จากใจผู้หญิงในอุตสาหกรรมดนตรีของผู้ชาย กับ Her อัลบั้มใหม่ของสามพี่น้อง Haim

Highlights

  • Women in Music Pt III หรือ ‘วิมปี้’ (WIMPIII) คือสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 3 ของสาวสาวสาวตระกูลไฮม์วง Haim จำนวน 13 แทร็กกับอีก 3 โบนัสแทร็ก ที่ผ่านการเคี่ยวกรำตลอดระยะเวลา 7 ปีในวงการดนตรี ออกมาเพื่อสื่อสารสิ่งที่นักดนตรี ‘ผู้หญิง’ คิดและเป็นในปัจจุบัน
  • ไฮม์เป็นครอบครัวชาวยิวในแคลิฟอร์เนีย ทั้งสามคนมีวงดนตรีชื่อ ‘Rockinhaim’ ที่เล่นกันเองในครอบครัวตั้งแต่ยังเด็ก ลามไปจนถึงการเปิดหมวดเพื่อหาเงินบำรุงสถานที่ต่างๆ ในชุมชน และเทิร์นโปรกับการทำซิงเกิลให้กับภาพยนตร์เรื่อง The Sisterhood of the Traveling Pants จนกลายมาเป็น วงป็อปร็อกพลังหญิงอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
  • อัลบั้ม ‘วิมปี้’ ในแง่ของเนื้อหานั้นพยายามสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิต ที่มักไม่ได้รับการยอมรับและให้เกียรติจากวงการดนตรีในอเมริกา และในแง่ของดนตรีไฮม์พยายามทดลองสิ่งแปลกใหม่หลายอย่าง ทั้งการใส่เครื่องเป่า ผสมเมโลดี้เรกเก้ R&B และ โฟล์ค ไปจนถึง Lo-fi

7 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก นับตั้งแต่ 3 สาวตระกูล Haim (ไฮม์) ปรากฏโฉมให้โลกได้เห็นและได้ยินในดนตรีป๊อปร็อกกลิ่นอายแคลิฟอร์เนีย ที่เมื่อได้ฟังในวันฟ้าใสไร้ฝนปนแดดอ่อนๆ พลันให้นึกว่ากำลังขับรถเล่นอยู่ในซานฟรานซิสโกทุกครั้งไป

และหลังจากที่ยึกยักเปลี่ยนกำหนดการวางแผงยั่วน้ำลายกันอยู่หลายรอบเพราะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา ทำให้เราต้องรอนานขึ้น 3 เดือน จากปลายเดือนเมษายน ในที่สุดไฮม์ก็ได้ฤกษ์ปล่อยสตูดิโออัลบั้มชุดที่สาม ‘Women in Music Pt. III’ ในปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนคำถามที่ว่าทำไมต้องเป็นพาร์ตที่ 3 แล้ว พาร์ต 1 และ 2 มันไปอยู่ที่ไหน (วะ) คำตอบของตัวเลขไม่ซับซ้อน นั่นเพราะมันเป็นอัลบั้มเต็มชุดที่สามของพวกเธอ แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ชื่ออัลบั้ม ที่สามสาวพูดเอาไว้ชัดเจนมากว่า Women in Music เป็นชื่อที่ตั้งเอาไว้กันคำถามโง่ๆ ของนักข่าวและคอลัมนิสต์ผู้ชายที่ไม่ให้ความสำคัญกับนักดนตรีผู้หญิง รวมถึงการไม่ให้เกียรติ และบ่อยครั้งที่ลามไปจนถึงเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับงานดนตรีเลยแม้แต่น้อย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นกับไฮม์ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีอเมริกา

 

