ตามไปดู TASTE TEST นิทรรศการที่ออกแบบอาหารไทยให้น่าตื่นเต้นและสนุกกว่าที่เคย

เป็นคนเมือง มีคนรอบตัวรายล้อม แต่กลับต้องกินข้าวคนเดียว เหงาบ้างไหมครับ

เมื่อความเหงามาพร้อมกับวัฒนธรรมการกินของคนเมืองที่ใช้ชีวิตตัวคนเดียวมากขึ้น ทีมภัณฑารักษ์เจ้าไอเดียแห่งนิทรรศการ TASTE TEST ในเทศกาลออกแบบกรุงเทพ (Bangkok Design Week 2018) เลยผุดไอเดียสนุก ชักชวนคนเมืองที่ไม่รู้จักกันมากินอาหารเพื่อแชร์ความคิดและความรู้สึกบนโต๊ะร่วมกัน

แต่อาหารที่เสิร์ฟไม่ใช่อาหารไทยรสจัดจ้านที่เราคุ้นเคย เพราะ 6 นักออกแบบรุ่นใหม่จับมือกับนักวิทยาศาสตร์ร่วมกันสร้างสรรค์อาหารไทยรูปแบบพิเศษ โดยตั้งคำถามกับอาหารรูปแบบเดิมๆ และมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับวัฒนธรรมการกิน นอกจากความสนุก สิ่งที่ผู้เข้าร่วมนิทรรศการนี้จะได้สัมผัสคือการลองปรับอาหารให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนเมืองในอนาคต

เราขอนำเสนออาหารที่เกิดจากการออกแบบรูปทรง สีสัน และรสชาติใหม่ๆ แล้วคุณจะรู้ว่าวิวัฒนาการเรื่องอาหารมีรูปแบบที่หลากหลายมากกว่าที่เคยจินตนาการไว้เสียอีก

ลองกินของดองไทยรูปทรงใหม่

เรามักคุ้นกับอาหารดองในฐานะอาหารรถเข็นราคาถูก หน้าตาบ้านๆ กินทีไรก็เปรี้ยวจนเข็ดฟัน ทั้งมะม่วงดอง มะยมดอง มะดันดอง มะขามดอง หรือมะยมดอง

แต่ในทางกลับกัน เรากลับมีภาพจำอาหารดองของต่างประเทศว่ามีราคาแพง ดูน่ากิน ดังนั้นปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ นักออกแบบและศิลปินที่นำเสนอผลงานศิลปะร่วมสมัยด้วยประเด็นทางสังคม จึงลองปรับรูปทรงของอาหารดองไทยด้วยการหั่นให้มีรูปแบบใหม่ๆ ที่น่าสนใจและสร้างความทรงจำใหม่ให้คนกิน เพื่อสังเกตผลตอบรับว่าของสิ่งเดียวกัน แต่เมื่อใช้ศิลปะการออกแบบจะให้ความรู้สึกแตกต่างกันแค่ไหน ส่วนตัวเราเมื่อได้ลองอาหารดองรูปลักษณ์ใหม่ๆ ที่ให้รสชาติอย่างต้นตำรับ ก็เปลี่ยนให้เรารู้สึกดีมากขึ้นจริงๆ เราจึงได้เรียนรู้ว่าเพียงแค่เปลี่ยนรูปลักษณ์ ความรู้สึกก็เปลี่ยนได้แล้ว

ลองชิมไอศครีมที่สื่อสารความรู้สึกของคนกิน

หลายคนคิดเห็นตรงกันว่าไอศครีมเป็นตัวแทนของของหวานอารมณ์ดี เช่นเดียวกับสตูดิโอออกแบบร้านอาหารและคาเฟ่ party / space / design ที่หยิบเอาความคิดนี้มาพัฒนาเป็นไอศครีมแท่งที่ได้แรงบันดาลใจจากไอศครีมหลอดตามตลาด เมื่อเหล่านักออกแบบกำลังพูดเรื่องอาหารกับอารมณ์ พวกเขาจึงหยิบเอาทฤษฎีสีมาเป็นตัวแทนความรู้สึก เช่น ถ้ากำลังอารมณ์ดีหรือมีความรัก คุณอาจจะอยากกินไอศครีมสีชมพูรสสตรอว์เบอร์รี แต่ถ้ากำลังหม่นหมองอาจจะอยากกินไอศครีมสีน้ำเงินและสีดำ

