ของฝากจาก ‘หาดเล็ก’ หมู่บ้านชาวประมงลับริมชายแดนตะวันออก

Highlights

  • Trawell ชวนแบกเป้ไปรับลมทะเลที่หมู่บ้านชาวประมงลับๆ ที่หาดเล็ก ริมทะเลตะวันออก ติดชายแดนกัมพูชา
  • 'หาดเล็กโมเดล' จะเป็นต้นแบบพัฒนาชุมชน ของโครงการ City Wide ที่ Trawell ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สร้างหาดเล็กให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่อยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน

เมื่อพูดถึงทะเลตะวันออก หลายคนอาจจะนึกถึงแหล่งท่องเที่ยวสุดฮิตอย่างเกาะช้างหรือเกาะกูด

เมื่อพูดถึงชายแดนกัมพูชา หลายคนอาจจะนึกถึงเขาพระวิหารหรือตลาดโรงเกลือ

และเมื่อพูดถึงชื่อเมืองที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘หาด’ ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ใครสักคนจะนึกถึงสิ่งอื่นที่ไม่ใช่หาดใหญ่

แต่หมู่บ้านชาวประมงริมทะเลตะวันออก ติดชายแดนกัมพูชาที่เราอยากพามาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกันในวันนี้เป็นตำบลเล็กๆ ชื่อน่ารักๆ ที่ถูกตั้งตามลักษณะภูมิประเทศว่า ‘หาดเล็ก’

เมื่อมุ่งหน้าจากตัวเมืองตราดมาทางชายแดนกัมพูชาราว 90 กิโลเมตร จนบรรยากาศตลอดสองข้างทางที่เคยเป็นตึกรามบ้านช่องค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นถนนเส้นเดี่ยวที่วิ่งขนานไปกับภูเขาและทะเล จนเกิดเป็นแผ่นดินส่วนที่เล็กที่สุดของประเทศไทย เมื่อนั้นเราก็ได้เดินทางมาถึง ‘หาดเล็ก’ ชุมชนประมงพื้นบ้านที่ซ่อนตัวอยู่ระหว่างเทือกเขาบรรทัดและทะเลอ่าวไทยเป็นที่เรียบร้อย

และเมื่อหมู่บ้านริมทะเลของเรา Hidden ขนาดนี้ Trawell เองก็คงไม่มีวันได้รู้จักกับหาดเล็ก ถ้าไม่ใช่เพราะมีโอกาสได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ City Wide ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เข้าไปทำกระบวนการมีส่วนร่วมกับชาวชุมชนหาดเล็ก เพื่อสร้าง ‘หาดเล็กโมเดล’ ที่จะเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนพร้อมทั้งสร้างหาดเล็กให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่อยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน

ตลอด 4 วันที่พวกเราได้ลงไปคลุกคลีกับพี่ๆ น้องๆ ชาวหาดเล็ก นอกจากทำงานร่วมกันแล้ว เรายังได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์และเรื่องราวดีๆ ที่หาไม่ได้จากที่ไหนกลับบ้านมาจนเต็มกระเป๋า วันนี้เราจึงอยากนำของฝากจากหาดเล็กที่บันทึกความสุขไซส์ใหญ่ ทั้ง 5 ชิ้นนี้มาเป็นของขวัญให้แก่ทุกคน

สีสันของหมู่บ้านชาวประมง

สิ่งแรกที่โดดเด่นสะดุดตาและเป็นเสน่ห์ที่ไม่ว่าใครได้มาเยือนหาดเล็กก็หลงรักคือ สีสันสดใสสะดุดของเรือประมงพื้นบ้านที่จอดเรียงรายกันอยู่ใน ‘คลองมะขาม’ คลองเล็กๆ ที่ไหลลงสู่ทะเล นอกจากสีส้มสดใสที่ถูกทาเอาไว้ใต้ท้องเรือจะตัดกับสีฟ้าของท้องฟ้าและสีเขียวของน้ำทะเลเป็นอย่างดีแล้ว ยังเป็นสีกันเพรียงช่วยปกป้องแนวเรือที่อยู่ใต้น้ำให้ปลอดภัยจากเพรียงทะเลอีกด้วย ไม่ใช่แค่เรือประมงเท่านั้น เพราะอุปกรณ์ต่างๆ ในการทำมาหากินตลอดจนบ้านเรือนของชาวหาดเล็กก็ยังเต็มไปด้วยสีสันที่ทำให้ชุมชนริมน้ำแห่งนี้เต็มไปด้วยความสดใสไม่แพ้กัน