จากวงดนตรีการกุศลในครอบครัวสู่การเป็นนักดนตรีอาชีพ

แฟนเพลงจำนวนไม่น้อยรอคอยอัลบั้มนี้ของไฮม์ แต่สำหรับแฟนเพลงหน้าใหม่ที่เพิ่งรู้จักกับสาวสาวสาววงนี้ พูดอย่างกว้างๆ และรวบรัดคือไฮม์เป็นวงอเมริกันป๊อปร็อกจากแคลิฟอร์เนีย ประกอบด้วยสามศรีพี่น้องในตระกูลที่ชื่อเก๋สุดในทศวรรษนี้ ทั้งพี่ใหญ่ Este Haim–มือเบส, น้องเล็ก–Alana Haim ที่เล่นทั้งกีตาร์และคีย์บอร์ด และฟรอนต์แมนคนกลาง Danielle Haim ที่รับจัดการส่วนที่เหลืออย่างเบ็ดเสร็จทั้งร้องนำ กีตาร์ โปรดิวเซอร์ เขียนเนื้อเพลงหลัก คิดโชว์ วางธีมของทุกๆ อัลบั้ม และอื่นๆ อีกมากมาย หนำซ้ำยังไม่นับการไปร่วมแจมกับศิลปินตัวเอ้ในอเมริกาอีกหลายเจ้าหลายค่าย อย่าง Jenny Lewis หรือแม้กระทั่งไซด์โปรเจกต์ของ Julian Casablancas ฟรอนต์แมนของ The Strokes และล่าสุดกับวงอินดี้ขวัญใจชาวนิวยอร์กอย่าง Vampire Weekend 

ไฮม์เติบโตในครอบครัวที่มีคุณพ่อ Mordechai Haim เป็นอดีตนักฟุตบอลอาชีพในลีกอิสราเอล และคุณแม่ Donna Haim ที่ทำงานด้านอสังหาริมทรัพย์ ทั้งสามสาวมีเชื้อชาวยิวอยู่เต็มเปี่ยม และด้วยเหตุนี้เองเดเนียลจึงได้ไปอยู่ในกระบวนการ และร่วม featuring ในอัลบั้มล่าสุดของ Vampire Weekend เยอะเหลือเกิน นั่นก็เพราะฟรอนต์แมนของทั้งสองวงนี้มีเชื้อสายยิวทั้งคู่ 

ดูเผินๆ เหมือนครอบครัวจะไม่ได้ส่งเสริมเส้นทางการเป็นนักดนตรีในวัยเด็กสักเท่าไหร่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว วงแรกเริ่มของสามสาวที่ชื่อ ‘Rockinhaim’ มีทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นสมาชิกหลักในวงด้วย โดยคุณพ่อรับตำแหน่งมือกลอง และคุณแม่รับบทมือกีตาร์ริทึม Rockinhaim รวมวงเล่นสดตามงานต่างๆ เพื่อหาเงินทำบุญให้กับโบสถ์ โรงเรียน และโรงพยาบาล โดยคัฟเวอร์เพลงจากวงดนตรีระดับตำนานอย่าง The Beatles, Van Morrison และอีกหลายวง

ผ่านพ้นจากช่วงวัยเด็ก เส้นทางของสาวๆ ครอบครัวไฮม์ยังคงแวะเวียนอยู่ในวงการดนตรี ก่อนที่พี่ใหญ่เอสเต้จะเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เธอและเดเนียล ได้เข้าร่วมวงชื่อ ‘Valli Girls’ และซิงเกิลแรกของวงชื่อ  Always There in You ถูกนำไปรวมอยู่ในอัลบั้มประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Sisterhood of the Traveling Pants ร่วมกับศิลปินชื่อดังในอัลบั้มอย่าง Katy Perry และหลังจากนั้นไม่นานซิงเกิลของวงชื่อ Valli Nation ยังได้รับการโหวตให้เข้าร่วมในอัลบั้ม Nickelodeon Kids’ Choice ที่มีศิลปินชื่อดังทั้ง Avril Lavigne เคยแจ้งเกิดจากรางวัลนี้

