Grazia Gelato and Coffee ความรักและความอร่อยนี้มีอิตาลีเป็นพยาน

Highlights

  • เกรซ–ธนมาศ อัษฎมงคลพันธ์ และ นิโคลา เอเบร์เล่ คือคู่รักและเจ้าของร้าน Grazia Gelato & Coffee คาเฟ่ที่เหมือนยกอิตาลีมาไว้ที่บางกรวย
  • หลังจากไปเรียนปริญญาโทสาขา fashion entrepreneurship ที่มิลาน เกรซตกหลุมรักเสน่ห์ของชีวิตความเป็นอยู่แบบอิตาเลียนอย่างถอนตัวไม่ขึ้น จึงกลับไปเรียนทำเจลาโตอย่างจริงจังที่เมืองเบอร์กาโม และคิดค้นเบสเจลาโตที่เป็นวีแกนสกัดจากไฟเบอร์ผักผลไม้ 5 ชนิด ไม่มีสารเคมี ไม่ใช้สารคงตัว ไม่มีสารปรุงแต่งทั้งรสและสี เพราะอยากให้คนชิมรับรู้รสชาตินั้นๆ มากที่สุด
  • ยังไม่พอ เธอยังได้นิโคลา เอเบร์เล่ แฟนหนุ่มชาวอิตาเลียนซึ่งย้ายมาอยู่ที่ไทยในฐานะหุ้นส่วนและบาริสต้า เข้ามาดูแลเรื่องกาแฟทั้งขั้นตอนการนำเข้าเมล็ดกาแฟเบลนด์จากโบโลญญา คิดเมนูเครื่องดื่มให้ร้านและยืนทำกาแฟด้วยตัวเองทุกแก้ว

ท่ามกลางร้านกาแฟนิวเอจในไทยที่เสิร์ฟกาแฟคุณภาพดีและใส่ใจการผลิตทุกขั้นตอน คาเฟ่ใหม่เอี่ยมที่กินพื้นที่บ้านทั้งหลังอย่าง Grazia Gelato & Coffee ได้เปิดตัวขึ้นบนถนนนครอินทร์โดยไม่มีกาแฟดริปหรือไซฟอนที่หลายคนคุ้นเคย แต่มีจุดเด่นที่เจลาโตเนื้อเนียนและกาแฟรสเข้มที่ทำจากเครื่องเอสเพรสโซที่แม้จะหาได้ทุกหัวมุมถนน แต่เมื่อบวกกับองค์ประกอบแบบอิตาเลียนแท้ ที่นี่จึงกลายเป็นนอสทัลเจียของคนที่ชื่นชอบวัฒนธรรมนี้ได้ไม่ยาก

หลังจากจบด้านสื่อสารมวลชนจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกรซ–ธนมาศ อัษฎมงคลพันธ์ ไปเรียนต่อปริญญาโทสาขา fashion entrepreneurship ที่มิลาน จากที่ไม่ได้ชื่นชอบประเทศนี้มาก่อนแต่เลือกไปเรียนเพราะหลักสูตร เกรซตกหลุมรักเสน่ห์ของชีวิตความเป็นอยู่แบบอิตาเลียนอย่างถอนตัวไม่ขึ้นจนต้องยกความคราฟต์ด้านวัตถุดิบและความใส่ใจในรายละเอียดมาไว้ที่คาเฟ่ย่านบางกรวยแห่งนี้

เกรซใช้ความรู้จากการเรียนมาทำแผนธุรกิจ แผนการเงิน แผนการตลาด และแผนประชาสัมพันธ์ กลับไปเรียนทำเจลาโตอย่างจริงจังที่เมืองเบอร์กาโม และคิดค้นเบสเจลาโตที่เป็นวีแกนสกัดจากไฟเบอร์ผักผลไม้ 5 ชนิด ไม่มีสารเคมี ไม่ใช้สารคงตัว ไม่มีสารปรุงแต่งทั้งรสและสี เพราะอยากให้คนชิมรับรู้รสชาตินั้นๆ มากที่สุดโดยเปลี่ยนรสชาติไปตามแต่ละวัน ตั้งแต่รสซิกเนเจอร์อย่าง Grazia หรืออะโวคาโดผสมนมอัลมอนด์, ช็อกโกแลต, ช็อกโกแลตชิป, เฟอร์เรโร รอชเชอร์, เฮเซลนัต, ไวต์คอฟฟี่, มัตฉะลาเต้, กรีกโยเกิร์ต, ทุเรียนกะทิ และเสาวรสที่เราชอบมากเป็นพิเศษ

