เรื่องของความผิด ความรู้สึกผิด และผู้กระทำความผิด ในโลกที่อะไรๆ ก็ผิด

Highlights

  • ความผิดรถมอเตอร์ไซค์ของเด็กคนหนึ่งขับชนรถคันหน้าแล้วกระเด็นมาชนรถของเธอ
  • ความรู้สึกผิดเธอเห็นเด็กคนนั้นแล้วย้อนนึกถึงตัวเองที่โตมากับวัฒนธรรมการลงโทษของที่บ้านคือการทำให้รู้สึกผิด
  • ผู้กระทำความผิดเธอถูกหล่อหลอมมาด้วยความรู้สึกผิดและมักโทษตัวเองอยู่เสมอ

บ่ายวันอาทิตย์เอื่อยเฉื่อย สามีซึ่งขับรถออกไปซื้อกาแฟใกล้ๆ บ้านโทรศัพท์มาบอกฉันว่าเกิดอุบัติเหตุ รถมอเตอร์ไซค์ของเด็กคนหนึ่งขับชนรถคันหน้าแล้วกระเด็นมาชนรถของเรา ไม่มีใครบาดเจ็บหนัก แต่ยังตกลงกันไม่ได้ น่าจะต้องไปที่ สน.

เมื่อรู้ว่าไม่มีใครเป็นอะไร ฉันเบาใจและอาสาตามไปสมทบด้วย เพราะคิดว่าเขาน่าจะหิวกาแฟจนปวดหัวมากกว่าจะต้องไปช่วยทุ่มเถียงเอาความอะไร จนเมื่อไปถึง ฉันเห็นเด็กหนุ่มวัยสิบหกนั่งหน้าจ๋อย ที่หัว แขน และขา มีแผลถลอกปอกเปิกกับพลาสเตอร์ที่ถูกแปะไว้ลวกๆ โดยหน่วยกู้ภัย รถมอเตอร์ไซค์ของเด็กไม่มี พ.ร.บ. เด็กจึงออกอาการกลัวลนยิ่งกว่าตอนรอดตายจากใต้ท้องรถของเราอย่างหวุดหวิด เมื่อตำรวจสั่งให้โทรหาผู้ปกครอง จนเมื่อเราเห็นพ่อของเด็กที่ไม่ยอมรับผิดชอบค่าเสียหายด้วยเหตุผลว่าเลิกกับแม่ของเด็กแล้ว และเด็กอยู่ในความปกครองของแม่ต่างหาก ฉันก็เริ่มเข้าใจแววตาหวั่นหวาดของเด็กและความค้อมยอมของแม่เด็กในอากัปกิริยาเล็กๆ น้อยๆ เมื่อได้คุยกับร้อยเวร จากนั้นทุกอย่างดำเนินไปตามกระบวนการ ประกันฯ ของรถยนต์ทั้งสองคันทำตามหน้าที่ ตำรวจเรียกผู้ปกครองมาตกลงรับผิดชอบค่าเสียหาย ว่ากล่าวเด็กผู้กระทำความผิดที่หาเรื่องเสียเงินให้พ่อแม่พอเป็นพิธี และตำหนิผู้ปกครองอย่างจริงจังเรื่องไม่ต่อ พ.ร.บ. เราเดินออกจาก สน.มาอย่างเงียบๆ ก่อนที่สามีของฉันจะพูดออกมาว่ากลับบ้านไป ไอ้น้องโดนพ่อหนักแน่

อาจไม่ใช่เวลา แต่สิ่งที่ฉันรู้สึกตลอดกระบวนการใน สน.คือ หากเป็นฉันในวัยเท่านั้น ฉันจะรู้สึกแบบไหน แล้วภาพก็ชัดเจนออกมาเป็นฉากๆ ว่าฉันกำลังนั่งหงอน้ำตาคลอเบ้า มองดูแม่วิ่งเต้นขอผ่อนผัดจากหนักเป็นเบา และยกมือไหว้ขอโทษคู่กรณีซ้ำๆ ก่อนจะกลับไปรู้สึกผิดหนักอึ้งที่บ้านเพราะแม่จะไม่ด่าว่าอะไรฉันแม้แต่คำเดียว

ไม่ใช่ไม่ถูกลงโทษ แต่วัฒนธรรมการลงโทษของบ้านฉันคือการทำให้รู้สึกผิด

บ้านของเด็กคนนั้นคงไม่มีสตางค์สักเท่าไหร่ คงไม่ต่างจากฉันในวัยเด็กมากนัก แต่ฉันถูกเลี้ยงดูมาในฐานะลูกคนเดียวที่ได้รับการประคบประหงมดูแลอย่างดี แม่ให้สิ่งที่ดีที่สุดกับฉันเสมอท่ามกลางข้อจำกัดและเงื่อนไขมากมาย ฉันจึงรู้สึกเหนือกว่าเพื่อนร่วมสภาพแวดล้อมและคิดเองโดยไม่มีใครสอนว่าควรตอบแทนความรักที่ได้รับมาด้วยการเป็นเด็กดีอย่างที่สุด ฉันตั้งใจเรียน เรียบร้อย ไม่ค่อยออกนอกลู่นอกทาง แต่หากเด็กดีที่สุดคนนั้นทำอะไรผิด แม่ของฉันแค่เพียงมองด้วยหางตา หรือหนักหน่อยก็ทำเป็นไม่อยากพูดด้วยวันสองวัน ฉันก็พร้อมจะน้ำตาร่วงและสำนึกแล้วว่าทำผิดเพียงใด

พอคิดเรื่องนี้ขึ้นมาได้ ฉันก็ตระหนักเป็นครั้งแรกว่า ฉันถูกหล่อหลอมมาด้วยความรู้สึกผิด