จะว่าไปแล้ว ทั้งสามสาวไฮม์ก็คล้ายจะเป็นอัจฉริยะทางดนตรีกันทั้งหมด เอสเต้พี่ใหญ่ที่เอาจริงเอาจังกับการเรียนและเลือกเรียนในสาขามานุษยวิทยาดนตรีที่ UCLA (University of California, Los Angeles) และจบการศึกษาโดยมีความเชี่ยวชาญด้านดนตรีบราซิลและบัลแกเรีย ส่วนอลาน่าน้องสุดท้องก็สามารถเล่นเครื่องดนตรีได้หลากหลายประเภทมากทั้งกีตาร์ คีย์บอร์ด และเพอร์คัสชั่นประเภทต่างๆ ไม่ต้องพูดถึงเดเนียลที่เธอได้แสดงให้เห็นอยู่บ่อยครั้งว่าการอิมโพรไวส์ท่อนโซโลสดๆ ขึ้นมาในโชว์ ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับเธอแม้แต่น้อย

 

ชีวิตที่คุกเคล้า กว่าจะมาถึงวิมปี้ 

Women in Music Part 3 หรือ ‘wimpiii’ (วิมปี้) ชื่อเล่นของอัลบั้มที่วงใช้เรียกเวลาโปรโมตผ่านช่องทางต่างๆ เป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ถูกจับตามองว่าจะเป็นอัลบั้มยอดเยี่ยมของปี 2020 จากทั้ง Pitchfork ที่เป็นแพลตฟอร์มของคนฟังเพลงและข่าวสารทางดนตรี รวมถึง Vulture แมกกาซีนออนไลน์ชื่อดังในนิวยอร์ก ให้เดาก็คงเป็นเพราะอานิสงส์จากทั้งสองอัลบั้มแรกทั้ง Days Are Gone (2013) และ Something to Tell You (2017) ที่เป็นที่หลงรักของคนฟังเพลงทั้งในและนอกกระแส รวมถึงนักวิจารณ์เองด้วย นอกจากนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าไลฟ์คอนเสิร์ตของไฮม์ เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่หลายๆ คนอยากมีส่วนร่วมในโชว์ของพวกเธอสักครั้ง 

อัลบั้ม Days Are Gone (2013) และ Something to Tell You (2017)

 

เมื่อครั้งปล่อย Days Are Gone งานเดบิวต์ฝีมือฉกาจโหดสัสเกินวัยเมื่อ 7 ปีก่อน ไฮม์ก้าวขึ้นสังเวียนคอนเสิร์ตในสภาพที่ยังคล้ายเป็นวงอินดี้มือสมัครเล่น ความเคอะเขิน และขาดๆ เกินๆ ยังมีให้เห็นแทบจะทุกเวที แต่เวลาผ่านไปไม่นาน หลังจากพวกเธอได้ผ่านเวทีใหญ่ระดับตำนานอย่าง Reading Festival และ Glastonbury ในฝั่งอังกฤษ ฝีไม้ลายมือก็เปลี่ยนไปทันตาเห็น ไฮม์กลายเป็นวงระดับต้นๆ ที่ผู้คนให้ความสนใจและรอดูไลฟ์ในคอนเสิร์ตและเทศกาลต่างๆ เป็นจำนวนมาก แซงหน้าวงที่มีภาพลักษณ์คล้ายกันในรุ่นเดียวกันอย่าง The Aces และ Muna ไปแบบไม่เห็นฝุ่น 

สามปีให้หลัง Something to Tell You ถูกผลิตออกมาด้วยพลังที่เต็มเปี่ยม ทั้งสามคนยังคงสนุกกับการทัวร์คอนเสิร์ตอย่างหนักหน่วง โดยที่หารู้ไม่ว่าปัญหาที่พวกเธอเจอซ้ำเดิมตลอดระยะเวลาการเป็นนักดนตรีอาชีพนั้นมันได้บั่นทอนพลังในชีวิตไปอย่างที่พวกเธอก็ไม่ได้คาดคิดมาก่อน

จริงอยู่ที่แม้ไฮม์จะเป็นวงดนตรีผู้หญิงที่ครบเครื่อง เล่นเครื่องดนตรีได้หลายอย่าง มีธีมการแสดงที่หลากหลาย แต่แม้ว่าจะมีคุณภาพแค่ไหนก็ตาม ไฮม์ก็ยังยืนยันมาตลอดว่าพวกเธอเป็นวงเล็กๆ ที่โคจรอยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีที่นำโดยผู้ชาย 

