อันว่าด้วยปีที่ไม่มีเทศกาลหนังเมืองคานส์

Highlights

  • เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Festival de Cannes) คือมหกรรมภาพยนตร์โลกที่ทรงอิทธิพลที่สุด จัดต่อเนื่องทุกปีในช่วงเดือนพฤษภาคมมาหลายทศวรรษ
  • ปีนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 52 ปีที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์จะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่อย่างโควิด-19 คานส์จึงประกาศ 'เลื่อน' การจัดงานออกไป จนสุดท้ายไม่มีการจัดงานในปีนี้
  • สิ่งที่คานส์ประกาศว่าจะทำในตอนนี้หลังจากเทศกาลต้องยกเลิกคือ การประกาศรายชื่อหนังที่เข้าข่ายได้รับการคัดเลือกในปีนี้และแปะตรา Cannes 2020 ให้ ทั้งนี้เพราะการรับรองจากคานส์ (ถึงจะไม่มีเทศกาลจริง) มีพลังในการส่งเสริมหน้าตาและโอกาสทางธุรกิจของหนังเรื่องนั้นๆ
  • เมื่อไม่มีคานส์อาจหมายถึงการที่วงการภาพยนตร์โลกถูก disrupt ครั้งมโหฬาร อุตสาหกรรมภาพยนตร์โลกจะมีทิศทางยังไงในวันที่ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงเช่นนี้

เดือนพฤษภาคมตามปฏิทินภาพยนตร์ปกติที่ยืนยาวมาหลายทศวรรษ นี่คือเดือนของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Festival de Cannes) มหกรรมภาพยนตร์โลกที่ทรงอิทธิพลที่สุด งานที่เป็นชีพจรของทิศทางหนังโลกและเป็นเบ้าหลอมรสนิยมคนดูหนังในแต่ละช่วงเวลา เป็นงานแสวงบุญของนักวิจารณ์และสื่อ เป็นงานพรมแดงให้ดาราเปลือยไหล่เดินสะบัดชุด และเป็นตลาดกลางสี่มุมโลกแสนคึกคักที่กระจายภาพเคลื่อนไหวชุดใหม่จากผู้สร้างไปสู่ผู้ชมในดินแดนต่างๆ

แต่ไม่ใช่ปีนี้ นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 52 ปีที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์จะไม่เกิดขึ้น

เมื่อไวรัสเริ่มตีโอบยุโรปจนสะบักสะบอม คานส์ประกาศ ‘เลื่อน’ การจัดงานจากเดือนพฤษภาคมเป็นกรกฎาคม แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายช้ากว่าที่ทุกคนคิด (หรือแสร้งคิด เพราะจริงๆ ก็น่าจะรู้กันอยู่แล้ว) รัฐบาลฝรั่งเศสออกกฎห้ามจัดอีเวนต์ไปถึงสิงหาคม และสุดท้ายคานส์ก็ออกมายอมรับว่าปีนี้คงจัดไม่ได้ และจะไม่มีการจัด ‘เทศกาลออนไลน์’ ให้แสลงใจผู้แสวงบุญสายภาพยนตร์นับหมื่นที่ปกติต้องจาริกข้ามน้ำไปยังเมืองชายฝั่งทางตอนใต้ของฝรั่งเศสทุกปี

ภูมิทัศน์ภาพยนตร์โลกในปีนี้ที่ไม่มีเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์คงระส่ำระสาย ข่าวพรมแดงที่ดาราไทยและเทศประโคมโหมทุกปีราวกับเป็นสิ่งมหัศจรรย์คงหยุดกวนใจเราได้ในครั้งนี้ ส่วนตัวผู้เขียนเอง นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปีที่จะไม่ได้ไปร่วมงาน (ไม่อาจหาญเดินพรมแดง แต่ไปหมกอยู่ที่โรงของสื่อในด้านข้าง)

คำถามคือ ‘เทศกาลภาพยนตร์’ สำคัญยังไงต่อคนดูและต่อระบบการถ่ายเทหนังไปรอบโลก เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ที่ถูกวางบนหิ้งราวกับเป็นสรณะก้าวขึ้นมาเป็นงานที่มีอิทธิพลขนาดนี้ได้ยังไง–และจะยังคงสถานะนั้นต่อไปได้หรือไม่ในโลกที่เผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงเช่นตอนนี้

 

