เมื่อเราพูดถึงแฟชั่นเครื่องแต่งกายที่นอกเหนือไปจากเสื้อผ้าและรองเท้าแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจไม่แพ้กันก็คือ เครื่องประดับประเภทต่างๆ
ถ้าพูดถึงเครื่องประดับในโลกของสตรีทคัลเจอร์ แล้วมีแบรนด์แบรนด์หนึ่งที่ได้รับการยอมรับและถูกจัดให้อยู่ในหมวดของงาน handicraft ระดับ artisan ชั้นสูงที่ใครหลายคนใฝ่ฝันจะได้ครอบครองสักชิ้น นั่นคือแบรนด์เครื่องประดับที่ชื่อ Goro’s
Goro’s ไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องประดับธรรมดาๆ แต่ได้รับการยอมรับและเคารพยกย่องอย่างสูง เปรียบเสมือนเครื่องรางคุ้มครองที่คอยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่สวมใส่ โดยซ่อนความหมายเชิงสัญลักษณ์ไว้อย่างลึกซึ้ง และจุดเริ่มต้นที่กลายเป็นเหมือนลัทธิย่อมๆ นี้มาจากชายที่ชื่อ Goro Takahashi
โกโระ ทาคาฮาชิ เกิดเมื่อปี 1939 ที่เมืองโตเกียว โดยเขาเป็นน้องชายคนสุดท้องในบรรดาพี่น้องชายล้วนทั้ง 6 คน ตัวทาคาฮาชิเองเริ่มสนใจสิ่งที่วันหนึ่งกลายมาเป็นอาชีพของตัวเขาในอนาคตตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม จากการได้ไปร่วมเข้าค่ายฤดูร้อน และได้พบนายทหารอเมริกันที่มาประจำการที่ญี่ปุ่น เขาสอนทาคาฮาชิให้รู้จักและเรียนรู้เทคนิคการทำเครื่องหนังผ่านคอร์สเรียนในช่วงเวลานั้น
ภายหลังเรียนจบทาคาฮาชิในวัย 16 ปี ได้รับอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ เป็นที่ระลึกจากนายทหารคนดังกล่าว เพื่อให้เขาได้ฝึกฝนทักษะที่สนใจเพิ่มเติมหลังจากมองเห็นความสามารถของเขาที่ยังพัฒนาได้อีก
หลังจากสั่งสมประสบการณ์มาช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทาคาฮาชิก็เปิดร้านของตัวเองเป็นครั้งแรกที่อาโอยาม่า และด้วยความฝังใจที่มีต่อนายทหารอเมริกันคนดังกล่าว ซึ่งได้สร้างความประทับใจและจุดประกายให้กับทาคาฮาชิในวัยหนุ่ม ทำให้เขาออกเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา เพื่อขัดเกลาฝีมือของตนเองเพิ่มเติมในสายงานเฉพาะทางดังกล่าวนี้
เมื่ออายุ 27 ปี เขาเดินทางไปฝึกฝนฝีมือและใช้ชีวิตที่สหรัฐอเมริกาด้วยการไปใช้ชีวิตร่วมกับชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกัน (Native American) หลากหลายเผ่าทั่วสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกันกับที่เริ่มต้นฝึกฝนฝีมือการทำเครื่องประดับเงิน
ระหว่างที่เขาเดินทางและใช้ชีวิตร่วมกับกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ประสบการณ์ได้หล่อหลอมตัวตนของเขาไปกับวิถีการใช้ชีวิตที่อาศัยร่วมกับธรรมชาติ เขาผูกพันกับชนเผ่าที่ชื่อ Lakota จนได้กลายเป็นคนนอกเผ่าคนแรกที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมทางจิตวิญญาณที่เรียกว่า ‘Sun Dance’ ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบูชาตนเองต่อดวงอาทิตย์และธรรมชาติเพื่อกลุ่มของตนเอง ด้วยการสวดและเต้นรอบเสาที่ถูกจัดตั้งขึ้นรวมเวลา 4 วัน
นอกจากนั้นตัวทาคาฮาชิยังได้รับการตั้งชื่อจากหัวหน้าเผ่าว่า ‘Yellow Eagle’ หรือ ‘นกอินทรีเหลือง’ โดยการตั้งชื่อของชนพื้นเมืองอเมริกันจะอิงกับธรรมชาติ เป็นความเชื่อที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณที่ผูกพันกัน ซึ่งนกอินทรีมีความหมายถึงนกที่มาจากฝั่งตะวันออก เช่นเดียวกับทาคาฮาชิที่เดินทางมาจากดินแดนในทิศตะวันออกอย่างประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่สีเหลืองคือสีฝั่งตะวันออกของ medicine wheel อันเป็นแผนภูมิเปรียบเปรยของชนเผ่าพื้นเมืองตามความเชื่อทางจิตวิญญาณและแนวความคิดที่แบ่งลักษณะอุปนิสัยใจคอออกเป็นสีต่างๆ ตามทิศในแต่ละฝั่ง
