ถ้าไม่พลาดพลั้งจะมีวัยเยาว์ไว้ทำไม? อำลา ‘มาดี’ พื้นที่ดีๆ ในยุคกิจการเพื่อสังคมเบ่งบาน

แม้ฉันจะจำบรรยากาศวันแรกที่ไปเยือน Ma:D ไม่ได้ แต่ฉันจำได้ดีว่าทุกครั้งที่ได้ไปร่วมกิจกรรมจะได้ฟังเรื่องราวดีๆ ของผู้คนเสมอ บางครั้ง คนไม่มากนักเราก็ได้พูดคุยกันอย่างเต็มที่ และหลายครั้งที่ห้องเล็กๆ อัดแน่นไปด้วยผู้คนที่ต่างขยับที่ทางให้แก่กัน จึงอาจเรียกได้ที่นี่ ที่ ‘มาดี’ เป็นครอบครัวใหญ่ของคนที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม

Ma:D Club for Better Society มีพื้นที่ส่วนกลางเป็น co-working space ให้ผู้คนได้มาทำงาน ให้องค์กรเล็กๆ ได้มาประชุมกัน และยังมีบริการรับให้คำปรึกษาแก่ผู้สนใจทำกิจการเพื่อสังคมได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และค้นหาตัวเองไปในตัว มาดีจึงเป็นที่ปลอดภัยที่ทำให้คนกล้าลุกขึ้นมาทำตามฝันท่ามกลางอ้อมกอดของกัลยาณมิตร แต่น่าเสียดายที่ประตูบานใหญ่ของมาดีต้องปิดลง มาดีไปดีจึงเป็นกิจกรรมสุดท้ายเพื่อบอกลาพื้นที่นี้

“Ma:D Club for Better Society เอกมัย 4 จะเปิดทำการถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 นี้เท่านั้นค่ะ” ข้อความนี้ยังคงปรากฏอยู่บนหน้าเฟซบุ๊กของมาดี วันนี้เราจึงนัด กิ๊ฟ–ปรีห์กมล จันทรนิจกร และ ธี–ธีระพงศ์ แสงลาภเจริญกิจ สองในสามผู้ก่อตั้งมาดีมาพูดคุยกันถึงเรื่องราวตลอดระยะเวลา 4 ปี ก่อนการปิดตัวลงของมาดีในช่วงที่กิจการเพื่อสังคมกำลังเบ่งบานในประเทศไทย

ในยุคที่ใครๆ ก็อยากเป็น start up แต่ทำไมมาดีถึงไปดี?

ความฝันของหนุ่มสาว

“มาดีมาจากการชวนคนมาทำอะไรดีๆ ด้วยกัน ภาษาอังกฤษ Ma:D อ่านว่า mad ที่แปลว่าบ้าก็ได้ เพราะเวลาบอกว่าอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อให้สังคมดีขึ้นหลายทีจะโดนพูดว่า ‘บ้าหรอเปลี่ยนอะไรไม่ได้หรอก’ พูดง่ายๆ ว่า บ้าก็บ้าสิ แต่เราจะทำ” กิ๊ฟเริ่มเล่าความบ้าบนความฝันของเธอ

หากเท้าความไปก่อนหน้านี้ กิ๊ฟเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์แต่หันหลังให้กับธุรกิจ เพราะหลังจากเข้าโครงการประกวดแผนธุรกิจที่มีเป้าหมายคือกำไรสูงสุด ทำให้เธอเกิดคำถามในใจและพยายามหลีกเลี่ยงการเรียนด้านธุรกิจสายหลักไปเลย จนเมื่อโตขึ้น ผ่านการทำงานและเรียนรู้มากขึ้น จึงเข้าใจ “ธุรกิจทุกอันมันไม่ได้แย่ถ้าบริหารจัดการได้ดี คือการทำให้องค์กรเราโตได้ อยู่ได้ และถ้าองค์กรเราสร้างผลเชิงบวกทางสังคมสังคม นั่นแปลว่ามันก็จะมีผลเชิงบวกทางสังคมเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง”