บุญมโหฬารรูปเงาทั่วโลก

งานเทศกาลหนังในโลกมีหลายร้อยเทศกาล ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด แคว้น ประเทศ ไปถึงระดับโลก เมืองเล็กๆ ในอเมริกาหรือยุโรปหลายเมืองต่างมีเทศกาลหนังของตัวเอง เป็นงานทางวัฒนธรรมหรือบันเทิงสำหรับคนในท้องถิ่น เทศกาลใหม่ๆ เกิดขึ้นในโลกตลอดเวลา ตามแต่กำลังทรัพย์ของผู้มีอุปการคุณ (จะเป็นรัฐ เมือง หรือเอกชนก็ตาม) เช่นของไทยเองก็มีเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนที่จัดมาราว 4 ปี พม่าก็เริ่มมีเทศกาลหนังหลังประเทศผ่อนคลายมากขึ้น ที่หลวงพระบางก็มีเทศกาลหนัง เรียกตามชื่อภาษาลาวว่า งานบุญมโหฬารรูปเงาหลวงพระบาง จัดมาได้เกือบสิบปีทั้งๆ ที่เมืองริมโขงนี้ไม่มีโรงหนังสักโรง แต่ใช้วิธีฉายกลางแปลงสลับกับฉายในห้องประชุม

แต่ในบรรดาเทศกาลทั้งหลายในโลก มีเทศกาลระดับ ‘เมเจอร์’ (นึกถึงทัวร์นาเมนต์เทนนิส) หรือเทศกาลที่สำคัญมากระดับโลกอยู่เพียง 3-4 เทศกาล ได้แก่ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโทรอนโต จะเห็นได้ว่าเป็นเทศกาลในเมืองฝรั่งทั้งหมด ฝั่งเอเชียเทศกาลที่น่าจะพอเทียบชั้นได้คือเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานที่เกาหลีใต้ บางคนอาจจะถามว่าแล้วเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ล่ะ ได้ยินชื่อบ่อยๆ คำตอบคือซันแดนซ์เน้นแต่หนังอเมริกันเป็นหลัก ในขณะที่เทศกาลใหญ่อื่นๆ รองรับหนังจากทั่วโลก

แต่ในบรรดาเทศกาลระดับเมเจอร์ด้วยกันเอง คานส์ถือว่ายืนตระหง่านให้เพื่อนๆ ได้อิจฉามาหลายสิบปีด้วยเหตุผลที่เดี๋ยวจะว่าต่อไป

ก่อนอื่นขอย้อนมาคุยต่อสักนิดว่า เทศกาลที่ว่ามีเป็นร้อยๆ นี่จัดขึ้นมาทำไม อย่างที่เกริ่นไว้เทศกาลหนังทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น เป็นงานทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการดูหนังที่นอกเหนือไปจากหนังปกติที่เข้าโรง ให้ผู้ชมได้ปะทะกับหนังจากที่อื่นๆ ในโลกที่ไม่มีโอกาสดูได้ง่ายๆ หรือจะเป็นงานที่จัดเพื่อเหตุผลทางธุรกิจ เพื่อให้มีการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนหนังใหม่ หรือบางที่ก็จัดเทศกาลหนังเพื่อโปรโมตเมืองให้มีสีสันหรือเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังมีเทศกาลเฉพาะทางอื่นๆ เช่น เทศกาลหนัง LGBT เทศกาลหนังสิทธิมนุษยชน เทศกาลหนังสารคดี เทศกาลหนังชนเผ่า ฯลฯ บางเมืองมี 3-4 เทศกาลเวียนกันจัดในแต่ละเดือน หากจะสรุปให้เห็นภาพ เทศกาลหนังเป็นเครื่องมือที่ใช้ส่งเสริมความหลากหลายของวัฒนธรรมการดูหนังและเป็นการตอบโต้หรือวิพากษ์วิจารณ์กลายๆ ต่อพลังไร้เทียมทานของโรงงานผลิตหนังฮอลลีวูด (และหนังออสการ์) ที่ครอบงำรสนิยมคนดูแทบทั้งโลกไปแล้ว

ถ้าใครเกิดทันเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ (Bangkok International Film Festival) ที่มีขึ้นระหว่างปี 2544 ถึงประมาณปี 2550 คงจำได้ว่างานของเราจัดขึ้นด้วยจุดประสงค์หลักคือเพื่อโปรโมตการท่องเที่ยว แต่ก็ทำให้นักดูหนังในไทยได้อานิสงส์ชมหนังดังๆ ในช่วงนั้นอยู่มาก แถมทางการยังประกาศฝันเฟื่องว่าจะปั้นให้เทศกาลหนังกรุงเทพฯ ก้าวขึ้นมาวัดระดับกับเทศกาลปูซาน น่าเสียดายที่งานดันเผชิญวิบากกรรมอันเกิดจากคดีคอร์รัปชั่นอื้อฉาวเมื่อข้าราชการไทยระดับสูงไปรับสินบนจากผู้รับจ้างจัดงานชาวอเมริกัน เป็นข่าวใหญ่โตระดับโลกและศาลทั้งสองประเทศตัดสินแล้วว่ามีความผิดจริง กลายเป็นกรณีศึกษาโด่งดังว่าด้วยด้านมืดของเทศกาลภาพยนตร์

