ทำไมคนนั้นถึงทำอีกอย่างนึง การที่คนเราตัดสินใจจะทำอะไรสักอย่างนึงที่ไม่ปกติเลย มันก็เป็นสตอรี่สำหรับเราได้แล้ว”
“การชอบเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มันเชื่อมต่อมาให้เราสนใจหนังชีวิตเล็กๆ น้อยๆ หรือหนังสารคดีมากขึ้น เพราะมันไม่มีพล็อตอะไรมากมาย มันจะมีรายละเอียดว่าทำไมเขาถึงทำอะไรแบบนี้ ใช้ชีวิตแบบนี้ เวลาอ่านหนังสือ จะอ่าน non-fiction มากกว่าเรื่องแต่ง เพราะอ่านแล้วได้ข้อมูลเลยแล้วเอาไปสร้างภาพและเสียงเองในหัว ซึ่งก็คือนิสัยคนทำหนัง พวกหนังหรือหนังสือคือปลายทาง คนทำทำมาให้เสร็จแล้ว ทำซ้ำเขาก็ไม่ได้ มีวิธีเดียวที่จะทำให้ไม่เหมือนคือไปต้นทางแล้วไปคิดเอาเองว่าจะเล่ายังไง ไปหาข้อมูลมา ขโมยจากความจริงไม่ผิด ไม่มีใครว่า เราชอบไปอยู่กับความจริงที่เป็นต้นทางของข้อมูล”
05 Salaam Cinema (1995) / Mohsen Makhmalbaf
“เราชอบหนังอิหร่าน เพราะมีเรื่องพวกนี้ตลอด จริง-ไม่จริง กล้อง-ไม่กล้อง แล้วชีวิตมันจะเกี่ยวกับคนเล็กๆ น้อยๆ Salaam Cinema คือตัวอย่างเรื่องที่ชอบ จะเป็นการกลับไปกลับมาระหว่างจริงกับไม่จริง ซึ่งมันจะคล้ายๆ กัน บางทีเราชอบดูโครงสร้างว่ามันสร้างขึ้นมาจริงหรือไม่จริง”
“เนื้อหาคือเป็นการเปิดแคสติ้งหนังเรื่องใหม่ของผู้กำกับ ง่ายสัด โคตรอิหร่าน มันมีทั้งเรื่องจริงและไม่จริง คนที่เราดูอยู่เป็นนักแสดงหรือไม่ใช่นักแสดง เหตุการณ์ในหนังเป็นการเปิดแคสต์หนังจริงๆ ใช่มั้ย ฉากเปิดนี่จริงมาก คนมาสมัครเต็ม หลังๆ ไม่สนใจแล้ว ก็ดูว่าสตอรี่คนเป็นยังไง เหมือน Humans of New York มาก แต่อิหร่านทำก่อน บอกเหตุผลว่าทำไมมาสมัครเรื่องนี้ เขาก็เล่าเรื่องตัวเอง เช่น มีคนนึงบอกว่าที่อยากเล่นหนังคุณ เพราะหนังคุณน่าจะได้ไปคานส์ แล้วจะได้ไปฝรั่งเศส เพราะแฟนอยู่ที่นั่น ง่ายๆ อย่างนี้เลย ตอนหลังๆ เพื่อนทะเลาะกัน เป็นหนังแบบ social experiencement ซึ่งเราไม่รู้ว่ามันจริงหรือไม่จริง มันผสมกัน แต่มันก็เป็นหนังเรื่องนึง หนังชื่อ Salaam Cinema ไม่รู้จะตรงขนาดไหน หนังมันมีแค่นั้น ชีวิตคนเป็นยังไง คนอื่นคิดยังไง คนทำจะจัดเรียงยังไง อะไรเกิดขึ้นก่อนหรือเกิดหลัง”
“มันคือมุกที่คนยุคนี้คนเล่นจนน่วม อันนี้มาก่อน 20 ปี พอมาถึงยุคนี้เราเลยไม่ตื่นเต้นมาก ดูหนังอิหร่านตลอดจะมีแบบนี้หมด เช่น หนังเรื่อง The Mirror ถ่ายตัวละครน้องผู้หญิงอยู่ แล้วอยู่ดีๆ ตัวละครก็มองกล้องแล้วบอก กูไม่เล่นแล้ว จบ กลับบ้านเลย แล้วมีคนเอากล้องตามถ่ายนักแสดงคนนี้ว่ากลับถึงบ้านจริงหรือเปล่า ซึ่งเราไม่รู้เลยว่ามันสคริปต์หรือไม่สคริปต์”
06 Elephant (2003) / Gus Van Sant