“ฉันเคยถูกถามว่า สีหน้าและท่าทางของฉันที่มันสุดเหวี่ยงยามที่เล่นเบสอยู่บนเวทีนั้นเป็นสีหน้าเดียวกับกันตอนที่ฉันมีเซ็กซ์หรือเปล่า” เอสเต้เปิดประเด็นถึงการถูกคุกคามเรื่องส่วนตัว ที่แม้จะเกิดอยู่บ่อยครั้ง แต่คำถามนี้เป็นคำถามที่เธอจำได้แม่นที่สุด และยืนยันว่าหากมีคำถามประเภทนี้เกิดขึ้นอีก คำตอบเดียวที่เธอจะมีให้นั่นก็คือ

“Go fuck yourself.”

ยังไม่นับรวมถึงคำถามที่พวกเธอย้ำว่าเป็น “คำถามโง่ๆ” ที่ตอบบ่อย และแทบจะทุกครั้งในยามที่ออกสตูดิโออัลบั้มใหม่ นั่นคือ 

“ทำไมถึงไม่มีสมาชิกผู้ชายในวงเลย”

“รู้สึกอย่างไรที่เป็นวงดนตรีหญิงล้วนเดียวในเทศกาลดนตรีนี้” 

“กดดันไหมที่เป็นเฮดไลน์ (ศิลปินที่สำคัญ) ในเทศกาลดนตรีใหญ่ๆ”

คำถามในทำนองนี้สร้างความอึดอัดให้กับไฮม์เสมอมา ทั้งหมดนี้สะสมและลดทอนพลังการทำเพลงของพวกเธอไปมากพอสมควร และท้ายที่สุด ‘วัตถุดิบ’ ที่เจ็บปวดเหล่านี้ถูกสะท้อนออกมาเป็นอัลบั้มล่าสุด ‘WIMPII’

“ขนาดว่าพวกเรามีอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จ มีคอนเสิร์ตที่ตั๋วขายหมดเกลี้ยงภายในไม่กี่นาที ถูกเสนอชื่อเข้ารับรางวัลแกรมมี่สองอัลบั้มซ้อน แต่เราก็ยังต้องเจอกับปัญหาซ้ำซากแบบนี้อยู่ดี เรายังต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าผู้ชายอยู่ดี มันต้องทำขนาดไหนกันเหรอถึงจะ respect เราในแบบที่เราเป็นได้จริงๆ” เดเนียลพูดถึงปัญหาหลักของไฮม์ที่เจอมาตลอดในเส้นทางชีวิตดนตรี

ช่วงปี 2016-2018 เป็นช่วงที่ไฮม์ทั้งสามคน ต่างต้องต่อสู้กับปัญหาชีวิตที่รุมเร้าแตกต่างกันไปคนละแบบ เอสเต้ผู้พี่ตรวจพบว่าตนเองเป็นโรคเบาหวานในช่วงการทำอัลบั้มที่สอง โชคดีที่ยังพอมีเวลาฟื้นตัวก่อนออกทัวร์คอนเสิร์ต ส่วนอลาน่าผู้น้องได้เสียเพื่อนสนิทไปหนึ่งคนจากอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นเพื่อนที่คบหากันมาตั้งแต่เด็ก และที่ดูเหมือนจะหนักที่สุดคือเดเนียล ที่พบว่าคนรักของเธอเป็นโรคมะเร็ง และตามมาด้วยการที่เธอเป็นโรคซึมเศร้าอย่างหนักในช่วงเวลาหนึ่ง ส่งผลให้คอนเสิร์ตถูกยกเลิกไปหลายเดือน แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นก็เป็นที่มาของแทร็กสำคัญๆ ในอัลบั้มใหม่ในท้ายที่สุด