อาหารทะเลสดๆ จากเรือประมง

เมื่อเราได้มีโอกาสมาพักอาศัยในหมู่บ้านชาวประมงแบบนี้ แน่นอนว่าทุกมื้อย่อมอิ่มหมีพีมันไปด้วยกองทัพอาหารทะเลสดใหม่นานาชนิดอย่างแน่นอน แต่มื้อที่เราประทับใจสุดกลับเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญที่แสนเรียบง่าย อย่างการที่พี่จิ๋ม พี่สาวชาวหาดเล็กซึ่งเพิ่งกลับจากออกทะเล กวักมือเรียกให้เราที่เดินเล่นอยู่ใกล้ๆ เข้ามาชิมกั้งและปูสดๆ ส่งตรงจากเรือประมงที่ต้มด้วยน้ำทะเล บอกเลยว่านอกจากความน่ารักของพี่จิ๋มที่แกะกั้งให้เรารัวๆ แบบไม่อั้นแล้ว กั้งต้มสดๆ ก็ทั้งหวานทั้งเค็ม อร่อยกลมกล่อมแบบไม่ต้องพึ่งน้ำจิ้มใดๆ

พระอาทิตย์ตกทะเลที่ไม่ขี้อาย

มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ กว่าจะเลิกงานแต่ละวัน พระอาทิตย์ก็หนีไปเข้านอนซะแล้ว โอกาสที่จะได้เห็นพระอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าของจากในเมืองหลวงจึงน้อยพอๆ กับการถูกล็อตเตอร์รี่ แต่ที่หาดเล็ก ไม่ว่าเราจะทำงานอยู่มุมไหน เพียงแค่เดินไม่กี่ก้าว วิวพระอาทิตย์ริมทะเลที่แสนจะอบอุ่นและดีต่อใจก็รอเราอยู่เสมอ ยิ่งดูไปกินเบียร์เขมรเย็นๆ ไปหลังจากที่ทำงานเหนื่อยมาทั้งวันนะ บอกเลยว่าสุดยอด!

การจัดการขยะด้วยความร่วมมือของทุกคน

เมื่อมีผู้คนอาศัยอยู่ริมทะเล สิ่งหนึ่งที่มักตามมาเสมอก็คือขยะที่เกิดขึ้นจากการอุปโภคและบริโภคของมนุษย์ แต่สิ่งที่เราพบที่หาดเล็กกลับเป็นชายทะเลใสสะอาดและมีขยะน้อยจนแทบนับช้ินได้ และความลับของความสะอาดนี้ก็เกิดขึ้นมาจากนโยบายการจัดการขยะด้วยน้ำพักน้ำแรงของชาวชุมชนทุกคนนั่นเอง เพราะชาวหาดเล็กจะนัดกันมาเย็บสวิงตักขยะจากอวนเหลือใช้ เพื่อแจกจ่ายไปยังแต่ละบ้านให้ช่วยกันรักษาความสะอาดในบริเวณที่แต่ละคนอาศัยอยู่เป็นประจำ การเย็บสวิงและตักขยะจึงกลายเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันคุ้นชินของชาวหาดเล็ก เพราะอยากดูแลรักษาบ้านของพวกเขาให้สะอาดอยู่เสมอนั่นเอง

ผู้สร้างงานศิลปะเคลื่อนที่ได้

อีกหนึ่งเสน่ห์ที่ไม่ว่าเห็นกี่ครั้งก็ทำให้เราอดหยุดมองไม่ได้ก็คือ ‘ตัวอักษรชื่อเรือ’ ที่ปรากฏอยู่บริเวณด้านข้างของเรือประมงทุกลำ ล้วนถูกรังสรรค์ขึ้นโดยฝีมือของช่างเขียนฟ้อนต์ชาวหาดเล็กแท้ๆ ที่ทำงานกันอย่างขยันขันแข็ง ณ ลานซ่อมบำรุงเรือ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘คานเรือ’

พี่ๆ เล่าให้ฟังว่าการเขียนชื่อเรือนั้นจะแตกต่างกันตามขนาดของเรือที่เขียน หากเป็นเรือลำเล็กก็จะเน้นใช้ตัวบรรจงเพื่อให้อ่านง่าย แต่ถ้าเป็นเรือที่มีขนาดใหญ่กว่าก็จะเล่นลวดลายให้สวยงามแตกต่างกันออกไป และไม่ใช่แค่ตัวอักษรวิจิตรแบบไทยๆ เท่านั้นที่เขียนขึ้นด้วยมือ แม้กระทั่งฟ้อนต์ภาษาอังกฤษสุดเนี้ยบก็ยังผ่านฝีแปรงของพี่ๆ มาแล้วแทบทั้งนั้น

เวลา 4 วัน ที่พวกเราใช้คลุกคลีกับชาวหาดเล็กอาจไม่ได้มากมายนัก แต่ก็มากพอที่จะทำให้เมื่อถึงเวลากลับบ้าน เราก็พบว่าตัวเองรู้สึกผูกพันกับหมู่บ้านริมทะเลแห่งนี้มากกว่าที่คิด และการทำกระบวนมีส่วนร่วมกับชาวชุมชนในครั้งนี้ก็มอบอะไรให้พวกเรามากมายกว่าที่พวกเราได้ให้ไว้ซะอีก

รอติดตามความคืบหน้าและผลของโครงการ City Wide ได้ทาง Trawell Thailand หรือถ้าหากใครพอมีเวลา จะแวะมาสัมผัสเสน่ห์ของกับชุมชนริมทะเลแห่งนี้ด้วยตัวเองก็ได้เหมือนกันนะ 🙂

AUTHOR