ทริปน่านคราวนี้ นอกจากตระเวนไหว้พระ ปั่นจักรยานชมเมือง หรือแวะไปทักทายเหล่าแม่ๆ ป้าๆ ที่ศูนย์การเรียนรู้วิถีชีวิตพื้นบ้านแบบคนน่านแต๊ๆ ที่น่านนครแห่งนี้ยังมีไร่โกโก้อินทรีย์ด้วย
หนึ่งชั่วโมงจากสนามบินน่านนคร รถยนต์ของคุณลุงชาวน่านแสนใจดีก็พาเรามาถึงอำเภอปัว ที่ตั้งของ Cocoa Valley Resort และ Cocoa Valley Cafe การมาเยือนของเราพิเศษขึ้นทันทีที่เจ้าบ้านคนสำคัญ คุณนูญ-มนูญ ทนะวัง ให้การตอบรับเราอย่างอบอุ่น
สถานที่ที่ผสมความชอบและความฝันเข้ากันอย่างลงตัว
3 ปีก่อน คุณนูญในคราบคนทำงานบริษัทแท่นขุดเจาะน้ำมันสัญชาติอเมริกาตั้งคำถามกับประสบการณ์ทำงานและผลตอบแทนตลอด 16 ปีที่ตัวเองได้รับมาว่า ‘ชีวิตของเขามีความหมายแค่นี้จริงๆ หรือ’ ความสำเร็จและเงินทองที่มีไม่ได้เป็นคำตอบและความสุขสูงสุดของชีวิต เจ้าตัวจึงตัดสินใจลาออกจากงาน พร้อมกับพาครอบครัวกลับมาอยู่บ้านเกิดตัวเองที่อำเภอปัว
“เราอยากพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่มีความสุข ขณะเดียวกันก็อยากทำอะไรที่เรารักโดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ เราเริ่มรีโนเวตธุรกิจรีสอร์ตเก่าของที่บ้าน รีสอร์ตในอดีตมันเป็นแค่ที่นอนตอนกลางคืน ตื่นเช้ามาอีกวันแล้วก็ไป เลยตัดสินใจทำสิ่งที่เราชอบอีกอย่าง เราชอบกินโกโก้มาก เลยเอาสองสิ่งนี้มารวมกันเป็นจุดเริ่มต้นของ Cocoa Valley Resort และ Cocoa Valley Cafe”
ก่อนที่คาเฟ่โกโก้จะเป็นรูปเป็นร่างขึ้น คุณนูญเลือกที่จะรีโนเวตรีสอร์ตเก่าของที่บ้านก่อน ห้องพักของที่นี่ออกแบบมาเพื่อให้คนพักได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เพดานยกสูงทำให้ห้องพักดูโปร่งสบาย และกระจกใสบานใหญ่กั้นระหว่างห้องนอนและผืนป่าสีเขียวด้านนอก
ภายในห้องเน้นตกแต่งด้วยวัสดุไม้ ผ้าทอฝีมือคนในท้องถิ่น กระเบื้องลายวินเทจที่ส่งตรงมาจากจังหวัดเพื่อนบ้านอย่างแพร่ และผนังอิฐสีขาวที่ขับของตกแต่งง่ายๆ อย่างต้นไม้ในกระถางให้เด่นสะดุดตา
ทุกๆ ห้องพักตั้งอยู่ในตัวอาคารที่ยื่นจากเชิงเขา มองจากระเบียงก็จะเห็นดอยภูคาที่ทอดตัวรับสายตาเราอย่างพอดี ยิ่งในวันที่มีแสงแดดจากท้องฟ้า หรือหมอกบางตาที่เผยตัวหลังสายฝนที่โปรยปรายหยุดลง สวยอย่าบอกใครเชียว
ผลโกโก้ที่เจริญงอกงามด้วยฝีมือคนในครอบครัว
หลังจากที่ธุรกิจเริ่มเข้าที่ คุณนูญก็ได้นำสิ่งที่ตัวเองศึกษาอย่างจริงจังอย่างการปลูกต้นโกโก้มาลงมือทำ แม้ว่าโกโก้จะไม่ใช่พืชท้องถิ่นในจังหวัดน่าน แต่ใบและผลที่เจริญเติบโตอย่างสวยงามมาตลอดระยะเวลา 3 ปีก็พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าสิ่งไหนที่ทำด้วยใจ ผลลัพธ์มันจะออกมาดีเสมอ
