ตามไปดูเทศกาลศิลปะที่เมืองท่าแสนพิเศษ Yokohama Triennale 2017

ความทรงจำของเราที่มีต่อโยโกฮามา เมืองหลวงของจังหวัดคานากาวะ ประเทศญี่ปุ่น คือเมืองที่มีอากาศแสนดี มีพื้นที่สาธารณะให้ชาวเมืองออกมานั่งรับลมเย็นๆ มองชิงช้าสวรรค์ขนาดใหญ่ริมแม่น้ำ เดินเล่นในโกดังอิฐสีแดงที่เป็นเหมือนแลนด์มาร์กของเมือง แต่ถ้าลองไล่เรียงดูนิทรรศการและอีเวนต์สนุกๆ ที่จัดขึ้นที่โยโกฮามา เราพบว่าเมืองท่าแห่งนี้กำลังขับเคลื่อนตัวเองสู่การเป็นเมืองศิลปะและความคิดสร้างสรรค์แห่งหนึ่งของแดนปลาดิบ ตั้งแต่เทศกาลการแสดงระดับโลก Performing Arts Meeting in Yokohama (TPAM 2017) ที่จัดไปเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หรืองานที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 1 – 5 พฤศจิกายนอย่าง Smart Illumination Yokohama 2017 รวมถึง Yokohama Triennale 2017 ที่เราจะพามาตามดูกันที่ตอกย้ำว่าโยโกฮามากำลังก้าวสู่ศูนย์กลางของศิลปะที่แท้จริง

Yokohama Triennale คืออะไร

เทศกาลศิลปะ Yokohama Triennalle จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2001 และจัดขึ้นทุกๆ 3 ปีที่เมืองโยโกฮามา ในปี 2017 นี้เป็นครั้งที่ 6 ของเทศกาลที่รวบรวมผลงานของศิลปินจากแดนปลาดิบและศิลปินนานาชาติมาจัดแสดง รวมถึงจัดงานเสวนา กิจกรรมฉายหนัง พร้อมร่วมมือกับกลุ่มศิลปินอื่นๆ ที่จัดกิจกรรมในช่วงเวลาเดียวกันมาเจอกันเพื่อสานสัมพันธ์อันดีด้านศิลปวัฒนธรรม

Yokohama Trienale 3 ครั้งแรก (2001, 2004, 2007) จัดโดย Japan Foundation จนครั้งที่ 4 ในปี 2011 เป็นปีแรกที่เมืองโยโกฮามาขอเป็นเจ้าภาพด้วยตัวเอง และใช้พื้นที่ของ Yokohama Museum of Art เป็นพื้นที่จัดแสดงงานหลัก พร้อมสร้างสรรค์บรรยากาศของโยโกฮามาให้คึกคักด้วยงานศิลปะทั่วทั้งเมือง

Yokohama Triennale 2017 จัดขึ้นทำไม

ธีมงานของ Yokohama Triennale 2017 คือ Islands, Constellations & Galapagos ที่อ่านชื่อก็รู้สึกเหมือนเราหลุดไปอยู่บนเกาะที่ได้กลิ่นทะเลลอยมาจากที่ไหนสักแห่ง เพราะโยโกฮามามีฐานะเป็นอดีตเมืองท่าที่สำคัญของญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยเอโดะที่เปิดรับทั้งสินค้าและชาวต่างชาติ ผู้มาพร้อมวัฒนธรรมแสนหลากหาย จึงไม่มีที่ไหนเหมาะกับการจัดเทศกาลศิลปะที่จะบอกเล่าความสัมพันธ์และเอกลักษณ์ของแต่ละชนชาติได้ดีไปกว่าโยโกฮามาอีกแล้ว

โฟกัสหลักของเทศกาลปีนี้อยู่ที่ 2 คำคือ ‘Connectivity’ และ ‘Isolation’ โดยงานศิลปะของศิลปินแต่ละคนล้วนพูดถึงหัวข้อใหญ่ๆ ที่โลกเราหรือประเทศเขากำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการอพยพของผู้ลี้ภัย สถานการณ์ทางการเมือง การออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือเรื่องผลกระทบต่อธรรมชาติที่เราต้องรับมือและสื่อสารกัน ไม่ใช่สนใจแค่ปัญหาที่ประเทศตัวเองกำลังเผชิญ ศิลปินยังต้องทำความเข้าใจกับสถานการณ์โลกและเชื่อมโยงเข้ามาให้ได้ด้วย