นอกจากเจลาโตหลากรส รวมทั้งขนมอบอีกเกือบสิบอย่างที่เกรซอบเองทุกเช้าและพี่ชายอบต่อในรอบถัดๆ ไป เกรซยังได้นิโคลา เอเบร์เล่ แฟนหนุ่มชาวอิตาเลียนซึ่งย้ายมาอยู่ที่ไทยในฐานะหุ้นส่วนและบาริสต้า เข้ามาดูแลเรื่องกาแฟทั้งขั้นตอนการนำเข้าเมล็ดกาแฟเบลนด์จากโบโลญญา คิดเมนูเครื่องดื่มให้ร้านและยืนทำกาแฟด้วยตัวเองทุกแก้ว ทั้งสองคนเจอกันที่คาเฟ่ที่นิโคลาเป็นบาริสต้าอยู่ แต่เพิ่งได้ทำความรู้จักกันหลังเกรซกลับมาเรียนทำเจลาโตจนจบและกำลังจะกลับไทยในอีกไม่กี่วัน

“ตอนเรียนโทอยู่ที่มิลาน เกรซมีร้านโปรดร้านหนึ่งชื่อ Serge Milano เวลาไปจะชอบกินเอสเพรสโซหนึ่งชอตกับขนมคานนอนชิโน (Cannoncino) สี่อัน ไปกินบ่อยมาก พอเวลาผ่านไปก็เกิดความเปลี่ยนแปลง เกรซเลิกกับแฟนแต่ยังบินไปบินมาเพื่อจัดการเรื่องนำเข้ากาแฟกับผงเจลาโต พอกลับไปเราก็กลับไปกินที่นี่เหมือนเดิม” เกรซเล่าให้เราฟังถึงเรื่องราวที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อกลางปีที่แล้ว

“วันนั้นเราถ่ายวิดีโอลงสตอรีในอินสตาแกรมตามปกติแล้วก็ใส่รูปหัวใจซึ่งมันติดเขาที่ยืนทำกาแฟอยู่ แต่ตอนที่ลงไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเขา หลังจากนั้นก็เกิดการสบตากันหลายครั้ง กลับมาบ้านก็เจอ Message Requests หนึ่งอัน เขาทักมาเป็นอีโมจิตารูปหัวใจก็เลยเข้าไปดูถึงรู้ว่าใคร แล้วก็เริ่มคุยกันในนั้นสองวันก่อนกลับไทย วันรุ่งขึ้นเลยเป็นโอกาสเดียวที่จะได้เจอกัน แต่ทั้งสองคนเสร็จธุระดึก ทุกร้านปิดหมดแล้วเลยไปลงเอยที่ดิสโกบาร์ที่มีไฟห้าสีวิบวับ เรานั่งด้วยกัน 3 ชั่วโมงแต่ไม่รู้สึกอึดอัดเลย แล้วคุยกันไม่รู้เรื่องด้วยนะเพราะสกิลพูดภาษาอังกฤษเขาเป็นศูนย์ ส่วนอิตาลีเราประมาณ 5 เต็ม 10 เราเลยต้องคุยกันด้วย Google Translate”

“นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมพูดภาษาอังกฤษเลย” นิโคลาเล่าให้เราฟังด้วยภาษาอังกฤษแบบเขินๆ “ถึงจะคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่องแต่ตอนนั้นผมมีแต่ความรู้สึกดี เรามองตากัน ยิ้มให้กัน แล้วก็คุยกันเรื่องกาแฟ เรื่องช้อปปิ้ง ไม่มีหยุดเลย พอแยกกันผมแทบจะกระโดดกลับบ้าน คุยกับแท็กซี่เหมือนคนบ้าทั้งที่ปกติเป็นคนคุยไม่เก่ง”