กลับมาที่ Wimpii ชื่อเล่นของอัลบั้ม ยังไปพ้องเสียงกับคำว่า Wimpy ซึ่งมีความหมายกับพวกเธอถึงสองอย่างด้วยกันคือ Wimpy ที่หมายความถึงเด็กสาวที่อ่อนแอและต้องการจะพูดอะไรสักอย่างกับคนฟัง และยังหมายถึงร้านอาหารในอเมริกาที่มีหลายสาขา เป็นร้านโปรดของพวกเธอและมักจะใช้เวลาว่างที่ร้านนี้ระหว่างการทัวร์คอนเสิร์ตเพื่อพักผ่อนและรับประทานอาหารในร้านนี้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นคอนเซปต์ที่มาของหน้าปกอย่างเด็กเสิร์ฟสามสาวในร้านอาหารอย่างที่เราเห็น แน่นอนว่านอกจาก ‘เสียงของผู้หญิง’ ที่เป็นแก่นหลักของไฮม์ในครั้งนี้ พวกเธอยังอยากจะทดลอง และก้าวข้าม ‘ซาวนด์’ ที่หลายๆ คนคุ้นชิน ด้วยการใส่ทั้งไอเดีย และเครื่องดนตรีใหม่ๆ เอาไว้ในบทเพลง

“อัลบั้มใหม่นี้จะเป็นอัลบั้มที่ส่วนตัวมากๆ เราสามคนต่อสู้กับตัวเองมาเป็นเวลานาน งานชิ้นใหม่จึงมีตัวตนของเราสูงกว่าสองอัลบั้มก่อนหลายเท่าตัว แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ เราชอบความจริงที่ว่า เราอาจเสียแฟนบางกลุ่มไปกับงานชิ้นใหม่ที่เราผลิต แต่ในขณะเดียวกันเราก็จะได้แฟนใหม่ๆ ในงานชิ้นถัดไปของเรา จึงสรุปได้ว่า ไม่ใช่แต่คนฟังเพลงที่มองหาไอเดียใหม่ๆ แต่คนทำเพลงก็มองหากลุ่มคนใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน” เดเนียลพูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอัลบั้มใหม่

Wimpii ถูกคาดหวังว่าจะแสดงให้เห็นชัดเจนถึงซาวนด์ของไฮม์และแนวทางต่างๆ ที่ถูกคิดค้นออกมาอย่างจริงจังแล้วว่านี่จะเป็นแนวทางที่มั่นคงของวงไปอีกนาน กลิ่นอายเพลงป๊อปแบบแคลิฟอร์เนียที่ยังมีความเท่และดุดันอยู่ในตัว พอได้มารวมกับเครื่องดนตรีหลากประเภทและจังหวะที่หลากหลาย ยิ่งทำให้อัลบั้มน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก ในแง่นี้ต้องบอกว่าการที่ไฮม์ไม่กลัวที่จะหยิบฉวยเอาสิ่งรอบตัวมาทดลองและปล่อยปะปนไปกับทั้ง 13 แทร็กในอัลบั้มนั้นเป็นการตัดสินใจที่เด็ดขาดมากๆ

 

อัลบั้มที่พูดจากข้างในใจผู้หญิงถึงอุตสาหกรรมดนตรีของผู้ชาย

ความประหลาดอย่างหนึ่งของอัลบั้มนี้คือการที่สามซิงเกิลแรกที่ถูกปล่อยตั้งแต่ไก่โห่ปีที่แล้วนั้น ท้ายที่สุดกลับกลายเป็นโบนัสแทร็ก 3 เพลงสุดท้ายในอัลบั้มเต็ม (ก็ได้ฟังตั้งแต่ปีที่แล้ว แล้วมันจะเป็นโบนัสตรงไหนกันล่ะนี่) แต่กระนั้นก็นับว่าไม่เสียหาย เพราะหากนับจำนวนทั้ง 13 แทร็กปกติ รวมกับโบนัสแทร็กอีก 3 ถือเป็นอัลบั้มที่มีจำนวนแทร็กเยอะพอสมควร 