มีอะไรใน Yokohama Triennale 2017 ให้ดูบ้าง

“เยอะมากกกก” คงเป็นคำตอบแบบกำปั้นทุบดินไปหน่อย แต่ความประทับใจของเราก็อยู่ที่การได้เดินชมผลงานศิลปะหลากสไตล์ หลายขนาด และมากความหมาย ของศิลปินที่มาร่วมเทศกาลกว่า 40 คน ที่ถึงจะไม่รู้จักชื่อหรือเคยดูผลงานมาก่อน แต่งานหลายชิ้นกลับเชื่อมโยงกับเราได้ดี ยกตัวอย่างเป็นน้ำจิ้ม ผลงานที่ใครเดินมาก็ต้องเห็นคือผลงานของอ้าย เว่ยเว่ย (Ai Weiwei) ศิลปินชาวจีนสุดขบถที่เอาเสื้อชูชีพมาพันรอบเสาด้านหน้า Yokohama Museum of Art เพื่อสื่อถึงสถานการณ์การอพยพเข้าประเทศของผู้ลี้ภัยในยุโรปก็สร้างบรรยากาศอุ่นเครื่องให้เราแล้ว หรืองานง่ายๆ อย่างบอร์ดที่โชว์ว่าถ้าเราพิมพ์คำว่า Why is? แล้วต่อด้วยชื่อประเทศในกูเกิล จะเจอคำถามว่าอะไรขึ้นมาเป็นท็อปลิสต์บ้าง ดูเอาเองกันในรูปนะ

เราหยิบบางงานที่ชื่นชอบและประทับใจมาบอกเล่ากันสักเล็กน้อย เผื่อจะกระตุ้นให้ใครอยากตามไปดูบ้าง

01 Fossil Necklace – Katie Paterson
Born in Glasglow, UK / Lives and works in Berlin, Germany

สร้อยคอฟอสซิลที่อนุญาตให้เราหยิบแว่นขยายมาส่องฟอสซิลทีละชิ้นแบบชัดๆ Katie Paterson เป็นทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ ดาราศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ที่รวบรวมฟอสซิลกว่า 170 ชิ้นจากสถานที่และช่วงเวลาต่างๆ มาร้อยเรียงตามไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์เป็นสร้อยสุดสวย แถมยังระบุลงไปชัดๆ อีกด้วยว่าชิ้นไหนมาจากยุคไหน ขุดค้นเจอที่ใด จะเรียกว่านี่คือสร้อยคอที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของโลกเราก็คงไม่ผิด

02 Tunnel – Mark JUSTINIANI
Born in Bacold, Philippines / Lives and works in Manila, Philippines

ถึงดูภายนอกงานนี้จะธรรมดาแต่กลับไม่ธรรมดา ศิลปินสร้างชิ้นงานรางรถไฟขนาดใหญ่จัดแสดงไว้ในกระจกที่เป็นเหมือนอุโมงค์ให้เรามองลึกไปไม่สิ้นสุด จนฉงนสงสัยว่าอุโมงค์จะยาวไปถึงไหน แต่พอลองเดินไปมองด้านหลังผนังกลับเป็นห้องฉายหนังธรรมดาจนเหมือนว่าอุโมงค์นี้ไม่มีอยู่จริงอย่างนั้นเลย ความสนุกของเราคือใครเดินมาดูงานนี้ก็ต้องลองแวะเข้าไปดูว่าหลังผนังมีอะไรแล้วก็งงไปตามๆ กัน

03 Studio Calendar – Rob PRUITT
Born in Washington, D.C., USA / Lives and works in New York, USA

ด้วยพื้นเพที่เป็นคนอเมริกัน Pruitt สังเกตการณ์ในระยะเวลา 8 ปีที่บารัค โอบามา (Barack Obama) เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและวาดรูปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นทุกวันๆ จนได้มาเป็นภาพวาด 2,922 ภาพ แต่ที่เราชอบมากคือเธอยังต่อยอดงานออกมาเป็นปฏิทินรายเดือนที่ทุกช่องบันทึกไว้หมดว่าเกิดอะไรบ้างในวันนั้นๆ เป็นป๊อปอาร์ตที่ดูเพลินมากแถมยังบันทึกประวัติศาสตร์ของการเมืองสหรัฐอเมริกาไว้ได้อย่างดี