กิ๊ฟผ่านการทำงานกับองค์กรที่สนับสนุนกิจการเพื่อสังคมอย่าง Change Fusion และสำนักงานกิจการเพื่อสังคม (สกส.) อย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นตัวอย่างดีๆ มากมาย ประสบการณ์จากการเป็นบรรณาธิการนิตยสารด้านธุรกิจทำให้เธอเข้าใจธุรกิจมากขึ้น

“ตอนนั้นเราประทับใจมากกับโปรเจกต์ที่ชื่อว่า The SYNC เป็นโครงการที่ชวนคนมาแชร์ว่าอยากเห็นบ้านเมืองเป็นยังไง นั่นเป็นครั้งแรกที่เราได้ร่วมขบวนการแบบนั้น ได้เห็นคนที่มีฝันร่วมกันมานั่งพูดคุยกันว่ามันเป็นยังไงและปลุกปั้นนู่นนี่นั่นออกมา มันเป็นกระบวนการที่ให้พลังมากเลย มันสร้างจุดเปลี่ยนในใจของเรา ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เห็นผลลัพธ์อะไร จบลงไปไม่ได้เกิดอะไรขึ้นเลยทันที แต่ว่ามันสร้างบางอย่างไว้ เราก็รู้สึกว่า เออ ดีว่ะ”

และด้วยความบังเอิญ ร้านอาหารที่เธอตั้งใจไปกินปิดตัวลงพอดี คำพูดเล่นๆ ที่พูดว่า “ถ้าปิดจริงนี่จะเซ้งต่อเลยนะ” ทำให้กิ๊ฟในวัย 26 ปีต้องหอบเงินล้านกว่าบาทมามัดจำค่าเช่าที่และค่าตกแต่งอาคารอีกมากมายเพื่อทำตามความฝันที่สุกงอม

ส่วนธี ชายหนุ่มมาดสุขุมที่สนใจการลงทุนเป็นทุนเดิม เล่าให้ฉันฟังว่ามาลงเรือลำเดียวกับกิ๊ฟได้อย่างไร “รู้จักกิจการเพื่อสังคมตอนที่เราอ่านเรื่องการลงทุนนี่แหละ มีการลงทุนที่เรียกว่า Patient Fund คือทุนที่เข้าไปแก้ปัญหา แล้วค่อยๆ ให้เขาเติบโตขึ้นมา เป็นทุนที่เรียกว่าต้องอดทน มันแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กับการสร้างกำไรได้ด้วย สมัยก่อนบ้านเราจะเห็นว่าธุรกิจกับเรื่องสังคมเป็นเรื่องแยกกัน พอเรารู้จักสิ่งนี้ตอนแรกเราก็ตื่นเต้นมากเลย อยากมีส่วนร่วมในการลงทุนแบบนี้”

นอกจากธีจะสนใจลงทุนเป็นตัวเงินแล้ว เขายังร่วมลงแรงปลุกปั้นมาดีให้กลายเป็นที่รู้จัก และเป็นประตูบานใหญ่เปิดต้อนรับทุกคน

เครือข่าย มิตรภาพ และบทเรียน

“เมื่อ 5 ปีที่แล้ว co-working space บูมมาก หลังจากเปิดมาได้ 1 ปี co-working space ก็ผุดเป็นดอกเห็ดเลย ผิดกับกิจการเพื่อสังคมที่ยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าไหร่ กิจการเพื่อสังคมที่เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในสมัยนี้ เช่น Achieve หรือ Local Alike ก็เกิดขึ้นในช่วงนั้นด้วยเหมือนกัน เป็นช่วงที่หลายองค์กรสร้าง ecosystem กันอยู่” ธีเล่าให้ฟังถึงความลำบากในการอธิบายกิจการเพื่อสังคมในยุคบุกเบิกให้คนอื่นเข้าใจ แต่หลังจากเวลาผ่านไปก็ถือได้ว่าความพยายามนี้เป็นผลสำเร็จมากทีเดียว