วันแรกของการปล่อยอัลบั้มเต็ม ผมใช้เวลาในเช้ามืดวันรุ่งขึ้นเพื่อตั้งใจฟัง ‘วิมปี้’ ด้วยความเสียใจและเสียดายที่ต้องพลาดคอนเสิร์ตของสามสาวทั้งที่ในความเป็นจริงผมควรจะได้ตะโกนเชียร์สามสาวอย่างบ้าคลั่งอยู่ที่ไหนสักแห่งแถวๆ หน้าเวทีคอนเสิร์ตเพื่อโปรโมตอัลบั้มใหม่นี้ 

หลายความรู้สึกเกิดขึ้นหลังจากฟังจบ พร้อมความปลื้มใจที่พวกเธอยังสร้างสรรค์งานเพลงดีๆ มาให้ฟังอยู่เหมือนเดิมโดยไม่โอนเอนหรือหลงไปทำงานดนตรีที่ตอนนี้กระแสเชี่ยวกรากและยากจะหยุดอย่างฮิปฮอป ดังเช่นศิลปินอื่นๆ นอกจากนี้พอได้ไล่ดูเครติต จึงพบว่าพวกเธอบรรจงเลือกผู้ร่วมงานฝีมือฉกาจมาร่วมงานโปรดิวซ์แทบทั้งสิ้น ทั้ง Rostam Batmanglij โปรดิวเซอร์ชื่อดัง และอดีตสมาชิกผู้ก่อตั้งวง Vampire Weekend รวมถึง Ariel Rechtshaid ที่โปรดิวซ์งานให้ศิลปินอย่าง Adele และ Usher มาแล้ว

ภาพรวมของดนตรีในชุดนี้ แม้จะไม่ต่างกับสองอัลบั้มก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง แต่กับไอเดียที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของแต่ละเพลงที่คล้ายกับว่าเป็นการนำเอาส่วนที่ดีที่สุดของเพลงฮิตต่างๆ ในอดีตมาขยายความ และตกแต่งมันเสียใหม่ในแบบของไฮม์ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยและเป็นตัวเองมากที่สุด ในขณะที่ภาพรวมของเนื้อหา ไฮม์ได้เปลี่ยนมุมมองจากเดิมที่เป็นวงอินดี้ป๊อปวัยรุ่นโลกสวย มาพูดถึงชีวิตที่จริงจังมากขึ้น พวกเธอหันมาเขียนเรื่องครอบครัว สังคม และความรักที่ใช้สมองมากกว่าความหวือหวา ที่สำคัญพวกเธอเขียนถึงสิ่งที่ ‘ผู้หญิง’ โดยเฉพาะกับการเป็นศิลปินในสังคมอเมริกันว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างทั้งในแบบที่ตรงไปตรงมาและเสียดสีอย่างเจ็บแสบ

 

 

Summer Girl คือซิงเกิลแรกที่สดใส อบอุ่น และมีความเป็นป๊อปมิวสิกอยู่เต็มเปี่ยม ผสมกับเครื่องเป่าและเสียงเบสของเอสเต้ที่พุ่งขึ้นมาเป็นระยะๆ สร้างความเพลิดเพลินอย่างไม่น่าเชื่อ คล้ายกับว่าอัลบั้มนี้จะเป็นฤดูร้อนที่พระอาทิตย์เพิ่งสาดแสงละลายน้ำแข็งที่เกาะตัวให้กลายเป็นหยดน้ำ แต่ช้าก่อน อย่าเพิ่งคิดไปว่ามันจะป๊อปขนาดนั้น เพราะน้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็ง อย่างไรเสียมันก็ยังมีความเยือกเย็นอยู่วันยังค่ำ ส่งให้ซิงเกิลที่สอง Now I’m in It นั้นงดงาม และช่วยละลายกำแพงบางอย่างที่ขวางกั้นระหว่างผู้ฟังกับพวกเธอให้เห็นเนื้อเห็นตัวกันมากขึ้น

 

 

Now I’m in It เป็นแทร็กที่เดเนียลเขียนในช่วงที่เธอมีอาการซึมเศร้าอย่างหนัก ช่วงเดียวกับที่พาร์ตเนอร์ของเธอเป็นมะเร็ง หลังจากการทัวร์คอนเสิร์ตอย่างหนักหน่วง และพยายามก้าวข้ามอาการเหล่านี้ของเธอ เพลงนี้จึงถูกเขียนขึ้นมา