04 Playwood Shinchi – UJINO
Born, lives and works in Tokyo, Japan

นี่คืองานที่ชวนทุกคนในห้องมารวมกันอยู่ตรงกลางแบบไม่ตั้งใจ เพราะทุกคนจะรอชมการแสดงสดของเหล่าข้าวของเครื่องใช้ในบ้านอย่างเครื่องปั่นน้ำผลไม้ ล้อจักรยาน โคมไฟ ว่าจะสร้างสรรค์เสียงดนตรีอิเล็กทรอนิกตื้ดๆ ตอนไหนและยังไง เป็นอินสตอลเลชันอาร์ตสนุกๆ ที่น่าสนใจเพราะศิลปินจัดวางข้าวของเหล่านี้เป็นเหมือนประติมากรรมที่อยู่บนเวทีคอนเสิร์ต จัดแสงสปอตไลต์ฉายลงไปเหมือนว่ามันคือนักดนตรีรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองจริงๆ

05 A Walk in Fukushima / Don’t Follow the Wind

งานจากกลุ่มศิลปินญี่ปุ่นและนานาชาติ Don’t Follow the Wind ที่เคยลงไปสำรวจเมืองฟุกุชิมะเมื่อ 4 ปีให้หลัง หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อเดือนมีนาคม 2015 และจัดนิทรรศการพาไปดูบางพื้นที่ที่ยังคงไม่ถูกฟื้นฟูจากเหตุการณ์นั้น ซึ่งในเทศกาลนี้ พวกเขาต่อยอดงานออกมาเป็นกล่องเฮดเซ็ตหน้าตาประหลาด ที่บันทึกภาพพื้นที่แบบ 360 องศาจนเหมือนว่าเราได้อยู่ในพื้นที่นั้นจริงๆ เราจะได้เห็นว่าที่นั่นเกิดอะไรขึ้น ถูกฟื้นฟูยังไง หรือมันถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ขนาดไหน บอกไว้ก่อว่าคนต่อคิวรอดูเยอะมาก เผื่อเวลากันไว้ดีๆ

ที่ยกมาเป็นแค่ตัวอย่างงานสนุกๆ ที่เราได้แวะไปชมใน Yokohama Triennale 2017 แบบบังเอิ๊ญบังเอิญ นอกเหนือไปจากงานศิลปะดีๆ เรายังอิ่มเอมใจที่ชาวญี่ปุ่นจูงมือกันเข้าพิพิธภัณฑ์และดูงานศิลปะแบบนี้มาก (ดูจากรูปได้ว่าคนเยอะขนาดไหน) เห็นแล้วก็คิดว่าโยโกฮามาประสบความสำเร็จในการตั้งเป้าเป็นเมืองที่หลอมรวมความสร้างสรรค์จากทั่วโลกไว้ด้วยกันแล้วล่ะ

Yokohama Triennale 2017 จัดที่ไหน

เพราะว่างานใหญ่มาก เทศกาลนี้เลยกระจายตัวไปจัดแสดงงานครอบคลุม 3 สถานที่ตั้งแต่ Yokohama Museum of Art พิพิธภัณฑ์ศิลปะ 3 ชั้นที่อัดแน่นด้วยงานของศิลปิน, Yokohama Red Brick Warehouse No.1 ตึกแดงที่แปลงโฉมสำหรับงานอิลสตอลเลชันอาร์ตขนาดใหญ่ และ Yokohama Port Opening Memorial Hall ซึ่งเขามีรสบัสรับส่งฟรีจากแต่ละที่ ไม่ต้องเดินให้เหนื่อยและเสียเวลาชมงาน

แนะนำให้ตามไปดู

Yokohama Triennale 2017 ยังจัดถึงวันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 2017 นี้ ใครมีแพลนไปโตเกียวอยู่แล้วเราแนะนำว่าไม่ควรพลาด ลองเจียดเวลาหนึ่งวันนั่งรถไฟไปชมงานศิลปะของศิลปินที่เราอาจไม่มีโอกาสได้ชมกันง่ายๆ ที่โยโกฮามาดูนะ เข้างานได้ตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น (ประตูปิด 17.30 น.) บัตรราคา 1,800 เยน รับรองว่าคุ้ม!

อ้อ! บอกอีกนิดว่าช่วงนี้ยังมีงาน Yogohama Oktoberfest 2017 เทศกาลเบียร์สุดยิ่งใหญ่จัดอยู่ที่ลานด้านหน้า Yokohama Red Brick Warehouse เช่นกัน ถ้าเดินดูงานศิลปะเสร็จแล้วก็จิบเบียร์เย็นๆ กันต่อได้เลยนะ (Oktoberfest จัดถึงวันที่ 15 ตุลาคมนี้)

yokohamatriennale.jp/english/2017

AUTHOR