 

ใครๆ ก็อยากขึ้นคานส์

เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เริ่มต้นในปี 1939 โดยฝรั่งเศสต้องการงานใหม่เพื่อแข่งขันกับเทศกาลหนังเวนิส (ซึ่งเป็นเทศกาลหนังที่เก่าแก่ที่สุดในโลก) เทศกาลหนังเวนิสในตอนนั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายฟาสซิสต์ ถึงขั้นที่ว่าทั้งมุสโสลินีและฮิตเลอร์เข้ามาแทรกแซงว่าหนังเรื่องไหนควรจะได้รางวัลเพื่อเป็นการโฆษณาชวนเชื่ออุดมการณ์ของพวกตน แต่ประวัติศาสตร์ช่วงนั้นช่างพลิกผัน เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งแรกเปิดงานไปได้คืนเดียวก็ต้องยกเลิกเพราะเยอรมนีบุกโปแลนด์ทำให้สงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้น งานที่จัดเตรียมไว้เป็นหมันทั้งหมด ส่วนดาราฮอลลีวูดมากมายที่นั่งเรือสำราญข้ามฝั่งมหาสมุทรมาจากอเมริกาเป็นอันต้องแยกย้ายกลับบ้าน

งานมาเริ่มใหม่หลังสงครามเมื่อปี 1946 ดำเนินต่อมาเรื่อยๆ อย่างแข็งขัน สร้างความน่าเชื่อถือและสนับสนุนผู้กำกับหนังใหม่ๆ ที่มีบทบาทในช่วงทศวรรษที่ 50 และ 60 จนมาถึงปี 1968 ที่งานต้องสะดุดอีกครั้งเมื่อเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ทั่วฝรั่งเศส ผู้กำกับหนังสายกบฏบุกมาที่งานเพื่อประท้วงว่าคานส์จะจัดต่อไปทำไม ภาพยนตร์จะสำคัญได้ยังไงในสภาวะแห่งการเรียกร้องทางสังคมอันรุนแรงเช่นนี้ สุดท้ายงานก็ต้องยกเลิกกลางคันหลังจากฉายหนังไปได้ไม่กี่เรื่อง นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่คานส์ไม่เกิดขึ้นตามกำหนดการ–ก่อนสิ่งเดียวกันจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปีนี้

หากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปีนี้ไม่ถูกไวรัสไล่จนต้องเลิก จะเป็นงานครั้งที่ 73 (ครั้งที่แล้วรางวัลปาล์มทองคำตกเป็นของ Parasite) และเช่นเคย ผู้เข้าร่วมงานน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 40,000 คนดังที่เป็นมาตลอดในช่วง 10 ปีหลัง สาเหตุที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เป็นงานที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก คนทำหนังทุกคนต่างฝันว่าสักวันจะมีหนังของตนได้รับคัดเลือกมาฉายที่นี่ เป็นงานมีผู้เข้าร่วมมากมายจนแน่นเมือง มีนักข่าวหลายพันคนมาทำข่าว และมีบรรยากาศฟู่ฟ่าหรูหราจนบางครั้งน่าหมั่นไส้ ทั้งหมดนี้มาจากปัจจัยหลายอย่างทั้งในแง่ศิลปวัฒนธรรม ธุรกิจ และปัจจัยที่ขอเรียกว่า glamour effect

ในแง่ศิลปะ คานส์ล้อไปกับบุคลิกทางวัฒนธรรมของฝรั่งเศส ที่เป็นดินแดนของคนบ้าหนังและบูชาภาพยนตร์ในฐานะศิลปะอันเป็นเอกเทศ ผู้กำกับคนสำคัญในโลกช่วง 40-50 ปีหลังต่างเคยผ่านเวทีคานส์มาแล้ว เรียกว่าได้มา ‘เจิม’ ที่นี่กันหมด ไม่ว่าจะฝั่งอเมริกา ยุโรป เอเชีย หรือแม้แต่ไทย แต่ปัจจัยสำคัญอีกประการคือการที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ริเริ่ม ‘ตลาดภาพยนตร์’ (Marché du Film) ขึ้นในปี 1959

