ตามไปเก็บภาพความทรงจำสุดท้ายของธารน้ำแข็ง Grinnell Glacier ก่อนจะหายไปในปี 2030

เรายกมือขึ้นรวบผมที่ปลิวตามแรงลม สูดกลิ่นป่าจางๆ ท่ามกลางแดดจ้าของฤดูร้อนที่หนาวเป็นพิเศษ

ฟังแล้วดูงง นี่มันฤดูอะไรกันแน่ แต่ในช่วงสายของกลางฤดูร้อนในเดือนกรกฎาคม เราและชาวคณะรวมกัน 9 หัวอืดอาดลงจากรถเพื่อเดินไปให้ถึง trailhead

แม้ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่าร่างกายยังคงเมาขี้ตาเล็กน้อยหลังจากเมื่อคืนไปอีเวนต์ดูดาวที่ยอดเขากันจนดึกดื่น แต่เราก็ยังไม่ลดละที่จะแบกตัวเองไปเดินทริปนี้ให้ได้

เพราะในฐานะนักศึกษาที่เพิ่งปลดเปลื้องตัวเองออกจากทีสิสจบมาไม่กี่เดือน เราตัดสินใจสมัครโครงการ Work & Travel ด้วยทั้งกายทั้งใจโหยหาการพักสมอง อยากทำงานใช้แรง จึงขอมาทำงานในอุทยานต่างแดนดีกว่า

เราอยู่ที่อุทยานแห่งชาติ Glacier National Park ทางตอนเหนือของรัฐมอนแทนา ประเทศสหรัฐอเมริกา อุทยานนี้กินพื้นที่กว่า 4,100 ตารางกิโลเมตร เอาเข้าจริงพื้นที่ของเขตอุทยานใหญ่จนเลยสหรัฐอเมริกาขึ้นเหนือเข้าเขตแคนาดาไปอีกเกือบ 1 ใน 3 ส่วน แต่ที่ฝั่งแคนาดาใช้ชื่อว่า Waterton Lakes National Park และด้วยผืนป่าขนาดยักษ์ใหญ่ทำให้อุทยานแห่งนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา

 

Glacier National Park แปลกันตรงตัวว่าอุทยานแห่งชาติธารน้ำแข็ง

แค่ชื่อก็จั๊กจี้ใจมนุษย์เส้นศูนย์สูตรที่ได้เห็นน้ำแข็งแค่ในช่องฟรีซตู้เย็นอย่างเราแล้ว

 

แต่ถ้าถามว่าทำไมถึงไปทำงานในอุทยานละก็ แน่นอนว่าเป้าหมายคือ 

hiking ทุกวันหยุด!

และวันนี้ก็คือวันหยุด!

ในบรรดาเส้นทางเดินป่ากว่า 700 เส้นทางในอุทยาน เส้นทาง Grinnell Glacier Trail จัดอยู่ในท็อปลิสต์ของเรา เพื่อนร่วมงานทั้งยุทั้งปั่นว่าต้องมา เสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าที่ปลายทางธารน้ำแข็ง Grinnell นั้นสวยพริ้ง แม้ระยะทางไป-กลับเกือบ 17 กิโลเมตรแต่ก็คุ้มแสนคุ้มที่จะเดิน 

ไม่ใช่แค่เพราะความสวยอย่างเดียว แต่เพราะธารน้ำแข็งที่นี่อาจจะละลายในอีก 10 ปีข้างหน้า

 

01

จุดเริ่มต้นของเส้นทาง Grinnell Glacier อยู่ตรง Many Glacier บริเวณทิศตะวันออกของอุทยาน จากต้นทางถึงปลายทางยาว 8 กิโลเมตรกว่า แม้ในแผนที่จะถูกจัดอยู่ในหมวดเส้นทางยาก แต่คนที่เคยมาส่วนใหญ่แอบกระซิบว่าทางไม่ได้ชันนัก ขาสั้นแรงน้อยอย่างเราก็เดินเรื่อยๆ ได้

เราเดินลัดเลาะตามทางที่มีขนาดกว้างแค่พอให้คนเดินสวน ช่วงแรกของการเดินป่าสนสองข้างทางไม่สูงมากนัก ได้กลิ่นต้นสนจางๆ ลอยแตะจมูก ต่างจากการเดินป่าในไทยที่มีกลิ่นไม้ชื้นจัดมากกว่า อาจเพราะอากาศที่นี่ค่อนข้างแห้ง

ก่อนหน้านี้เคยแอบเช็กค่า PM2.5 กันขำๆ กับเพื่อน พบว่าที่นี่มีค่ามลพิษแค่ 7 ในขณะที่กรุงเทพฯ เกือบทะลุ 200 ส่วนเมื่อต้นปีที่เชียงใหม่วัดมลพิษทางอากาศได้ทะลุ 500 ไปหลายหน่วย เรารีบสูดอากาศใส่ปอด เผื่อว่าชาตินี้จะไม่ได้มาหายใจเอาอากาศดีๆ แบบนี้อีกแล้ว

เมื่อเดินพ้นป่าสนไป อากาศเริ่มแห้งลงพร้อมกับทางที่ชันขึ้น ต้นไม้รอบข้างก็ค่อยๆ เตี้ยลงตามลำดับกลายเป็นไม้พุ่มแทน ถ้ามาเดินตอนเดือนอื่นๆ คงปกคลุมไปด้วยหิมะตลอดทาง เดินไปราว 3-4 กิโลเมตรจากต้นทางเราก็เริ่มเห็นทะเลสาบ Grinnell ปรากฏขึ้นแก่สายตา

ทะเลสาบสีฟ้าจัดจ้านจากมุมสูงท่ามกลางภูเขาเป็นวิวที่เราเห็นไปเกือบตลอดทางการเดิน สีฟ้าของทะเลสาบนั้นฟ้าสดยิ่งกว่าท้องฟ้า ยิ่งมองยิ่งเหมือนกับหลุดออกมาจากโปสต์การ์ด ตลอดทางแทบหันมองแค่ทะเลสาบ พร้อมกับเบี่ยงตัวหลบนักท่องเที่ยวที่เดินสวนมาเป็นระยะ 

ความสวยของทะเลสาบดึงสายตาเราจนรู้ตัวอีกทีเพื่อนร่วมทางก็เดินนำไปไกล เรารีบสับขาตามให้ทันเพื่อนยูโรเปียนที่ช่วงขายาวกว่ามาก กว่าจะตามมาถึงน้ำตกเล็กๆ ข้างทางซึ่งเป็นจุดพัก เราก็หอบแฮ่ก คว้าเอากระติกที่น้ำใกล้หมดมากรอกน้ำเย็นเจี๊ยบจากน้ำตกเติมลงไปแทน อันที่จริงก็ไม่รู้หรอกว่ามันสะอาดพอจะดื่มได้แบบสุขภาพดีหรือเปล่า แต่จังหวะนั้นแบคทีเรียก็แพ้ความกระหายของเราแล้ว

พักเหนื่อยได้ไม่นาน ละอองน้ำก็โปรยใส่จนเสื้อเริ่มชื้น ทำให้พวกเราต้องลุกเดินหน้าไปกันต่อ อย่างน้อยน้ำเย็นๆ ก็ช่วยให้อาการเหนื่อยคลายลงไปบ้าง

โชคดีที่กลางเดือนกรกฎาคมอากาศอบอุ่นพอจะเดินตัวชื้นๆ แบบไม่หนาวมาก ตลอดฤดูมีแค่ช่วงสัปดาห์นี้เท่านั้นล่ะที่เราไม่ต้องถมเสื้อกันหนาวหนาๆ ใส่ตัว ที่ผ่านมามนุษย์จากเขตร้อนอย่างเราต้องนอนขดม้วนตัวเป็นก้อนในผ้าห่มทุกคืนและสวมเสื้อ 2 ชั้นไปทำงานแทบทุกวัน