นอกจากมาดีจะเป็น co-working space แล้วยังมีกิจกรรมสร้างเครือข่ายอีกมากมาย เพราะกิ๊ฟและธีต่างเชื่อว่าถ้าเราสร้างเครือข่ายขึ้นมา คนเหล่านี้จะสามารถช่วยเหลือกันได้ไม่ว่าจะเป็นการให้คำแนะนำ ความเชี่ยวชาญที่ต่างกัน หรือทรัพยากรที่แต่ละคนมี

“มีคนอยากทำเรื่องดีๆ เยอะมาก” กิ๊ฟบอก “แต่เขาไม่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ช่วยเขาหรือมีคนให้กำลังใจ เพราะการลุกขึ้นมาทำเรื่องแบบนี้จะเจอคนที่ตัดสินเราเยอะ บางคนมาเล่าว่าสามีไม่สนับสนุน บอกว่าทำไปแล้วแก้ปัญหาไม่ได้ เขาก็เลยไม่มีแรงที่จะทำมัน ความอยากทำโดนกดทับไปหมด”

กิ๊ฟเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของมาดีผ่านปัญหาและอุปสรรคของแต่ละคน หลายครั้งปัจจัยภายนอกกลายเป็นเรื่องรอง แต่ปัญหาที่อยู่ภายในใจต่างหากที่ทำให้คนไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ กิจกรรมในช่วงหลังของมาดีจึงเน้นไปที่การรู้จักตัวเอง และการประคับประคองหัวใจให้ผ่านคลื่นลมของกระแสทัดทานไปได้

“เราเข้าใจว่าเงื่อนไขชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราไม่สามารถคาดหวังได้ว่าทุกคนที่เดินเข้ามาแล้วกลับออกไปจะกลายเป็นกิจการเพื่อสังคมหรือประสบความสำเร็จได้ มันเป็นเรื่องการจัดการชีวิตของเขาเอง อย่างน้อยการที่เขาได้มาเห็น ได้มาคุย เขาจะได้เห็นว่ามีโอกาสและมีความเป็นไปได้ แค่นั้นพอแล้ว”

ด้วยความเข้าใจนี้ มาดีจึงไม่อาศัยการชี้วัดว่าแต่ละคนจะต้องทำโครงการของตัวเองให้สำเร็จ ซึ่งแตกต่างจากหน่วยงานบ่มเพาะกิจการเพื่อสังคมอื่นๆ มาดีเป็นพื้นที่ให้เราพลาดหรือล้มได้อย่างปลอดภัย และเมื่อพร้อมที่จะลงมือทำอย่างจริงจังแล้วก็ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่จะช่วยสนับสนุนในเส้นทางต่อไปที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

Miss-Matched Model

ด้วยความเปิดกว้างตอนรับทุกคน กิจกรรมส่วนใหญ่ของมาดีจึงเป็นกิจกรรมที่เข้าร่วมได้ฟรี หรือสนับสนุนบ้านหลังนี้ได้ด้วยการบริจาคเงิน ฉันอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าเงินบริจาคเหล่านี้เพียงพอต่อการทำงานจริงหรือ?

“นอกจากเงินหยอดกระปุก เราก็แบ่งพื้นที่เป็นออฟฟิศให้เช่าด้วย แต่เอาจริงๆ เงินสองส่วนนี้ช่วยค่าเช่าที่ได้แค่ครึ่งหนึ่ง ยังไม่รวมค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าทีมงานนะ” ธี ผู้รับหน้าที่ดูแลด้านการเงินและเอกสารอธิบายช่องทางของรายจ่ายมากมายให้ฉันฟัง