“หนังที่สร้างจากเรื่องจริงจะชอบง่ายอยู่แล้ว แต่ที่ชอบ Elephant คือมันเอาแค่นี้เลย หนังเกี่ยวกับเหตุการณ์ในเช้าวันนึงที่มีการยิงกันตายในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ภาพจะมีแต่คนเดินไปเดินมา มันคือการ observe โดยแท้จริง เราจะได้สังเกตสถานที่ บรรยากาศ เหมือนเข้าไปเดินเล่นในโรงเรียนวันนั้น มันเป็นเรื่องของสถานที่และเวลา คุณต้องอยู่กับมันนานพอที่จะรู้สึกว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น เรารู้จักตัวละครนี้มาหนึ่งชั่วโมงแล้ว ก่อนที่ชั่วโมงถัดไปจะมีแต่ความฉิบหาย คุณจะรู้สึกมากขึ้นเมื่อคุณรู้จักคนนี้ ถ้าคุณอยู่กับตัวละครนี้นานพอ”
“หนังมันมินิมอลนิดนึง แล้วเราไม่คิดว่าเราจะดูได้ตอนแรก คนเดินเฉยๆ ทั้งเรื่อง จะดูได้ยังไง ปรากฏว่ามันดูได้ แล้วมันดีด้วย เรารู้สึกว่าของพวกนี้มันทำยาก เพราะมันไม่มีสตอรี่กลางไว้เชื่อมต่อกับคนดู พอเราเจอหนังที่เรารู้สึกกับมันได้ เราเลยชอบ มันไม่ใช่ทุกเรื่องที่เราจะรู้สึกแบบนี้ได้”
“หนังมันมีเซนส์การสังเกต ถ้าหนังของรอย แอนเดอร์สันคือการสังเกตโลกผิดๆ หนังเรื่องนี้คือการสังเกตเรื่องจริง เราว่ามนุษย์มีนิสัยการสังเกตการณ์หรือมองเฉยๆ อยู่แล้ว เวลาไปต่างประเทศ บางทีเราก็มองภูเขาไปเรื่อยๆ เวลาไปเที่ยวหัวหินก็ยืนดูวิวเฉยๆ ไม่มีเนื้อเรื่อง เราก็ยังชื่นชมมันได้ เพียงแต่พอมันเป็นหนัง ด้วยกฎของฮอลลีวูดที่ดูมาจนชิน หนังต้องพีค ต้องมีเรื่อง แต่เราโตมาสองแบบก็เลยรู้ว่ามันมีทั้งสองอย่าง”
07 Vanilla Sky (2001) / Cameron Crowe
“เราชอบ Vanilla Sky เพราะคิดว่าสิ่งไหนจริง สิ่งไหนไม่จริงอยู่บ่อยๆ บางครั้งเราอยู่ในสภาพที่ชีวิตจริงเป็นทุกข์ เราต้องสร้างความจริงที่สองขึ้นมาอยู่กับมัน แต่ว่าใน Vanilla Sky มันเป็นรูปธรรม ทำให้ตัวตายไปแล้วเอาความคิดไปอยู่ในอีกโลก อยู่กับความจริงสมมติที่สร้างขึ้น ก็เหมือนที่เราชอบพูดอยู่บ่อยๆ เราจะอยู่กับความจริงจริงๆ หรือความจริงที่สมมติ คนเราจะใช้ชีวิตแบบไหน ความฝันปลอมๆ หรือความจริงที่โหดร้าย เรารู้สึกอินกับอะไรพวกนี้ เรื่องบางเรื่องมันไม่มีวันจะเกิดขึ้นแหละ มันเจ็บปวดประมาณนึง เพราะในชีวิตเราไม่ใช่ว่าฝันแล้วมันจะเป็นจริงเสมอไป”
“พอถึงตอนท้ายๆ มันก็จะบอกว่าไอ้ความฝันที่ถูกสร้างขึ้นมา มันก็มาจากตัวเราเองทั้งนั้น บรรยากาศภาพแบบนี้มันมาจากภาพแบบที่เราชอบ ซึ่งจริงๆ มันคล้ายกับเวลาเราทำหนังพอสมควร แต่ละฉากมันก็จะมาจากความทรงจำของเรา จากสิ่งที่เราเคยเห็น ภาพที่ชอบ เพลงที่ฟัง หนังแต่ละเรื่องที่ทำค่อนข้างส่วนตัว บางเรื่องในหนังเราอาจจะเคยทำผิดในชีวิตจริงแล้วแก้ไขไม่ได้ เราก็ไปแก้ในหนัง หนังที่ทำก็เหมือนความฝันหรือสิ่งที่สร้างขึ้นจากตัวเรา เรื่องในชีวิตเรา รสนิยม ที่ที่เคยไป เรารู้สึกว่ามันค่อนข้างใกล้กัน”