จากความสัมพันธ์อันแนบแน่นและได้รับการฝึกสอนพร้อมกับสั่งสมประสบการณ์ต่างๆ ที่มีร่วมกับเผ่า Lakota ได้หล่อหลอมตัวตนของทาคาฮาชิจนต่อมากลายเป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักร Goro’s
ภายหลังในปี 1966 ทาคาฮาชิเดินทางกลับมาญี่ปุ่น โดยตัวเขาเองได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากสมาคมผู้ประกอบการอาชีพของชนพื้นเมืองอเมริกันในฐานะ ‘ช่างทำเครื่องเงินอาชีพ’ คนแรกในญี่ปุ่น
ในช่วงเวลานั้นตัวเขาเองค้นพบว่าเทรนด์ความต้องการเครื่องเงินฝีมือชนพื้นเมืองอเมริกันที่นำเข้ามาในญี่ปุ่นนั้นเติบโตและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และตัวเขาเองก็ใช้เวลาตัดสินใจไม่นานที่จะเริ่มต้นทำเครื่องเงินภายใต้ชื่อตัวเองว่า Goro’s
ในปี 1972 ทาคาฮาชิย้ายร้านจากอาโอยาม่ามาที่ย่านโอโมเตะซันโดซึ่งยังคงอยู่มาจวบจนปัจจุบัน ในช่วงเริ่มต้น Goro’s ไม่เคยโฆษณาสินค้า แต่เป็นที่รู้จักด้วยวิธีการบอกต่อแบบปากต่อปากของลูกค้าถึงความประณีตและคุณภาพที่พิถีพิถันด้วยนิสัยของทาคาฮาชิที่เข้าขั้นเพอร์เฟกชั่นนิสต์ ที่ไม่ละเลยและหมั่นท้าทายตัวเองด้วยการฝึกฝนฝีมือให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ทาคาฮาชิเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ตัวเขาเองไม่เคยพอใจกับผลงานของตัวเอง และนั่นกลายเป็นเป้าหมายที่แน่วแน่ของเขา ที่จะพยายามทำผลงานให้ดีขึ้นไปอีกในครั้งถัดไป เพราะเมื่อใดก็ตามที่ตัวเขาพอใจกับผลงานของเขาแล้ว เมื่อนั้นมันก็คือจุดสิ้นสุดของ Goro’s เพราะไม่สามารถจะพัฒนาตัวเองต่อไปได้
ฉะนั้นสินค้าที่มาจากฝีมือของทาคาฮาชิจึงมีความพิเศษเฉพาะและมีรายละเอียดเล็กน้อยที่แตกต่างกันไปต่อให้เป็นของแบบเดียวกันก็ตาม โดยในแต่ละวันเขาผลิตเครื่องเงินได้ในจำนวนที่จำกัดมากๆ เพียงไม่เกิน 5 ชิ้นต่อวัน ซึ่งสวนทางกับความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และนั่นทำให้ราคาสินค้าแต่ละชิ้นของ Goro’s มีราคาสูงมาก ไม่รวมตลาดรีเซลที่ราคาจะขยับเพิ่มขึ้นไปอีกสองถึงสามเท่าเป็นอย่างต่ำ ซึ่งสำหรับนักสะสมแล้วชิ้นงานต่างๆ ที่มาจากฝีมือของทาคาฮาชิก่อนเขาเสียชีวิตนั้นเป็นที่ต้องการอย่างมากและมีราคาสูงมากกว่าปกติ โดยเฉพาะของวินเทจดั้งเดิมทั้งหลาย
Goro’s เป็นที่รู้จักจากสินค้าประเภทเข็มขัด, สร้อยคอ, สร้อยข้อมือ, กระเป๋า และจี้ห้อยคอ โดยใช้วัสดุประเภทต่างๆ อย่าง ทองคำ หินเทอร์ควอยซ์ หนัง และลูกปัดต่างๆ แต่สิ่งที่ทำให้ Goro’s เป็นที่รู้จักในวงกว้างและได้รับการยอมรับมากที่สุดก็คือ เครื่องประดับเงิน ซึ่งทาคาฮาชิให้ความสำคัญและหลงใหลกับมันมากที่สุด
เขาเคยอธิบายเอาไว้ว่า เครื่องประดับเงินนั้นมีอายุการใช้งานและสามารถอยู่ได้ยืนยาวได้ถึงหลายพันปี และตัวเขาเองภูมิใจมากที่ผลงานของตัวเองจะคงอยู่ตลอดไป ต่อให้ตัวเองจากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม
โกโระ ทาคาฮาชิ เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2013 โดยครอบครัวและลูกของเขาทั้งสองคนยังคงสานต่อธุรกิจและสืบสานเจตนารมณ์ของทาคาฮาชิมาจนถึงปัจจุบันได้เหมือนอย่างเมื่อสมัยที่เขายังคงมีชีวิตอยู่