และโบนัสแทร็กสุดท้าย ซึ่งเป็นซิงเกิลที่สามที่ถูกปล่อยเมื่อปลายปีที่แล้ว เป็นแทร็กที่ผมชอบที่สุดในอัลบั้มนี้ Hallelujah คือเสียงดนตรีของหญิงสาวที่รำพึงรำพันกับนางฟ้า ถึงปัญหาที่รุมเร้าในชีวิต และอยากระบายกับพระเจ้าและส่งต่อไปให้มนุษย์บนโลกอย่างเราได้รับรู้รับฟังกัน 

 

 

แทร็กนี้จะว่าไปแล้วค่อนข้างแปลกแยกออกจากดนตรีอินดี้ป๊อปในภาพรวมของอัลบั้มอย่างมาก กลิ่นอายของโฟล์กบางๆ สร้างความอาดูร ให้ความรู้สึกเหงาเปลี่ยวเดียวดาย แต่ก็ไม่ได้สิ้นหวังไปเสียทีเดียว ความงดงามของตัวโน้ตแต่ละตัวถูกเปล่งประกายผ่านเสียงกีตาร์โปร่งที่เรียบง่าย 

อย่างไรก็ดี แทร็กที่จะเป็นภาพตัวแทนทั้งหมดของอัลบั้มนี้อยู่ที่แทร็ก 11 คือ Man From the Magazine ที่มีน้ำเสียงของหญิงสาวศิลปินที่ถูกมักจะผู้ชายในอุตสาหกรรมดนตรีอเมริกาดูถูก เดเนียลเล่าถึงที่มาของเพลงนี้ ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ซึ่งเธอเคยเดินเข้าไปในร้านขายอุปกรณ์ดนตรีแห่งหนึ่งในลอสแอนเจลิส หลังจากเดินดูอุปกรณ์ต่างๆ อยู่พักใหญ่ เจ้าของร้านจึงถามเธอว่า “รับหนังสือหัดเล่นกีตาร์ไหมครับ” เดเนียลอธิบายต่อว่าหลายต่อหลายครั้งที่ผู้หญิงอย่างเราๆ ถูกสันนิษฐานเอาเองจากคนอื่นๆ ว่าคงเล่นดนตรีไม่เป็นหรอก และลงท้ายด้วยการถามอะไรที่ดูไม่ให้เกียรติกันแบบนี้ และจากเพลงนี้เองจึงเป็นที่มาของภาพที่พวกเธอเขียนข้อความบนกางเกงในและถ่ายภาพเพื่อบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า 

“Women make the best rock music”

ที่มาภาพ: Rolling Stones

 

จะว่าไปแล้วเกือบทุกแทร็กในอัลบั้มนี้แฝงเนื้อหาสื่อให้เห็นความเป็นผู้หญิงแทบทั้งสิ้น แทร็กที่ 6 อย่าง 3AM ก็ตอกย้ำความพยายามที่จะบอกว่าพวกเขาเข้มแข็งมากพอที่จะไม่ต้องการความช่วยเหลือใดๆ แม้จะมีคนรักอยู่ข้างๆ ก็ตาม และในเพลงเดียวกันนี่แหละที่ไฮม์เคยถูกนักข่าวถามว่า

“เพลง 3AM นี่ใครเป็นคนเล่นเบสเหรอ?” 

แน่นอนว่ามันสร้างความเสียใจให้กับเอสเต้เป็นอย่างมาก คุณต้องเป็นนักข่าวประเภทไหนที่อาจหาญถามมือเบสที่ให้สัมภาษณ์อยู่ว่าใครเป็นคนเล่น แต่นักข่าวก็ตอบแก้เก้อไปว่าไม่ได้อ่านเครดิตมาก่อน ซึ่งเรื่องเล่านี้เอสเต้มักจะนำมาเล่าซ้ำๆ อยู่เสมอเวลาที่มีคนพูดถึง 3AM