08 Before Sunset (2004) / Richard Linklater
“เหตุผลที่ชอบจะคล้ายๆ Elephant ที่ไม่ค่อยมีโครงเรื่องเท่าไหร่ แต่อันนี้จะเน้นบทพูดของตัวละคร เราชอบดูคนคุยกัน ดราม่าบางอย่างเกิดจากการตอบผิดไปคำเดียว หลุดคำนี้ออกมาชีวิตเปลี่ยนเลย คนที่ไม่ลงรอยกันเพราะเคยพูดอะไรไว้ เป็นเรื่องนิดๆ หน่อยๆ ในชีวิต”
“อีกข้อที่ชอบหนังชุด Before คือมันเป็นเรื่องเวลา หนังถ่ายตามเวลาจริง หนังชุดนี้มี 3 เรื่อง Before Sunrise, Before Sunset, Before Midnight แต่ละเรื่องห่างกัน 7 ปี เอานักแสดงคนเดิมมาเล่น อายุเปลี่ยนเหมือนในเรื่อง ผู้กำกับชวนเขามาเขียนบทด้วย มันเลยมีเรื่องของเขาเองอยู่ในหนังส่วนหนึ่ง มันครอสกันไปหมด สิ่งที่ตัวละครพูดคงเป็นเรื่องจริงส่วนหนึ่งจากนักแสดง”
“เรารู้สึกว่าเราจะชอบดูอะไรแบบนี้ ก็ชีวิตน่ะ มันทำอะไรไม่ได้ เราสนใจเรื่องเวลา การทำหนังก็สัมพันธ์กับเวลาอยู่แล้ว หนังมันคือการบันทึก หยุดเวลาเอาไว้ คนที่ถูกถ่ายทำหนังในปี 2000 ก็จะอยู่ในจุดเวลานั้น ผ่านไป 10 ปี ถ้าไม่มีหนังก็จะเปรียบเทียบไม่ได้ว่าคนนี้เปลี่ยนไปยังไงบ้าง มันสัมพันธ์ไม่มากก็น้อย หรือการตัดต่อหนังมันก็คือการจัดการเวลาว่าคนดูควรจะเห็นภาพนี้นานแค่ไหน เหตุการณ์ในเรื่องผ่านไปกี่วัน”
09 Adaptation (2002) / Spike Jonze
“หนังที่เขียนโดยชาร์ลี คอฟแมน มันจะโครงสร้างมากๆ เป็นฉันซ้อนฉันซ้อนฉันอีกที มีหลายเลเยอร์มาก ดูแล้วสนุก หนังทุกเรื่องที่เขาเขียนจะเป็นตัวเองหมดเลย อย่างใน Adaptation มันเกี่ยวกับตัวเขาเองที่เขียนบทจากหนังสือเล่มนี้ไม่ออก แล้วได้ไอเดียว่าทำไมกูไม่ทำหนังเกี่ยวกับกูที่เขียนบทจากหนังสือเล่มนี้ไม่ออกวะ เราชอบงานของเขา มันดูแจ๋วดี”
“ชอบ Adaptation เพราะว่านี่คือเราตอนเขียนบทแหละ เรารู้สึกว่าอย่างนี้ก็ได้หรอ เขียนบทจากการที่คิดบทไม่ออก ก็เลยรู้สึกว่าถ้าอยากรู้ว่าตอนเขียนบทเป็นยังไง ก็ให้ไปดูหนังเรื่องนี้ มันจะมีช่วงที่คิดงานไม่ออก แล้วภาพตอนคิดงานไม่ออกจะมีเสียงลอยมาในหัวอย่างนี้แหละ ต้องเจอคนที่ทำงานไหลลื่น แล้วต้องเศร้าเพราะคิดไม่ออก แล้วสุดท้ายมันก็ตลกเพื่อที่จะทำให้หนังมันสนุก มีฉากรถชน ไม่ไล่ล่าฆาตกรรม เหมือนล้อตัวเองนิดนึง มันคือชีวิตของคนนี้แหละ ในขณะเดียวกัน โครงสร้างหนังก็ล้อเลียนตัวมันเองอยู่”
10 I’m Not There (2007) / Todd Haynes