สินค้าหลายๆ อย่างภายใต้แบรนด์ Goro’s นั้นแฝงไปด้วยความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่มีอิทธิพลต่อตัวทาคาฮาชิ โดยเฉพาะของที่กลายมาเป็นไอคอนคลาสสิกของ Goro’s อย่างจี้รูปนกอิทรี จี้รูปขนนก และ จี้ medicine wheel ที่สื่อถึงช่วงเวลาที่ทาคาฮาชิใช้ชีวิตร่วมกับชนเผ่า Lakota โดยความหมายเชิงสัญลักษณ์ของนกอินทรีนั้นสื่อถึงความมีเกียรติอันสูงส่งและความสง่างาม ในขณะที่ขนนกซึ่งชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันนิยมมอบให้กันในพิธีกรรมต่างๆ เพื่ออวยพรให้แก่ผู้รับ ก็มีความหมายสื่อถึงความศักดิ์สิทธิ์ ความกล้าหาญ ความไม่เกรงกลัวต่อสิ่งใดและความสูงส่ง ส่วน medicine wheel ที่เป็นสัญลักษณ์รูปวงกลมและกากบาทตรงกลาง หมายถึงความรู้ทั้งหมดทั้งมวลในจักรวาล โดยส่วนของวงกลมหมายถึงวังวนของการเกิดและความตาย ในขณะที่กากบาทหมายถึงการแบ่งแยกออกซึ่งกันและกันระหว่างมนุษย์และพระอาทิตย์
ความพิเศษอีกอย่างของ Goro’s คือ การเลือกลูกค้าที่มีภาพลักษณ์ที่เหมาะสมกับ Goro’s ในทุกๆ วัน (ยกเว้นวันพุธที่ร้านปิด) ตั้งแต่ช่วงเช้าตรงหน้าร้าน Goro’s ที่ Omotesando จะมีคนมารอคิวตรงข้ามร้านอยู่เป็นประจำ เพื่อหวังที่จะได้รับโอกาสเข้าไปในร้านเพื่อซื้อสินค้าของ Goro’s ซึ่งพนักงานจะเป็นคนเลือกและตัดสินใจว่าใครที่มีสิทธิที่จะได้ซื้อสินค้าของ Goro’s
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ Goro’s ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของตัวเองเป็นอย่างมาก พนักงานจึงจะเป็นคนตัดสินใจว่าลูกค้าคนดังกล่าวมีสไตล์และภาพลักษณ์ที่เหมาะสมกับ Goro’s หรือเปล่า ฉะนั้นต่อให้มีเงินไปซื้อที่ร้าน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีสิทธิซื้อเสมอไป นอกจากนั้นวิธีการที่ Goro’s ใช้คัดกรองผู้ซื้อคือ การใช้ลอตเตอรี่จับฉลากด้านนอกร้านเพื่อหาคนที่ได้รับสิทธิซื้อสินค้าของ Goro’s ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว พนักงานภายในร้านจะเป็นผู้ตัดสินใจอีกทีว่า ลูกค้าคนดังกล่าวจะได้รับสิทธิซื้อสินค้าหรือไม่ ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีสิทธิซื้อสินค้าได้ทุกอย่าง เพราะสินค้าพิเศษบางอย่างก็สงวนเอาไว้สำหรับคนที่ทาง Goro’s เห็นว่าเหมาะสมเท่านั้น นอกจากนั้นทางร้านยังรับเฉพาะเงินสดเพียงอย่างเดียว ระเบียบที่ดูยุ่งยากดังกล่าวนี้ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมานานสำหรับ Goro’s
บรรดา celebrities ชื่อดังมากมายต่างก็เป็นแฟนของ Goro’s หนึ่งในบุคคลที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ ดาราและนักร้องชื่อดังชาวญี่ปุ่น Takuya Kimura จากวง SMAP ที่ยกย่องและเปรียบ Goro’s เป็นเหมือนเครื่องรางประจำตัวมากกว่าแค่เครื่องประดับ โดยเฉพาะจี้รูปนกอินทรีที่เจ้าตัวเคยบอกเอาไว้ว่า ตนเองรู้สึกมีความมั่นใจและความกล้าเพิ่มมากขึ้นเมื่อใส่จี้ดังกล่าว นอกจากนั้นแฟนพันธ์แท้อื่นๆ ยังมีนักร้องชื่อดังอย่าง John Mayer และ Eric Clapton เจ้าพ่อสตรีทแฟชั่นของญี่ปุ่นอย่าง Hiroshi Fujiwara และดาราชื่อดังชาวจีน Shawn Yue และอื่นๆ อีกมากมาย เป็นต้น
ถึงวันนี้ Goro’s ไม่ได้เป็นแค่เครื่องประดับเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่มันกลายเป็นผลงานศิลปะชั้นสูงอีกรูปแบบหนึ่งที่มีคุณค่าในเชิงสัญลักษณ์และกลายเป็นเหมือนเครื่องรางที่ผูกพันและยึดเหนี่ยวทางจิตใจให้กับคนที่หลงใหลผลงานของทาคาฮาชิ ด้วยเจตนารมณ์ที่ยังคงให้ความศรัทธาต่อวัฒนธรรมและรากฐานดั้งเดิมของวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกัน ผ่านประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน และส่งผ่านจิตวิญญาณของตัวเองภายใต้สัญลักษณ์นกอินทรีบนทุกๆ ชิ้นงานที่เปรียบแทนตัวตนของอินทรีอำพันที่ชื่อโกโระ ทาคาฮาชิ