เมื่อผู้เข้าชมเลือกไอศครีมที่สะท้อนสภาวะอารมณ์ของตัวเองแล้วจะได้รับสติกเกอร์สีเดียวกับไอศครีมเพื่อนำไปติดบนแผนที่ตามเขตที่ตัวเองอาศัยในกรุงเทพฯ บนผนัง เห็นอย่างนี้เราเลยกะว่าคราวหน้าถ้าเพื่อนหยิบไอศครีมแบบไหนมากิน จะลองทายอารมณ์ของเขาจากสีไอศครีมที่เขาเลือกเสียหน่อย

ลองน้ำจิ้มแบบเจลแผ่น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาหารจานหลักของคนไทยหลายเมนูต้องมีน้ำจิ้มเพื่อชูรสของอาหาร นี่จึงเป็นหนึ่งในคาแรกเตอร์ร่วมของการกินอาหารไทย แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อจิตเลขา สุขเสริมส่งชัย ครีเอทีฟโฆษณาที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของ Creative Catering ในชื่อ ‘Monkey Can Fly’ อยากแหวกแนวด้วยการนำน้ำจิ้มอาจาด น้ำจิ้มบ๊วย และน้ำจิ้มลูกชิ้น มาทำเป็นวุ้นเจลาตินแผ่นบางๆ เวลากินเพียงแค่วางประกบบนอาหารที่ต้องการก็จะได้รสชาติอร่อยไม่ต่างจากน้ำจิ้มรูปแบบน้ำ ไม่หยดเลอะเทอะ แถมยังมองเห็นลวดลายของน้ำจิ้มบนแผ่นใสได้อย่างชัดเจนอีกด้วย การเปลี่ยนฟอร์มของน้ำจิ้มไม่เพียงทำให้การกินสะดวกขึ้น แต่ยังพิสูจน์ให้เราเห็นว่าของกินแบบเดิมๆ เปลี่ยนรูปร่างได้ตามแต่การออกแบบประสบการณ์การกินตามที่แต่ละคนต้องการ

ลองดื่มน้ำเปล่ารสแซ่บ

เมื่อพัชนีย์ ยะสุรินทร์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิยาลัยอัสสัมชัญ ตีโจทย์น้ำเปล่าที่เราดื่มกันทุกวันให้มีรูปแบบแตกต่างไปจากเดิม ผลลัพธ์ที่ได้คือการสกัดกลิ่นอาหารจากเครื่องปรุงในร้านอาหารอีสานรสแซ่บ เป็นน้ำยารสชาติต่างๆ อาทิ กลิ่นเนื้อ กลิ่นกุ้งแห้ง กลิ่นมะนาว หรือแม้แต่กลิ่นข้าวคั่ว หรือถ้าคุณเกิดอยากกินน้ำรสลาบขึ้นมา ก็หยดน้ำยาที่เป็นเครื่องปรุงของลาบลงไปในน้ำเปล่าแก้วเดียวกัน เพียงเท่านี้น้ำแก้วนั้นก็จะกลายเป็นน้ำเปล่ากลิ่นลาบ น้ำเปล่าหลากกลิ่นเหล่านี้ทำให้เรามองเห็นการเปิดพรมแดนการดื่มน้ำใหม่ๆ ที่ช่วยให้การดื่มน้ำเปล่าไม่ธรรมดาอีกต่อไป

ลองดื่มชาจากน้ำตาลแบบพิเศษ

แม้วัฒนธรรมการดื่มชาของไทยจะไม่ได้ละเมียดละไมเท่าประเทศญี่ปุ่น หรือแนบแน่นกับวัฒนธรรมการกินดื่มเท่าประเทศจีน แต่ชาไทยนั้นสะท้อนตัวตนของคนไทยได้ดีมากจากนิสัยที่ชื่นชอบปรุงแต่งรสชาติซึ่งไม่ได้จบแค่อาหาร แต่กับเครื่องดื่มอย่างชา เรายังชอบใส่ดอกไม้ท้องถิ่นตามฤดูกาลให้มีกลิ่นที่หอมมากขึ้น แถมยังชอบการกินแกล้มผลไม้อร่อยๆ ให้สดชื่น

ไอเดียเรื่องชากลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้นักออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างรัฐ เปลี่ยนสุข คิดค้นน้ำตาลหลากรสชาติเพื่อปรุงให้น้ำชาร้อนๆ ธรรมดาๆ เก๋ไก๋ยิ่งขึ้น หยิบเอากระบวนการทำขนมถั่วกระจก ขนมที่เขาผูกพันในวัยเด็กมาเป็นไอเดียทำน้ำตาลกระจก ตั้งชื่อว่า Mirror Lake ที่นำไปปรุงรสชาได้มากมาย อย่างรสที่เราชอบที่สุดคือน้ำตาลน้ำผึ้งใส่ดอกเข็มสีขาวรสชาติดี

