ผืนทะเลคือห้องทำงาน – ทำความรู้จักเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ผู้ดูแลฝูงพะยูนแห่งน่านน้ำตรัง

เชื่อว่าใครที่หลงรักธรรมชาติคงชอบขึ้นเขาไปเดินป่า ถ่ายรูปวิวสวยๆ เก็บไว้เป็นความประทับใจ แต่รู้หรือเปล่าว่าต้นไม้เขียวขจีบนภูเขา พืชพันธุ์หายาก สัตว์ป่านานาชนิดทุกผืนป่าในไทย มีคนกลุ่มหนึ่งคอยดูแลและอนุรักษ์อย่างเอาจริงเอาจังมาตลอด เราเรียกพวกเขาว่า ‘ผู้พิทักษ์ป่า’ ที่คอยออกลาดตระเวนในพื้นที่ที่ประจำการอยู่ เพื่อบันทึกข้อมูลจำนวนสัตว์สงวนและพืชพันธุ์ต้นไม้หายากว่าลดจำนวนลงไหม หรือหากมีการเพิ่มจำนวนขึ้นก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี

หนึ่งในผู้พิทักษ์ป่าที่เราอยากทำความรู้จักคือ เอ็กซ์-บรรชา ด้วงนุ้ย ชายใบหน้าคมอายุ 37 ปี เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหน่วยปากน้ำตรัง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง ความน่าสนใจอยู่ตรงหน้าที่ของบรรชาคือการดูแลฝูงพะยูน สัตว์สงวนของไทยเราจำนวนกว่า 170 ตัวที่อาศัยอยู่ในเกาะแห่งนี้นั่นเอง

บรรชาเป็นคนจังหวัดพัทลุง เกิดและเติบโตมาในครอบครัวป่าไม้ ทั้งพ่อแม่และญาติพี่น้องเกือบทั้งหมดทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ด้วยเหตุนี้เอง บรรชาจึงคุ้นเคยและซึบซับความรักที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติจากครอบครัวมาอย่างเต็มเปี่ยม หลังจากเรียนจบ ปวช. 3 จากวิทยาลัยการอาชีพพรหมคีรี อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช บรรชาจึงตัดสินใจสมัครเข้าทำงานเป็นพนักงานจ้างเหมา ในตำแหน่งคนงานประจำหน่วยพิทักษ์ป่าปากน้ำตรัง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จากปี 2545 ถึงปี 2551 เขาก็สอบเข้าบรรจุเป็นข้าราชการของกรมป่าไม้ในตำแหน่งพนักงานพิทักษ์ป่าอย่างเต็มตัว พร้อมเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง

เมื่อได้เป็นผู้พิทักษ์ป่าเต็มตัว การทำงานจริงนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะงานหลักของพวกเขาเต็มไปด้วยความเสี่ยง ต้องออกลาดตระเวนเกือบทุกวันเพื่อเฝ้าระวังการบุกรุก ลักลอบตัดไม้ และการทำประมงที่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องพกอาวุธป้องกันตัวและคอยระวังตัวเองไว้ตลอด พวกเขาจะสวมยูนิฟอร์มลายพรางแบบทหารเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นที่สังเกตเห็นง่าย สวมหมวก และใส่รองเท้าคอมแบท แม้จะชำนาญพื้นที่เพียงใด ในกระเป๋าจะต้องมีวิทยุสื่อสาร จีพีเอสนำทาง กล้องถ่ายรูป แผนที่การเดินทางติดตัวไปตลอด และห้ามประมาทเด็ดขาดเพราะอันตรายเกิดขึ้นได้เสมอ

บรรชาเล่าว่าเขาเคยประสบกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด ครั้งหนึ่งตอนออกลาดตระเวนทางอากาศด้วยพารามอเตอร์เพื่อสำรวจพะยูน เกิดเหตุเครื่องยนต์ขัดข้องกะทันหันกลางอากาศ ทำให้ตัวเขาและนักบินตกลงกลางทะเลความลึก 3 เมตรโดยที่อุปกรณ์ยังติดอยู่ที่ตัวครบชุด โชคดีที่มีเจ้าหน้าที่คนอื่นมาช่วยไว้ได้ทัน บรรชาจึงรอดตายจากเหตุการณ์ครั้งนั้นได้อย่างหวุดหวิด

“ตอนนั้นคิดถึงหน้าลูกอย่างเดียวเลย คิดว่าเราต้องรอดชีวิตเพื่อกลับไปหาเขา เราห่วงทั้งครอบครัวและหน้าที่ เพราะครอบครัวคือชีวิตของเรา แต่ทรัพยากรธรรมชาติคือสมบัติของแผ่นดิน เราก็ต้องปกป้องรักษาให้สมกับที่ได้มาทำงานตรงนี้” ชายหนุ่มนัยน์ตาสีน้ำตาลพูดด้วยรอยยิ้มจางๆ บนใบหน้า เรารับรู้ได้ทันทีว่าตัวเขารักและภูมิใจในอาชีพนี้มาก

กำลังใจเดียวที่บรรชาได้รับตลอดมาจากครอบครัวอันอบอุ่น นอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ดูแลป่า เขายังมีบทบาทพ่อที่ต้องดูแลลูกอีก 4 คนที่กำลังอยู่ในวัยเล่าเรียน และเพราะความทุ่มเทเสียสละของเขา มูลนิธิเอสซีจีจึงมอบทุนการศึกษาในโครงการ SCG Sharing the Dream แก่ลูกคนโตของบรรชาเพื่อเป็นหลักประกันทางการศึกษาโดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ จนจบระดับปริญญา ถือเป็นการให้กำลังใจผู้พิทักษ์ป่าอย่างบรรชาและผู้พิทักษ์ป่าคนอื่นๆ ที่ย้ำว่ายังมีคนเห็นความเสียสละที่ผู้พิทักษ์ป่าคอยปกป้องผืนป่าของไทยเรามาตลอดชีวิต

บรรชาเสริมอีกว่า นอกเหนือจากงานลาดตระเวนทางบก ทางทะเล และทางอากาศ งานหลักของผู้พิทักษ์ป่าที่สำคัญพอๆ กันคือการประชาสัมพันธ์ความรู้และกฎหมายเกี่ยวกับอุปกรณ์จับสัตว์น้ำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าประเภทไหนใช้ได้ ประเภทไหนอันตรายต่อพะยูน โลมา หรือเต่า เขาต้องผูกมิตรกับผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และพูดคุยกับชาวบ้านอยู่เป็นประจำ เพื่อให้การดูแลจัดการทรัพยากรท้องถิ่นเป็นไปอย่างสะดวกขึ้น

“ที่เกาะลิบง มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่แค่ประมาณ 50 คน ทั้งทีมต้องรับผิดชอบดูแลพื้นที่เกือบสามแสนไร่ ทีมเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าจะต้องออกลาดตระเวนทางทะเลหรือทางอากาศสัปดาห์ละ 3 – 4 วัน คอยสอดส่องดูแลฝูงปลาพะยูนในเกาะว่ามีตัวไหนได้รับอันตรายจากการติดอวนประมงไหม หรือหากพบพะยูนที่ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจดำผุดดำว่ายอยู่บนผิวน้ำ ก็ต้องรีบประสานให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามาช่วยเหลือพะยูนตัวนั้นให้ทัน ไม่อย่างนั้นเราก็จะเสียพะยูนที่มีอยู่น้อยอยู่แล้วไปอีกตัว” บรรชาเล่าเราให้ฟังถึงงานที่เขาทำอย่างภาคภูมิใจ

ความโชคดียังมีอยู่จริง หนึ่งคือที่เกาะลิบงไม่มีปัญหาความขัดแย้งบุกรุกพื้นที่ สองคือช่วงสิบปีที่ผ่านมา พะยูนเพิ่มจำนวนขึ้นทีละน้อย นับว่าเป็นของขวัญที่งดงามที่สุดที่ธรรมชาติจะตอบแทนให้ ความสุขเล็กๆ ของเขากำลังเพิ่มจำนวน

แท้จริงแล้วความสุขของผู้พิทักษ์ป่าไม่ใช่เงินเดือนหรือความท้าทายในการออกลาดตระเวน หากแต่เป็นความรักในธรรมชาติ ผืนป่า และผืนทะเลไทยอย่างแท้จริง ในแง่หนึ่ง ผู้พิทักษ์ป่าคือกำลังสำคัญที่ช่วยปลูกฝังจิตสำนึกรักธรรมชาตินี้ให้กับคนรุ่นต่อไปผ่านงานที่เขาทำ และสิ่งที่จะทำให้พวกเขาหายเหนื่อยและมีกำลังใจมากขึ้นทุกครั้ง คือการพบว่าทรัพยากรธรรมชาติของไทยเรายังคงอุดมสมบูรณ์

facebook | มูลนิธิเอสซีจี

AUTHOR