กิ๊ฟเสริมถึงปัญหาสำคัญที่ทำให้เธอทำงานไม่หยุดหย่อนเพื่อรักษาบ้านหลังนี้เอาไว้ “รายได้เราค่อนข้าง miss match เหมือนกัน เราอยากสร้างคอมมิวนิตี้ แต่เราไม่มีรายได้จากคอมมิวนิตี้ และเราก็ทำโปรแกรมซึ่งไม่ค่อยเข้ากับวิสัยทัศน์ของเราเท่าไหร่ ทั้งต้องดูแลผู้เช่าคนอื่น และต้องไปรับงานข้างนอกเพื่อมาดูแลกิจกรรม เราอยากทำให้คนที่เขามาค้นหาตัวเองเข้าใจตัวเองได้ลึกซึ้งกว่านี้ เราอยากให้เขาได้มากกว่านี้ แต่พอไม่มีเงิน เราก็ต้องวิ่งออกไปหาเงิน เรากลับมาทำกระบวนการตรงนี้ไม่ได้ เห็นภาพว่ามันทำได้มากกว่านี้แต่เรายังติดกับดักเงินอยู่เลย”

เรื่องค่าเช่าและค่าบำรุงสถานดูเป็นเงื่อนไขก้อนโต เพื่อนๆ หลายคนที่กิ๊ฟและธีไปปรึกษาต่างเห็นตรงกันว่าเป็นปัญหาใหญ่ แต่น่าแปลกที่ทุกคนต่างสนับสนุนและไม่คัดค้าน

“พี่คนหนึ่งบอกว่ามึงตายแน่ แล้วก็วิ่งเข้ามาช่วย ทุกคนด่าว่าทำเหี้ยอะไร แผนธุรกิจก็ไม่มี ทุกคนที่คิดว่าไม่รอดก็บอกว่าเดี๋ยวช่วยจ่ายค่าเช่าล่วงหน้า เอาค่าเช่าล่วงหน้าไปเลย 1 ปี คิดว่าไม่รอดแน่แต่ว่าให้เงินมาทุกเดือนเพื่อช่วย อย่างปีแรกเราก็อยู่ได้ด้วยเพื่อนอาสามาช่วยทำนู่นนี่ ทุกคนบอกว่ามึงตายแน่ แต่แทนที่จะห้ามกลับบอกว่าเอาเงินไป”

กว่าจะรู้เดียงสา

“กูคิดว่ามึงจะตายจริงตั้งแต่ปีแรกแล้ว แต่มึงอยู่มาได้ 4 ปี มึงเก่งมาก กูไม่รู้มึงว่ารอดมาได้ยังไง” มีพี่คนหนึ่งเคยพูดกับกิ๊ฟไว้

4 ปีนี้กิ๊ฟและธีอยู่มาด้วยความฝันและพลังงานดีๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ หลายคนได้รู้จักกันและร่วมมือกันสร้างความเปลี่ยนแปลง บางคนต่อยอดไปมีกิจการเพื่อสังคมเป็นของตัวเอง บางคนได้แก้ไขปัญหาชีวิตและเป็นมิตรกับตัวเองมากขึ้น แต่เงื่อนไขชีวิตของพวกเขาเองก็อาจจะเปลี่ยนไปเช่นกัน

“ช่วงปีหลังๆ ภาพฝันในหัวเรามันหายไป มีแต่ความมืดมิด ส่วนพื้นที่ติดกับเงื่อนตายเรื่องค่าใช้จ่ายและสุขภาพย่ำแย่ ระหว่างทาง เราเป็นซึมเศร้าไปรอบหนึ่งเพราะมันเหนื่อยมากและกำลังจะกลับมาเป็นอีก เลยกลับมาตั้งสติใหม่ว่าเป้าหมายที่อยากเห็นคืออะไร จำเป็นต้องยังมีพื้นที่ขนาดนี้ไหม” กิ๊ฟสะท้อนเหตุการณ์ก่อนตัดสินใจอย่างยากลำบากก่อนปิดมาดี

ซึ่งกิ๊ฟก็ได้คำตอบกับตัวเองว่า “มีอีกหลายพื้นที่ มีอีกหลายพันวิธีที่จะช่วยเหลือให้คนอื่นทำเรื่องดีๆ ต่อได้”