วิธีง่ายๆ คือการวางน้ำตาลกระจกไว้ในแก้วเซรามิกผลิตในวัง แล้วรินชาร้อนลงบนน้ำตาลที่ละลายง่ายๆ ให้รสชาติที่ทั้งหอมและหวาน ทานแกล้มกับผลไม้แกะสลักที่เตรียมไว้ให้ ความพิเศษคือคนกินสามารถเลือกปักผลไม้แต่ละชนิดลงบนแท่งไม้ ซึ่งลำดับการปักจะสร้างรสสัมผัสของการกินที่แตกต่างกันออกไป นอกจากตื่นตากับ Mirror Lake เรายังได้ตระหนักอีกว่าหากสังเกตดีๆ ลำดับของการกินยังส่งผลต่อรสชาติที่ได้รับอย่างไม่เคยคาดมาก่อนด้วย

ลองกินอาหารใส่สีธรรมชาติ

ความเร่งรีบในยุคนี้ทำให้กระบวนการปรุงอาหารไม่พิถีพิถันเท่าที่ควร สีผสมอาหารเป็นอีกเครื่องมือในการย้อมสีอาหารให้น่าลิ้มลองมากขึ้น แล้วเมื่อมีความรีบร้อนในการใช้ชีวิต การใช้สีผสมอาหารสังเคราะห์จึงเป็นเครื่องมือในการร่นระยะเวลาในการย้อมสีให้สั้นลง

นักออกแบบแห่งบ้าน Salt and Pepper Studio สตูดิโอออกแบบงานสถาปัตยกรรมภายในและออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ชื่นชอบการทำโปรเจกต์พิเศษ พวกเขาเห็นสถานการณ์เช่นนี้จึงคิดว่าบ้านเราเป็นเมืองเกษตรกรรม มีผลผลิตทางธรรมชาติมากมาย จึงย้อนกลับไปหาวัตถุดิบจากธรรมชาติมาทำเป็นสีผสมอาหารที่ปลอดภัย ความน่าสนใจคือการให้ผู้เข้าชมร่วมผสมสีที่ตัวเองชอบออกมา เมื่อได้สีที่ต้องการให้นำสีที่ได้ไปแปะไว้บนชาร์ตตารางสีบนผนังเพื่อเทียบความใกล้เคียงของโทนสีที่ได้ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่าแม้เป็นสีจากธรรมชาติ แต่ก็สร้างเฉดสีได้มากมายกว่าที่คิดไว้

เมื่อดูนิทรรศการจบ เรากลับมาคิดว่านอกจากการออกแบบเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ อาหารยังเป็นอีกสิ่งที่ออกแบบให้เป็นไปดังใจคิดได้ทั้งในแง่รสชาติและภาพลักษณ์ที่เราสัมผัส มิหนำซ้ำถ้าเราใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์การอาหารเข้ามาช่วย การกินอาหารก็จะยิ่งสนุก หลากหลาย และตอบโจทย์วิถีชีวิตคนยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ทุกวันอย่างเหมาะสมด้วย

Did you know?

  • นิทรรศการ TASTE TEST มีจุดเริ่มต้นจากการรวมกลุ่มกันของนักออกแบบที่ต้องการทำโปรเจกต์ต่อเนื่องจากนิทรรศการ Gastronomy Design 2016 นำโดย Salt and Pepper Studio จากนั้นจึงได้ชักชวน ศุภกานต์ วงษ์แก้ว ที่เป็นคนทำงานทั้งในฝั่งดีไซน์ และเคยผ่านงานศิลปะชุมชน ‘ปกติศิลป์’ ที่จังหวัดราชบุรีมาแล้ว ให้มาร่วมเป็นทีมภัณฑารักษ์นิทรรศการครั้งนี้
  • ทั้ง 6 นักออกแบบทำอาหารไม่เป็น แต่มีไอเดียว่าคนเราต้องกินอาหารกันทุกวัน จึงมองอาหารเป็นสื่อสะท้อนความคิดของตัวเอง
  • ตอนแรกเหล่านักออกแบบมองกรุงเทพฯ ในฐานะเมืองดังเรื่องสตรีทฟู้ด จึงตั้งใจทำนิทรรศการภายใต้หัวข้อนี้ร่วมกัน แต่เมื่อพัฒนางานเรื่อยๆ เรื่องราวที่ทำก็กลายเป็นประเด็นเรื่องอาหารรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนไปพร้อมกับวิถีชีวิตในกรุงเทพฯ จึงกลายเป็นนิทรรศการ TASTE TEST : The new way to eat แบบที่เราเห็นกันนี่แหละ

ภาพ พศิน สุดใจ

AUTHOR