“ตอนแรกเรารู้สึกว่าคงแค่ปิ๊งกันธรรมดา วันรุ่งขึ้นกลับไทยก็คงไม่มีอะไรมั้ง แต่ก็รู้สึกนิดๆ ว่าเขาน่ารักดี ไม่เหมือนผู้ชายอิตาลีทั่วไป” เกรซเล่าต่อด้วยรอยยิ้มบางๆ “พอส่งข้อความคุยกันเราก็เลยบอกเขาว่าเราไม่มีเวลามาเล่นนะ ชีวิตเราต้องเดินไปข้างหน้าแล้วนะ กลับไทยไปก็ต้องไปทำงานแล้ว เขาก็บอกว่าเขาก็ไม่ได้เล่น”

“หลังจากนั้น 3 วันเขาบอกว่าเขาจะลาออกจากร้านกาแฟแล้วมาอยู่เมืองไทย เราก็แบบ จะบ้าเหรอ จะทิ้งชีวิตเลยเหรอ บ้าน่า ไม่เชื่อ แต่เขาก็เริ่มทำให้เราเห็นจากที่เขาไม่มีพาสปอร์ตเพราะเป็นคนใน Schengen ไม่เคยออกนอกยุโรปเขาก็ไปทำพาสปอร์ต จองตั๋วเครื่องบิน เราก็แบบเอาแล้วว่ะ มาจริงว่ะ ก่อนเขาจะมาไม่นานเรามีแพลนต้องบินกลับไปคุยงานพอดี เขาก็เลยพาไปบ้านเขา ความรู้สึกก็ยิ่งดีขึ้นไปอีก”

นอกจากนั้นยังมีเรื่องที่เกรซแอบกระซิบมาว่าพอทั้งสองคบกันแล้ว เกรซบังเอิญได้เข้าไปย้อนดูสตอรีในอินสตาแกรมของตัวเองที่ถ่ายที่ร้าน Serge Milano ในปีก่อนหน้าตอนที่ยังเรียนโทอยู่ แล้วพบว่าตัวเองถ่ายติดส่วนใดส่วนหนึ่งของนิโคลาในทุกคลิปโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ

“บางทีก็ติดแขนติดรอยสัก ติดหน้าเขามาตอนที่เขาทำกาแฟ ไม่ก็ตอนที่เขาหยิบขนมคานนอนชิโนมาเสิร์ฟ” เกรซเล่า ส่วนนิโคลานั่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่อยู่ใกล้ๆ จนเราอดเขินตามไม่ได้

หลังจากนิโคลาย้ายมาอยู่เมืองไทย ร้านก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ทั้งการก่อสร้าง การตกแต่ง การวางแผนงานการผลิตเจลาโตและขนมอบ รวมถึงการคิดเมนูเครื่องดื่มที่นิโคลาเข้ามาเติมเต็ม เขาบอกว่าในเอเชียอย่างไทยและฮ่องกง ร้านกาแฟหลายร้านมักจะเสิร์ฟกาแฟที่มีคาแร็กเตอร์ซับซ้อนและมีรสเปรี้ยว แต่เขาชอบกาแฟเข้มๆ แน่นๆ แบบอิตาเลียนมากกว่า ส่วนเกรซก็ชอบคาแร็กเตอร์ของเอสเพรสโซแบบอิตาเลียนที่เธอบอกว่า “แค่ใส่น้ำตาลนิดเดียวก็รู้สึกเหมือนดื่มช็อกโกแลตแล้ว”

ถึงจะอยากฟังเสียงของลูกค้าที่ถามหากาแฟแบบอื่น แต่ทั้งสองเลือกที่จะซื่อสัตย์กับความชอบของตัวเองและคงเอกลักษณ์ของการทำเอสเพรซโซแบบอิตาเลียนเอาไว้ให้ได้มากที่สุด เครื่องดื่มของร้านจึงยืนพื้นที่เมนูคลาสสิกที่รสชาติตรงไปตรงมาอย่าง Ristretto, Espresso, Lungo, Macchiato, Marocchino, Americano และ Caffè Latte แต่ที่ทั้งคู่แนะนำที่สุดคือ Cappucino ที่อาจฟังดูธรรมดา แต่เมื่อเราลองแล้วก็ต้องยอมให้กับฟองนมแบบไมโครโฟม คาแร็กเตอร์ของคาปูชิโนแบบอิตาเลียนที่เนียนจนไม่ติดริมฝีปากเมื่อยกดื่ม

