aircraft คราฟต์โคล่าที่เชื่อว่าโคล่าเย็นๆ ซ่าๆ เหมาะกับอากาศเมืองไทยที่สุด

Highlights

  • aircraft คือแบรนด์คราฟต์โคล่าของ กิฟ–ณัฐธิดา วงศ์มหาศิริ ที่เธอเปิดตำราและลงมือทำด้วยตัวเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่เลือกวัตถุดิบ ไปจนถึงการฝานเปลือกมะนาว
  • โคล่าเป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมหลักคือซินนามอน วานิลลา และเลมอน ทำขายขึ้นมาครั้งแรกในร้านขายยา มีคุณสมบัติขับลมและช่วยย่อย
  • การต้มโคล่าให้ออกมาอร่อยกลมกล่อมนั้นไม่ง่าย เพราะอาศัยจังหวะเวลาและอุณหภูมิในการใส่ส่วนผสมแต่ละชนิดที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน

1.

“ถ้าเอาโคล่ายี่ห้อดังมาตั้งเทียบกับของเรา กินแล้วรสชาติก็ไม่เหมือนกันนะ แต่ทุกคนก็รู้สึกว่ามันคือโคล่า”

หญิงสาวผมสั้นประบ่าเล่าถึงเครื่องดื่มสีน้ำตาลเข้มอัดแก๊สที่เกิดจากฝีมือของเธอด้วยดวงตาเป็นประกาย

aircraft คือแบรนด์คราฟต์โคล่าที่เริ่มต้นจากการเป็นโปรเจกต์ส่วนตัวของ กิฟ–ณัฐธิดา วงศ์มหาศิริ และเปิดตัวขึ้นมาเป็นครั้งแรกในงาน Bangkok Design Week 2019 ช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะคุ้นเคยกับโคล่าสำเร็จรูปที่ถูกบรรจุและอัดแก๊สมาในกระป๋องหรือในขวดออกมาจากโรงงาน แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเจ้าน้ำสีเข้มรสชาติหวานนี้คืออะไร และอาจแปลกใจตอนที่รู้ว่า โคล่าเป็นสิ่งที่สามารถทำขึ้นมาเองได้ที่บ้าน

กิฟเล่าให้เราฟังว่า โคล่าจัดเป็นน้ำโซดาอย่างหนึ่ง มีจุดเริ่มต้นในร้านขายยา เกิดจากการที่เภสัชกรทำไซรัปจากเครื่องเทศ สมุนไพร มีคุณสมบัติช่วยย่อย ขับลม โดยมีส่วนผสมหลักอยู่สามชนิดคือ ซินนามอน วานิลลา และผลไม้ตระกูลซิตรัส และส่วนผสมอื่นๆ ตามต้องการ แล้วผสมเข้ากับน้ำ อัดแก๊ส โดยในช่วงแรกจะนิยมใส่ถั่วโคล่าที่ไม่มีรสและกลิ่นเพื่อให้มีส่วนผสมของกาเฟอีน ทำให้เป็นที่มาของชื่อโคล่า

“ปัจจุบันมีทั้งคนที่ยังใส่ถั่วโคล่าและไม่ใส่แล้ว เราไม่ได้กินโคล่าเพราะถั่วโคล่า แต่เรากินสิ่งอื่นที่ประกอบขึ้นมาเป็นโคล่า” เธออธิบายเพิ่มเติมว่าสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำที่เราเห็นนั้น อาจจะมาจากเครื่องเทศอย่างซินนามอนและส่วนผสมอื่นๆ หรือบางสูตรก็มาจากบราวน์ซอสหรือสีผสมอาหารนั่นเอง

2.

“ถ้าปรัชญาความสุขฮุกกะของเดนมาร์กอธิบายถึงการกินโกโก้ร้อนใต้แสงเทียนในวันหิมะตก ฮุกกะของเราก็ต้องเป็นการกินโคล่าเย็นซ่าในวันแดดเปรี้ยง”

หญิงสาวผมสั้นประบ่าเล่าถึงความชื่นชอบในเครื่องดื่มสีน้ำตาลเข้มอัดแก๊สด้วยความกระตือรือร้น ก่อนจะอธิบายเพิ่ม

“เวลาที่เหนื่อย คิดงานไม่ออก เครียด กินโคล่าแล้วเราจะรู้สึกดี มันเปลี่ยนมู้ดเราได้ เลยชอบมันเป็นพิเศษ”

เพราะดื่มโคล่าอยู่บ่อยๆ กิฟจึงเริ่มเกิดความสนใจศึกษาโคล่าอย่างจริงจังและตัดสินใจลองต้มโคล่าไซรัปในสูตรของตัวเองออกมา โดยเริ่มจากการซื้อหนังสือตำราโซดามาลองทำตามเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน

“วิธีการจะเริ่มจากการต้มน้ำตาลกับน้ำให้เป็นไซรัป แล้วก็ค่อยใส่เครื่องเทศลงไป ซินนามอนจะทนทานต่อความร้อน ต้มนานได้ ก็จะใส่ก่อน วานิลลาเราใช้เป็นแบบบีนเพสต์ที่มีความข้น หนืด ต้องใส่ช่วงที่น้ำเดือดไม่งั้นจะไม่กระจายทั่วหม้อ ส่วนพวกซิตรัสใส่ท้ายสุด เพราะมันจะถูกทำลายด้วยความร้อนง่าย ถ้าใส่ก่อนกลิ่นจะน้อยลง ต้องรอปิดเตาแล้วค่อยใส่”

แต่กว่าจะเล่าได้เป็นฉากๆ อย่างทุกวันนี้ กิฟก็ลองผิดลองถูกมาไม่รู้กี่ครั้ง อย่างในหม้อแรกสุด เธอดื้อไม่ทำตามสูตรในหนังสือจนออกมาคล้ายน้ำส้มต้มใส่ซินนามอน จนต้องเททิ้งไปในที่สุด

“เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอย่าอีโก้ในสูตรอาหาร ลองทำตามเขาไปก่อน แล้วค่อยมาปรับตามที่ต้องการทีหลัง”

เมื่อทดลองทำไปเรื่อยๆ กิฟก็พบว่าการจะทำโคล่าให้ออกมากลมกล่อม ไม่ให้มีรสชาติไหนกระโดดออกมาเป็นพิเศษ ก็ขึ้นอยู่กับเวลาการต้มด้วยเหมือนกัน

“แรกๆ ไม่ได้ทิ้งซินนามอนไว้ในโถข้ามคืน แต่หลังๆ ลองทิ้งเอาไว้ ขโมยหลักการมาจากกาแฟ cold brew ที่ต้องแช่ไว้ข้ามคืนเพื่อให้กลิ่นชัดขึ้น ปรากฏว่ามันดีกว่า เสถียรขึ้น เหมือนกับขาหมูพะโล้ที่เวลาทำวันแรกจะยังไม่อร่อย” เธอเปรียบเทียบให้ฟัง

พอได้โคล่าไซรัปออกมาแล้ว กิฟก็จะนำไซรัปมาผสมกับน้ำ เขย่าน้ำแข็งให้เย็น แล้วใช้เครื่อง soda streamer อัดแก๊สลงไปในน้ำ ซึ่งก่อนอัดแก๊สเธอจะเขย่าเครื่องดื่มกับน้ำแข็งให้เย็นเฉียบที่สุดเพื่อให้โคล่าซ่า เพราะหากอุณหภูมิไม่เย็นพอ แม้จะอัดแก๊สเข้าไปได้แต่จะไม่ซ่าสมใจ นอกจากการใช้เครื่อง soda streamer ก็ยังมีวิธีการอื่นๆ ในการอัดแก๊สลงในน้ำเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการผสมกับโซดาขวดแบบเครื่องดื่มอิตาเลียนโซดา หรือการเลี้ยงยีสต์เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์เป็นแก๊ส หลักการเดียวกับการหมักเบียร์ แต่ละวิธีก็จะให้ผลลัพธ์ความซ่าและรสชาติที่แตกต่างกันออกไป

3.

จากที่ต้มกินเองที่บ้านอยู่คนเดียว ในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา กิฟก็ตัดสินใจนำออกมาวางขายเป็นเมนูพิเศษในร้านกาแฟ Roastology ศาลาแดงซอย 1 ที่เปิดร่วมกันกับสามี ภายใต้ชื่อ ‘Kofi-Cola’

โคล่าสูตรนี้ของกิฟใช้ส่วนผสมเกือบ 20 ตัว ซึ่งกิฟให้ความสำคัญกับการเลือกวัตถุดิบออร์แกนิกและเป็นของพื้นถิ่น เช่น มะกรูด มะนาว เปลือกส้ม น้ำตาลที่ใช้ก็มีทั้งน้ำตาลอ้อย น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลโตนด ผสมกันสามชนิด และมีส่วนผสมพิเศษอันเป็นที่มาของชื่อเมนู คือกาแฟ ที่ใส่เพื่อให้สี เพิ่มความเข้มข้น ให้กาเฟอีน ซึ่งกาแฟก็เป็นกาแฟที่ใช้อยู่ในร้าน

“ความยากมันอยู่ที่การทำให้รสชาติเหมือนเดิมตลอดเวลา ทั้งที่ส่วนผสมอาจจะไม่เหมือนเดิม มีช่วงหนึ่งรู้สึกว่าทำไมโคล่าเรามันสมุนไพรจัง กลิ่นนี้มาจากไหน ต้องตัดบางตัวที่คิดว่าเป็นสาเหตุตอนทำ จนสุดท้ายพบว่ามาจากลูกผักชีที่ระดับการคั่วมันไม่เท่ากับของเดิมที่ใช้ เขาคั่วมาไม่เท่ากัน เราก็ต้องคั่วเพิ่มแล้วทำใหม่”

เมื่อตั้งใจว่าจะไปขายที่งาน Bangkok Design Week 2019 กิฟจึงตัดสินใจตั้งแบรนด์ขึ้นมาใหม่สำหรับเครื่องดื่มโคล่าของเธอโดยเฉพาะ โดยตั้งชื่อ aircraft ที่มาจากคำว่า air + craft ออกมาเป็นเครื่องดื่มคราฟต์อัดอากาศ และยังชวนให้นึกถึงน้ำจรวดสมัยก่อนอีกด้วย โดยในงานนอกจากจะมีโคล่าที่เปลี่ยนชื่อเป็น Signatured Cola แล้ว กิฟก็ยังทำโซดารับเชิญอีกสองตัวคือ พิงค์มะเน็ด หรือกุหลาบมะกรูด และส้มจี๊ดโมฮิโต้ ซึ่งเทียบได้กับน้ำอัดลมสีใสและสีส้มที่เราเห็นกันบ่อยๆ นั่นเอง

“กุหลาบมะกรูดมาจากที่เราชอบมะกรูด ทุกคนจะรู้สึกว่ามะกรูดน่ากลัวกว่ามะนาวทั้งที่จริงๆ มันเปรี้ยวเท่ากัน พอมาใส่กับกุหลาบมันก็ส่งเสริมกัน ลดกลิ่นแรงของมะกรูดด้วยกลิ่นกุหลาบ ส่วนส้มจี๊ดคือมันมีกลิ่นรสที่น่าสนใจ คือรสตรงปลายจะมีกลิ่นแตงกวาหน่อยๆ ทำให้รู้สึกถึงโมฮิโต้ที่บางครั้งจะฝานมิ้นต์กับแตงกวาลงไปด้วยให้รู้สึกเย็น” เธออธิบาย

ในวันแรกที่ออกร้าน กุหลาบมะกรูดของกิฟขายไม่ดีเท่าไหร่ เธอจึงคิดขึ้นมาได้ว่า คนเลือกกินน้ำโซดาจากกลิ่น ในวันที่สองเธอจึงน้ำขวดเล็กๆ ใส่ไซรัปให้คนได้ทดลองดม ผลคือเธอขายดีขึ้น

“ความพิเศษของโซดา คือเราดื่มกลิ่นนะ เพราะพื้นฐานมันคือน้ำตาล แบ่งรสชาติได้สองแบบคือโซดาที่หวาน กับโซดาที่หวานอมเปรี้ยว รสมันไม่ได้แตกต่างกันมาก” กิฟบอก

แน่นอนว่าโคล่าขายดีที่สุด

“สาเหตุที่โคล่าทำให้คนรู้สึกดีกับมัน ก็อาจเพราะมีกลิ่นของซินนามอนที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย วานิลลาก็ทำให้อบอุ่น สบายใจ แล้วมะนาวที่ทำให้สดใส สดชื่นก็ได้นะ”

4.

เราถามกิฟว่า ถึงตอนนี้เธอชอบกินโคล่าของตัวเองหรือโคล่ายี่ห้อดังมากกว่ากัน หญิงสาวหัวเราะและบอกว่า เธอชอบทั้งสองแบบ แต่ก็จะกินสูตรของตัวเองทุกครั้งเวลามาร้านเพื่อทดสอบรสชาติว่ามีกลิ่นรสครบครันอยู่ไหม ต้องใส่ส่วนผสมใดเพื่อแก้ไขรสชาติหรือไม่

“ทิ้งไว้นานมากรสชาติมันจะค่อยๆ อ่อนลง เพราะเป็นของสด เราไม่ต้องห่วงเรื่องเสีย เพราะซินนามอน น้ำมะนาว กาแฟ มันดูแลตัวเองได้ ทำให้แบคทีเรียไม่โต ไม่ต้องใส่สารกันบูดกันเสีย แต่บางทีถ้ารสชาติอ่อนก็จะเสิร์ฟลูกค้าไม่ได้ ต้องซ่อม ใส่ซิตรัสเพิ่ม แต่ปกติประมาณ 1 อาทิตย์ก็หมดแล้ว เพราะไม่ได้ทำเยอะ” กิฟอธิบาย

ในวันนี้ aircraft อาจจะยังบินไปไม่ไกล แต่กิฟให้ความสำคัญกับระหว่างทาง

“จากสูตรที่ทำอยู่ตอนนี้ ก็ลองดูว่าจะทำยังไงให้มันดีขึ้นอีก แค่เปลี่ยนน้ำตาลก็มีผลแล้ว ถ้าเอาน้ำตาลทรายแดง น้ำตาลปี๊บมาทำ ก็อาจจะดีก็ได้ เอาน้ำอ้อยมาทำก็อาจจะได้โคล่าน้ำอ้อย” เธอเล่าไอเดียด้วยความกระตือรือร้น

“มันเป็นความสนุกที่เราอยากทำโคล่าต่อไปเรื่อยๆ เวลาเขียนไดอารี จะมีช่องที่เขียนว่าความสุขของวันนี้คืออะไร ก็มีหลายครั้งที่เขียนลงไปว่าเพราะวันนี้ต้มโคล่า เพราะวันนี้มีลูกค้าบอกว่าโคล่าอร่อย มันเป็นโมเมนต์ที่มีความหมายสำหรับเรา”

ภาพในอนาคตที่เธออยากเห็น คือบาร์โซดาที่มีเครื่องกดน้ำ soda fountain ให้คนมานั่งกินโคล่ากัน ซึ่งก็ดูไม่ใช่ฝันที่ไกลเกินจริงนัก เพราะกิฟกระซิบว่า aircraft กำลังจะมีหน้าร้านในเร็วๆ นี้

เมษานี้จะเดือดกี่องศาก็ขอให้เข้ามา เพราะเรารู้แล้วว่าหน้าร้อนนี้จะดื่มอะไร

Instagram: @aircraft.bkk

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรม และศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อย รวบรวมผลงานไว้ที่ pathipolr.myportfolio.com