เป็นฤดูร้อนที่หนาวเสียจนได้แต่ถามว่านี่มันซัมเมอร์อีท่าไหนวะเนี่ย

แอบถามคนพื้นที่มาบ้าง อากาศปีนี้ค่อนข้างแปรปรวนและหนาวกว่าทุกปีจริงๆ แถมยังมีฝนตกปรอยเล็กยันห่าใหญ่เป็นช่วงๆ ทั้งที่ 2 ปีก่อนอากาศแห้งจนเกิดไฟป่าใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของอุทยาน เพื่อนร่วมงานเล่าให้ฟังว่าปีที่แล้วเป็นซัมเมอร์จริงๆ แต่งตัวแบบชายทะเลได้สบาย ในขณะที่ปีนี้เราซุกกางเกงขาสั้นไว้ชั้นใต้สุดของลิ้นชักเพราะไม่มีโอกาสได้ใส่

ที่น่าตลกคือถึงแม้ว่าปีนี้ฤดูร้อนจะเย็น แต่กองหิมะที่ค้างอยู่บนยอดเขากลับละลายเร็วกว่าทุกปี อาจเพราะหิมะตกไม่มากพอในฤดูหนาวและฤดูฝนที่ผ่านมา

เราเคยอ่านบทความของ National Geographic พบว่าอุทยานแห่งนี้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากเป็นลำดับต้นๆ ของโลก สภาพอากาศอันแปรปรวนทำให้ธารน้ำแข็งหลายแห่งในอุทยานแห่งนี้กำลังจะหายไปแบบไม่หวนกลับภายในปี 2020-2030

 

รู้สึกไม่ค่อยตลกสักนิดที่ปีนี้ก็ 2019 แล้ว

02

“ใครมี bear spray เดินข้างหน้าสิ”

“มี แต่ใช้ไม่เป็น ถ้าหมีออกมาคือปาสเปรย์ใส่หัวหมีเป็นอย่างเดียวนะ”

“ไอจะสู้กับหมีด้วยมือเปล่า”

บทสนทนาขำขันประจำทริปเดินเขาคือเรื่องหมีป่า เพราะที่อุทยานนี้เราสามารถเจอหมีกริซซ์ลีกับหมีดำโผล่มาตบนักท่องเที่ยวกันได้ง่ายๆ แบบไม่โจ๊ก การเดินเขาที่อเมริกาเลยต่างจากที่อื่นตรงที่ต้องพก bear spray หรือสเปรย์กันหมีไปทุกครั้งแบบที่ไม่เคยเห็นชาติอื่นทำกัน 

ไม่รู้โชคดีหรือโชคร้ายที่เราเจอหมีตั้ง 3 ครั้ง แต่ทุกครั้งพี่หมีอยู่ไกลจนตัวเกือบเป็นจุด 

แต่ที่แน่ๆ ไม่ได้เจอแค่หมี ยังรวมถึงสัตว์ป่าที่โผล่มาให้เห็นกันง่ายๆ แบบที่ไม่เคยนึกมาก่อนว่ามันง่ายได้ขนาดนี้เลยเหรอวะ

ระยะเวลา 3 เดือนที่เอาตัวมาอยู่ในอุทยานแห่งนี้ เราเห็นกวาง แพะภูเขา ไปจนแกะเขาใหญ่ (bighorn sheep) บ่อยยิ่งกว่าแมวซะอีก นี่ยังไม่นับพวกขนฟูตัวจ้อยอย่างชิปมังก์ กระรอก และมาร์มอต ที่แทบจะเป็นเพื่อนร่วมทางเดินป่ากันตลอด 

ที่สำคัญยิ่งกว่าคือสัตว์ป่าที่นี่ไม่กลัวคน ไม่กลัวเอาซะจริงๆ 

ไม่กลัวขนาดที่ตัวมาร์มอตเคยวิ่งมาจับรองเท้าบูดๆ ของเราดมด้วยความสงสัย แต่ก็ยังพอน่ารักเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมงานของเราที่ต้องวิ่งหนีหมีป่าหน้าตั้ง เพราะอยู่ๆ พี่หมีก็โผล่มาเดินตามหลังบนทางเท้าในระยะไม่ถึง 10 เมตร

 

เหตุผลที่สัตว์ป่าไม่กลัวคนขนาดนี้อาจเป็นเพราะอุทยานเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินป่าจริงจังกันแค่ราว 3 เดือนในฤดูร้อน เพราะอากาศที่หนาวจัดเกินไปในฤดูหนาว พื้นที่รอบอุทยานมีคนอยู่ไม่กี่ร้อยคนเท่านั้น สัตว์ป่าเลยเจอมนุษย์น้อยยิ่งกว่าน้อย