หลังจากตั้งใจฟังจนจบรอบที่สามที่สี่ ผมพบว่าความกระหายที่จะลองเมโลดี้และสไตล์ใหม่ๆ เป็นอีกหนึ่งพรสวรรค์ของไฮม์ พวกเธอลองใส่จังหวะที่รวดเร็วและมีความเป็นเรกเก้ในแทร็ก Los Angeles รวมถึงเสียงของแซ็กโซโฟนที่หวือหวาช่วยเปิดหัวอัลบั้มได้เป็นอย่างดี และ Another Try ที่มีกลิ่นอายของเพลงแนว lo-fi ผสมผสานกับ R&B ผ่านแกนกลางเสียงเบสที่มั่นคงของเอสเต้ ก็ยิ่งฟังได้ไม่เบื่อ

วิมปี้เป็นเหมือนสิ่งที่เราไม่เคยได้เห็นมาก่อน เพราะบทบาทของพวกเธอไม่ได้จบอยู่แค่นักดนตรีที่มีความสามารถ หรือเอนเตอร์เทนเนอร์บนเวที หรือเป็นแค่ผู้หญิงในอุตสาหกรรมดนตรีเท่านั้น แต่เป็นอะไรที่มากไปกว่านั้น วิมปี้เป็นมนุษย์ที่มีทั้งจุดบกพร่องและความย้อนแย้งในตัว เช่นเดียวกันกับที่อัลบั้มนี้แม้พวกเธอพยายามจะเป็นร็อก แต่ก็ยังผสมผสาน genre หลายๆ ประเภทเข้าด้วยกันจนสร้างสไตล์ที่ชัดเจนของไฮม์ ซึ่งเป็นอะไรที่มีความเสี่ยงสูง เพราะการนำอะไรต่อมิอะไรมาผสมปนเปกัน ยิ่งมากเข้าก็ยิ่งยากที่จะทำให้มันลงตัว แต่ไฮม์ทำสำเร็จและดีเสียด้วย นับเป็นการผลิตผลงานเพลงที่ทั้งซื่อสัตย์และกล้าหาญ

‘วิมปี้สร้างความประทับใจ และเป็นตัวช่วยที่ดีมากๆ ในการเริ่มต้นวันใหม่ หากเปรียบวิมปี้เป็นเสื้อผ้า นี่คือเสื้อผ้าที่ประณีตตั้งแต่การทอผ้า การวางแพตเทิร์นและตัดเย็บ อาจมีการนำแพตเทิร์นเก่ามาใช้บ้าง พร้อมกับการนำชิ้นส่วนจากผ้าตัวอื่นมาประกอบจนเป็นเสื้อผ้าชิ้นใหม่ที่สร้างสรรค์และสดใสในเวลาเดียวกัน เป็นอีกหนึ่งอัลบั้มที่คู่ควรกับการฟังในช่วงปีที่เกิดปัญหาร้อยแปดอย่างเช่นปีนี้ 

หาก Haim ยังสามารถรักษาความถี่ในการออกอัลบั้มได้เหมือนเดิม เราน่าจะได้ฟังงานชุดใหม่ของเธออีกในปี 2023 และเมื่อถึงตอนนั้นเรามารอดูกันว่าพวกเธอทั้งสามคนจะนำอะไรมาเซอร์ไพรส์พวกเราอีก ที่แน่ๆ ตอนนี้อยากดูพวกเธอบนเวทีใจจะขาดแล้ว

ไหนๆ ก็ไหนๆ จะเป็นติ่งทั้งทีต้องไปให้สุด หลังฟังทั้งอัลบั้มแล้ว ขอชวนไปติดตามพวกเธอต่อได้ใน แอพพลิเคชัน Tiktok ที่ @thehaimband มีวีดีโอน่ารักๆ ของสามพี่น้องที่เรียกรอยยิ้มให้รับชมแทบวันเว้นวัน ฟังเพลงเบื่อๆ ก็มาดูความฮาแบบไม่ห่วงสวยของทั้งสามสาวกันได้

 

อ้างอิง

Daily Bruin

L’Officiel

New York Times

Rolling StonesBBC

Vulture

AUTHOR