ตั้งแต่ทำงานและเป็นฟันเฟืองหนึ่งในระบบเศรษฐกิจ ฉันรู้สึกมีความสุขมากที่หาเงินได้เอง มีความสุขที่ได้ซื้อและได้เป็นเจ้าของ ได้กินของอร่อย ได้มีชีวิตที่ข้อจำกัดและเงื่อนไขน้อยลง ด้วยรายได้ ครอบครัวเราได้เลื่อนขั้นเป็นชนชั้นกลาง สุรุ่ยสุร่ายได้เท่าที่เครดิตเอื้ออำนวย ลำบากและสบายเท่ารายได้ที่มี จนกระทั่งวันที่รู้สึกรู้สามากกว่าเรื่องตัวเอง ฉันรู้สึกว่ามีสายตาจากไหนก็ไม่รู้มากมายจ้องมองฉันอยู่ ฉันรู้สึกผิดที่เดินห้างฯ รู้สึกผิดที่ชอบกินของอร่อย รู้สึกผิดที่ซื้อเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่น รู้สึกผิดที่ช่างซื้อ ช่างสะสม รู้สึกผิดที่กินอาหารเหลือ รู้สึกผิดที่ใช้พลาสติก single use รู้สึกผิดที่เป็นรถอีกคันบนถนนที่ทำให้จราจรติดขัด รู้สึกผิดที่เจ้าหน้าที่มูลนิธิต้องมาพูดอะไรยืดยาวให้เราบริจาคเงินด้วยการตัดบัตรเครดิต แล้วก็รู้สึกผิดที่ใช้หนี้บัตรเครดิตไม่หมดเสียที ฯลฯ

พอรู้สึกผิดกับแทบทุกสิ่งของการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ แต่ก็รู้จักตัวเองดีว่าไม่อาจหนีเมืองไปไหนได้ ฉันจึงพยายามอย่างมากที่จะไถ่โทษด้วยการเคี่ยวกรำตัวเองต่างๆ นานา ฉันเลิกช้อปได้ค่อนข้างเด็ดขาด งดกินทิ้งกินขว้าง บริหารจัดการขยะให้น้อยลง และกลับมามีความฝันจริงจังอีกครั้งว่าอยากมีบ้านหลังเล็กๆ ที่มีเฉพาะฟังก์ชั่นใช้งานเท่าที่จำเป็น อยู่ในที่ที่มีต้นไม้ มีลมเย็นพัดผ่าน แต่เมื่อยังทำไม่ได้ ฉันก็ได้แต่โละข้าวของที่อัดแน่นอยู่ในตึกแถว 4 ชั้น ด้วยหวังว่าความรู้สึกผิดต่อการเป็นเจ้าของจะลดลง

ฉันบริจาคเสื้อผ้าและข้าวของที่เก็บไว้โดยไม่ได้ใช้ให้มูลนิธิบ้านนกขมิ้นไปเต็มคันรถ และหวังว่ามันจะปลดปล่อยความรู้สึกหนักหนาของตัวเองไปได้บ้าง แต่เมื่อหันกลับมามองบ้านที่ยังเต็มไปด้วยข้าวของเกินใช้ ฉันก็ยังรู้สึกผิด แล้วที่มากไปกว่านั้น ฉันยังเอาความรู้สึกผิดนี้โยนใส่คนในบ้านไปโดยไม่รู้ตัว

ก่อนหน้านี้ ฉันนึกเสียใจที่แม่กลับมาลงโทษฉันด้วยหางตาและไม่พูดไม่จาด้วยบ่อยกว่าที่เคยเป็น ทั้งๆ ที่ฉันมั่นอกมั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิดไปมากกว่ากลับมากินข้าวบ้านช้าเพราะรถติด หรือไม่หือไม่อือกับข่าวสารที่แม่ส่งมาทางไลน์ แต่เมื่อพยายามทำความเข้าใจว่าทำไมแม่ถึงขาดผึงกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ได้ง่ายขึ้นนัก ฉันก็พบว่าฉันลิดรอนความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของแม่ไป ฉันห้ามแม่ซื้อข้าวของ (ที่เราเคยชอบ) เข้าบ้าน บ่นเวลาแม่ทำอาหารเยอะเกินจนเหลือกิน โละทิ้งเสื้อผ้าที่แม่ซื้อมาให้แต่ฉันไม่เคยใส่เลยสักครั้ง และอาจเคยใช้หางตาแบบเดียวกันเพื่อบอกว่าแม่ไม่ควรทำอย่างนั้นอย่างนี้

พอรู้สึกผิดกับเรื่องที่ทำให้คนอื่นรู้สึกผิด ฉันก็ไปต่อไม่ถูก

สามีบอกฉันว่าอนุญาตให้ตัวเองมีความสุขบ้างเถอะเมื่อฉันอัดอั้นจนร้องไห้ออกมา

ไม่รู้เกี่ยวกันไหม ฉันนึกถึงพ่อแม่ของเด็กหนุ่มคนนั้น แล้วหวังว่าพวกเขาจะอนุญาตให้ลูกทำผิดในครั้งนี้

AUTHOR

ILLUSTRATOR

กาแฟดำไม่เผ็ด

เป็นคนวาดภาพประกอบ เขียนคอลัมน์ เขียนหนังสือสำหรับเด็ก เจ้าของเพจกาแฟดำไม่เผ็ด และ Milo and Me ชอบเดินทาง แต่ก็ชอบอยู่บ้าน ชอบทำอาหาร ชอบดูนก ชอบวาดรูปและเล่าเรื่อง ชอบชีวิต…