“I’m Not There เป็นหนังเล่าเรื่อง Bob Dylan ที่ใช้นักแสดงที่ต่างกันหลายคนมารับบทเป็นบ๊อบในแต่ละช่วงเวลา”
“อันนี้ก็เป็นเรื่องจริงกับไม่จริง แต่เป็นในระดับชีวิต เกี่ยวกับการที่คนเรามีหลาย persona พอเราดำเนินชีวิตไปสักพัก พอเราทำงานพวกนี้ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ปะทะกับคนทั้งโลก เราจะมีตัวตนอยู่ประมาณ 100 เวอร์ชั่นที่มาจากปากคนต่างๆ ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง แต่เราทำอะไรไม่ได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่คนอื่นมองเราในมุมที่ไม่เหมือนกัน เวลาใครมองเรา จะไม่ใช่หน้าเราตอนนี้ แต่เราไม่รู้หรอกว่าเขาเห็นอะไร ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความสัมพันธ์ของเขาที่มีต่อเรา และมันคงไม่เหมือนเรามองกระจกด้วย เพื่อนเราสมัยก่อนก็คงมองเห็นเราเป็นเราตอน ม.3 เพียงแต่จะผสมกับความเป็นจริงตอนนี้ แต่คนที่รู้จักเรามา 5 – 6 ปี ก็จะมองไปอีกอย่าง มันจะเป็นอีกแบบนึง”
“แต่หนังมันสุดกว่านั้น มันเปลี่ยนไปเลย ไม่ใช่แค่เอาคนหน้าคล้ายบ๊อบ ดีแลน แต่เป็นคนละคนไปเลย เพราะสำหรับบางคนที่ไม่ได้ฟังเพลงของบ๊อบ เขาอาจจะเป็นแค่ลุงคนนึง บ๊อบ ดีแลนแล้วไง ก็แค่ลุงคนนึงที่ไม่ค่อยพูดมาก กับอีกคนนึงที่เห็นเขาเป็นพระเจ้าเพราะชอบงานเพลงเขามาก เขาพูดอะไรก็ดีไปหมด กับอีกคนนึงเกลียดบ๊อบ เพราะเคยถูกเขาทิ้ง คนที่เคยถูกเขาพูดไม่ดีใส่ก็จะมองเขาต่างจากคนที่เขาพูดดีด้วย คนก็จะมองเขาต่างกัน”
“หนังมันเหมาะกับดีแลนด้วยแหละ เพราะแนวเพลงเขาเปลี่ยน ยุคแรกๆ ร้องอย่างนี้แต่ยุคหลังร้องอีกอย่าง เราชอบไอเดียเรื่องนี้ แค่ชื่อหนังกับคอนเซปต์ก็ดีแล้ว เราไม่รู้ว่าเขาคิดกับเรายังไง หรือเราเห็นคนนี้ก็ไม่รู้ว่าใช่เขาจริงหรือเปล่า เราจะเห็นเขาแค่เท่าที่เรามีข้อมูลเกี่ยวกับคนนั้น อาจจะแค่ 25 เปอร์เซ็นต์ หรือ 80 เปอร์เซ็นต์จากตัวเขาทั้งหมดก็ได้ เราคิดว่าเรารู้จักเขาเยอะแล้ว แต่จริงๆ อาจจะน้อยก็ได้”
“แล้วเรารู้สึกว่ามันซิงก์กับในชีวิตจริง ทั้งในมุมที่เรามองคนอื่นและที่คนอื่นมองเรา มันกลับไปเรื่องเดียวคือเรื่องความจริง แล้วอย่างงี้อะไรคือเรา ถูกใจประเด็นนี้มาก เราจะรู้สึกเสียดายที่เขาเอาไอเดียนี้ไปแล้ว เราอยากทำเรื่องนี้มากแต่ทำไม่ได้ เพราะเขาเอาไปแล้ว”
“เวลาเราทำหนัง ตัวละครแต่ละคนก็เป็นส่วนหนึ่งของเรา ยุ่น หมออิม หรือเจ๋ ใน ฟรีแลนซ์ฯ ก็คงเป็นเราประมาณนึง อาจจะไม่ใช่เราทั้งหมด บางที persona มันถ่ายเทกัน เราเมื่อ 5 ปีที่แล้วอาจจะเหมือนทรายใน 36 แมรี่ใน Mary Is Happy, Mary Is Happy อาจจะเหมือนเราตอน ม.6 หนังแต่ละเรื่องมันคือแต่ละยุคของเรา”