“เราลงมือปลูกมันด้วยตัวเองกับภรรยา ลูกๆ สองคน และพ่อแม่ โกโก้เป็นพืชที่ต้องการน้ำเยอะ โชคดีที่แต่ละสวนติดกับแหล่งน้ำธรรมชาติหมดเลย อำเภอปัวดีตรงที่มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี เพราะมีตาน้ำแม่น้ำปัวอยู่บนภูเขาและกระจายสาขาไปทั่วเมือง ไม่ว่าจะปลูกอะไรก็งามไปหมด
“พอปลูกเอง ขั้นตอนการปลูกของเราก็เลยค่อนข้างละเอียด ตั้งแต่ขุดหลุม โรยกากมะพร้าว ใส่ปุ๋ยคอก และเอาต้นกล้าลงปลูก โกโก้ของเรามีมาตรฐาน Earth Safe จากมูลนิธิรักษ์ดิน รักษ์น้ำ เราปลูกตามวิถีเกษตรอินทรีย์ พอไม่ใช้สารเคมีมันก็ปลอดภัยกับคนปลูกอย่างเราด้วย”
นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้สัมผัสกับผลโกโก้ของจริง ผลของมันมีลักษณะกลมเรียว ขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือ (จริงๆ ขนาดขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น) คุณนูญเด็ดผลสดๆ จากต้นและหั่นเปลือกอย่างชำนาญเพื่อให้เราลองชิมรสเมล็ดสีขาวนวลด้านใน ในเชิงอุตสาหกรรม กว่าที่เราจะได้ผงโกโก้มาเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มและขนมที่เราโปรดปราน เจ้าเมล็ดพวกนี้จะต้องผ่านกระบวนการแปรรูป พร้อมกับใช้แรงงานคนที่มีความเชี่ยวชาญมากมาย
เบื้องหลังของขนมและเครื่องดื่มรส bitter sweet
“นอกจากการปลูก เราก็ศึกษาเรื่องการดัดแปลงและแปรรูปเจ้าโกโก้พวกนี้ด้วย เราตั้งใจให้ผลโกโก้ที่เราปลูกถูกแปรรูปมาเป็นขนมและเครื่องดื่มในคาเฟ่ของเรา เบื้องหลังของโกโก้มีเรื่องราวอยู่เต็มไปหมดเลย พอขลุกกับเรื่องพวกนี้ เราเลยยิ่งชอบเสน่ห์ของมัน” จะว่าไปแล้วคอนเซปต์ของคาเฟ่โกโก้ที่นี่เหมือนกับร้านกาแฟที่โฟกัสเรื่อง specialty coffee อยู่กลายๆ
คุณนูญหยิบของเหลวโกโก้สุดเข้มข้นที่เจ้าตัวใช้เป็นเบสทำเครื่องดื่มและขนมในร้านมาให้เราชิม รสของมันมีความขมและมีบอดี้ที่หนักมาก เมนูที่มีส่วนผสมของโกโก้ในร้านทั่วไปจะเลือกใช้ผงโกโก้ที่เป็นของแห้ง แต่ที่นี่ใช้เป็นของเหลวแทน เจ้าตัวแย้มว่า เขาเป็นคนลงมือคิดค้นและทดลองสูตรนี้ด้วยตัวเอง แถมยังใช้เวลาอีกหลายเดือนเพื่อเรียนรู้สูตรทำเมนูเครื่องดื่มและขนมทั้งหมดของร้าน
“คนชอบคิดกันว่าการกินช็อกโกแลตทำให้อ้วน จริงๆ ไขมันโกโก้เนี่ยมีประโยชน์มากเลยนะ เพราะเป็นไขมันดี การได้กินโกโก้แท้ๆ ร่างกายของเราจะเผาผลาญมันได้ง่ายมาก