ตลาดหนังก็เหมือนตลาดสินค้านานาชาติอื่นๆ คือที่ที่บริษัทขายหนังมาเปิดบูทขายสินค้าที่ตนผลิต ดังนั้นนอกเหนือไปจากส่วนที่เป็นงานศิลปะ อันหมายถึงหนังที่ได้รับเชิญให้มาประกวดหรือฉายเรียกเสียงวิจารณ์ คานส์ยังมองเห็นว่าโลกของภาพยนตร์มีมิติของการค้าอยู่ด้วยอย่างแยกไม่ได้ ตลาดหนังที่คานส์จึงเติบโตและมีผู้ซื้อ-ขายเดินทางมาร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ คนทำหนังไทยบางคนบุกบั่นไปขายหนังที่คานส์ตั้งแต่ 30 กว่าปีก่อน และในช่วง 20 ปีหลังบริษัทหนังในไทยไปออกร้านที่ตลาดเมืองคานส์แทบจะครบทุกบริษัททุกปี

ส่วนปัจจัย glamour effect ก็ตามนั้น พรมแดงของคานส์เป็นพรมแดงแห่งตำนาน เป็นทางเดินทอดขึ้นบันไดยาวเพื่อเข้าสู่ Grande Theatre Lumiere ความอลังการของพื้นที่ เรื่องราวที่สั่งสม พลังของภาพและสื่อที่ทำให้คนที่ได้เดินพรมแดงคานส์กลายเป็นเทพเป็นดาราไปเสียทุกคน (ทั้งที่ไม่ใช่) ถูกใช้เพื่อเปล่งราศีแห่งความเวอร์วังของเทศกาลคานส์ยิ่งๆ ขึ้นทุกปี จนกลายเป็นว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้ติดตามเรื่องภาพยนตร์ ไพล่ไปคิดว่าคานส์คืองานพรมแดงหรืองานแสดงแฟชั่น โดยไม่สนใจว่าเหนืออื่นใดนี่คืองานแสดงภาพยนตร์และซื้อ-ขายภาพยนตร์

ด้วยปัจจัยเหล่านี้กลไกของภาพยนตร์โลกจึงหมุนไปด้วยเลือดที่สูบฉีดจากหัวใจที่เมืองคานส์ การที่งานไม่สามารถจัดได้ทำให้หนังจำนวนมากไม่มีที่เปิดตัว โดยเฉพาะหนังฝรั่งเศส ส่วนหนังอาร์ตจากที่อื่นๆ ของโลกก็ต้องการเทศกาลใหญ่ๆ เช่นคานส์ เพื่อสร้างโปรไฟล์ ส่วนตลาดซื้อ-ขายหนังที่ไม่ขยับ ทำให้เงินไม่เขยื้อน ธุรกิจหนังทั้งโลกก็ชะงักตามไปด้วย ถึงแม้คานส์จะย้ายส่วนที่เป็นตลาดไปจัดออนไลน์ในปีนี้ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีผู้เข้าร่วมมากเท่าเดิมหรือจะประสบผลสำเร็จเหมือนเดิมหรือไม่

สิ่งที่คานส์ประกาศว่าจะทำในตอนนี้หลังจากเทศกาลต้องยกเลิกคือ การประกาศรายชื่อหนังที่เข้าข่ายได้รับการคัดเลือกในปีนี้และแปะตรา Cannes 2020 ให้ ทั้งนี้เพราะการรับรองจากคานส์ (ถึงจะไม่มีเทศกาลจริง) มีพลังในการส่งเสริมหน้าตาและโอกาสทางธุรกิจของหนังเรื่องนั้นๆ

ฟังดูอาจจะเหมือนคานส์ตั้งตัวเป็นผู้ให้คุณให้โทษ เป็นนิ้วเพชรที่ชี้เป็นชี้ตายให้หนัง แต่ในความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้นอยู่ไม่น้อย อีกทั้งคานส์ยังต้องช่วยแบกอนาคตของหนังฝรั่งเศสที่พึ่งพารัศมีในการพยุงตัวให้รอดปลอดภัยไปจากภัยไวรัสครั้งนี้

การไม่มีเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ไม่ได้แปลว่าไม่มีเพียงแค่พรมแดงและข่าวดารา แต่หมายถึงการที่วงการภาพยนตร์โลกถูก disrupt ครั้งมโหฬาร แน่นอนว่าโลกนี้ยังมีเทศกาลอื่น และแน่นอนว่าเรายังดูหนังสตรีมมิงได้ แต่วัฒนธรรมการชมภาพยนตร์และวงจรธุรกิจหนังในปีที่ไม่มีเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เป็นบททดสอบใหม่ที่ยังไม่มีใครมองออกจริงๆ ว่าจะหนักหนาสาหัสขนาดไหน และมนต์เสน่ห์เรืองรองที่สร้างมาตลอด 7 ทศวรรษจะช่วยให้คานส์กลับมาเป็นหัวใจของอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลกได้อย่างรวดเร็วและไร้บาดแผลได้เพียงใด

AUTHOR