 

03

ยิ่งเดินไกลเพื่อนร่วมทางก็ยิ่งทิ้งห่างไปหลายช่วงขา ส่วนเราก็เหนื่อยเกินกว่าจะก้าวขาเร่งสปีดตามให้ทัน เลยเดินเรื่อยเปื่อยเอ้อระเหยไป พอไต่ระดับขึ้นมาเรื่อยๆ ยิ่งสูงเท่าไหร่ลมก็ยิ่งแรง อากาศก็ยิ่งหนาวขึ้นเท่านั้น บางช่วงลมแรงพัดฝุ่นปลิวตลบขึ้นมาจนเราต้องเบี่ยงหันหลังให้ลม

700 เมตรสุดท้ายก่อนถึงปลายทาง อยู่ๆ ความชันก็เหมือนเปลี่ยนจังหวะเพลงป๊อปเป็นเพลงร็อกขึ้นมาแบบดื้อๆ จากจังหวะการเดินเรื่อยๆ เหนื่อยแบบพอประมาณ กลายเป็นหมาลิ้นห้อยแบบฉับพลัน กว่าจะดันตัวเองขึ้นมาถึงข้างบนได้ หัวใจเต้นตึกตัก ไม่รู้ว่าเพราะเหนื่อยจัด หรือเพราะภาพธารน้ำแข็งที่เห็นอยู่ปลายทาง แต่ก็รีบก้าวขาต่อ ลืมความโอดโอยเมื่อครู่

และในที่สุดเราก็เดินมาถึงที่หมายแห่งธารน้ำแข็ง

 

เราหยุดยืนมองภาพข้างหน้า เวิ้งน้ำกว้างสีฟ้าจัดแปลกตาโอบล้อมด้วยภูเขาหินสูง อากาศอบอุ่นกลางฤดูร้อนยังละลายก้อนน้ำแข็งขาวในทะเลสาบไม่หมด ทิ้งก้อนน้ำแข็งลอยเท้งเต้งกลางธารน้ำแข็ง อีกฟากหนึ่งคือหิมะบางส่วนละลายทิ้งตัวยาวเป็นสายน้ำตก สวยจนตาพร่า

8 กิโลเมตรกว่าที่เดินมามันคุ้มยิ่งกว่าคุ้มจริงๆ

เราเดินตามไปสมทบกับเพื่อนที่นั่งพักเอาแรงบนโขดหินริมน้ำ ถอดรองเท้า hiking หนักๆ ออกหลังจากที่เดินกระแทกจนเจ็บเท้ากันมาหลายชั่วโมง โยนถุงเท้าทิ้งไว้ข้างกันแล้วตั้งท่าแหย่เท้าลงไปในธารน้ำแข็งสีฟ้าจัด 

เพื่อนหัวทองชาวลิทัวเนียหันไปมองพร้อมยิ้มแซว

“แช่เท้านี่แม่งโคตร Asian therapy” 

“เออน่า” ก็มาจากเอเชียจริงๆ นี่เว้ย

สัมผัสเย็นเจี๊ยบจากปลายเท้าลั่นขึ้นไปเกือบถึงสมอง อื้อหือ เย็นโคตร

ภาพธารน้ำแข็งและภูเขาสูงรอบข้างดูยิ่งใหญ่เสียจนเรากลายเป็นมดตัวจ้อยในขณะที่ธรรมชาติใหญ่คับฟ้า แต่ธรรมชาติที่ว่าคับฟ้าดูเหมือนจะไม่ค้ำฟ้าเสมอ เราได้แต่จ้องมอง พยายามเก็บภาพธารน้ำแข็ง กลิ่นไอเย็นและสัมผัสเย็นเจี๊ยบที่ฝ่าเท้าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเก็บไว้ในเมมโมรีการ์ด คงได้แต่บันทึกไว้ในความทรงจำ 

เพิ่งรู้ตัวว่าชีวิตนี้อาจไม่ได้เห็นภาพแบบนี้อีกแล้วถ้าธารน้ำแข็งสีฟ้าละลายหายไปตลอดกาล 

เออ เศร้าเนอะ

AUTHOR