ส่วนธีเองก็ได้เห็นภาพตัวเองชัดเจนขึ้นว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร และเตรียมตัวไปเรียนต่อเกี่ยวกับการใช้นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม

ในช่วงอำลา มาดีมีกิจกรรที่ชื่อว่า ‘มาดีไปดี’ ซึ่งเป็นวงสนทนาเล็กเปิดให้เล่าว่ามาดีคืออะไรสำหรับเขา และเล่าความเชื่อมโยงของแต่ละคนกับมาดี กิ๊ฟเล่าเหตุการณ์ประทับใจที่สุดตลอดการทำงานของเธอ “ทุกคนก็ตอบมานู่นนี่นั่นว่าเป็นพื้นที่สาธารณะหรืออื่นๆ แล้วพี่อาทิตย์ก็พูดมาว่า สำหรับกูเนี่ยนะ มาดีคือความพลาดพลั้งและไร้เดียงสาของเด็กผู้หญิงอายุ 26 ที่คิดว่าความฝันและความตั้งใจจะทำอะไรก็ได้ แต่ถ้ามึงไม่ไร้เดียงสาและพลาดพลั้ง มึงจะมีวัยเยาว์ไว้ทำไม”

แด่ความเยาว์วัย

“ถึงมาดีจะเป็นความสำเร็จและความล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่ แต่ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดีนะ ทุกคนโตขึ้นก็จะชัดเจนกับตัวเองมากขึ้น มันก็ไม่ได้ล้มจนตายกันไปข้างหนึ่ง มันเป็นการล้มที่ดีนะ” แม้มาดีจะปิดตัวลงไปแล้ว แต่ธีก็เล่าเรื่องนี้ด้วยรอยยิ้ม

ในยุคที่คนรุ่นใหม่อยากทำตามความฝัน  อยากเป็นเจ้าของธุรกิจมากกว่าจะเป็นลูกจ้าง กิ๊ฟผู้ผ่านเส้นทางนี้มาก่อนจึงอยากฝากบทเรียนที่เธอได้รู้จากการทำมาดี

“เราดีใจนะที่เราไร้เดียงสาขนาดนั้น เพราะถ้าเราคิดเยอะกว่านี้เราอาจจะไม่ได้เริ่มเลยก็ได้ แต่เราก็เห็นจุดที่ดอกจันไว้ว่าให้ระวังนิดหนึ่ง อยู่กับความไม่รู้ให้สนุก ตอนนั้นเราสนุกมากเพราะเราจะเห็นความเป็นไปได้เยอะมาก แต่เราอยากให้เพิ่มสิ่งที่เป็นพื้นฐานมากขึ้น เช่น เข้าใจสิ่งที่คุณกำลังจะทำว่ามีกลไกอย่างไร ทั้งในเรื่องการจัดการทรัพยากรและที่มาของต้นทุน

“สิ่งเดียวที่มาดีหายไปตอนแรกคือแค่นี้เลย สุดท้ายอาจจะไม่เหนื่อย ไม่ต้องปิดก็ได้ แต่ว่ามันแค่ท่อนนี้แหละที่รักษาสมดุลยาก บางคนรู้เยอะก็กังวล มันก็จะไม่สามารถอยู่กับความไม่รู้อย่างสนุกได้ แต่ก็น่าจะนำไปสู่การสร้างสรรค์และไม่เหนื่อยกับมันมาก แต่ถ้าเราย้อนเวลากลับไปได้ เราก็ยังอยากทำอย่างเดิมนะ”

แม้มาดีจะปิดลงไปแล้ว แต่มิตรภาพและการเชื่อมร้อยกันยังคงอยู่ ชุมชนอาจจะเกิดขึ้นมาใหม่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง อาจจะมีพื้นที่อื่นที่ไม่ได้ชื่อว่ามาดี แต่ยังคงทำหน้าที่ร้อยผู้คนเข้าด้วยกัน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!