“คนทั่วไปอาจไม่ค่อยรู้ว่าการแปรรูปเมล็ดโกโก้คือการสกัดไขมันโกโก้ออกเพราะส่วนนี้ขายได้ราคาแพงที่สุด แล้วเอาส่วนที่เหลือหรือกากมาทำเป็นผงโกโก้ขาย ดังนั้นช็อกโกแลตที่เรากินในท้องตลาดก็คือผงโกโก้ที่ผสมกับน้ำมันราคาถูก อย่างน้ำมันปาล์มหรือไขมันจากพืชชนิดอื่นเพื่อลดต้นทุน กลายเป็นว่าให้โทษกับร่างกายคนกินแทน เราเลยตั้งใจไว้ว่าโกโก้ที่ใช้ในเมนูของร้านเราจะไม่ดึงไขมันแท้ๆ ของเขาออก”
ที่นี่เสิร์ฟเครื่องดื่มโกโก้หลายระดับความเข้มข้นทั้งเมนูร้อนและเย็น รวมทั้งเมนูกาแฟอย่างมอคค่าที่ใช้โกโก้แท้เป็นส่วนผสม มอคค่าของที่นี่จึงมีบอดี้ที่ค่อนข้างหนัก แต่ให้ความมันและรสชาติอร่อยกลมกล่อมมากๆ
สิ่งที่ขาดไม่ได้คือเมนูขนมหวานไม่ว่าจะเป็นเค้กช็อกโกแลตลาวาเยิ้มๆ โกโก้ฟองดู บราวนี่เนื้อแน่นรสเข้ม ช็อกโกแลตโดมเมนูสนุกของเด็กๆ และช็อกโกแลตบาร์ที่มีความเข้มข้น 84 เปอร์เซ็นต์ ให้เราได้สัมผัสรสช็อกโกแลตแท้ๆ แบบเต็มคำ
ความรักความชอบของพวกเขายังไม่หมดอยู่แค่นี้ ภรรยาของคุณนูญก็ได้ทำโปรดักต์บำรุงผิวออกมาขายด้วย เนื่องจากไขมันโกโก้เป็นไขมันละเอียดที่ซึมเข้าสู่ผิวได้ดี พวกเขาจึงทดลองแยกไขมันโกโก้ คิดค้นเป็นครีมทาผิว ครีมทามือ และสบู่น่าใช้ เพิ่มคุณค่าให้กับผลผลิตจากไร่ของพวกเขา
ความยั่งยืนของใจที่อยากแบ่งปัน
เป็นเวลาเกือบชั่วโมงที่คุณนูญนั่งสนทนา เปิดโลกของโกโก้ให้เราได้รู้จัก แววตาที่เต็มไปด้วยความสุขของเขาทำให้เราตัดสินใจยิงคำถามสุดท้ายว่า แล้วทุกวันนี้คุณเจอความหมายของชีวิตตัวเองแล้วหรือยัง?
“เราคิดว่าตอนนี้เราเจอคำตอบนั้นแล้ว เราอยากเกิดมาเพื่อทำความดี ทำธุรกิจที่พอเลี้ยงตัวเองได้ และทำประโยชน์ในคนอื่นๆ เท่าที่ตัวเองพอจะทำได้ คือบางครั้งคนเราคิดถึงแต่ตัวเอง อยากได้รถหรู อยากได้บ้านหลังใหญ่โต จนไม่ได้คิดที่จะทำเพื่อคนอื่น ถ้าเราเกิดมาเพื่อรอเสพความสุข ใช้ทรัพยากรของโลกให้หมด แล้วก็รอวันที่ตัวเองตายจากไป เรารู้สึกว่ามันเป็นชีวิตที่ไม่มีความหมายอะไรเลย
“ปีนี้เราพยายามให้ชาวบ้านลองปลูกโกโก้ อีกสามปีข้างหน้าถึงจะเก็บเกี่ยวได้ เราตั้งใจไว้ว่าจะรับซื้อโกโก้ของชาวบ้าน เพราะโกโก้ให้ผลทั้งปี อย่างน้อยก็ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้และมีชีวิตที่ดีขึ้นบ้าง”
Cocoa Valley Cafe
address : 339 หมู่ 8 ตำบลปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน
hours : เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 10:00 – 18:00 น.
tel : 063 791 1619