“ถ้าคุณเคยดื่มคาปูชิโนที่อิตาลี คุณจะรู้ว่าด้านบนจะเป็นโฟมสีขาวเนียนแบบนี้เท่านั้น เมืองไทยกับประเทศอื่นอาจจะมีลาเต้อาร์ต แต่ที่ร้านเราไม่มีนะครับ” นิโคลากล่าวก่อนเกรซจะเสริมว่า “เราอยากให้ลองคาปูชิโนจริงๆ ที่ไม่มีลาเต้อาร์ตว่าจะเป็นอย่างไร เพราะเราอยากให้ทุกคนที่เข้ามาที่ร้านรู้สึกเหมือนอยู่ที่อิตาลีมากที่สุด”

ส่วนอีกแก้วที่จิบแล้วสดชื่นจนทำให้เราคิดถึงฤดูร้อนที่อิตาลีคือ Shakerato กาแฟดำใส่น้ำตาลทรายแดง เอาไปเชคกับน้ำแข็งท็อปด้วยผงโกโก้ และตกแต่งด้วยเมล็ดกาแฟ เสิร์ฟในแก้วใสทรงสูง นอกจากนั้นยังมี Caffè Freddo Italiano นมอัลมอนด์โฮมเมดในน้ำแข็งเสิร์ฟคู่กับชอตเอสเพรสโซเข้มข้นให้เราได้เทลงไปเองตามใจชอบ ส่วนเมนูไทยสไตล์สำหรับคนที่ชอบกาแฟเย็นรสหวานมันที่นี่ก็มีเสิร์ฟเช่นกัน

นอกจากเรื่องเจลาโต กาแฟ และขนมอบแล้ว การออกแบบและตกแต่งร้านคืออีกจุดเด่นที่เรียกคนให้แวะเวียนเข้ามาที่ร้านอย่างไม่ขาดช่วงตั้งแต่สามวันแรกที่เปิดร้าน ทั้งภาชนะและของกระจุกกระจิกในตู้กระจกที่ได้มาจากตลาดของวินเทจและญาติของนิโคลา การทำโครงสร้างแบบโค้งเหมือนที่อิตาลี ทั้งคาน เคาน์เตอร์ และโซฟาผ้ากำมะหยี่ในร้านที่มีอยู่นับสิบตัว เจาะผนังเป็นหน้าต่างขนาดใหญ่ให้แสงอาทิตย์เข้ามาลูบไล้ในยามเช้าและยามเย็น คุมโทนสีในทุกมุมของร้าน นำทีมด้วยสีเขียวมะกอกและสีส้มอิฐ รวมทั้งยังตั้งโต๊ะสูงไว้ให้เรายืนจิบกาแฟตามวิถีของชาวอิตาเลียนด้วย

“สิ่งที่เราชอบเหมือนกันอีกอย่างคือสไตล์การแต่งร้านก็เลยไม่มีการทะเลาะกันเกิดขึ้น ถามว่าเอาอันนี้ไหม เอา ชอบอันนี้ไหม ชอบ มันก็เลยลงตัว” เกรซเล่าถึงความสุขในการทำงานกับนิโคลาที่ถึงจะขัดแย้งกันบ้างแต่ก็อยู่ด้วยกันได้ เพราะแพสชั่นที่ทั้งคู่มีให้งานและความรัก

“เราสองคนไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าเรากำลังทำธุรกิจกับคนรัก เราแค่ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ วันไหนใครเหนื่อย อีกคนก็จะตื่นก่อน อีกวันคนหนึ่งอาบน้ำก่อน อีกคนไปคั้นน้ำอัลมอนด์รอ เราว่ามันคือการใช้ชีวิตด้วยกันมากกว่า เวลาทะเลาะกันเราจะแยกกันไปคนละมุม พอผ่านไป 5 นาทีก็จะกลับมาคุยเรื่องงาน เพราะเราทำงานอยู่ เราหยุดคุยกันไม่ได้หรอก อย่างเมื่อวันอาทิตย์มีลูกค้าเยอะมาก พอมาวันจันทร์ก็อยากพักผ่อนก็เลยไปนั่งข้างนอกกัน ซึ่งสุดท้ายก็คุยกันเรื่องงานอยู่ดี คุยกันเรื่องสิ่งที่เกิดขึ้นในร้าน เรื่องสเตปต่อไปที่เราอยากจะทำ”

ในอนาคตจะมีบูทีกของกาแฟ Filicori Zecchini ที่ร้านเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยอยู่บนชั้นสอง นอกจากนั้นทั้งคู่ยังวางแผนทำโรงเรียนสอนทำกาแฟ ทำขนม ทำเจลาโตแคเทอริง และร้านอาหารกับคอกเทลบาร์ที่ชั้นบน เกรซเล่าว่าเป็นความคิดของนิโคลาที่อยากแยกอาหารกับกาแฟให้อยู่คนละพื้นที่ เพราะไม่อยากให้มีกลิ่นอาหารมาปนกับกลิ่นกาแฟ แต่เพราะร้านยังใหม่มากและคนยังไม่พอ ทั้งสองเลยอยากทำมันไปด้วยกันอย่างช้าๆ

“ผมตัดสินใจมาอยู่เมืองไทยเพราะผมใช้ชีวิตอยู่คนเดียวมานาน แล้วพ่อแม่ผมแยกกัน ต่างคนต่างมีครอบครัวใหม่ ส่วนผมก็มาอยู่มิลานคนเดียว พอเธอบอกว่าจะเปิดคาเฟ่ที่นี่แล้วชวนผมมาทำงานผมตอบตกลงทันที ผมรู้สึกว่ามันเพอร์เฟกต์มากแล้วผมก็ไม่มีอะไรจะเสีย” เขาเล่าด้วยสายตามุ่งมั่น “บาริสต้าเป็นอาชีพที่ธรรมดามากที่อิตาลี พอมีโอกาสได้มาทำร้านผมเลยชอบเสนอไอเดียต่างๆ ส่วนเกรซเป็นคนทำให้มันเกิดขึ้น”

“ผมยังจำได้ว่าคืนแรกที่เจอกันผมเปิดคอมพิวเตอร์ให้เกรซดูรูปไอเดียการออกแบบคาเฟ่แบบที่ผมวางแผนไว้ว่าจะทำที่วินเชนซา บ้านเกิดของผม มันคล้ายกับภาพที่เกรซคิดไว้และร้านเราตอนนี้มากเลย” นิโคลาบอกเราพร้อมยิ้มน้อยๆ แล้วกลับไปประจำที่เครื่องเอสเพรซโซสีดำตัวเก่ง ส่วนเกรซเดินกลับไปที่เคาน์เตอร์เพื่อตักเจลาโตใส่ถ้วยสีหวานถ้วยแล้วถ้วยเล่าโดยมีนิโคลายืนอยู่ไม่ไกล เป็นภาพที่ทำให้เรานึกถึงอีกสิ่งหนึ่งที่เกรซได้พูดไว้ตอนเราถามว่าหนึ่งปีที่เตรียมงานมามีความสุขกับอะไรที่สุด

“สิ่งที่ทำให้มีความสุขที่สุดก็คือคนนี้แหละ เรารู้สึกว่าถ้าไม่มีเขา ร้านนี้ก็คงไม่เป็นแบบนี้ เพราะเราสร้างมันมาด้วยกัน”


Grazia Gelato & Coffee

address : 26 หมู่3 ซอยวัดตะเคียน ถนนนครอินทร์

hours : อังคาร-ศุกร์ 8:00-19:00 น. / เสาร์-อาทิตย์ 10:00-19:00 น. / ปิดวันจันทร์

tel. 082-244-4562

instagram : grazia.gelatoandcoffee

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย